บทความพิเศษใน สารอโศก ตอน...
สายใยหัวใจครู

สายใยหัวใจครู

เป็นการดี ที่เราได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรม ของบรรดาครูทั้งหลาย ในวันครู ของชาวอโศก ทั่วประเทศ (วันที่ ๑๕–๑๖ มกราคม ๒๕๔๓) ณ พุทธสถานสีมาอโศก อ.เมือง นครราชสีมา เป็นครั้งที่ ๓ ของการจัดงานนี้

เช้าวันเสาร์ที่ ๑๕ ม.ค.๔๓ ทำวัตรเช้า ฟังพ่อท่านเทศน์ เปิดงานอบรมสัมมนาครู พ่อท่านเน้น เรื่องการปฏิบัติ สัมมาอริยมรรค สัมโพชฌงค์ และ ให้มีปฏิภาณ รอบรู้เหตุการณ์รอบตัว ที่เกิดขึ้นทั้งวงใน-วงนอก เพื่อปรับเปลี่ยนแก้ไข เพิ่มเติม ส่งเสริม ฯลฯ ให้สอดคล้องกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ต้องไม่ประมาท หลงระเริง ฮึกเหิมท้าทาย สมควรที่จะดำเนิน ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ไปพร้อมกัน ด้วยความรอบคอบ สงบเสงี่ยม ถ่อมตน ไม่เคลิบเคลิ้มไปกับ ความยกย่องชื่นชม ที่แม้จะได้รับมากขึ้น และ ต้องขยันขันแข็ง พากเพียร ให้มากขึ้น อย่าให้สังคม เขาผิดหวัง เพื่อความเจริญด้านมรรคผล ด้านชาติบ้านเมือง จะเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน

สำหรับการศึกษา ของโรงเรียนสัมมาสิกขา พวกเราทุกแห่ง ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น ระดับประถม มัธยม เตรียมอุดม จะมีโครงสร้าง นโยบายอันเดียวกัน คือ ยืนหยัดยืนยัน ตามทิศทางของ "ศีลเด่น- เป็นงาน-ชาญวิชา " ดังที่เคยพูดซ้ำซากมาแล้ว แต่คราวนี้ พ่อท่านพูดตรงไปตรงมา ฟังได้ชัดเจนอีกครั้งว่า ทางการศึกษาของชาวอโศก จะเน้น "บุญนิยม " คือ ไม่ส่งเสริมให้ออกไป ประกอบอาชีพ แบบชาวโลกียะ ไม่ประสงค์ ให้มุ่งหมายศึกษา เพื่อเอาใบปริญญา ไม่ให้มุ่งเอา วุฒิบัตรใดๆ แต่จะเน้น "การสร้างตน-สร้างคน " เป็นสำคัญ

สร้างตนให้มีศีล ทำงานที่เป็นสัมมาอาชีพ ไม่ผิดศีล-ธรรม รู้จักกิเลส อันเป็น ความชั่วร้ายในตัวเอง และ สละความเห็นแก่ตน เพื่อคนอื่น ทำความดี สร้างความสุข ให้เกิดขึ้น แก่คนอื่น รู้จักกิเลสตัวเองให้ชัด ตัดกิเลสตัวเอง ให้แม่นเป้า แล้วทำประโยชน์ แก่คนอื่น ด้วยความขยันหมั่นเพียร

คนที่รู้จักตนดีแล้ว จะต้องรักษาศีลเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับ ประพฤติธรรม กำจัดกิเลส และ เป็นตัวอย่างที่ดี เราต้องมั่นใจว่า นักเรียนของเรา จะต้องอยู่กับ โลกุตระได้ สามารถดำรงชีวิต อยู่อย่างเป็นสุข ด้วยวิถีทางพุทธธรรม แต่คนเรา จะมีพัฒนาการไปได้ดี จะต้องมีการรวมกัน ให้เหนียวแน่น สามัคคี ประสานกันและกัน เพราะแรงประสานที่ดี ที่หนักแน่น จะเป็นเสมือน แรงแม่เหล็ก ที่จะมีอำนาจเพียงพอ แก่การดึงดูดคนอื่นๆ การสร้างพลังของธรรม ให้เกิดขึ้น เป็นหมู่กลุ่ม ต้องเป็นพลังรวม ไม่ขัดแย้งกัน พรั่งพร้อมให้เกิด อปจายนมัย (บุญสำเร็จด้วยการ ประพฤติอ่อนน้อม) และ เวยยาวัจจมัย (บุญสำเร็จด้วยการ ช่วยขวนขวายทำงาน) ให้เกิดอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาเพิ่มขึ้น

หลักสูตรการศึกษาของชาวอโศก จะเป็นหลักสูตร ที่สอดคล้องกับ ความต้องการ ของท้องถิ่น ชุมชน ตามการดำเนินชีวิตจริงๆ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชุมชน และ จะใช้การเรียนการสอน ไปพร้อมๆกับ การดำรงชีวิตปกติ ให้โอกาส แก่ผู้เล่าเรียน ที่จะเพิ่มพูนศักยภาพ และ ดึงเอาความสันทัด ความเก่งของแต่ละคน ออกมาใช้ ประโยชน์ ทำให้เกิดคุณค่า แก่ตนเอง และผู้อื่น

การสอน ก็จะสอนไปตามธรรมดาธรรมชาติ แม้ทำงานอะไรอยู่ ก็อาจใช้การสอน สอดแทรกไปพร้อมๆ กับการทำงานนั้นด้วยก็ได้ เพราะจะได้อาศัย การซึมซับ จากการฟังบ่อยๆ ทำเสมอๆ และ ทำติดต่อกัน เป็นตัวเชื่อมโยง

การเรียนการสอน อย่างที่โรงเรียน สัมมาสิกขาของเราทำอยู่ ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่อย่างใด เพราะกฎหมายใหม่ ได้ให้โอกาส แก่การศึกษาท้องถิ่นชุมชน ที่จะได้ช่วยกัน สร้างความมั่นคง ความดีงามให้เกิดขึ้น

หลักสูตรการศึกษา ที่กฎหมายใหม ่อนุญาตให้จัดการศึกษา ตามอัธยาศัย เพื่อให้เข้ากันได้ กับชุมชนปัจจุบัน จึงเป็นการพิสูจน์ ความใจกว้าง ของทางรัฐด้วย

ขอแต่เพียงให้พวกเรา พากเพียร ขยัน สร้างความเป็นครู สร้างคุณธรรม ให้เกิดขึ้นในตน ให้ได้จริงๆ ก่อน เพื่อจะได้ไม่เกิด ความหม่นหมองใจ ในภายหลัง ครูควรสอนตนเอง อบรมตนเองให้เป็น ให้ได้ในคุณธรรมนั้นๆ ที่เราสอนเขาก่อน แล้ว จึงจะนำไปสอน ผู้อื่นภายหลัง

เวลา ๗.๐๐ น. หลังจากจบ รายการพ่อท่านแล้ว มีการเปิดเผยปัญหา ในวงการศึกษา ชาวอโศก เกี่ยวกับ เรื่องศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา จากทุกพุทธสถาน ซึ่งแต่ละพุทธสถาน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และผลัดกันเล่า ถึงเหตุการณ์ ที่ เป็นจริง ของแต่ละแห่งๆ ให้กันฟัง เพื่อนำมาเป็นข้อคิด ข้อแก้ไข ให้เกิดสติปัญญา ยิ่งๆ ขึ้น

ตอนบ่าย พ่อท่าน และ อาจารย์ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย ได้ช่วยกันตอบคำถาม จากที่สัมมนากันมา เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่ครูส่งมา เพื่อสมานความเห็น และ การกระทำ ให้ไปในทิศทางเดียวกัน ของระบบบุญนิยม มีคำถามหนึ่ง ที่ถามว่า

"ปัจจุบันมีกฎหมาย กำหนดให้ ผู้อำนวยการ ครูใหญ่ จะต้องมีวุฒิ ปริญญาโทขึ้นไป ครูจะต้องมีวุฒิ ปริญญาตรี และ จะต้องมีใบ ประกอบวิชาชีพครูด้วย ทางเราจะมีความเห็น ในเรื่องนี้อย่างไร "

พ่อท่านตอบว่า ทางเราจะไม่ถืออย่างเขา เราจะไม่เน้นในเรื่องนี้ เหมือนเขา แต่เราจะเน้น เรื่องศีลธรรม เป็นสำคัญ เน้นนิสัยใจคอ เป็นหลัก ผู้เป็นครู จะต้องมีศีลงาม มีความประพฤติดี ส่วนความสามารถฝีมือ มาฝึกกันได้

คำตอบของพ่อท่าน เป็นความชัดเจน และ ทำความสบายใจ ให้ส่วนหนึ่ง แก่ชาวเรา ซึ่งก็มองเห็นว่า ที่ทุกคนมุ่งมาอโศก ก็เพราะคุณธรรม ทางด้านศีลธรรม ของบุคคล ในอโศก ตั้งแต่แรกเดิมที เพราะรุ่นแรกๆ ของชาวอโศก ทิ้งสิ่งเหล่านี้มา มุ่งสละตัดกิเลส และ ทำประโยชน์ แก่สังคม ไม่ได้มุ่งแสวงหา เกียรติสมบัติสิ่งเหล่านี้ งานของอโศก จึงก้าวหน้า และ ได้รับความเลื่อมใส ศรัทธา จากคนในสังคม

ฉะนั้น การมุ่งเข้ามาในอโศก ควรมุ่งมาหาความดี ความหมดกิเลส มากกว่าความเก่ง ความสามารถ แม้ "เก่งนั้นควรได้ แต่ดีควรเป็นก่อน " ตามที่พ่อท่าน เคยให้ โศลกธรรม เตือนตนไว้ แต่เริ่มเดิมแล้ว

เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องน่าอนุโมทนา ที่การสัมมนาครู ในคราวนี้ ครูทุกคน จากทุกพุทธสถาน กำหนดหมายพร้อมกัน ตรงประเด็น คือ มาเปิดเผยเรื่องศีล เรื่องงาน เรื่องจิตใจ ความรู้สึกของครู เป็นหลัก ไม่ได้มุ่งไปที่ตัวเด็ก อย่างเดียว แต่ครูทุกคน มุ่งแก้ไข ปรับปรุงตัวเอง และ มีความแม่นเป้า ที่จะเดินหน้า ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยกัน อาศัยโครงสร้าง อันหนึ่งอันเดียวกัน

ตอนภาคค่ำ เวลา ๑๙.๐๐–๒๑.๐๐ น. ครูจากทุกพุทธสถาน ได้ร่วมกัน แสดงละคร สะท้อนถึง ความเป็นอยู่ และ ข้อบกพร่อง หรือ สิ่งที่พึงแก้ไข ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ของตนๆ ได้ซาบซึ้ง ประทับใจคนดู โดยถ้วนทั่ว เพราะเป็นเรื่องจริงๆ ที่ทุกคนตระหนัก สำนึก และ มีไฟในการสร้างสรร ที่จะพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้น จึงทำให้ทุกคน แสดงได้ดี โดยไม่ต้อง กลัวหลุดบท ไม่ต้องกลัวไม่สมบทบาท เพราะทุกคน เพียงอาศัยเวที สะท้อนความจริงใจ ออกมาเท่านั้น เพียงแค่นี้ ก็ชนะใจผู้ดูไปแล้ว

สรุปผล จากละครคืนนั้น คะแนนตัดสินจากผู้ชม ให้เจ้าภาพสีมาอโศก เป็นที่หนึ่ง เพราะมีความกล้าหาญ ในการเปิดเผยตน และ อ่อนน้อมถ่อมตน ที่จะรับคำติงเตือน ไปแก้ไข

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ม.ค.๔๓ ทำวัตรเช้า… ให้เวลา แก่กลุ่มการศึกษา ศีรษะอโศก มาเล่าถึง เคล็ดไม่ลับ ในการปฏิบัติงานการศึกษา ว่าทำอย่างไร การศึกษา อย่างบุญนิยม จึงจะเป็นไปได้ และ ประสบผลสำเร็จ ได้รับคำชมเชย ยอมรับ จากทุกแห่ง ของชาวอโศก ในด้านนี้อย่างไร ซึ่งปีนี้ ตัวจริงของศีรษะอโศก ทั้งสามคน คือ ครูขวัญดิน ครูแก่นฟ้า ครูปอ ได้ช่วยกันอธิบาย และ ตอบข้อซักถาม ได้ตรงประเด็น ชัดเจนกว่า ที่ผ่านๆมา ทำให้คนฟัง เข้าถึงนัยคำความ จุดประสงค์ที่มุ่งหมาย เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกันง่ายขึ้น

โดยเฉพาะ ได้ช่วยคลี่คลายปัญหา เรื่องความเหลื่อมล้ำ เกี่ยวกับ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ของฐานงาน ที่มีผลผลิต เป็นตัวเงิน และไม่มีผลผลิต เป็นตัวเงิน ทำอย่างไร เด็กจึงจะมองเห็น คุณค่าเท่าเทียมกัน และ ไม่เกิดน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่เกิดการเลือกงาน เพราะตัวเงิน มาเป็นตัวกำหนด (รายละเอียดเรื่องนี้ ขยักไว้ให้ผู้สนใจ ไปฟังจากเท็ป จะสนุกกว่า) การสอนชั้นประถม ก็เพียงให้อ่านออกเขียนได้ ชั้น ม.ต้น ก็ให้ความรู้ ด้านสังคม ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ พุทธศาสนา สุนทรียศิลป์ ปฏิบัติวิทยา ให้เขามีสิทธิ์ เลือกเรียนอะไรได้ แต่ครูต้องแน่ใจว่า สอนได้ก่อน (เรื่องนี้ไปฟังเท็ป จะได้รายละเอียด ชัดเจนกว่า) ส่วน ม.ปลาย ก็จะเน้นเรื่อง สมุนไพร ช่างอโรคยา แต่ต้องเลือก ที่เด็กสนใจจริง

สำคัญที่ว่า เราจะต้องสอนอย่างทุ่มเท เสียสละให้กับนักเรียนจริงๆ ไม่มุ่งหวัง ประโยชน์ อะไร ตอบแทนคืนมา ส่วนเด็กจะตอบแทนคืน ก็สุดแต่เด็ก จะกตัญญูกตเวทีเอง ครูต้องทุ่มเท และ ต้องยอมเสียงบประมาณ ในการช่วยเหลือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องอาศัย ในการศึกษา เรียนรู้ ต้องไม่เสียดาย ที่จะจัดหามาให้ เพื่อเด็กจะได้ เกิดกำลังใจ และ เกิดความขยัน หมั่นเพียร ในการศึกษาเล่าเรียน

การตรวจศีล การพิจารณาตนเอง ไม่ว่าทั้งครู และเด็ก ต้องให้ความสำคัญ รวมถึงการเข้าร่วม กิจวัตรส่วนกลาง ประจำวันด้วย เพราะเป็นพื้นฐานร่วม ที่อยู่เบื้องหลัง ความเข้มแข็ง กำลังใจในการปฏิบัติธรรม และ การปฏิบัติงาน

วันนี้ เป็นวันครู ตามกำหนดของสังคมไทยด้วย ครูจึงร่วมกันใส่บาตร สมณะ สิกขมาตุ ในตอนเช้า และ มีวงดนตรี จากญาติธรรมของเรา มาช่วยกัน ให้ความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ ตามสมควรแก่อัตภาพ มีญาติธรรม จากแห่งใกล้เคียง และเด็กๆ สัมมาสิกขา สีมาอโศก จัดตั้งร้าน ใกล้เวทีแสดงดนตรี เพื่อให้ผู้บริโภค เลือกรับประทาน ได้ตามร้านรอบๆ นั้น

เมื่อเสร็จจากเรื่องปากท้องแล้ว ก็มีการประชุมย่อย เฉพาะกลุ่ม ของพุทธสถานต่างๆ เพื่อนำมาสรุป มีสมณะเดินดิน ติกขวีโร เป็นประธาน (เพราะพ่อท่าน ได้กลับไปก่อนแล้ว ตั้งแต่วันเสาร์ที่ ๑๕) เป็นการปิดท้ายรายการ เก็บทบทวนเนื้อหา ร่วมกันอีกครั้ง แล้วต่างก็ แยกย้ายกันกลับ

แต่ชาวปฐมอโศก และ สันติอโศก ส่วนหนึ่ง ได้เดินทางไปกับ คณะศีรษะอโศก อีกสองวัน เพื่อจะไปร่วมกัน ทำกิจกรรมเพิ่มพลังเสริม ต่อจากที่ได้รับการอบรม ที่สีมา ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

งานสัมมนาครูปีนี้ จึงนับว่า เป็นนิมิตหมายอันดี ที่น่าชื่นชม สบายใจ ที่สังคมไทย จะได้บุคลากร ผู้ใจหนักแน่น ใจดี ที่จะช่วยแบ่งเบา ภาระสังคม นำนาวาบุญนิยม ฝ่ากระแส คลื่นชีวิต ให้ไปสู่ฝั่งอันปลอดภัย

การเกิดขึ้นของกลุ่มบุคคล ที่มีจิตวิญญาณประเสริฐ มีอุดมการณ์ ที่จะทำประโยชน์ ต่อสังคม ในทางที่ดีงาม เพื่อขัดเกลากิเลสของตัวเอง และ ช่วยก่อสร้าง เพิ่มพูนคุณธรรม ส่งเสริมศีลธรรม มีความกล้าหาญ ทางจริยธรรม เป็นพ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ที่ดี ให้แก่มนุษยชน เป็นความหวังที่เราเชื่อว่า มนุษย์ผู้มีสติปัญญาดี ไม่กล้าปฏิเสธว่า เป็น"แสงสว่าง" อันเรืองรอง ที่ควรส่องประเทือง ให้ทั่วเมืองไทย คือ ประทีปอันน้อยใหญ่ เพื่อช่วยชาติไทยให้พัฒนา

เป็นความโชคดี เป็นบุญอย่างยิ่ง ที่เมืองไทยได้รับ พระกรุณาธิคุณจาก "บรมครู " ผู้ เป็นศาสดา ที่กล่าวแนะนำ สั่งสอนไว้ในหลักธรรม หลักวินัยพุทธศาสนา มอบ เป็นมรดก ตกทอดให้มนุษยชาติ ดำรงดำเนินต่อใน "ไตรสิกขา " อันได้แก่ ศีลสิกขา จิตสิกขา และ ปัญญาสิกขา เป็นสัมมาสิกขา ที่ชาวพุทธ ผู้ถึงแก่นแท้ ของพุทธศาสนา ต้องนำมากระทำรักษาไว้ เพื่อตอบแทน กตัญญูกตเวที ผู้ยิ่งกว่าครูพระองค์นั้น และ เป็นการช่วยก่อร่าง นำสันติสุข มาสู่มวลมนุษยชาติด้วย

สหัสนัยน์

end of column
 
(สารอโศก อันดับ ๒๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓)