หน้าแรก >สารอโศก

คนไทยวิกฤติ ติดกินน้ำตาลปีละ ๓๐ โล/คน ส่งผลโรครุม


คนไทยติดกินหวานขั้นวิกฤต กินน้ำตาลเฉลี่ยเกือบ ๓๐ กก.ต่อคนต่อปี หรือ ๑๘ ช้อนชาต่อวัน ส่งผล ก่อปัญหาฟันผุ ลามเป็นโรคร้ายถึงขั้นเป็นโรคไต โรคหัวใจ แนะใส่ใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการสาธารณสุข ๙ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะนายกสมาคม โภชนาการ แห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่าจากการสำรวจพบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้นมาก เฉลี่ยคนละ ๒๙.๐๕ กก.ต่อปี หรือวันละเกือบ ๑๘ ช้อนชา ขณะที่ค่าเฉลี่ยการบริโภคน้ำตาลทั่วโลก อยู่ที่คนละ ๑๑ ช้อนชา ดังนั้น การกินอาหาร รสหวาน ทำให้ได้รับพลังงานล้นเกินเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เป็น "โรคอ้วน" เพิ่มความเสี่ยง ต่อการเจ็บป่วย เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง ไขมันในเลือดสูง

สำหรับสาเหตุของการติดรสหวาน มาจากหลายปัจจัย เช่น การไม่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดา เพราะ ในสังคมปัจจุบัน คนนิยมเลี้ยงลูกด้วยนมผสมดัดแปลง สำหรับทารก และนมสูตรต่อเนื่อง สามารถเติม น้ำตาลได้ ถือเป็นตัวกระตุ้น ให้เด็กติดหวาน มีนักเรียนร้อยละ ๘๐ กินนมหวาน ชอบน้ำอัดลม นอกจากนั้น พฤติกรรมการกิน ของคนไทย ยังหันมาเติมน้ำตาลในอาหารคาวมากขึ้น

ศ.พ.ญ.ชนิกา ตู้จินดา ประธานชมรมกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ กล่าวว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ ต้องการให้ลูก เป็นอัจฉริยะ ไม่อยากให้ลูกผอม ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ยุ่งกับการทำงาน จนไม่มีเวลาดูแล ฝากลูกไว้ กับคนเลี้ยง ซึ่งการให้ลูก กินนมผง เป็นการเริ่มพฤติกรรมให้"ลูกติดหวาน" ทั้งนี้การสร้างนิสัย ให้เด็กไทย ไม่กินหวาน ครอบครัวสามารถทำได้ ด้วยตัวเองคือ เริ่มจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้ดื่มน้ำเปล่า กินส้มทั้งกลีบ แทนการดื่มน้ำส้มคั้น

"ขณะนี้ คนไทยกินหวานเข้าภาวะวิกฤตแล้ว โดย ๑ วัน ควรกินน้ำตาลไม่เกิน ๖ ช้อนชา ซึ่งในน้ำอัดลม ๑ กระป๋อง มีน้ำตาล ๖ ช้อนชาแล้ว โดยเฉพาะขนมกรุบกรอบมีทั้งน้ำตาลและเกลือ อยากให้ดูแลเด็ก ไม่ให้รับประทาน ขนมพวกนี้" หมอชนิกาแนะ

ขณะที่ทันตแพทย์สุปรีดา อดุลยานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการ สร้างเสริมสุขภาพ ช่องปาก ทันตแพทยสภา กล่าวว่า ผลกระทบของการกินหวาน ทำให้ปัญหาฟันผุในเด็กอายุ ๕-๖ ปี มีความรุนแรงมาก เด็กวัยนี้ ๑๐ คน มี ๙ คนที่ฟันน้ำนมผุ

นอกจากนั้น ยังพบว่า เด็กร้อยละ ๒๐ มีปัญหาฟันผุตั้งแต่อายุยังไม่ครบ ๑ ขวบ ทั้งที่ฟันเด็กส่วนใหญ่ จะเริ่มขึ้น เมื่ออายุได้ ๙ เดือน แสดงให้เห็นว่า การดื่มนมขวด ที่มีรสหวาน เป็นอาหารไปเลี้ยงแบคทีเรีย กัดกร่อนฟันจนผุ อัตราฟันน้ำนมผุในเด็กเดิม มีค่าเฉลี่ยฟันผุคนละ ๔ ซี่ แต่ปัจจุบัน เพิ่มเป็นคนละ ๖ ซี่แล้ว

"ฟันผุเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด เด็กที่ฟันผุจะเจ็บคอ เป็นคออักเสบ ไซนัส เชื้อเข้าไต แม้แต่โรคหัวใจ ก็พบว่า มีเชื้อผ่านเข้าไปทางฟันผุ ทำให้หลอดเลือดแข็งได้"

ด้าน น.พ.จิตติวัฒน์ สุประสงค์สิน สำนักงานวิจัยและภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาล รามาธิบดี กล่าวว่า เด็กกินนมหวาน เป็นก้าวแรก ของการติดรสหวาน ซึ่งในสหรัฐอเมริกา มีคนตาย อันเนื่องจาก โรคอ้วนปีละกว่า ๓ แสนคน ขณะที่ในไทย จากการสำรวจภาวะอ้วน ในเด็กอนุบาล พบว่า มีเด็กอ้วน ร้อยละ ๑๓ ขณะที่ในเมืองใหญ่ เช่น ในกรุงเทพฯ มีเด็กอ้วนถึงร้อยละ ๒๕ เสี่ยงต่อการเป็น เบาหวาน ชนิดที่ ๒ ซึ่งร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้ เบาหวานประเภทนี้ ส่วนใหญ่ มาจากความอ้วน การรับประทานอาหารหวาน อาหารให้พลังงานสูง

อย่างไรก็ตาม ถ้าเด็กอ้วนเกินอายุ ๓ ขวบ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน ซึ่งจาก การสุ่ม ตรวจร่างกายเด็กนักเรียน โรงเรียนสวนกุหลาบ วิทยาลัย ๖๐๐ คน พบเด็กอ้วน ๘๐-๙๐ คน ในจำนวนนี้มีกว่า ๑๐ คน ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือด ผิดปกติ ทั้งนี้หลังอดอาหา รถ้าพบว่า น้ำตาล ในเลือดสูง ๑๒๖ มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตร ถือว่าเป็นเบาหวาน แต่ถ้าตรวจได้ ๑๑๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ก็ถือว่า เข้าข่าย ผิดปกติแล้ว หากเป็นเบาหวาน ตั้งแต่เด็ก โอกาสเส้นเลือดผิดปกติ ไตวายเรื้อรัง จะมีโอกาสสูงมาก

(จากหนังสือพิมพ์ คม-ชัด-ลึก ฉบับวันศุกร์ ๒๐ ธ.ค.๒๕๔๕)