เปิด
บทสรุป
โครงการพัฒนากระบวนการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์
ในระดับชุมชน : กรณีศึกษาเครือข่ายชุมชนชาวอโศก
โดย คณะทำงานตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพผลผลิตของชาวอโศก
สนับสนุนงบประมาณโครงการ โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
โครงการพัฒนากระบวนการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ในระดับชุมชน
เป็นการศึกษา เชิงปฏิบัติการ แบบมีส่วนร่วม ในการพัฒนา กระบวนการผลิต และการศึกษาเชิงประเมินผล
ในระบบ การตรวจสอบคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ ที่มีอยู่ของชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
พัฒนากระบวนการผลิต และระบบการตรวจสอบ คุณภาพผลิตภัณฑ์ ของชุมชน ศึกษารูปแบบ
ปัจจัย และระบบการดำเนินงาน ที่เกี่ยวข้อง และประเมินมาตรฐานคุณภาพ และ ความปลอดภัย
ของผลิตภัณฑ์ พื้นที่ศึกษาคัดเลือก แบบเฉพาะเจาะจงจาก
๖ ชุมชนในเครือข่ายชุมชนชาวอโศก ที่มีศักยภาพ
ในการพัฒนา ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ แก่ชุมชนอื่นในภูมิภาคต่างๆ ในระยะต่อไป
คือ ชุมชนสันติอโศก กทม. ชุมชนปฐมอโศก จ.นครปฐม ชุมชนศีรษะอโศก
จ.ศรีสะเกษ ชุมชนศาลีอโศก จ.นครสวรรค์ ชุมชนสีมาอโศก จ.นครราชสีมา ชุมชน
ราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี และ เลือกพัฒนากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ละ
๑ หน่วย ในหน่วยผลิต ที่มี ผลิตภัณฑ์มาก และผลิตสม่ำเสมอ คือ โรงงานยาสมุนไพร
ฐานงานอาหารแปรรูป โรงแชมพู ของชุมชน ปฐมอโศก ศีรษะอโศก และ ราชธานีอโศก
ตามลำดับ
วิธีการศึกษาในโครงการฯนี้ เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ
เพื่อสำรวจข้อมูลการผลิต และทรัพยากรที่มีอยู่ ในหน่วยผลิต ของทั้ง ๖ ชุมชนในภาพรวม
การศึกษาเชิงคุณภาพ เพื่อดูพัฒนาการที่เกิดขึ้น ระหว่าง กระบวนการพัฒนาร่วมกัน
ใน ๓ หน่วยผลิต ๓ ชุมชน และการศึกษาเชิงประเมินผล ของระบบการพัฒนา และ ตรวจสอบคุณภาพฯ
ที่มีอยู่ของชุมชน รวมถึงวิเคราะห์ ค่าความปลอดภัย
และคุณภาพผลิตภัณฑ์ ทางห้องปฏิบัติการ วิทยาศาสตร์ จากข้อมูลที่เก็บบันทึกมา
ตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ในปี ๒๕๔๒ จนถึง ปัจจุบัน ปี ๒๕๔๕ แล้วนำมาประมวลผล
เทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ได้นำผลการศึกษาทั้งหมด
มาวิเคราะห์เชื่อมโยงกัน ในแต่ละวัตถุประสงค์ และเชื่อมโยงกับ อุดมการณ์
และ เป้าหมาย ในการดำเนินชีวิต ของชุมชน รวมถึงวิเคราะห์ เชื่อมโยงกับข้อมูล
จากการทบทวน วรรณกรรม ที่เกี่ยวข้อง
สรุปผลการศึกษา
* เครือข่ายชุมชนชาวอโศก ได้รับการยอมรับจากสังคมโดยทั่วไปว่า
เป็นเครือข่ายชุมชน ที่มีความเข้มแข็ง ที่สุด เครือข่ายหนึ่ง มีชุมชนแกนหลักอยู่
๙ แห่ง และเครือข่ายชุมชนย่อย อีกกว่า ๖๐ แห่งทั่วประเทศ ชุมชนชาวอโศก
เป็นสังคมที่เกิดขึ้น โดยเจตนา มีจุดมุ่งหมาย ของการรวมกลุ่ม เพื่อการปฏิบัติธรรม
ลดล้าง กิเลสของตน ตามแนวทางมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหลัก ปฏิบัติทางเอก
ของพระพุทธศาสนา หนึ่งในมรรค มีองค์ ๘ คือ สัมมาอาชีวะ หมายถึง การเลี้ยงชีพชอบ
กล่าวคือ ไม่ว่าการผลิต (ทั้งเกษตรกรรม และ อุตสาหกรรมชุมชน) การให้บริการ
หรือ การค้าขาย จะเน้นการเลือกผลิต และ บริการเฉพาะ สิ่งที่ต้องมี คุณค่าต่อมนุษย์
และสิ่งแวดล้อม เช่น การทำกสิกรรมธรรมชาติ ไร้สารพิษ ทำขยะให้เป็นปุ๋ย หรือ
นำกลับ มาใช้ใหม่ การแปรรูปสมุนไพร ในการให้บริการ และค้าขาย ก็ถือหลัก ขายให้มีราคาถูกที่สุด
จึงถือว่า เป็นกำไร ที่แท้จริง โดยถือหลักที่ว่า การให้ การเสียสละเป็นบุญ
เป็นกำไรที่แท้จริงของชีวิต จึงเรียกว่า "ระบบบุญนิยม" แม้เครือข่าย
ชุมชนชาวอโศก จะเน้นการมีชีวิตที่เรียบง่าย กินอยู่แต่พอดี แต่ในด้านการผลิต
หรือ การให้บริการ แก่ประชาชน ผู้บริโภคทั่วไป ชาวอโศกใช้
"อุดมการณ์บุญนิยม" เป็นตัวกำหนดเป้าหมาย
การผลิต ราคาในตลาด และ ใช้ศีลของบุคคล ศีลขององค์กร เป็นตัวกำกับ สำนึกในกระบวนการผลิต
ให้มีคุณภาพ และความปลอดภัย โดยมีความพยายาม ในการปรับตัว
พัฒนาตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ให้เกิดประสิทธิผลสูง แก่ผู้บริโภค และ
ผู้ใช้บริการเสมอมา
* เป้าหมายการผลิต
การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน และการตลาด ของเครือข่าย ชุมชน ชาวอโศก
สอดคล้องกับ แนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง และเป้าหมาย การพัฒนาฯ ในแผนฯ ๙ กล่าวคือ
* ผลผลิตของเครือข่ายชุมชนชาวอโศก
ใน ๖ ชุมชนแกนหลักที่ศึกษามีจำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า ๕๒๕ รายการ จากหน่วยผลิต
ทั้งหมด ๓๘ หน่วย และร้านค้าชุมชน ๒๐ ร้าน และถือว่า เป็นผลิตภัณฑ์
เพื่อสุขภาพ จากธรรมชาติ ที่ปลอดสารเคมี (Green products)
มีผลผลิตด้านอาหาร (วัตถุดิบข้าว ถั่ว ธัญพืช และผลผลิตแปรรูป
เครื่องดื่มสมุนไพร) ยาจากสมุนไพร และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (ทำความสะอาด
ร่างกาย และ เครื่องใช้ในครัวเรือน) ไม่ต่ำกว่า ๒๑๔, ๑๕๘ และ ๑๕๓ รายการตามลำดับ
แหล่งที่มาของวัตถุดิบ
ส่วนใหญ่มาจากการปลูกเอง ญาติธรรม และเครือข่ายเกษตรกร ที่ปลูกแบบ กระบวนการ
ไร้สารพิษ ยกเว้นวัตถุดิบ ที่ชุมชนไม่มี หรือหาไม่ได้ จากเครือข่าย รวมถึงสมุนไพรหายาก
ที่ต้องนำเข้า จากต่างประเทศ ที่ใช้ในยาสูตรตำรับ และวัตถุสารเคมี ที่ใช้เป็นส่วนประกอบพื้นฐาน
ในผลิตภัณฑ์ ทำความสะอาด
การกระจายผลผลิต
การผลิตมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การทำอยู่ทำกินเพื่อใช้เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค
ช่วยลด ค่าใช้จ่าย ของชุมชนเป็นหลัก หลังจากเหลือ จากการบริโภค ในชุมชนแล้ว
จึงส่งต่อไปยังร้านค้า ของเครือข่าย ชาวอโศก หรือ ชุมชนอื่นๆ ในท้องถิ่น
และในกทม. ตามลำดับ เป็นการหมุนเวียน ของเศรษฐกิจ ชุมชน ผลผลิตส่วนใหญ่ได้แก่
ข้าวกล้อง ยาจากสมุนไพร และผลิตภัณฑ์ ทำความสะอาด ส่วนอาหาร แปรรูป จะจำหน่าย
ในร้านค้าของชุมชนเป็นหลัก
ราคาของผลผลิต
ผลผลิตเกือบทั้งหมดจะจำหน่ายในราคาต่ำกว่าราคาของผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน
ในท้องตลาด ซึ่งถือว่าเป็น ๑ ในนโยบายการค้าแบบ "บุญนิยม"
ที่ชาวอโศกไม่ได้คิดค่า แรงงานของตนเอง
เครือข่ายชุมชนชาวอโศก มีระบบการพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพผลผลิตของตนเอง
หรือเรียกย่อๆ ว่า "ต.อ." โดยสร้างสำนึก
ในการ "ตรวจตนเอง" ทั้งผลิตภัณฑ์ที่ผลิต
และผลผลิต ด้านจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก ในการขัดเกลาตนเอง ท่ามกลางการทำงาน
ตามอุดมคติที่ว่า "การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม
โดยการทำสัมมาอาชีวะ" ดังนั้น "การตรวจตนเอง" จึงต้องทำตั้งแต่หน่วยย่อยที่สุด
คือ ตัวผู้ผลิต และทีมผู้ผลิต ในระดับชุมชน คณะกรรมการชุมชน มีบทบาท ในการกำหนดทิศทาง
การผลิต และกำกับดูแลผลผลิต ให้มีคุณภาพ โดยผ่านผู้ตรวจสอบ ระดับชุมชน หรือ
ที่เรียกว่า ต.อ.ชุมชน ในระดับเครือข่าย มีหน่วยตรวจสอบกลาง
หรือ ที่เรียกว่า คณะทำงานตรวจสอบ และพัฒนาคุณภาพ
ผลผลิต ของชาวอโศก (ต.อ.กลาง) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายปฏิบัติการ และ เลขานุการของ
"คณะกรรมการบริหาร การตรวจสอบ และพัฒนา คุณภาพผลผลิต ของชาวอโศก"
ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้แทนหน่วยผลิต ผู้นำชุมชน
ผู้บริโภค ร้านค้า นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ในการร่วมกัน กำหนดทิศทาง และแนวทาง
ในการพัฒนาระบบงานฯ
ระบบการตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพผลผลิตของชุมชนชาวอโศก
มี ๔ ด้าน เช่นเดียวกับบทบาท ในการคุ้มครอง ผู้บริโภคของรัฐ กล่าวคือ
๑. การกำกับดูแลก่อนออกสู่ท้องตลาด
มีการกำหนดนโยบาย ทิศทางการผลิต ข้อตกลง และมาตรการ ร่วมกัน ระหว่าง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ของเครือข่ายชุมชนเอง เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ และ ความปลอดภัย หน่วยผลิตชุมชน
ต้องจดแจ้ง และขึ้นทะเบียนผลผลิต ต่อหน่วยต.อ.กลาง เพื่อรับรองให้ผลิต หรือ
วางจำหน่าย โดยมีการตรวจสอบสูตร ส่วนประกอบ กรรมวิธีการผลิต สถานที่ผลิต
การตรวจสอบ ทางกายภาพ ของผลผลิต ข้อมูลบนฉลาก และ การตรวจวิเคราะห์ ความปลอดภัย
และคุณภาพ ทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์
๒. การกำกับดูแลหลังจากออกสู่ท้องตลาด
เป็นการตรวจสอบเฝ้าระวังทั้งตัวผลิตภัณฑ์และสถานที่ผลิต ในรูปของ การสุ่มตัวอย่าง
ผลผลิต ที่วางจำหน่าย ตรวจทางห้องปฏิบัติการ การประสานความร่วมมือ กับร้านค้า
ในการเฝ้าระวัง และ คัดกรองสินค้า กิจกรรม "ต.อ.สัญจร" เพื่อเยี่ยมเยียนพัฒนาหน่วยผลิต
๓. การพัฒนาผลิตภัณฑ์และสถานประกอบการ
โดยการยกระดับมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี โดยใช้เกณฑ์ ๕ ส.
GHP และ GMP เป็นตัวชี้วัดในการพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานภาพ
ของหน่วยผลิต ที่มีกำลังการผลิต ในปริมาณที่ มากน้อยต่างกัน รวมถึงความเสี่ยง
ของผลผลิต แต่ละประเภทด้วย โดยจัดการการประชุม สัมมนา ศึกษาอบรม ดูงาน ให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน
๔. การเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์
โดยการให้ความรู้ ข่าวสารความเคลื่อนไหว ผ่านวารสาร และ จุลสาร ข่าวสาร ของเครือข่าย
ซึ่งเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ
* ตัวชี้วัดมาตรฐานความปลอดภัยของผลผลิต
ที่ชาวอโศกเลือกใช้ควบคุมกำกับผลผลิต ของตนเอง ในปัจจุบัน คือ การปนเปื้อน
สารพิษ จากยาฆ่าแมลง สารพิษอะฟลาท็อกซิน และจุลินทรีย์ ก่อโรค ได้แก่ แบคทีเรีย
ยีสต์ และรา ซึ่งใช้เกณฑ์ มาตรฐาน ตามประกาศ พ.ร.บ.อาหาร-ยา-เครื่องสำอาง
ของกระทรวง สาธารณสุข และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยกเว้น ค่ามาตรฐาน อะฟลาท็อกซิน
ในเครื่องดื่มและยา จากสมุนไพรชนิดชง ซึ่งชุมชน กำหนดเกณฑ์ไว้ เกินมาตรฐานที่กระทรวงฯ
กำหนด ในขณะที่ผลผลิต อาหารแปรรูป ของชาวอโศก จะไม่มีสาร ปรุงแต่งอาหารใดๆ
ทั้งสิ้นเลย ส่วนตัวชี้วัด ด้านคุณภาพผลผลิต เลือกใช้กับผลิตภัณฑ์ ทำความสะอาดก่อน
โดยชุมชน กำหนด ค่าความสม่ำเสมอ ของแต่ละผลิตภัณฑ์ ในแต่ละชุมชนเอง เป็นเกณฑ์หลัก
ในระยะต่อไป ราวปี ๒๕๔๖ ชาวอโศก จะให้ความสำคัญ ต่อมาตรฐาน คุณภาพของยา จากสมุนไพร
เครื่องดื่มสมุนไพรชง วัตถุดิบอาหาร และ อาหารแปรรูป ในรูปของสารสำคัญ และ
สารอาหารทางโภชนาการมากขึ้น ส่วนตัวชี้วัด กระบวนการผลิต ของชาวอโศก เลือกใช้ตัวชี้วัด
ของ ๕ ส. GHP และ GMP ตามสถานภาพของหน่วยผลิต
กำลังการผลิต และการกระจายผลผลิต ไปยังผู้บริโภค โดยให้หน่วยผลิต พัฒนาอย่างมีจังหวะก้าว
และขั้นตอนที่สอดคล้อง กับความเป็นไปได้ของตน
การพัฒนากระบวนการผลิตของหน่วยผลิตนำร่อง
๓ หน่วย ใน ๓ ชุมชนที่คัดเลือก พบว่า
* โรงงานยาสมุนไพรชุมชนปฐมอโศก
โรงงานยาสมุนไพรชุมชนปฐมอโศก มีพัฒนาการมาจาก "ศาลายา"
ที่ให้บริการ สุขภาพ และ ผลิตยาสมุนไพรขึ้นมา เพื่อใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน
ในการรักษาผู้ป่วย ต่อมา ขออนุญาต เป็นโรงงานผลิต ขนาดเล็ก ในช่วงของโครงการฯ
(พ.ศ.๒๕๔๔-๒๕๔๕) เป็นโอกาสดี ที่โรงงานยา ปฐมอโศก กำลังก่อสร้างโรงงาน ระดับ
มาตรฐาน ๔ ชั้น มูลค่ากว่า ๖๐ ล้านบาท แทนอาคาร โรงงานยาเก่า ซึ่งแยกเป็น
๕ อาคาร จึงมีผลต่อสายการผลิต และ สุขลักษณะ ของกระบวนการผลิต ประกอบกับการเข้ามาสนับสนุนของ
คณะผู้เชี่ยวชาญ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในการพัฒนาโรงงานวัตถุดิบสมุนไพร กระบวนการพัฒนาส่วนใหญ่ จึงเป็นการสรุปบทเรียน
การพัฒนา บุคลากร และการจัดเตรียมระบบงาน เพื่อรองรับโรงงานยาใหม่ กล่าวคือ
การจัดโครงสร้าง การบริหาร องค์กร การอบรม และจัดทำเกณฑ์มาตรฐาน แนวทางการปฏิบัติที่ดี
ในกระบวนการผลิต (Standard Operating Procedure) ทุกขั้นตอน
การผลิต การจัดทำระบบเอกสาร การจัดซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ รองรับการขยาย
การผลิต การจัดระบบ ห้องปฏิบัติการ วิทยาศาสตร์ เพื่อควบคุมคุณภาพ วัตถุดิบสมุนไพร
และ ผลิตภัณฑ์ สำเร็จรูป ทำให้โรงงานยาปฐมอโศก ในปัจจุบัน มีศักยภาพ ในการตรวจวิเคราะห์
ยาฆ่าแมลง และ จุลินทรีย์ก่อโรค และ กำลังวางแผน การตรวจวิเคราะห์ สารสำคัญ
ในสมุนไพร ในปี ๒๕๔๖ นี้ ปัจจุบัน โรงงานยาปฐมอโศก ผลิตยาสมุนไพร จำนวนทั้งสิ้น
๘๕ รายการ และ ยังต้องการ การพัฒนา ในรายละเอียด เพื่อให้ได้มาตรฐาน GMP
ต่อไป
* ฐานงานอาหารแปรรูปชุมชนศีรษะอโศก
ชุมชนศีรษะอโศกเป็นชุมชนที่ยังคงเน้นการผลิต เพื่อการพึ่งตนเอง เป็นหลัก
การผลิตผลผลิต แต่ละรายการ เกิดจากความต้องการ กินใช้ในชุมชน และเพื่อเป็นการลดรายจ่าย
ของชุมชน หากมีกำลัง การผลิตมากพอ ก็จะนำไปจำหน่าย ในร้านค้า ของชุมชนเอง
สำหรับประชาชนในท้องถิ่น ได้บริโภคในราคาถูก การผลิต จึงขึ้นอยู่กับฤดูกาล
และ แรงงานที่มีอยู่ ไม่ได้ใช้ตลาดเป็นตัวตั้ง ฐานงานอาหารแปรรูป ที่นำร่องในการพัฒนา
ครั้งนี้มี ๒ ฐาน จากฐานอาหารแปรรูป ๖ ฐาน จำนวนผลผลิต ๔๒ รายการ กำลังหลัก
ของการผลิตอยู่ที่ ทีมเด็กนักเรียน และเยาวชน เพื่อเป็นฐานฝึกงาน โดยมีผู้ใหญ่
เป็นที่ปรึกษา ดังนั้น ในการพัฒนากระบวนการผลิต เด็กและเยาวชน จะมีความ กระตือรือร้น
ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่ก็มีข้อจำกัดที่ วุฒิภาวะของเด็ก (แต่สูงกว่าเด็กภายนอก)
ซึ่งยังต้องการผู้ใหญ่ คอยสนับสนุน ให้กำลังใจ และควบคุมดูแล มาตรฐาน ความปลอดภัย
และคุณภาพ การผลิตอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ในช่วงของการพัฒนา โครงการฯนี้ ได้เกิดความเปลี่ยนแปลง
ไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งในด้านการสุขาภิบาล สายการผลิต และ สุขนิสัย ของผู้ปฏิบัติงาน
จากการประเมิน GMP พบว่า มีคะแนนจากเดิมร้อยละ ๔๕.๕
ขึ้นไปถึงประมาณ ร้อยละ ๗๐
* โรงแชมพูชุมชนราชธานีอโศก
ชุมชนราชธานีอโศกเป็นชุมชนใหม่ ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง ๖ ปีที่ผ่านมา และ
ขยายการเติบโต อย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับการอบรมคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจพอเพียง
ให้แก่ข้าราชการ และเกษตรกร ที่ทางราชการ หลายหน่วยงาน ขอความร่วมมือมา โรงแชมพูชุมชนจึงเกิดขึ้น
เพื่อเป็น ฐานเศรษฐกิจ และศูนย์เรียนรู้ของชุมชน จึงมีโครงสร้าง ของอาคารสถานที่
เครื่องมืออุปกรณ์ ในการผลิต ที่เอื้อต่อสุขลักษณะการผลิตที่ดี การกระจายของผลิตภัณฑ์
ส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ ๘๐ นำมาจำหน่าย ที่กรุงเทพฯ ที่เหลือจะกระจายอยู่
ในร้านค้าชุมชน และ ตลาดในท้องถิ่น เนื่องจากฐานการผลิต ได้มีการพัฒนา กระบวนการผลิต
สูตรส่วนประกอบ มาจนเป็นสูตรมาตรฐาน ของชุมชน ในปัจจุบัน การพัฒนาด้านกระบวนการผลิต
จึงเป็นไปอย่างช้าๆ และเป็นรายละเอียด ที่ผู้ผลิต ต้องเพิ่มการจัดการ และ
ความประณีตมากขึ้น เช่น การชั่ง ตวง วัด การบันทึกการผลิต การเขียนป้าย แสดงบริเวณ
หรือ สิ่งของต่างๆ การเก็บรักษา วัตถุดิบสมุนไพร การรักษาความสะอาด ความเป็นระบบ
ระเบียบเรียบร้อย ของสถานที่ ให้สม่ำเสมอ ฯลฯ ในด้านการตรวจสอบการผลิต ผู้ผลิตยังต้องการ
การสนับสนุน จากหน่วยงานภายนอก ให้เข้าไปตรวจสอบ และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข
ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยต.อ. ที่ต้องสร้าง ความตระหนัก ในการตรวจสอบตนเอง
ของผู้ผลิตต่อไป การพัฒนาโดยรวม เป็นการเข้าไปให้ความรู้ ให้การศึกษา ทำความเข้าใจ
และร่วมพัฒนา กับหน่วยผลิต จะทำให้ผู้ผลิต มีทัศนคติที่ดี ต่อการที่จะปรับปรุงการผลิต
ในด้านต่างๆมากขึ้น สิ่งที่ต้อง พัฒนาต่อไปคือ การจัดอบรมศึกษาดูงาน ให้แก่ผู้ผลิต
จะเป็นการสร้าง วิสัยทัศน์ที่ดี ในการพัฒนาการผลิต การติดตาม ประเมินผล ทั้งทางตรง
และทางอ้อม (ต.อ.สัญจร) โดยเชื่อมโยงผ่าน ต.อ.ชุมชน ให้เห็นความสำคัญ สละเวลา
เข้าร่วมพัฒนา กับหน่วยผลิต อย่างสม่ำเสมอ เมื่อชุมชน มีระบบดูแลกันเอง ก็จะเป็นผลดีต่อคุณภาพ
ผลผลิต ที่จะมีมาตรฐานคงที่ต่อไป
* ความปลอดภัยและคุณภาพของผลผลิต
จากการประมวลผลข้อมูลตั้งแต่เริ่มดำเนินงาน ตรวจวิเคราะห์ฯ ตั้งแต่ปี
๒๕๔๒ - ๒๕๔๕ พบว่า
ปริมาณที่ส่งตรวจวิเคราะห์
ปริมาณตัวอย่างผลผลิตทั้งหมดที่หน่วยต.อ.กลาง ได้ส่งตรวจวิเคราะห์ มีจำนวน
ทั้งสิ้น ๒๐๖๗ ตัวอย่าง จำแนกเป็นการตรวจวิเคราะห์ยาฆ่าแมลง ๗๐๑ ตัวอย่าง
สารพิษ อะฟลาท็อกซิน ๙๒๘ ตัวอย่าง และ จุลินทรีย์ก่อโรค ๔๓๘ ตัวอย่าง ซึ่งเน้นการตรวจในช่วงปี
๒๕๔๓, ๒๕๔๔ และ ๒๕๔๕ ตามลำดับ
แหล่งของผลผลิตและวัตถุประสงค์ในการตรวจวิเคราะห์
ผลผลิตที่ส่งตรวจวิเคราะห์จำนวนทั้งหมดนี้ เป็นผลผลิตของ ๖ ชุมชนแกนหลักที่ศึกษา
๑๑๑๓ ตัวอย่าง หรือร้อยละ ๕๔.๘๑ เป็นการตรวจวิเคราะห์ เพื่อขึ้นทะเบียน เป็นผลผลิต
ของชาวอโศก และตรวจเพื่อการควบคุมเฝ้าระวัง รองลงมา เป็นผลผลิต จากเครือข่าย
ชุมชนชาวอโศกอื่นๆ ญาติธรรม และ สินค้าจากโรงงาน ซึ่งร้านค้าของชุมชน ชาวอโศกต่างๆ
รับมาจำหน่าย จำนวน ๖๗๔ ตัวอย่าง โดยเป็นการตรวจวิเคราะห์ เพื่อการเฝ้าระวัง
ความปลอดภัย ต่อผู้บริโภค ที่เหลือจำนวน ๑๑๑ และ ๑๔๙ ตัวอย่าง เป็นการตรวจวิเคราะห์
เพื่อการวิจัย หาคำตอบ ของชุมชน และการสนับสนุน เครือข่ายชุมชนอื่นๆ ที่ชุมชนชาวอโศก
ไปประสานสัมพันธ์ด้วย
หน่วยงานที่ตรวจวิเคราะห์
แม้ว่าห้องปฏิบัติการของต.อ.กลาง มีศักยภาพ
ในการตรวจวิเคราะห์ เฉพาะ ยาฆ่าแมลง และสารพิษ อะฟลาท็อกซิน แต่ก็สามารถตรวจวิเคราะห์ได้
เพียงประมาณร้อยละ ๕๔ ของตัวอย่าง ที่ส่งตรวจทั้งหมด ทั้งนี้
กองโรคพืช กรมวิชาการเกษตร ให้การสนับสนุน การตรวจสารพิษ อะฟลาท็อกซิน
ได้ประมาณร้อยละ ๔๕ ของตัวอย่าง ที่ส่งตรวจอะฟลาท็อกซิน และ
หน่วยปฏิบัติการ เคลื่อนที่ของอย. ให้การสนับสนุน
การตรวจยาฆ่าแมลง และจุลินทรีย์ ก่อโรค (ซึ่งประเภทหลังต.อ.กลาง ยังไม่มีศักยภาพ
ในการดำเนินการได้เอง) ประมาณร้อยละ ๔๕ และ ร้อยละ ๑๐๐ ตามลำดับ
มาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์
ในภาพรวมผลผลิตทุกประเภทส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านยาฆ่าแมลงมากที่สุด
คือผ่านเกณฑ์ ร้อยละ ๙๓.๒ ผลผลิตที่พบว่ามีความเสี่ยง ในการปนเปื้อน ยาฆ่าแมลง
น้อยที่สุด คือ อาหารแปรรูป และ วัตถุดิบ ข้าวธัญพืช ซึ่งผ่านเกณฑ์ร้อยละ
๙๘.๐ และ ๙๗.๗ ตามลำดับ และ ผลผลิต ที่พบว่า มีความเสี่ยง ในการปนเปื้อน
ยาฆ่าแมลง มากที่สุดคือ ยาจากสมุนไพร แต่ก็ยังถือว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ดี คือ
๘๘.๗๓ ในขณะที่ผลผลิต จะผ่านเกณฑ์ มาตรฐาน ความปลอดภัย ด้านสารพิษ อะฟลาท็อกซิน
ค่อนข้างต่ำ คือ ร้อยละ ๖๒.๘ ผลผลิตที่พบว่า มีความเสี่ยง ในการปนเปื้อน
สารพิษ อะฟลาท็อกซินมากที่สุด คือ ยาจากสมุนไพร ซึ่งผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ
๔๐.๑๔ มาตรฐาน ความปลอดภัย ด้านจุลินทรีย์ก่อโรค ซึ่งตรวจเฉพาะผลผลิต ด้านอาหารแปรรูป
เครื่องดื่มธัญพืช/สมุนไพร ยาจากสมุนไพร และ ผลิตภัณฑ์ ทำความสะอาดนั้น ค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่
อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง คือ ร้อยละ ๗๖.๗ ผลผลิต ที่พบว่า มีความเสี่ยง ในการปนเปื้อน
จุลินทรีย์ก่อโรค มากที่สุด คือ เครื่องดื่มธัญพืช/สมุนไพร และ รองลงมาคือ
ยาจากสมุนไพร
อย่างไรก็ตามผลการตรวจวิเคราะห์สารพิษอะฟลาท็อกซินโดยวิธีการ
ELISA ซึ่งทางหน่วยต.อ.กลาง
และ กรมวิชาการเกษตร ใช้เป็นเครื่องมือ ทดสอบนั้น ยังมีข้อถกเถียงกัน ในหมู่นักวิชาการด้านยา
จากสมุนไพร เป็นอันมาก โดยเชื่อว่า ค่าที่ไม่ผ่าน เกณฑ์มาตรฐานนั้น อาจเป็น
FALSE POSITIVE ที่เกิดจากการรบกวน ของสารสำคัญ ในสมุนไพร
แม้โดยปกติ เครื่องมือนี้ จะแม่นยำ และเป็นที่ยอมรับ สำหรับการตรวจหา อะฟลาท็อกซิน
ในวัตถุดิบธัญพืชก็ตาม แต่ก็ยังเป็นเรื่องใหม่ ในวงการวิจัย ในการใช้เครื่องมือใดๆ
ในการตรวจหา อะฟลาท็อกซิน ในผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร
ความปลอดภัยและคุณภาพของผลผลิตใน
๖ ชุมชนแกนหลักที่ศึกษา จำนวนรายการผลผลิต แต่ละประเภท ที่หน่วยผลิต
ใน ๖ ชุมชนที่ศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยผลิตหลักของเครือข่ายชุมชนชาวอโศก ได้ผลิตจริง
รวมจำนวนทั้งสิ้น ๕๒๕ รายการ ซึ่งผลผลิต ยาจากสมุนไพร มีจำนวนรายการ ที่ผลิตมากที่สุด
ประมาณร้อยละ ๓๐.๑๐ ของรายการที่ผลิตทั้งหมด รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
อาหารแปรรูป และ เครื่องดื่มจากธัญพืช และ สมุนไพร จำนวนร้อยละ ตามลำดับ
๒๙.๑๔, ๑๙.๘๑ และ ๑๙.๘๑ ตามลำดับ ความครอบคลุม ของรายการผลผลิต ใน ๖ ชุมชนที่ศึกษา
ที่ได้รับการตรวจ วิเคราะห์ ด้านความปลอดภัย ในภาพรวม คิดเป็นร้อยละ ๕๕.๐
และ ที่ผ่านเกณฑ์ ด้านความปลอดภัย ในภาพรวม คิดเป็นร้อยละ ๘๑.๑๕ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
เป็นผลผลิต ที่ได้รับการตรวจ ด้านมาตรฐาน คุณภาพด้วย โดยมีความครอบคลุม รายการของการตรวจวิเคราะห์
เป็นร้อยละ ๗๓ และผ่านเกณฑ์ ด้านมาตรฐานคุณภาพ ภาคบังคับ และ ทุกตัวชี้วัด
คิดเป็นร้อยละ ๔๓.๘๔ และ ๑๖.๔๔ ตามลำดับ
แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของผลการตรวจวิเคราะห์ในแต่ละปีของ
๖ ชุมชนแกนหลักที่ศึกษา พบว่า มีอัตรา การผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี
ในทุกประเภทการตรวจวิเคราะห์ ยกเว้น ผลการตรวจวิเคราะห์ ยาฆ่าแมลง ในปี ๒๕๔๓
ลดลงเล็กน้อย คือ ร้อยละ ๑.๒ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๔๒ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ
ของการควบคุมดูแล กระบวนการผลิต ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต และ
ผู้ตรวจสอบ และ พัฒนาคุณภาพฯ ในทุกระดับ และ เหตุผล อีกประการหนึ่ง ของค่าความเปลี่ยนแปลง
ผลการตรวจวิเคราะห์ สารพิษ อะฟลาท็อกซิน ในอัตราที่สูงขึ้นมาก ในปี ๒๕๔๕
เมื่อเทียบกับปี ๒๕๔๔ เนื่องจากมีการสกัดสารสำคัญ ในสมุนไพร ที่เป็นตัวรบกวน
ผลการตรวจ วิเคราะห์จริงออกก่อน
การศึกษาศักยภาพของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของเครือข่ายชุมชนชาวอโศกในปัจจุบัน
โดยเปรียบเทียบ ผลการตรวจ วิเคราะห์ ร่วมกับหน่วยงานภายนอก ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
เนื่องจากยังมีข้อจำกัด ในวิธีการศึกษาอยู่ ซึ่งต้องการ คำแนะนำ จากผู้เชี่ยวชาญต่อไป
ความปลอดภัยและมาตรฐานคุณภาพของผลผลิตของ
๓ ชุมชนที่เป็นกรณีศึกษาในการพัฒนา กระบวนการผลิต
ยาสมุนไพรชุมชนปฐมอโศก
ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ด้านยาฆ่าแมลงร้อยละ ๙๘.๔๓ โดยตรวจ ไม่พบเลย
ร้อยละ ๙๕.๓๑ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสารพิษอะฟลาท็อกซินร้อยละ ๖๒.๕ โดยตรวจพบ อยู่ในขั้นปลอดภัยร้อยละ
๕๐.๐ และ ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จุลินทรีย์ก่อโรค ร้อยละ ๙๒.๓๐ โดยพบปลอดภัยร้อยละ
๖๐.๐ และ ยาสมุนไพร ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน รวมทุกรายการวิเคราะห์ ร้อยละ ๕๘.๘๒
อาหารแปรรูปชุมชนศีรษะอโศก
ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ด้านยาฆ่าแมลง สารพิษ อะฟลาท็อกซิน
และ จุลินทรีย์ก่อโรค ร้อยละ ๑๐๐.๐ ทุกประเภท การตรวจวิเคราะห์
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดโรงแชมพูชุมชนราชธานีโศก
ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจุลินทรีย์ก่อโรค ร้อยละ ๑๐๐.๐ โดยตรวจ ไม่พบจุลินทรีย์ก่อโรคเลย
และ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ ร้อยละ ๗๕.๐ โดยผ่านเกณฑ์ทุกตัวชี้วัด ร้อยละ
๕๐.๐
เมื่อเปรียบเทียบผลการตรวจวิเคราะห์ทั้ง
๓ ประเภทในแต่ละรายการของผลผลิตของ ๓ ชุมชน ที่เป็น กรณีศึกษา ในการพัฒนา
กระบวนการผลิต ในปี ๒๕๔๔ และ ๒๕๔๕ พบว่า มีความเปลี่ยนแปลงไป ในทางที่ดีขึ้น
ทุกรายการ
ข้อเสนอแนะ
จากบทเรียนของเครือข่ายชุมชนชาวอโศกที่เป็นกรณีศึกษา
ในการพัฒนากระบวนการผลิต และ ระบบการตรวจสอบ คุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในระดับชุมชนเอง
คณะผู้ศึกษา มีข้อเสนอแนะ สำหรับ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ในกระบวนการ พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ในทุกระดับ ดังนี้
๑. การพัฒนาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องพัฒนาบนรากฐานของการพึ่งตนเอง
ทั้งการกำหนดเป้าหมายการผลิต และ การตลาด และ พัฒนาแบบองค์รวม โดยมีศูนย์กลาง
การพัฒนาอยู่ที่ "คน"
ไม่ใช่ "ตัวผลิตภัณฑ์" เพราะ "ศีลของคน"
จะสร้าง "ศีลขององค์กร"
และนำไปสู่การพัฒนา ผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ในที่สุด
๒. รากฐานขององค์ประกอบต่างๆทางเศรษฐกิจสังคมในแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกัน
ดังนั้น การพัฒนา จำเป็นต้อง ศึกษา จากฐานของชุมชน ทำความเข้าใจ และให้โอกาสชุมชน
ในการพัฒนามาตรฐาน กระบวนการผลิต อย่างมี จังหวะก้าว ตามสถานภาพ และ ศักยภาพที่เป็นจริง
โดยสร้างการมีส่วนร่วม ของชุมชน และ สำนึกของ "การควบคุม
ตรวจสอบตนเอง" ในทุกระดับ อันจะนำไปสู่ การพัฒนา
คุณภาพผลิตภัณฑ์ อย่างสม่ำเสมอ และยั่งยืน
๓. พหุภาคีที่เกี่ยวข้องควรค้นหา ส่งเสริม
และพัฒนาศักยภาพของชุมชนแบบ "เชิงรุก" ในการสร้างระบบ การตรวจสอบ
และ พัฒนาคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ของตนเอง ในรูปแบบที่หลากหลาย รวมถึงระบบสนับสนุน
ที่เกี่ยวข้อง
๔. พหุภาคีที่เกี่ยวข้องควรทำการศึกษาวิจัยพัฒนาเพื่อต่อยอด
หรือหาคำตอบให้กับคำถามวิจัย ที่ชุมชนต้องการ ได้แก่ เครื่องมือแบบง่าย และเหมาะสม
ในการตรวจวิเคราะห์ ความปลอดภัย และ คุณภาพผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องมือ ตรวจวิเคราะห์
สารพิษ อะฟลาท็อกซิน ในผลิตภัณฑ์แปรรูป จากสมุนไพร เครื่องมือตรวจวิเคราะห์
จุลินทรีย์ก่อโรค เครื่องมือตรวจ สารสำคัญ ในสมุนไพร เป็นต้น
๕. รัฐควรให้การสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์
ในราคา ที่เหมาะสม ในด้านที่ชุมชน ยังไม่มีศักยภาพ ในการดำเนินการได้เอง
โดยพัฒนาศักยภาพหน่วยงาน สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น ซึ่งอยู่ใกล้ชิดชุมชน
ให้เป็นที่พึ่งของชุมชน ที่สามารถเข้าถึงง่าย และ ได้รับผล การตรวจวิเคราะห์
ในเวลาที่เหมาะสม
จริงใจ
- ไมตรี
ชาวอโศกเพื่อมวลมนุษยชาติ
ต.อ.กลาง
(สารอโศก
อันดับที่ ๒๕๕ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๕)
|