บทความพิเศษใน สารอโศก ตอน...
ลักขณา วชิรวาทการ ผู้จากไป
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 140
เดือน มกราคม-มีนาคม 2533

บุคคลที่จากไป (ลักขณา วชิรวาทการ)

ในขณะที่ร่างกายสมบูรณ์นี้ จะปฏิบัติธรรมได้ง่ายกว่าร่างกายที่อ่อนแอ

"อาคันตุกะ"

"เสียดายคุณเล็ก คนดีๆเสียชีวิตไปก็น่าเสียดาย"

ใครๆก็พูดอย่างนี้ทั้งนั้น เพราะเธอ ลักขณา วชิรวาทการ (เล็ก)

"เป็นคนที่วางตัวดี เป็นตัวอย่างที่ดีของนักปฏิบัติธรรมฝ่ายหญิง"

"เป็นพี่เลี้ยงที่ดีมากๆ ให้กำลังใจรุ่นน้อง ให้โอกาส"

"เป็นคนเคารพผู้ใหญ่ มีอะไรก็มาปรึกษา รู้จักเกรงใจ" ฯลฯ

๑๙ ตุลาคม ๒๔๙๗ เธอถือกำเนิดมาในครอบครัวคนจีน อาชีพค้าขายเฟอร์นิเจอร์ มีพี่น้อง ๑๐ คน คุณเล็กเป็นลูกคนที่ ๔ เป็นโรคหัวใจตั้งแต่ ๘-๙ ขวบ ตอนแรกรักษาแบบโบราณ จนกระทั่ง ๓ ปีต่อมา เมื่ออายุได้๑๒ ปี จึงได้ผ่าตัดหัวใจที่โรงพยาบาลศิริราช ทำให้ได้อ่านหนังสือของชมรมพุทธฯ ของศิริราช และอ่านหนังสือธรรมะจากหลายสำนัก

เพราะสุขภาพไม่ดี จึงได้เรียนหนังสือแค่ประถม ๔ แต่ไม่ทิ้งหนังสือ คุณเล็กชอบอ่านหนังสือไม่ยุ่งกับใครมากนัก เที่ยวไม่เก่ง ไม่ใส่ใจการแต่งตัวมาตั้งแต่เด็ก อยู่ที่บ้าน เธอมีหน้าที่ดูแลน้องฝาแฝด คนพี่คือ วิชัย วชิรวาทการ ส่วนแฝดคนน้องคือ วิเชียร วชิรวาทการนั้น พี่สาวอีกคนหนึ่งเป็นผู้ดูแล แต่คุณเล็กและน้องฝาแฝดทั้ง ๒ คน สนิทสนมกลมเกลียวกันมาก แม้จะอายุห่างกันถึง ๑๐ ปี สองหนุ่มวัย ๒๕ ทวนความหลังให้ฟังว่า

"เจ๊เคี่ยวเข็ญให้เรียนหนังสือ ถ้าทำการบ้านไม่เสร็จก็ไม่ให้ไปเล่น เราก็อยากเที่ยวเล่นแบบเด็กๆ แต่กลัวเจ๊เขาดุ เชื่อฟังเพราะเขามีเหตุผล เข้มงวดจะให้เราดี ดูแลน้องทุกอย่าง เป็นผู้ปกครองแทนแม่ เจ๊โกรธง่ายหายเร็ว ไม่จู้จี้ขี้บ่น ไม่เคยทะเลาะกัน แม่วางใจเขาเพราะเจ๊ช่วยแม่ทำงานได้มาก พ่อแม่รักเจ๊มาก"

ตอนที่จะไปผ่าตัด แม่ไม่ยอม คุณเล็กบอกแม่ว่า "ไม่เป็นไรหรอก ตายก็ตายหนเดียว" แต่คราวนั้นเธอรอดมาได้ และต้องไปหาหมอทุก ๑๕-๓๐ วัน เพื่อฉีดยา ต่อมาราวพ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๔ คุณเล็กได้เริ่มรับประทานมังสวิรัติ และไม่ค่อยได้ไปหาหมอ รู้สึกว่าสุขภาพแข็งแรง ไม่มีปัญหาอะไร ตอนนั้นคุณพ่อเสียชีวิตไปแล้ว แม่ไม่อยากให้ลูกปฏิบัติธรรม คนจีนเขาถือว่าคนกินเจเป็นคนมีปัญหา และเมื่อบวชแล้วต้องไม่สึก ยิ่งเมื่อน้องฝาแฝดกินเจตามพี่สาวด้วย และคุณเล็กออกจากบ้านไปอยู่วัด เมื่อเดือน เม.ย. ๒๕๒๖ แม่ก็ยิ่งรู้สึกว่าสูญเสียลูกสาวที่รักไปและกลัวว่าลูกชายจะจากไปด้วย

คุณวิชัยกับคุณวิเชียรก็บอกแม่ว่า ไม่ต้องกลัวหรอก จะอยู่กับแม่ ก่อนพี่สาวจะไปอยู่วัด สองชายก็รับปากไว้ว่าไม่ต้องห่วงแม่ ให้วางใจ ไม่คิดว่าพี่สาวเห็นแก่ตัว แต่น่าเสียดายที่น้องๆย่อหย่อนในการปฏิบัติธรรมลงไป

เมื่อคุณเล็กอยู่บ้าน ๓ คนพี่น้องกินเจบริสุทธิ์ และคุยกันเรื่องธรรมะได้นานๆไม่เบื่อ คุยกันอยู่ ๓ คน พี่น้องคนอื่นๆไม่เอาด้วย แต่ก็ไม่ขัดขวางอะไร ต่างคนมีอิสระในตัวเอง

คุณวิชัยและคุณวิเชียรมั่นใจในพี่สาวมาก เมื่อคุณเล็กออกจากบ้านไปอยู่วัด ทั้งคู่ก็เข้าใจว่าจะไม่กลับมาอีก เพราะพี่สาวเป็นคนจริงจัง ขยัน ประหยัด เมื่อมาอยู่วัดแล้ว คุณเล็กยิ่งขยันกว่าอยู่ที่บ้านเสียอีก ตื่นตีหนึ่งตีสองเพื่อทำอาหารขายชมร. ตีสามไปจ่ายตลาด แล้วไปขายอาหารที่ชมร.แผนกอาหารทอด กลับมาถึงวัดราวสี่โมงเย็น ก็ทำวัตรเย็น หลังจากนั้นก็ดูวิดีทัศน์ ถ้าสุขภาพไม่ดีคุณเล็กจะงดวิดีทัศน์เพื่อพักผ่อน เตรียมรับงานวันต่อไป

๖ ปีกว่าเกือบ ๗ ปี ที่ชีวิตวนเวียนอยู่ในโลกสีขาว จนกระทั่งคุณเล็กต้องพักงานจากชมร. เพื่อบำรุงร่างกายให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดหัวใจ เมื่อได้เตียงแล้ว คุณเล็กก็เข้าโรงพยาบาลศิริราช คุณชุติมา อโศกตระกูลเล่าว่า...

"ตอนแรกที่ผ่าตัดเสร็จแล้ว เรายังคิดว่าคนไข้จะหายดี ต่อมากลับมีน้ำท่วมปอด และก้อนเลือดอุดตันที่สมอง หมอบอกว่า คนไข้จะต้องเป็นอัมพาตซีกซ้าย ตอนนั้นดิฉันรู้สึกเสียใจมาก เพราะคิดว่าคนที่ทำงานช่วยเหลือคนอื่นขนาดนี้ มีความอดทน แม้แต่ป่วยอยู่ก็ยังช่วยทำอาหารให้ชมร. ทำไมต้องเกิดภาวะนี้ด้วย คือถ้าเป็นอัมพาตช่วยตัวเองก็ไม่ได้ เมื่อออกจากโรงพยาบาลมาอยู่ที่พุทธสถาน อาการก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถเดินได้ แต่แล้วก็มีอาการท้องเสีย ต้องเข้าโรงพยาบาลอีก ตรวจพบว่าติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และเชื้อราเกาะที่ลิ้นหัวใจ คนไข้อ่อนแอมาก ทานอะไรไม่ได้ ในที่สุดเส้นเลือดในสมองแตก ไตเสีย ตาข้างขวาเสีย ร่างกายก็เสียไป จนถึงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ ก็เสียชีวิต"

ศพคุณเล็ก ถูกนำมาตั้งไว้ที่สันติอโศก รอสมณะ สิกขมาตและญาติธรรมที่ไปร่วมงานปลุกเสกฯ ที่ศีรษะอโศก กลับมาแสดงน้ำใจต่อกันเป็นครั้งสุดท้ายในการพึ่งแก่ พึ่งเจ็บ พึ่งตาย และเพื่อนๆพี่น้องของเราก็ได้แสดงความรู้สึกในคุณงามความดีของคุณเล็ก ที่ได้ทำยามมีชีวิตอยู่ เมื่อย่ำค่ำของวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ ก่อนที่จะนำไปเผาที่พุทธสถานปฐมอโศก ในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ เวลา ๑๕.๐๐ น. โดยมีพ่อท่าน สมณะ สิกขมาต ญาติทางธรรม และญาติทางสายโลหิตครบพร้อมน่าอบอุ่นใจ

คุณรินบุญ อโศกตระกูล เล่าให้ฟังว่า "พี่เล็กบอกดิฉันว่า เราเป็นโรคหัวใจ อยู่อีกไม่นานหรอก นายน่าจะหัดจ่ายตลาดเป็นทายาทของเรานะ ดิฉันก็ไปช่วยพี่เล็กจ่ายตลาด วันหนึ่งตื่นไม่ทันพี่เล็ก ตามไปเจอกันที่ตลาด พี่เขากลัวเราจะเสียใจ รีบเข้ามาบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก อย่างนี้แหละฝึกใหม่ๆ เราก็ไม่กล้ารบกวน กลัวจะเพลียมาก ...พี่เล็กถ่ายทอดงานไว้ดีมาก ตั้งแต่การสั่งของ การดูของ การรู้เท่าทันแม่ค้า การเลือกซื้อของที่มีคุณภาพพอเหมาะกับราคา กลับจากชมร. ก็นอนพักผ่อนกัน (คุณรินบุญ เป็นไวรัสตับอักเสบ) คุยกันไปด้วย พี่เล็กจะบอกจุดนั้นจุดนี้ที่ควรปรับปรุง

...พี่เล็กบอกดิฉันว่า คนเราถ้าฝึกอย่างไร มันก็ได้อย่างนั้น นายสมควรเป็นแม่ครัวได้ ช่วยแบ่งเบาภาระ

ทำให้ดิฉันมีกำลังใจที่จะทำ พยายามฝึกหัด จะพยายามทำตามที่พี่เล็กสอน..."

คุณสุมลฑา ทองแก้ว ผู้รับใช้คนวัดฝ่ายหญิง เล่าถึงคุณเล็กว่า "พี่เล็กเป็นคนซื่อสัตย์ต่อกฎระเบียบ ไม่เคยขาดกิจวัตรโดยไม่จำเป็นจริงๆ หมั่นประชุม นั่งรถจากชมร.กลับวัดก็ไม่หลับ จะทำงานไปด้วย ปอกเห็ด ฝานข้าวโพด เลือกผัก ประหยัดเงินชมร.ทุกบาททุกสตางค์ พี่เล็กมีกิตติศัพท์มากในเรื่องความประหยัด จะเดินดูของก่อนเพื่อเลือกของที่เหมาะกับราคา และไม่ซื้อเจ้าประจำเพราะทำให้ไม่รู้ราคาที่เปลี่ยนแปลงไป พี่เล็กจะเตือนใจชาวชมร.เสมอว่า เรามาที่นี่ เราไม่ได้มาเสพนะ เรามาปฏิบัติธรรม เรามาทำงาน ไม่มีค่าตอบแทน คุณจะกินอร่อยยังไง

ในเรื่องความเอื้ออาทร เมื่อใครป่วย พี่เล็กจะคอยถามคอยดูแล เวลาไปงานปลุกเสกฯ พุทธาฯ ก็จะซื้อของเตรียมไว้ให้พอเพียง และฝากเงินไว้เผื่อจำเป็นใช้หรือใครเจ็บป่วย"

เมื่อวันที่ ๙ ก.ย. ๒๕๓๑ คุณเล็กนอนป่วยอยู่ที่ตึกขาว ในช่วงที่มีข่าวคราวกรณีสันติอโศก คุณเล็กได้บันทึกไว้ในสมุดบันทึกประจำวันว่า

"พ่อท่านไม่ได้ทำงานพลาด ท่านทำงานในระดับสูงขึ้น แต่พวกเราส่วนใหญ่ คือเราด้วย ตามโจทย์ไม่ทัน พ่อท่านสอนโลกธรรมเรา เราทนคนขนาดนั้นด่าได้ เราก็สามารถอยู่กับคนระดับดีกว่าคนคนนั้นแน่นอน ...เราขณะนี้เวลานี้สังขารขันธ์ก็เป็นใจให้ทำสมถะ เมื่อวานทำการสำรวจใจว่า ถ้าป่วย ไม่มียารักษา เราจะต้องตาย เรายังจะห่วงอะไรมั้ย ก็เจอคำตอบว่า ไม่ห่วงบุคคล แต่เราไม่ได้หลงตัวเองนะ เฮงซวยๆอย่างเรา ก็คงอยู่ช่วยพ่อท่านทำงานศาสนาได้บ้างหรอก"

เป็นที่น่าสังเกตว่า คนที่เห็นความสำคัญของกิจวัตรเป็นหนึ่ง ก็นิยมชมชื่นคุณลักขณา วชิรวาทการ ผู้ที่ให้ค่าของการงานเป็นหนึ่ง ก็ศรัทธาในความเอาภาระของคุณเล็ก คนที่ชอบอ่านเขียนเรียนปริยัติก็มีคุณเล็กอยู่ในสายตาเหมือนกัน คนที่ทำงานใช้มือและแรงกายก็ต้องถือคุณเล็กเป็นผู้นำคนหนึ่งทีเดียว

เธอ... อยู่ในกิจกรรมและอยู่ในกิจวัตร

เธอ... มีสมองและแรงฝีมือ

เธอ... เปี่ยมด้วยศรัทธาและปัญญา

เธอ... เคร่งครัดที่ตนและผ่อนปรนผู้อื่น

คุณฮั้ว (รัตนี) เพื่อนรักของคุณเล็ก ซึ่งได้ระบายทุกข์ขอความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำให้คุณเล็กปลดเปลื้องทุกข์ให้ เป็นเวลานับสิบปี บอกว่า ตลอดเวลาที่คบกันมาก็ไม่เห็นคุณเล็กทำความชั่วเลยสักครั้งเดียว มีเพื่อนตายอยู่คนเดียว เพื่อนก็มาด่วนจากไปเสียแล้ว คุณฮั้วเองจึงคิดว่า จะพยายามสืบทอดเจตนารมณ์ของเพื่อน จะมาวัดบ่อยๆ ถ้ามีโอกาสก็จะไปช่วยงานที่ชมร.

คุณวิชัย วชิรวาทการ กล่าวว่า "สิ่งที่มีค่ามากที่สุด ที่ได้รับจากพี่สาวคือศาสนา แม้ผมจะทำได้ไม่เท่าไร แต่ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งสูงสุดที่มนุษย์พึงได้ สิ่งอื่นแม้จะดูเหมือนมีค่า แต่ก็ไม่มีค่า เพราะไม่สามารถนำติดตัวไปได้"

เมื่อพี่สาวจากไปแล้ว คุณวิเชียร วชิรวาทการ ซึ่งเคยบอกพี่สาวไว้ว่า ขอไปเรียนรู้โลกสักพัก คุณเล็กก็บอกว่า ถ้ากังขาก็ไปตามใจ ถึงวันนี้เขากลับฉุกคิดไว้ว่า พี่ปูแนวทางให้แล้ว เรากลับลืมไปเสียนาน และได้คิดว่าในขณะที่ร่างกายสมบูรณ์นี้ จะปฏิบัติธรรมได้ง่ายกว่าร่างกายที่อ่อนแอ

เมื่อถามถึงของฝากสำหรับคนที่ออกจากบ้านไปอยู่วัด ได้รับคำตอบว่า คนอยู่วัดต้องดูแลสุขภาพตัวเอง คนที่จะออกจากบ้านก็มีจุดยืนอยู่แล้ว ขอให้ไปให้ถูกทาง คนในบ้านก็น่าจะทำใจให้ได้ว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับพื้นฐานจิตใจคนแต่ละคน ให้เขาเลือกทางของตัวเอง ถ้าคนในบ้านยังจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัย ยังทำใจไม่ได้ ก็น่าจะอยู่ช่วยเขาไปก่อนจนกว่าจะลงตัว จึงค่อยออกไปอยู่วัด

จริงๆด้วย ถ้าออกจากบ้านมาอย่างแตกหัก ไม่ประสานกันได้ ไปอยู่วัดแล้ว เกิดกิเลสหรือวิบากตัดรอนอยู่วัดก็ไม่ได้ กลับบ้านก็ไม่ได้ จะหันหน้าไปทางไหน หากหัดคิดถึงใจเขาใจเรา ถ้อยทีถ้อยอาศัย บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น อยู่บ้านคนที่บ้านรัก ถึงเวลาจะออกจากบ้านไปทำดี ก็มีคนสนับสนุน รับภาระทางบ้านให้เรียบร้อย ไปอยู่วัด คนที่วัดก็รัก

ทำได้อย่างนี้เหมือนที่คุณเล็ก ลักขณา วชิรวาทการทำแล้ว ถึงเธอจะจากไป ใครๆก็เสียดายและต่างรำลึกถึงคุณความดีที่ผ่านมา ทั้งมีพลังใจที่จะทำตามตัวอย่างที่เธอทำไว้

งามเอยงามน้ำใจ เธอมอบให้ด้วยการงาน

สองมือแกร่งหยาบกร้าน เพื่อสานสร้างทางคนจริง

งามเอยงามน้ำจิต เธออุทิศมอบทุกสิ่ง

คนจึงได้พึ่งพิง หยาดเหงื่อเธอที่ทุ่มเท

end of column
 
(สารอโศก อันดับ ๑๔๐ มกราคม – มีนาคม ๒๕๓๓ ฉบับ นักทำ “ธรรม”)