มนุษย์สีขาว ปฏิบัติธรรม โดย "ลูกไกลพ่อ" ตอน...
หากรู้สักนิด

หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 159 เดือนกุมภาพันธ์ 2536
หน้า 1/1


ภาพเหตุการณ์ครั้งนั้น ยังตราตรึงแจ่มชัด อยู่ในความทรงจำของฉัน มาจนทุกวันนี้ คนไข้ห้อง ๒๐๘ ตึกพิเศษ อายุรกรรม ผู้นั้น เป็นชายร่างผอมผิวดำเกรียม บริเวณท้องบวมโต แน่นจนผิวตึงใส ท้องที่แข็งนูนขึ้นมา เพราะตับและม้ามโตมาก ร่างผอมบางนั้นนอนแซ่วอยู่บนเตียงหลายเดือนแล้ว เขาอ่อนเพลียมาก ลุกเดินไม่ไหว กล้ามเนื้อแขนขาลีบเล็ก เพราะกินไม่ได้ และรับอาหารเข้าไปได้น้อยมาก (กระเพาะอาหารถูกตับและม้ามเบียดจนมีพื้นที่รับอาหารน้อยเต็มที)

คนไข้รายนี้ เป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว ระยะสุดท้าย! เมื่อหลายเดือนก่อน ญาติได้พาไปรับการรักษา ที่โรงพยาบาลมีชื่อแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่ไม่ดีขึ้น ต่อมาอาการก็ทรุดหนักลงเรื่อยๆ แพทย์ลงความเห็นว่า Hopeless(หมดหวัง)แล้ว จึงจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ให้ญาตินำกลับมา (ตาย) ที่บ้าน ซึ่งอยู่ต่างจังหวัด

ถึงแม้จะทราบว่า หมดหวังที่จะรักษาให้หาย และทุกวันนี้ผู้ป่วยนอนรอความตายเท่านั้น ญาติก็ยังนำมารักษาต่อที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการไข้สูง และปวดศีรษะมาก และแน่นท้องตลอดเวลา

เพื่อนพยาบาลเวรที่แล้วส่งเวรให้ข้อมูลว่า คนไข้รายนี้มีแผลเปื่อยที่ลิ้น และมีแผลทั่วไปที่ผนังด้านในของปาก ไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้ มีสายยางเข้าทางจมูก ต่อลงไปยังกระเพาะอาหาร และให้อาหารทางสายยางวันละ ๔ มื้อ

คนไข้บอกกับฉันว่า เจ็บคอ เจ็บปากมาก ขอยาแก้ปวดอยู่เรื่อย เขาบอกกับฉันว่า เขาอยากกินอาหารที่เขาชอบหลายๆอย่างใจจะขาด แต่ก็กินไม่ได้ เพราะเจ็บแผลในช่องปากทรมานมาก บางครั้งฉันเห็นคนไข้มีอาการหงุดหงิด บ่น ว่า ภรรยาของตน ซึ่งเฝ้าปรนนิบัติอย่างซื่อสัตย์ตลอดมา ไม่ว่าสามีจะดุด่าเธออย่างไร เธอก็จะรีบงกๆทำให้อย่างทาสผู้จงรักภักดี ฉันสงสารภรรยาของคนไข้รายนี้มาก จนต้องพูดให้คนไข้เห็นคุณค่าของแก้วในมือตนว่า

"คนไข้นี่ โชคดีมากนะคะ ที่ได้แม่ศรีเรือน ที่เป็นคู่ทุกข์คู่ยากอย่างนี้ สมัยนี้หาภรรยาที่ซื่อสัตย์ และมีน้ำใจงดงามอย่างนี้ได้ยาก" (และพูดต่อในใจว่า เป็นฉันละก็ เผ่นหนีไปนานแล้ว!!)

แต่ก็นั่นแหละ ฉันก็ยังได้เห็นคนไข้ระบายอารมณ์หงุดหงิด และดุด่าภรรยาอยู่เนืองๆ

ฉันคิดในใจว่า "เฮ้อ... นี่เขาเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันมาแต่ชาติปางไหนหนอ"

วันรุ่งขึ้น หลังจากฉีดยาประจำชั่วโมง และพ่นยาขยายหลอดลม ให้คนไข้หอบหืดอีกห้องหนึ่งเสร็จแล้ว ฉันจึงนำอาหารปั่นมาอุ่นบนเตาไฟ เพื่อจะทำมาให้ห้อง ๒๐๘ (เราจะใช้ไซริ้ง ๕๐ ซี.ซี.สำหรับใส่อาหาร ต่อเข้ากับสายยางที่จมูกของคนไข้ เมื่อใส่อาหารเหลวปั่นลงไปในไซริ้ง อาหารก็จะไหลผ่านท่อยางลงกระเพาะ โดยไม่ต้องผ่านปากและลิ้นของคนไข้) หลังจากให้อาหาร และยาหลังอาหาร(ทางสายยาง)เรียบร้อยแล้ว ฉันจึงให้คนไข้อ้าปาก เพื่อดูว่าทำไมถึงได้บ่นเจ็บปากนัก ทันใดนั้นฉันก็แทบจะถอยผงะออกมา เพราะกลิ่นเหม็นเน่าคลุ้ง โชยมาปะทะจมูกฉันอย่างแรง น้ำลายภายในปากคนไข้เหนียวข้นจนเป็นยาง เกาะแผงฟันเป็นคราบ อะไรก็ไม่น่าขนลุกขนพองเท่ากับที่ลิ้นของเขา มีฝีสุกหัวใหญ่ๆอยู่หลายหัว กระจายไปทั่วลิ้น มีหนองข้นๆบางส่วนไหลเยิ้ม ปนกับน้ำลายข้นๆนั้น

ยังไม่พอแค่นั้น เยื่อบุผนังด้านในของปากมีแผลใหญ่ ที่มีหนองเกาะเป็นคราบอยู่ทั่วไป จนถึงคอหอย (ลึกเข้าไปไม่รู้ว่ามีอีกหรือเปล่า เพราะมองไม่เห็น)

นี่เขาไปทำกรรมอะไรเอาไว้นะ ถึงได้มีอกุศลวิบาก ที่น่าเวทนาปานนี้

ต่อจากนั้น ฉันได้ใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมง เพื่อทำความสะอาดช่องปากให้คนไข้ ฉันใช้ปากคีบ ๒ อันหยิบสำลีชุบน้ำยาเช็ด และดึงเสมหะเหนียวข้นปนหนองเป็นก้อนๆ ออกมาจากช่องปากของคนไข้อย่างแผ่วเบา(กลัวเขาจะเจ็บ) ค่อยๆลอกคราบน้ำลาย ที่เกาะฟันและที่ริมฝีปากออกมาเป็นแผ่นๆ แม้จะต้องอดทนต่อกลิ่นปากที่เหม็นเน่า น่าสะอิดสะเอียนนั้น แต่ความกระหาย ที่อยากจะทำให้ช่องปากนั้นสะอาดสะอ้านขึ้นมีมากกว่า เกือบหนึ่งชั่วโมงผ่านไป(ฉันจะเป็นลม!) ยังเหลือคราบหนองที่เกาะติดแผลที่เอาไม่ออก เพราะคนไข้บ่นเจ็บ ฉันจึงหยุดทำ และเก็บเครื่องมือทำความสะอาด

ชายคนไข้พยายามยกมือ ที่มีแต่หนังหุ้มกระดูก ซึ่งให้น้ำเกลืออยู่นั้นขึ้นพนมไหว้ แล้วก็ทิ้งแขนลงข้างตัวอย่างอ่อนแรงเต็มที แววตาสีหน้าราวกับจะบอกกล่าวถึงความรู้สึกบางอย่างที่เกิดขึ้นในใจ

"ขอบคุณเหลือเกินครับหมอ ไม่เคยมีใครมาทำให้ผมอย่างนี้เลย" เขาพูดเสียงแผ่วเบาลิ้นที่เต็มไปด้วยฝีสุกๆหลายหัว ขยับไปมาอย่างลำบาก

ฉันยิ้มให้กำลังใจ

"ไม่ต้องขอบคุณหรอกจ้ะ เพราะพยาบาลเองก็เต็มใจ ที่จะทำให้อยู่แล้ว มีอะไรจะให้ช่วยอีก ก็บอกได้เลยนะจ๊ะ"

และทุกครั้งที่ขึ้นเวร ฉันก็มักจะไปดูแล ช่วยเหลือคนไข้รายนี้เป็นอย่างดี เพราะจิตสงสาร ในความทุกข์ทรมาน จากโรคภัยของเขา และสงสารภรรยา ทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ของเขาด้วย

วันหนึ่งขณะที่ฉีดยาแก้ปวดให้คนไข้ ฉันก็บอกกับคนไข้และญาติว่า "พยาบาลขึ้นเวรวันนี้ เป็นวันสุดท้ายนะจ๊ะ จะไปกรุงเทพฯ ๓ วัน อยู่ทางนี้ก็ขอให้คนไข้แข็งแรงไวๆนะจ๊ะ"

ชายคนไข้ จ้องหน้าดิฉันนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงพูดว่า

"หมอไปแล้ว คงไม่มีใครมาทำแผลในปากให้ผมอีก" น้ำตาไหลเอ่อท้นออกมาจากเบ้าตาลึกโหลคู่นั้น และไหลรินลงไปทางกกหูทั้งสองข้าง

"มีซีจ๊ะ พยาบาลที่นี่ ก็ใจดีกันทั้งนั้น" ฉันพูดปลอบโยน

"ผมจะมีชีวิตอยู่ถึงหมอกลับมาหรือเปล่าก็ไม่รู้" เขาพูดต่อราวกับบอกกับตนเอง และไม่รับรู้คำปลอบโยนของฉัน

"อย่าคิดมากอย่างนั้นเลย" ฉันปลอบคนไข้ แล้วเดินออกจากห้องนั้นมา

๓ วันที่ไม่ได้ขึ้นเวร (ช่วงนั้นเวรหยุดและฉันได้ไปช่วยงานอบรมข้าราชการที่ต่างจังหวัด) บางครั้งภาพๆของคนไข้และภรรยาที่น่าสงสารคู่นี้ ก็ผุดลอยขึ้นมาในห้วงของความคิดเป็นระยะๆ ป่านนี้จะเป็นอย่างไรกันบ้างนะ คนไข้จะเจ็บปวดทรมานสักแค่ไหน จะมีใครช่วยทำความสะอาดแผลและฝีในช่องปากให้หรือเปล่า ป่านนี้คนไข้ปวดมากๆจะหงุดหงิดใส่ภรรยาอีกก็ไม่รู้

ฉันพยายามสอนตนเองให้ระลึกถึงคำสอนของพ่อท่าน ที่ว่า

"มนุษย์เราต่างก็เกิดมาใช้หนี้กรรมทั้งสิ้น แรงกรรมซื่อตรงและยุติธรรมที่สุด"

จริงสินะ แม้เราเองก็เช่นกัน ใครคนหนึ่งเคยกล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า

"...ส่วนกรรมของคนอื่น เราก็จะช่วยตามฐานะ ที่เราพอจะช่วยได้ ถ้านอกเหนือกว่าที่เราจะพอทำได้ เราจะต้องวางใจให้เป็นอุเบกขาเสีย รักษาจิตของเราไว้ไม่ให้ขุ่นข้องหมองใจ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็จะมาทำความดี อย่างที่ไม่ทำตนให้พ้นทุกข์ได้ เพราะไม่ได้ทำความดีให้ถึงที่สุด จนถึงขั้นที่จะก่อให้เกิดการชำระจิตให้ผ่องใส ได้อย่างแท้จริง"

เมื่อคิดถึงตรงนี้ จิตใจของฉันก็ปล่อยวางและเบาว่างมากขึ้น

เมื่อฉันกลับจากงานอบรมที่ต่างจังหวัด และกลับมาขึ้นเวรอีกครั้ง หลังจากรับฟังรายงานอาการจากพยาบาลเวรเช้าแล้ว ภรรยาคนไข้ห้อง ๒๐๘ มาตามให้ไปต่อน้ำเกลือ และฉีดยาแก้ปวดให้คนไข้ ขณะนั้นฉันกำลังจะไปทำแผลให้คนไข้อีกห้องหนึ่งอยู่พอดี

ฉันละไปเตรียมยาฉีดแก้ปวด และเตรียมน้ำเกลือ เพื่อไปให้คนไข้ห้อง ๒๐๘ เมื่อเปิดประตูเข้าไป ภาพที่คนไข้แสดงอาการดีใจอย่างสมหวัง ยังตราตรึงมาจนทุกวันนี้

"เป็นไงบ้าง" ฉันทักทายอย่างปกติ ขณะที่ปักเข็มฉีดยาลงไปที่สะโพกของคนไข้นั้น ใจก็คิดไปว่า บางทีการช่วยเหลือเหล่านี้ ก็เป็นเพียงการยืดระยะเวลาทุกข์ทรมานของคนไข้ ให้ยาวออกไปอีกเท่านั้นเอง นี่ไม่รู้ว่าฉันกำลังทำบุญหรือบาปกันแน่

ฉันดึงเข็มออกจากคนไข้ เมื่อเงยหน้าขึ้น ก็พบกับรอยยิ้มของคนไข้ ที่จ้องตรงมายังฉันด้วยอาการลิงโลดดีใจคล้ายเด็กๆ

ชีวิตในเครื่องแบบสีขาว ฉันได้พบเหตุการณ์เป็นธรรมดาว่า เมื่อเราได้ให้การรักษาพยาบาลคนไข้รายใดเป็นอย่างดี คนไข้และญาติจะรักและผูกพันกับเรา เพราะเราเป็นที่พึ่งที่ให้ความอบอุ่น ปลดเปลื้องความทุกข์ทรมานให้กับเขาได้ ฉันพบบ่อยจนเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา สำหรับฉันเอง อยากจะให้การพยาบาลดูแลที่ดีที่สุดกับคนไข้ทุกคน เท่าที่จะสามารถทำได้ เพราะการที่ชีวิตของฉัน ได้มีโอกาสปรนนิบัติรับใช้เพื่อนมนุษย์ได้บ้าง ก็นับว่าเป็นบุญเป็นความโชคดีของชีวิตแล้ว

ฉันจึงรักงานพยาบาลมาก รักที่จะช่วยเหลือคนไข้ แต่ก็เกลียดการผูกพัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตนเอง หรือผู้อื่นก็ตาม (สภาวจิตในตอนนั้น) ฉันยิ้มนิดๆและพูดต่อว่า "เดี๋ยวยาออกฤทธิ์ แล้วก็จะหายปวดนะจ๊ะ"

ฉันไม่ได้กล่าวอะไรมากไปกว่านี้ ไม่ได้บอกว่า ช่วงที่ไม่ได้มาขึ้นเวร ฉันเป็นห่วงคนไข้และญาติมาก ด้วยเกรงว่าจะเป็นการเพิ่มสายใยแห่งการผูกพันทั้งมวล ซึ่งฉันไม่ต้องการให้ใครมารักมาผูกพัน ก็เพราะสิ่งเหล่านี้คือความทุกข์

ญาติคนไข้ห้อง ๒๐๒ ได้มาตามให้ไปดูดเสมหะคนไข้อัมพาตในห้องนั้น

ฉันเดินกลับออกมาจากห้อง ๒๐๘ เพื่อไปดูดเสมหะ (ด้วยเครื่องดูดไฟฟ้าสูญญากาศ) และไปทำแผลให้คนไข้ ที่ไม่รู้สึกตัวอีกห้องหนึ่ง

๒ ชั่วโมงต่อมา ภรรยาของคนไข้ห้อง ๒๐๘ วิ่งลนลานมาตาม บอกว่าคนไข้อาการไม่ดี ฉันกับเพื่อนพยาบาลอีกคนหนึ่ง จึงรีบไปดู จึงพบว่า คนไข้นอนหายใจสะอื้นเป็นช่วงๆ และเรียกไม่รู้สึกตัวเสียแล้ว ฉันได้ให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ จนสุดท้ายก็ปล่อยให้คนไข้จากไปอย่างสงบ

๑ ชั่วโมงต่อมา ฉันยืนดูร่างที่ไร้วิญญาณ ที่นอนเหยียดยาวไม่ไหวติงอยู่บนเตียง ริมฝีปากที่เขียวคล้ำนั้น ราวกับจะระบายรอยยิ้มน้อยๆอย่างมีความสุข

ภรรยาของคนไข้สะอื้นฮักๆ อย่างแสนอาลัยรัก

ฉันปลอบโยนเธออยู่ครู่หนึ่ง และชี้บอกว่า

"ดูซิ ใบหน้ายังยิ้มอยู่เลย เขามีความสุขไปแล้วล่ะ พ้นทุกข์ทรมานไปเสียที"

ด้วยทีท่าภายนอกที่สงบเย็น เพราะต้องเป็นหลักเป็นที่พึ่ง และให้กำลังใจปลอบโยนผู้อื่น แต่ภายในใจของฉันขณะนั้น บอกกับตัวเองว่า

ชายคนไข้ผู้นี้จากไปรวดเร็วเกินกว่าที่เราจะคาดคิด หากฉันรู้สักนิดว่า อีกสองชั่วโมง เขาจะจากทุกคนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ ฉันคงจะพูดในสิ่งที่ดีที่สุดกับเขา ฉันคงจะทำให้คนไข้ของฉันชื่นใจกว่านี้ อย่างน้อย...ก็เพื่อชดเชยความทุกข์ทรมานอันยาวนาน ที่เขาได้รับมาโดยตลอด

ฉันเขียนบันทึกเรื่องนี้เสียยืดยาว เพื่อไว้เตือนตัวเอง ไม่ให้หยุดอยู่ในกุศลธรรม ตราบใดที่วิบากกรรม ซึ่งเป็นอกุศลอันประดุจหมาไล่เนื้อ ยังตามมาไม่ทัน ฉันจะเร่งใช้ร่างที่ยังแข็งแรงนี้ พากเพียรปรับปรุงจิตวิญญาณของตน ให้พัฒนาขึ้นให้มากที่สุด และเพื่อเตือนตนว่า

๑. เวลาที่สำคัญที่สุด คือ เวลาในปัจจุบัน (เพราะอดีตก็ล่วงเลยมาแล้ว เรียกคืนกลับมาไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง)

๒. บุคคลที่สำคัญที่สุด คือ บุคคลที่อยู่ตรงหน้าเรา (เพราะเราไม่รู้ว่า เราจะมีชีวิตอยู่รอดไปพบคนอื่นได้อีกหรือไม่)

๓. ภารกิจที่สำคัญที่สุด คือ การทำให้คนที่อยู่ตรงหน้าเรามีความสุขที่แท้

ข้อเตือนตนเหล่านี้ อาจจะไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรม แต่ก็เป็นข้อคิดและข้อวัตรอันหนึ่ง ที่จะทำให้จิตวิญญาณเจริญขึ้นมาได้อีกขั้นหนึ่งทีเดียว

ลูกไกลพ่อ
๓๑ ต.ค.๒๕๓๕ ;๔:๔๐ น.

 

(สารอโศก อันดับ ๑๕๙ ก.พ.๒๕๓๖)