ฝากไว้ในแดนธรรม ตอน 1...
อตก.
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 142
หน้า 1/1

ลักขณา วชิรวาทการ นักรบรุ่นที่ ๑ ของชมรมมังสวิรัติ แม้ไม่มีร่างเธอแล้วในวันนี้ แต่วิถีชีวิต บนเส้นทางแห่ง สัมมากัมมันตะ ที่เธอพากเพียร ปฏิบัติเป็นเวลา ๖ ปี ได้ทิ้งไว้ให้เราศึกษา จากบันทึกประจำวัน ของเธอ ดังต่อไปนี้…

วันอังคารที่ ๒๕ ต.ค.๒๖ ประมาณ ๕ ทุ่มแล้ว

ในการทำงานของพวกเรา ผู้หญิงนี่ บ้าอำนาจทุกคนเลยหรือ ? ใครๆก็ว่า ข้าถูก ข้าทำงานด้วยบริสุทธิ์ใจ เราจนปัญญาจริงๆ ทำไมมนุษย์ในโลก จึงอยากใหญ่นักหนอ เรายิ่งอยู่ในหมู่ เรายิ่งรู้โทษภัย ของมันชัด

รูปร่างที่ขี้เหร ่ดีกว่าใจขี้เหร่ จนทรัพย์ทางโลก ดีกว่า จนทรัพย์ทางธรรม เราถ้ามีมากๆ ก็คงไม่แคล้ว ซวยแน่ๆ

ไม่มีผู้หญิงที่"ซูฮก" ผู้หญิงจริงๆ ได้ซักกี่คน เราเกิดมาเรียนรู้ จริตของผู้หญิง หรือ

โอ้โฮ! ท่านฟาดฟันกัน อย่างชนิดที่ เรายังไม่เคยเห็น มาก่อนเลย ผู้หญิงใครดีกว่าไม่ได้ ใครเก่งกว่าไม่ได้ เราจาระไนไม่ไหวเลย เรางงจังเลย ยิ่งเค้าแสดงกัน เรายิ่งรู้สึกว่า โอ้โฮคุณครูขา คุณครู ทำไมช่างมีบทเรียน ให้เราเรียนรู้ มากมายเหลือเกิน พ่อก็ช่าง มีบารมี ทางมีลูกสาวมาก เหลือเกิน ช่วงนี้เราจะปล่อยให้เค้า แสดงกันให้เต็มที่ เรามีหน้าที่ดู

วันนี้ตัวบวมอีกแล้ว

ที่ผู้หญิง ไม่พูดกันตรงๆต่อหน้า ชอบพูดข้างหลังกันนั้น เพราะผู้หญิง ชอบแต่ความหลอกลวง หรือ ไม่รู้จักตนเอง จนใครบอกว่า เธอเป็นอย่างนั้น จึงไม่มีใครยอมรับ "หลอก" จนไม่รู้จักตนเอง ผู้หญิงนี่ หลอกใช้ง่ายที่สุดเลย (ถ้าไร้ธรรมะ)

แต่ถ้าจะสอน ขนหัวลุก เสร็จแล้ว อาจร่วง จนล้านหมดหัวเลย กรรมหนอกรรม สัมภาระวิบาก

เราจะทำไงด ีเฉยๆ แสดงรูปธรรม ของเราไป ใครทุบใครตี มันก็ถูกอากาศทุกที

อยู่ในหมู่ผู้หญิง เราท่าจะต้อง เคร่งต่อไปเสียแล้ว เราจะเป็นเพียง คนรับใช้ที่ซื่อสัตย์ รับรองว่า เราไม่เอาเงินเดือนใหญ ่เงินเดือนมาก จากพ่อหรอก เราเอาเงินเดือน "สูญ"พอ เราอยู่อย่างนี้ ถ้าสังขารเราไม่ทรมาน เราคงจะสบายยิ่งขึ้น

ตัวจิตที่ไม่ยอมบวช พ่อชี้ให้แล้ว ว่าเพราะอะไร เพราะเรากลัว ความขี้โรคของตัว

เราไม่อยากทำงานนี้ หรือ สู้เถิด มีแรงเท่าไหร่ ควักมาใช้ เรามีนิสัยผู้หญิง อยู่ที่ตรงขี้เกียจ ใช่หรือเปล่า พูดตรงๆไม่รับ เราล่ะ ใครสะกิดแรง เราก็โกรธ

ชนะเราได้ มีท่านถิระฯ เราไม่เคยโกรธตอบเลย เรารู้แล้วล่ะ พ่อก็ใช่ เรายอมเพราะรู้ว่า ท่านจริงใจ อืม... จริงใจ ไมตรี

พ่อท่านความจริง ส่วนตัวของท่าน ท่านก็สบายแล้ว แต่ยอมสอนสัตว์โลก ยอมทุกข์ทรมาน เพราะโดนพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้รู้ เหมือนพ่อสอนเรา หรือ เรามีจิตสำนึก เพราะอายหนึ่ง กับอีกตัวคือ ตัวกตัญญู ถ้าท่านไม่สอน เราก็คงเน่า จมอยู่ในกองขี้ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง เราแสนจะเห็นใจท่าน ที่ทำในสิ่งที่ บุคคลอื่น ทำได้ยาก

วันพฤหัสที่ ๒๗ ต.ค.๒๖

โชคดีที่ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ทำอย่างไร ให้ทุกขณะ ไม่ล่วงไปเปล่า การมาทำวัตร อย่างน้อยที่สุด แก้ขี้เกียจ

ท่านวสฯ เอาเรื่องในพระสูตรมาเล่า "กกจูปมสูตร"

เวเทหิกา เป็นคนสงบเสงี่ยม เรียบร้อย ในเนื้อเรื่องไม่โกรธ เพราะไม่มีคนขัดใจ เปรียบกับ พระภิกษุที่สงบเสงี่ยม เพราะไม่มีใคร กระทบกระทั่ง

สอนให้เรารู้ว่า ไม่ว่าใคร จะกล่าวดี กล่าวร้าย เราก็ไม่สะดุ้งสะเทือน เรามีหน้าที่ แผ่เมตตา ดุจดังความกว้างขวาง ของแผ่นดิน จิตเมตตาไม่แปรปรวน ไพบูลย์ใหญ่ยิ่ง ไปทุกทิศทุกทาง ทำตัวให้เหมือน กระสอบหนังแมว เวลาถูกไม้ หรือ กระเบื้องทุบ ไม่เปล่งวาจา ลามกโต้ตอบ แม้จะโดนเลื่อยเป็นท่อนๆ ก็ไม่โกรธ

ปัญหาใหญ่ในสังคม คือชอบให้ผู้อื่นทำดี (แต่ตัวเองไม่ทำ)

ให้จำไว้ ทุกข์นั้น ไม่มีใครทำให้ เราทำเอง ความโกรธ ความโลภ เป็นการเบียดเบียนตน

ถ้าเราไม่รู้จักเมตตาตนเอง เราจะเมตตาผู้อื่น ได้อย่างไร

เมตตา ดีกว่าให้วัตถุ เมตตาเป็นพรหมวิหาร ทำบุญหม้อแกงใหญ่ๆ ๓๐๐ หม้อ ยังสู้ มีจิตเมตตา เพียงชั่วน้ำนมหยดมิได้ ขาดจิตเมตตา จึงทำให้ประทุษร้ายผู้อื่น

วันศุกร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๖

เรามีสิทธิ์พิพากษาตัวเราเอง ว่าเราจะอยู่ หรือ จะตาย

ปราชญ์มีความทุกข์ ความเดือดร้อน อยู่เรื่องเดียว คือ ความไม่มี คุณธรรมวิชาในตัว

ปราชญ์มีความเห็นตรงกันว่า คุณธรรมและวิชา เป็นอาภรณ์ อันประเสริฐสุดอยู่แล้ว จึงไม่ต้องการ อาภรณ์ภายนอก ให้ยุ่งยากใจอีก

ด้วยเหตุนี้กระมัง สตรีที่เป็นปราชญ์ จึงมีน้อย เพราะความรักสวยรักงาม ทางเรือนร่าง และ สรีราภรณ์ ไม่เคยตายไปจาก หัวใจหญิง ไม่ว่าเธอจะย่างเข้า อายุปูนใด เธอมักมีจิตใจ จดจ่อ สาละวนอยู่กับ ความสวยงามภายนอก เสียมากกว่า ครึ่งหนึ่ง แห่งเวลาชีวิตทั้งหมด

ผู้เป็นปราชญ์ มักมีปัจเจกภาพ หรือ ปัจจัตตลักษณ์ เฉพาะตน ไม่ค่อยหวั่นไหวต่อ การติเตียนของโลก ไม่ค่อยเอียงไปตาม ทรรศนะนิยม ของโลก ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อ ความเห็นชอบของโลก แต่ดำเนินชีวิต และแสดง ตามที่ตนเห็นชอบในโลก

นอกจากนี้ ยังสามารถเฉยเมย ต่อการติของโลก อย่างสบายใจ ดังนั้น จึงไม่มีสิ่งใด มีอำนาจเพียงพอ ที่จะหักล้างอำนาจ ปัจเจกภาพที่แท้ ของบุคคลได้ ประวัติศาสตร์ เป็นพยาน ชี้ให้เห็นว่า แทนที่ปัจเจกภาพ จะอ่อนน้อมต่อโลก แต่โลกได้อ่อนน้อม ต่อปัจเจกภาพ แทนที่ปัจเจกภาพ จะบูชาความชอบ ของโลก โลกกลับบูชาความชอบ ของปัจเจกภาพ การติชม เป็นของธรรมดาแห่งโลก ฉะนั้นบุคคลผู้ยอมตนให้ ต่อการติชม ของโลก จึงนับว่า เป็นคน"ธรรมดา"เกินไป แต่ปัจเจกภาพที่แท้ ย่อมมีอำนาจ นอกเหนือไปกว่าธรรมดา

ดังนั้น ผู้มีปัจเจกภาพที่แท้ ย่อมมีอำนาจ นอกเหนือไปกว่าธรรมดา ดังนั้น ผู้มีปัจเจกภาพถาวร ดังกล่าวนี้ จึงไม่ตกเป็นเหยื่อ แห่งความเป็นไป ตามธรรมดาโลก ตรงข้ามโลกธรรมดา ย่อมบูชาบุรุษ ผู้มีลักษณะดังกล่าวนี้ ว่าเป็นมหาบุรุษ เป็นบรมศาสดา เป็นประทีป ส่องทางดำเนินของโลก

การเอาความรู้สึก ของคนทั่วไป มาเป็นเกณฑ์ พิจารณาความเป็นไป หรือ พฤติกรรม ประจำตัวบุคคล จึงมิใช่สิ่งถูกต้องเสมอไป ความเห็น ของคนส่วนมาก อาจผิดก็ได้ เพราะพวกเราส่วนใหญ่ ยังยอมตน ให้เป็นเหยื่อของโลก อยู่ภายใต้ความโน้มถ่วง แห่งอารมณ์โลก จึงมิได้มองเห็นความงาม อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งโลกมองไม่เห็น คนสามัญ มองโลกด้วยมังสจักษุ แต่ปราชญ์ มองโลกด้วยปัญญาจักษุ การเห็นโลก และ การปฏิบัติต่อโลก จึงไม่เหมือนกัน

 
 
(สารอโศก อันดับ ๑๔๒ กรกฎาคม ๒๕๓๓ อธิษฐาน)