หน้าต่าง ต.อ. ตอน...
น้ำหมักชีวภาพ
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 230 ฉบับ "ตลาดอาริยะ'44"
หน้า 1/1

ในโลกไฮเทคโนโลยีดิจิตอลยุค ๒๐๐๑ นี้ ท่านเชื่อหรือไม่ว่า

กว่าจะได้กลุ่มเป้าหมาย ๕๐ ล้านคน เป็นกลุ่มผู้ฟังวิทยุต้องใช้เวลานานถึง ๓๗ ปี

ขณะที่จะได้กลุ่มผู้ชมโทรทัศน์ใช้เวลาเพียง ๑๓ ปี

แต่แทบไม่น่าเชื่อว่า จะได้กลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตใช้เวลาน้อยกว่าเพียง ๔ ปี

ส่วนในโลกของจุลินทรีย์นั้น จะได้น้ำหมักชีวภาพใช้เวลาเพียงแค่ ๓ เดือนเท่านั้น

จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก อาจพบเกือบทุกหนทุกแห่งในธรรมชาติ ในอากาศที่เราหายใจเข้าไป ในอาหารที่เรากิน ที่ผิวหนังของร่างกาย ในทางเดินอาหาร ในปาก จมูกหรือช่องเปิดต่างๆของร่างกาย แต่ยังเป็นความโชคดีของเราเพราะ จุลินทรีย์ส่วนใหญ่มีคุณประโยชน์ต่อสรรพสิ่งมีชีวิตทั้งมวลในโลก ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม จุลินทรีย์เป็นตัวการทำให้เกิดกระบวนการหมัก ผลผลิตที่ได้จากการหมักนั้น ในที่นี้เราขอเรียกว่า “น้ำหมักชีวภาพ”

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของจุลินทรีย์

๑. อาหาร น้ำตาล ธาตุคาร์บอน ไนโตรเจน กำมะถัน ฟอสฟอรัส

๒. อากาศหรือแก๊ส ออกซิเจน คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ เป็นตัวแบ่งประเภทของจุลินทรีย์

๓. น้ำ มีสภาพเป็นกลาง ทำให้สารอาหารอยู่ในสภาพเป็นสารละลาย จุลินทรีย์จึงสามารถนำเข้าไปในเซลล์ได้ (ถ้าเป็นน้ำสะอาด จุลินทรีย์จะเจริญเติบโตได้ดีขึ้น)

๔. อุณหภูมิ เป็นสิ่งกำหนดอัตราและปริมาณการเจริญเติบโต เช่น กรณีเชื้อยีสต์ อุณหภูมิ ๒๐ - ๓๐ องศาเซลเซียส คือ ช่วงที่เหมาะสม จะได้เชื้อดี

อุณหภูมิ ๓๐ - ๓๗ องศาเซลเซียส คือ ช่วงที่ไม่เหมาะสม จะได้เชื้อร้าย เชื้อโรค

๕. ความเป็นกรดด่าง (pH) เป็นตัวชี้บอกว่าจุลินทรีย์จะเจริญเติบโตได้หรือไม่ ? เช่น ยีสต์ จะเจริญเติบโต ได้ดีที่สุดที่ pH ๓.๕ – ๓.๘ หรือสภาพเป็นกรดสูง

วิธีทำน้ำหมักชีวภาพ อย่างง่ายๆ ท่านสามารถทำเองได้ สบายมาก โดยการนำ ผลไม้หรือพืชผักหรือเศษอาหาร ๓ ส่วน น้ำตาล ๑ ส่วน น้ำ ๑๐ ส่วน ใส่รวมกัน ในภาชนะ (ขวด, ถัง) ที่มีฝาปิดสนิท อย่าให้อากาศเข้า โดยเว้นที่ว่างไว้ประมาณ ๑ ใน ๕ ของขวด/ถัง หมั่นเปิดฝา คลายแก๊สออก และ ปิดกลับให้สนิททันที วางไว้ในที่ร่ม อย่าให้ถูกแสงแดด หมักไว้ ๓ เดือน เราก็จะได้น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งมีจุลินทรีย์ สารอินทรีย์ ธาตุอาหาร ที่เป็นประโยชน์ต่อ สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้ทำปุ๋ยสะอาด(แทนปุ๋ยเคมี) ใช้ในการเพาะปลูกกสิกรรมธรรมชาติไร้สารพิษ ใช้ในการซักล้างทำความสะอาด(แทนสบู่ ผงซักฟอก แชมพู น้ำยาล้างจาน) ใช้ดับกลิ่นในห้องน้ำ โถส้วม ท่อระบายน้ำ ฯลฯ

สูตร การทำน้ำหมักชีวภาพ ๓ : ๑ : ๑๐

ผลไม้ : น้ำตาล : น้ำ หมักนาน ๓ เดือน

การขยายน้ำหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพที่หมักได้ ๓ เดือนแล้ว ใช้สายยางดูด เฉพาะน้ำใสออกมา ใส่อีกภาชนะหนึ่ง ส่วนนี้เป็นหัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพ นำน้ำหมักชีวภาพ ๑ ส่วน น้ำตาล ๑ ส่วน และ น้ำ ๑๐ ส่วน ใส่รวมในภาชนะ (ขวด, ถัง) ที่มีฝาปิดสนิท โดยเว้นที่ว่างไว้ประมาณ ๑ ใน ๕ ของขวด หมั่นเปิดฝา คลายแก๊สออก และ ปิดกลับ ให้สนิททันที วางไว้ในที่ร่ม อย่าให้ถูกแสงแดด หมักไว้ ๒ เดือน เราก็จะได้หัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพอายุ ๕ เดือน ขยายต่อตามวิธีข้างต้นทุก ๒ เดือน เราก็จะได้หัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพที่มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ (๗, ๙, ๑๑ เดือน,๑, ๒, ๓,…ปี) ซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

สูตร การขยายน้ำหมักชีวภาพ ๑ : ๑ : ๑๐ น้ำหมักชีวภาพ : น้ำตาล : น้ำ หมักขยายต่อทุก ๒ เดือน

การทำ น้ำหมักชีวภาพดับกลิ่น เป็นการใช้เศษอาหาร พืชผัก ผลไม้ที่เหลือทิ้ง ๓ ส่วน กากน้ำตาลหรือโมลาส ๑ ส่วน และน้ำ ๑๐ ส่วน ใส่รวมกันในภาชนะ (ขวด, ถัง) ที่มีฝาปิดสนิท โดยเว้นที่ว่างไว้ประมาณ ๑ ใน ๕ ของ ขวด/ถัง หมั่นเปิดฝาคลายแก๊สออกและปิดกลับให้สนิททันที วางไว้ในที่ร่ม อย่าให้ถูกแสงแดด หมักไว้ ๓ เดือน เราจะได้น้ำหมักชีวภาพดับกลิ่น ใช้ดับกลิ่นในห้องน้ำ โถส้วม ท่อระบายน้ำ กลิ่นปัสสาวะสุนัข ฯลฯ

การทำ น้ำหมักชีวภาพซักผ้า / ล้างจาน เป็นการใช้ ผลไม้ เปลือกผลไม้ (ฝักส้มป่อย , มะคำดี ควาย , มะนาว ฯลฯ) ๓ ส่วน น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลอ้อย ๑ ส่วน และน้ำ ๑๐ ส่วน ใส่รวมกันในภาชนะ (ขวด, ถัง) ที่มีฝาปิดสนิท โดยเว้นที่ว่างไว้ประมาณ ๑ ใน ๕ ของขวด/ถัง หมั่นเปิดฝา คลายแก๊สออกและปิดกลับให้สนิททันที วางไว้ในที่ร่ม อย่าให้ถูกแสงแดด หมักไว้ ๓ เดือน เราจะได้น้ำหมักชีวภาพซักผ้า / ล้างจาน (แม้ผ้ามีราขึ้นเป็นจุดดำๆ แช่ผ้าทิ้งไว้ ๑ - ๒ วัน ก็ซักออกได้)

การทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ เป็นการใช้จุลินทรีย์ช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศ ช่วยทำให้ฟอสฟอรัสในดินเป็นประโยชน์แก่พืช และยังอุดมไปด้วยธาตุอาหารต่างๆตามธรรมชาติ ท่านทำเองก็ได้ สบายมาก วิธีการหมักอย่างง่ายๆ ดังนี้

๑. เตรียมวัตถุดิบ กล้วยสุก ๑ ส่วน (กก.) มะละกอสุก ๑ ส่วน (กก.) ฟักทองแก่ ๑ ส่วน (กก.) และน้ำตาลทรายแดง ๑ ส่วน (กก.) และ ถังที่มีฝาปิดสนิท

๒. หั่นกล้วย มะละกอ ฟักทอง ยาวประมาณ ๒ ซม. ใส่รวมลงในภาชนะเดียวกัน

๓. ใส่น้ำตาลทรายแดง ๑ ส่วน (กก.) ลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปิดฝาให้สนิท อย่าให้อากาศเข้า วางไว้ในที่ร่ม อย่าให้ถูกแสงแดด หมักไว้ ๑๐ - ๑๕ วัน

๔. จะได้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพชนิดเข้มข้น ใช้รดน้ำต้นไม้ โดยผสมเจือจางกับน้ำเปล่า ๑,๐๐๐ ส่วน หรือน้ำหมัก ๑ ช้อนโต๊ะต่อน้ำ ๑ ปี๊บ (ถ้าใช้น้ำหมักชีวภาพมากจะทำให้ใบเหลือง ใบไหม้ ต้นไม้เฉาตายได้ ในระยะเริ่มแรกจึงควรใช้ปริมาณน้อยๆ ผสมให้เจือจางมากๆ)

๕. ถ้าต้องการหมักต่อ(เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ) โดยเติมน้ำ ๑๐ ส่วน ปิดฝาให้สนิท หมักไว้ ๓ เดือน จะได้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพที่มีจุลินทรีย์ สารอินทรีย์และธาตุอาหารเป็นจำนวนมาก

ธาตุอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่

๑. ไนโตรเจน (N) ช่วยให้พืชเจริญเติบโตทางด้านใบ ลำต้น หัว ฯลฯ

๒. ฟอสฟอรัส (P) ช่วยเร่งการออกดอกและสร้างเมล็ด

๓. โปแตสเซียม (K) ทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์หลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแป้ง น้ำตาล และโปรตีน ควบคุมการปิดเปิดของปากใบและเกี่ยวข้องกับขบวนการสร้างโปรตีน

๔. แคลเซียม (Ca) ไปกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสังเคราะห์แสง การหายใจ การสังเคราะห์โปรตีน

๕. กำมะถัน (S) ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมัน เกี่ยวข้องกับ กระบวนการ สังเคราะห์คลอโรฟีลล์ และ การแบ่งเซลล์

น้ำหมักชีวภาพ(เอนไซม์)กับไวน์ ต่างกันอย่างไร ?

น้ำหมักชีวภาพ(เอนไซม์) ใช้ดื่มกินเป็นสารโปรตีน วิตามินเอ, บี, ซี, ดี, อี, เค, อะมิโนแอซิค(Amino acid) และ อะเซทิลโคเอ (Acetyl Coa) ที่ได้จาก หมักผลไม้นานาชนิด โดยมี จุลินทรีย์ท้องถิ่น หลากหลายชนิด ปะปนอยู่ใน กระบวนการหมัก เพื่อเปลี่ยนผลไม้ + น้ำผึ้ง + น้ำ ระยะเริ่มแรกเป็นแอลกอฮอล์ ระยะต่อมา เป็นน้ำส้มสายชู (รสเปรี้ยว) อีกระยะหนึ่งเป็นยาธาตุ (รสขม) ในที่สุดเป็นน้ำหมักชีวภาพ (เอ็นไซม์) ซึ่งใช้เวลาหมักขยายประมาณ ๒ ปี กรณีจะนำไปดื่มกินควรผ่านการหมักขยายเป็นเวลา ๖ ปีขึ้นไป


ไวน์ (WINE)
เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักองุ่น ไวน์แดงทำจากองุ่นแดง ไวน์ขาวทำจากองุ่นเขียว โดยกระบวนการหมักจะใช้เชื้อยีสต์บริสุทธิ์ เช่น แชคคาโรมัยซีส (Saccharomyces cerevisiae ) เพื่อเปลี่ยนน้ำตาลเป็นอาหาร และ ให้ผลผลิต เป็นแอลกอฮอล์ กับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ C6H12O6 2C2H5OH + 2CO2 ทั้งผลไม้ น้ำตาล และ ภาชนะ จะผ่านการฆ่าเชื้อก่อนทุกขั้นตอน

สรุปว่า น้ำหมักชีวภาพ (เอนไซม์) กับไวน์ต่างกัน ทั้งเจตนาในการหมัก เพื่อจะให้ได้ผลผลิต กระบวนการหมัก การควบคุมเชื้อจุลินทรีย์และความปลอดภัยในการบริโภค

น้ำหมักชีวภาพแบ่งตามการใช้งานได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ใช้อุปโภค ได้แก่ น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน สบู่น้ำ แชมพูสระผม น้ำยาล้างรถ น้ำยาดับกลิ่น ปุ๋ยน้ำ แก้สิวฝ้า น้ำยาบ้วนปาก ฯลฯ

๒. ใช้บริโภค ได้แก่ น้ำหมักชีวภาพ(เอนไซม์)ใช้ดื่มกิน สมุนไพรหมักใช้เป็นยา ฯลฯ

ปัญหาของน้ำหมักชีวภาพ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการนำไปดื่มกิน เมื่อได้น้ำหมักชีวภาพ ในขั้นต้น (๓, ๕, ๗, ๙, ๑๑ เดือน) แล้ว นำไปดื่มกิน เผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ผลิตเพื่อขาย แม้จะช่วยให้ระบบย่อยและขับถ่ายดีขึ้นก็ตาม แต่น้ำหมักชีวภาพ ในช่วงนี้มีสภาพเป็น แอลกอฮอล์ อยู่มาก (คล้ายไวน์) สังเกตได้โดยการดมกลิ่น ชิมรส ถ้าดื่มกิน จะมีอาการร้อนวูบวาบ ลงท้องแล้ว ตีกลับขึ้นหัว กระจายไปทั่วตัว ทำให้บางคนมีอาการมึนงงหรือปวดหัวได้ ซึ่งในฐานะนักปฏิบัติธรรม ถือว่าไม่เหมาะ ที่จะนำมาดื่มกินกัน เพราะจะเข้าข่ายดื่มน้ำเมาได้

ผลเสียที่เกิดขึ้น ทำให้ฟันผุกร่อน เนื้อฟันบาง เพราะน้ำหมักชีวภาพ (เอนไซม์) มีสภาพเป็นกรดสูง วัด pH ได้ ๓ - ๔ กรดจะกัดกร่อนเนื้อฟัน (แคลเซียม) ทำให้ฟันเสียได้ ฉะนั้นการดื่มกินน้ำหมักชีวภาพ (เอนไซม์) แบบเข้มข้นจึงควรหลีกเลี่ยง เราควรผสมน้ำเปล่าให้เจือจางก่อน น้ำหมัก ชีวภาพ (เอ็นไซม์) ๑ ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ ๑ แก้ว (ลองนึกเปรียบเทียบกับปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ เวลาเราใช้รดน้ำต้นไม้ จะผสมน้ำให้เจือจาง ๕๐๐ - ๑,๐๐๐ เท่า ถ้าใช้รดต้นไม้แบบเข้มข้น ต้นไม้จะเฉาตาย)

พ่อท่านมีนโยบายเรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพว่า “ขอให้ช่วยกันสร้างสรร พัฒนาผลผลิตใหม่ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและลดการใช้สารเคมีให้น้อยลง จนถึงไม่ใช้สารเคมีเลย ขอให้แต่ละคน แต่ละหน่วยช่วยกันบันทึก อันนี้ทำใช้เวลาเท่านี้ มีผลอย่างนี้ ให้แน่มั่นคงหรือทดสอบกี่ราย ผลตรงกัน เป็นมาตรฐาน ให้ละเอียดละออ ทำอย่างจริงจัง ถูกต้องเป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องเอาไปรับประทานขอให้ระงับเอาไว้ก่อน อย่านำไปเผยแพร่ข้างนอกในเรื่องการกินจุลินทรีย์ ส่วนเรื่องอุปโภคก็พอได้ เรื่องยาต้องระมัดระวังให้ดี อยากให้นำไปเน้นในเรื่องกสิกรรมให้มาก เพราะขอยันยันว่า ชาวอโศกจะเป็นกสิกร เอาให้จริง อโศกต้องทำงานหนักได้เงินน้อยหรือไม่เอาเงินเลย อโศกจะเป็นคนแบบนี้ในโลก”

การตรวจสอบน้ำหมักชีวภาพเบื้องต้น

๑. ทางกายภาพ ดูการระคายเคืองผิว คัน
๒. ทางจุลชีวะ ดูอาการแพ้ ขึ้นผื่น เป็นแผล เป็นหนอง มีอาการเป็นพิษ
๓. ทางเคมี วัดค่าความเป็นกรดด่างที่ ๓ - ๔.๒

บทบาทหน้าที่ของต.อ.ด้านพัฒนาน้ำหมักชีวภาพ

๑. บทบาทและกิจกรรมหลัก จะเป็นไปเพื่อการวิจัยและพัฒนาผลผลิต โดย

  • ศึกษาจากหลักการทางวิชาการ
  • ศึกษาจากประสบการญ์จริงของผู้ใช้และหน่วยผลิต
  • สร้างเครื่องมือเก็บข้อมูลแบบง่ายๆ
  • ประสานการจัดหาและตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • การติดตาม สนับสนุนหน่วยผลิต
  • สรุปผลการศึกษา
  • จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์
  • เสนอข่าวสารทางวิชาการและความเคลื่อนไหว

๒. ให้หน่วยผลิตทำการศึกษาและทดสอบผลผลิตก่อนนำออกเผยแพร่ หรือจำหน่าย โดยทดลองผลิต พัฒนา ทดลองใช้กันเองภายในชุมชน และบันทึกผลไว้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะผลผลิตประเภทอาหาร ยา เครื่องสำอาง น้ำยาทำความสะอาดที่ใช้กับร่างกาย

๓. รับจดแจ้งผลผลิต หากหน่วยผลิตมีความพร้อม ต้องการนำผลผลิตออกเผยแพร่หรือจำหน่าย ขอให้นำผลผลิตแจกจ่ายให้ชาวชุมชนทดลองใช้ ติดตามบันทึกผลการใช้ เสนอที่ประ ชุมชุมชนพิจารณาเห็นชอบ ผ่านสมณะที่ปรึกษาชุมชน ต.อ.ชุมชน ส่งใบจดแจ้งกับต.อ.กลาง

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความรู้เป็นวิทยาทานแก่คนทั่วไป

ต.อ.กลาง

end of column
บทความ “น้ำหมักชีวภาพ” ลงสารอโศก ฉบับ ปีใหม่อโศก ตลาดอาริยะ’๔๔