หน้าแรก>สารอโศก


"วันพ่อ"



อาศิรวาท
บุญใดใหญ่เทียบแท้ เทียมไทย
บุญที่มีภูวไนย เลิศเจ้า
บุญพระแผ่ปกไป เปี่ยมสุข พสกเอย
บุญสุดเศียรสุดเกล้า พระบาทคุ้มโพยภัย

เทิดใดสูงส่งด้วย กิริยา
เทิดทุกกรรมนานา นอบน้อม
เทิดหมดเลือดวิญญาณ์ กายหมอบ พระเอย
เทิดสุดเศียรสุดค้อม พรั่งพร้อมพูนนัย

เหนือใดในแผ่นด้าว แดนสยาม
เหนือค่าดีเด่นงาม ประเสริฐล้ำ
เหนือสุขทุกรูปนาม ทุกขณะ
เหนือสุดเหนือจุ่งค้ำ พ่อไท้นิรันดร์เทอญ

อาศิรวาทจากแรงบันดาลใจของ "สไมย์ จำปาแพง" ผู้ประพันธ์ หรืออีกนัยหนึ่ง
สมณะโพธิรักษ์ ถึงพ่อหลวง ของแผ่นดิน.....


เนื่องในโอกาสวันพ่อ ขอนำท่านพบกับ ความหมายของ "พ่อ" จากพ่อผู้ให้กำเนิดชีวิต ถึงพ่อทางธรรม ผู้ขัดเกลา จิตวิญญาณ ให้พัฒนาสู่สูง โดยพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ณ บัดนี้

แบบอย่างที่ดีของพ่อควรเป็นอย่างไรคะ?

เราต้องเข้าใจคำว่า "พ่อ" ให้ดี ประเทศไทยเราเทิดทูน พระเจ้าอยู่หัว เรามีกษัตริย์ เป็นสมเด็จพ่อ ที่ทุกคน ถือเป็น ยอดหัวใจ ในประเทศ เพราะความเป็นพ่อ นี่แหละ เป็นความรู้สึก กินลึก ทางจิตวิญญาณ ทางมนุษยชาติ แม้จะไม่ใช่ สายเลือด แต่ความเป็นพ่อ ที่เป็นอย่างในหลวง เป็นต้น ก็เป็นความเคารพบูชา ที่ท่านมีพระคุณยิ่ง ต่อคนไทย ทั้งชาติ โดยมีมวลประชา เป็นเสมือนลูกๆ อันมีสภาพ ที่จะเลี้ยงดูลูก หรือสภาพที่ต้องกางปีก ปกป้องให้อบอุ่น มีทุกข์อะไร มีความเดือดร้อน อะไร มีความไม่เจริญอะไร ก็จะต้องแก้ไขปรับปรุง ซึ่งเป็นงานที่หนัก และเป็นเรื่องของ จิตวิญญาณ ที่ต้องมี ความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นจิตวิญญาณ ของพระเจ้า เป็นอัปปมัญญา ซึ่งเป็นจิต ที่ดีที่สุด ของมนุษยชาติ ผู้ใดที่เข้าใจ คุณลักษณะอันนี้ อย่างดี ก็พึงสร้าง คุณลักษณะนี้ให้ได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ ในฐานะ ของความเป็นพ่อทั่วไป เช่น มีลูกขึ้นมา คุณลักษณะนี้ ก็ต้องติดตามมา และเราก็สร้าง คุณลักษณะ ความเป็นพ่อนี้ ให้แก่ตัวเราได้ เราก็จะเป็นพ่อเล็กๆ ที่ต้องดูแลลูก ส่วนตัวของเรา ไปเป็นพ่อเล็กๆ จนสามารถ กลายเป็นพ่อ ที่มีฐานะ หน้าที่สูงขึ้น เกื้อกูลคนมากขึ้น นอกจาก ครอบครัวของเรา ลูกหลาน ของเราแล้ว ก็สามารถ กางปีก ปกครองผู้อื่น กว้างขึ้นๆ เป็นพ่อที่มีคุณลักษณะ อันดีงาม จนถึงระดับ เป็น ผู้บริหาร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสังคม ขึ้นไปตามลำดับ โดยมีคุณลักษณะเดียวกัน คือมีความรักลูก จะรักลูก อย่างไร ก็พอจะใช้สามัญสำนึก เข้าใจกันได้ว่า การรักลูก ก็คือ ต้องการให้ลูกดีขึ้น เจริญขึ้นนั่นแหละ เป็นเรื่องใหญ่ เป็นความหมายใหญ่ ที่ทุกคนต้องมี

ในด้านศาสนา ผู้ที่จะมาเป็นสมณะ หรือเป็นนักบวช ต้องฝึกละ ตัวตน ละสมบัติบ้านช่อง เรือนชาน ละความโลภ โมโทสัน กอบโกย มาให้แก่ตัวแก่ตน ศาสนาพุทธ เป็นศาสนา ที่สอนคน ให้ลดกิเลส ลดตัวตน แต่ไม่ใช่ว่า เมื่อลดตัวตนแล้ว ต้องหนีไปอยู่ในป่า ในเขาในถ้ำ ไปให้ไกลที่สุด ดังที่พระพุทธเจ้า เคยตรัสกับ โรหิตัสสะว่า ถึงจะหนีโลก ไปให้ไกลสุดโลกอย่างไร ก็ไม่พ้น เพราะฉะนั้น การหนีโลก จึงเป็นความคิดที่ผิด เราต้องเรียนรู้โลก และ อยู่กับโลก อย่าง"เหนือโลก " ให้ได้ เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธ จึงเป็นศาสนา ที่รู้จริง ตามความเป็นจริง และ เรียนรู้เหตุ คือกิเลส ที่ทำให้เราตกเป็นทาส แต่ถ้าเราล้าง กิเลสได้ ไม่ตกเป็นทาส เราก็จะ "อยู่เหนือ" เป็นโลกุตรจิต เมื่อเป็น โลกุตรจิตแล้ว เราก็จะเป็นคนรู้จักโลก อย่างมีโลกวิทู มีพหูสูต มีวิสัยทัศน์ที่จะช่วยเหลือ เกื้อกูลโลก โดยไม่เห็นแก่ตัว แต่เข้าใจ และ ช่วยเหลือ คนอื่น อย่างแท้จริง

พุทธศาสนาสอนคน ให้มีคุณธรรมอย่างนี้ ผู้ที่มาเป็น นักบวชแล้ว ถึงแม้จะไม่มีลูก ทางสายเลือด แน่นอน แต่ก็จะมีลูก โดยคุณลักษณะ ตามที่กล่าวมา ข้างต้น เป็นคุณลักษณะ ที่มีจิตอัปปมัญญา หรือจิตพระเจ้า ให้ความอบอุ่น ช่วยเหลือเกื้อกูลอุ้มชู อย่างมีเมตตา เพราะฉะนั้น เมื่อมีความรู้ความสามารถ มีพหูสูต มีโลกวิทู รู้เท่าทันโลก ก็จะช่วยเหลือคนอื่นๆ ไม่ให้ตกเป็นทาสโลก อย่างที่เราเอง เคยตกเป็นทาสมาก่อน และหลุดพ้น มาได้อย่างนี้ ฉะนั้น ท่านก็ทำหน้าที่ ซึ่งมีคุณลักษณะ เหมือนพ่อ ขึ้นมาอีกเหมือนกัน โดยจะช่วยสังคม ช่วยโลก ได้อย่างบริสุทธิ์ เพราะไม่ต้องไปคำนึง ถึงลูกที่เป็นสายเลือด ของตนเอง มีความกรุณาปราณี ที่จะช่วยลูกคนอื่นๆ ได้โดย ไม่ต้องลำเอียง กับลูกตัวเอง เพราะเป็นลูกโดยธรรม

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของสังคม หรือเป็นมนุษยศาสตร์ต่างๆ ที่เราต้องเข้าใจ และทำให้ถูกต้อง เป็นสัจธรรม ที่สุด เพราะฉะนั้น การที่จะยกย่อง จะเน้นจุดที่ให้ระลึก ถึงคุณค่า ความดี ของผู้ ปฏิบัติตนเป็นพ่อ ไม่ว่าจะเป็น พ่อทางธรรม หรือพ่อทางโลกก็ตาม เราก็พึงเข้าใจ แก่นสารให้ได้จริงๆ ฉะนั้น จึงควรมีการสร้าง พิธีกรรม เพื่อให้รู้สึก และเข้าใจ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม อันจะให้ก่อเกิดการปฏิบัติ ทั้งภาคพฤติกรรม และ ภาคนามธรรม ที่ลึกซึ้ง ในสิ่งเหล่านี้ ให้กับมนุษยชาติ เพราะมันเป็นประโยชน์คุณค่า ต่อโลกจริงๆ

ในฐานะที่พ่อท่านก็ทำหน้าที่พ่อ มีลูกมากมาย
อยากทราบว่า คุณธรรมที่สำคัญของพ่อ คืออะไรคะ?

อาตมาก็ปฏิบัติตามที่ได้ศึกษาธรรมะ ตามอย่าง พระพุทธเจ้า ที่พระองค์เป็นตัวอย่าง อันวิเศษสุดยอด โดยเราจะต้อง มีการฝึกฝนตัวเอง มีความเป็น อัปปมัญญา หรือพรหมวิหาร ๔ ซึ่งอาตมา พยายาม อธิบาย อยู่เสมอ แต่คนก็ยังเข้าใจ ไม่ค่อยได้ เมตตา กรุณา ก็แยกกันไม่ออก หรือแม้แยกออกแล้ว ก็ต้องปฏิบัติ ให้ถูกด้วย เมตตาคือ มีจิตปรารถนา ให้คนอื่นได้ดี ให้คนพ้นทุกข์ เห็นเขาตกทุกข์ได้ยาก ก็อยาก ช่วยเหลือเขา เป็นการเกิด ทางจิตก่อน ไม่อยากให้ใคร ได้รับความลำบาก ทุกข์ร้อน สงสารเขา

ส่วนกรุณา คือ มีการลงมือกระทำ เมื่ออยากให้เขา พ้นทุกข์ ก็ลงมือช่วย ปฏิบัติตามความสามารถ ตามความอุตสาหะ วิริยะของเรา เท่าที่มี จนสามารถ ช่วยเขาได้ ทำให้เขาพ้นทุกข์ มีความเจริญดีขึ้น ตามที่เราเข้าใจ และปรารถนา ให้เขาเป็น เมื่อช่วยได ้สมใจเราแล้ว เราก็ยินดีกับสิ่งนี้ เกิดมุทิตา เป็นใจยินดี และใจยินดีนี้ ถ้าเราไม่เรียนรู้ต่อ ก็จะกลายเป็นปีติ กลายเป็น ปราโมทย์ อันกลายเป็น อุปกิเลสซ้อน เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจอุปกิเลส ปีติ ปราโมทย์ แล้วล้างให้หมด จนเป็นจิตที่ มุทิตาเฉยๆ คำว่า มุทิตา ไม่ใช่ยินดี เท่านั้น แต่ต้องเป็น จิตที่ยินดี และ รู้แจ้งด้วยว่า อุปกิเลส ของความยินดี ปราโมทย์ เป็นอย่างไร ถ้าเรายังหลงติดอยู่ จนกลายเป็น มานะอัตตา ถือดีถือตัว เป็นเชิงข่ม เอาดีไปข่มเขา ทั้งๆที่มีดีจริงก็ตาม การเอาดีไปข่มเขา จะทำให้ ถือดีถือตัว ที่ไม่เกิดประโยชน์ เป็นภัย ทั้งต่อตน และผู้อื่น มุทิตาที่สมบูรณ์ คือเขาได้ดีแล้ว เราก็ยินดี ตามความเป็นจริงนั้น แล้วก็อุเบกขา เพราะฉะนั้น จะต้องเดินบทไปถึง ตัวอุเบกขา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นภาษา ที่กำหนดขั้นตอน ของการพัฒนา จิตวิญญาณมนุษย์ และ ก็มีพฤติกรรม ในสังคมด้วย อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นเรา ให้ปล่อยวาง เป็นอุเบกขา จนหลุดพ้น นี่คือคุณธรรม ๔ ประการ ของอัปปมัญญา หรือ พรหมวิหาร ๔ ซึ่งเป็นของ พระพุทธเจ้า อาตมาก็ทำตาม พระพุทธเจ้านี่แหละ

แต่ปัจจุบัน เนื้อหาสัจธรรมของ พรหมวิหาร ๔ แบบ "อเทวนิยม" ของพระพุทธเจ้า กลายเป็นความเพี้ยน อธิบายเพี้ยน จนกระทั่ง ตกเข้าไปเป็นแบบ "เทวนิยม" พรหมวิหาร ๔ ของพุทธ ก็กลายเป็นเทวนิยม แต่มันก็ยังเป็น ลักษณะ ของจิตวิญญาณ โดยพระจิตวิญญาณ ของพระผู้เป็นเจ้า ตามที่เขาเข้าใจ มาแต่ไหนแต่ไร ก็มีคุณสมบัติทั้ง ๔ นี้อยู่ แต่เมื่อเข้าใจ เพี้ยนไป เป็นสภาพของ เทวนิยมแล้ว มันก็กลายเป็น สภาพที่รู้ ความละเอียดไม่ครบ มีความรู้ละเอียด ไม่สมบูรณ์ และกลายเป็นเรื่อง ติดๆ ยึดๆ ดังที่เป็นอยู่ แต่ว่าพุทธศาสนา เรียนรู้เรื่องนี้ มาเก่าก่อน เพราะโลกนี้ ที่จริงเป็น อจิณไตย ซึ่งกลับไป กลับมา เป็นพราหมณ์ และก็เป็นพุทธ เป็นพุทธแล้ว ก็เป็นพราหมณ์ เป็นศาสนา เทวนิยม แล้วก็มาเป็น อเทวนิยม ใครเป็น อเทวนิยม สัมมาทิฏฐิ แน่นอนแล้ว ก็ไม่เวียนกลับไป เป็นเทวนิยมอีก ส่วนใครที่ ยังไม่เป็น อเทวนิยม หรือเป็น อเทวนิยมไม่จริง ก็จะเลื่อนวนไปหา เทวนิยมใหม่ กลายเป็น เทวนิยม อยู่อย่างนั้น

ศาสนาในโลก ก็หมุนเวียนไปอย่างนี้ แต่ถ้ามั่นคง เป็นอเทวนิยม ที่ชัดเจนแล้ว จะไม่เปลี่ยนแปลงอีกเลย เทวนิยม เขานึกว่า เขานิจจัง ซึ่งความจริง มันเป็น อนิจจัง อันนี้ซับซ้อน จริงที่เขามั่นคง เขาเด็ดเดี่ยว ศรัทธา เหนียวแน่น แต่มันก็ยังมี ความอนิจจังอยู่ ในสัจจะแท้ เผอิญศาสนา อเทวนิยม ของพุทธนี้ รู้จัก อนิจจัง จนแก้ไข อนิจจัง ให้เป็น สิ่งที่เที่ยงแท้ เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าถึงสัจธรรมแล้ว อเทวนิยม จะเที่ยงแท้ โดยไม่มีปัญหา เที่ยงแท้โดยรู้หมด เพราะรู้จัก ความสูญ ความไม่มีตัวตน ความไม่มี อะไรยึด อะไรติด เข้าใจสว่างทุกด้าน จึงเป็นความคงทน ที่รู้แจ้งสุดยอด ไม่มีอะไรสงสัย เมื่อผู้ใดสามารถ ที่จะเรียนรู้ สามารถที่จะทำ ให้ตนเอง เป็นพระเจ้า หรือ เป็นผู้ที่มี เมตตาอย่างนี้ ก็จะทำจริง อย่างที่อาตมา ได้ปฏิบัติธรรมะ ของพระพุทธเจ้ามา

พ่อท่านเคยรู้สึก เหน็ดเหนื่อย ในการสอนลูกๆหรือไม่?

พวกคุณ ก็คงเคยเห็น เคยรู้อยู่ หรือเคยถามว่า ทำไม อาตมาไม่ท้อแท้ ไม่เบื่อหรือไง ทั้งที่น่าเหน็ดเหนื่อย แต่อาตมา ก็ไม่เหนื่อยหน่ายอะไร เหนื่อยก็เหนื่อย ตามที่จ่าย แคลอรี่ไปทางกาย จ่ายแคลอรี่ ไปทางสมอง แต่ด้านการจ่าย แคลอรี่ไป ทางใจไม่มีปัญหา บางที ก็เพลียบ้าง ถ้าใช้พลังงาน ทางสมองมากๆ แต่ทางร่างกาย มันเพลียชัด แต่ถ้าเราฝึกฝน เราก็ทนทาน ทนได้ดี ทนได้นาน เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นจริง เราจะทนได้ คำพูดสั้นๆที่ว่า เราทนได้ เพราะเราเห็นจริง ก็คือ เรารู้ว่า สิ่งนี้ดีจริงๆ เป็นคุณค่า จริงๆ และเราก็ตั้งใจ มาทำสิ่งดีๆนี้ ให้แก่คนอื่น เราก็มีประโยชน์ ต่อคนอื่น ซึ่งเราไม่สงสัย และไม่มี ตัวเลือก ไม่มีตัวเทียบ ที่ดีกว่านี้ ถ้าเราวิริยะ อุตสาหะ เราก็ยิ่ง มีฝีมือ มีความชำนาญยิ่งขึ้น เจริญยิ่งขึ้นด้วย ได้ทำดี มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ทั้งมีความรู้ ความชำนาญ ยิ่งขึ้น ไม่มีทางเสีย สักอย่าง มีแต่ทางเจริญขึ้น ฉะนั้น เรื่องอะไร เราจะท้อแท้ ท้อถอย นอกจากเมื่อย เราก็พัก ไม่เมื่อย เราก็เพียร เราตั้งใจทำ อย่างนี้จริงๆ ทำแล้ว ก็มีความก้าวหน้าอยู่ แม้ยังไม่มาก ก็ไม่ติดใจ อาตมา ก็จะได้รู้ว่า เรายังไม่มีฝีมือ จะไม่โทษใคร ที่เราไม่มี ความสามารถ ทำความก้าวหน้า ได้มากกว่านี้

ลูกบางคนทั้งโง่ ซ้ำยังดื้อ ทำให้พ่อเหนื่อยแสนเหนื่อย?

ก็ยอมเหนื่อย เพราะการช่วยคน เป็นเรื่องยาก การเปลี่ยนแปลง คนสู่ดี ก็เป็นเรื่องยาก ซึ่งเราเข้าใจ อยู่แล้ว แต่ถึงยาก เราก็ต้องทำ มันยังทำไม่ได้ ก็แสดงว่า เราไม่มีฝีมือ เท่านั้นเอง ถ้าเรามีฝีมือ สักวัน เราก็ต้องทำได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ที่ทำได้บ้างแล้ว ก็มีได้ให้เห็นอยู่

พ่อท่านมีเป้าหมายคล้ายมหายานหรือไม่
ที่จะช่วยแม้ลูกคนสุดท้าย ที่โง่ที่สุด?

อันนั้นเป็นการตั้งอุดมการณ์ เอาไว้ให้เลิศลอย เป็นความเลิศลอย เพื่อที่จะนำพาตัวเอง ให้มีพลัง สร้างสรร ได้มากที่สุด อาตมาก็พยายาม ตั้งให้เป็นพลัง เพื่อที่จะทำ ให้ได้มากที่สุด เหมือนกัน แต่อาตมา ไม่เข้าใจผิดว่า อาตมา คงไม่ถึงขนาดนั้น โดยรู้ว่า สิ่งเหล่านั้น เป็นไปได้ยาก ที่จะช่วยให้ได้หมด ทั้งโลก พระพุทธเจ้า ก็ปรินิพพานไปแล้ว ไม่รู้กี่พระองค์ ก็ไม่เห็น จะช่วยคน ได้หมดทั้งโลก อาตมาจะเก่งกว่า พระพุทธเจ้านั้น เป็นไปไม่ได้หรอก เราก็ทำไป แต่ว่า นี่ก็เป็นอุดมการณ์ ผู้ที่ตั้งจิตอย่างนั้น อย่างพระ อวโลกิเตศวร ท่านจะช่วย รื้อขนสัตว์ ให้หมดทั้งโลก จนหมดคนสุดท้ายแล้ว ท่านจึงจะปรินิพพาน ก็เป็นอุดมการณ์ ที่ตั้งได้ ไม่แปลกอะไร ก็เป็นเรื่องดี แต่โดยความเป็นจริงแล้ว อาตมาไม่ได้ตั้งจิต ถึงปานนั้น ก็เพียงแต่ มีจุดหมายปลายทางว่า ทำได้ขนาดหนึ่ง สูงสุด ก็อย่างพระพุทธเจ้า องค์ใดองค์หนึ่ง ทำได้ขนาดนี้ ก็เอาละ

ทำไมพ่อท่านมีเมตตามาก?

ถ้าเราไม่ได้มีเมตตามาก เราก็ไม่ใช่ ศาสนาพุทธแล้ว ศาสนาพุทธ ต้องมี เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม อย่างแท้จริง แล้วก็เกื้อกูล คนอื่นเขา และเราก็ต้องรู้ ความจริงด้วยว่า การเกื้อกูล ก็ไม่ใช่ จะช่วยคน ไปได้ทุกคน คนนี้เราจะช่วยอะไรเขา ไม่ได้แล้ว พระพุทธเจ้า เคยตรัส ช่วยไม่ได้แล้ว ก็ต้องเหมือน ฆ่าทิ้ง คล้ายกับการฝึกม้า ฆ่าอย่างธรรมะ คือ ลงพรหมทัณฑ์ ไม่สอนแล้ว คือ ผู้ใด ที่เราเห็นว่า ควรจะพรหมทัณฑ์ ควรจะปล่อย เพราะเสียเวลา และ ไม่เป็นประโยชน์ อาตมาเอง กับบางคน ก็ไม่กล้า ไม่อาจเอื้อม หรือไปสอน ก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะเขาเอง ยึดของเขา เชื่อของเขา และเราก็รู้ว่า สอนเขา ไม่ได้หรอก เขาเองเข้าใจว่า อยู่เหนือเราด้วยซ้ำ เราก็ไม่ไปสอน ให้เสียเวลา เราจะช่วยคนที่พอช่วยได้ เพราะยังมี คนในโลก ให้ช่วยเยอะแยะไป

ลูกๆอยากทราบว่า สุขภาพของพ่อท่านวันนี้
เทียบกับเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ต่างกันอย่างไรคะ?

วันที่ ๕ มิถุนายน ปี '๔๖ ตรงกับ วันคล้ายวันเกิด ของอาตมา ก็จะมีอายุครบ ๖๙ ย่าง ๗๐ ปี ถ้าพูดถึง สุขภาพโดยรวม ทุกวันนี้ อาตมาก็อยู่ในสภาพ ที่ยังใช้ได้ แข็งแรงสมวัย ขณะนี้ ก็ไม่เจ็บป่วย ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีความเสื่อมบ้าง ตามอายุขัย ในบางสิ่งบางอย่าง โดยเฉลี่ย ตามที่หลายคน รู้สึกก็ตาม แม้แต่ตัวเอง รู้สึกก็ตาม ค่าเฉลี่ย ที่เมื่อเทียบกับ บุคคลทั่วไป ก็อยู่อันดับ แข็งแรงดีพอใช้ได้ จะไม่ให้เสื่อม และ ดูเหมือนคน อายุ ๓๐-๔๐ ปี มันไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้น ความกระปรี้ ประเปร่า ความมีพลัง คล่องแคล่ว ว่องไว ก็ลดไปบ้าง หรือแม้แต่ความจำ ก็ลดไปเยอะ แต่ในเรื่องของ ปฏิภาณ ปัญญา ก็รู้สึกว่า ยังไม่ถดถอยอะไร นั่นเป็นเรื่องสังขาร แต่ถ้าว่ากัน ในเรื่อง ของจิตใจ อาตมาว่า คงที่ อาตมายังสดชื่น แข็งแรง ยังมีความกระตือรือล้น มีพลังเหมือน เมื่อหนุ่มๆ อาตมาว่า เหมือนเดิม ที่ไม่ได้ ลดหย่อน ในความขยัน หมั่นเพียร กระตือรือล้น เอาใจใส่ ปรารถนา ที่จะทำ อะไรอยู่ เท่าที่ทำได้ ก็ยังมีใจอย่างนั้น ไม่ได้ท้อแท้ ไม่ได้เหนื่อยหน่าย ยังเหมือนหนุ่ม จนกระทั่ง เดี๋ยวนี้ เพียงแต่สังขารไม่ให้ เท่านั้น งานก็ทำไม่ทัน ทำไม่ไหว มันก็ช้าลงบ้าง แม้แต่กล้ามเนื้อ สรีระ ก็ไม่ยืดหยุ่น ตึงเต่ง ความคล่องแคล่ว ลดลงไปบ้าง รู้สึกว่า ตัวเองช้าลง เป็นความเฉื่อย ชนิดหนึ่ง เพราะองค์ประกอบ ทางด้านสรีระ ก็ยังรู้สึกว่าตัวเอง ไม่น่าเฉื่อย น่าจะเหมือนตอน อายุ ๒๐-๓๐ ปี ก็รู้ว่าเป็น ความปรารถนา ที่มากเกินไป

จุดอ่อนของพ่อท่านในเรื่องของคอและตา เป็นอย่างไรบ้าง?

เรื่องคอก็เสื่อม เพราะว่ามีอาการไอ ระคาย เนื่องจาก ใช้มาก เราก็รู้ว่าใช้มามากขนาดนี้แล้ว จะให้มันใส อย่างเดิม โดยไม่มีอาการ ขลุกขลัก ไม่มีความแหบลง พร่าลง มันก็ไม่ใช่แล้ว ทุกวันนี้ ใช้งานได้ดี ไม่นาน เท่าที่ควร ส่วนตา ก็เหมือนกัน เพราะต้องดู ต้องตรวจ ต้องอ่าน หนังสือหนังหา อยู่ตลอดเวลา ในแต่ละวัน อาตมาใช้ตา มากกว่าคอ เพราะเราไม่ได้พูด ตลอดเวลา เวลาพูด ทุกวันนี้ น้อยกว่า ที่อาตมาใช้ตา เพราะฉะนั้น ตาก็เสื่อม จนกระทั่งตาข้างขวา เกิดปฏิกิริยา เส้นเลือดฝอย ในลูกตาแตก และเกิดเลือดคั่ง จนบังจอภาพ เรตินา และมันบังพอดี ตรงจุดโฟกัส แมคคิวลา (Macula)

หมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องตา ก็จำนน พยายามช่วย สุดที่แล้ว ก็ได้เท่านั้น ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ ถ้าโชคดี เลือดที่คั่ง เกิดสลายไปเอง ก็เป็นบุญ ถ้าไม่สลาย ก็อยู่ของมัน อย่างนั้น เพียงแต่ป้องกัน อย่าให้เป็นเพิ่ม นอกนั้น ก็ป้องกันตาอีกข้าง ไม่ให้เป็น อีกเรื่องก็คือ ต้อกระจก ซึ่งเป็นที่ตาทั้ง ๒ ข้าง ข้างซ้ายเป็นน้อย ไม่มาก เท่าข้างขวา อาจเป็นเพราะ ตาขวาเสื่อม จึงอ่อนแอกว่า ก็ไม่ทราบได้

มีความระคายเคืองอะไรหรือไม่?

ดีอยู่อย่าง อาตมาไม่มีความระคายเคือง ไม่เจ็บไม่ปวด อะไรเลย เป็นแต่เพียงเสื่อม เพราะใช้สอย เสื่อมลักษณะ ลงมา ให้ใช้สอยได้ ไม่สมบูรณ์เท่านั้น แต่ไม่กระทบ กระเทือน ทางด้านเจ็บปวด หรือ ก่อความรำคาญอะไร ถ้าจะไปผ่า ต้อกระจก ขณะนี้ หมอก็ว่าผ่าได้ ถ้าผ่าแล้ว ก็จะได้รับ ความใส เพิ่มขึ้น ได้รับแสง เข้ามาช่วย ก็คิดว่า จะหาเวลา ไปทำ โดยจะปรึกษา หมออีกที

การที่เหลือดวงตา ใช้ทำงานเพียงข้างเดียว ทำให้พ่อท่าน รู้สึกลำบาก หรือไม่อย่างไร?

ไม่ลำบาก แต่จะว่ารำคาญ ก็น่ารำคาญได้ สำหรับ คนที่ติดยึด แต่อาตมา ไม่ใช่คนติดยึด อาการตา ข้างขวา มันเหมือนมีอะไร มาบังตาอยู่ โดยถ้าคุณ ไม่ได้หลับตา คุณก็ต้องเห็นมัน อาตมา จึงเข้าใจว่า บางคน ก็คงรำคาญ เมื่อใช้มันไม่ได้เต็มที่ เขาก็เลย ปิดมันซะข้าง อย่าไปใช้ ใช้ตาข้างเดียว ก็จะทำให้ ไม่เกิด ความรำคาญ ทั้งที่ตาเขา ไม่ได้บอด แต่คงเหมือน อาตมา มันก็น่ารำคาญ สำหรับ คนรำคาญ แต่จิตของอาตมา ตัดเรื่องนี้ได้ ก็ไม่เป็นไร เราไม่ได้สนใจ ในเรื่องที่เป็น ตัวรำคาญ แต่เราได้ประโยชน์ ตรงที่ ถ้าเราใช้สองตา ก็จะได้รับแสง เข้ามาช่วย ให้รับภาพ ๓ มิติเต็ม มันก็ยังดี ไม่เป็นปัญหา จนกว่า มันจะมีอะไร แรงกว่านี้ เป็นปฏิปักษ์ จนก่อความรำคาญ ก่อสิ่งที่ ไม่สะดวกจริงๆ แล้วค่อยว่ากัน แต่ถ้ามันยังเป็นอย่างนี้ ไปตลอด อาตมาว่า ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร

ในวาะปีใหม่ ลูกๆกราบขอพร จากพ่อท่าน

มีความตั้งใจความคิด หรืออุดมการณ์ ที่มีอยู่อย่างเดิม ให้ทุกๆคน ยิ่งเป็นลูกก็ยิ่งจะให้เจริญ อยากจะให้ เอาใจใส่ อยากจะให้....อย่าดูดาย หรือว่าอย่าผัดผ่อน "อย่าผัดผ่อน" คำนี้อาตมาว่า น่าจะนำไปพิจารณา ความหมายให้ชัดๆ ผัดผ่อนคือ ตัวเราเอง ปล่อยไปเรื่อยๆ ปล่อยไปวันๆ อันนี้เอาไว้ก่อน ซึ่งการผัดผ่อนเช่นนี้ เป็นการเดินไปสู่ ความตาย ใกล้วันตาย เข้าไปทุกที โดยไม่ปฏิบัติกิจ ไม่กระทำ ความเจริญ ให้แก่ตัวเองยิ่งๆขึ้น หลักการทฤษฎี วิธีการอะไรก็มีอยู่ทั้งสิ้น แต่ความไม่เอาถ่าน ของแต่ละคน โดยการประมาท คือตอนนี้ เราก็พอสบาย การขวนขวาย หรืออุตสาหะ ก็ต้องเหนื่อย ก็ต้องบังคับ ต้องฝืนตัวเอง เพราะตัวเอง จะดีขึ้นได้ ต้องตั้งตน อยู่บนความลำบาก ต้องฝึกฝน ต้องอดทน ซึ่งคนไม่ค่อย อยากทำ ใช่ไหม

ตัวนี้แหละอยากให้ระลึก อยากให้สำนึกสังวร อย่าปล่อยปละ ละเลย อย่าผัดวัน ประกันพรุ่ง อยากขอให้ มีความพากเพียร วันเวลาทุกวินาที เป็นวินาทีแห่งบุญอันคือ การชำระ สิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม ให้แก่ตนเอง เป็นการพัฒนาตนเอง เหมือนที่ พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า ไม่สรรเสริญ การหยุดอยู่ การคงที่ เราสรรเสริญ แต่การเจริญขึ้น อยู่ทุกขณะ ทุกๆ วินาที ป่วยการกล่าวถึง ความเสื่อม ฐิติสูตร ที่อาตมา ยกขึ้นมาก็ดี แม้แต่ในเมถุนสังโยค ข้อที่ ๗ ที่ว่า อย่าติดแป้น อย่าไปติดที่เราเป็นเทวดา องค์ใด องค์หนึ่ง อยู่ในที่ๆ เราพอใจ เรามักน้อยแค่นี้ สันโดษแค่นี้ เราไม่ขี้โลภแค่นี้ ขวนขวายได้แค่นี้ ก็ดีแล้วนี่ เพราะเรา ก็ทำดี มากกว่าที่เรากิน เราใช้ เราอาศัย และเราก็เหลือ กำไรอาริยะ พอแล้ว ทั้งๆที่มีโอกาส มีเรี่ยวแรง ที่จะทำอีกได้ ก็ไม่ทำ นี่เป็น ความประมาท ยังมีความดีอีกมาก ที่เราทำได้อีก ควรทำ ให้ยิ่งๆขึ้น เพราะสังคม ต้องการคนดี ทั่วโลกเลย ไม่ใช่แต่ ประเทศไทย เท่านั้น ต้องการมากๆ เพราะคนเสื่อมลง คนเลวลง พูดอย่างชัดๆ ฟันธงเลยว่า คนฉลาด ก็ฉลาดเสื่อม ฉลาดทำให้โลกยิ่งร้อน ยิ่งลำบาก ฉลาดเอาเปรียบเอารัด แค่เอาเปรียบ ตัวเดียว ก็รุนแรงแล้ว ฉลาดที่จะเอาชนะ คะคานคนอื่น เลวร้ายขึ้น ทุกวัน เพราะไม่ศึกษา ศาสนา ไม่ศึกษา กิเลส ตัณหา ถ้าพูดกันโดยสามัญ ก็พอรู้ว่าไม่ดี แต่ทนไม่ได้ ต่อกิเลส ที่มีอำนาจมากกว่า ต้องกำจัด ที่ต้นเหตุ กิเลสตัวนี้ ถ้าไม่กำจัด ไม่มีทาง อย่างดี ก็แค่กดข่ม ลืมไป ชั่วครั้งชั่วคราว โดยเฉพาะ ไม่กำจัดกิเลส ชนิดที่ให้ ถูกตัวถูกตน ละลายไป จนกว่า มันจะดับสูญจริง อย่างทฤษฎีของ พระพุทธเจ้า สักวัน มันก็ จะกลับมา เล่นงานเราได้อีก หรือ มันได้เชื้อที่แรง จนเราไม่มีอำนาจ จะยับยั้งมันได้ พวกนี้แหละ เป็นตัวที่ อาตมา พูดซ้ำพูดซาก ว่าต้องมาเรียนรู้กิเลสกันจริงๆ

สรุปคือ อยากฝากให้พวกเรา อย่าผัดผ่อน พยายาม อุตสาหะ วิริยะ ตั้งตนอยู่บนความลำบาก ถ้าปล่อย แบบ ยถาสุขัง ปล่อยตัวตามสบาย โดยเราไม่เร่งรัด ตัวเอง เราก็จะเสียเวลา ไปเปล่า ถ้าเข้าใจดีๆแล้ว ก็นำไปคิดใคร่ครวญ ถามว่า อาตมาปรารถนาให้ลูกๆ เป็นอย่างไร ก็ปรารถนา ให้เป็นอย่างนี้ ให้เจริญขึ้น เร็วๆดีๆ อย่างนี้ จะได้ช่วย ทั้งตนเอง และผู้อื่น หรือช่วยโลก ทั้งโลกเลย

 

"เห็นดีจริง" คือประโยคที่ยิ่งใหญ่
เมื่อไรที่เข้าถึงสภาวะนี้จริง
พลังมหาศาลจะเกิดตามมา
เมื่อดีจริงต้องให้คนอื่นได้ต่อ
แม้จะเหนื่อยแสนเหนื่อย
แม้จะหนักแสนหนัก
นี้คือ การกตัญญูต่อพระพุทธเจ้า
นี้คือ การกตัญญูต่อศาสนา
และนี่คือ การสืบทอดศาสนา

สารอโศก อันดับที่ ๒๕๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๕