มนุษย์สีขาว ปฏิบัติธรรม โดย "ลูกไกลพ่อ" ตอน...
ไปเถิด… บนเส้นทางที่หนาวเย็น

หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 132 เดือนพฤศจิกายน 2531
หน้า 1/1

“เวรคืนนี้ เงียบสงัดดีจริง”

ฉันบอกกับตัวเอง ขณะเดินตรวจเยี่ยม ดูแลช่วยเหลือคนไข้ ในแผนกสูตินรีเวช

ในท่ามกลาง อากาศที่หนาวเย็น ของฤดูหนาว สายลมเย็นยะเยือก พัดเข้ามาทางระเบียงหอพักผู้ป่วยเป็นระยะๆ และ บาดลึกเข้าไปในร่างกาย ของฉัน ทำให้ขนลุก และ หนาวสะท้าน

เมื่อฤดูหนาวมาเยือน เวรดึกจะเป็นเวรที่ทรมานสำหรับฉัน เพราะนอกจากจะต้องต่อสู้กับความง่วงแล้ว ยังต้องต่อสู้กับความเย็นยะเยือกอีก เพราะสรีระร่างกาย ของฉันนี้ทนได้ดี เมื่ออากาศร้อน แต่สำหรับความหนาวแล้ว จะรู้สึกทนได้ยากกว่า

วันไหนถ้าเพื่อนๆเขาว่า “อากาศเย็น” แต่สำหรับฉันนั้นหนาวแล้ว ถ้าวันไหนเขาว่าหนาวนั่นแหละ ฉันกำลังปวดกระดูก มือเท้าแข็งขัดไปหมด เพราะความหนาวเหน็บ

ด้วยภาระหน้าที่ ฉันยังเดินฝ่าความหนาวเย็น ของยามดึก เพื่อปรับหยดน้ำเกลือ หยดเลือด วัดความดันโลหิตชีพจร และ ฉีดยาให้คนไข้อยู่ อย่างดีใจว่า

“ดีเหมือนกัน ได้ตั้งตนอยู่บนความลำบากอย่างนี้ จะได้เห็นทุกข์ และ เบื่อหน่ายในการเวียนว่ายในสังสารวัฏมากขึ้น”

หนาวจัดอย่างนี้ ฉัน จึงต้องสวมเสื้อแจ็คเก็ตสีขาวนวล และ มีกระเป๋าน้ำร้อน ๒ ใบซ่อนอยู่ระหว่างชุดขาว กับเสื้อแจ๊คเก็ต

เพราะบ่อยครั้งที่หนาวจัด (สำหรับฉัน) ท้องจะแข็ง เหมือนเป็นตะคริว เหมือนลำไส้ทุกขดหดหมด คลื่นไส้อาเจียน นึกถึงถ้อยคำที่ว่า

“ทางเดินแห่งชีวิตที่จะไปสู่พระนิพพาน ยิ่งใกล้จุดหมาย กลับยิ่งโดดเดี่ยวหนาวเย็น ความหนาวเย็น(ในจิตวิญญาณ) เท่านั้น ที่จะกระตุ้นให้ต้นพุทธะ ผลิใบแตกกิ่งเขียวขจี”

“ลูกเอ๋ยในโลกนี้ ไม่มีที่ไหนดอก ที่มีความรื่นรมย์ และ ความสบายสำหรับเจ้า” ฉัน จึงยิ้มออกมา พร้อมกับทอดสายตาไปยังเหล่าคนไข้ ที่นอนเรียงรายอยู่ บางคนใส่เสื้อผ้ามอมแมมเก่าคร่ำคร่า บางคนก็ใส่เสื้อผ้าบาง และ ขาดวิ่น

ทำให้ฉันนึกไปถึงเสื้อผ้า ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ชุด ของฉัน ที่แฟลตพยาบาลทันที

ในงานมหาปวารณา’๓๑ ที่ได้สิ้นสุดไปเมื่อเร็วๆนี้ พ่อท่านบอกกับลูกๆอโศกว่า ความจนเป็นอุปสรรคที่ดี เพราะต้องดิ้นรน ถูกเอารัดเอาเปรียบ และ ทำให้เห็นทุกข์ได้ง่าย ความรวยเป็นอุปสรรคที่ซวย เพราะทำให้ตัดทรัพย์ และ ตัดญาติ (โภคักขันธาปหายะ และ ญาติปริวัฏฏัง ปหายะ) ได้ยากอีก เพราะมันมีเยอะ จึงมีโอกาสเป็นหนี้สังคมได้มาก เนื่องจากได้ดูดเอามาไว้ที่ตนเองได้มาก และ ทำให้เห็นทุกข์ที่มีอยู่จริงได้ยาก เพราะมันพรางลวงไว้

จากการที่มีอาชีพหลัก เป็นนักปฏิบัติธรรม (อาชีพรองเป็นพยาบาล) จิต จึงยินดีแล้วอย่างยิ่ง ต่อการเป็นผู้ให้ และ การมีปัจจัยเครื่องยังชีพเพียงเล็กน้อย อย่างมักน้อยสันโดษ เพราะได้พิสูจน์ด้วยตนเองแล้วว่า ยิ่งมีได้น้อยเท่าใด ก็ยิ่งเบาว่างมากขึ้นเท่านั้นๆ

รุ่งเช้า เมื่อลงเวรดึกแล้ว จึงรีบกลับมายังแฟลตที่พัก ขนเอาเสื้อผ้าเนื้อดีใหม่เอี่ยม (ซึ่งมีน้อยชุดอยู่แล้ว แต่ก็คิดว่ามีคนอื่นที่เขาทุกข์ยาก และ จำเป็นกว่าเรา) นำไปแจกให้กับบรรดาคนไข้ที่ยากจน ที่พบในแผนกเมื่อคืนนี้

การได้ให้เสื้อผ้า ยา เครื่องอุปโภค บริโภคนี้ ฉันทำติดต่อกันมานานจนเป็นปกติ เป็นที่รู้กันทั่วไป ดังนั้นต่อมา จึงมีน้องๆ และ เพื่อนๆพยาบาล นำเสื้อผ้าข้าว ของมาให้ฉัน เพื่อนำไปบริจาคเสมอๆ

ขณะเอา ของไปแจกให้คนไข้ หรือ คนยากจนนี่ สมัยแรกๆ จิตฉันแอบเสพย์ ความชื่นใจซะอีกแน่ะ ว่าเราเป็นผู้ให้ เป็นตัวนำประโยชน์ให้กับโลกนะ แต่มาบัดนี้ จิตวางเฉยสงบได้มากขึ้น เพราะทราบชัดแล้วว่า

แท้จริงแล้วไม่มีอะไรเลยที่เป็น ของเรา ทุกอย่างเป็น”ความวน” ยิ่งให้ไปก็จะยิ่งได้มา ถ้ายิ่งหอบหวงไว้ ก็ยิ่งไม่มีสิทธิจะได้มาอีก

เราจะไปพอใจอยู่กับคำขอบคุณ หรือ เสียงสรรเสริญมันทำไม ที่จริงสิ่งที่เราให้ออกไปนั้น มันเป็นสมบัติ ของโลก (เราเป็นผู้เกิดมาอาศัยโลกอยู่ อาศัยปัจจัยต่างๆอยู่ แม้ร่างกายนี้เราก็ขอยืมจากโลกมาใช้ชั่วคราว) เรา จึงไม่ใช่”ผู้ให้”ซักหน่อย เป็นเพียงไปรษณีย์นำส่งเท่านั้น เพราะ ของเหล่านั้นมันไม่ใช่ ของเรา

ออกจากแผนกสูตินรีเวช ก็สวนกับหมอหัวหน้าฝ่ายสูติตรงบันได หมอทักทันทีว่า “เออ! อ้อ หมอเตรียมเสื้อผ้าไว้ให้ สองลังใหญ่ๆแน่ะ! จะเอามาให้นานแล้ว แต่ไม่เจออ้อซักที อ้อจะเอาไปให้ร้านทึ่ง หรือ จะเอาไปบริจาคยังไงก็ตามใจอ้อนะ” ฉันอนุโมทนาในจิตที่เป็นกุศล ของหมอ แล้วเดินจากมาด้วยจิตที่ยินดีด้วยอย่างยิ่ง

พอไปถึงแฟลตพยาบาล เพื่อนพยาบาลรุ่นเดียวกัน ก็เอาเสื้อผ้ามาบริจาคอีกหลายชุด

ในกรณีคล้ายๆกันนี้ หลังจากที่ฉันได้สละเงินเดือนส่วนหนึ่ง ซื้อ ของให้กับทางราชการ หรือ เพื่อนร่วมงานในแผนก ทุกๆเดือนเสมอมา จนเพื่อนๆร่วมงาน ต่างก็เห็นดีด้วย และ ทำตามในที่สุด

“พี่อ้อว่าตอนนี้ตึกเราขาดอะไร เดือนหน้านี้หนูจะซื้อให้” น้องพยาบาลคนหนึ่งตั้งใจอย่างเต็มที่ ที่จะเป็นผู้ให้บ้าง

ฉันฟังแล้วเกิดจิตยินดีว่า หากกุศลกรรม ของเรา มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ของคนในโลกอย่างนี้ เราก็ควรอย่างยิ่งที่จะทำให้ยิ่งๆขึ้นไปอีก เพื่อความมีสันติสุขในโลก”

ที่จริงเราทำเพื่อ ให้ตัวเราเบาว่างขึ้นต่างหาก แต่สิ่งเหล่านี้ มันคือผลพลอยได้ (ที่น่ายินดี) เท่านั้นเอง

พลตรีจำลอง ศรีเมือง กล่าวไว้ในงานมหาปวารณา วลีหนึ่งที่ฉันจำได้แม่นยำคือ “เอากุ้งฝอยไปตกปลากะพง” ฉัน จึงคิดว่ามันคล้ายๆกันเลย ในกรณีต่างๆ เช่นนี้

และ การเดินตามรอยพระอรหันต์ เพื่อไปสู่พระนิพพานก็เช่นกัน ฉันคงต้องกล้าสละสิ่งอันเป็นที่รักที่ยึดมั่นผูกพัน ออกไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้โลกุตรสมบัติ ซึ่งสูงค่ากว่า มาให้กับตน (เอากุ้งฝอยไปตกปลากระพง)

จากประสบการณ์ ของฉันทางโลกที่ผ่านมา ฉันเห็นว่ายิ่งเราสละออกไป เราก็จะยิ่งได้รับเข้ามาทุกครั้ง และ การได้มาครั้งหลังๆนี้ เป็นโจทย์ที่สูงขึ้นไปอีกว่า เรายังจะกล้าสละออกไปอีก หรือ ไม่ เราไปหลงยึดถือเปรมปรีดิ์ กับสิ่งที่ได้มาใหม่นี้ หรือ ไม่

เช่นเราให้วัตถุทาน อภัยทานออกไป สละลาภออกไป เราก็ยิ่งจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญกลับมา จิต ของฉันบางขณะ ยังมีแวบไหว ฟูฟองกับยศ และ สรรเสริญอยู่บ้าง แต่ก็พยายามเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เป้าหมายแห่งชีวิตที่แท้จริง ของเรา ไม่ได้จมแช่อยู่แค่โลกธรรม หรือ กามคุณเท่านั้น

ชีวิตนี้เกิดมาเพื่อ ละล้างกิเลส มิใช่เพื่อสะสมกิเลส เพื่อกระทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มิใช่เพื่อสะสมทุกข์ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลมนุษยชาติ มิใช่เพื่อเบียดเบียนมนุษยชาติ

ในงานมหาปวารณาปีนี้ นอกจากพ่อท่านจะแจกแจงถึงเรื่อง ๔ วรรณะ คือ วรรณะนักบวช นักบริหาร นักบริการ และ นักผลิต ได้อย่างกระจ่างแจ่มแจ้ง ดุจหงาย ของที่คว่ำ บอกทางที่คนหลงทาง และ จุดประทีปในที่มืดแล้ว พ่อท่านยังฝากลูกๆอีกว่า ให้เป็นผู้พึ่งตนเอง ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น รับผิดชอบตัวเอง ไปที่ไหนควรเอากลด เสื่อ มุ้ง กะลา และ ช้อน ของตนเองไปด้วย จะได้ไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น

เมื่อกลับจากไปขนเสื้อผ้าที่บ้านหมอ มาไว้ที่แฟลต เพื่อจะนำไปสะพัดออกสู่ผู้ขัดสน ทุกข์ยากให้เร็วที่สุด และ สมควรที่สุดนั้น ก็เป็นเวลาเที่ยงวันแล้ว อากาศยังคงหนาวเย็น ท้องฟ้าสีขาวซีด ไร้แสงแดด

ขณะที่จะนอนหลับไป ในตอนเที่ยงวันหลังจากลงเวรดึกวันนั้น บทกวีบทหนึ่งซึ่งตราตรึงใจตลอดมา ดังก้องขึ้นในจิต ฉันทบทวนขึ้นอย่างตั้งใจ

ฉันขอก้าวตามพ่อไป ฝ่าไพรรกลึกพฤกษ์หนา ฝ่าแดดแผดลวกมรรคา ฝ่าฟ้าแรงกล้าแปรปรวน

กลางน้ำตัณหากราดเชี่ยว กลางเกลียวโลกีย์พัดหวน กลางโคลนมูตรคูถดูดกวน กลางมวลมายาอาดูร

ก้าวไปแม้ไฟโลมโลก ก้าวไปแม้โชคอับสูญ ก้าวไปแม้ไร้คนทูน ก้าวไปแม้พูนคนชัง

ฉันขอก้าวตามพ่อไป ไม่ขอย้อนรอยถอยหลัง มุมุ่งรุดหน้าจริงจัง ความหวังคือฝั่งนิพพาน

และ ก่อนที่จะหลับลงไป ในท่านอนตะแคงขวา ด้วยจิตที่มุ่งมั่น สว่างโพลง และ ปีติ ก็ได้ยินเสียงต่ออีกว่า

“ไปเถิด.. ถ้าเจ้าต้องการเดินตามรอยเท้าพ่อ”

แล้วฉันก็หลับดิ่งลงไป ในท่ามกลางความหนาวเย็น แห่งเหมันตฤดู

๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๑

 

(จากสารอโศก อันดับ๑๓๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๑)