หน้าแรก >สารอโศก

รำลึกถึง...
แม่บุญมาก สิทธิพันธุ์ กับ พ่อสุเมธ ดีรัตนา

เมื่อเราคุยกันวันสุดท้าย

วันจันทร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๕ ดิฉันเดินทางมาร่วมงานอบรมลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่ชมรม เพื่อนช่วยเพื่อน อ.อินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ตามที่ท่านเสียงศีล ชาตวโร ขอให้มาช่วยงาน อบรมลูกหนี้ ธ.ก.ส. คราวนี้ผู้รับการอบรม มาจากอำเภองาว จังหวัดลำปาง และ จังหวัดสุโขทัย จำนวน ๙๐ กว่าคน

ดิฉันได้คุยกับโยมบุญมาก สิทธิพันธุ์ ซึ่งเป็นโยมแม่ของท่านเสียงศีล ขณะที่ยังอยู่ร่วมงาน อบรมทุกวัน เพราะตื่นเช้าขึ้นมา โยมก็จะนั่งทำอาหาร เพื่อถวายนักบวช เพราะโยมบอกว่า ไม่ได้ยุ่งเกี่ยว กับอาหาร ผู้มารับการอบรม โยมทำถวายแต่สมณะเท่านั้น แม้อวัยวะ ส่วนเท้า ของโยม จะไม่ปกติ เพราะผ่าตัด มาหลายครั้ง ทั้งหัวเข่า สะโพก ขา ดามเหล็กไว้ ส่วนหนึ่ง ก็ไม่ได้ทำให้โยมหยุดอยู่นิ่งๆ ยังคงขยันเหมือนเดิม ดูอาการ จะดีขึ้นกว่าที่เคย มักนั่งรถเข็น คราวนี้โยมเดินเองได้ ไม่ต้องใช้โครงค้ำยัน (walker) ในสายตา ของเรา มีความเห็นว่า โยมมีสุขภาพดีขึ้น

เรายังคุยกันเรื่องเก่าๆ ดิฉันกระเซ้าโยมว่า "โยมบุญมากนี่น่ะ รวยที่สุด รวยกว่าใครๆเลย" แล้วชี้ให้ คุณประคอง ซึ่งเป็นญาติธรรมคนหนึ่ง ที่มาช่วยดูแลบ้านช่อง ช่วยทำอาหารอยู่ประจำ ดูผมโยม "นี่เห็นไหม ทองเต็มหัวเลย ไม่มีใครเหมือน ไม่เคยเห็นผมใครสวยอย่างนี้เลย" สีทองส่งประกาย รัศมีแพรวพราย สวยงามจริงๆ โยมหัวเราะ ด้วยความปลื้มใจ ยินดี ในคำบอกนี้ "ใครจะรวยเท่าโยมไม่มีอีกแล้ว ฟันทองก็น้อยกว่าผมทอง โยมไม่เห็น จะต้องไปทุกข์ เรื่องอะไรอีก มีทองทั้งหัว อย่างนี้รวยที่สุดแล้ว" โยมหัวเราะชอบใจ บอกว่า "จริงๆหรือแม่เณร" แล้วเราก็คุยกันถึงเรื่องวัย เรื่องคนสูงอายุ ที่ชอบกลบเกลื่อนวัย ด้วยการย้อม พอก ทา ไม่น่าหลงผิด ไปทำลายความสง่างามของตนเองเลย

วันต่อมา ดิฉันก็ไปคุยอีกตามจังหวะที่มี บางทีโยมก็นั่งแช่เท้าด้วยน้ำอุ่น เพื่อบรรเทา ความเจ็บปวด "แม่เณรมันปวดจริงๆ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร?" โยมชี้ให้ดูที่เท้าซึ่งบวมอูม โก่งคด หนังตึงเป็นมัน แสดงถึงความอักเสบ โยมบอกว่าขาอีกข้างหนึ่งดามเหล็กไว้ ดิฉันก็ปลอบใจ โยมว่า ขันธ์ก็เป็นอย่างนี้แหละนะ กายิกทุกข์ไม่มีใครหนีพ้น แม้พระพุทธเจ้า คงเป็นเพราะ เหล็กที่ดามไว้ จึงทำให้เลือดลม เดินไม่คล่อง ทำให้บวม เจ็บ ถ้าบรรเทา ด้วยการทาน้ำมัน หรือ อบความร้อน ประคบสมุนไพร ก็คงจะพอทนได้ โยมก็บอกว่า ได้ทำทุกอย่าง ที่บอกมานี่แล้ว แต่ยังปวดเป็นระยะๆ เป็นช่วงๆ

วันอื่นๆอีก โยมนั่งทำอาหารเตรียมถวายพวกเรา โยมทักทายว่า "แม่เณรไปบิณฑบาตที่ไหน? ไกลไหมเล่า? มีคนใส่บาตรไหม? ไปกี่รูป?" ก็เล่าให้โยมฟังว่า ไปอีกฝั่งหนึ่ง ผ่านโรงพยาบาลด้วย มีคนใส่ พอประมาณแหละ

อีกวันหนึ่ง โยมนั่งแช่เท้าในน้ำอุ่น โยมก็ถามดิฉันว่า "แม่เณรแช่บ้างไหมเล่า? เมื่อคืน นอนหลับไหม? อากาศเย็นไหม? พวกนี้บอกให้ฉันไปนอนเป็นเพื่อนแม่เณร แต่ฉันขึ้นบันได ไม่สะดวก" ดิฉันก็บอกโยมว่า ไม่ต้องหรอก ไม่กลัวที่จะนอนคนเดียว ไม่เหงาด้วย โยมไม่ต้องเกรงใจ ไม่ต้องห่วง โยมสบายหรือเปล่า เล่าวันนี้ แล้วเราก็คุยกัน เรื่องสัพเพเหระ โยมเล่าถึง เรื่องน้ำท่วม ว่าเวลาน้ำขึ้น ท่วมถึงเสานี่เลย เหลือแต่ แผ่นกระดานชั้นบน ข้าวของ เสียหายเยอะแยะ ไม่ท่วมมา ๒-๓ ปีแล้ว ค่อยยังชั่วหน่อย

แต่ละวันมีแต่ละเรื่องที่จะคุย เมื่อพูดถึงเรื่องความเก่าสมัยที่เราชักขบวนจาริกมาพักที่นี่ โยมยิ้มหัวเราะ อย่างมีความสุข ปีติ เสมือนหนึ่งภาพนั้น ยังประทับอยู่ในใจ โยมบอกว่า คิดถึงแล้วยังชื่นใจเลย เหมือนดัง เพิ่งผ่านไป เร็วๆนี้เอง ดิฉันบอกโยมว่า แม่น้ำตื้นเขิน ขึ้นเยอะนะ ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่เราเคยมาพักที่นี่ แล้วโยมก็เล่า ให้คุณประคองฟังว่า นี่แหละ แม่เณรนี่บวชก่อน ท่านชาตะอีกนะ เป็นแม่เณร รุ่นเก่าจริงๆ ฉันนึกถึงสมัยนั้นแล้ว ยังปลาบปลื้มไม่หาย เพราะคนมาคุยธรรมะกัน เยอะจริงๆ ทั้งวันทั้งคืน ปักกลด อยู่ในสวน สมุนไพร จุดไฟกระบอกไม้ไผ่ อาศัยเป็นแสงสว่าง ดูสงบเย็น ขลังศักดิ์สิทธิ์จริงๆ เดี๋ยวนี้ ไม่มีใครรู้จัก "พันธุ์อโศก" กันแล้ว ดิฉันก็รับรอง คำบอกของโยมว่า ใช่ นี่แหละคือ พันธุ์อโศก ที่นี่เป็นแหล่ง เพาะพันธุ์ธรรมะ ในรุ่นแรกๆ เหมือนกับ บรรณอโศก, สวนอโศก ที่เลือนรางไปจากความทรงจำ สลายไป จากคำบอกเล่า ตามกาลเวลา

โยมบอกปรารภเรื่องที่ดิน ที่บ้าน อาคารร้านค้าด้านนอก และบอกว่ามีแต่ยายแอ๊วนี่แหละ ที่พึ่งพากันได้ ช่วยเป็นภาระ รับดูแล ต้องคอยวิ่งเต้น มาเสียภาษี ซ่อมแซม หรือปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติม เช่นวันนี้ เขาก็มาดูหลักเขต ฉันก็ต้องไปชี้ ให้เขาอีกครั้ง เพื่อเขาจะได้รู้ว่า อยู่ตรงไหน เราต้องทำไว้ก่อน ให้เรียบร้อย เพราะถ้าไม่มีฉันแล้ว เขาจะได้ไม่ต้อง เดือดร้อนกัน คนเราไม่แน่นอน มีฉันอยู่ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มีฉันแล้ว จะยุ่งยาก ฉันจึงอยากทำหลักฐาน ให้ชัดเจน สำหรับเป็นเครื่องตัดสิน

โยมบอกว่าที่ดินมีอยู่ตรงนี้ ไปถึงตรงโน้น หน้าซอยก็มี เพิ่งขายไปหน่อยหนึ่ง ให้ร้านทำขนมเปี๊ยะ เพราะเขา ขอซื้อ ต้องปักหลักเขตใหม่ และร้านข้างนอก ก็ต้องทำสัญญาให้ชัดเจน ฉันจะได้หมดห่วง

เรายังคุยกันถึงเรื่องการดีดบ้านให้สูงขึ้นอีกได้ ที่เห็นจากบ้านในชุมชนปฐมอโศก แต่โยมบอกว่า คิดจะทำ อย่างนั้น อยู่เหมือนกัน แต่เสามากเหลือเกิน คนทำไม่ไหว และคงหาคนทำยาก บ้านหลังนี้ตั้ง ๖๐-๗๐ ปีมาแล้ว โยมเห็นมา ตั้งแต่เด็ก

วันที่ ๘ ส.ค. โยมยังมาดูรายการแสดงของผู้มาอบรมด้วย โดยมีหลานชาย เข็นรถมาให้ เรานั่งดูกัน จนเกือบจะเลิก แต่ยุงค่อนข้างชุมขึ้นๆ โยมจึงไปนอนก่อน ๓ ทุ่ม วันนี้เป็นวันพระ ๑๕ ค่ำ ประเพณีท้องถิ่น ไม่มีการบิณฑบาต โยมยังคุยกับดิฉันตอนเช้า ขณะที่ดิฉันเอาฟักทอง ลูกเล็กๆน่าเอ็นดู ซึ่งใครก็ไม่ทราบ เก็บมาวาง ไว้บนเก้าอี้ ไปให้โยม กับบวบเหลี่ยม ในตะกร้า โยมบอกว่าแม่เณร ทำอะไรดีล่ะ? ต้มจิ้มน้ำพริก ดีไหม?

ดิฉันตอบว่า แล้วแต่โยมก็แล้วกัน จะทำอะไรก็ได้

ตอนสาธิตทำอาหารภาคบ่าย โยมยังดื่มน้ำเต้าหู้ กับปาท่องโก๋อยู่ที่ในครัว แล้วบอกดิฉันว่า "แม่เณร ฉันน้ำเต้าหู้ได้ไหม? เขาทำอร่อยนะ ใหม่ๆด้วย ปาท่องโก๋ก็กรอบดี" ดิฉันปฏิเสธ แล้วก็นั่งคุยอะไรกัน เล็กน้อย โยมบอกดิฉันว่าดีใจมาก ที่แม่เณรมาช่วย อยากให้มาทุกครั้ง อยากให้แม่เณรอยู่นานๆ อยู่กันหลายๆคนอบอุ่นดี

โยมดีใจมาก ยิ้มแย้มแจ่มใสชอบใจ เมื่อดิฉันรับคำ

วันศุกร์ที่ ๙ ส.ค. ๔๕ หลังรายการทำวัตรเช้า ให้กับลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่มาอบรมแล้ว ก็บิณฑบาต ในบริเวณบ้าน โยมยังถามดิฉันว่า "แม่เณรจะรีบฉันหรือ?"

ดิฉันก็บอกว่า ท่านชาตะบอกว่าให้รีบฉัน เพราะจะต้องไปร่วมกิจกรรมอำลา และให้พรก่อนจากอีก วันนี้โยม ต้องเร่งมือ อาหารหน่อยละ

หลังจากกราบลาสมณะแล้ว ดิฉันก็เรียนท่านว่า ดิฉันจะเข้าสันติฯก่อน เพราะมีงาน ต้องไปช่วยเขาที่นั่น

บอกลาโยมบุญมากว่าต้องไปก่อนนะ โยมบอกว่าแล้วมาอีกนะ มาช่วยกันอีกนะ โยมก็พนมมือไหว้ ตามอง ตามดิฉัน จนกระทั่ง เปิดประตูรถ เข้าไปนั่งแล้ว โยมก็ยังพนมมือ อยู่อย่างนั้นมองตามดิฉันไป ดิฉันยังรู้สึกว่า โยมนี่ศรัทธาจริงๆนะ

วันเสาร์ที่ ๑๐ ส.ค. ๘.๐๐ น. ตอนเช้าได้ข่าวคนบอกว่า โยมบุญมากเสียชีวิตแล้ว ดิฉันต้องย้ำถามว่า ฟังผิดหรือเปล่า? ฟังผิดไปมั้ง? เขาก็ย้ำว่าใช่ ได้ยินสมณะ ประกาศ อย่างนั้นจริงๆ ดิฉันก็ว่า ดิฉันเพิ่งมา จากบ้านโยม คุยกับโยมอยู่ เมื่อวานนี้เอง เธอไปถามที่ห้องเท็ป ให้รู้เรื่อง โทรไปที่ธรรมทัศน์ ถามคุณแอ๊วด้วย เขากลับมา บอกซ้ำคำเดิม

ดิฉันจึงโทรฯไปหาท่านชาตะที่อินทร์บุรี ถามเรื่องการจัดการศพ ท่านบอกว่าโยมแม่เสีย ตอนทุ่มหนึ่ง ของวันที่ ๙ ส.ค. ท่านก็นั่งอยู่ด้วย ยังไม่ได้นอน แล้วขณะที่ขอดื่มน้ำ ก็เกิดอาการสะอึก บีบนวด ก็ไม่ฟื้น นำไปปั๊มพ์หัวใจ ที่โรงพยาบาล ก็ไม่สำเร็จ

เป็นอันว่าโยมบุญมากหมดลมหายใจ สิ้นชีวิตอำลาจากโลกนี้ไปแล้วจริงๆ ทำให้ดิฉันเกิด ธรรมสังเวช อย่างยิ่ง อดคิดถึงกลอน บทหนึ่งไม่ได้ว่า

"เมื่อตอนเช้าเคล้าชื่นระรื่นรส พอสายหมดลมลับลงดับขันธ์
เมื่อตอนสายร่วมสนุกสุขด้วยกัน ตอนบ่ายพลันชีวาตม์ลงขาดรอน
เมื่อตอนบ่ายรายล้อมพร้อมหน้าญาติ พอเย็นขาดชีวาลงคาหมอน
เมื่อตอนเย็นเล่นสนุกไม่ทุกข์ร้อน พอค่ำลงม้วยมรณ์อนิจจัง"

ดิฉันยังจำภาพของโยมได้ติดตรึงตา ร่างท้วมๆยิ้มเย็นๆพูดเรื่อยๆ ศรัทธาคงมั่นหนักแน่น ยืนนาน สม่ำเสมอ แม้ดิฉัน จะเป็นเพียงสิกขมาตุ แต่โยมก็ให้ความเคารพ นับถือเสมอกับลูกชาย สังเกตได้จาก ตอนดิฉันป่วย โยมจะจัดปิ่นโตอาหาร มาให้ทุกวัน จนกระทั่ง เราเกรงใจ บอกโยมว่าไม่ต้องหรอก โยมอายุมากแล้ว ดิฉันก็มีผู้จัดให้อยู่ ไม่อยากให้เป็นภาระ โยมบอกว่าไม่เป็นไร โยมพอใจจะทำ อยากให้สิกขมาตุฉัน ได้มากๆ บอกเถอนะ ขาดเหลืออะไร อะไรที่ฉันทำได้ จะทำให้ จะได้หายเร็วๆ โยมจะได้กราบไหว้ สนิทใจ อย่างเต็มใจ ทุกครั้ง เมื่อเราเจอกัน

หากโยมหายไป สมัยที่โยมยังมาบ้าน ที่ติดกับฟ้าอภัยบ่อยๆ ดิฉันจะถาม จันทร์ราตรีว่า โยมไปไหน อยู่ที่ไหน ครั้งหนึ่ง ทราบว่า โยมเข้าโรงพยาบาล ที่อินทร์บุรี ก็ขออาศัย เขาไปเยี่ยม โยมดีใจมาก บอกว่า สิกขมาตุ อุตส่าห์มาเยี่ยม นึกไม่ถึงจริงๆ แล้วหลังจากนั้น โยมก็จะส่งของแห้ง ฝากลูก หรือฝากญาติธรรม ไปให้ดิฉัน บอกว่าสิกขมาตุ อุตส่าห์มาเยี่ยมฉัน ที่โรงพยาบาล

แม้ที่โยมเคยไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช ๒ ครั้ง เวลาดิฉันไปเยี่ยม โยมจะดีใจมาก และขอให้อยู่นานๆ ยิ้มแย้ม หัวเราะ คุยกันได้ดิบดี ประหนึ่งความป่วยจะหายไป เมื่อกลับมาอยู่บ้านตามปกติแล้ว เมื่อดิฉันคุยกัน ถึงเรื่องแม่ดิฉัน ที่เสียชีวิตไปแล้ว ว่าชอบทำขนมในเวลาวันหยุด โยมบุญมากก็เช่นกัน ต้องเตือนให้ระวัง เรื่องน้ำตาล โยมก็รับฟังด้วยดี และเมื่อฟังเราเล่า ถึงเรื่องตอนเด็กๆ แม่ของเรา ทำอาหาร อย่างไร โยมก็จะทำมาให้ดิฉัน เช่น ข้าวเหนียวกระทะ ไม่ต้องนึ่ง ไม่ต้องมูล หุงด้วยกระทะ สุกไปเลย โยมก็ทำได้เหมือน แกงป่าแบบปักษ์ใต้ โยมก็ทำได้ โดยเราไม่รู้เลยว่า โยมคอยจับ จากที่เราเล่าให้ฟัง แล้วก็นำ มาทำให้ เพราะคิดว่า เรายังติดใจอยู่ จนเราต้องไป บอกขอบใจ และให้หยุดทำ เพราะโยม จะลำบากเกินไป แต่โยมก็บอกว่า ทำแล้วสบายใจ อยากทำให้ฉัน

นี่แหละโยมบุญมาก สิทธิพันธุ์ โยมอุปถัมภ์ที่ดิฉันอดระลึกด้วยความอนุโมทนา ซาบซึ้งใจไม่ได้ เพราะสิ่งที่ โยมแสดงต่อเรา ไม่ต่างไปจาก น้ำใจของแม่ ที่ทำให้กับลูกตัวเอง

ยิ่งตอนที่ดิฉันกำลังเดินธุดงค์อยู่ เมื่อครั้งขออนุญาตพ่อท่านไปโดยลำพัง ผ่านมาทาง อินทร์บุรี โยมบุญมาก ก็ยังอุตส่าห์คอยดูอยู่ เมื่อดิฉันเดินมาถึง ปากทางเข้าอินทร์บุรี โยมก็ถือปิ่นโต ตะกร้าใส่ของ รออยู่ฝั่งถนน ตรงกันข้ามแล้ว โยมนำอาหารมาถวาย บอกว่ากลัวจะไม่มีอะไรฉัน เราก็นั่งฉันกัน ตรงที่ศาลา ข้างถนน นั่นเอง แล้วจึงออกเดินต่อไป (ปี ๒๕๒๐)

ครั้งนั้น ดิฉันคิดไม่ถึงเลยว่าจะมีโยมคนใดสนใจเรา จะมีโยมคนไหนมาคอยเป็นห่วงเรา จะมีโยมคนไหน จะศรัทธาเรา ถึงขนาดนี้ ประหลาดใจ แปลกใจมากๆ ที่โยมบุญมากคือคนคนนั้น ถามโยมว่า รู้ได้อย่างไรว่า ดิฉันจะเดินมาทางนี้ โยมก็บอกว่ารู้สิ คอยดูอยู่ทุกวัน ตั้งใจว่าถ้าผ่านมาถึงตรงนี้ จะเอาอาหารมาถวาย แล้ววันนี้ ก็ได้เจอสมใจ (ในใจดิฉันคิดว่า โยมคงจะคอยอยู่หลายวัน)

วันสุดท้ายจริงๆ ที่เราได้พบกัน
ครั้งสุดท้ายจริงๆ ที่เราได้คุยกัน

โยมคงจะจากไปด้วยความเป็นสุข เพราะโยมดีใจ ที่การอบรมลูกหนี้ ธ.ก.ส. รุ่นที่ ๑๒ ครั้งนี้ มีสมณะ มีสิกขมาตุ มีญาติธรรม กลุ่มโรงเรียนผู้นำ มามากมายคับคั่ง โยมบอกดิฉันว่า ไม่เคยมีสมณะ สิกขมาตุ มาอยู่หลายรูป และอยู่ครบตลอดจนการอบรมสิ้นสุดลงเหมือนครั้งนี้เลย คนที่รับอบรมเขาก็ดีใจนะ ดูสิแม่เณร ทำให้ดูดีนะ แม่เณรต้องมาช่วยอีกนะ ช่วยท่านชาตะหน่อย โยมย้ำอีก เพื่อขอคำสัญญา ดิฉันต้องบอกว่าช่วยแน่ๆ

บุญที่โยมสร้างสม บุญที่โยมทำด้วยความตั้งใจเต็มใจ ย่อมเป็นปัจจัยทำให้โยมจากไปด้วยความไม่ยุ่งยาก ทุกข์ทนยากเย็น พันธุ์อโศกที่โยมประสงค์ จะแผ่ขยายไปตามกาลเวลา เป็นอนุสรณ์ ไว้ในโลก ตามที่โยม ปรารถนา ดิฉันขออนุโมทนา ในสิ่งที่โยมกระทำมา ทุกประการเหล่านั้น

เดินทางไกลมามากจากวันเริ่ม "บุญมากŽเพิ่มก่อกูลพูนมรรค-ผล
"สิทธิพันธุ์" อุปัฏถัมภ์น้อมนำคน อย่างอดทนผ่านช่วงกาลนานหลายปี
มอบ"ชาตรีŽปุตโต"ให้เมื่อใจเกิด ศรัทธาเลิศด้วยตระหนักในหน้าที่
ของมารดา-อุบาสิการ่วมสร้างบารมี อุทิศพลีให้ "อโศก" ช่วยโลก-ธรรม
หมดวาระ หมดห่วงใย หมดใจจาก "แม่บุญมาก" วางมือลาคราดับขันธ์
๙ สิงหา หทัยหยุดสิ้นสุดกัน รับบุญอันมากมายจวบปลายทาง
พวกเรามาช่วยรำลึกนึกถึงคุณ เคยเจือจุนแผ่เผื่อไปใจกว้างขวาง
อนุสรณ์ครั้งสุดท้ายหลังวายปราณ ดวงวิญญาณสถิตมั่นชั้นอุดร

มอบให้แก่ โยมบุญมาก สิทธิพันธุ์
อุบาสิกาผู้ล่วงลับ ๙ ส.ค. ๒๕๔๕


วันเมื่อยังดีอยู่
เช้าของวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๕ เวลาประมาณ ๐๖.๓๐ น. เราก็ได้รับข่าวใหม่อีกข่าวหนึ่ง โยมสุเมธ ดีรัตนา ก็เสียชีวิตลงอีกคนหนึ่ง หลังจากที่นอนป่วยอยู่ ๒-๓ ปี ทำให้ดิฉันระลึกนึกถึง เรื่องที่คุยกับ โยมบุญมาก ได้ท้าวความถึง ญาติธรรมผู้สูงอายุ หลายๆคน โยมสุเมธ เป็นคนหนึ่ง ในบรรดาผู้ที่ดิฉันคุย ให้โยมบุญมากฟัง ว่าโยมสุเมธ ป่วยมานานแล้ว ต้องเจาะท้อง พูดไม่ได้ เดินไม่ได้ ฯลฯ โยมบุญมาก ยังฟังอย่างตั้งใจ แล้วพูดว่า เป็นมากนะ ฉันไม่รู้ว่า เป็นมากอย่างนั้น แล้วเราก็พูดถึงเรื่อง ความไม่แน่นอน ของชีวิตกันต่อ

ไม่นึกเลยว่าโยมสุเมธ จะเดินทางกลับไล่ๆกันกับโยมบุญมาก

ปกติโยมสุเมธ จะเป็นอุบาสกที่สุภาพเรียบร้อย มีสัมมาคารวะต่อนักบวชดี อ่อนน้อมถ่อมตน เวลาที่ดิฉัน ไปเยี่ยมเยียนทีไร ก็จะยิ้มแย้ม แจ่มใส จะต้องกราบอย่างงามๆ ไม่ยอมรับการขอร้อง ของเราว่า ไม่ต้องลุก จากเตียงหรอก ลำบากเปล่าๆ

โยมสุเมธ เป็นคนรักเรียน ชอบศึกษาหาความรู้ ละเอียดลออ ประณีตในการดำรงชีวิต ลักษณะเป็นคนร่าเริง รับผิดชอบ มนุษยสัมพันธ์ดี ครองเรือนครองตนได้ดี เป็นที่รักของชาวชุมชน ปฐมอโศก เพราะเป็นรุ่น บุกเบิก ของที่นี่

ฉะนั้น โยมจึงเป็นผู้หนึ่งที่ผู้ยังมีชีวิตอยู่รู้สึกเสียดาย แม้จะศึกษาธรรมะมาแล้วว่า ชีวิตเหมือน พยับแดด ไม่คงทน แน่นอน ประดุจภาชนะดิน ที่ย่อมแตกหัก ไปในที่สุด ก็ตาม

จึงเป็นธรรมานุสติให้พวกเราระลึกบ้างว่า
คนบางคนไม่ยอมตาย ทั้งที่ถึงเวลาจะตายแล้ว
คนบางคนก็ยอมตาย ทั้งที่ยังไม่สมควรตาย
แต่...จะยอมหรือไม่ยอม ก็ล้วนต้องตายทุกคน
ที่สำคัญ คือ จิตที่ยอม จากการฝึกฝน อบรมจิตให้ยอมอย่างดีแล้ว
คือ จิตที่รู้จักยอม อย่างเป็นสัมมาทิฐิ สัมมาอริยมรรค
คนคนนั้นจะตายแล้ว หรือยังอยู่ ล้วนคือ ผู้เข้าถึงความตายอันประเสริฐ

โยมสุเมธ เคยดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการกองทัพธรรมมูลนิธิ หลายครั้งหลายหนที่มี
เอกสารด่วน ต้องลงนาม และไม่สะดวกที่จะติดต่อกับ
ประธานกรรมการ โดยตรง โยมสุเมธ ซึ่งมีบ้านพักอาศัย อยู่ใกล้ที่สุด คือที่ซอย สุวรรณประสิทธิ์ จึงสะดวก ที่จะให้ลงนาม และขอความคิดเห็น ในเรื่องที่ต้องดำเนินการ เกี่ยวกับองค์กร เกือบทุกครั้ง ที่ติดต่อไป โยมจะมาพบ และดำเนินการ ในเรื่องนั้นๆ โดยขี่จักรยาน มาถึงอาคาร สัมมาสิกขา สันติอโศก และเดิน ขึ้นมา ถึงชั้น ๓ วัยในช่วงนั้น ก็ขึ้นเลขเจ็ดแล้ว แต่โยมก็ขึ้นมาพบ ด้วยท่าทาง กระฉับกระเฉง ไม่ต้องนั่งพัก ด้วยซ้ำ มีอะไรเกี่ยวกับเรื่ององค์กร ก็ยื่นให้พิจารณา และ ลงนามเลย ยังเคยกล่าวกับโยมว่า อายุมากแล้ว พักก่อนก็ได้ โยมเป็นหนุ่มน้อยแล้วนะ โยมกลับบอกว่า เดี๋ยวก็จะขึ้นรถเมล์ ไปปฐมอโศก ก็ไปๆมาๆ อย่างนี้ครับ มาแค่นี้ไม่เป็นไร

อายุอานามปาเข้าเลขเจ็ด แทบไม่เชื่อสายตาตัวเองเลยว่า ดูโยมแข็งแรงและมีไฟ ในการทำงาน เสมอ ที่ต้องรีบไปปฐมอโศกในช่วงนั้น เพราะจะต้องไปต้อนรับ ชาวต่างประเทศ ที่มาเยือน และชมชุมชน จึงเป็นมัคคุเทศก์พาชม และแนะนำชาวต่างชาติ ให้รู้จักปฐมอโศก โดยในครั้งอดีต ทราบว่า โยมได้รับ รางวัลโนเบล ในสาขาสันติภาพอีกด้วย และทำงานใน องค์การสหประชาชาต

ที่ ๑๒ สิงหา คราลาจาก เป็นวันพรากของคนดีอีกคนหนึ่ง
นามสุเมธŽญาติธรรมควรคำนึง มารำพึงพร้อมหน้ากันในวันนี้
เป็นคนเก่าผู้สูงวัยที่ใจกล้า หาญเข้ามาร่วมหนุนธรรมไม่หันหนี
ชื่อตระกูล สมว่าแก้วแววมณี นี่คือดีรัตนาŽ เลิศประเสริฐจริง
เป็นพ่อดี สามีดี ที่มีศีล เป็นอุบาสกดี ที่ยอดยิ่ง
เป็นชาวพุทธที่สัมมาน่าพักพิง เป็นทั้งมิ่งขวัญชุมชนอุดมการณ์
ตั้งจิตว่าจะอุทิศชีวิตให้ อโศกไซร้แพร่ขยายให้ไพศาล
ยามชีพอยู่จนขึ้นสู่จิตกาธาน ดวงวิญญาณ นิ่งสงบ จบสิ้นเอย

มอบให้แด่ โยมสุเมธ ดีรัตนา
อุบาสก ผู้ล่วงลับ วันที่ ๑๒ ส.ค. ๒๕๔๕

ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า บทความนี้คงไม่สมบูรณ์ หากไม่ได้สรุปความเห็น ไว้ ณ ที่นี้ว่า เป็นความอัศจรรย์ ประการหนึ่ง ที่เกิดขึ้นแล้ว ในพุทธศาสนานี้ คู่อุบาสก-อุบาสิกา ในหมู่ชาวเรา ประหนึ่งดั่ง "คู่อุปัฏฐากอันเลิศ" เป็นคู่สร้างบุญ เสริมบารมี ร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อความขยาย กว้างใหญ่ไพศาล แก่ธรรมะ ของพระพุทธองค์ คือ สัมมาอริยมรรค อันประเสริฐนี้

แม่บุญมาก สิทธิพันธุ์ อุบาสิกา ผู้เลิศในการอุปัฏฐาก อนุเคราะห์ด้วยปัจจัย ๔ อันเป็นสิ่งจำเป็น ในการอาศัย เพื่อการยังอยู่ ของร่างกาย เพื่อบำเพ็ญบารมีต่อๆไป

พ่อสุเมธ ดีรัตนา อุบาสกผู้เลิศในการปฏิสันถาร อนุเคราะห์ด้วยสติปัญญา อัธยาศัยอันดีงาม ต้อนรับ ผู้ที่ได้มาแล้ว ให้เกิดศรัทธา เลื่อมใส ยิ่งๆขึ้นต่อๆไป

นี่แหละคือคู่อันเป็น "มงคล" อันนำความงดงาม "วิไล" มาสู่ธรรมสภานี้

เพราะเคยได้อ่านคำตรัสที่พระพุทธองค์กล่าวไว้ว่า "ผู้ให้สิ่งอันเลิศ ย่อมได้รับสิ่งอันเลิศ
ผู้นอบน้อมบูชาแก่ผู้สมควรบูชา ย่อมได้รับการบูชา"
ดังนี้

- สม.มาบรรจบ เถระวงศ์ (บันทึกวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๕)

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๑ สิงหาคม ๒๕๔๕)