หน้าแรก>สารอโศก

กัดหมา
คำโบราณที่เราเคยได้ยินกันมานมนาน บอกเป็นเชิงสอนคนไว้ว่า "หมากัด อย่ากัดตอบ" ซึ่งเป็นคำปราม ให้คนนำมาเตือนสติตัวเอง ไม่ให้ลุอำนาจแก่ความโกรธ จนกระทั่ง ไปประทุษร้ายผู้อื่น ทั้งทางกายกรรม ทางวจีกรรม ซึ่งแน่นอนว่า แรงผลักดันแท้นั้น มาจาก มโนกรรมนั่นแหละ เป็นสำคัญ

ฉะนั้นเมื่อใครมีเรื่องบาดหมางใจอะไรอยู่กับใคร จะนำมาพูด มาระบายกับบุคคลที่ ๓ ที่ ๔ บุคคลอื่นต่อๆๆๆ ไปอีก ก็มักจะได้รับคำ"ตัดบท"สั้นๆประโยคนี้ เพื่อให้ยับยั้ง อารมณ์ตัวเอง ยิ่งหากเป็นความทุกข์ ความอัดอั้น ตันใจ ที่เกิดมาจาก "พฤติกรรมเลว" ที่คู่กรณีก่อขึ้นก่อน เราไม่มีความผิดอะไรเลย จะเหตุมาแต่ ความเข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจของคนใดคนหนึ่งก็ตาม เรายิ่งไม่ควร ที่จะนำมาร้อนใจ ผู้รับการปรึกษา จะสะกิด ความรู้สึก ให้ผู้มาปรึกษา ระลึกรู้สึกตัว ด้วยประโยคสั้นๆ ดังกล่าวแล้ว ประหนึ่งจะสะท้อน ให้เกิด การปรับเปลี่ยนใจ ไม่ให้คนนั้น นำเอาความไม่ดี ของคนอื่น มาทำให้ใจตัวเองหวั่นไหว นั่นคือ การโยงใยภาพ ให้เห็น ชัดเจนว่า "ก็หมากัดน่ะ อย่าไปกัดตอบเลย" นั่นเอง

เมื่อได้ยินคำเตือนสติเช่นนี้ ก็ทำให้หัวใจที่กำลังรุ่มร้อนนั้นคลาย หายไปได้เหมือนกัน แต่มาถึงยุค ๒๕๔๕ คงต้องกลับกันกับอดีตที่เล่าสู่ฟังซะแล้ว เพราะมีข่าวเกมกีฬา ชนิดใหม่ เกิดขึ้น เย้ยหยันคนให้ได้อายยิ่งกว่า นั่นคือ "กีฬากัดหมา" ที่คนนี่แหละ เป็นโปรโมเตอร์ จัดขึ้น ไม่ต่างจากกีฬาม้าแข่ง ทางภาคกลาง กีฬาวัวชน ทางปักษ์ใต้ กีฬาชนไก่ทางอีสาน ฯลฯ ล้วนเป็นกรรมวิธี ในการคิดค้นนำเอาสัตว์ต่างๆ มาทารุณกรรม เพื่อสนอง ความสนุกสนาน นั่นหัวใจของคนทั้งสิ้น ไล่ระดับไป จนกระทั่ง "กีฬามวย" ที่เอาคนมาต่อย ชกกันจน ตายคาเวทีผ้าใบนั่นเทียว

อำนาจฤทธิ์แรงของ "โทสะกิเลส" ที่วิปริต หาช่องทางสร้างความมันส์หัวใจ ด้วยการได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส กับกิริยารุนแรง โหดเหี้ยม ที่ได้เห็นเลือด ได้เห็นการพ่ายแพ้ของผู้อื่น ได้อิ่มเอิบใจ กับชัยชนะ อันเกิดมาแต่ การทำ "กรรม" ข่มขี่ ข่มเหงผู้อื่นให้ตกอยู่ในภาวะต่ำกว่า ด้อยกว่า เป็นความอำมหิต ที่ส่อออกมา ทางกายกรรมโต้งๆ ไล่เลียงไปตั้งแต่ การนำเอาสัตว์เดรัจฉาน ตัวเล็กๆ เช่น มด จิ้งหรีด ปลา มากัดกัน เอามันมากัดกันเล่นๆ ตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเด็กผู้ชายที่ชอบสนุกกันนักกับการได้ทำอย่างนี้ เมื่อโตวัยรุ่นขึ้น ก็จะเพิ่มดีกรี ร้อนแรงขึ้น หันไปชอบไก่ชนกันบ้าง วัวชนกันบ้าง มาจนถึงยุค "หมากัดกัน" ที่กำลังเล่า ให้ฟังนี่แหละ

แต่ก็ไม่แปลกประหลาดอะไรหรอกในเรื่องเช่นนี้ เมื่อมวยระดับโลก ก็กำลังโด่งดัง กำลังได้รับ การสนับสนุน จากวงการสังคมอยู่ คนชกกันจนเลือดตก คิ้วแตก หัวใจวาย ต้องหามออกจาก เวทีผ้าใบก็มีมาแล้ว โดยการเอาตำแหน่งแชมป์ มาเป็นเหยื่อล่อ ให้คนลุ่มหลงในชื่อเสียง หรือเอาเงินรางวัลมาล่อหลอก ให้น้ำลายไหล ก็ไม่ต่างกับกีฬา ที่นำสัตว์เดรัจฉาน มากัดเหมือนกัน เพราะในวงการ "หมากัด" ก็มุ่งเป้า เงินพนันที่ได้รับ มุ่งเป้าชื่อเสียง "เจ้าของหมาตัวเก่ง" ที่ได้แชมป์จากการเข้าสังเวียน ของหมาตัวนั้นเช่นกัน

เราเคยได้ยินประวัติชาวโรมัน ชาวกรีกสมัยก่อน ที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ คริสต์ศาสนาว่า มีศาสดา พยากรณ์ท่านหนึ่ง ในสมัยพระเยซู ถูกกษัตริย์องค์หนึ่งสั่งฆ่า โดยการให้นำเข้า สังเวียน ต่อสู้กับสิงโต คนอ่านในยุคนี้จะรู้สึกหวาดเสียว ทารุณ ทนไม่ได้ แต่ลืมไปว่า ยุค ๒๕๔๕ นี้ก็นิยมตื่นเต้น สนุกกับกีฬา ขี่วัวกระทิง กีฬาชนวัว กีฬาหมากัด มันต่างอะไรกับ กีฬาสู้สิงโต ในยุคโบราณครั้งกระโน้น

มันไม่ต่างกันเลย ก็จิตโทสะ จิตโลภะตัวเดียวกันนั่นแหละ เป็นตัวบงการต้นเหตุ ให้เกิด พฤติกรรมเหล่านี้ ความโหดร้ายของกิเลสโทสะ ความเข้มข้นของกิเลสโลภะ ที่ทำงานบงการ ให้คนแสวงหา โลกียรส เสพทางรูป ทางตา ทางใจ สนองตัณหา ความอยากต่างๆ ให้แพร่ขยายตัวออก ทางความพิลึกกึกกือยิ่งขึ้น พิลึกจนคนลืมนำเอาพฤติกรรมเหล่านั้น มามองย้อน เข้าหาตัวเอง เปรียบเทียบกับตัวเอง ว่าตนเอง มีรูปรอย ของความพิลึกๆนั้น ด้วยหรือเปล่า?

ต่อไปนี้เรื่องหมาๆ คงไม่ใช่เรื่องเล็กเสียแล้ว เพราะในด้านการทำมาหากิน ข่าวที่ทางตำรวจ คอยจับคน ที่เอาหมา ไปใส่เสื้อ ใส่หมวก ไปนั่งทำอาการ ตามที่เจ้าของบอก ตามสะพาน ตามริมทางเดิน ตามที่ สาธารณะต่างๆ เพื่อหาเงินเลี้ยงชีวิตก็มีมาแล้ว จนแยกแยะไม่ออกว่า "คนเลี้ยงหมา" หรือ "หมาเลี้ยงคน" (ก็คงจะมีคำตอบจากบางคนว่า "ต่างก็เลี้ยงซึ่งกันและกัน") แต่ถ้านำเอา "เจตนา" มาเป็นที่ตั้ง ก็คงจะได้ คำตอบสุดท้าย

เรื่องการทำมาหากินด้วยการเอาสัตว์มาเป็นเครื่องมือ อุปกรณ์อาศัย เป็นเรื่องธรรมดา มีมาแต่ไหน แต่ไร มาแล้ว ตั้งแต่ยุคคนป่า คนถ้ำ จนกระทั่งถึงยุค คนเมือง เพราะคนกับสัตว์ เป็นสิ่งมีชีวิต ที่สื่อกันได้ ด้วยภาษา ท่าทาง ภาษาใจ ได้ไม่น้อย ยิ่งคนในยุค ที่มีชีวิตอยู่ ด้วยการทำ เกษตรกรรม กสิกรรม คนกับสัตว์ จำพวกช้าง วัว ควาย ยิ่งใกล้ชิดกัน อาศัย ซึ่งกันและกัน ประดุจเกือบจะฐานะเดียวกัน เรียกว่ากินนอน ด้วยกันทีเดียว

เรื่องนี้ชาวนา ชาวไร่ย่อมรู้ดี การคมนาคมเพื่อนำพืชผลไปขาย การเดินทาง ของผู้คน ที่ไปมาหาสู่กัน ก็ต้องอาศัยช้าง ม้า ลา ล่อ แม้การรบ ก็ต้องอาศัยสัตว์ใหญ่ เป็นพาหนะ เป็นยุทโธปกรณ์ ส่วนหนึ่ง คนกับสัตว์ จึงคบหากันด้วยไมตรี ที่ค่อนข้างดี มีกระแส "ความเมตตา" ผสมผสานอยู่ ประมาณหนึ่ง

แม้ปัจจุบัน คนที่เขาเลี้ยงลิงไว้ที่ขึ้นต้นมะพร้าวทางปักษ์ใต้ จนกระทั่งเปิดโรงเรียน วิทยาลัย สอนลิง ก็เป็นไปได้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ในการทำมาหากิน เป็นสาระ พอได้สัดส่วน เหมาะสม คนกับสัตว์จึงเป็น "เพื่อนกัน" อยู่

หมา ซึ่งคนไม่ปฏิเสธว่า เป็นสัตว์ที่อยู่ใกล้คลุกคลีกับคนมากที่สุด แม้การสื่อความหมาย ก็รับกันได้ ยิ่งกว่า สัตว์ใดๆ บางคนรักหมา จนกระทั่งคนด้วยกันริษยา วางยาเบื่อหมาก็มี

แต่เมื่อยุคอุตสาหกรรมฟูเฟื่องมากขึ้น จนกระทั่งรุกไล่มาเป็นยุคเครื่องยนต์กลไก ปรมาณู คอมพิวเตอร์ บทบาท ความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ที่คนจะนำมาเป็นเครื่องมือ ทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเดินทาง ด้วยม้า ทำไร่ด้วยช้าง ทำนาด้วยควาย ลากเกวียนด้วยวัว ฯลฯ ก็หมดไป คนจึงมีความรู้สึก ผูกพัน ใส่ใจ ในสาระทุกข์สุข ของสัตว์ทั้งหลาย น้อยลงๆ เพราะคนคิดว่า ไม่ได้รับประโยชน์ จากสัตว์เหล่านี้แล้ว ไยจะต้องไป เอื้ออาทร ตามสัญชาตญาณของ "ความเห็นแก่ตัว" ที่มีมาโดยธรรมชาติ ความรู้สึกว่า ถูกเอาเปรียบ ถูกแย่งชิงจึงเกิดขึ้น ความเกี่ยวพันระหว่างสัตว์กับคน จึงเปลี่ยนแปลงไป จากฐานะ เป็นการอาศัย กันและกัน พึ่งพากันและกัน มาเป็นการสนองอารมณ์แทน

เมื่อมีนาฬิกาบอกเวลาได้แทนไก่ขัน มีเครื่องยนต์ทำนาแทนควาย มีรถกระบะ แทนเกวียน เทียมวัว มีรถแทรกเตอร์แทนช้าง ฯลฯ ไฉนจะต้องไปคำนึงถึงจิตใจ ของสัตว์ต่างๆ ให้เสียรายได้ เสียเวลา ในเมื่อ "เวลาเป็นเงินเป็นทอง" ในความรู้สึกของคน "ยุคทุนนิยม" รุ่นนี้

ไก่ย่างแคนตั๊กกี้ หมาย่าง เนื้อโกเบ ฯลฯ จึงเป็นเมนูใหม่ๆ เกิดปรากฏการณ์ "เปิบพิสดาร" เพิ่มขึ้นๆ แม้ราคา จะแพงชนิด ที่คนระดับล่าง ไม่มีโอกาสลิ้มชิมเลยก็ตาม

การชดเชยสิ่งที่คนขาดผลประโยชน์ ที่คิดว่า คนจะได้รับจากสัตว์ทั้งหลาย ในอดีตที่เคยใช้ เป็นแรงงาน ทำมาหากิน นับตั้งแต่การบุกป่าฝ่าดง ขน ย้าย แบก หาม ต่อสู้ ไปจนกระทั่ง นำออกแสดงตามงานต่าง ระดับงานวัด งานเทศกาล งานละครสัตว์ ฯลฯ จึงถูกแปรมาเป็น "งานกีฬา" ทดแทน

กีฬาชนวัว กีฬาวิ่งควาย กีฬาชนไก่ กีฬาม้าแข่ง จนกระทั่งมาถึง "กีฬาหมากัด" จึงเกิดขึ้นได้ อย่างไม่ต้อง สงสัย การสั่งสมความหยาบ ความแรง ในความติดรสชาติ ตั้งแต่ติดรสชาติ หยาบๆ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด จนกระทั่งติดในรสชาติทางอารมณ์ เช่น อารมณ์ร้อน อารมณ์เย็น อารมณ์แรง อารมณ์อ่อน อารมณ์มัน ฯลฯ ทำให้คนแสวงหา"สัมผัส" มาสนอง อารมณ์เหล่านั้น ให้สาแก่ใจ จึงเกิดกีฬาต่อยคน ปล้ำคน (มวยชก, มวยปล้ำ) และต่อๆไป ก็จะเป็นกีฬา เอาคนมาฆ่าคนกันเอง หรือเอาคนมาต่อสู้กับสิงโต ต่อสู้กับเสือ เหมือนอย่าง สมัยโรมัน สมัยกรีก สมัยอียิปต์ นั่นแหละ เพราะมันเป็นพัฒนาการของการเพิ่มสีสัน เพิ่มรสชาติ การเสพความมัน ทางอารมณ์ ของคนทั้งสิ้น

เขาไม่รู้สึกว่า "สงสาร" ในความ "เจ็บปวด" ในความ "ทุกข์" ของสัตว์โลกใดๆ เพราะคนเป็น เจ้าชีวิต ของสัตว์โลก ทั้งหมด ออกมาในรูปของเจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ ฟาร์มเลี้ยงวัว-ควาย คอกม้า ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ต่างๆนานาชนิด ทั้งทำธุรกิจประเภทผสมพันธุ์ขาย ขายตัวสัตว์ ขายเนื้อสัตว์ จนกระทั่ง ขายอาหาร ที่ทำจากเนื้อสัตว์

การดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่ของสัตว์โลกทุกชนิด รวมถึงคนด้วย อาศัยสัญชาตญาณ ป้องกันภัย ให้แก่ตัวเอง โดยวิธีทำร้ายคนอื่นก่อน ไม่ยกเว้นกระทั่งความคิดของคน จึงทำให้คนประดิษฐ์ อาวุธขึ้นมา เพิ่มเติม จากการ "จับสัตว์มาฝึก" เพื่อให้ทำร้าย แทนคน เช่นกับที่เขาฝึกหมา ไปจับคน ฝึกช้างออกศึก นั่นไง ! คนเองก็ล่าสัตว์ แล้วคนก็สอนสัตว์ ให้ไปล่าสัตว์ ล่าคนอีกและอีก.... ต่อๆๆไป เป็นวัฏจักร วงจรของ การเบียดเบียนกันและกัน

ลำพังความดุร้ายของสัตว์กับคน ที่มีมาโดยกำเนิดก็ใช่น้อยแล้ว ยิ่งมาเพิ่มเติม ผสมระหว่าง คนกับสัตว์ด้วย จะเพิ่มดีกรี ของความโหดร้ายขึ้นเพียงใด?

สัตว์กินสัตว์ สัตว์กัดกันเพื่อแย่งชิงผืนแผ่นดินที่อยู่อาศัยกัน สัตว์แย่งการติดสัตว์ กันและกัน แล้วสัตว์ ยังต้องมา เป็นเครื่องมือของคน ในการก่อกรรม ในทำนองเดียวกันอีก ลองคิดดูสิว่า "เวรกรรม"นั้น จะเพิ่มพูนอีกเท่าไร???

สัตว์ที่ถูกคนนำมาเป็นเกมกีฬาต่อสู้กัน จนกระทั่งถึงแก่ความตาย อาจถูกตราหน้าว่า เพราะมันเป็น "เดรัจฉาน" ที่โง่เง่าเต่าตุ่น แต่คนที่ถูกแนะ ถูกนำ ถูกค่านิยมในเชิง ให้เพิ่มความโหดร้ายทารุณ เพิ่มความโลภมากขึ้น จนกระทั่ง "คนกัดกันเอง" รวมไปถึงกัด ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนจะมีโอกาสกัดได้นี่สิ จะน่าสมเพชกว่าเพียงใด

ยิ่งเมืองไทยที่ชื่อว่าเป็น "เมืองพุทธ" ที่มี "ศีล" มี "ธรรม" เป็นบทบัญญัติ ในศาสนาให้คน ปฏิบัติตาม มีพุทธศาสนิกชน ในทะเบียนกว่า ๙๖ % จะทำเมิน มองผ่าน ในเรื่องนี้หรือ คนที่ได้ชื่อว่าเป็น "สัตว์ประเสริฐ" ควรจะเป็นผู้ปกป้อง คุ้มครองภัย ให้แก่สัตว์อื่นๆ ที่ต่ำต้อย ด้อยกว่า แต่กลับเป็นผู้กระทำ ประทุษร้าย สัตว์อื่นเสียเอง แล้วสัตว์ใดเล่า จะยอมรับ ความประเสริฐนั้น เรื่องในทำนองนี้เคยเกิดมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่ เจ้าชายสิทธัตถะ โต้แย้ง ด้วยเหตุผล ถึงการเป็นเจ้าของครอบครอง "หงส์ตัวที่ถูกยิง" ที่พระเทวทัต ยิงมาตก ตรงหน้า เจ้าชายสิทธัตถะ ที่พระองค์นำมาเยียวยารักษา แต่พระเทวทัต อ้างความเป็นเจ้าของธนู ที่ยิง ให้หงส์ตกลงมา นัยะความเป็นคนเหนือกว่าสัตว์ ประเสริฐกว่าสัตว์ ก็น่าจะมอง ให้ลึกซึ้งในรูปรอยเชิงนี้

"ผู้ประทุษร้ายสัตว์อื่น หาชื่อว่าเป็นคนรักตัวเองเลย ผู้ที่รู้ว่าไม่มีอะไรเป็นที่รักยิ่งกว่าตน ไม่ควรประทุษร้าย สัตว์อื่น เพราะการประทุษร้ายสัตว์อื่น ชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายตน" พระพุทธพจน์ กล่าวไว้เช่นนี้

ความโมหะ อวิชชา เป็นเครื่องปิดบังทำให้คนมองไม่ออกว่า "การทำร้ายสัตว์ทำร้ายคนอื่น" ทั้งทางกาย-วาจา-ใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายด้วยการใช้อาวุธ ใช้อวัยวะ จนกระทั่งเลือดตก ตาย หรือทำร้าย ด้วยวาจา ให้เจ็บปวด หรือการทำร้าย ด้วยความคิดทางใจ ล้วนเป็น การทำร้ายตัวเอง เพราะการสั่งสม พฤติกรรมเช่นนี้ เป็นการปลูกฝัง "วิญญาณที่ชั่วร้าย" ให้แก่ตนเอง ทั้งสิ้น

เมื่อ"วิญญาณชั่วร้าย" เสียแล้ว อะไรในโลกทั้งหมดทั้งสิ้นก็ย่อมดีไม่ได้แน่นอน เพราะทุกอย่าง ในโลก ล้วนเป็นสังขาร ที่เกิดขึ้นจาก "คน" เป็นผลพลอย เป็นผลขยาย เป็นผลสืบเนื่อง เป็นผลพวง จากคนทั้งนั้น เพราะคนมีวิญญาณ ที่มีพลังยิ่งกว่า วิญญาณใดๆในโลก

เมื่อวิญญาณใหญ่ วิญญาณอันมีประสิทธิภาพที่สุด อันเป็นบ่อเกิด ของวิญญาณทั้งหมด เลวเสียแล้ว จะหาวิญญาณที่ดีๆ ได้จากที่ไหน?

เรื่องไร้สาะอื่นๆ คนยัง "กัดไม่ปล่อย" กันได้ จะต้อง "เอาเรื่อง" ให้ถึงที่สุด ดูได้จากกรณี การแย่งชิงมรดก ของคนรวย คนดังๆ หลายตระกูลมาแล้ว จากข่าวหนังสือพิมพ์ต่างๆ ทำไม? ผู้มีหน้าที่ ที่จะใช้สิทธิ์ ในการหยุด ห้ามเรื่องไร้สาระทั้งหลาย จะหันมา"กัดไม่ปล่อย" ในการ "เอาเรื่อง" กับพวกนี้บ้าง

ในเมื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน ขึ้นอยู่กับปริมาณ ความหนักแน่น ของคุณธรรม ของผู้ปกครอง ประเทศ ที่จะเอื้อความเมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

การพนันขันต่อของชีวิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการพนันด้วยเดิมพันเงินทอง ข้าวของ ชีวิต ล้วนเป็นสิ่งที่ คนหลงใหลกันอยู่โดยพื้นฐาน เป็นการพนัน ที่ทำให้เสียทรัพย์สมบัติ เสียชื่อเสียง เสียชีพ แต่คงไม่ ร้ายแรงเท่า "เสียนิสัย"

เพราะการ "เสียนิสัย" (คือนิสัยดีๆถูกทำลายหายไปหมด เหลือแต่นิสัยชั่วๆ นิสัยเลวๆ) เป็นการสูญเสีย ที่ยิ่งใหญ่ เพราะ "คนที่ยังมีชีวิต แต่นิสัยเสีย" นี่แหละ ที่เป็นเหตุใหญ่ เหตุแท้ของการ "ทำให้เกิดอะไรๆ ที่เสียๆ" ทุกอย่าง ในโลก

ต่อนี้ไป คำว่า "ปากหมา" ก็คงจะไม่แย่กว่า "ปากมาก"

"หมากัด" ก็คงไม่แย่กว่า "กัดหมา"

ถ้าคนไม่ "แผ่เมตตา" ในเรื่องหมาๆ ก็คงจะต้อง"เสียคน"เพิ่มขึ้นแน่ๆเทียว

เสฏฐชน

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๓ ตุลาคม ๒๕๔๕)