คนอาภัพในทางธรรม
 

พูดถึงคนอาภัพ หลาย ๆ ท่าน คงมีสีหน้าเศร้าเกิดความเวทนาสงสาร แต่นั่นก็คือธาตุดีของมนุษย์เรา

ในหมู่ญาติธรรม มีจิตสำนึกตัวหนึ่ง ที่เป็นมากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็เป็นกัน นั่นคือ จิตที่นึกสงสารคนในโลก เห็นเขาทำงานเหน็ดเหนื่อย เห็นเขาแต่งงานมีครอบครัว เห็นเขาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เห็นเขากินเนื้อสัตว์ ฯลฯ ใจก็เกิดความสงสารเห็นใจ

"แหม นี่ถ้ามาปฏิบัติธรรม เขาคงจะพ้นทุกข์สบายกว่านี้"

ความเป็นไปได้ยากในโลก ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ มีอยู่หลายประการ

- การได้เกิดเป็นมนุษย์

- การได้พบบวรศาสนา

- การได้ปฏิบัติธรรมถูกทาง

- การได้มรรคผล

นี้คือสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ที่วิญญาณจะลงมาจุติได้เป็นมนุษย์ และประสบความสำเร็จตามแนวทางแห่งสัจธรรม

พวกเราอาจจะรู้สึกเห็นเป็นธรรมดา เนื่องจากได้กันมาแล้ว จึงไม่ค่อยรู้สึก ด้วยไม่เห็นคุณค่าหลาย ๆ ท่าน จึงเริ่มมีอาการเบื่อหน่าย เซ็ง ท้อแท้ ลืมคิดไปว่า....

สิ่งที่ถืออยู่กับมือนั้น มีค่ามากมายมหาศาล ขนาดต้องให้พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาเผยแพร่ ถึงจะได้ แล้วแต่ละองค์จะห่างกันกี่ล้านปี เราก็ไม่มีโอกาสรู้ได้

หากคิดสักนิด ขณะกำลังเซ็ง หรือจะเลิกสลัดทิ้งไป ว่าของที่เรากำลังถืออยู่ คนในโลกอีกนับล้าน ๆ เขาไม่มีวาสนาได้กัน เราจะเกิดความรู้สึกอย่างไร อยากทิ้ง หรือต้องรีบรักษา ?

มีดี เราไม่รู้ว่ามีดี

โชคดีแล้ว ไม่รู้ว่าตัวเองโชคดี

นี้คือความโชคร้ายที่แสนเศร้า วานรได้แก้ว ไก่ได้พลอย คงเข้าสุภาษิตนี้กระมัง

บุคคลผู้อาภัพในโลก เราก็รู้กันอยู่ว่ามีลักษณะอย่างไร ไม่สงสัย วาสนาบารมีเป็นของมีจริง กรรมเป็นกำเนิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ จะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

คนอาภัพเพราะกรรมเก่า ยังมิใช่คนอาภัพที่แท้ คนอาภัพยิ่งกว่านั้น คือคนมีบุญ แต่ไม่เอาบุญมาใช้ประโยชน์

กลับปล่อยกาลเวลาให้ไหลเลื่อนไป บุญเก่าก็เหมือนน้ำแข็ง หากไม่รีบทำประโยชน์ นับวันก็จะละลาย หายไป ๆ ๆ จนหมด

นี่แหละ จึงคือคนที่อาภัพกว่าเพื่อน เป็นอาภัพขนานแท้ เป็นอาภัพบริสุทธิ์ !

บุคคลยอดอาภัพ มิใช่ขี้เรื้อนกุดถัง หรือยากแค้นอดอยาก นั่นเพราะเขาไม่มีทางเลือก มันเป็นบุพกรรมของเขา

แต่คนที่มีทางเลือกนี้ซิ ระหว่างข้าวกับอุจจาระ ระหว่างทางโรยกลีบดอกไม้กับหนามแหลม รู้ทั้งรู้ยังอุตส่าห์ตะแบงไปอีกข้าง นี้แหละจึงคือ "ผู้อาภัพประจำชาติ !"

หากชีวิตคือการเดินทาง เพื่อความสูงขึ้นแห่งจิตวิญญาณ

เพื่อหมดสิ้นแห่งตัวตน

คนที่มีโอกาส แต่ไม่พากเพียร ไม่ยอมเดิน คนนั้นก็คือ คนที่กำลังฆ่าตัวตายดี ๆ นี่เอง เขาได้ก่อกรรมให้บุคคลอันเป็นที่รัก ที่หวงแหน พลาดจากการดื่มอาหารอมตะของชีวิตไปอย่างเศร้าชะมัด ! ก็ตัวเขาเองนั้นแหละ จะมีใคร

บุคคลยอดแห่งอาภัพ หรือ อาภัพประจำชาติ มีกี่ประเภท เรามาค่อย ๆ แง้มดูกัน ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็ในหมู่นักปฏิบัติธรรม หน้าตาคุ้นเคยกันนี่แหละ

ประเภทที่ ๑ "พวกผีเปรต"

ประเภทนี้ ทำน้อย แต่อยากได้มาก ๆ ทำนิด แต่หวังผลเร็ว ไม่ยอมดูกำลังของตัวบ้าง เข้าทำนองจิตอภิชัปปา

ผีเปรตนั้น ท่านว่าตัวสูงใหญ่ ท้องเท่าภูเขา แต่ปากเท่ารูเข็ม อยากกินก็อยากกินอยู่หรอก แต่ปากมันเล็ก

เปรตชนิดนี้ ถ้าเปลี่ยนกระเพาะให้เล็กลง ชีวิตก็สบายมากเลย ลดความหิวโหยเสียบ้าง เลิกการเลียนแบบดารา ที่เห็นช้างขี้ ก็อยากจะขี้ตามช้าง

ประเภทที่ ๒ "พวกไร้อุดมการณ์"

ประเภทนี้ ประกาศเลย ชาตินี้ไม่เอานิพพาน ยังไง ๆ ก็ไม่ไหว นี่เขาเรียกว่า ช้างศึกขี้ขลาดตั้งแต่ยังไม่เห็นฝุ่น บางตัวเห็นฝุ่น ก็ขอแพ้ บางตัวต่อสู้แล้ว รีบขอแพ้ก็มี

เป็นความมักน้อยสันโดษที่น่าตี !

คนเราปฏิบัติธรรม ต้องมีอุดมการณ์ มีเป้าหมาย มุ่งมั่น หากไม่ตั้งอุดมการณ์ แรงฟันฝ่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เหมือนนักกีฬา หากรู้ว่าวิ่งแค่ ๑๐๐ เมตร เขาก็จะฝึกแค่ ๑๐๐ เมตร แต่ถ้ารู้ว่า จะต้องวิ่ง ๑๐๐ รอบ ก็เท่ากับบังคับให้ซ้อมหนักขึ้น ถึงไม่ถึง ยังไง ๆ ก็ต้องซ้อมไว้ก่อน

"ฉันไม่มีบารมี !" บารมีมาจากไหน ถ้ามิใช่ต้องหมั่นฝึกฝน เพราะไม่ฝึกมาก่อน ชาตินี้จึงไร้กำลัง แล้วถ้าชาตินี้ไม่ฝึกอีก ชาติต่อไปจะมีกำลังได้อย่างไร ?

ใจสู้หุ่นไม่ให้ ดีกว่าใจก็ไม่สู้ หุ่นก็ไม่ให้หลายแสน หลายล้านเท่า ไม่สู้วันนี้ เมื่อไหร่จะหุ่นให้สักที

เมื่อขาดอุดมการณ์.. ก็เหมือนเรือไม่มีหางเสือ ได้แต่ลอยละล่องวน ๆ เวียน ๆ ในอ่างสังสารวัฏแล้ว ๆ เล่า ๆ

มิตรดี สหายดี เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ มิตรที่ไร้อุดมการณ์ ย่อมถ่วงเพื่อนร่วมทางให้เดินเป๋ เพราะไม่ว่าจะพูด จะทำ จะคิด ล้วนแต่ว่า ขอพอผ่านไปชาติหนึ่ง ๆ เท่านั้น

- กินหน่อยสิ อุ๊ย ! อย่าทำเป็นเคร่ง

- คนเราต้องมีความสุขนะ ไปอด ๆ อยาก ๆ ทำไม

- เคร่ง ๆ ทำเป็นฟิต ระวังบ้านะจ๊ะ

ปลอบให้ลุก ปลุกให้ตื่น เซช่วยกันผลักให้ยืน มิใช่ขู่ให้กลัว จะได้ไม่ต้องเดิน แล้วมาเป็นเพื่อนกับฉัน ดีกว่ามาลอยอยู่ในอ่างเท้งเต้งกันเถอะ

ประเภทที่ ๓ "พวกยาจกเข็ญใจ"

"เจริญธรรมค่ะ เจริญธรรมครับ ไม่ค่อยมีเวลาเลย ไม่มีคนเฝ้าร้าน"

"โอ๊ย ! งานมันยุ่ง เราต้องรับผิดชอบ"

ญาติธรรมประเภทนี้ ถืองานเป็นสรณะ วัน ๆ จึงวุ่นวายอยู่กับการทำงาน เพลินอยู่กับงาน

การทำงานคือการปฏิบัติธรรมนะ แต่ขอโทษ จิตไม่แยบคาย ก็สอบตกเยอะ

เวลา และวารีไม่ยินดีจะคอยใคร หนูน้อยพึงรีบพาย เพราะตะวันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า !

ชีวิตวันคืนใกล้หลุมศพไปทุกขณะ แต่เราก็ห่วงงาน ห่วงไม่มีใครดู ห่วงคิดว่า เราสำคัญ ห่วงจนหลงว่าเป็นลูกของเราจนตัดไม่ขาด

งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข โลกียะทำงานซ็อก ๆ เขาจะเอาเงิน แต่เราทำงานจะเอาอะไร ?

คนมีโชค แต่ไม่รู้ว่ามีโชค ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสจะมาวัด ฟังธรรม ตักบาตร คบกัลยาณมิตร แต่ก็ไม่พยายามที่จะทำให้ตัวเองว่างจากงาน

คนอาภัพในโลก คนไม่มีบุญบารมี โอกาสปฏิบัติธรรมเป็นไปได้ยาก ปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ หยุดงานแต่ละครั้ง หมายถึงรายได้ที่จะเลี้ยงชีวิตในวันต่อไปหดหาย

เขาจะไม่มีเวลามาวัด เป็นกรรมของเขา

แต่คนที่มีโอกาส กลับพาตัวผูกพัน จมอยู่กับงาน ไม่เรียกพวกยากจนค่นแค้นยาจกเข็ญใจ แล้วจะเรียกอะไร ?

ลองสังเกตญาติธรรมรอบตัว ท่านจะพบแกนร่วมเหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ ส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยมีความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ ไม่ค่อยมีกังวลในปัจจัย ๔ เท่าใดนัก

นี้คือบุญเก่า ที่ส่งเสริม แหวกทางให้เราได้มีโอกาสใกล้ธรรมมากขึ้น

บุญมี แต่จะชอบเอานิ้วทิ่มตาตัวเอง ไม่เดินทางแล้วเมื่อไหร่จะถึง ประตูวัดเปิดตลอด ไม่สาวเท้าก้าวผ่านธรณีประตู เมื่อไหร่จะได้กราบพระคุณเจ้า หรือจะรอให้ท่านผ่านบ้าน ค่อยตื่นเต้นวูบวาบสักทีหนึ่ง ?

ประเภทที่ ๔ "พวกไร้ญาติขาดมิตร"

ญาติธรรมประเภทนี้ มักจะชอบปลีกเดี่ยว ไม่วุ่นวาย ไม่คบหากับใคร

ไม่คบหาเพราะถือตัวสูงกว่า

ไม่คบหาเพราะคิดว่าพึ่งตัวเองได้

ไม่คบหาเพราะรังเกียจ

หรือแม้กระทั่งไม่คบหา เพราะสำคัญตนว่าต่ำต้อย

ความคิดเหล่านี้ ล้วนประเภทแววมยุราทั้งสิ้น

อวดดีก็ที่หนึ่ง หลงตัวก็ที่หนึ่ง แต่เชื่อเถอะ ใครเป็นโรคนี้ ยากจะยอมรับ

แล้วอย่าไปร้องเพลง We are the world ให้ฟังล่ะ เป็นต้องปวดหู ปวดหัวทุกทีซิน่า

โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน แต่บางคนบอก ขอเป็นพี่น้องกับหมูหมา กา ไก่ ก็พอแล้ว แต่กับญาติธรรม อย่าแหยม

บุคคลอาภัพประเภทที่ ๔ จึงสนิทใจได้กับเฉพาะสัตว์เดรัจฉาน แต่สัตว์ประเสริฐ ไม่ไหว ๆ

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่ในโลก ก็ต้องมีการคบหาพึ่งพา ยิ่งอยู่ทางธรรม ก็ยิ่งต้องคบหา ตามนโยบายหลักมิตรดี สหายดี เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์

"ฉันไม่คิดเลย ญาติธรรมจะมีนิสัยอย่างนี้"

"เข็ดจริง ๆ พวกญาติธรรม ไม่เอาอีกแล้ว"

"พวกญาติธรรมเหรอ อย่าไปหวังอะไรเลย เห่อเป็นพัก ๆ "

คำก็ญาติธรรม ๒ คำก็ญาติธรรม เขาแยกตัวเองออกไปยืนคนละฝั่งคลองไม่ ยอมร่วมสังสรรค์สโมสร

เมื่อไหร่ที่เขาเปลี่ยนจากคำว่า "พวกญาติธรรม" มาเป็น "พวกเรา" นั่นแหละเขาเริ่มเป็นอโศกแล้ว แต่ตอนนี้ ท้องนอกมดลูกก่อนนะ

โปรดเห็นใจกันบ้าง ไม่มีใครอยากเลว อยากต่ำ แต่วาสนาบารมีของคนเราไม่เท่ากัน ตัวเองดีก็สาธุ แต่คนที่เขากระดึ๊บ ๆ ขอให้เห็นใจหน่อยเถิด

หลาย ๆ อย่าง ในตัวเรายังบกพร่อง รู้ทั้งรู้ ยังแก้ยาก แล้วยังจะไปถือสาคนอื่นเขาได้อย่างไร ?

คนที่เพ่งโทสตัวเองเท่านั้น จึงจะอยู่กับหมู่กลุ่มได้สบ๊าย สบาย !

ปัตตานุโมทนามัย บุญที่สำเร็จด้วยอนุโมทนา จากลูกร้อยพ่อพันแม่ มาฝึกพากเพียร สั่งสมความดี ไยจึงไร้น้ำใจ แสดงความยินดี

"มาปฏิบัติธรรม แล้วยังอย่างนี้อีก !" ทิ้งไปเถอะคำอัปมงคลคำนี้ ทิ้งไม้บรรทัดมาตรฐานของเรา ที่ชอบวัดคนอื่นไปเสีย จะดุคน ตัดสินใคร ต้องเทียบอดีตของเขากับปัจจุบันของเขา ไม่ใช่ปัจจุบันของเขามาเทียบกับปัจจุบันของเรา

ให้เวลา ๑๐ วินาที ดึงเอาส่วนดีของญาติธรรมแต่ละคนที่เราไม่ชอบออกมาให้ได้ แล้วเราจะเริ่มเห็นจริงว่า โลกทั้งผองต่างเป็นพี่น้องจริง ๆ

ประเภทที่ ๕ "พวกทุพพลภาพ"

นักปฏิบัติธรรมกลุ่มนี้ อย่ามาคุยเรื่องตบะธรรมเชียว ฟังแล้วเป็นคลื่นเหียนอา

เจียนกันโอ้กอ้าก

แสลงเหลือเกิน อย่าเอ่ยได้ไหม

รังเกียจตบะเหมือนพระไม่สวมจีวร อยากจะร้องเพลงสบาย ๆ ปฏิบัติธรรมแบบเสพย์สุขา ไม่ฝืนใจ ไม่อดทน ไม่มีหรอก เพราะมิฉะนั้น เพลงสบาย ๆ คงต้องต่อภาค ๒ ในนรกด้วยเช่นกัน สบาย ๆ สบายแบบร้อน ๆ !

คนพิการ ทำอะไรก็ขัดเขินไม่สะดวก จะฝืนใจ ขัดใจ ก็กลัวไปหมด แถม ยังมีข้ออ้างสารพัด กันเสียหน้า "คนนั้นไง บ้าไปแล้ว เก็บกดเห็นไหม ?"

"อย่าไปแข่งกับพระคุณเจ้าเลย"

พวกนี้ คงต้องรอรถด่วนขบวนสุดท้ายจริง ๆ

ประเภทที่ ๖ "พวกนักบริหาร"

พวกนี้พิเศษ สังเกตง่าย เวลาคุยมักจะคุยถึงสถานการณ์อโศกบ้าง คุยเกี่ยวกับตัวญาติธรรมคนโน้นคนนี้บ้าง ทั้งส่วนดี ส่วนเสีย (สังเกตดี ๆ ส่วนเสียจะมากกว่า เพราะอร่อยปาก)

เป็นนักวิเคราะห์มือฉกาจ แต่มองดี ๆ เขาว่ามือผักกาดมากกว่า

เรื่องปฏิบัติ ลดละไม่ค่อยได้คุย หรือถ้าคุย ก็อาศัยเป็นฉากหน้าเท่านั้น แต่ฉากหลัง หาทางจะยกตัวเองว่า "ข้าเก่ง" อยู่เรื่อย

เวลาฟังพระเทศน์ ก็เหมือนเป็นโค้ชเชียวแหละ ท่านพูดตรงนี้ไม่เหมาะ พูดแบบนี้ไม่ดี ฯลฯ

ญาติธรรมสายนี้ คนจึงเหม็นหน้ากันเยอะ แต่ก็ดี เอาไว้ทดสอบฐานอภัยของญาติธรรมด้วยกัน

"ก็เขาไม่รู้ !" นี่นา

บุคคลผู้อาภัพแห่งชาติ ๖ ประเภท ที่ได้แจกแจงพอสังเขป ตกหล่นประเภทอื่น ๆ ไปบ้างก็ขออภัย แต่ตัวหลัก ก็คงมีอยู่แค่นี้

เจตนาเพื่อศึกษาเข้าใจ และจะได้เห็นใจในวาสนาบารมี ใครที่รู้ทันจะได้แก้ไขกลับตัว

บทความนี้ มิใช่เอาไว้คอยจ้องจับผิด แต่อยากเป็นกระจกเงา เพื่อสะท้อนบรรยากาศในหมู่พวกเรา เพื่อจะได้ทันใจ ไม่หลงทางมารที่มักหลอกล่ออยู่ไม่รู้เบื่อ

บางทีเรานึกว่าเหตุผลดีพร้อม แต่แท้จริง เป็นเหตุผลของพญามาร ที่แอบมากระซิบเราเสียมากกว่า

มารตัวโต ๆ หน้าดุ ๆ ไม่เท่าไหร่ แต่มารที่แอบใส่ชุดสีกรัก ทำเป็นพูดสำรวมแต่เป็นไปเพื่อห่างหมู่กลุ่ม ย่อหย่อนในวัตรปฏิบัติ

มารเหล่านี้สิ ที่ต้องรู้ให้ทัน เอวังด้วยประการฉะนี้

end of column
(บทความพิเศษในเวบไซต์เครือข่ายชุมชนอโศก "สารอโศก" )