>สารอโศก

มหาทาน กับ วิบากบาป

"ศีล" คือข้อประพฤติปฏิบัติให้ละเว้นจากความชั่ว ทั้งทางกาย-วาจา-ใจ โดยระมัดระวัง ไม่ให้ทำผิดศีล เพราะถ้าทำผิดศีล "ศีลขาด" นั่นหมายความว่า ย่อมต้องมีผล(วิบาก)บาป คอยเป็นเจ้าหนี้ ติดตามทวงหนี้คืน จากผู้นั้น จนกว่าจะใช้หนี้กรรม คืนได้หมด นั่นแหละ จึงจะพ้นเวร พ้นกรรมได้

ส่วนผู้ที่ถือศีลได้ดี รักษาศีลได้สะอาดบริสุทธิ์ ย่อมเกิดผล(วิบาก)บุญ คอยติดตาม ตอบสนอง ให้ได้รับความสุข ไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติหน้าก็ตาม

การถือศีลของชาวพุทธนั้น ขั้นต่ำสุดก็คือ ถือศีล ๕ จึงต้องศึกษาเรียนรู้ว่า ศีล ๕ มีอะไรบ้าง? และหากล่วงละเมิด ไปกระทำผิดศีลเหล่านี้แล้ว จะได้รับผลบาป มากระทำคืน อะไรกับเราบ้าง?


พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการถือศีล ๕ ว่า เป็นเหมือนกับการกระทำ "มหาทาน" เลยทีเดียว นั่นก็คือ หากถือศีล ๕ ได้ดี ย่อมเป็นมหาบุญกุศลยิ่งใหญ่ และในทางตรงกันข้าม หากละเมิด ศีล ๕ ก็จะกลายเป็นบาปมหาศาล แก่ผู้กระทำนั้น

ทรงแสดงธรรมไว้ใน "ปุญญาภิสันทสูตร" กับ "สัพพลหุสสูตร" พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๒๙, ๑๓๐ มีดังนี้

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ ประการนี้(ศีล ๕) เป็นมหาทาน อันบัณฑิต (ผู้ฉลาดในธรรม) พึงรู้ว่า เป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสาย แห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิต และสมณพราหมณ์ไม่รังเกียจ จะไม่รังเกียจ

ทาน ๕ ประการนี้เป็นไฉน?

๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละปาณาติบาต คืองดเว้น จากการฆ่า ทำลาย ชีวิตมนุษย์และสัตว์ อริยสาวก ผู้งดเว้นได้นั้น ย่อมชื่อว่า ให้ความปลอดภัย ความไม่มีเวรกัน ความไม่เบียดเบียนกัน แก่สัตว์โลก อันหาประมาณมิได้

ครั้นให้ความปลอดภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์โลก อันหาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ได้รับ ความปลอดภัย ความไม่มีเวร ความไม่ถูกเบียดเบียน อันหาประมาณมิได้ด้วย

แต่ผู้ที่ไม่งดเว้น กระทำปาณาติบาตอยู่ เสพแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้ผู้นั้น เป็นไปในนรก (เร่าร้อนใจ) ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน (มืดมัวโง่เขลา) ในเปรตวิสัย (ละโมภ หิวกระหาย)

วิบากบาปแห่งการฆ่ามนุษย์และสัตว์นี้ อย่างเบาที่สุดแก่ผู้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็คือทำให้ เป็นผู้มีอายุสั้น

๒. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละอทินนาทาน คืองดเว้น จากการลักทรัพย์ ไม่ถือเอาสิ่งของ ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ อริยสาวกผู้งดเว้นได้นั้น ย่อมชื่อว่า ให้ความปลอดภัย ความไม่มีเวรกัน ความไม่เบียดเบียนกัน แก่สัตว์โลก อันหาประมาณมิได้

ครั้นให้ความปลอดภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์โลก อันหาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ได้รับ ความปลอดภัย ความไม่มีเวร ความไม่ถูกเบียดเบียน อันหาประมาณมิได้ด้วย

แต่ผู้ที่ไม่งดเว้น กระทำอทินนาทานอยู่ เสพแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้ผู้นั้น เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย

วิบากบาปแห่งการลักทรัพย์นี้ อย่างเบาที่สุดแก่ผู้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็คือทำให้เป็น ผู้พินาศจากทรัพย์สมบัติ

๓. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร คืองดเว้น จากการประพฤติผิดในกาม การผิดประเวณี กับผัวหรือเมียหรือ ลูกของผู้อื่น อริยสาวก ผู้งดเว้นได้นั้น ย่อมชื่อว่า ให้ความปลอดภัย ความไม่มีเวรกัน ความไม่เบียดเบียนกัน แก่สัตว์โลก อันหาประมาณมิได้

ครั้นให้ความปลอดภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์โลก อันหาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ได้รับ ความปลอดภัย ความไม่มีเวร ความไม่ถูกเบียดเบียน อันหาประมาณมิได้ด้วย

แต่ผู้ที่ไม่งดเว้น กระทำกาเมสุมิจฉาจารอยู่ เสพแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้ผู้นั้น เป็นไปในนรก ในกำเนิด สัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย

วิบากบาปแห่งการประพฤติผิดในกามนี้ อย่างเบาที่สุด แก่ผู้ได้มาเกิด เป็นมนุษย์อีก ก็คือมีศัตรู และถูกเกลียดชัง ปองร้าย

๔. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละมุสาวาท คืองดเว้น จากการพูดโกหก

เป็นผู้ละปิสุณาวาจา คืองดเว้นจากการพูดส่อเสียด (พูดยุแหย่ให้เขา แตกร้าวกัน)

เป็นผู้ละผรุสวาจา คืองดเว้นจากการพูดคำหยาบ

เป็นผู้ละสัมผัปปลาปะ คืองดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ (พูดพล่าม พูดมากในเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ)

อริยสาวกผู้งดเว้นได้นั้น ย่อมชื่อว่าให้ความปลอดภัย ความไม่มีเวรกัน ความไม่เบียดเบียนกัน แก่สัตว์โลก อันหาประมาณมิได้

ครั้นให้ความปลอดภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์โลก อันหาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ได้รับ ความปลอดภัย ความไม่มีเวร ความไม่ถูกเบียดเบียน อันหาประมาณมิได้ด้วย

แต่ผู้ที่ไม่งดเว้น กระทำมุสาวาทอยู่ กระทำปิสุณาวาจาอยู่ กระทำผรุสวาจาอยู่ กระทำสัมผัปปลาปะอยู่ เสพแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้ผู้นั้น เป็นไปในนรก ในกำเนิด สัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย

วิบากบาปแห่งการพูดโกหกนี้ อย่างเบาที่สุดแก่ผู้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็คือจะถูก กล่าวตู่ ด้วยคำโกหก

วิบากบาปแห่งการพูดส่อเสียดนี้ อย่างเบาที่สุดแก่ผู้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็คือจะแตก จากมิตร

วิบากบาปแห่งการพูดคำหยาบนี้ อย่างเบาที่สุดแก่ผู้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็คือจะได้ยินเสียง ที่ไม่น่าพอใจ

วิบากบาปแห่งการพูดเพ้อเจ้อนี้ อย่างเบาที่สุดแก่ผู้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็คือจะได้รับ คำที่ไม่ควรเชื่อถือ

๕. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน คืองดเว้น จากการเสพ ของมึนเมาให้โทษ (อบายมุข) อันเป็นที่ตั้ง แห่งความประมาท อริยสาวก ผู้งดเว้นได้นั้น ย่อมชื่อว่าให้ความปลอดภัย ความไม่มีเวรกัน ความไม่เบียดเบียนกัน แก่สัตว์โลก อันหาประมาณมิได้

ครั้นให้ความปลอดภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์โลก อันหาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ได้รับ ความปลอดภัย ความไม่มีเวร ความไม่ถูกเบียดเบียน อันหาประมาณมิได้ด้วย

แต่ผู้ที่ไม่งดเว้น กระทำสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานอยู่ เสพแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้ ผู้นั้น เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย

วิบากบาปแห่งการเสพของมึนเมาให้โทษ(อบายมุข)นี้ อย่างเบาที่สุด แก่ผู้ได้มาเกิด เป็นมนุษย์อีก ก็คือความเป็นบ้า"

จากศีลข้อที่ ๕ นี้ ที่จริงก็คือการให้งดเว้นจากอบายมุขนั่นเอง เพราะอบายมุขนั้นคือ ทางแห่งความฉิบหาย ๖ ประการ ซึ่งหากใคร ไปเสพคุ้นเข้าแล้ว ก็จะได้รับโทษภัย มีวิบากบาป ติดตามมา สร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้น พระพุทธองค์ จึงให้ละเลิกอบายมุขเสีย อย่าไปทำ เพราะทั้งหมด ของอบายมุขพาให้เสื่อมต่ำ ทั้งเสียนิสัย และเสียทรัพย์ โดยทรงชี้โทษ ของอบายมุขเอาไว้ ใน"สิงคาลกสูตร" พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๑๗๘-๑๘๔

โทษของการเสพอบายมุขทั้ง ๖
โทษของการเสพของมึนเมาให้โทษ
๑. เสียทรัพย์
๒. ก่อการทะเลาะวิวาท
๓. เป็นบ่อเกิดแห่งโรค
๔. เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง
๕. เป็นเหตุให้ไม่รู้จักละอาย
๖. เป็นเหตุบั่นทอนกำลังปัญญา

โทษของการเที่ยวกลางคืน
๑. ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตัวเอง
๒. ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาครอบครัว
๓. ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
๔. เป็นที่ระแวงของคนอื่น
๕. คำพูดโกหกในที่นั้นๆ ย่อมปรากฏในผู้นั้น
๖. เหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากเข้ามาแวดล้อม

 

โทษของการเที่ยวดูมหรสพการละเล่น
๑. มีรำที่ไหน ไปที่นั่น
๒. มีขับร้องที่ไหน ไปที่นั่น
๓. มีประโคมดนตรีที่ไหน ไปที่นั่น
๔. มีเสภา(กลอนขับเป็นเรื่องยาว ด้วยจังหวะและดนตรี)ที่ไหน ไปที่นั่น
๕. มีเพลงที่ไหน ไปที่นั่น
๖. มีเถิดเทิง(กลองยาว)ที่ไหน ไปที่นั่น

โทษของการเล่นพนัน
๑. ผู้ชนะย่อมก่อเวร
๒. ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
๓. เสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน
๔. คำพูดของคนเล่นการพนันไปพูดในที่ประชุมฟังไม่ขึ้น
๕. ถูกผู้คนหมิ่นประมาท
๖. ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะนักพนันไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้

โทษของการคบคนชั่วเป็นมิตร
๑. พาให้เป็นนักเลงการพนัน
๒. พาให้เป็นนักเลงเจ้าชู้
๓. พาให้เป็นนักเลงเหล้า
๔. พาให้เป็นคนลวงผู้อื่นด้วยของปลอม
๕. พาให้เป็นคนโกงเขาซึ่งหน้า
๖. พาให้เป็นนักเลงหัวไม้(ตีรันฟันแทง)

โทษของการเกียจคร้านทำงาน
๑. มักอ้างว่าหนาวนัก จึงไม่ทำงาน
๒. มักอ้างว่าร้อนนัก จึงไม่ทำงาน
๓. มักอ้างว่าเวลาเย็นแล้ว จึงไม่ทำงาน
๔. มักอ้างว่ายังเช้าอยู่ จึงไม่ทำงาน
๕. มักอ้างว่าหิวนัก จึงไม่ทำงาน
๖. มักอ้างว่ากระหายนัก จึงไม่ทำงาน

เมื่ออ้างเลศผัดเพี้ยนการงานอยู่อย่างนี้ สมบัติที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น สมบัติที่เกิดแล้ว ก็ถึงความสิ้นไป


นับตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน โทษของอบายมุข ทำร้ายทำลายคน มากมายแล้ว โดยเฉพาะ คนเขลา ที่ประมาทในชีวิต นี่ก็คือผลบาปจากการกระทำผิดศีล ๕ ซึ่งพระพุทธองค์ ได้ตรัสไว้ ชัดเจนแล้ว ส่วนอานิสงส์ อันคือ ผลบุญผลประโยชน์ ของผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบในศีล ๕ ได้นั้น มีตรัสไว้ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ ข้อที่ ๖๙ "เภสัชชขันธกะ" เอาไว้ว่า

"ดูก่อนคหบดีทั้งหลาย ผลบุญผลประโยชน์แห่งการมีศีลสมบูรณ์ของคนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล มีอยู่ ๕ ประการ
ผลบุญ ๕ ประการนี้เป็นไฉน?
๑. คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมได้ทรัพย์สมบัติมาก เพราะเหตุแห่งความไม่ประมาท
๒. คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมมีชื่อเสียงอันดีงามเฟื่องฟุ้งไป
๓. คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ขวยเขินเมื่อเข้าหาหมู่อื่น
๔. คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมไม่ตายไปด้วยความหลงผิด
๕. คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติ(ทางไปดี) โลกสวรรค์(โลกของคนที่มีจิตใจสูง)"

ผลบุญและผลบาปนั้น พระพุทธองค์ตรัสบอกไว้ให้ทราบแล้ว แต่ทุกวันนี้ ชาวพุทธมักไม่
ชัดเจน ในสัจธรรมของพุทธ จึงไม่เกรงกลัวการทำบาป ติดกับดัก ของความโลภ-โกรธ-หลง ได้กระทำผิดศีล ๕ เป็นอันมาก แล้วก็ต้องได้รับผลบาป ตามสนอง ต้องทุกข์ยากลำบาก ต่างๆนานา ท่ามกลาง ดงอบายมุขมหึมา ในแทบทุกหนแห่ง

เมื่อไหร่หนอ......จะมีผู้เข้าถึงสัจธรรมแท้ พากันหันมาถือศีล ๕ กันจริงจัง อย่างสัมมาทิฐิ ถูกทางพุทธ จนสามารถทำให้พบกับ ความสุขแท้จริงของชีวิต กระทั่งมีมวลมากพอ ก่อสังคม ประเทศชาติ ให้สุขสงบ ร่มเย็นได้

ณวมพุทธ
๗ ส.ค. ๒๕๔๕