ออกพรรษา'43 หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 229 ฉบับ เดือนตุลาคม 2543
หน้า 1/1

วันออกพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งของชาวพุทธ เพราะว่าตามประเพณีนิยมที่สืบทอดต่อๆกันมา ชาวพุทธเราส่วนหนึ่งจะถือโอกาสช่วงเข้าพรรษา ตั้งใจบำเพ็ญบุญกุศล ลด-ละ-เลิกอบายมุข ตลอดช่วง ๓ เดือน

เช่น บางคนตั้งใจเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกการพนันทุกชนิด พูดง่ายๆคือกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีกับเขาบ้าง ในช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือน จึงถือว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม แม้จะเลิกเด็ดขาดไม่ได้ แต่ก็ให้เห็นว่า อย่างน้อยก็ได้ละเว้นชั่วบ้างตามโอกาส มีจิตสำนึกถูกต้องชั่วดี รู้กุศล-อกุศล และได้แสดงให้เห็นว่า มีความพยายามการะทำสิ่งดีงาม ตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ ไม่หลงมัวเมาตลอดไป

แต่สำหรับชาวอโศก การเข้าพรรษาหรือออกพรรษา ก็ดูไม่ต่างกันมากนักเพราะปฏิบัติตลอดปี เพียงแต่ในช่วงเข้าพรรษาดูอาจจะเคร่งครัดขึ้นบ้าง หลายคนสมาทานเพิ่มอธิศีล ตั้งตบะธรรมต่างๆ เช่น จากกินไม่มีมื้อ มาพยายามกิน ๓ มื้อ เคยกิน ๒ มื้อมาลดให้เหลือมื้อเดียว หลายคนงดกินขนม งดอาหารปรุงแต่ง หากมีความมั่นใจในทิศทางโลกุตระมากขึ้น ก็ถึงขนาดมาถือศีล ๘ มาอยู่วัดตลอดพรรษาก็มี

ซึ่งข้อปฏิบัติต่างๆ ก็แล้วแต่พื้นฐานจิตใจของแต่ละคน ว่าจะมีความมั่นคงชัดเจนมากน้อยเพียงใด การเพิ่มอธิศีลก็ถือโอกาสวันสำคัญนี้ เพิ่มฐานปฏิบัติธรรมให้สูงขึ้น อันเป็นยอดแห่งกุศลกรรม ซึ่งหลายๆคนหลังจากได้ปฏิบัติเพิ่มอธิศีลแล้ว เห็นอานิสงส์ตัวเองเจริญขึ้น แม้ออกพรรษาแห่งกุศลกรรม ซึ่งหลายๆคนหลังจากได้ปฏิบัติเพิ่มอธิศีลแล้ว เห็นอานิสงส์ตัวเองเจริญขึ้น แม้ออกพรรษาแล้วก็ยังบำเพ็ญต่อไป

พอถึงวันปวารณาออกพรรษา ทางพุทธศาสนากระแสหลัก มักจะทำบุญ "ทอดกฐิน" หลังออกพรรษาแล้ว ซึ่งในสมัยอดีตกาลนั้น พระพุทธเจ้าทรงเห็นถึงความยากลำบากของภิกษุ จึงปรารภเหตุบัญญัติพระวินัยผ้ากฐินขึ้นว่า

ภิกษุจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ รูปขึ้นไป ที่จำพรรษาในอาวาสตลอดฤดูฝน ๓ เดือน คือตั้งแต่ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยมีพรรษาไม่ขาด มีสิทธิได้รับถวายผ้ากฐินเพื่อตัดเย็บเป็นผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร (จะเป็นผ้าสบง จีวร หรือสังฆาฏิก็ได้) เพื่ออนุเคราะเหล่าภิกษุผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนต่อไป

และพระองค์ยังให้ภิกษุที่จำพรรษาครบ ๓ เดือนได้อานิสงส์พรรษา ๕ ประการ คือ

๑. เที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลาได้

๒. เที่ยวไปโดยไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบ

๓. ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันเป็นหมู่เกิน ๕ รูปได้)

๔. เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา

๕. เป็นเจ้าของจีวรลาภอันเกิดขึ้นในอาวาสนั้น

สำหรับสมณะชาวอโศก เมื่อถึงวันออกพรรษา ก็จะปวารณาออกพรรษากันจริงๆ ทั้งปรมัตถสัจจะและสมมุติสัจจะ เราจึงมีการกล่าวติงเตือนกัน ขี้ขุมทรัพย์กันจริงๆ และให้ผู้ถูกชี้เอาไปสังวร สำรวมและปฏิบัติกันจริงๆ ซึ่งผู้ชี้ขุมทรัพย์ก็จะขี้กันอย่างหวังดี กล่าวติงเตือนด้วยเมตตาจิตด้วยความปรารถนาดีต่อกันจริงๆ

ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า การชี้ขุมทรัพย์จะเป็นความยังหมู่ให้เจริญถ่ายเดียว ไม่มีเสื่อมเลย ดังมีต้นเหตุที่มาคือ

สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสถามภิกษุกลุ่มหนึ่งว่า ตลอด ๓ เดือน พวกท่านทั้งหลายอยู่สุขสบายดีหรือ ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า อยู่ผาสุกกันดี พระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้าจึงถามต่อไปว่า แล้วพวกท่านอยู่กันอย่างไร ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลว่า ข้าพระองค์ไม่ทักทายปราศัยกัน หลังจากกลับจากบิณฑบาตมาแล้ว ก็ต่างคนก็ต่างฉัน ต่างก็ทำวัตรของแต่ละคน อยู่สงบไม่เกี่ยวข้องกัน

พระพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า โมฆบุรุษ(คนเกิดมาสูญเปล่าไม่มีประโยชน์) ไฉนจึงอยู่อย่างปศุสัตว์ (ธรรมดาปศุสัตว์ทั้งหลาย ย่อมไม่บอกสุขทุกข์ของตนให้ใครทราบ และไม่ปฏิสันถารกัน) สมาทานมูควัตร(ถือไม่พูดจากัน) ที่พวกเดียรถีย์ถือปฏิบัติต่อกัน การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใส หรือไม่ทำให้คนที่เลื่อมใสแล้ว เกิดความเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้น

จากนั้นพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ผู้ใดสมาทานมูควัตรต้องอาบัติทุกกฏ

จะเห็นได้ว่า แม้ช่วงเข้าพรรษาหรือออกพรรษาก็ตาม พระพุทธเจ้าทรงให้กำเนิดพระพุทธศาสนาขึ้นมา มีจุดเด่นเน้นให้อยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หากมีข้อบกพร่องผิดพลาด ก็กล่าวติงเตือนกันไม่ให้หนีไปสงบอยู่ในป่า-เขา-ถ้ำ เพียงลำพัง

แต่ชาวพุทธทุกวันนี้เข้าใจผิดกันมาก โดยคิดว่าพระดีต้องไปอยู่ป่า บำเพ็ญสมาธิภาวนาในป่า ไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้คน ซึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ ผิดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ให้ไม่มักน้อยในกุศลธรรม ต้องขวนขวายช่วยโลก ช่วยสังคมและช่วยตน อย่างมีประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านโดยสมบูรณ์

  • สมณะดินทอง นครวโร
  • รายงาน