หอมดอกพุทธา โดย แม่น้ำ ลักขิตะ ตอน...
ใจที่รู้จักให้ ไม่หอบหวง จะหมดห่วง ไร้กังวล
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 231
หน้า 1/1

เพราะหวงสมบัติวัตถุข้าวของ ชีวิตจึงต้องทุกข์เพราะเป็นกังวล กลัวคนมาลัก-มาปล้น แย่งชิง กังวลว่าทายาทจะผลาญพร่าทำลาย บางคนมีชีวิตอยู่อย่างหวาดผวา แทบปิดเปลือกตานิทราไม่ลง เข้าทำนองที่ว่า “มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว” ชีวิตจะมีความสุขได้อย่างไร เมื่อจิตใจเฝ้าแต่เป็นกังวลกับสมบัติ

เมื่อสมัยพุทธกาล เล่าขานกันมาว่า.....

มีชายคนหนึ่งยากจนอย่างสุดๆ ใช้ชีวิตอยู่กับภรรยาสองต่อสอง อยู่ในกระท่อมซอมซ่อ ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จมาแสดงธรรม ณ เขตคามที่ชายยากจนอยู่อาศัย...มหาชนต่างไปฟังสัจธรรมกันล้นหลาม ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ชายยากจนและภรรยา ปรารถนาได้ฟังธรรมเหมือนเช่นคนอื่นๆ แต่ทว่าด้วยความจนยากอย่างเหลือแสน ทั้งสองมีผ้าห่อกายผืนเดียวเท่านั้น เป็นสมบัติมีค่าชิ้นเดียวภายในบ้าน หากเปลือยกายไปฟังธรรมออกจะไม่สมควร

ทั้งสองจึงตกลงกันว่า จะผลัดกันห่มผ้าไปฟังธรรม โดยให้ภรรยาไปตอนกลางวัน ส่วนตนเองจะไปตอนกลางคืน

เมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้า.....ชายยากจนคลุมกายออกจากบ้าน ไปร่วมฟังสัจธรรมกับมหาชน

ขณะที่พระศาสดาทรงแสดงธรรม เขานั่งฟังอยู่ท้ายสุด อย่างตั้งใจ

เมื่อปัญญาได้กระจ่างแจ้งในธรรม.....ความศรัทธาอย่างเหลือล้นได้เกิดขึ้นในใจเขา ความคิดที่จะถวายสมบัติชิ้นเดียวแก่พระศาสดา ผุดพรายขึ้นมาในหัว

เขาก้มมองผ้าคลุมกายผืนเดียวที่มีอยู่...ความคิดประหวัดไปถึงภรรยา หากเขาถวายผ้าผืนนี้ไปเสียแล้ว ภรรยาจะเอาผ้าที่ไหนห่มกายมาฟังธรรม... เขาจึงยังไม่ถวายผ้าแก่พระศาสดา

ลุเวลาดึกสงัด พระศาสดายังแสดงธรรมอย่างต่อเนื่อง ชายยากจนก็ตั้งใจสดับและใคร่ครวญตามธรรมนั้น พลันจิตบังเกิดศรัทธาอยากถวายผ้าอีก แต่เมื่อระลึกถึงภรรยา เขาจึงยังไม่ถวายเช่นเคย...

กระทั่งฟ้าจวนสาง ศรัทธาของชายยากจนก็เปี่ยมล้น เขาตัดสินใจเด็ดขาด ยอมสละสมบัติชิ้นเดียวที่มีอยู่และตัดความกังวลถึงภรรยา น้อมผ้าห่มเข้าไปถวายพระศาสดา....แล้วอุทานกับตัวเองว่า “เราชนะแล้ว! เราชนะแล้ว! เราชนะแล้ว!” เพราะชายยากจนเอาชนะใจที่หอบหวง และห่วงหาเสียได้ เขาจึงได้พบกับความสุข จากการทำทานเป็นการเสียสละที่มีอานิสงส์ใหญ่ยิ่งมหาศาล นำพาให้ดวงจิตสงบหมดห่วงไร้กังวล

หากเราทุกคนรู้จักให้ไม่หอบหวง ชีวิตนี้จะมีแต่ความสุขตลอดกาล...

 

หอมดอกพุทธา (สารอโศก อันดับ ๒๓๑ หน้า ๑๔๔ ธ.ค.๒๕๔๓ โดยแม่น้ำ ลักขิตะ)