มีแต่ผู้รู้จักชีวิตและรู้จักเมตตาอย่างเป็นสัจจะเท่านั้น
จึงจะรักและเมตตาต่อชีวิตสัตว์อื่นได้อย่างจริงใจ
มีแต่ผู้ศึกษาเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมอย่างแจ่มแจ้งเท่านั้น
จึงจะไม่กล้าโหดร้าย เบียดเบียน ทำร้าย ทำลายชีวิตสัตว์อื่น
เพราะเขารู้สัจจะ นั่นคือ การทำร้าย ทำลายชีวิตของตนเองอย่างโหดร้ายเช่นกัน
เพราะเขารู้สัจจะว่า ทุกสิ่งที่ได้รับ คือสิ่งที่เรากระทำลงไป
เพราะเขามีความเชื่อว่า กรรมมีจริง วิบากกรรมมีจริงส่งผลจริง
ความรู้สัจจะทั้งหมดนี้
มีอยู่แล้วในโลก
อันคือ สัจธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่า ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว
แต่ชาวพุทธส่วนใหญ่ไม่รู้ ไม่รับรู้
ชาวพุทธส่วนใหญ่ จึงยังกระทำการเหี้ยมโหด ทั้งต่อชีวิตผู้อื่นและสัตว์อื่น
อย่างหลงผิด หลงระเริง และคึกคะนอง
ก่อบาปเวรภัยอยู่แล้วๆ เล่าๆ ไม่รู้หยุด
เมื่อเมืองพุทธขาดเมตตาธรรม
โลกทั้งใบจึงระอุด้วยไฟแห่งสงคราม
การฆ่าทำลายล้างกำลังเกิดขึ้น ไม่มีทางอื่นที่จะหลีกเลี่ยงอีกแล้ว
นอกจาก บนเส้นทางสายนี้ จากบทสัมภาษณ์พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ เรียกเมตตาธรรม
กลับคืนมาให้ได้ ทั้งกายกรรม วจีกรรม และเข้าถึงมโนกรรม อย่างจริงแท้ ณ บัดนี้...
ถาม
การทำมหาทานกับการทานอาหารมังสวิรัติ มีความสัมพันธ์กันหรือไม่คะ?
ตอบ ความหมายของคำว่า "มหาทาน"
มีความหมายลึกซึ้ง เข้าไปถึงการทาน ในระดับลึก หรือระดับ ที่ยิ่งใหญ่กว่า
ทานธรรมดา คือ ให้สมบัติ ให้วัตถุ ให้ข้าวของ ซึ่งเมื่อเป็นทาน
ที่สูงขึ้นไปแล้ว ก็เป็นทานระดับที่ลึก เข้าไปถึงขั้นชีวิต เพราะฉะนั้น ในการกินอาหารมังสวิรัติ
หมายถึง การให้ทานชีวิต เพราะเราไม่เอาชีวิตเขา ก็เท่ากับปลดปล่อยชีวิต ให้เขาเหมือนกัน
การที่เราไม่กินเนื้อเขา ไม่กินเนื้อสัตว์
เราก็ไม่ฆ่าสัตว์ หรือมีส่วนช่วย ไม่ให้เกิดการฆ่าสัตว์ เรียกว่า
เราอโหสิ หรือเราเมตตา มีน้ำใจไม่ทำร้าย ทั้งๆที่เราไม่มีสิทธิ
ฆ่าชีวิตของใคร โดยสัจจะ แต่คนก็ขี้โกงว่า ตนมีสิทธิทำได้ เพราะคนมันอำมหิตกว่า
มันหยาบคายกว่า มันเลวกว่า มันเก่งกว่า มันก็ฆ่าสัตว์ได้ เอามากินเลย แต่เราไม่ทำ
และยังเกื้อกูลอีกด้วย จึงพูดได้ว่า เป็นมหาทาน หรือเป็นการทานชีวิตทีเดียว
นอกจากเรื่องการทานเบื้องต้น ทานวัตถุ
ทานสมบัติแล้ว เราควรจะเกี่ยวถึง จิตวิญญาณด้วย การละเว้น แต่เฉพาะกายกรรม
วจีกรรมข้างนอก มันก็เป็นกรรม เป็นสิ่งดีอันหนึ่ง ในขั้นต้น แต่ในขั้นลึกซึ้งแล้ว
มันควรจะให้ถึงจิตใจ ทานวัตถุก็ต้องให้เข้าถึงจิตใจจริงๆ สละจริงๆ เป็นการเกื้อกูล
เป็นการเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นจริงๆ เพราะฉะนั้น การให้ทานชีวิต เราก็ควร จะมีจิตใจด้วยว่า
ไม่ใช่การไม่กินเนื้อสัตว์ แล้วก็ข่มฝืน อยากฆ่าอยากกิน เหมือนกัน อยากเอาเจ้าตายเหมือนกัน
เพียงแต่เราฝืนข่มเฉยๆ มันก็ยังไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น
การให้ทาน ต้องหมายถึง ทานทางจิตวิญญาณ คือใจต้อง"ให้"ด้วย ต้องอ่านอาการ
ของจิตใจออก ว่าเราให้คืออย่างไร เราหวงคืออย่างไร เป็นต้น ซึ่งในตระกูลของโลภ
โกรธ หลง นั่นแหละ มีหยาบ กลาง ละเอียด มากมาย หลากหลายลีลายิ่งนัก เราต้องหัด
ละล้าง อาการเหล่านั้น จนหมดรูปร่าง หมดอาการของมัน จนไม่มีอาการเลย เรียกว่า
หมด"ตัวตน" จนกระทั่ง รู้จักปล่อยวาง
ให้หมดตัวหมดตน นี่เรียกว่า "อภัยทาน"
ซึ่งลึกซึ้ง ขั้นนามธรรม สูงกว่า "วัตถุทาน" และ ที่สูงกว่าขั้น
"อภัยทาน" ขึ้นไปอีก ก็คือ ขั้น "ธรรมทาน"
ซึ่งก็มีหยาบ กลาง ละเอียดอีกมากมาย ธรรมขั้นสูงที่สุด คือ
"ทานตัวเอง" หรือปล่อยวาง ตัวตนของตัวเอง
สุดท้ายนี้ ท่านไม่ใช้คำว่า อัตตาแล้ว
แต่ใช้คำว่า มมะ อันนี้เป็นธรรมทาน ขั้นสุดยอด ที่จะเป็น
อรหัตตผล คือ ไม่ยึดเอาอะไรไว้เป็น"ของเรา"เลย แม้แต่"ความดี"
ก็ปล่อยวาง ไม่ยึดว่าเป็น "ของเรา" หรือเป็น"เรา"
ขั้นนี้แหละ ท่านไม่ใช้คำว่า "อัตตา"แล้ว
ท่านใช้คำว่า "มมะ" นี่คือ
ทานขั้นสูงสุดยอด เป็นธรรมทานระดับ อันติมะ ทั้งๆที่ความดีนั้น ก็เป็นของเรา
อย่างเป็นสัจจะ เพราะเราทำจริง บริสุทธิ์บริบูรณ์จริง แต่ก็ต้อง "ไม่สำคัญว่าความดีเป็นเรา"
เป็นขั้น
ปล่อยวาง ขั้นสุดท้ายปลายยอด ไม่เอาไว้เป็น "เรา" (มมะ) จึงเป็นการทาน
หรือให้ไป อย่างหมดสุด แห่งที่สุด แม้แต่ "นิพพานก็ไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นเรา"
อย่างนี้ เป็นสุดยอดจริงๆ
จึงควรชัดเจน เพราะแม้แต่คำว่า "สำคัญมั่นหมาย"ในขั้นนี้
มันไม่ใช่ "สัญญา" แล้วนะ สัญญา
แปลว่า การกำหนดรู้ มั่นหมายตรงนั้นให้ชัด สูงกว่าสัญญาขึ้นไปอีก ก็คือ อย่าไปสำคัญ
มั่นหมาย ที่ท่านใช้คำว่า "มัญญติ" มันลึกมันสูงกว่าคำว่า สัญญาแล้ว
"สัญญา" นั้นคือ การกำหนดรู้ แล้วไปยึดสำคัญมั่นหมาย ติดอยู่อย่างนั้นไม่ได้
แต่ต้องปล่อยวางอีกที กำหนดรู้แล้ว ยังต้องเห็น หรือรู้สำคัญมั่นแม่น ลงไปยิ่งกว่านั้นอีก
เรียกว่า "มัญญติ" และ สุดท้าย ไม่สำคัญ (น มัญญติ) ว่าเป็น "เรา"
(มมะ) แม้แต่นิพพานดังนี้ นี้เป็นทานสุดยอด อันติมะ ของสภาวะธรรมด้วย ซึ่งลึกซึ้ง
ซับซ้อนละเอียดมาก
ถาม
โดยนัยะที่กล่าวมานี้ การไม่บริโภคอาหารเนื้อสัตว์ สามารถช่วยให้เป็น พระอรหันต์
ได้อย่างไรคะ ?
ตอบ ได้อรหัตผลในเรื่องนี้ โดยเรียนรู้การละกิเลสจนถึงอุปกิเลส
สุดท้าย ไปตามลำดับ ตั้งแต่หยาบ ที่มีจิตเป็นอกุศล อยากฆ่าสัตว์ และ ยังอยากกินเนื้อสัตว์
จนกระทั่ง นอกจาก ไม่ฆ่าแล้ว จิตก็ไม่อยากฆ่า นอกจากไม่อยากฆ่าแล้ว
ก็ยังไม่อยากกิน ซึ่งก็คือ ลดความอร่อย ของความติดยึดในรสชาติ หรือ อัสสาทะของมัน
และละกิเลส ตัวที่ยังอยาก ละอุปาทาน ที่ยังติดยังยึดอยู่ ที่อยากก็เพราะ
ติดรสนั่นแหละ ถ้าไม่ติด รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ที่เป็น กามราคะ กามตัณหา
โดยสามารถจับ "ตัวตน" ของกิเลสได้ และมีวิธีปฏิบัติ ลดละมันได้
มันก็จะลดกิเลส ตัวนี้ลงไป จนกระทั่ง อัสสาทะ หรือ รสอร่อย ก็จะจางลงไปด้วย
เพราะเมื่อ แก้ถูกจุด ก็จะว่าง มีการปลดปล่อย มีอาการของจิต ที่ลดพยาบาท
ลดโกรธแค้น ลดเคือง ลดความที่ยังฝืน ยังมีการอยากทำร้าย อยากทำลาย อยากจะทำอะไร
ที่ไม่ดี นอกจาก ไม่อยากทำ สิ่งที่ไม่ดีแล้ว ก็ยังมีความเมตตา ความเอื้อเฟื้อ
มีความเห็นแก่เขาจริงๆ เป็นสภาวะ ของจิตจริงๆ
ผู้ศึกษาธรรมะที่เป็นปรมัตถ์ของพระพุทธเจ้าแล้ว
จะอ่านจิตใจของตนได้หลายขั้น ทั้งขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด ขั้นลึกซึ้งจนถึงขั้นดีสุดยอด
และสุดยอดที่สุดจริงๆ นั่นก็คือ เราสามารถ ตรวจสอบ จิตของเรา ไม่มีตัวเลวร้าย
เหลืออยู่เลย มีแต่ดี มีแต่จิตที่เอื้อเฟือ เจือจาน เมตตา เกื้อกูล และสุดท้ายก็ยังมีความลึกซ้อนลงไปอีก
จนไม่มีอุปกิเลส คือเราดี และ เรายังมี ความดีใจในดี หลงยึดในดีเป็นเรา เป็นของเรา
เรียกว่าปีติ ก็ยังเป็นอุปกิเลสซ้อน อันนี้แหละ เขาอธิบายไม่ออก และก็ปฏิบัติไม่ถูกต้อง
การที่เราไปยินดีในดี อันที่จริงพระพุทธเจ้าท่านก็ส่งเสริมนะ
ในเรื่องต้องประทับใจในดี หรือ ต้องมีปีติ ท่านอธิบายในเรื่อง ฌาน ๑ มีปีติ
ฌาน ๒ จะต้องลดปีติ อย่างนี้เป็นต้น ในฌาน ๑ ท่านบอก
ให้ซับซาบปีติ และสุขนั้น ให้ดื่มด่ำอาบเข้าไปในจิตใจให้เต็ม ไม่ใช่ให้ดับ
แสดงว่า ปีติต้องมีอยู่ ในเนื้อใจเราเต็มที่ แต่สิ่งที่ไม่ให้มีนั่นคือ
"ความฟูใจ" ที่เป็นอุปกิเลสซ้อน ในยินดีอีกที หรือ ติดในดี
ยึดดีเป็นของเรา ซึ่งอาตมาพยายามแยก วิเคราะห์รูปธรรม ให้ฟังว่า เหมือนเรากินพริก
มันมีรสเผ็ด เป็นรสจริงๆ เป็นของจริง แต่เราไปอร่อย กับรสเผ็ดนั้น เราต้องดับ
"รสอร่อย" ไม่ใช่ไปดับ"รสเผ็ด"
ฉันเดียวกัน ตัวดีนี่ของจริง เราต้องมี ให้มันจริง ให้มันแข็งแรงด้วย
แต่การไป"ยินดี"ในยินดีอีกที อันนี้ต้อง"ดับ"
ให้เป็นอุเบกขา เป็นกลาง หรือ อทุกขมสุข ไม่ทุกข์ ไม่สุข ไม่ฝืน
ถาม
อธิบายการตรวจสอบอุเบกขาถึงขั้นตอนสุดท้ายด้วยค่ะ ?
ตอบ อุเบกขา
คือ อารมณ์จิตเรามีความเฉย ความเป็นกลาง ความว่าง อาการเฉยๆ ที่ได้แล้ว
ก็ยังต้องพิจารณาดูซ้ำ กลับไปกลับมา (ปฏินิสสัคคะ) ว่า ความว่าง ความเฉยนั้น
ยังมีอะไร บกพร่อง ก็ต้องทำให้ดีที่สุด เป็นอากาสานัญจายตนะ ยิ่งขึ้นไปอีก
อากาสา แปลว่า "ความว่าง"
ตรวจสอบความว่างที่ได้ขั้นอุเบกขา ด้วยองค์ประกอบของ "อรูปฌาน"
ทั้งหมดนั่นเอง "อรูปฌาน ๔" นั้นคือ การตรวจสอบจิตที่มีผลธรรม
ขั้นละเอียดอีกที เมื่อเราล้างกิเลส และอุปกิเลส จนจิตถึงขั้น "อุเบกขา"
นั่นก็ถึง"ความเฉย, ความว่าง" ได้แล้ว ขั้นหนึ่ง เราจะต้องตรวจซ้ำใน
"ความว่าง" ที่ประกอบไปด้วย "อายตนะ" ทั้งอายตนะ ภายนอก
และ อายตนะภายใน อย่างละเอียด ไม่ใช่อรูปฌาน ที่อยู่แต่ในภายในภวังค์ เท่านั้นนะ
"อากาสานัญจายตนะ"นั้น ก็บอกอยู่โทนโท่ว่า เป็นสภาพของ "อายตนะ"
ซึ่งมีทั้ง ภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และต้องรับรู้ อายตนะภายนอกด้วย
เพราะ "อายตนะ" คือ ความต่อเชื่อม ระหว่าง
"เครื่องรู้" ที่เป็นอายตนะภายในของคน และ "สิ่งที่ถูกรู้"
ซึ่งเป็น อายตนะภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สภาพที่สัมผัสทางกาย และ
สภาพที่ได้สัมผัส ภายในใจ ก็ต้องตรวจ อย่างละเอียดลออ ให้ถ้วนรอบว่า ว่างแน่นะ
มีการสัมผัส อยู่กับเหตุนั้นๆ ทบทวนไปมา ด้วย "อาเสวนา-ภาวนา-พหุลีกัมมัง"
จนแน่ใจว่า "ว่าง"แน่ แข็งแรงดี นั่นคือ
"อากาสานัญจายตนฌาน"
แล้วก็อ่านตรวจ"วิญญาณัญจายตนะ"
คืออ่านจิตวิญญาณของเราว่า ยังเป็น "วิญญาณ" คือ ส่วนสำคัญ ของตัวเรา
"ความว่าง" หรือ "อากาส" นั้น ก็อย่างหนึ่ง ส่วน "จิตที่ปราศจากกิเลส
และ อุปกิเลส" นั้น ก็อีกอย่างหนึ่ง เราจะได้รู้จัก "จิตวิญญาณแท้"
เพราะปราศจากกิเลส แม้อุปกิเลสแล้ว ก็ตอนนี้ ธรรมดานั้น
จิตของคน มันจะมีกิเลส และ อุปกิเลส ทำงานร่วม อยู่กับจิต ไม่มากก็น้อยอยู่จริงเสมอ
ไม่ได้สะอาดจากกิเลส และ อุปกิเลสไปได้จริงหรอก แต่ขณะนี้ ผู้ปฏิบัติ ได้ผ่านกรรมวิธี
ของการเอากิเลส และ อุปกิเลสออกไป จนจิต สะอาด แล้วจริง ก็ตรวจให้รู้จักความจริงของ
"จิตวิญญาณแท้ๆ" สะอาดๆ ทั้งๆที่มี "อายตนะ" ทั้งนอก
และในทำหน้าที่เต็มๆ อยู่นี่แหละ นี่คือ "วิญญาณัญจายตนฌาน"
แล้วจึงจะตรวจสอบ"ความไม่มี"
ซึ่งก็คือตรวจ "อากิญจัญญ" นั่นเอง "อากิญจัญญ" แปลว่า
"ความไม่มี" ดังนั้น อะไรที่เราจะไม่ให้มีใน "จิตวิญญาณ"
หรือ ไม่ให้มีใน "ความว่าง" เราก็ต้อง ตรวจเพ่งเข้าไป แล้วทำ "ความไม่มี"
ให้ตรง ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ แม้เป็นธุลีละออง ที่ละเอียด อาการความรู้สึก
ที่ยังเป็น"เรา" เป็น"ของเรา"ก็ตาม ทุกอย่าง
ต้องตรวจให้หมด ทำให้สำเร็จผลของ "ความไม่มี" หรือ "อากิญจัญญายตนะ"
จนแน่ใจใน "ความไม่มี" ว่า เศษธุลีของ "อะไร" ที่เราจะทำให้
"ไม่มี" ก็ไม่มีอย่างชัดคม แม่นลึก ครบบริบูรณ์ และ ส่วนสิ่งที่มันต้อง
"มี" อยู่ในความเป็นจริง ที่ต้อง "มี" ก็ย่อมต้องมีอยู่
เช่น มี "อายตนะ" มี "จิตวิญญาณ" หรือ "ธาตุรู้"
หรือมี "สัญญา" อย่างนั้นอยู่ หรือไม่มี "สัญญา" อีกอย่างแล้ว
เป็นต้น ที่สุดแม้แต่ "มี" การปล่อยวาง ถึงขั้น "ไม่สำคัญว่าจิตว่าความดับสนิท
(นิพพาน)" นั้นๆ เป็น "เรา" ก็ได้ "ทำใจในใจ" (มนสิการ)
จนสมบูรณ์แล้ว นี่คือ "อากิญจัญญายตนฌาน"
อรูปฌานสุดท้าย คือ
"ภาวะที่มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่" หรือ "เนวสัญญานาสัญญายตนะ"
นั่นเอง "สัญญา" คือ ความกำหนดได้หมายรู้ หรือความจำได้
ขณะนี้ จะว่า "มีสัญญา" ก็มิใช่ จะว่า "ไม่มีสัญญา"
ก็มิใช่ อาการเช่นนี้ เป็นอาการของ "อรูปฌาน" แบบฤาษี ที่สะกดจิต
เข้าไปอยู่ในภวังค์ ซึ่งเป็นสภาพที่จิต อยู่ในอาการไม่เต็ม หรือชัดๆ ก็คือ
เจตสิกที่ทำหน้าที่ "ความกำหนดหมายรู้" อะไร ก็ทำหน้าที่ไม่เต็ม
จะมี "ความจำได้" ก็ทำหน้าที่ไม่เต็ม แต่ก็ยังมีทั้ง "ความกำหนดหมายรู้-ความจำได้"
อยู่บ้าง ทว่า "ไม่เต็มสภาพ" เลยกลายเป็น จิตบกพร่อง จะว่า "รู้"
ก็มิใช่ จะว่า "จำได้" ก็ไม่เชิง สำหรับ
ศาสนาพุทธ จะไม่เป็นอย่างนี้ เพราะศึกษามา อย่างเต็มสภาพ กระจะกระจ่าง อย่างบริบูรณ์
ทุกถ้วนสิ้น จึงมีสภาพ "สัญญา" ทำงานเต็มที่ และมี "สัญญา"
เต็มประสิทธิภาพ ทำหน้าที่ ได้เก่ง ได้ดี จนเกิดเป็น "ญาณ" เป็น
"อภิปัญญา" หรือเป็น "ญาณทัสนะ" นั่นเทียว
ดังนั้น สิ่งใดส่วนใด หรืออะไร ที่ "การกำหนดได้หมายรู้"
(สัญญา) ยังมีสภาพแค่ "มีการกำหนดได้หมายรู้ ก็มิใช่ ไม่มีการกำหนดได้หมายรู้
ก็มิใช่" อยู่เท่านั้น ถือว่า ยังไม่บริบูรณ์ "การกำหนดได้หมายรู้"
หรือ "สัญญา" ต้องทำหน้าที่เจริญเป็น "ธาตุรู้ที่รู้ยิ่ง
รู้จริง รู้แจ้ง อย่างสัมบูรณ์" กล่าวคือ "การกำหนดได้หมายรู้
ต้องทำหน้าที่ของตนเจริญ มีคุณภาพเต็ม" และ ต้องเจริญจาก "มีการกำหนดได้หมายรู้
ก็มิใช่ ไม่มีการกำหนดได้หมายรู้ ก็มิใช่" หรือ ต้องเจริญ "ล่วงพ้น"
(สมติกกมติ) จาก "เนวสัญญานาสัญญายตนะ" สู่อนุปพพวิหารธรรม ลำดับที่
๙ คือ "สัญญาเวทยิตนิโรธ"
ผู้ปฏิบัติผ่าน"ฌาน" ต่างๆมาตามลำดับ
ปัญญาก็จะเจริญขึ้นๆ ไปตามลำดับด้วย เป็น ญาณทัสสนะ เป็นวิชชา "สัญญา"เอง
เมื่อทำงานก็จะพัฒนายิ่งๆขึ้น เป็น "อากาสานัญจายตนสัญญา" เป็น
"วิญญาณัญจายตนสัญญา" เป็น "อากิญจัญญายตนสัญญา" และเป็น
"เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา" จนสุดท้ายเป็น "สัญญาเวทยิตนิโรธ"
คือ กำหนดได้หมายรู้ ในฌานต่างๆ มาจนรู้แจ้งถึงนิโรธ หรือรู้ถึง "ความดับหมดสิ้น
ทุกสัญญา และ ทุกเวทนา" ที่ต้อง "ดับ" หรือต้อง "ก้าวล่วง"
มาตามลำดับ ซึ่งยิ่ง "ก้าวล่วงพ้น" หรือยิ่ง "ดับ" ลำดับต่ำ
ขึ้นสู่ขั้นสูงขึ้นๆ ก็ยิ่งมี "ความรู้ยิ่ง" (ญาณทัสสนะ) ยิ่งๆขึ้น
ดังนั้น การกำหนดได้หมายรู้ทุกอย่าง จึงยิ่งสูงขึ้นๆ ก็ยิ่งกำหนดรู้ได้ดี
เชี่ยวชาญ ยิ่งๆขึ้น ที่จะว่า"รู้"ก็มิใช่ จะว่า"ไม่รู้"ก็มิใช่
อย่างนี้ก็ยังไม่ได้ ต้องรู้ชัดแจ้ง แทงทะลุ รู้รอบ พ้นความคลางแคลง สงสัย
หรือว่ามีอะไร ที่ยังข้อง ยังคา ยังไม่ชัด ยังไม่ทะลุแจ้งหมด ก็ยังไม่ได้
ต้องผ่าน เนวสัญญานาสัญญายตนะนี้อีก ต้องรู้อย่างสมบูรณ์แบบ จึงล่วงพ้นเข้าสู่
สัญญาเวทยิตนิโรธ ให้สัญญาเคล้าเคลียอารมณ์ สัญญากำหนด
ให้รู้เข้าไปให้หมด เคล้าเคลีย อารมณ์ทุกจุด ทุกซอก ทุกมุม จนรู้จริงว่า
เราล้างมันได้จริง มีจางคลาย มีจนกระทั่ง นิโรธดับได้ แม้ดับแล้ว เราก็ต้องตรวจสอบอีก
ทำแล้ว ทำเล่า ปฏินิคสัคคะ ทวนไป ทวนมา จนกระทั่ง อยู่เหนือมัน อย่างแข็งแรง
อยู่เหนือมัน อย่างไม่ต้องหนี ไม่ต้องถอย อยู่เหนือมัน อย่างบริสุทธิ์ สะอาด
สง่าผ่าเผย "ผุฏฐัสสะ โลกธัมเมหิ จิตตังยัสสะ
น กัมปติ" สัมผัส โลกธรรมนี้อยู่ ก็ไม่หวั่นไหว ไม่กระเทือน-เฉย-ว่าง
นี่คือธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่สามารถใช้เรื่องไม่กินเนื้อสัตว์เป็นประเด็นเดียว
เป็นเหตุปัจจัย ในการปฏิบัติ โลกุตรธรรมได้ ตั้งแต่ยังไม่ดี จนมีดี จนไม่ติด
แม้แต่ดี หมดทุกอย่าง จนมี อรหัตผลได้
ถาม ฟังแล้ว
รู้สึกอีกนานกว่าจะปฏิบัติได้สมบูรณ์?
ตอบ อย่าท้อแท้ อย่าหมดหวัง โดยให้เริ่มในเรื่องเหตุปัจจัยหยาบ
ที่เราคิดว่า เราน่าจะตัดได้ ปฏิบัติ ให้ได้รู้ว่า สภาวะธรรมของปรมัตถ์ ขั้นละเอียดลออ
เป็นอย่างนี้เอง มีนิโรธ มีนิพพาน เป็นอย่างนี้ ภายใต้เหตุปัจจัยนั้นๆ เราก็จะได้มี
ความรู้จริง ไม่ใช่มีแต่การเดาเฉยๆ เป็นแค่ ตรรกะ เราก็จะได้มีของจริงไปเรื่อยๆ
ได้เสริมสภาวะธรรมไปเรื่อยๆ ตามขั้น ตามเหตุปัจจัย ไปเป็นลำดับๆ
ถาม การแก้ปัญหาสังคมด้วยสันติวิธี
กับการเจริญเมตตาวิธีมีความแตกต่างกันอย่างไรคะ?
ตอบ "สันติวิธี"
กับ "เมตตาวิธี" เป็นศัพท์
๒ ศัพท์ โดยคำว่าเมตตาวิธี เป็นคำใหม่ ที่อาตมา บัญญัติขึ้น เมตตามีน้ำหนัก
ของสภาพสภาพหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจความหมาย ของคำว่า เมตตา
คือจิตใจ มีความปรารถนาดี ต้องการให้เขาพ้นทุกข์ มันจะมีนัยะ ของส่วนที่
แตกต่างจาก "สันติวิธี"
คำว่า"สันติวิธี"
จะตีขลุมไปหมด เพราะตัวสันติ หมายถึง ความสงบ ซึ่งเป็นตัวจบ วิธีสงบ
มีได้หลายวิธี เมตตาวิธีก็เป็นวิธีหนึ่ง ที่นำไปสู่สันติได้ เพราะฉะนั้น
ตัวเมตตา จะเป็นตัวที่มี การงานประกอบ ในบารมี ๑๐ ทัศ ตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา
ไล่ถึงตัวสุดท้ายคือ เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี ตัวเมตตาจะเป็นตัวงาน อุเบกขาจะเป็นตัววิหารธรรม
เป็นตัวพัก เป็นตัวอาศัย เป็นตัวเฉย เป็นตัววาง เป็นตัวไม่มีปฏิกิริยา แต่เมตตา
จะเป็นตัวปฏิกิริยา เพราะฉะนั้น เมตตา จึงเป็นตัว"งาน"
เป็นตัวนำของจิต ที่จะต้องเกิดเมตตาก่อน และ ก็มีกรุณาตามมา คือ เมื่อเมตตา
ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ กรุณาก็ลงมือช่วยเขาให้พ้นทุกข์ จนกระทั่ง ช่วยมีผลดี
เขาได้ดี เขาพ้นทุกข์สำเร็จ เราก็ยินดีกับที่เขาพ้นทุกข์ จึงเรียกว่า มุทิตา
เมตตาจึงเป็นจิต ที่มีตัวพลังงาน ต้องการให้เขาได้ดี ต้องการให้เขาพ้นทุกข์
และก็ลงมือเป็น กรุณา จะหาทาง ทำอย่างไร ก็แล้วแต่ เพื่อให้เขาพ้นทุกข์นั้น
ช่วยเหลือเขาเรื่องนั้น เกื้อกูลเขาเรื่องนั้น จนสำเร็จลงแล้ว เรียบร้อย
เห็นผลดี แล้วเราก็ยินดี ในสิ่งที่ดี ที่เกิดขึ้นกับเขา
เมื่อเขาพ้นทุกข์แล้ว
เขาได้ดีแล้ว จบแล้วจึงวางเป็นอุเบกขา โดยอุเบกขา ก็ไปซ้อนกับสันติ หรือ
ความหยุดแล้ว สงบแล้ว เป็นตัวเสวยผล เพราะฉะนั้น
สันติวิธี ก็ต้องมีตัวกระทำ หรือ วิธีที่จะทำ อาตมาจึงบัญญัติศัพท์คำว่า
เมตตาวิธี ขึ้นมาอีกคำหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นว่า เราจะต้อง มีวิธีสร้างจิต
ที่มีเมตตา และก็อาศัยจิตตัวนี้กระทำ ให้ทุกอย่างไปสู่สันติ เพราะฉะนั้น
คำว่า สันติวิธี จึงเป็นภาษาที่สะท้อนรวมเป็นตัวจบ หรือหมายว่า จะทำวิธีใดก็ตาม
ต้องอยู่ ในกรอบของ ความไม่รุนแรง ไม่เดือดร้อน นั่นคือ การกระทำด้วย วิธีสันติ
อาตมา ก็เพิ่มลักษณะ ให้ชัดขึ้นอีกคือ เมตตาวิธี เป็นกรอบของ การปฏิบัติ
หรือ เป็นทางปฏิบัติ สรุปแล้ว เมตตาวิธีเป็นตัวมรรค
ส่วนสันติ หรือ สันติวิธีเป็นตัวผล
ถาม
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "การเจริญเมตตาแม้ชั่วลัดนิ้วมือเดียว มีอานิสงส์มาก"
เราจะมีวิธี เจริญเมตตา ให้ถูกต้องได้อย่างไรคะ?
ตอบ ความหมายนี้ลึกซึ้ง การเจริญเมตตา
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ไปนั่งคิด แผ่เมตตา อยู่เท่านั้นเอง ดีไม่ดีก็เอาแต่ท่องภาษาว่า
สัตว์ทั้งหลาย เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมด ทั้งสิ้น
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด ซึ่งแค่นี้ไม่พอ ถ้าบอกว่า เจริญเมตตา ต้องหมายความว่า
ให้เมตตา ให้จิตปรารถนา ให้สัตว์อื่นได้ดี หรือ สัตว์อื่นพ้นทุกข์ ทำอย่างนี้
ให้จิตมันเจริญ ไม่ใช่อยู่แค่ความคิด อยู่แค่ความเข้าใจ มีอาการนั้นแล้ว
คือ อยากให้ คนอื่นพ้นทุกข์ ให้เขาได้ดี แต่มันไม่เจริญ คำว่า เจริญเมตตา
ต้องเข้าใจว่า เมตตาแล้ว ต้องมีอาการ ที่มีเนื้อหาสาระ มีอะไรที่พัฒนา ขึ้นไปมากกว่า
แค่เข้าใจ แค่รู้ แต่ต้องให้มี ตัวบทบาท มีตัวพฤติกรรม มีตัว"งาน"
มีตัวที่มีเหตุปัจจัย เกิดขึ้นมาให้ได้ เรียกว่า เจริญความจริง ของเมตตา
เมื่อต้องการให้เขาพ้นทุกข์ ก็เขาทุกข์อะไร
เมื่อต้องการให้เขาได้ดี อะไรจะให้เขาได้ดี แล้วก็ จงกรุณา ลงมือกระทำ ลงมือปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น เมตตา จึงไม่ควรแค่จบตัวเดียว มันควรต่อกันไปหมด
เป็นองค์รวม หรือเป็นตัวเคลื่อนไหว เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ๆ ๆ ต่อเนื่อง
และปฏิสัมพัทธ์กันและกัน ครบครัน ไม่ใช่เมตตาแล้วก็แช่อยู่ที่เมตตา กรุณาไม่มี
มุทิตาก็ไม่ถึงแน่นอน เพราะฉะนั้น อย่าไปฝันถึง อุเบกขาเลย
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "การเจริญเมตตา
แม้ชั่วลัดนิ้วมือเดียว ก็มีอานิสงส์มากนั้น" หมายความว่า ถ้ามันเริ่มต้น
ก็เป็นอานิสงส์ แม้แต่จิตที่เกิดเมตตา ก็มีอานิสงส์แล้ว เล็กน้อย แม้ชั่วลัดนิ้วมือเดียว
เกิดปั๊บ มีนิดหนึ่ง ก็เกิดของดีแล้ว มันเป็นภาษาสำนวน ที่ให้รู้ว่า คนเรา
มักมีจิตโหดร้าย ไม่หมายดีต่อกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจิตเปลี่ยนมา หมายดีต่อกัน
มีการช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน อาการอย่างนี้ เป็นอาการของ กุศลจิตที่ดี ให้เกิดกุศลจิตอย่างนี้
แม้นิด แม้น้อย มันก็ดีทั้งนั้น ทุกคนควรให้เกิด เมื่อเกิดแล้ว ก็อย่าหยุดอยู่เท่านั้น
อาตมาจึงอธิบายต่อว่า ต้องเจริญต่อเมื่อใช้คำว่า เจริญเมตตา ก็อย่าให้มันหยุดแค่นั้น
ต้องเจริญจริงๆ ให้ถึงที่สุด ครบวงจรของ อัปปมัญญา หรือ วงจรของ พรหมวิหาร
๔
ถาม
ถ้ามีเมตตาแล้วลงมือช่วยเหลือ โดยทำไม่สำเร็จ ก็อุเบกขาถูกไหมคะ?
ตอบ ก็วางเฉยอย่างไม่สำเร็จ
แต่ก็ต้องวางใจ เมื่อดูสมรรถนะของเราแล้ว มีจำกัด หรือ เหตุปัจจัยของเขา
หนักเกินไป เราทำไม่ได้ มันสุดวิสัยแล้ว ได้พากเพียร ได้อุตสาหะ สมบูรณ์แล้ว
ทำได้แค่นี้ ขืนทำไปเกินกว่านี้ เราก็ตาย หรือ เขาก็บาดเจ็บหนัก จะตาย ด้วยกันทั้งคู่
หรือ เสื่อมลงไป ด้วยกันทั้งคู่ เสียหายทั้งสองฝ่าย หรือ ฝ่ายเขาได้ แต่เราเสียหาย
คุณจะเสียสละ ยอมเสียหายก็เอาซิ หรือคุณได้เขาเสีย แต่ถ้าเขาเสีย ความไม่ดี
ในสิ่งที่เรา จะแก้ไข ให้เขาสลายความไม่ดีนั้น นั่นไม่ใช่เรื่องเสียหายนะ
แต่ถ้าเสียหาย คือ ส่วนดีของเขา ก็เสียไปด้วย เราก็ไม่ควรทำ
แต่ก็แสดงว่า เรายังมีเมตตา ลงมือทำบ้าง
ทำได้แค่นี้ เรามีฝีมือเท่านี้ ได้ผลแค่นี้ คุณก็วางเฉย อาศัยอุเบกขา
แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย อุเบกขาดื้อๆ อะไรๆ ก็อุเบกขาหมดเลย ไม่ทำงาน ทำการอะไร
ไม่ได้มีเมตตา ไม่ได้มีกรุณา ไม่เอาเรื่อง ไม่ช่วยอะไรอย่างนี้ คล้ายอุเบกขา
เหมือนกัน แต่เป็นอุเบกขาเก อุเบกขากู กูเฉยลูกเดียว ไม่ช่วยอะไรใคร ไม่ได้อัปปมัญญาอะไร
ไม่มีพรหมวิหาร ๔ อะไร ไม่ได้เป็นพระพรหมผู้ช่วยโลก เป็นผู้เห็นแก่ตัวธรรมดาๆ
บนเส้นทางสายโพธิสัตว์
มากด้วยอุปสรรค นานา
นอกจากเรียนรู้ศิลปะวิทยา
ในการดำรงตนให้อยู่รอดปลอดภัย
ยังต้องเรียนรู้การดำรงตน
ให้อยู่อย่างมีความสุข อบอุ่น
อยู่ด้วยความรัก
และการยอมรับจากใครๆ
อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี สมภาคภูมิ
บนเส้นทางสายโพธิสัตว์
(สารอโศก
อันดับที่ ๒๕๑ สิงหาคม ๒๕๔๕)
|