สารอโศก อันดับ ๓๒๙
 
line decor
  HOME  ::  
line decor
   

บทนำ

ช่วงเวลาที่ผ่าน ชาวอโศกได้จัดงานใหญ่ติดกันสองงาน คืองานปลุกเสกฯ ครั้งที่๓๗ และงานตลาดอาริยะ ครั้งที่ ๓๔ แถมด้วยการสอบเก็บคะแนน ของนิสิต ว.บบบ. ซึ่งมีทั้งการบำเพ็ญคุณ และบำเพ็ญธรรม กันอย่างหนักหน่วง ในการตั้งใจ ฟังธรรม ให้เข้าใจ พร้อมทั้งเขียนจดๆไว้ เพื่อจำให้แม่นยำ  และการแบ่งกลุ่มทำงาน ทั้งที่โรงปุ๋ย กสิกรรม ยกแท่งเหล็ก เก็บซ้อนให้เข้าที่ ไต่ปีนบันได ขึ้นเรือใหญ่ สูงหลายเมตร ทำ ๕ ส. รวมพล ช่วยเข็นเรือใหญ่สามลำ ที่ซ่อมเสร็จ อย่างเฉียดฉิว พร้อมใช้งาน ลงสู่แม่น้ำมูล เพื่อเตรียมงานอาริยะต่อ

ซึ่งปีนี้เราไม่ทำแบบเก่า ที่ขายสินค้าในชุมชนเท่านั้น เราขยายงาน กว้างไกลออกไป ถึงริมมูล โดยจัดให้มีรถและเรือ รับส่งผู้โดยสารฟรี เพื่ออำนวยความสะดวก ในการสัญจร และขนหอบสินค้ากัน พะรุงพะรัง เลยไปจนถึง ท่าเรือ ของกรมเจ้าท่า ใกล้ตลาด เมืองอุบล ด้วยเรือขนาดใหญ่ สามลำของเรา ซึ่งแล่นไปจอด บริการ ขายสินค้า ที่ผลิตจากชุมชน และอีกหลากหลายชนิด

อีกลำหนึ่ง จัดเป็นเรือ มีการแสดงบนเวที ที่ให้ทั้งความรู้ ความบันเทิง สนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจ สินค้าราคาถูก ต่ำกว่าทุน กับเงินหนื่งบาท ซึ่งมีคุณค่าสูงมาก ในงานนี้ มีบาทเดียว สามารถซื้อสินค้า ราคาเป็นร้อย เป็นพันได้ นี่คือเรื่องพิเศษ และ ในเรืออีกลำ ก็ขายอาหาร มีบาทเดียว สามารถซื้ออาหารกิน ทุกอย่าง ทุกจาน ทุกชาม แต่ละอย่าง ชามละบาท จานละบาททั้งนั้น วิเศษไหม

ปลุกคืนชีวิตชีวาให้แม่น้ำมูล ด้วยผู้คน จากทุกสารทิศ หลั่งไหลไม่ขาดสาย มีใบหน้าแย้มยิ้ม และความสุข ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านยิ่งใหญ่ ยิ่งหนัก จึงคือบททดสอบ สมรรถนะ ของลูกโพธิสัตว์ แน่นอน ต้องเจอแต่เรื่องยากๆ ไม่มีเสียล่ะ ที่หวังจะเจอ เรื่องง่ายๆ สบายๆ

จากบทสัมภาษณ์ พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ เน้นความเข้าใจ ให้พวกเราได้เข้าถึง ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน อย่างสมบูรณ์

งานตลาดอาริยะปีใหม่ไทย ที่เราจัดขึ้นในช่วงสงกรานต์ จะถือว่า เป็นทินนัง ยิฏฐัง หุตัง ได้ไหม และมีผลต่อจิตวิญญาณ ในการช่วยเหลือคนอย่างไร

พ่อครู : เป็นทินนัง ยิฏฐัง หุตัง ได้แน่นอน และ “ได้” อย่างถูกต้องที่สุดด้วย เพราะว่ามันเข้าหลัก เข้าเกณฑ์ เข้าการประพฤติปฏิบัติ ตามหลักมรรคองค์แปด เปะเลย เพราะเราได้พยายาม ได้มีสติ ทำให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ไปตลอดที่ทำงาน  ใช่ไหมล่ะ หรือนั่นแหละ เข้าตามหลักธรรมะ ของพระพุทธเจ้าสุดยอด คือของ “กรรม” ทุกอย่างเลย

หลักการสำคัญของพุทธ คือ “มรรค องค์ ๘” หรืออยู่ในหลักของ อธิศีลสิกขา –อธิจิตสิกขา –อธิปัญญาสิกขา ตามฐานะแต่ละบุคคล ทั้งจรณะ ๑๕ วิชชา ๘  ก็ใช่ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ใช่ เป็นต้น ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ไตรสิกขาก็ใช่หมด ใช่ไหมล่ะ 

เพราะว่าพวกเรา เวลาไปปฏิบัติ ก็มีศีลกัน สำรวมอินทรีย์ โภชเนมัตตัญญุตา และ ชาคริยานุโยคะ ทุกคนก็ปฏิบัติ สำรวมอินทรีย์ หรือสำรวมกาย วาจา ใจ งานการอาชีพ ไปกับทุกกรรม ทุกกิริยา ที่เรากำลังทำการ จัดงาน ตลาดอาริยะ ซึ่งก็อยู่ในอาชีพของเรา ตรงๆอยู่แล้ว

หลักมรรค องค์ ๘ นั้นก็คือ การปฏิบัติธรรม ด้วยการทำ “ใจ” เป็นหลัก เราก็กำลังทำ “สังกัปปะ” ให้สัมมา ให้เป็น  “สัมมาสังกัปปะ”ให้ได้เสมอ เราก็สร้าง “ใจให้สุจริต ให้เป็นกุศล” และกำลังทำ “วจี” ให้สัมมา ให้เป็น “สัมมาวาจา” ให้ได้เสมอ เราก็สร้าง “วาจาให้สุจริตให้เป็นกุศล” และกำลังทำ “กรรมทั้งหมด” ให้สัมมา ให้เป็น “สัมมากัมมันตะ”คือ “กาย-วาจา-ใจ” ให้ได้ผลเสมอ เราก็สร้าง “การกระทำ ทุกอย่าง ให้สุจริต ให้เป็นกุศล” และกำลังทำ “อาชีพ” ให้สัมมา ให้เป็น “สัมมาอาชีวะ” ให้ได้เสมอ เราก็สร้าง “อาชีพให้สุจริตให้เป็นกุศล” ยิ่งตอนนี้ เป็นภาคปฏิบัติการ ที่คร่ำเคร่ง เร่งรัด เพื่อเกื้อกูล สงเคราะห์ มวลมนุษยชาติ

ตลาดอาริยะ คือหลักเกณฑ์ต่างๆ ของการปฏิบัติธรรม ตามหลักการ ของพระพุทธเจ้า มีสติโพชฌงค์ รู้ตัวทั่วพร้อม มีสัมมาวายามะ พยายาม มีสัมมาสติ ทำสติสัมปชัญญะ ให้ตรงตาม สัมมาทิฏฐิ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ มีถึง ๑๐ เช่น สัมมาทิฏฐิ ๓ ข้อต้น ก็มี ทินนัง ยิฏฐัง หุตัง นี่ไง ฯลฯ

สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาและเข้าใจ ในความหมาย อย่างชัดเจน แล้วก็ปฏิบัติ พากเพียร ให้มันได้ผล ด้วยสัมมาวายามะ สัมมาสติ ซึ่งมรรคทั้ง ๒ นี้ ต่างช่วย สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นประธาน ก็พยายามควบคุมตน ให้มีสติสัมปชัญญะ มีสัมมาวายามะ พยายามช่วยกันทำ เพื่อที่จะให้รู้จัก ตามผัสสะ ที่เกิดอยู่ เป็นอยู่ รู้จักสิ่งที่ผัสสะ ผัสสะแล้ว ก็เกิดวิญญาณ เกิดวิญญาณแล้ว ก็สามารถมีปัญญา มีธัมมวิจัย สัมโพชฌงค์ แยกธรรมในธรรม แยกจิตในจิต  แยกเวทนาในเวทนา แยกกายในกาย แยกอย่างแท้จริง มีสติปัฏฐาน ๔

เมื่อแยกออกได้ อ่านอาการของจิต อ่านนามรูป แยกแยะอาการของ จิต-เจตสิก ต่างๆ สามารถ ที่จะกำหนดหมาย จนกระทั่ง สามารถจับตัว มิจฉาสังกัปปะได้

หรือแม้แต่ ในการควบคุม กายวาจา หรืออาชีพการงาน ข้างนอก ก็ควบคุมได้ และ ก็สามารถ ที่จะจัดแจงมัน ให้เป็นสัมมา สัมมาอาชีวะ สัมมากัมมันตะ สัมมาวาจาได้ โดยเฉพาะในจิต ก็สามารถอ่านออก แยกได้ จนสามารถจับ มิจฉาสังกัปปะ หรือ มิจฉาวิตก จับตัวสภาวะ ของมิจฉา เป็นกามก็ดี เป็นพยาบาทก็ดี ที่มันมีสภาวะ เป็นตัวร่วม มีเหตุร่วมปรุงแต่ง อยู่ในจิต จับมันมาได้ แล้วก็กำจัดมันได้ เมื่อกำจัดมันได้จริง ลดละมันได้จริง มันก็ลดกิเลสจริง กิเลสก็ลดๆๆ

เพราะงั้นเวลาเรามาปฏิบัติธรรม ปฏิบัติการอยู่ ในงานตลาดอาริยะ ก็มีพฤติกรรม เกี่ยวข้องกับ องค์ประกอบ ต่างๆนานา มีวัตถุ มีสินค้า มีผลผลิต และก็มีอะไร ต่ออะไร มีการกระทำเกี่ยวข้องกับบุคคล เกี่ยวข้องกับการสัมผัส กับตา หู จมูก ลิ้น  กาย ใจ แล้วก็สามารถที่จะปฏิบัติธรรม ตามที่ อาตมา กล่าวขยายความไปบ้าง เมื่อกี้ เมื่อสามารถ ที่จะกำจัดกิเลสได้ ในจิตสังกัปปะ ทำให้สังกัปปะนั้นสำเร็จ เป็นสังกัปปะ ที่ไม่มี มิจฉาสังกัปปะ เข้าไปร่วมปรุงแต่ง อยู่ในจิต เมื่อสามารถ ทำสำเร็จ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการปฏิบัติ สัมมาสมาธิ หรือปฏิบัติฌานแบบ สัมมาฌาน ฌานของพระพุทธเจ้า อย่างแท้จริง ทำให้กิเลสลด แล้วก็เกิดกรรม ที่เป็นกุศลกรรม ต่างๆนานาได้ และงานที่เราทำนี้ เป็นงานที่ทำให้ เรียกว่าทาน หรือ ทินนัง เราก็ได้ให้จริงๆ เราทำเพื่อที่จะสงเคราะห์ เกื้อกูลผู้อื่น เมื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เราได้ทำ ใจในใจของเรา เรียกว่า มนสิการ ทำใจในใจของเรา อย่างแยบคาย ถ่องแท้ ดี ได้ลดละกิเลส ในกรรมกิริยาการงาน

การทำงานตลาดอาริยะ จึงมีพฤติปฏิบัติอย่างนี้ คือมีการ ปฏิบัติธรรม ไปด้วย ลดกิเลส ได้จริงด้วย เมื่อลดกิเลสได้จริงด้วย มันก็เป็นอัตถิ ทินนัง  ทินนังที่สามารถ มีมรรคมีผล

อัตถิก็คือ มีมรรคมีผล เมื่อทินนัง ก็มีมรรคมีผล การปฏิบัติศีลพรต คือการปฏิบัติ ตามศีลพรต  ตามการประพฤติ ศีลของเราก็เจริญขึ้น เป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา อธิมุติ เจริญขึ้น เจริญขึ้นจริง มันก็เป็นศีลพรต ที่พัฒนาขึ้น เป็นศีลพรต ที่เป็น อัตถิ ยิฏฐัง เป็นการปฏิบัติธรรม ตามหลัก มรรคองค์ ๘ ตามหลัก โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ตามหลักจรณะ ๑๕ วิชชา ๘ อย่างที่ว่านี้ มันได้มรรคผล อย่างอัตถิ ยิฏฐัง ก็คือเราสามารถ ที่จะปฏิบัติ อ่านจิตของเราได้ อ่านจิตของเราออก และตรวจสอบ การปฏิบัติ ว่าถูกต้องมั้ย เกิดผลมั้ย หรือไม่เกิดผล 

การรู้ว่า เราเกิดผลมั้ย ทั้งการทำทาน ทั้งการปฏิบัติ ตามยัญพิธี อย่างนั้นๆแหละ จิตใจของเรา ได้รับผลไหม ผลอย่างไร ก็เป็นอัตถิ หุตัง เราเห็นจิตใจเรา เปลี่ยนไป จุติสู่ที่เจริญขึ้น ได้เสวยผล ก็ชื่อว่าอัตถิ มีผล ถ้าไม่ได้เสวยผล ก็นัตถิ ไม่มีผล

จากการทำทานก็ดี ปฏิบัติศีลพรตแล้วก็ดี มันมีมรรคผล ให้เราได้รับ ให้เราได้เสพ เสวย ให้เราได้ส่วนที่ควรได้ หรือไม่ ถ้าได้มันก็เป็น อัตถิ หุตัง มันก็เป็นผล ที่จิตใจเรา ได้เกิดผลธรรม ก็คือหุตัง คือจิตได้เสวยผล

เราต้องพยายามรู้จักรู้แจ้งรู้จริง ให้ได้ ในอิริยาบถต่างๆ และอ่านจิตเราออก ในอิริยาบถต่างๆ สัมผัสต่างๆ อ่านรู้ อ่านสภาวะจริง ของจิตของเราได้ ว่า หลังจาก ทำทานแล้ว (ทินนัง) หรือปฏิบัติตาม วิธีนั้นแล้ว (ยิฏฐัง) จิตได้เสวยผลมั้ย ซึ่งภาษา วิชาการก็คือ “สังเวยที่ได้บวงสรวงแล้ว” (หุตัง) นั่นเอง จิตใจเกิดผลไหม ถ้ามีผล เกิดที่ใจก็ “อัตถิ หุตัง” ถ้าไม่มีผล เกิดที่ใจก็ “นัตถิ หุตัง”

จากการปฏิบัติจิตใจ ได้ผลอย่างไร หรือไม่ ไปจนกระทั่ง อ่านจิตใจ ตนเองด้วย มันก็เป็น ทินนัง ยิฏฐัง หุตัง ที่ “มีผล” (อัตถิ) เมื่อเราทำ “สัมมา” สำเร็จจริง แต่ถ้าไม่สำเร็จ หรือทำไม่ได้ไม่เป็น ก็ “ไม่มีผล” (นัตถิ)

ที่อาตมาอธิบายนี่คือปริยัติ หลักมรรค องค์ ๘ สัมมาทิฏฐิตรงตามที่ พระพุทธเจ้า ทรงสอน ใครทำความเข้าใจ เรียนรู้ และสามารถปฏิบัติตรง เป็นสัมมาปฏิบัติ ตรงทั้งปรัยัติ ทั้งปฏิบัติ จนเกิดมรรคผลจริง ก็นี่แหละคือ การปฏิบัติธรรม มรรคองค์ ๘ เกิดสัทธรรม ที่พระพุทธเจ้า ทรงสอนมา

มีผลต่อจิตวิญญาณด้วยใช่มั้ยคะ

พ่อครู : แน่นอน มีผลต่อจิตวิญญาณ นี้แหละที่เรียกว่า เข้าถึงปรมัตถ์ ของผู้ปฏิบัติ โดยตรง

นอกจากผู้ที่ปฏิบัติได้มรรคผล โดยตรงแล้ว ผู้ที่มาเกี่ยวข้องเป็นเหตุ เป็นปัจจัย มาเป็นลูกค้า มาเป็นผู้ร่วมงาน มาเป็นผู้ทำงาน ช่วยกันอะไร ต่างๆนานา เขาก็ได้รับ ถ้าเขารู้จัก รู้แจ้ง รู้จริง เป็นสัมมาทิฏฐิ และมีสัมมาปฏิบัติ ดังที่กล่าวไปแล้ว เขาก็ได้ มรรคผล ของเขาทุกคน

ถ้าแม้เขายังไม่เกิดปรมัตถ์ เขาไม่สามารถที่จะรู้ วิธีปฏิบัติ ดังที่อธิบาย ไปแล้วนั่น เขาก็ยังจะได้ ความเลื่อมใส ศรัทธา เขาก็จะได้ ความชื่นชม เป็นฉันทะ เป็นความยินดีปรีดา ที่เขาเอง เขาได้มาสัมผัส ได้มาเห็น มาเรียน มารู้ เขาก็ศรัทธา เลื่อมใส อะไรต่อมิอะไรพวกนี้

มันก็เป็นการเจริญก้าวหน้าของชีวิต อย่างน้อยก็เป็น กัลยาณธรรม ถ้าเขาสามารถ มีหลักของ ปรมัตถธรรมด้วย ปรมัตถสัจจะด้วย เขาก็จะได้ไปด้วย ก็เป็นผล ต่อกันและกัน ซึ่งเกิดมรรค เกิดผล จากการปฏิบัติธรรมจริงๆ เกิดมรรค เกิดผล จากทฤษฎี ที่เราเรียนรู้ อย่างสัมมาทิฏฐิ แล้วเราก็นำมา ปฏิบัติจริง มันจึงได้มรรค ได้ผลจริง ดังที่กล่าวนี้

มันยากตรงที่ เราเข้าใจในทฤษฎีของ พระพุทธเจ้า ไม่ได้ถ่องแท้ ไม่ได้ละเอียด ลออกัน  ถ้าเข้าใจอย่างถ่องแท้ อย่างละเอียดลออ ทั้งการปฏิบัติงาน ที่มีทั้งผู้รับ และผู้ให้ จนเกิดมีผล เป็นอัตถิ ทั้งผู้รับและผู้ให้เลย เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน เป็นอุภยัตถะ เป็นผลทั้งสองส่วน

นับว่าภายในงานนี้ สำเร็จได้โดยมหัศจรรย์

พ่อครู : สำเร็จได้อย่างมหัศจรรย์จริงๆ เกินคาดเลย  เพราะเรารู้ ตั้งแต่ทำงานเลยว่า เราเร่ง ยังกับอะไรดี อะไรๆ ก็ไม่ค่อยพร้อม อะไรๆก็ไม่ค่อย จะมีครบครันเลย เราเร่งไม้ เร่งมือ เร่งอุปกรณ์ เครื่องเคราที่จะมา ประกอบงาน สถานที่ เพราะว่า เราเพิ่ม ขยายสถานที่ อาณาบริเวณออกไป ทั้งกว้างทั้งไกล ทั้งยังจะต้อง พยายาม ที่จะสร้าง สภาพต่างๆ ที่จะเอามาประกอบ เป็นองค์ประกอบ ของงานนี้ ทั้งสินค้า ผลผลิต โดยเฉพาะ ผลผลิตทางกสิกรรม ก็ถือว่า เราจะเอา กสิกรรม เป็นตัวไฮไลท์ เป็นตัวชู เป็นตัวโชว์ เป็นตัวแสงสี เป็นจุดเด่นนำ เราก็เร่ง เร่งวัน เร่งคืน ลงมือกัน กรำแดด หน้าดำหน้าเกรียม ลุยกันทั้งวันทั้งคืน มันก็เกิดขึ้นมาได้ ก็สามารถ ที่จะมีอะไร ขึ้นมาให้เรา ได้ต้อนรับแขก ต้อนรับลูกค้า

อาตมาเห็นแล้ว ลูกค้ามากัน เกินคาดอีก ทั้งที่เราเปลี่ยนสถานที่ มันก็ลำบาก ลำบนขึ้น ทั้งไกล ทั้งหนัก ทั้งร้อน ไม่ค่อยจะพร้อม ไม่ค่อยจะเรียบร้อย ราบรื่น เท่าไหร่เลย ขลุกขลักๆ

แต่กระนั้นก็ดี แม้ลูกค้า รู้สึกว่าเหนื่อย เขาก็จะเหนื่อยนะ แต่เขาก็ยังชื่นใจ ชื่นชม ต่างพากันชื่นใจ ชื่นชม สัมภาษณ์กันแล้ว ก็มีการสะท้อน สะกิดสะเกา ข้อบกพร่อง ที่มันเป็น ความลำบาก ของเขากันน่ะ

ซึ่งที่จริงมันเป็นผลดี เขาได้ตั้งตน อยู่บนความลำบาก เขาก็ได้อดทน ได้ทำอะไรบ้าง เมื่อเขาก็มา รับบริการ สิ่งที่เราจะทำให้ เขาก็ต้อง เสียสละบ้าง อดทนบ้าง มันก็ดี
ซึ่งคิดว่า ผู้ที่มาคงไม่ท้อ ไม่หน่าย เพราะเขาก็ยังพูดชื่นชม ยังพูดว่า จัดอีกนะ จัดอีก

ปีหน้าจะมาใหม่ เราก็คิดว่าแน่นอน ปีหน้า เราก็จะเตรียมการณ์ ตั้งแต่ต้นๆ ไม่ให้เหมือนปีนี้ เพราะปีนี้ อาตมามาดำร ิช้าไปหน่อย เกือบไม่ทัน แต่พวกเรา ก็มาทำกันเต็มที่ จนกระทั่ง ทันเหมือนกัน

แม้แต่ดูสิ... ดอกทานตะวัน ที่เราปลูก ที่นั่นที่นี่ ปลูกในแพน้ำบ้าง ปลูกใน ท้ายสวนบ้าง ในอาณาบริเวณของเรา ต่างๆนานา มันก็ได้จังหวะ เตรียมการณ์ เพาะกล้ากันไว้ก่อน ถึงเวลา เอามาลงดิน ตามที่เราคำนวนกัน เอ้อ มันก็เป็นไปได้ ทันการณ์ อย่างพอเหมาะ พอดีด้วยนะ ถือว่าใช้ได้เลย แต่ปรากฏว่า คนเขาไม่ค่อย ได้ชื่นชม กับแสงสีเสียง ไม่ชื่นชมกับ ดอกทานตะวัน ดอกงามๆ ดอกดาวกระจาย เขาไม่ค่อยสนเท่าไหร่ เขาไปสนใจสินค้า หมดเลย ไปสนใจผลผลิต พวกพืชพันธุ์ ธัญญาหาร ต้นหมาก รากไม้ ต่างๆนานา สนุกสนานกัน มันก็เข้าเป้า ที่เป็นเนื้อหา ของเรา ซึ่งเหมือนหมายยิ่งเลย

และมีหลายคนที่สนใจปลาในบุ่ง ว่าทำไมเยอะจังเลย  ถ้าเป็นเขา ก็คงซัดลง หม้อแกง หมดแน่ และมีบ้าง ที่ขึ้นเรือลำใหญ่ ที่จอดในบุ่ง เพื่อซื้อสินค้า เขาก็มอง ดอกทานตะวัน ตรงแพข้างเรือ ซึ่งเป็นทิวทัศน์ ที่เป็นองค์ประกอบศิลป์ เป็นบรรยากาศที่ดี มันไม่ง่ายหรอก ที่จะมีองค์ประกอบแบบนี้ มีอุปกรณ์แบบนี้ แต่เราทำได้ มันก็เป็นมีอะไรใหม่ๆ สำหรับเรา อาจจะให้คะแนนว่า มหัศจรรย์ อย่างที่ว่า นั้นแหละ ผู้ไม่เห็นค่าเลย เขาก็คงจะไม่เห็นมีอะไร ก็เป็นธรรมดา

บทสรุป
ในงานนี้ หลายครั้งหลายครา ที่ได้ยินเสียง ขอบคุณ-ๆ-ๆ และขอบคุณ ของพ่อครู ถึงลูกๆ

“อาตมาเห็นใจน่ะว่า มันเหนื่อยกันจริงๆ แต่ละคนโอ้โห.. เต็มที่ เหนื่อยเพลีย ถึงขั้น ป้อแป้กัน มันเห็นอยู่ ก็เป็นสามัญ ที่ต้องรับซับทราบ เห็นชนตาอยู่ อาตมาก็ไปดู ไปเห็น งานมันเร่ง ก็ต้องขอบคุณกันจริงๆ ที่ช่วยให้งานสำเร็จ ลุล่วงไปได้ ต้องขอบคุณ อย่างนั้นจริงๆ เป็นเรื่องจริงใจ เป็นเรื่องเห็นจริง...”


 
   

end of column