หน้าแรก>สารอโศก

แถลง

โรงบุญมังสวิรัติ หัวหอกของบุญญาวุธหมายเลข ๑

เมื่อมีผู้ถามปัญหาพ่อท่านว่า ถ้าเกิดสงครามโลกหรือกลียุค พวกเราจะอยู่รอดได้อย่างไร?
พ่อท่านอธิบาย ถึงคน ๒ กลุ่ม ที่จะรอดพ้นจากการเข่นฆ่าระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน นั่นก็คือ
๑. กลุ่มพวกพยาบาล ๒. กลุ่มพลาภิบาล หรือกลุ่มที่สร้างอาหารบำรุงเลี้ยงโลก

พ่อท่านย้ำกับชาวอโศกอยู่เสมอว่า เราจะต้องมาเป็นคนติดดิน มาเป็นชาวไร่ชาวนา สร้างพืชพันธุ์ธัญญาหาร เลี้ยงมนุษย์ในโลกนี้ ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดโรงบุญมังสวิรัติตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้น ในสังคม เช่น โรงบุญฯเนื่องในวันที่ ๕ ธันวาฯ เป็นต้น



ทุกวันนี้นอกจากชุมชนต่างๆของชาวอโศกและญาติธรรมที่อยู่กระจายตัวทั่วประเทศ จะจัดโรงบุญ มังสวิรัติ เป็นงานประจำปีแล้ว ก็ยังมีหมู่บ้านต่างๆที่ได้ผ่านการอบรมสัจธรรมชีวิต ได้ช่วยกันจัดโรงบุญมังสวิรัติ ขึ้นเช่นเดียวกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ตามสาขาต่างๆ คอยช่วยประสานงาน ให้โรงบุญฯ สำเร็จลุล่วง ไปได้ด้วยดี ภายใต้เงื่อนไขที่สำคัญคือ จะต้องไม่มีการเรี่ยไรเงินทองแต่อย่างใด ใครมีข้าว มีผัก มีผลไม้ เช่น กล้วย มะละกอ ก็เอามาร่วมแรงร่วมใจกันจัดโรงบุญฯเลี้ยงอาหารกันให้อิ่มหนำสำราญไปด้วยบุญ ซึ่งทำให้ที่ราชธานีอโศกสามารถจัดโรงบุญฯใหญ่ๆกระจายไปตามเครือข่ายต่างๆในจังหวัดอุบลฯได้ถึง ๑๐ แห่งด้วยกัน ในปีหน้าคาดว่าจะขยายผลออกไปตามหมู่บ้านต่างๆได้มากกว่านี้ และถ้ายิ่งสามารถ รณรงค์ให้ชาวบ้านเตรียมตัวปลูกพืชผักไร้สารพิษไว้แต่เนิ่นๆ โดยให้ทุกอย่าง เขียวบานสะพรั่ง พร้อมกัน ในวันที่ ๕ ธันวาฯ ปีหน้าได้ ก็คงจะเป็นการพิสูจน์ฝีมือของศูนย์อบรมแต่ละแห่งว่า สามารถอบรม ให้ชาวบ้านเอาสูตรปุ๋ย สูตรการทำกสิกรรมไร้สารพิษ ไปใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะ สามารถทำให้จิตใจ ของชาวบ้าน รวมตัวเสียสละกันได้มากน้อยแค่ไหนอีกด้วย

ดร.สันทัด โรจนสุนทร ได้นำพระราชดำรัสของในหลวงที่ห้วยทราย ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงความลึกซึ้งในการแก้ ปัญหาแบบยั่งยืนและบูรณาการ โดยยกตัวอย่างกรณีของการปลูกป่า ๓ อย่าง เพื่อประโยชน์ ๔ อย่าง ดังนี้
๑. ปลูกไม้ฟืน เพื่อเป็นเชื้อเพลิง
๒. ปลูกป่าไม้ผล เพื่อเก็บกินและขายได้ทุกปี
๓. ปลูกป่าไม้ใช้สอยทั่วๆไป

หากชาวบ้านปลูกป่าไม้ ๓ ประเภทนี้เพื่อใช้เองแล้ว ป่าธรรมชาติก็จะอนุรักษ์โดยปริยาย ไม่มีการบุกรุก เพื่อทำลาย และเพื่อให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ทรงกำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตใจ ให้เกิดความรักต้นไม้ด้วย ดังพระราชดำรัสที่ว่า

"เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะต้องปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้น ก็จะพากันปลูกต้นไม้ ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้นั้นด้วยตนเอง"

คณะผู้จัดทำ

สารอโศก อันดับที่ ๒๕๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๕