มนุษย์สีขาว ปฏิบัติธรรม โดย "ลูกไกลพ่อ" ตอน...
บ่วงมาร

หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 155 เดือนมิถุนายน 2535
หน้า 1/1


บุรุษผู้ที่ยืนอยู่ตรงหน้าขณะนี้ อยู่ในชุดเสื้อกาวน์สีขาว กางเกงขายาวสีน้ำเงินเข้ม ร่างสูงสง่า ผิวขาวเนียนดูสะอาดตา เขาคือนายแพทย์หนุ่ม ซึ่งเพิ่งเข้ามาทำงานในแผนกสูตินรีเวชนี้นั่นเอง

เกือบทุกครั้งและทุกวัน ที่นายแพทย์คนใหม่มาตรวจคนไข้ ในแผนกหลังคลอดและนรีเวชที่ดิฉันทำงานอยู่ ในฐานะพยาบาลประจำการ ดิฉันจึงต้องไปร่วมเดินราวนด์ (Rounl) ด้วย เพราะต้องคอยรายงานอาการเปลี่ยนแปลงของคนไข้แต่ละรายให้ทราบ เพื่อช่วยส่งเสริมให้การรักษาถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น และทุกครั้งที่เดินไปด้วยกัน เราก็มักจะมีเรื่องพูดคุยปรึกษากัน ทั้งในเรื่องโรคภัยและเรื่องอื่นๆอยู่เสมอ หมอทราบกิตติศัพท์ว่า ดิฉันเป็นพยาบาลที่อาจหาญทักท้วงวิธีการรักษา หรือการให้ยาของแพทย์ผู้ใหญ่บางท่าน เมื่อดิฉันเห็นว่า อาจเกิดผลเสียกับคนไข้ได้ และจะไม่ให้ยาตามคำสั่ง ถ้าเห็นว่ามีเหตุผลไม่สมควร (แต่ดิฉันก็ได้ใช้วิธีอ่อนน้อมในการทักท้วง หรือเสนอแนะเสมอ ประกอบกับแพทย์ที่นี่ส่วนใหญ่ท่านเป็นผู้รับฟัง และมีเหตุผลดี จึงไม่มีเรื่องขัดแย้งเกิดขึ้น)

วันหนึ่ง นายแพทย์ผู้มาใหม่สั่งยาแก้ปวดชนิดหนึ่งให้คนไข้ ซึ่งปวดท้องน้อยจากโรค PID (Pelvic Inflammatory Disease) = อวัยวะในอุ้งเชิงกรานอักเสบ) ดิฉันซึ่งยืนอยู่ใกล้ๆจึงพูดขึ้นอย่างเกรงใจว่า

"ขอโทษนะคะหมอ ยาตัวนี้เคยมีรายงานยืนยันว่า ถึงจะระงับอาการปวดได้จริง แต่ก็มีฤทธิ์ข้างเคียง (Side effect) ทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดต่ำลง ทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำลงด้วย หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เนี่ยประเทศที่ผลิตยาตัวนี้ เขาก็เลิกใช้กันแล้ว แต่เมืองไทยยังรับเข้ามา และยังใช้กันอยู่"

หมอหันมาจ้องหน้า ดิฉันจึงพูดต่ออย่างเกรงใจว่า "ขอโทษนะคะหมอ ที่จริงเราไม่น่าจะพูดเลย แต่เกรงว่าหมอคงจะลืมไป เลยต้องพูด"

"งั้นหรือครับ" นายแพทย์ผู้มีสายตาและท่าทางเป็นมิตรอยู่เสมอยิ้มอยู่ในหน้า พลางขีดฆ่ายาตัวเดิมทิ้ง แล้วเขียนยาแก้ปวดอีกตัวหนึ่งขึ้นมาแทน

"ผมเองยังเคยเห็นรุ่นพี่ของผม ให้เฟอร์โซเลต (Feso๔) กับคนไข้ทาลาสซีเมีย (Thalassemia= โรคผิดปกติของเม็ดเลือดแดง)เลย แต่ผมก็ไม่ได้ทักท้วงเขาอย่างนี้หรอก" หมอพูดเป็นเชิงบอกว่าดิฉันจุ้นจ้าน

ดิฉันหัวเราะอย่างขบขันและพูดไปตามความเป็นจริงว่า "อันที่จริงก็เสี่ยงอยู่เหมือนกันนะคะ การที่พยาบาลจะมาทักท้วงเรื่องการรักษาของแพทย์นี่นะ ปะเหมาะไปเจอคนที่จิตใจไม่กว้างพอที่จะยอมรับฟังเหตุผลของเราเข้า เราก็จะโดนดีเอาง่ายๆ แต่เราคิดว่า คนไข้นี่ก็เหมือนญาติของเรานั่นแหละ เขาควรจะได้รับการรักษาที่ปลอดภัยและดีที่สุด เราเองไม่มีเจตนาจะก้าวก่ายเลยจริงๆ"

หมอพยักหน้าช้าๆอย่างเข้าใจ และยิ้มอย่างเป็นกันเอง

ดิฉันเล่าต่อว่า "ที่เราระมัดระวังเรื่องยามาก ก็เพราะเราเคยให้ยาคนไข้ผิดมาก่อน คือมีอยู่ครั้งหนึ่ง เราไปออกหน่วยแพทย์อาสา มีลุงคนหนึ่งแกท้องเสีย ถ่ายท้องจนเพลีย เราก็ให้ยาไปตัวหนึ่ง ตอนนั้นน่ะจำได้ว่ามันเป็นยาแก้ท้องเสีย พอตรวจคนไข้ไปได้อีกสองราย ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ยาตัวที่ให้ลุงไปน่ะเป็นยาระบาย!"

หมอและดิฉันหัวเราะขึ้นพร้อมๆกัน

"แล้วยังไงอีกล่ะ"

"จะยังไงเราน่ะ ใจหายวาบเลย ลุกจากโต๊ะตรวจคนไข้ ไปเที่ยวเดินตามหาลุงคนนั้นจนพบ และเอายาแก้ท้องเสียจริงๆไปให้ลุงด้วย บอกลุงว่า ลุง...ขอยานั่นคืนเถอะ เอายาตัวใหม่นี่ไปกิน ยาตัวนี้ดีกว่านะ แต่ลุงก็กลับบอกว่าไม่ต้องหรอกครับหมอ เมื่อกี้ผมกินเข้าไปเม็ดหนึ่ง ตอนนี้ก็รู้สึกค่อยยังชั่วแล้วด้วย"

ดิฉันกับหมอก็หัวเราะด้วยความขบขัน

วันเวลาผ่านไป จากการที่หมอและดิฉันต้องทำงานร่วมกัน ได้พบปะพูดคุยกันบ่อยๆ ความสนิทสนมได้ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ในสายตาของดิฉัน หมอเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี มีอุดมการณ์ในการทำงานที่เหมือนกัน ดิฉันไม่ได้คิดเป็นอื่นเลย บางครั้งหมอมีอะไรก็จะมาเล่าให้ฟังอย่างสนิทสนม

"แย่เลย เมื่อคืนผมผ่าตัดสองราย จากตีสองจนสว่าง เนี่ย...ง่วงจังเลย นึกว่าจะมาราวนด์ไม่ไหวซะแล้ว"

ดิฉันก็จะให้กำลังใจว่า"อ้าวก็ดีแล้วนี่คะ หมอช่วยชีวิตคนไข้ไว้มากๆน่ะ จะได้สะสมบุญไว้เยอะๆไงล่ะคะ"

หมอหันมาจ้องหน้าดิฉันแล้วยิ้มเต็มที่

จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่เดินตรวจคนไข้มาถึงเตียงที่ ๘ ซึ่งเป็นคนไข้ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง(Ceasarean Section) โดยมีดิฉันยืนอยู่ด้วย ขณะที่หมอหยิบแฟ้มประวัติคนไข้ขึ้นมาเพื่อจะสั่งการรักษานั้น เด็กทารกที่นอนอยู่บนเตียง ได้สำรอกเอานมพรั่งพรูออกมาเต็มปาก

ดิฉันรีบวางเครื่องมือไว้ท้ายเตียง และตรงเข้าช่วยเหลือเด็กอย่างรวดเร็ว เพราะทราบว่าหากปล่อยให้นมหรือน้ำพลัดลงไปในท่อทางเดินหายใจ เด็กทารกนี้อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ เมื่อจัดการเรียบร้อยแล้ว ดิฉันจึงทำความสะอาดใบหน้าซอกคอคางและใบหูให้เด็ก พอเกลี้ยงดีก็ใช้ผ้าสะอาด ห่อตัวเด็กจนมิดชิด เหลือโผล่มาเพียงใบหน้าขาวอมชมพูแก้มอิ่มและปากสีแดงจิ้มลิ้ม ตาของแกดูใสแจ๋วบริสุทธิ์จริงๆ

ดิฉันอุ้มเด็กขึ้นมาไว้ในอ้อมแขน แต่พอเงยหน้าขึ้น ก็พบว่าหมอยังถือแฟ้มและปากกาค้างอยู่ และยืนจ้องดิฉันอยู่นิ่งๆตั้งนานแล้ว และโดยไม่ทันได้ตั้งตัว หมอก็ก้าวเข้ามาจนใกล้ ก้มลงมา เอามือจับที่แก้มนิ่มๆของเด็กทารกในอ้อมแขนของดิฉัน แล้วพูดว่า

"เด็กนี่น่ารักจังเลยนะ ไม่รู้เป็นไง ผมรักเด็กม้ากมาก"

แต่สายตาที่ยังคงจ้องหน้าดิฉันอยู่ใกล้ๆนั้น ทำให้ดิฉันทราบด้วยสัญชาตญาณว่า ดิฉันควรจะทำอย่างไร

ดิฉันวางเด็กลงบนเตียง แล้วหันมาจ้องหน้าหมอตรงๆ และพูดอย่างเป็นงานเป็นการว่า "จะดูผลอี.เค.จี.เตียงนี้เลยหรือเปล่า เดี๋ยวจะไปเอามาให้"

ดิฉันเดินจากมา คิดในใจว่า ทำไมหมอถึงมองมาด้วยสายตาแบบนี้ ดิฉันพิจารณาทบทวน แล้วก็บอกกับตัวเองว่า เราเองก็มีส่วนผิด ที่ไม่คอยระมัดระวังให้ดีในเรื่องความสนิทสนม ทั้งนี้ก็เพราะเราเองไม่ได้คิดอะไร ที่เกินไปกว่าความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน มีอุดมการณ์ตรงกันและเข้าใจกันดี อีกอย่างดิฉันประมาทไปเพราะคิดว่า รูปร่างของตัวเอง เป็นเกราะแก้วคุ้มกันชีวิตพรหมจรรย์ได้อย่างสบาย สิกขมาตที่ดิฉันเคารพมากท่านหนึ่ง เคยบอกว่า

"ผู้หญิงบางคนพอเห็นปุ๊บ ผู้ชายเขาก็นึกไปถึงเรื่องกาม เรื่องความรัก แต่อย่างคุณเห็นแล้ว ทำให้นึกเรื่องการงาน" (โถ...ท่านเข้าใจปลอบน่ะ!)

ด้วยสาเหตุเหล่านี้ ดิฉันจึงไม่คิดว่า ในชาตินี้จะมีใครมามองเราด้วยสายตาของชายหนุ่มมองหญิงสาวอย่างนี้ ซึ่งดูไม่เหมาะไม่งาม ตามสายตาของนักปฏิบัติธรรมอย่างดิฉัน

นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ดิฉันคงต้องสำรวมระวังพฤติกรรมที่แสดงออกมา ไม่ให้ไปเบียดเบียนใคร หรือไม่ให้ใครเข้าใจผิดได้

บนเส้นทางของชีวิตพรหมจรรย์ ดิฉันมักจะเจริญอสุภสัญญา และอนิจจสัญญาอยู่เสมอว่า ร่างกายเรานี้ เต็มไปด้วยของเสีย เป็นรังแห่งโรค ตั้งอยู่ไม่นาน จักต้องเข้าสู่ความชราและตายเน่าเหม็น เสื่อมสลายไปในที่สุด

อารมณ์รักอารมณ์ชัง ที่เราสังขารขึ้นมาในจิต ก็ไม่เที่ยง ย่อมแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยเสมอ ดิฉันมีความชื่นชมพอใจ ในความเบาว่างปลอดโปร่งของจิต และความอิสระเสรีของชีวิตที่เป็นโสด เห็นโทษเห็นภัยความทุกข์ทรมานเมื่อหัวใจมีความรักพันธนาการอยู่ เห็นความหนักความทุกข์ทรมานในชีวิตคู่เสมอๆ

คอยตามอ่านอารมณ์ในจิตอยู่เรื่อยๆ บางครั้งเมื่อจิตแล่นไปในทางอกุศล ก็คอยโน้มให้เข้ามาอยู่ในกุศลเสมอ แล้วใช้ธรรมะสอนตนให้สำนึกถึงเป้าหมายสูงสุด ที่ชีวิตของเราจะต้องไปให้ถึง

จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในเชิงแห่งความรัก ซึ่งดิฉันอาจเข้าใจผิดไปเอง แต่ก็รู้ตัวเองว่าก่อให้เกิดพฤติกรรมที่สนิทสนมจนเกินไป อันเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ ของตนและคนอื่น ก็มีอีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งตรงกันข้าม ดังเรื่องที่ดิฉันได้ประสบมาดังนี้

"อ้าวหนู...มาถึงเมื่อไรจ๊ะ" คุณป้าท่านหนึ่งกล่าวทักขึ้นอย่างเอ็นดู

"มาถึงเมื่อเช้านี้เองค่ะ เจริญธรรมค่ะป้า" ดิฉันยกมือไหว้อย่างเคารพ

"นั่งก่อนซิหนู"

ขณะที่ดิฉันกำลังจะก้าวไปนั่งยังเก้าอี้ข้างๆคุณป้าผู้นั้น ก็มีความรู้สึกว่าในห้องนั้น ยังมีสายตาอีกคู่หนึ่งจ้องมองอยู่ ดิฉันจึงหันไปดูตามที่ได้รับสัมผัสลึกๆ ภาพที่เห็นตรงหน้า ทำให้ดิฉันชะงักฝีเท้าที่จะก้าวต่อทันที

สายตาบนใบหน้างดงามที่จ้องตรงมายังดิฉันคู่นั้น ฉายแววแห่งความชิงชังรังเกียจอย่างเต็มที่ เหมือนจะให้รู้เป็นนัยว่า

"อย่านั่งนะ...ออกไปซะ!"

ดิฉันจึงคิดว่า หากเรานั่งลงตามคำเชิญของคุณป้าผู้ใจดีท่านนั้น ก็จะเป็นการเบียดเบียนจิตใจของเธอผู้นั้นเปล่าๆ จึงบอกกับคุณป้าว่า

"เห็นจะไม่นั่งหรอกค่ะ หนูต้องรีบไปทำงานต่อ"

ดิฉันเดินจากบ้านหลังนั้นมาแล้ว แต่สายตาแห่งความเกลียดชังนั้นยังติดตามมาในห้วงแห่งความคิดอย่างชัดเจน บอกกับตัวเองว่า นานแสนนานมาแล้ว ที่เราไม่เคยถูกมองด้วยสายตาเช่นนี้ พยายามนึกทบทวนว่า เราได้เคยไปทำอะไรที่เป็นการเบียดเบียนเธอผู้นี้ให้เดือดร้อนหรือไม่ เอ...ก็ไม่เคยเลยนี่นา เรายังศรัทธาและเคารพเธอว่าเป็นผู้สูงกว่าเราด้วยวัยวุฒิ และยังเคยแอบชื่นชมว่า เธอผู้มีใบหน้าอันงดงามนี้ คงเพราะได้สั่งสมบุพกรรมมาดีนั่นเอง ไม่เคยมีจิตริษยาเลยแม้แต่น้อย

หลายวันต่อมาดิฉันพบเธออีก เธอก็ยังมองมาด้วยสายตาชิงชังเช่นเดิม

เอ...ทำไม เธอถึงมองเราด้วยสายตาอย่างนี้นะ เราเองก็ไม่เคยได้ไปทำอะไรให้เธอเดือดร้อนเลย ...แต่ก็ช่างเถอะ พ่อท่านเคยสอนว่า สิ่งใดที่เราประสบ ย่อมคือผลพวงของวิบากกรรม ที่เราเองเป็นผู้ไปก่อไปสร้างไว้แต่อดีตทั้งสิ้น จิตใจดิฉันจึงสงบเย็น ไม่มีความขุ่นเคืองใดๆ

อดนำมาเปรียบเทียบกับสายตาของนายแพทย์หนุ่มคนนั้นไม่ได้ ช่างตรงกันข้ามเสียจริงๆ คนหนึ่งมองมาด้วยความศรัทธาและพึงพอใจ แต่อีกคนหนึ่งก็ชิงชังรังเกียจ

"มีคนมารักหรือมาชัง จะมีประโยชน์อะไรต่อความพ้นทุกข์ ในเมื่อเราตั้งใจที่จะฝึกฝนตนให้พ้นทุกข์จากอำนาจกิเลสของตน เพื่อไปสู่นิพพาน ถึงใครจะมาชิงชังเราก็ไม่เป็นไร เพราะเรามั่นใจว่า ได้สำรวมสังวรกรรมในปัจจุบันไว้ดีแล้ว ที่จะไม่ไปเบียดเบียนใครให้เดือดร้อนเพราะเรา"

ดิฉันตระหนักอยู่เสมอว่า

"มนุษย์ไม่ว่าหญิงหรือชาย ต่างก็คือเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายทั้งสิ้น เราตั้งใจที่จะช่วยส่งเสริมทั้งตนเองและผู้อื่น ให้ไปสู่นิพพาน สู่ฝั่งแห่งความพ้นทุกข์ เราจะมิใช่ผู้ที่ไปเบียดเบียนผู้อื่นและตนเอง ให้ตกล่วงจากชีวิตพรหมจรรย์ หรือทำใหัใครเนิ่นช้าต่อนิพพานเป็นอันขาด"

และจนบัดนี้ ดิฉันก็ยังซาบซึ้งใจในพระพุทธพจน์บทหนึ่งที่ว่า

"ผู้ใดจักระวังจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร"

"มาร"ในที่นี้ก็คือ กิเลสอันได้แก่ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ยังเกาะติดอยู่ในจิตวิญญาณของเรานี่เอง...ดิฉันสัญญากับตนเองอย่างมุ่งมั่นว่า

"เราจักมีสติคอยตามระวังจิตให้ดี ก้าวไปข้างหน้าอย่างช้าๆแต่มั่นคง

...เพื่อก้าวล่วงพ้นจาก`บ่วงมาร’ ให้จงได้"

ลูกไกลพ่อ

 

(สารอโศก อันดับ ๑๕๕ มิ.ย.-ก.ค. ๒๕๓๕)