บทความในสารอโศก ตอน
สัมมนาครูสัมมาสิกขา ครั้งที่ 7
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 232 เดือนมกราคม 2544
หน้า 1/1

สัมมนาครูสัมมาสิกขา ครั้งที่ ๗ ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๒ ม.ค. ๒๕๔๔ ณ พุทธสถานสีมาอโศก

ตลอดระยะเวลาเกือบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ชาวอโศกได้เปิด ร.ร.เอกชนการกุศล อบรมกุลบุตรกุลธิดา โดยมีหลักการเรียนการสอนว่า ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ยากที่ทั้งครู และนักเรียนต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะเป็นระบบใหม่ นักเรียนต้องอยู่ประจำ ต้องรักษาศีล ต้องทำงานฐาน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทางวิชาการ ซึ่งในส่วนของโรงเรียนสัมมาสิกขามีด้วยกัน

๖ โรงเรียน แต่ละโรงเรียนมีเหตุปัจจัยองค์ประกอบไม่เหมือนกัน ในแต่ละปี ทุกโรงเรียนจะมาสรุปปัญหาของแต่ละโรงเรียนร่วมกัน และช่วยกันแก้ปัญหาในงานสัมมนาครูปีนี้

วันแรก ๑๙ ม.ค.๒๕๔๔ เมื่อคณะครูแต่ละพุทธสถานมาถึงแล้ว ก็ได้ทยอยลงทะเบียนเวลา ๑๙.๐๐ น. แล้วเริ่มรายการ ”คันฉ่องส่องตัวเอง” โดยให้ครูแต่ละพุทธสถานรายงานสรุป ข้อบกพร่องที่เห็นเด่นชัดของตนเอง และให้คณะครูรวมทั้ง สมณะ-สิกขมาตุ มองภาพรวมปัญหาของแต่ละพุทธสถาน ซึ่งพอสรุปปัญหาทั้งหมดของทุกๆ แห่ง ดังต่อไปนี้ คือ

๑. ไม่ทำตามมติที่ประชุม
๒. เวลาประชุมไม่ค่อยตรงเวลา
๓. อยู่ในภพของตนเองมากเกินไป ไม่มีเวลาอยู่กับเด็ก
๔. ครูไม่กล้าลงลุยเต็มที่กับเด็ก
๕. ครูยังขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน
๖. ครูไม่สามารถสื่อให้เด็กเข้าใจการศึกษาในระบบบุญนิยมได้ชัดเจน
๗. ครูมีทิฐิแตกต่างกันมากเกินไป
๘. ครูมีหลายหน้าที่ สวมหมวกหลายใบ
๙. มีความหลากหลาย แต่ไม่ฉลาดใช้ให้เกิดประโยชน์ คิดแต่จะทำให้เหมือนๆกันทั้งหมด
๑๐. คนเก่งมีมาก รวมตัวกันได้ยาก

ทำวัตรเช้า ๒๐ ม.ค. พ่อท่านให้โอวาทคณะครู ฉีกชี้สัมมาทิฐิ พอจะยกตัวอย่างได้ เช่น

-งานครูเป็นงานหลักของมนุษยชาติ-ชีวิตนี้เกิดมาไม่มีอะไร ถ้าไม่ศึกษาก็เหมือนสัตว์เดรัจฉาน ช้าง ม้า วัว ควาย

-งานครูเป็นงานสำคัญของคนสำคัญ

-โลกุตรสัจจะไม่มีการรู้เอง โดยไม่ได้รับการถ่ายทอด เพราะโลกุตระก็ต้องถ่ายทอดมาเป็นทอดๆ จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ หรือพระโพธิสัตว์ มหาสัตว์

-และประเด็นสำคัญ พ่อท่านให้คณะครูต่อจากนี้ไป ให้เรียกตนเองว่า ”คุรุ” แทนคำว่า ”ครู” เพราะครูในยุคนี้แทบจะไม่มีเนื้อหาของความเป็นครูเหลืออยู่เลย มีแต่กอบโกยหาผลประโยชน์จากเด็ก แทนการเสียสละถ่ายทอดความดีงาม ความรู้ให้กับเด็ก เฉกเช่นเดียวกับ “สมณะ" เลิกเรียกตัวเองว่า”พระ" แล้ว

หลังจากทำวัตรเช้า ได้แบ่งคุรุออกเป็นกลุ่ม จากนั้นเจ้าภาพได้พาเดินชม แนะนำสถานที่ภายในชุมชนสีมาอโศก ก่อนมาสรุปปัญหาของแต่ละพุทธสถานและการแก้ปัญหา แล้วค่อยร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน

ภาคบ่าย เป็นรายการ “การศึกษาบุญนิยมบ้านฉัน" พูดถึงการทำแผน

การเรียนการสอนแบบบูรณาการ โดยคุณแก่นฟ้า คุณขวัญดิน และคุณขวัญดี

ตอนเย็น ดูวิดีโอประกอบการศึกษาของ ร.ร.อาชีวสิกขาแบบบูรณาการของปฐมอโศก

ทำวัตรเช้า ๒๑ ม.ค. พ่อท่านแสดงสัมมาทิฐิการศึกษาให้กับคณะครูต่อ โดยแนะว่าคราวหน้าเราจะเรียกสัมมนาครูว่า สัมมนาคุรุ

-วิธีสัมมนาคุรุแบบนี้ ในสมัยพุทธกาลยังไม่มี

-พวกเราชาวอโศกประชุมกันเก่ง ถกเถียงกันเก่ง มีเชิงฉลาดแยะ และมีอัตตามานะเยอะ

-คนเราชอบโชว์ว่าตัวเองแน่ ทั้งที่บางทีขายขี้หน้า แสดงกิเลสอัตตามานะมากกว่า

-ต่อไปหากใครมาว่า ไม่เก่งทางวิชาการ เราก็ต้องยอมรับว่า เราไม่เก่ง แต่พวกเรามีศีลธรรมดี ทำงานเป็น เลี้ยงชีพได้

สำหรับผู้จะจบสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต ต้องมีคุณธรรม ”โสดาบัน” ขึ้นไป เราจะให้

“ปัญญาบัตร” เป็นทองคำแท้ๆ ฯลฯ

หลังจากทำวัตรเช้าเสร็จ คณะครู ได้ยกขบวนย้ายการสัมมนาครู ไปดูของจริงๆที่ อ.วังน้ำเขียว ของกลุ่มกสิกรรมไร้สารพิษ โดยมี คุณอำนาจ หมายยอดกลาง เป็นประธานกลุ่ม คุณอำนาจได้รายงานความเป็นมาของกลุ่มกสิกรรมไร้สารพิษ ว่ากว่าจะฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรค จนเกิดความสำเร็จได้รับการรับรอง เข้าร่วมโครงการของพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงได้ จากนั้นได้นำชมแปลงผักไร้สารพิษของสมาชิกโครงการ ซึ่งมีสมาชิก ๓๐๐ กว่าครัวเรือน โดยมากปลูกผักพืชเมืองหนาว โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือยาฆ่าหญ้า หรือยาฆ่าแมลง แต่หันมาใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์แทน ซึ่งได้ผลดีมาก สามารถส่งไปจำหน่ายให้กับประชาชนใน กทม. เฉลี่ยได้วันละ ๒ ตัน

บ่าย ครูอุดม ศรีเชียงสา ได้มาพูดการศึกษากับการกสิกรรม สามารถบูรณาการเข้ากันได้ โดยจัดหลักสูตรของแต่ละชั้นปี ให้ฝึกทำกสิกรรมไร้สารพิษนี้ตามลำดับ จากง่ายไปหายาก เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอด จากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง ให้เป็นวิชาเรียนเลย โดยคุรุไม่ต้องเหนื่อยมาก

รายการสุดท้ายของการสัมมนาคุรุครั้งนี้ ให้คุรุแต่ละแห่ง ”เปิดใจ” ซึ่งหลายๆคนประทับใจได้มาดูของจริงที่วังน้ำเขียว หลายๆคนบอกว่าปรับตัวไม่ทัน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวาระการประชุม แต่ก็พยายามปรับตัวจนได้ เพราะพวกเราเป็นนักปฏิบัติธรรมมืออาชีพ ไม่ติดยึดกับสิ่งใดๆ หากมีสิ่งอะไรดีกว่า ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปตามผู้นำเสมอ

รู้สึกชื่นชมยินดีและขออนุโมทนาคณะคุรุทั้งหลาย ที่สามารถปรับตัวปรับใจ ทำตัวเองเป็นแบบอย่างให้กับนักเรียนได้ดี

“ตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน”

สมณะดินทอง นครวโร

end of column
 
สัมมนาครูสัมมาสิกขา ครั้งที่ ๗ (สารอโศก อันดับ ๒๓๒ หน้า ๔ - ๗ มกราคม ๒๕๔๔