มนุษย์สีขาว ปฏิบัติธรรม โดย "ลูกไกลพ่อ" ตอน...
ดาบสองคม

หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 147 เดือนมกราคม 2534
หน้า 1/1


เช้าวันหนึ่ง ขณะที่กำลังทำงานอยู่เวรดึกที่โรงพยาบาล ฉันได้ปรารภกับพี่ผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานในแผนกว่า

"พี่คะ ชีวิตของพวกเรานี่ โชคดีจังเลยนะคะ ยามเจ็บป่วยเราก็ดูแลตัวเองได้ รักษาตัวเองพึ่งตัวเองได้ มียา มีเสื้อผ้า อาหาร อุดมสมบูรณ์ ไม่เคยขาดแคลนเลย"

"อืมม์" จริงๆด้วยนะ แถมเวลาญาติพี่น้องของเราเจ็บป่วย เราก็ยังช่วยเขาได้อีก" พี่ผู้ช่วยพยาบาลก็เห็นตาม

"เนี่ย...เพราะบุญที่เราเคยทำไว้แต่อดีต ส่งผลมาล่ะ เราถึงมีชีวิตที่ไม่ขาดแคลนเลย แถมยังมีอาชีพที่เป็นบุญอีกด้วย" ฉันสรุป

บางครั้ง เวลางานยุ่งๆ มีคนไข้มากมาย ฉันก็มักจะพูดให้กำลังใจพี่ๆ และเพื่อนๆร่ามงานว่า

"พี่จ๊ะ...เหนื่อยก็ทำไปเถอะ เดี๋ยวก็เสร็จแล้ว...นี่ล่ะเสบียงของเราทั้งนั้น ถ้าเราช่วยเหลือคนไว้มาก ชาติต่อๆไป เราก็จะได้พบแต่ผลกรรมที่ดี มีสุขภาพที่แข็งแรง"

ว่ากันที่จริง ชีวิตของฉัน นับตั้งแต่จำความได้มาจนบัดนี้ มีแต่เรื่องที่ต้องอดทน ต่อความยากลำบาก ต้องเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน (อาหารปริเยฏฐิทุกข์) เพราะต้องแสวงหาเครื่องอาศัย ได้แก่ อาหารกาย เพื่อยังอัตภาพนี้ไว้ แสวงหาอาหารใจ เพื่อเลื่อนฐานจิต สู่ภพภูมิที่สูงขึ้น และต้องขวนขวายสร้างกุศลกรรมไว้เป็นเครื่องอาศัย เป็นเสบียงของตน ในการเดินทางไป สู่จุดหมายอันยิ่งใหญ่ของชีวิตอีกด้วย

บ่อยครั้งที่ฉันอยู่เวรมาทั้งคืน รู้สึกง่วงนอนและอ่อนเพลียมาก กะว่าเดี๋ยวพอออกเวรแล้ว จะต้องนอนพักเอาแรงให้เต็มที่เลย แต่พอลงเวรก็กลับถูกตามตัว ให้ช่วยพาคนโน้นคนนี้ไปตรวจโรค หรือถูกตามให้ไปดูแลคนไข้ (ซึ่งบางคนก็เป็นคนรู้จักกัน บางคนก็เป็นญาติ) พวกเขาเหล่านั้นต่างก็หวังมาพึ่งพาเราอย่างเต็มที่ บ่อยครั้งฉันก็จำต้องกล้ำกลืน ฝืนข่มความง่วง ความอ่อนเพลียเอาไว้ บางวันพอออกเวรแล้วก็ต้องไปสอนนักเรียน ในโรงเรียนต่างๆ (ที่ทางโรงเรียนมีหนังสือขอมาทาง ร.พ.) แล้วยังมีงานอื่นที่เป็นประโยชน์อีกมากมาย ซึ่งฉันก็ไม่เคยคิดค่าตอบแทนใดๆเลย เพราะซาบซึ้งในคำพูดที่ว่า

"การได้มีโอกาสกระทำความดี ก็นับว่าเป็นรางวัลสูงสุดของชีวิตแล้ว"

บางครั้งเหนื่อยมากๆเข้า ฉันก็ออเซาะกับตัวเองว่า

"เนี่ย...หากเราไม่ได้มาพบอโศก ป่านนี้นอนตีพุงอยู่บ้านสบายไปแล้ว ไม่ต้องมีชีวิตที่เหน็ดเหนื่อยอย่างนี้หรอก"

แต่พ่อท่านได้กรุณาตักเตือนว่า

"ชีวิตที่สบาย คือ ชีวิตที่ไม่เป็นหนี้ต่างหาก...คือ ทำงานให้มาก เอามาแต่น้อย ขยัน สร้างสรรค์ เกื้อกูลผู้อื่น นี่ต่างหากคือชีวิตที่สบาย"

และท่านมักจะคอยย้ำเตือนลูกๆอโศก ทั้งทางวาจา และทางกายกรรมของท่านเองเสมอๆว่า

"วันเวลาอย่าได้ล่วงไปเลย โดยปราศจากการสะสมบารมี"

ดังนั้น ฉันจึงต้องมีชีวิตอยู่"อย่างสบายๆ" แบบอโศกต่อไป (ไม่ใช่แบบเบิร์ดนะ)

การที่ชีวิตมีโชคดี เพราะได้มีโอกาสสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม และรับใช้เพื่อนมนุษย์นั้น ฉันพยายามอ่านอารมณ์ในจิตของตัวเอง หากไม่ระวังให้ดี มันจะเกิดมานะหลงตัวว่า เราคือ "ผู้ให้"

ฉันเตือนตนเองอยู่เสมอ เมื่อมีงานยุ่งๆในขณะทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล แถมคนไข้และญาติแต่ละเตียง ก็มาตามให้ไปช่วยเหลือดูแลพร้อมๆกันหลายๆเตียง บางคนก็จะเอาทุกอย่างให้ได้ดังใจตัวเอง บางคนก็วางอำนาจข่มเบ่งกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากเป็นสมัยก่อนปฏิบัติธรรม จิตใจของฉันคงจะต้องร่ำร้องแน่ๆว่า

"ดูซิเนี่ย เราก็ทำงานจนเหนื่อยแล้ว ทำไมคนพวกนี้ไม่เห็นใจเราบ้างเลย จะเอาแต่ใจตัวเองกันทั้งนั้น"

ฉันอดเห็นใจเพื่อนร่วมอาชีพด้วยกันไม่ได้ ที่บางคนก็มีอารมณ์เครียด จนบางครั้งก็ระบายออกมาทางวจีกรรม จนทำให้ประชาชนผู้มารับบริการที่ตั้งเป้าหมายไว้สูงว่า พยาบาลคือ "ผู้ให้" ตลอดกาล คือผู้ไม่มีอารมณ์เครียดเลย คือผู้อ่อนโยนยิ้มแย้มพูดจาไพเราะตลอดเวลา คือ บุคคลที่ใกล้ๆพระอรหันต์นั่นทีเดียว! (คือต้องไม่มีความโกรธเลย) คนเหล่านี้จะผิดหวัง หากบังเอิญไปพบพยาบาลอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต่างจากอุดมคติของพวกเขา

มีบทกวีหนึ่งที่เขียนเตือนเพื่อนร่วมวิชาชีพพยาบาลว่า

"แม้พบความ หยามเหยียด รังเกียจยิ่ง

จะทนนิ่ง เพื่อดับ ความสับสน

จะปลอบเลือด ทุกหยด ให้อดทน

ประพฤติตน ให้สมค่า พยาบาล"

เมื่อได้นำธรรมะมาคุ้มครองจิตบ้าง บ่อยครั้งฉันก็บอกกับตัวเองว่า

"เป็นธรรมดา ที่มนุษย์มักจะอยากได้บริการ หรือการเอาใจใส่ที่ดีที่สุด ต่อตัวเขาหรือญาติของเขา เขาไม่ใช่เราเขาจึงไม่รู้ว่า ตอนนี้ เราเหนื่อย เราเพลีย หรือเรากำลังยุ่งอยู่"

และที่ต้องระลึกอยู่เสมอ เพื่อเตือนตนให้เจียมตนว่า เราควรต้องขอบคุณผู้มารับบริการ เพราะพวกเขา เราจึงมีโอกาสได้ทำความดี ได้สะสมมรดกแห่งกุศลกรรม แล้วได้ลดความเห็นแก่ตัวของเราเองด้วย

พอทำงานมากขึ้น นักทำงานทั้งหลายก็จะต้องพบกับโจทย์ ที่เพิ่มขึ้น คือ โลกธรรม ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ นินทา ฯลฯ ฉันในฐานะเสขบุคคล ผู้กำลังฝึกตนให้รู้เท่าทันโลกธรรม จึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง

"ลาภสักการะ และเสียงสรรเสริญ เป็นอันตรายอันแสนเผ็ดแม้พระขีณาสพ"

"ไม่มีอะไรจะทำลายคนได้เร็ว เท่าคำสรรเสริญเยินยอ...มันทำให้จิตฟูฟองและหลงตัวสุดขีด..."

ความจริง คนเขาสรรเสริญ ก็เพียงเพื่อยืนยันกับเราว่า

"ทำอย่างนี้ดีแล้ว...จงทำต่อไป ต่อไป" เท่านั้นเอง

บางทีการที่เราได้ลาภ ยศ สรรเสริญมากๆเข้า หากไม่ระวังให้ดี เมื่อไปพบกับเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา จิตของเราจะหวั่นไหวได้ง่าย

เหมือนกับเหตุการณ์ เมื่อตอนใกล้เที่ยงวันหนึ่ง ที่แผนกสูตินรีเวช ฉันกำลังอยู่เวรเช้าและเป็นหัวหน้าเวรด้วย

ญาติคนไข้เตียงที่ ๘ ที่เพิ่งรับเข้ามาในแผนกเมื่อ ๓ ช.ม.ก่อน มาพูดจาวางอำนาจกับเจ้าหน้าที่ โดยมีฉันนั่งฟังบทสนทนา อยู่ใกล้ๆที่เคาน์เตอร์พยาบาล

"ใคร เป็นหมอเจ้าของไข้ คนไข้ของผม"

"หมอพรเทพค่ะ" พี่ผู้ช่วยพยาบาลคนหนึ่งตอบ

"ทำไมป่านนี้ยังไม่มาดูคนไข้อีกล่ะ" เสียงนั้นแสดงอารมณ์ไม่พอใจ ออกมาอย่างชัดเจน

"ก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ หมออาจจะติดธุระอะไรอยู่ก็ได้ เดี๋ยวก็คงมา"

"อะไรกัน! ทำงานกันประสาอะไรยังงี้ ปล่อยให้คนไข้มารอตั้งนานแล้ว!"

พี่ผู้ช่วยพยาบาลอีกคนหนึ่ง จึงพูดขึ้นบ้างว่า

"คุณคะ หมอเวรใหญ่เขาก็สั่งยาสั่งน้ำเกลือให้แล้ว ที่นี่พยาบาลก็ไม่ได้ทอดทิ้งอะไร คุณก็เห็นนี่คะ"

"แต่ผมต้องการพบหมอเจ้าของไข้เดี๋ยวนี้! ใคร! ใครเป็นผอ. (ผู้อำนวยการโรงพยาบาล) ที่นี่ ! "

"หมอ บัณฑิต" พนักงานผู้ช่วยอีกคนหนึ่งตอบ

"บัณฑิต อยู่ไหน! หือ บัณฑิตอยู่ไหน ! "

ฉันยิ้มขำๆและชื่นชมว่า วันนี้พวกเจ้าหน้าที่เราช่างระงับอารมณ์ได้เก่งมากจริงๆ หรือว่า...หรือว่า พวกพี่ๆเขา "ปลอบเลือดทุกหยดให้อดทน" กันได้แล้ว ? !

พอชายเจ้าของไข้คนไข้เตียง ๘ เดินออกไปจากแผนกสูตินรีเวชแป๊บเดียว พี่ผู้ช่วยฯคนหนึ่ง ซึ่งมีอายุมากแล้ว พูดดังๆ อย่างระบายอารมณ์เต็มที่ว่า

"ใครวะ...ไอ้อ้อ...แกรู้จักมั้ยโอ้โฮ...ทำไมพ่อวางก้ามขนาดนี้ !"

พี่ผู้ช่วยฯอีกคน ก็พูดขึ้นอย่างเหลืออดบ้างว่า

"แกจะใหญ่มาจากไหน ไม่สำคัญ...แต่ที่นี่ฉันใหญ่ !"

ฉันหัวเราะอย่างขบขัน...แหมหลงชื่นชมพี่ๆเสียตั้งนาน ที่แท้ก็อัดดินระเบิดไว้นี่เอง...เราเองก็เถอะ หากมัวหลงฟูฟองเมื่อได้รับสรรเสริญบ่อยๆเข้า และไม่ระมัดระวังให้ดี เจอผัสสะอย่างนี้เข้า ก็คง "เข็มกระดิก" เหมือนกันนั่นแหละ

ความจริงแล้ว พระพุทธองค์ผู้ทรงพระปัญญาธิคุณ ก็ทรงสอนไว้แล้วว่า

ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โลกธรรมเหล่านี้เป็นอนิจจัง เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ชั่วขณะ แล้วก็ต้องเสื่อมไปอย่างไม่มีอะไรจะหยุดยั้งได้ ผู้มีสติและรู้เท่าทันไม่หลงไปติดยึดกับสิ่งเหล่านี้ จะไม่เดือดร้อนใจ เมื่อสิ่งเหล่านี้แปรเปลี่ยนไป

ทุกวันนี้ ลาภ ยศ สรรเสริญ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการทำงาน ที่ได้รับมานั้น จึงเป็นเสมือน "ดาบสองคม" อันน่ากลัว

ฉันจึงมักต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า

หากเราทำงานได้มาก สร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคม ให้กับมนุษย์ได้มาก เราก็จงจำไว้ตลอดเวลาว่า

"ผู้ให้" ต้องขอบคุณ "ผู้รับ" ต้องรู้สึกเป็นหนี้พระคุณ ผู้ที่มาอนุเคราะห์ให้เราได้ช่วยเหลือ...ให้เราได้มีโอกาสทำความดี

ขอบคุณ คนไข้ และญาติคนไข้ และเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลาย

ที่ได้กรุณาให้ฉันได้มีโอกาสทำความดี

ขอบคุณมิตรดี ผู้มาให้กำลังใจ ให้ความอบอุ่น และให้ขุมทรัพย์อย่างอ่อนโยน

ขอบคุณมิตรดี ผู้มาชี้ขุมทรัพย์ อย่างแข็งกร้าว เพื่อให้ฉันแกร่งขึ้น หากได้พิจารณาข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไขของตนเองอยู่เสมอๆ ; การได้เจียมตนว่าเรายังไม่เก่ง (ถ้าเก่งก็หมดกิเลสไปนานแล้ว!) และความรู้สึกสำนึกในพระคุณของผู้อื่น ที่มีต่อเราตลอดเวลา ทั้งสามข้อนี้จะทำให้เราไม่ลืมตัว และสามารถต้านพิษภัย อันเกิดจากการหลงติดใน ลาภสักการะและเสียงสรรเสริญ อันเป็นดุจ "ดาบสองคม" ได้ เป็นอย่างดี

ลูกไกลพ่อ
๑๙ กันยายน ๒๕๓๓
๑๒.๔๒ น.

"เย จิตต สญญเมสสนติ โมกขันติ มารพนธนา"
"ผู้ใด จักระวังจิต ผู้นั้น จักพ้นจากบ่วงแห่งมาร"

พระพุทธพจน์

 

(จากสารอโศก อันดับ ๑๔๗ มกรา กุมภา มีนา ๒๕๓๔)