มนุษย์สีขาว ปฏิบัติธรรม โดย "ลูกไกลพ่อ" ตอน...
จุดเล็กๆ ใต้แผ่นฟ้ากว้าง

หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 138 ส.ค.-ต.ค. 2532
หน้า 1/1

วันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเชิญตัวพ่อท่านไปสอบปากคำที่สน.ดุสิต ฉันยืนมองเหตุการณ์นั้นอยู่ไม่ไกลนัก รู้สึกเหมือนมีก้อนอะไรแล่นขึ้นมาแน่นที่ลำคอ… หัวใจปวดร้าวเหมือนถูกบีบ…

“พ่อฉันทำผิดอะไร… พ่อฉันทำผิดอะไร? ! ?”

ฉันเฝ้าเพียรพยายามสอนตนเองว่า ไม่มีอะไรที่จะไม่พลัดพรากจากกัน เราต้องพลัดพรากจากสิ่งหรือบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งหมดทั้งสิ้น… เป็นธรรมดา!

ฉันกลับไปทำงานที่โรงพยาบาล ภายใต้แผ่นฟ้าที่มัวหม่น เมฆดำก้อนใหญ่มหึมาลอยละลิ่วต่ำลงมา อย่างน่ากลัว… ที่ร.พ.ทั้งแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ต่างเข้ามาแสดงความเห็นใจเข้าใจ และปลอบใจอย่างไม่ขาดสาย จนกระทั่งฉันได้กลับมาที่สันติอโศก อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้พ่อท่านได้เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นสีขาวแล้ว ตามคำขอร้องของเจ้าพนักงาน (บางทีฉันก็นึกขำๆว่า … เอ๊ะ! พ่อท่านเป็น”มนุษย์สีขาวปฏิบัติธรรม” ไปซะแล้ว”) พ่อท่านได้จุดประทีปในถ้ำมืด แห่งดวงใจของฉันว่า

“มองทางโลก เหมือนเราแพ้นะ แต่นั่นมันเป็นบทบาททางโลก เรามาปฏิบัติธรรมเพื่อเอาชนะความโลภ โกรธ หลง ในตัวเราต่างหาก ถ้าเราเสียใจ ตัวเสียใจนี่แหละ คือ ตัวพ่ายแพ้ที่แท้จริง…

อย่าให้มีอะไรมาขัดขวางการสร้างประโยชน์ตน (คือการฆ่ากิเลส) และการเสียสละของเราได้…”

ฉันแจ่มกระจ่าง ชัดในเป้าหมายอีกครั้ง ม่านดำในจิตถูกเปิดออกแล้ว แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า นี่หรือคือคำสั่งสอนของผู้ผิด… ผู้ที่ถูกกล่าวหา ทำให้สังคมเดือดร้อนวุ่นวาย…?

วันอาสาฬหบูชาปีนี้ ฉันต้องอยู่เวรดึกที่โรงพยาบาล แต่ตอนเช้าก็ได้ไปทำบุญที่วัดใกล้บ้านในชนบท ร่วมกับพ่อและแม่

ตกเย็นจึงถีบจักรยานแวะมาที่โรงพยาบาล ภาพของผู้คนมากมาย ที่มุงอยู่หน้าห้องอุบัติเหตุ ทำให้ฉันจอดรถแล้วขึ้นไปดู (ยังสวมผ้าถุงอยู่) ฉันเปิดม่านที่เจ้าหน้าที่ปิดไว้ และเดินเข้าไป ผู้คนข้างนอกมองด้วยสายตา ที่สงสัยว่า ทำไมยายบ้านนอกนุ่งผ้าถุงคนนี้ เข้าไปในม่านได้ ไม่รู้หรือว่าเขาห้ามเข้า เดี๋ยวเถอะ ต้องถูกดุออกมาแน่ๆเลย

ก็เกือบจะเป็นอย่างนั้น นายแพทย์เวรที่เพิ่งมาประจำใหม่ จ้องตรงมาด้วยสายตา ที่เต็มไปด้วยคำถาม

ภายในห้องมีพยาบาลตรวจการ ๑ คน พยาบาลประจำการ ๑ คน ผู้ช่วยอีก ๒ คน กับแพทย์เวรกำลังสาละวนช่วยชีวิตคนไข้ ที่อาการสาหัส อันเกิดจากอุบัติเหตุรถคว่ำ บนรถนอน ๒ ราย และบนเตียงคนไข้อีก ๒ ราย

กลิ่นเลือดคาวคลุ้งตลบไปทั่ว เสียงเครื่อง Suction (เครื่องดูดสูญญากาศ) ดังกระหึ่มไม่ขาด ฉันจึงเข้าไปช่วยให้น้ำเกลือ ให้เลือด และช่วยดูดเลือดและเสมหะออกจากท่อหายใจของคนไข้รายหนึ่ง ด้วยเครื่องดูดสูญญากาศ

“พี่… ให้หนูช่วยอะไรบอกมาได้เลยนะ” ฉันเอ่ยขึ้นอย่างรวดเร็ว

“วัด B.P.(ความดันโลหิต) คนนี้ให้พี่ทีนะ” พี่พยาบาลก็สั่งอย่างรวดเร็วเช่นกัน ทุกวินาทีที่ผ่านไปต้องเร่งรีบ ว่องไว และถูกต้อง ชีวิตคนไข้เหล่านี้ เราต้องช่วยให้ถึงที่สุด และทันท่วงที คนไข้ชายวัยรุ่น ผู้มีเลือดชุ่มโชกเกรอะกรังทั่วตัว กระดูกต้นขาขวาหักทิ่มนูน แทบจะทะลุออกมานอกเนื้อ

“๙๐/๓๐ ค่ะพี่”

“อ้อ… ช่วยเอาริงเกอร์ (RLS เป็นน้ำเกลือชนิดหนึ่ง) ให้ไปเลยนะ ช่วยหน่อยเถอะ”

“เต็มใจอยู่แล้วพี่ ขอให้บอกมาเถอะ” ฉันกล่าวรับรองหนักแน่น เพื่อพี่จะได้ไม่ต้องเกรงใจ

หลังจากให้น้ำเกลือแล้ว จึงเจาะเลือดส่งไปตรวจหาความเข้มข้นที่ห้องแล็บ และไปขอเลือดที่ธนาคารเลือด แล้วก็เตรียมส่งคนไข้ไปห้องเอกซเรย์ (X-RAY)

ชายคนไข้ในวัยเดียวกัน ซึ่งนอนอยู่บนเปลนอนใกล้รถฉีดยา ได้สิ้นใจลงในเวลาต่อมา ซึ่งพวกเราก็ได้เข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ไม่สามารถฉุดดวงวิญญาณของเขาคืนมา จากอุ้งหัตถ์แห่งมัจจุราชได้

จึงใช้ผ้าขาวคลุมศพนั้น จากศีรษะจรดปลายเท้า ฉันคิดในใจ ช่างจริงแท้… ชีวิตนี้น้อยนัก ชีวิตนี้สั้นนัก

เกือบจะทันที รถพยาบาลจาก ร.พ.สาขา ต.โคกโคเฒ่า ก็มาส่งคนไข้หนักรายหนึ่ง คนไข้เป็นพระซึ่งอยู่ในวัยชรา ร่างผอมซีดมาก และไม่รู้สึกตัว หายใจครืดคราด แพทย์เวรบอกเสียงดัง

“เตรียมเอนโดเลยนะ (Endotracheal tube = ท่อช่วยหายใจ) แอมบูด้วย (Ambu bag = ถุงลมบีบช่วยหายใจ)”

พี่พยาบาลรีบให้น้ำเกลือ ผู้ช่วยอีกคนวัดความดันโลหิตและชีพจร แพทย์เวรใส่ท่อเอนโด ฉันใส่ถุงมือเตรียมเครื่องดูดสูญญากาศ เพื่อเคลียร์ทางเดินหายใจ ขณะจับสายยางผ่านท่อเอนโดลงไปในปอด ฉันต้องประหลาดใจมาก เลือดสดๆ เข้มข้นทะลักเข้ามาในสายดูด และขวดสูญญากาศ เป็นปริมาณมากจนน่าตกใจ พอบีบถุงแอมบูช่วยหายใจสักครู่ ก็ครืดคราดอีก ดูดออกมาก็ได้เลือดสดๆอีก มือที่สวมถุงมือของฉันสั่นระริก เมื่อนึกไปถึงว่าคนไข้ เขาจะเจ็บปวดเพียงใด พยายามใช้เจโตสมถะ ให้จิตสงบนิ่งและมั่นคง

เสียงแพทย์เวรเตือน

“ที.บี.นะ! ระวังด้วย!” (ที.บี. = Tuboculosis = วัณโรคปอด) ฉันจึงเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น คิดในใจว่า เออหนอ… งานของเราที่จะช่วยชีวิตคนอื่นนี่ ก็เสี่ยงอยู่ไม่น้อยเลยนะ

อีกไม่นานก็มีคนไข้เข้ามาอีกสองราย คนหนึ่งถูกงูเห่ากัด อีกคนหนึ่งเป็นหญิงสาวถูกมีดฟันที่ใบหน้า ให้นั่งรออยู่ก่อน

ต่อมามีคนไข้หญิงชราอีกราย ตัวขาวซีดนั่งเอนๆคอพับบนเก้าอี้เข็น ยังไม่ทราบว่าเป็นอะไรแน่ มานั่งรออยู่ตรงมุมประตูห้องอุบัติเหตุ

ห้าทุ่มครึ่งแล้ว ฉันจำต้องตัดสินใจถอดถุงมือออก แล้วเดินจากห้องอุบัติเหตุมา

แสงจันทร์ของคืนเพ็ญเดือนแปด ในท้องฟ้าสะอาดงาม แจ่มกระจ่างไปทั่ว สายลมเย็นพัดโชยมาเป็นระยะๆ ช่วยทำให้จิตใจที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตต่างๆเมื่อครู่ ได้ผ่อนคลายลง ทิ้งความชุลมุนในห้องอุบัติเหตุไว้เบื้องหลัง รีบกลับไปอาบน้ำที่แฟลตพยาบาล เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นเครื่องแบบสีขาว มารับเวรดึก ที่แผนกหลังคลอด และนรีเวชต่อ

จันทร์เต็มดวงเคลื่อนมายังกึ่งฟ้า นึกไปถึงข้อความที่ว่า “พระจันทร์เสี้ยวยังมีวันเต็ม ชีวิตมนุษย์ใช่จะมืดมนเสมอไป”

สักวันหนึ่งเถอะ ฉันจะสั่งสมบารมีให้ได้เต็มเช่นกัน ฉันบอกกับตนเองอย่างมุ่งมั่น

“กริ๊ง ! …” เสียงโทรศัพท์จากเคาน์เตอร์พยาบาล ดังกังวานขึ้นมาในความเงียบยามดึก

“ฮัลโหล… โทรจากศัลย์หญิงนะคะ… อ้อเหรอ… เออ.. ตอนนี้มีคนไข้หนักอยู่คนหนึ่ง ซีดมากเลยนะ หมอก็ยังไม่รู้ว่าซีดจากอะไร แต่ Blood Bank (ธนาคารเลือด) ไม่มีเลือดกรุ๊ป A เลย…” พี่รองหัวหน้าตึกศัลย์หญิงโทรมา เพราะทราบว่า ฉันมีเลือดกรุ๊ปเดียวกับคนไข้

“แล้วเขาไม่มีญาติหรือพี่”

“มีแม่แก่ๆอยู่คนหนึ่ง คงจะให้ไม่ได้หรอก หมอจะเอาตั้ง ๒ ขวดแน่ะ!”

ฉันพิจารณาว่า เราเองยังต้องช่วยคนไข้ของเราที่แผนกนี้ อยู่อีกตั้งหลายชั่วโมง คนไข้ก็มาก งานก็มากด้วย การช่วยนี้ต้องมีการประมาณตามความเหมาะควรด้วย ว่าผลดีกับผลเสียที่ได้รับคุ้มกันหรือไม่

“พี่คะ.. หนูเองก็อยากช่วย แต่ช่วงนี้คงให้ไม่ได้หรอก เพราะหนูเพิ่งบริจาคไปเมื่อ ๒ เดือนก่อน (เม็ดเลือดแดงใช้เวลาสร้าง และเจริญเติบโต ๓ เดือน) และตอนนี้คนไข้ที่นี่ก็มากด้วย ขึ้นเวรกันแค่ ๒ คนเอง…”

เสียงพี่ผู้ช่วยพยาบาลของฉัน ร้องโวยวายมาจากอีกมุมหนึ่งของแผนก

“อ้อ… ให้ไม่ได้นะ! ก่อนขึ้นเวรก็ไม่ได้นอนพัก แถมนี่ยังไม่ครบ ๓ เดือนเลย เดี๋ยวฟุบลงไปกลางดึก จะว่ายังไง !”

"ค่ะพี่””” หนูก็บอกไปแล้วว่าให้ไม่ได้" ฉันบอกให้พี่ผู้ช่วยฯ สบายใจ

หลังจากวัดปรอท ความดันโลหิต และฉีดยาประจำเวลาตีสองได้ไม่นาน เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีก

“อ้อ… คนไข้เมื่อกี้… หยุดหายใจแล้วนะ เข้าห้อง I.C.U. ไปแล้ว (ไอ.ซี.ยู. = ห้องผู้ป่วยหนัก) หมอบอกต้องให้เลือดด่วนเลย!”

“ค่ะ พี่ หนูจะเอาไปให้เดี๋ยวนี้แหละ” ฉันตัดสินใจอย่างฉับพลัน เราจะปล่อยให้คนไข้ตาย โดยที่เรายังไม่ได้ช่วยให้ถึงที่สุดได้อย่างไร

ฉันเองก็ไม่เคยเสี่ยงอย่างนี้ แต่ก็เชื่อมั่นในความแกร่งของพลังจิตว่า เมื่อเรามุ่งมั่นจะทำอะไรจริงๆ แล้วเราต้องทำให้สำเร็จ

“เราต้องปลอดภัย และกลับมาทำงานต่อภายในเวลาอีกหลายชั่วโมงนี้ ให้สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพได้อย่างแน่นอน” ฉันให้สัญญากับตัวเอง

พี่ผู้ช่วยพยาบาลร้องโวยวายอีกครั้ง ด้วยความเป็นห่วงและโมโห

“ให้ไม่ได้นะอ้อ! อย่าไปนะ! เดี๋ยวเป็นอะไรไป…!”

“ช่างมันเถอะพี่ ยังไงชีวิตนี้มันก็ต้องตายอยู่ดี ไม่วันนี้ก็วันหน้า ขอทำประโยชน์อีกนิดเถอะ พี่รอเดี๋ยวนะ เดี๋ยวหนูจะกลับมา รับรองว่าหนูจะทำงานไม่ให้บกพร่องเลย พี่สบายใจได้”

“บอกว่าไม่ให้ไป! คอยดู เดี๋ยวถ้าเป็นอะไรไปละก็ฮึ!… คนอะไร… ทำอะไรไม่นึกถึงตัวเองบ้างเลย…”

“พี่อย่าโกรธเลยค่ะ นี่คนไข้เขาก็จำเป็นจริงๆ… เดี๋ยวหนูมานะพี่”

ฉันวิ่งไปยังธนาคารเลือดอย่างรวดเร็ว ทุกวินาทีที่ผ่านไป หมายถึงความเป็นความตายของคนไข้รายนี้ เจ้าหน้าที่ห้องเลือดแม้จะรู้ว่าเสี่ยง แต่ก็ไม่รอช้าเลย แม้ความดันโลหิต ๘๐/๖๐ ก่อนบริจาคเลือดก็ตาม

ฉันนอนมองเลือดสีแดงสดเข้มข้น ที่ไหลรินๆ ตามสายยางลงขวดเลือด

“เลือดขวดนี้ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ มิได้สร้างมาโดยการเบียดเบียนสรรพสัตว์ใดๆ ขอให้มีส่วนช่วยเธอผู้นั้นให้รอดด้วยเถิด”

พี่รองหัวหน้าตึกศัลยกรรมหญิง ตามเข้ามาในห้องเลือด

“อ้าว! อ้อมาแล้วหรือ… มา.. พี่มาร่วมบุญด้วยอีกคน”

“อ้าว! พี่ก็กรุ๊ปเอหรือ” ฉันถามอย่างดีใจ คนไข้รอดแน่ๆเลยคราวนี้

พี่ขึ้นไปนอนเจาะเลือดอีกเตียงหนึ่ง

เมื่อเจ้าหน้าที่มาชักเข็มออกไปจากท้องแขน ฉันยังนอนอยู่บนเตียง หันหน้าไปทางประตูของห้องเลือด แล้วก็ได้เห็นสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเป็นไปได้

พี่ผู้ช่วยพยาบาลที่แผนกของฉันวิ่งมา

“อ้อ…อ้อ! พี่ก็เอาของพี่มาให้อีกขวดหนึ่ง!”

“…!!?!”

เวรดึกวันนี้งานสมบูรณ์เรียบร้อย

ฉันพาซาก…เอ๊ย!…ร่างลงเวรดึก ไปยังแฟลตพยาบาล มองหน้าตนเองในกระจกเงา ดูซีดเหลือง อิดโรยมาก ญาติธรรมท่านหนึ่งเคยบอกฉันว่า…

“หน้าคุณน่ะไม่มีราศีเล้ย… เหมือนหน้าคนไข้ที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ๆน่ะ!”

“ฉันหัวเราะอย่างเห็นจริงด้วย คิดในใจว่าช่างมันเถอะ มันจะเหมือนอะไรก็ช่าง ในเมื่อเพื่อนมนุษย์มีภัย รอการช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ เราจะมัวนึกถึงเรื่องอื่นอยู่ได้อย่างไร… ชีวิตเราก็เป็นดุจจุดเล็กๆใต้แผ่นฟ้ากว้าง ที่ดูสั้นนักและไร้แก่นสาร นึกย้อนไปถึงเมื่อค่ำวานนี้ ภาพศพคนไข้ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำและร่างกายอันเต็มไปด้วยรังแห่งโรค ของพระภิกษุที่เป็นวัณโรคก็ผุดขึ้นมา ร่างกายของฉันก็จะมีความเป็นโรค ความชรา และความตายมาถึงเหมือนกัน ผิดกันแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น

“พ่อท่านอบรมสั่งสอน ให้ลูกอโศกทุกคนขยัน กล้าจน ขัดเกลาตน และช่วยเหลือเกื้อกูลมนุษยชาติ ไปอยู่ที่ใดก็ยังประโยชน์สุขสู่ที่นั้น

บัดนี้ไม่ว่าต่อไป เขาจะเอาพ่อท่านไปไหนไปทำอะไร แต่ลูกก็จะปฏิบัติบูชาตามคำอบรมสั่งสอนนั้น ให้มากที่สุดเท่าที่อินทรีย์พละอันน้อยนิดของลูก จะพึงมีอยู่เพื่อแสดงความกตัญญู ต่อพ่อแห่งจิตวิญญาณของลูกอโศกทุกคน และต่อศาสนาอันเป็นที่รักยิ่งของเรา”

จิตของฉันตรึกตรองทบทวนอย่างนี้ ด้วยสภาวะที่สว่าง สงบ และสิ้นความกังวลใดๆ แล้วก็หลับดิ่งลงไป ภายใต้แผ่นฟ้าสีครามสดใส แห่งทิวาวาร

“โอ… ขอบคุณทุกๆคน ทุกๆเหตุการณ์เหลือเกิน ที่ได้ให้โอกาสแก่ฉันได้ฝึกหัดขัดเกลาความเห็นแก่ตัวภายในจิต ให้ลดลงไปได้อีกวันหนึ่ง”

๒๕ ก.ค.๒๕๓๒

“ชีวิตเป็นของน้อย ไม่พอแก่การส้องเสพ มาอุทิศชีวิต อันไร้แก่นสารนี้ ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนทุกข์ทั้งหลายกันเถิด เบียดเบียนซึ่งกันและกันหรือ

อย่ากระนั้นเลย… แต่ชาติ ชรา มรณะ เบียดเบียนก็มากพออยู่แล้ว มาเป็นความอบอุ่นซึ่งกันและกัน ในดินแดนอันลำเค็ญ แห่งนี้เถิด”

“อันติมะ”

 

...(สารอโศก อันดับ๑๓๘ ส.ค. – ก.ย. – ต.ค. ๒๕๓๒ หน้า ๖๕–๗๐ ฉบับ ขอทำดีเถิด)