หน้าแรก >สารอโศก

แค่นี้ทำไม่ได้ก็ไปตายซะ!


ประโยคนี้ช่างมีอิทธิพลทำให้เด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งกำลังจะมีอนาคต อันสดใส ต้องจบชีวิตลงในที่สุด

ข่าวการรับน้องด้วยระบบโซตัส (SOTUS) ซึ่งคำนี้มาจาก
S - seniority หรืออาวุโส หมายถึง ความเกรงใจเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
O - order หมายถึง คำสั่งหรือระเบียบวินัย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมาก ในการอยู่ร่วมกัน ในสังคม
T - tradition หมายถึง ประเพณีที่ประพฤติปฏิบัติสืบทอดกันมา
U - unity หมายถึง ความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
S - spirit หมายถึง ความมีน้ำใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

การใช้ระบบนี้ในการรับน้อง ที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อเร็วๆนี้ นักศึกษาชาย ที่สอบเข้าเรียน ในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถูกระบบนี้ ทำร้าย ถึงขั้นเอ่ยกับ คุณพ่อว่า ผมขอลาออก และจะไปเรียนต่อ ที่รามคำแหง คุณพ่อได้แต่บอกว่า เกิดปัญหาอะไร พ่อช่วยได้นะ เพราะพ่อเป็นศิษย์เก่าเหมือนกัน ไว้วันจันทร์ พ่อจะไป พบอาจารย์ ที่มหาวิทยาลัยเอง แต่ยังไม่ถึงวันนั้น หนุ่มคนนี้ก็ได้กระโดดตึก ปลิดชีพตัวเอง จนถึงแก่ ความตายเสียแล้ว

ผู้เป็นพ่อเปิดเผย ผ่านสื่อโทรทัศน์ ทำให้ผู้เขียนทราบว่า นักศึกษาหนุ่มคนนี้ ทนไม่ได้ ตั้งแต่ การถูกทำโทษ วิ่งในระยะทางถึง ๑๕ กิโลเมตร ซึ่งไม่ใช่ระยะทาง ใกล้ๆเลย รุ่นพี่ไม่น่า จะทำโทษกัน ถึงขนาดนี้ เท่านั้นยังไม่พอ การถือหนังสือ หากรุ่นพี่ ในคณะพบว่า ไม่ได้ถือ หนังสือ โดยโชว์ชื่อคณะออก เวลาถือ ก็จะถูกทำโทษอีกเช่นกัน

สำหรับวัยที่เพิ่งผ่าน ชั้นมัธยม มาหยกๆ เมื่อเข้าศึกษาต่อ ในรั้วมหาวิทยาลัย เจอเหตุการณ์ แบบนี้ ช่างไม่เกิดอิสระ ในการดำเนินชีวิต นักศึกษาหนุ่ม จึงรู้สึกอึดอัด อย่างมาก ผู้เป็นพ่อ ได้เล่าต่อไปว่า ประโยคหนึ่ง ที่คนในระบบนี้ ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นพี่ กล่าวกับ ลูกชายของเขาคือ "ถ้าทำไม่ได้ก็ไปตายซะ!" คำนี้จึงมีอิทธิพล ทำให้ลูกชาย ตัดสินใจ กระโดดตึก

คุณพ่อของนักศึกษาหนุ่ม แสดงความเห็นว่า รุ่นพี่ที่จะเป็นผู้ดูแล (take care) รุ่นน้อง ต้องมีวุฒิภาวะ ไม่ใช่ ให้นักศึกษาปี ๒ มาใช้คำพูด ที่ไม่ได้กลั่นกรอง จนเกิดผลเสีย ต่อผู้ฟัง ถึงขั้นชีวิต ใครจะรู้บ้างว่า นักศึกษาหนุ่ม เมื่อพบปัญหา ในการเป็นน้องใหม่ ที่ถูกพี่ๆต้อนรับ จนตนเอง รู้สึกเข็ดขยาด ถึงขั้นเอ่ยปาก กับคุณพ่อว่า ขอไปเรียนต่อที่รามฯ แต่คุณพ่อให้ชะลอ จนกว่าพ่อ จะไปพบกับ อาจารย์ที่คณะ นักศึกษารอไม่ไหว เพราะแต่ละวัน ต้องเจอกับ การต้อนรับ ซึ่งบอกตามตรงว่า เขารับไม่ได้ ความในใจแบบนี้ ใครเล่า จะบอกให้พ่อรู้ เพื่อความสบายใจ ของคุณพ่อ นักศึกษาคนนี้ ก็ต้องทนต่อไป เพียงแค่วันสองวันเท่านั้น เมื่อความอดทนของเขา มีขีดจำกัด คำพูดที่เร่งเร้า สอดคล้องกับ ความคิดอ่านเดิมๆ นักศึกษาผู้นี้ จึงตัดสินใจ ที่จะทำร้ายตนเอง เมื่อฟังคำพูดนั้น

เพื่อนของผู้เขียน ก็เช่นกัน ซึ่งขณะนี้ เธอได้จบชีวิต ด้วยการผูกคอตายไปแล้ว ผู้เขียนฟังจาก พี่ชายของเธอว่า ขณะที่พาเธอไป ทำบุญสังฆทาน ที่วัดแห่งหนึ่ง พระได้พูดธรรมะ ให้เธอฟังถึง
เรื่องความกตัญญูกตเวที เป็นการโปรดญาติโยม ไปตามปกติ ที่ท่านกระทำอยู่ ว่าในฐานะ เป็นลูก อย่าได้ทำให้ พ่อแม่เดือดร้อน
เพื่อนซึ่งกำลังมีปัญหา หลายๆเรื่อง ในที่ทำงาน จนถึงขั้นได้พยายาม ลาออกจากงาน หลายครั้ง ทุกครั้ง คุณแม่เห็นว่า รับราชการ ไม่น่า จะลาออก หลายปีผ่านมา เธอทนมามากแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหา จนครั้งสุดท้าย เธอบอก กับแม่ว่า "หนูจะลาออกสิ้นปีนี้" คุณแม่ก็ยังไม่ให้ออก ตามเคย เธอก็คงมีความรู้สึก เช่นเดียวกับ นักศึกษาชายข้างต้น พี่ชายทราบว่า เธอไม่ค่อย สบายใจ และอยากทำบุญ สังฆทาน จึงพาเธอไปทำบุญ ที่วัดแห่งนั้น เมื่อพระท่าน พูดเช่นนั้น เธอก็เอ่ยขึ้นมา ขณะที่พระท่าน สนทนาด้วยว่า งั้นก็สมควรตาย และพระท่าน ก็พูดต่อ โดยไม่ได้นึก สะดุดว่า ผู้ฟังได้พูดอะไรออกมา พี่ชายเล่าต่อไปว่า น้องสาว คงเข้าใจว่า เมื่อเธอพูดว่า "งั้นสมควรจะตาย" พระท่านก็ ไม่ได้พูดว่ากระไร ไม่มีการห้าม ก็แปลว่า พระท่านเห็นด้วย กับคำพูดของเธอ

จนนักปฏิบัติธรรมในวัดนั้น ซึ่งเคยเป็นครูบาอาจารย์ ที่อยู่กับนักเรียน นักศึกษามาก่อน
เมื่อทราบว่าผู้ตาย ได้พูดประโยคนั้นออกมา หากเป็นเธอ จะชวนคุยต่อไปว่า ทำไมพูดอย่างนี้ และต้องทำความเข้าใจ ในเรื่องนั้น (แม้จะใช้เวลานานเท่าใดก็ตาม) จนสามารถถอนจิตใจ ของผู้พูดได้ แบบนี้ อาจประมาทไปหน่อย ที่ผู้ฟังได้ยินแล้ว ไม่ทันฉุกคิด เพราะไม่นึกว่า การไม่แย้ง สิ่งที่ผู้ตายพูด กลับสะท้อนภาพ ให้ผู้ตายคิด และเข้าใจไปเองว่า แม้แต่ พระสงฆ์องค์เจ้า ยังเห็นด้วยเลยว่า หากผู้ใด ทำให้บุพการีเดือดร้อน ก็สมควรตาย อย่างนี้ เป็นต้น เพราะขณะนั้น ผู้ตายคงคิดวน อยู่กับการฆ่าตัวตายอยู่แล้ว

หากจะวิเคราะห์ ตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธองค์ ได้ตรัสไว้ว่า ไม่ควรกล่าววาจา กับบุคคล ผู้เป็นอนุปสัมบัน เพราะบางเรื่อง อนุปสัมบัน (ผู้ยังไม่เข้าถึงธรรม) ฟังแล้วรับไม่ได้ กลับจะเป็น ผลเสีย เช่นนักศึกษาผู้นี้

ในทางธรรม ก็เช่นกัน บางเรื่อง ผู้เป็นอุปสัมบัน (ผู้เข้าถึงธรรม) ฟังแล้ว ไม่เกิดปัญหา เพราะเกิดความชัดเจน มีความเข้าใจในรายละเอียด และมีวุฒิภาวะ ในการรับเรื่องราวนั้น ๆ ส่วนผู้เป็น อนุปสัมบัน คือผู้ใหม่ในการปฏิบัติธรรม ฟังบางเรื่องแล้ว ไม่มีวิจารณญาณ เพียงพอ ในการไตร่ตรอง อีกทั้งไม่ทราบ ความตื้นลึกหนาบาง ของเรื่องราว เป็นรายละเอียด ที่ฟังแล้วตีไม่แตก ไม่มีความเข้าใจ เพราะยังเป็นผู้ใหม่นั่นเอง จึงมักจะเกิดผลร้าย จนขาด ความเลื่อมใส ในบุคลากร ทางศาสนา นับว่าน่าเสียดาย เพราะความเป็นผู้ใหม่ อาจไม่ทราบว่า ผู้ที่ทำผิดพลาด เรื่องใดไป ทุกวันพระใหญ่ ขึ้นหรือแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ ก็จะมีการปลงอาบัติ แจ้งความผิดพลาดนั้น แก่หมู่นักบวช ในที่ประชุม แม้ผู้นั้นจะทำผิดจริง วันเวลาผ่านไป ผู้นั้น ก็ได้รับโทษ โดยการทำคืน และพ้นผิดแล้วในที่สุด ซึ่งอนุปสัมบัน จะไม่มีโอกาสทราบเลย เพราะแค่ฟังเรื่องราวมา อย่างไม่ครบ จบขบวนความนั่นเอง

อันตรายมาก ถ้าผู้ที่อยู่ในเส้นทางธรรม ประมาณการพูดจา หรือสื่อความหมายไม่เป็น เมื่อพบคนสนิท แม้แต่เป็นคนใหม่ ก็เที่ยวเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ ซึ่งตนเอง อาจจะเป็นเพียง แค่รู้เรื่องมาเท่านั้น ไม่ใช่การรู้จริง และยังไม่มีวิจารณญาณ ในการพิจารณาเรื่องราวที่รู้มา แต่อยากพูดอยากบอก โดยขาด การไตร่ตรองว่า เหมาะสมแค่ไหน บอกไปแล้ว ได้ประโยชน์อะไร เป็นผลร้าย มากกว่าผลเสียก็ไม่ทราบ บอกให้ผู้ใหม่ฟัง จนเป็นการทำลาย จิตวิญญาณ ซึ่งกำลังจะเจริญเติบโต ในเส้นทางธรรม กลับถูกทำแท้ง เพราะผู้ใหม่ จะไม่มีฐาน (จิต) รองรับเรื่องราว ที่รับฟังมา อาจผิดบ้างถูกบ้าง แต่สิ่งที่ฟัง ก็ได้ทำร้าย จิตวิญญาณ อันบริสุทธิ์ ของเขาเสียแล้ว ถึงกับหมดศรัทธา หวังอะไรไม่ได้ ในเส้นทางนี้ อาจรู้สึกอกหัก กับเส้นทาง ที่ตนเอง ก็ยังไม่ทันได้ก้าวเข้าไป เรียนรู้อย่างจริงจัง และนานพอ ที่จะพิจารณา เรื่องที่ได้ยิน ได้ฟังมา

ขอให้นักปฏิบัติธรรม ทุกระดับฐานะ ได้ใช้วิจารณญาณ ไตร่ตรองพิจารณาว่า เรื่องใด ควรพูดกับใคร แค่ไหน เกิดผลดีผลเสียหรือไม่ หากผู้ฟัง เป็นอนุปสัมบัน ควรจะบอก ผู้นั้นอย่างไร มิใช่พูดโดยขาด การยั้งคิด พูดเพราะอยากพูด อยากเล่า เล่าแค่เรื่อง ของตนเองไม่พอ เล่าไปเล่ามา มักจะผูกโยงเรื่อง ของคนอื่น ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องที่เคยได้ยิน ได้ฟังมา โดยตนเอง ก็ไม่รู้ความจริงในเรื่องนั้นๆดี แต่พูดจนทำให้ ผู้ใหม่เข้าใจผิด และอาจเกิดอาการช็อก กับการได้ยิน ได้ฟังในบางเรื่อง เพราะเขาใหม่มาก จึงรับไม่ได้

อีกประการหนึ่ง ผู้เล่าเองก็ไม่สามารถให้ความกระจ่าง ในเรื่องที่ตนเองเล่าไป เพราะก็แค่รับรู้ อย่างงูๆปลาๆ ไม่สามารถแยกแยะธรรมกับ อธรรม ทำความเข้าใจกับผู้ใหม่ ให้เห็นในสองมุม ผู้พูด จึงควรสำเหนียก เพราะ อาวุธใดในพิภพ ไม่ลบปาก ดังบทกวีของวจีวุธที่ว่า

อาวุธใดในพิภพไม่ลบปาก
จะจนยากร่ำรวยด้วยวจี
จะเสริมสรรปั้นแต่งแห่งแสงสี
ก็ไม่มีใดเทียบเปรียบวาจา
อันว่าปากเป็นเอกเลขเป็นโท
สองสิ่งโชว์ให้เห็นเช่นคุณค่า
อาวุธใดร้ายยิ่งสิ่งศาสตรา
หมดคุณค่าด้วยลมปากไม่ยากเลย

มิเช่นนั้น ท่านอาจทำร้ายใครบางคน โดยไม่เจตนาก็เป็นได้

- ว.วิจัย -
๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๕

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๑ สิงหาคม ๒๕๔๕)