หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >สารอโศก

เปิด

ทำโปรตีนเกษตรกินเอง :
เทคโนโลยีราคาถูกสำหรับชุมชนที่พึ่งตนเองได้ และปลอดจี เอ็ม โอ

โปรตีนเกษตรกลายเป็นวัตถุดิบหลัก ที่นักมังสวิรัตินำมาใช้ปรุงอาหาร แทนโปรตีน จากเนื้อสัตว์ ผลิตจาก แป้งถั่วเหลือง ที่เรียกว่าโปรตีนเกษตร ก็เพราะว่า สถาบันค้นคว้า และพัฒนา ผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เป็นผู้ริเริ่มผลิตขึ้นมา เพื่อชาวชนบทของเรา เมื่อ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว เพราะเห็นว่า เป็นโปรตีน จากพืชที่ราคาถูก และให้คุณภาพของโปรตีน ไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ แถมหลีกเลี่ยง ปัญหาไขมัน ในเลือดสูง หรือพิษภัยอื่น จากเนื้อสัตว์ได้

ชาวอโศกเองก็เคยต้องการจะเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตนี้ เพราะเป็นตลาดใหญ่ ที่ต้องใช้โปรตีนเกษตร ในฐานะ ผู้นำการบริโภค อาหารมังสวิรัติ และด้วยเห็นว่า เรามีหน่วยผลิต ที่ผลิตผลิตภัณฑ์สารพัด ที่ไม่ใช่อาหาร พื้นฐานหลายอย่าง แล้วน่าจะมาผลิต สิ่งที่ต้องกิน ต้องใช้ทุกวันมากกว่า แต่กลับพบว่า เครื่องมือการผลิต โปรตีนเกษตรนี้ เป็นเครื่องมือขนาดใหญ่ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคามากกว่า ๒๐ ล้านบาท ในยุคที่ดอลลาร์ละ ๒๕ บาท และต้องนำเข้า แป้งถั่วเหลือง จากอเมริกา เพราะเครื่องมือนี้ ต้องใช้กับแป้งถั่วเหลือง ที่สกัดไขมันออกแล้วเท่านั้น ความต้องการ จึงต้องยุติไปก่อน

โปรตีนเกษตรมาฮือฮาอีกครั้งเมื่อมีข่าวฮอตเรื่องจี เอ็ม โอ เพราะโปรตีนเกษตร อยู่ในรายชื่อสินค้า ที่มีความเสี่ยง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ จากแป้งถั่วเหลือง ที่นำเข้าจากอเมริกา ดินแดนแห่งถั่วเหลือง จี เอ็ม โอ และถึงแม้ว่า ทางสถาบันฯ จะทดลองเอาใจตลาด โดยสั่งซื้อแป้งถั่วเหลือง ที่ปลอดจี เอ็ม โอ มาผลิตก็ตาม (ตอนนี้บจ.พลังบุญ ได้ซื้อนำมาวางจำหน่ายแล้ว) แต่ก็ไม่รู้ว่า จะไปรอดแค่ไหน ถ้าหาก พวกเรา ร้านค้า ร้านอาหาร และผู้บริโภค ไม่ให้ความสนใจจริงจัง ที่จะทำให้เกิน ความต้องการ จำนวนมาก ในการซื้อ และทางสถาบันฯ ก็คงต้องยกเลิก การผลิตนี้ไป

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทางสถาบันค้นคว้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ได้จัดนิทรรศการ แสดงผลงาน ทางวิชาการ โดยฝ่ายวิศวกรรม ได้เสนอเครื่องมือ ผลิตโปรตีนเกษตร ระดับการผลิต ภายใน ครอบครัว จนถึงธุรกิจ ขนาดเล็ก ซึ่งได้ซุ่มออกแบบสร้าง และพัฒนาขึ้นมาหลายปีแล้ว เครื่องมือนี้ เรียกว่า วิลเลจเทคเจอร์ไรเซอร์ (Villagetexturizer) หรือเครื่องผลิตเนื้อเทียม ในหมู่บ้าน ราคาต้นทุน ประมาณ ๕๐,๐๐๐ - ๗๕,๐๐๐ บาท ซึ่งชุมชน จะมีกำลังซื้อ และลงทุนได้ เพราะเครื่องมือนี้ สามารถใช้กับ แป้งถั่วเหลือง ที่มีไขมันเต็ม ชนิดที่ชุมชน สามารถผลิตแป้งนี้ได้เอง โดยไม่ต้องนำเข้า จากต่างประเทศ โดยใช้ถั่วเหลือง จากท้องถิ่น ที่เราปลูกได้เอง และมั่นใจว่า ปลอดจากจี เอ็ม โอ

ขั้นตอนในการเตรียมแป้งถั่วเหลืองชนิดไขมันเต็ม
ถั่วเหลือง (๔ ก.ก.)
แยกเอาเมล็ดเน่าเสีย กรวด หิน ดินทราย
และสิ่งแปลกปลอมออกให้หมด

ล้างน้ำ ๓-๔ ครั้งให้สะอาด

อบแห้งในตู้อบลมร้อน*
(๕๐-๖๐ องศาเซลเซียสเป็นเวลา ๘-๑๐ ชั่วโมง)

กะเทาะให้แตกเป็น ๒ ซีกโดยใช้เครื่องบด

แยกเอาเปลือกออก

บดให้ละเอียดด้วยเครื่องบด
(พิน มิลล์ หรือใช้เครื่องบดแบบมือหมุน)

แป้งถั่งเหลืองชนิดไขมันเต็ม
(๓.๒๖ ก.ก. ๘๑.๕% ๘๐ เมซ)
บรรจุในถุงพลาสติก


ขั้นตอนการทำโปรตีนเกษตรจากแป้งถั่วเหลืองชนิดไขมันเต็ม โดยใช้เครื่องวิลเลจเทคเจอร์ไรเซอร์

แป้งถั่วเหลืองชนิดไขมันเต็ม(๒๕๐ กรัม)
น้ำ (๑๐๐ ซีซี)

ผสมในเครื่องผสม

บดแป้งให้เข้ากับน้ำจนเหนียวเป็นก้อน

แยกและปั้นเป็นก้อนกลมเล็กๆ(๑๐ กรัม/ก้อน)
กดด้วยมือให้เป็นชิ้นแบนๆ

ใส่ในเบ้า(ซึ่งทาด้วยน้ำมันพืช)
อุณหภูมิของเบ้าและฝาเท่ากับ
๑๘๐-๒๐๐ องศาเซลเซียส

กดด้วยแรงดัน ๔๐๐ ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
(๑๐-๑๕ วินาที)

โปรตีนเกษตรชื้น(แผ่นกลมพองฟู)
อบด้วยตู้อบลมร้อน*
(๕๐-๖๐ องศาเซลเซียส ๑ ชั่วโมง)

เครื่องมือวิลเลจเทคเจอร์ไรเซอร์นี้ ยังต้องออกแบบเก็บรายละเอียดของเครื่องมือต่อไป อีกสักระยะหนึ่ง ชุมชนใดสนใจ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ฝ่ายวิศวกรรม สถาบันค้นคว้า และพัฒนา ผลิตภัณฑ์ อาหาร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ โทรศัพท์ ๐-๒๙๔๒-๘๖๒๙ ต่อ ๑๑๔, ๑๑๕

ไม่ทราบว่าสมณะเดินดิน ติกขวีโร ท่านจะคิดอย่างไร กับเครื่องมือ ในระดับชุมชน ที่ราคาถูก และ พึ่งตนเอง ได้มากขึ้นนี้ เพราะท่านเคยปราม พวกเจ้าบุญทุ่ม (ชาวอโศกบางคน) ที่อยากลงทุน ทำอุตสาหกรรม ผลิตโปรตีนเกษตร เมื่อ ๒-๓ ปีก่อน นอกจากท่าน ได้เตือนสติเราแล้ว ท่านเองก็ได้เดินหน้า รณรงค์ อาหาร ขัดเกลากิเลส คือ ข้าวกล้อง ถั่ว งา และอาหารไม่แปรรูปทั้งหลาย มาจนถึงทุกวันนี้

หมายเหตุ
* ตู้อบลมร้อนอเนกประสงค์ ที่สถาบันฯ ผลิตขึ้นมา เป็นเครื่องอบแห้งแบบใช้ไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิง (๓๐๐๐ วัตต์) มอเตอร์ขนาด ๐.๕ แรงม้า ๒ ชุด ลักษณะเป็นตู้ทรงสูงทำด้วยสเตนเลส ขนาด ๖๒ x ๔๘ x ๑๔๐ เซนติเมตร ผนังตู้บุด้วยใยแก้ว เป็นฉนวนกันความร้อน มีถาดสเตนเลสขนาด ๖๐ x ๔๐ เซนติเมตร จำนวน ๒๔ ถาด สามารถตั้งอุณหภูมิ ตามที่ต้องการ (๓๕-๑๒๐ องศาเซลเซียส) และรักษาอุณหภูมิ ที่ตั้งไว้ โดยอัตโนมัติ มีระบบกระจายลมร้อน ให้ทั่วภายในห้องอบ ทำให้ผลผลิตที่อบแห้งนั้น แห้งเท่ากันหมด ตั้งแต่ชั้นล่างสุด จนถึงชั้นบนสุด ราคาประมาณเครื่องละ ๙๐,๐๐๐ บาท

จริงใจ - ไมตรี
ชาวอโศกเพื่อมวลมนุษยชาติ
ต.อ.กลาง

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๖ มกราคม ๒๕๔๖)