หมาถัง
เด็กชายเลี้ยงถังน้ำ ตัวนี้มาได้ ๕ ปีแล้ว มันเป็นถังน้ำ ที่น่ารักมาก แรกที่มันคลอด จากท้องแม่ นัยน์ตาของมัน ใสแป๋ว ครางหงิงๆ กระดิกหาง และเลียมือเด็กชาย

ถังน้ำ เป็นเพียงหมาพื้นบ้านธรรมดา มันมีค่าเพียงแค่เฝ้าบ้าน และเป็นเพื่อน ของมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กชาย

ทุกครอบครัวในหมู่บ้านของเขา ต่างเลี้ยงหมา ด้วยเหตุผล ที่เหมือนๆกัน แต่ค่าของมัน เปลี่ยนไป เมื่อรถคันนั้น เข้ามา ในหมู่บ้าน

พ่อกับแม่บอกว่า เป็นเรื่องธรรมดามาก แต่เด็กชาย กลับรู้สึกว่า เป็นการสูญเสีย ครั้งสำคัญ ที่สุด ในชีวิตของเขา

คนจังหวัดสกลนคร ส่วนหนึ่งนิยม กินเนื้อหมา ให้เหตุผลว่า ไม่ต่างจาก เนื้อหมู วัว หรือ ไก่ แล้วทำไม พวกเขาไม่กินคน ด้วยกันเองบ้าง ในเมื่อหมา มันเป็นส่วนหนึ่ง ของชีวิตมนุษย์

แม้บ้านของเด็กชาย จะอยู่ถึงเมืองอุดร แต่เพราะหมาในท้องถิ่น สกลนคร เริ่มหายาก รถคันนั้น จึงได้วิ่งเข้ามา ในหมู่บ้านของเขา

ถังน้ำพลาสติกใบหนึ่ง แลกกับหมาตัวหนึ่ง
พ่อแม่ของเขาตกลง
เด็กชายได้แต่ยืนดูที่ประตูบ้าน นัยน์ตาสลดของเขา มีคำถาม เขาเป็นลูก เป็นสมบัติ ของพ่อแม่ เหมือนกับหมา เขาสงสัยว่า ตัวเอง จะมีค่ากี่ถัง ถ้าคนนิยม กินเนื้อคนด้วยกัน

และถ้าเขาโตขึ้น พ่อแม่แก่เฒ่าลง ถ้ารถคันนั้นมาอีก พ่อแม่ จะมีค่ากี่ถัง

หมาของเด็กชาย เหมือนกับล่วงรู้ ชะตากรรม
มันเห่าหอน วิ่งหนี จนมาแอบอยู่ที่ ปลายเท้าเขา มันส่งสายตา วิงวอน ให้เขาช่วย เด็กชาย ช่วยโดยการ ทรุดตัวลงนั่ง เคียงมัน ลูบหัวมัน กอดมัน รักมัน ร้องไห้ ให้แก่มัน รัดร่าง มันแน่นเข้า เมื่อคนจับหมา เดินเข้ามาใกล้ มันพยายามดิ้นรน หนีออกจาก อ้อมกอดของเขา แต่มันไปไหนไม่ได้ และมันไม่กัดเขา เพราะมันรักเขา และเขาก็รักมัน

คนจับหมาเอาไม้ที่มีเชือก ผูกเป็นเงื่อน อยู่ตรงปลาย คล้องคอมัน เท่านั้น มันก็หมด อิสรภาพ เขาปล่อยร่างของมัน ดูมันถูกโยน ขึ้นรถกระบะ เจ้าของรถ ยื่นถังพลาสติกสีเทา ให้พ่อแม่ ของเขา แล้วรถคันนั้น ก็หายลับไป

เหลือเพียงถังน้ำ คือมัน
เขาใช้มันอย่าง ทะนุถนอม ลูบคลำลำตัวของมัน เอามันไปวิ่งเล่นด้วย เหมือนเก่า ให้มันขี่ บนหัวของเขา พอเหนื่อย ก็ล้มลงนอน กอดรัดมัน พูดกับมัน เหมือนที่มันเคยฟังเขารู้เรื่อง

ตกกลางคืน มันก็เฝ้าบ้านอยู่ในครัว แต่มันไม่เคยเห่าอีกเลย

"มึงเป็นบ้าอะไรไปวะ" พ่อของเด็กชายด่า "หมามึงตายไปแล้ว ถังมันก็เป็นถัง มึงทำอย่างกับ มันเป็นหมา"

"แต่ก่อนฉันมีหมา พ่อเอามันไปแลกกับถัง ถังมันก็เป็นหมาของฉัน"

"มันเหมือนกันเสียเมื่อไหร่เล่า ถ้ามึงกินปลาร้า มึงไม่กลายเป็น ปลาร้าหรือวะ"

เด็กชายไม่เถียง เอาคำของพ่อไปคิด จริงสิ หรือว่าเขากลายเป็น ปลาร้า จากอาหารที่กิน หรือว่า ที่พ่อเอาข้าวไปขาย แลกเงิน เงินนั้นก็คือ ข้าวที่กินได้ เหมือนกัน

ไม่นานครัน รถคันนั้น แล่นกลับมาอีกครั้ง คราวนี้บ้านติดกัน ยอมขายหมา แต่ก่อนที่คนพวกนั้น จะจับหมาไปได้ เด็กชาย ตัดสินใจได้แล้ว เขาเอาหมาถัง ไปยื่นให้คนข้างบ้าน

"แลกกับฉันเถอะลุง"
ลุงข้างบ้าน ยอมให้หมาแก่เขา

คนรถมองเด็กชาย อย่างจะกินเลือดกินเนื้อ เดินไปหาพ่อแม่ ของเด็กชาย พ่อของเขาพยักหน้า แล้วเดินมา ตบหน้าลูก ส่งหมาตัวนั้น ให้คนรถ แล้วรับถังใบใหม่ เข้าบ้าน

เด็กชายยืนซึมกะทือ อยู่หน้าบ้าน

ลุงข้างบ้าน เดินตามพ่อของเด็กชายไป เพื่อแลกเอาถังใบใหม่ คืนมา

พ่อไม่ให้แลกคืน ลุงเถียงว่า แกควรได้ถังใบใหม่ พ่อก็ว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะแกอยากแลกหมา กับถังใบเก่าเอง ทั้งสองทะเลาะกัน อย่างหนัก จนถึงขั้น ลงไม้ลงมือกัน สุดท้าย พ่อเอามีด ในครัว แทงลุงคนนั้นตาย

พ่อถูกจับติดคุก มีดทำครัว ถูกหลวงยึดไป บ้านของเขา ไม่มีพ่ออีกแล้ว ไม่มีแม้กระทั่งมีด ที่จะแทนตัวของพ่อ เพราะมีดนั้น หลวงยึดไป เป็นของกลาง

วันคืนที่ล่วงไป เด็กชายเฝ้าแต่คิดถึง
หมา ถังน้ำ และพ่อ เด็กชายไม่รู้ว่า เกิดอะไรขึ้น เขารู้สึกว่า ชีวิตของตนเอง สูญเสีย ถูกทำร้าย แต่บอกไม่ได้ว่า เพราะใคร เขาและคนทั้งหลาย มีชีวิต ที่ปราศจากวิญญาณ เพราะทุกคน ได้ขายวิญญาณ ของตนเอง ให้แก่ความเห็นแก่ตัว มาตั้งแต่เกิดแล้ว

จนเมื่อเด็กชายโตขึ้น เป็นพ่อของลูก ลูกของเขาก็เลี้ยงหมา เหมือนกัน รถคันใหม่ แล่นเข้ามาใน หมู่บ้านของเขา คนขับรถ ตรงมาคุยกับเขา

"แลกหมากับถังไหม"

ลูกชายของเขายืนมองเขา ที่หน้าประตูบ้าน มีหมาอยู่ที่ ปลายตีนของลูก เขาลืมนึกถึง วันก่อนเก่า และเขาจะไม่มีทาง นึกถึงมันอีกเลย

"กี่ใบ" เขาถาม

คนขับปรายตา ดูหมาตัวใหญ่ "สองใบ"

เขานึกถึงพ่อแม่ในบ้าน "หมาแก่เอาด้วยไหม"
"มีกี่ตัว"
"สองตัว"
"ให้ตัวละใบ"
เขาหันไปดูลูกชายของตน "หมาเด็กล่ะให้กี่ใบ"
"หนึ่งใบ"

เขาพยักหน้าตกลง เข้าไปในบ้าน อุ้มพ่อแม่ออกมา ทั้งสอง เหมือนล่วงรู้ ชะตากรรม ร้องไห้ อ้อนวอน แต่เขาไม่นำพา โยนทั้งสองขึ้นรถ แล้วเขาก็วิ่งไล่ จับลูกชาย ต้องออกแรง ทุบตีนิดหน่อย จึงสามารถ โยนขึ้นรถได้

คนขับรถ ยื่นถังน้ำให้เขา ห้าใบ แล้วขับรถจากไป

ตั้งแต่นั้นมา เขาปรนนิบัติและเลี้ยงดูถังน้ำ ทั้งห้าใบ อย่างทะนุถนอม

ฮ.นิกฮูกี้
(จากหนังสือ ช่อปาริชาตุ ๒๐๐๑)