ฝากไว้ในแดนธรรม ตอน...
แด่ เล็ก เพื่อนผู้จากไป
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 140 ฉบับ "นักทำ (ธรรม)" เดือนมกราคม - มีนาคม 2533

แด่...เล็ก...เพื่อนผู้จากไป

"คุณเล็ก...คุณปากบวม และ หายใจหอบขนาดนี้แล้ว หยุดพักบ้างเถอะ เดี๋ยวจะทำงาน ไม่ได้นานนะ"

"พี่...ดิฉันมีเวลาในชีวิต เหลือน้อยแล้ว ดิฉันต้องรีบทำ ไถลเหมือนคนอื่น ไม่ได้จริงๆ "

"ก็ดีนะ คุณไม่ได้ประมาท"

"ดิฉันเคยผ่าตัดหัวใจ เมื่ออายุ ๘ ขวบ นอนเขลงอยู่โรงพยาบาล เป็นปีๆ ไม่รู้จะทำอะไร ก็อ่านแต่หนังสือ พออายุ ๒๗ ปี อ่านพบหนังสือพ่อท่าน ก็คิดว่า ชีวิตของเรา อยู่บ้าน ก็ไม่ได้ทำอะไร เวลาที่เหลือ ขอเข้ามาทำงาน ศาสนาดีกว่า"

"แล้วโรคหัวใจ ของคุณ มาทำงานหนักขนาดนี้ มันไม่มีผลอย่างไร หรือ "

"ไม่เป็นไรหรอกพี่ เหนื่อยนักพักผ่อน ก็หาย ทำงานต่อได้ ตั้งแต่มากิน อาหารมังสวิรัติ และ ทำงาน ออกกำลังกายเสมอ ก็รู้สึกว่าแข็งแรงขึ้น แทบไม่ต้องไป หาหมอตามนัด"

ข้างบนนั้น จำได้ว่า เคยคุยกับคุณเล็ก ในตอนเย็นวันหนึ่ง บนตึกขาวชั้น ๓ เมื่อประมาณ ๕ ปี ที่แล้วมานี้เอง (ประมาณ พ.ศ.๒๕๒๘)

พอดิฉันคุยกับเขา ก็ได้คิดว่า "เล็ก" นี่น่าเป็นตัวอย่างแก่เรา อย่างมาก ในด้านความอดทน ต่อสุขภาพ ของตัวเอง และ ความเอาใจใส่ ต่อการงานศาสนา อย่างแท้จริง

"เล็ก" ทำงาน อย่างกับว่า ในร้าน ชมร. เป็นกิจการของตัวเอง เขาดูแล เอาใจใส่ ไม่ว่างานเล็ก งานน้อย ถ้าสามารถทำได้ เขาจะหยิบจับทำ ช่วยเอาภาระ

เราเคยจำได้ว่า "เล็ก" เคยพูดว่า เขาทำอะไรไม่เป็น เพราะป่วย เป็นโรคหัวใจ มาแต่เด็ก จึงไม่มีใครกล้าใช้ ให้ทำงานหนัก แต่เราเห็นตั้งแต่ เล็กเข้ามาช่วยงาน ครั้งแรกๆ "เล็ก" จะทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่ คั่วถั่ว ซักผ้าขี้ริ้ว ล้างชาม กวาดพื้น เก็บขยะ จัดของต่างๆ ให้เข้าที่เข้าทาง จนในที่สุด ช่วยทอดขนมปัง ทอดมัน เต้าหู้ เปาะเปี๊ยะ จนกระทั่ง คนที่รับผิดชอบก่อนๆ ออกจากไป "เล็ก" จึงรับภาระงาน ด้านของทอด มาแทบตลอด

ต่อๆมา คนรับผิดชอบ ในการซื้อผัก ซื้อของจ่ายตลาด อยู่บ้างไม่อยู่บ้าง มีปัญหาบ้าง ด้วยหัวใจกล้าแกร่ง ไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย "เล็ก" ก็เลย รับไปทำเสียเอง

ทำให้ดิฉัน นึกนิยม "เล็ก" มากขึ้น เพราะเรารู้ว่า ถ้าเล็กรับทำ เขาก็ต้องมีความรับผิดชอบ ทำได้ตลอด ไม่ทอดทิ้งงาน ให้เสียหายกลางคัน เป็นแน่

แต่เราก็มักจะพูด กับ "เล็ก" เสมอว่า หนักไปแล้วจะแย่นะ ก็ได้รับคำตอบมาว่า "เวลาเหลือน้อยแล้ว ต้องรีบทำ" แล้วก็อะไรอีกยืดยาว จนกระทั่ง เราคิดว่า เขามีปัญญา มากกว่าเราเสียอีก เรื่องส่วนตัวของเขา เขารับผิดชอบ ก็เป็นความดีของเขา เราก็ได้แต่นึกโมทนา ในกุศลของเขา ในด้านนี้

เราร่วมทำงาน กับ "เล็ก" อย่างมาก ก็ตอนร้าน ชมร. ย้ายจากสวนจตุจักร ข้ามมาที่ อ.ต.ก. ขณะนั้น เรายังไม่ได้ลาออก จากราชการ แต่มาร่วมกิน ร่วมค้างนอน กับร้าน อ.ต.ก. อยู่ด้วยทุกวัน จะออกไปทำงาน ตอน ๗.๓๐ น. และ จะกลับตอน ๑๖.๓๐ น. เสาร์-อาทิตย์ วันหยุดราชการ อยู่ด้วยตลอดเวลา

"เล็ก" บอกว่า "พี่รีบๆ ออกมาเถอะ" เราก็นึกว่า "ถ้าเล็กออกจากบ้าน มาเป็นหลัก ของร้านก่อนซิ แล้วพี่จะตาม" ...แต่ข้อความนี้ ไม่เคยพูดกับเขา หรอกนะ ได้แต่นึกในใจ เท่านั้น (เพราะตอนนั้น ดิฉันก็คิด จะมาอยู่วัดแล้ว แต่ติดขัดตรงที่ ยังใช้หนี้ไม่เสร็จ)

และ อีกไม่นาน ก็จำได้ว่า ทุกคนพากันดีใจ ที่เล็กโดดลงมาช่วยงาน ร้านอาหารมังสวิรัติ อย่างเต็มตัว

แต่สำหรับเรา ขณะนั้นจำได้ว่า เราดีใจมาก เพราะคนในร้าน มีไม่มากนัก ถ้าเล็ก โดดมาช่วยเต็มตัว อย่างเต็มที่แบบนี้ ทำให้เราค่อยสบายใจหน่อย ที่จะต้องอยู่รับราชการ ใช้หนี้เขาจนหมด ได้อย่างไม่อึดอัดใจนัก

จนกระทั่ง ไม่นานนัก เราก็ออกมาช่วยงาน และ ร่วมงาน กับ "เล็ก" จนเต็มตัว จึงได้เห็น นิสัยที่ดีๆ ของเล็ก ที่น่าเอาอย่างมาก ก็คือความอดทน เพราะเล็กทำงาน เกินขีดหน่อย เขาจะปากบวม หายใจไม่ทัน ตาแดง และ บางทีก็บวม ที่ข้อมือข้อเท้า แต่ "เล็ก" ก็ยังอดทน ลุกขึ้นไปทำ...แล้วก็กลับมาพัก งานก็ไม่ขัดเขิน ดำเนินไปได้อย่างดี

ทำให้เรานึก "ทึ่ง" ว่าเขาเป็นถึงขนาดนี้ เขายังเสียสละ

-ในด้านความเอาจริงเอาจัง เห็นได้มาตลอด ที่ร่วมงานกับ"เล็ก" ไม่ว่า "เล็ก" จะรับ ทำงานอะไร เขาจะเอาภาระตลอด ไม่ทอดทิ้งกลางคันเลย สักครั้ง

-ในด้านความขยัน งานเล็กงานน้อย ไม่ว่าจะเก็บกวาด เช็ดถู ซักผ้าขี้ริ้ว เราเห็นเล็กทำ ไม่เคยเห็น เขาเกี่ยงงอนเลย

-เรื่องขึ้นศาลาฟังธรรม นับว่า "เล็ก" เป็นคนที่ขยัน ในการขึ้นศาล าฟังธรรม ได้อย่างดี สม่ำเสมอ นอกเสียจากว่า เขาต้องออกไปจ่ายของ ก่อนเวลาเท่านั้น

ในข้อนี้ เป็นสิ่งที่เพื่อนนักปฏิบัติธรรม ควรเอาอย่าง เป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าวันไหน "เล็ก" ป่วย ไปทำงานไม่ไหว แต่เขาจะตื่นแต่เช้า รีบเข้าไปนั่งฟังธรรม ในศาลาก่อน พอฟังธรรมจบ เขาก็จะกลับไปพักผ่อนต่อ (ไม่ค่อยเคยเห็น เขานอนยาว ไม่ขึ้นศาลา นอกจาก ป่วยหนักๆ จริงๆ )

จนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๓๐ เดือนธันวาคม ดิฉันต้องไปอยู่ร้านสาขา ที่นครปฐม ก็เลยทำให้ ไม่ได้ร่วมงาน กับเล็ก แต่ดิฉันก็ไปๆ มาๆ กันสันติอโศกเสมอ ก็มักจะได้พบ และ ได้ข่าว ของเพื่อนๆ ในร้าน ชมร.กรุงเทพ เสมอมิได้ขาด

มาถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๒ เราได้พบ กับ "เล็ก" ก็ถามอาการ เกี่ยวกับตัวเขา เล็กบอกว่า "ราวปลายเดือน จะเข้าโรงพยาบาลผ่าตัด ขณะนี้ ก็รอเตียงอยู่"

เราก็เลยคุย กับแต่ในด้านธรรมะ เล็กบอกว่า "ได้พยายามทำ มาอย่างเต็มที่แล้ว ถ้าตาย ก็ไม่เสียดาย ที่เกิดมา รับใช้งานศาสนา อย่างเต็มความสามารถ"

เราก็ถามว่า ทำไมต้องคิดว่า ผ่าแล้วจะต้องตายด้วยล่ะ

เราก็ได้คำตอบว่า "ประมาทได้อย่างไร ถ้ารอดก็ถือว่า ได้กำไร เหมือนเกิดใหม่"

ทำให้เราอดชมเขาในใจว่า "เออหนอ เขาเป็นคนไม่ประมาท น่าเอาอย่าง มากๆนะ สมแล้ว ที่เขาขยันขึ้นศาลา ไม่ทอดทิ้งการทำวัตร"

เราคุยกันไม่นาน แล้วก็เดินทางกลับ นครปฐมอย่างเดิม ในขณะเดินทาง นั่งอยู่ในรถเมล์ จิตใจก็นึกทบทวน ถึงคนเก่าๆ ที่ร่วมงานกันมา ในร้าน ชมร.กรุงเทพ จนแตกสาขาไป ร.พ.เปาโล จนสุดท้าย ที่สาขานครปฐม ก็เห็น "คุณเล็ก"นี่แหละ ที่ขยันขึ้นศาลา ขยันฟังธรรม ทำกิจวัตร มิยอมให้ขาดง่ายๆ นอกจากป่วย

ถึงเวลาฟังธรรม เขาจะตั้งใจฟังธรรม งานนอก ที่เขารับผิดชอบอยู่ ก็ทั้งหนัก และ เหนื่อย แต่เขาก็ไม่ทอดทิ้ง ไม่ทอดธุระ นับว่าเล็ก เป็นบุคคลที่ น่ายกย่องมากคนหนึ่ง อย่างแท้จริง และ จริงใจ

ถึงเวลาพัก ของ "เธอ"แล้ว จงพักผ่อน ให้สบายเถอะนะ อย่าได้กังวลใดๆ ตัวอย่าง แห่งการกระทำ ของเธอ ที่ดีงามทั้งหลาย ก็คิดว่าชาว ชมร.รุ่นน้องๆ จะจดจำ และ สืบทอด งานของเธอ ต่อๆ กันไป เพื่องานศาสนา ที่พ่อท่านพานำนี้ จะได้เจริญรุ่งเรือง สืบสานงานพระศาสนา ให้ยั่งยืนต่อไป ตราบนานเท่านาน

สำหรับพี่ ก็จะขอจดจำความดี ของเธอไว้ ตลอดไปเช่นกัน

ด้วยความจริงใจ

เอมอร (เกตุคำ) อโศกตระกูล

๗.ก.พ.๒๕๓๓