สารอโศก

 


เปิดหน้าต่างต.อ.

ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร ต.อ. ครั้งที่ ๑/๒๕๔๖ ในงานพุทธาภิเษกฯ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ณ พุทธสถาน ศาลีอโศก คณะทำงาน ต.อ.กลางในฐานะฝ่ายเลขานุการ ของที่ประชุมได้เสนอทางเลือกใหม่ สำหรับ การพัฒนาคุณภาพผลผลิต ของชาวอโศก ให้แก่คณะกรรมการบริหาร ต.อ. ได้พิจารณาดังนี้

ข้อเสนอที่ ๑ : โปรตีนเกษตรปลอดจีเอ็มโอ
เนื่องจากชุมชนชาวอโศก เป็นชุมชนที่เน้นการจำหน่ายสินค้าธรรมชาติ ซึ่งกระบวน การผลิตแบบ จีเอ็มโอ เป็นกระบวนการฝืนธรรมชาติ(ตัดแต่งพันธุกรรม) และยังไม่มี ข้อมูลรับรอง เรื่องความปลอดภัย ในระยะยาว

จึงเห็นควรส่งเสริม การจำหน่าย และผลิตโปรตีนเกษตร ที่ปลอดจีเอ็มโอ ให้เป็นอีก ทางเลือกหนึ่ง ของผู้บริโภค โดย

๑. ให้ บจ.พลังบุญ และบริษัทแด่ชีวิต ประเมินความต้องการของชุมชน เพื่อสั่งซื้อ โปรตีนเกษตรปลอด จีเอ็มโอ จากแหล่งจำหน่ายดังนี้ :

-สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
-บจ.ฟูดเทคโปรดักส์ จำกัด กรุงเทพฯ
ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ผลิต ได้ผลิตผลิตภัณฑ์ ที่ปลอดจีเอ็มโอ อย่างต่อเนื่อง

๒. ผลิตโปรตีนเกษตรบริโภคเอง โดยใช้เครื่องมือผลิตโปรตีนเกษตร ระดับชุมชน มีชื่อว่า วิลเลจเทคเจอร์ไรเซอร์ (Villagetexturizer) ที่ใช้วัตถุดิบ จากแป้งถั่วเหลือง ที่มีไขมันเต็ม ซึ่งชุมชนสามารถเตรียมแป้งนี้ได้เอง โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาประมาณ เครื่องละ ๗๕,๐๐๐ บาท ผลิตโดย ฝ่ายวิศวกรรม สถาบันค้นคว้า และพัฒนา ผลิตภัณฑ์ อาหาร มหาวิทยาลับเกษตรศาสตร์ โทร. ๐-๒๙๔๒-๘๖๒๙ ต่อ ๑๑๔, ๑๑๕ (รายละเอียด ในหนังสือสารอโศก ฉบับที่ ๒๕๖ คอลัมน์เปิดหน้าต่าง ต.อ. หน้า ๑๐๖)

มติที่ประชุม เห็นชอบตามข้อเสนอ และให้คุณแก่นฟ้า แสนเมือง ติดต่อประสานงาน นำเครื่องมือผลิต โปรตีนเกษตร ดังกล่าว มาแสดงในงาน เพื่อฟ้าดิน วันที่ ๑๖-๑๘ พฤษภาคมนี้ และให้นำเสนอวิธีพัฒนาเต้าหู้แห้ง ทดแทน โปรตีนเกษตรด้วย


ข้อเสนอที่ ๒ : ผลิตภัณฑ์บรรจุแบบสูญญากาศ ป้องกันสารพิษอะฟลาท็อกซิน
ข้าวกล้อง ถั่ว งา และธัญพืชต่างๆ ที่เป็นอาหารที่อุดมด้วยวิตามิน และเสี่ยงต่อเชื้อรา หากไม่ได้มีกระบวนการ ทำให้แห้ง และมีการเก็บรักษาที่ดีพอ ด้วยเหตุที่เป็นวัตถุดิบ ที่ซื้อขายกันเอง ในระหว่างเครือข่าย กสิกรรมไร้สารพิษ ไม่ได้ผ่านกระบวนการ ทางอุตสาหกรรม ที่อบฆ่าเชื้อ หรือ ฉาบกัมมันตภาพรังสี หรืออาบสารกันเชื้อรา หรือ สารป้องกัน แมลงอื่นๆ เพื่อการเก็บรักษาระยะยาว และการขนส่งระยะไกล การบรรจุ สูญญากาศ จะเป็นทางออก ที่ดีทางหนึ่ง ในการป้องกัน ปัญหาดังกล่าว เนื่องจาก ใช้หลักการดูด เอาอากาศ ออกจากถุง หรือ ภาชนะบรรจุ ออกทั้งหมด ให้อยู่ในภาวะ สูญญากาศ และผนึกแน่น ไม่ให้มีอากาศเข้าไปได้อีก ทำให้ไม่มีการเจริญเติบโต ของเชื้อ จุลินทรีย์ และเชื้อรา นอกจากนี้การบรรจุสูญญากาศ ทำให้อาหาร ยังคงคุณสมบัติที่ดี อีกหลายประการ เช่น

- คงความสดใหม่ และคงรสชาติเดิมของอาหาร โดยยืดอายุของอาหารได้นานกว่า ๓-๕ เท่า
- อาหารแห้ง เช่น น้ำตาลสีรำ ไม่เกาะติดกันเป็นก้อน เพราะไม่ได้สัมผัสกับอากาศชื้น
- ไข่มอด หรือแมลงในธัญพืชต่างๆ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้

ราคาของเครื่องบรรจุสูญญากาศ มีจำหน่ายทั่วไปมีตั้งแต่หลักหมื่น จนถึงหลักแสน ขึ้นอยู่กับขนาด และคุณสมบัติของการใช้งาน

ขณะนี้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ กรุงเทพฯ ได้พัฒนา เครื่องมือ ที่เหมาะสมสำหรับชุมชน ราคาเครื่องละประมาณ ๑๒,๐๐๐ บาท หากสนใจ สอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติม ที่สถาบันฯ อาจารย์บุญมี โทร ๐-๒๙๑๓-๒๕๐๐-๒, ๐-๑๔๙๔๓-๔๔๑ หรือ ติดต่อผ่าน คุณตู้ สุขนึก โทร ๐-๑๓๑๒-๘๓๓๘

มติที่ประชุม เห็นชอบตามข้อเสนอ โดยขอให้ชุมชน ทดลองจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ ประเภท ข้าวกล้อง ถั่ว งา และสมุนไพร โดยบรรจุสูญญากาศ เพื่อประเมินกำลัง ของตลาด และ กำลังซื้อ ของผู้บริโภค

เพราะต้นทุนสินค้าอาจจะสูงขึ้น เนื่องจากการบรรจุสูญญากาศ ต้องใช้ถุง ที่มีความหนา พอเหมาะ และ บรรจุเรียง ในกล่อง เพื่อกันความเสียหาย ระหว่างการขนส่ง หรือให้ บจ. แด่ชีวิต บจ. ขอบคุณ บรรจุสูญญากาศ ที่ปลายทาง เพื่อลดปัญหา ดังกล่าว


ข้อเสนอที่ ๓ : ให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำหมักชีวภาพ เพิ่มข้อความบนฉลาก
คณะทำงานต.อ.กลางเสนอให้ผู้ผลิตเพิ่มข้อควรระวังบนฉลากของเครื่องดื่มน้ำหมัก
ชีวภาพ จากลูกยอ จาก "เด็ก และสตรีมีครรภ์ ไม่ควรรับประทาน" เป็น "เด็ก สตรีมีครรภ์ และ ผู้เป็นโรคไต ไม่ควรรับประทาน" หรือ ข้อควรระวังอื่นๆ เมื่อมีส่วนผสมของสมุนไพร ที่พึงมี ข้อควรระวัง ในการบริโภค

มติที่ประชุม เห็นชอบตามที่เสนอ


ข้อเสนอที่ ๔ : ให้ระวังสารปรุงแต่งรสอาหารที่แจ้งบนฉลากว่า ไม่มีผงชูรส หรือ สารเคมีใดๆ
ต.อ.กลางได้ส่งตัวอย่างสารปรุงแต่งรสอาหารต่างๆ ที่เป็นที่นิยมบริโภคในหมู่ชาวอโศก ๔ ตัวอย่าง ที่ระบุบนฉลากว่า ไม่มีผงชูรส หรือสารเคมีใดๆ ส่งตรวจที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วท.) ผลการวิเคราะห์ พบว่ามีส่วนผสม ของผงชูรส (โมโนโซเดียม กลูตาเมต) และต.อ.กลาง ได้แจ้งผลการตรวจ ไปที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งกำลัง รณรงค์เรื่องผงชูรสอยู่ ขณะนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กำลังตรวจหา ผงชูรส ในผลิตภัณฑ์ ดังกล่าวซ้ำ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอยู่ในระหว่างการรอผล

มติที่ประชุม เสนอดังนี้
รอข้อมูลจากการตรวจซ้ำ ก่อนประกาศแจ้งข้อเท็จจริง


ข้อเสนอที่ ๕ : โครงการสำรวจสถานการณ์การจัดหาวัตถุดิบ
คณะทำงาน ต.อ.กลาง ได้จัดทำโครงการสำรวจสถานการณ์การจัดหาวัตถุดิบ ของเครือข่าย ชุมชนชาวอโศก ปี ๒๕๔๖ (ข้าว ถั่ว งา) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล ในการประสานการจัดซื้อ วัตถุดิบ ไร้สารพิษ และมีคุณภาพ ระหว่างผู้ปลูก โรงสี หน่วยผลิต แปรรูป ร้านค้าชุมชน และ ร้านขายส่งคนกลาง

โครงการนี้ เป็นโครงการความร่วมมือ ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในทุกพุทธสถาน โดย ต.อ.กลาง จะทำหน้าที่ เป็นผู้ประสานงาน การสำรวจ โดยผลการสำรวจ และการวิเคราะห์ผล จะเสนอ ต่อที่ประชุม ในงานเพื่อฟ้าดิน เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ เพื่อกำหนดเป้าหมาย และ ยุทธศาสตร์ ด้านการจัดการร่วมกัน

มติที่ประชุม เห็นชอบตามที่เสนอ


ข้อเสนอที่ ๖ : การประสานความร่วมมือ จากผู้เชี่ยวชาญภายนอก ในการผลิตยา สมุนไพร ศูนย์เจาะวิจัยสมุนไพร
เนื่องจากมียาสมุนไพรบางชนิด ของชุมชนปฐมอโศก ไม่สามารถขอขึ้นทะเบียน อย. และ ต.อ.ได้ เนื่องจาก
๑. การผลิตยาสมุนไพรบางชนิด ไม่มีข้อมูลเอกสารอ้างอิง การศึกษาวิจัยมาสนับสนุน
๒. มีปัญหาเรื่องชื่อผลิตภัณฑ์ ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ อย.
๓. สรรพคุณไม่เป็นที่ยอมรับ ทั้งๆที่เป็นตำรับที่มีการใช้มานานแล้ว
๔. เป็นผลิตภัณฑ์คาบเกี่ยวระหว่างอาหารและยา ทำให้ขอขึ้นทะเบียนไม่ได้

คณะทำงาน ต.อ.กลางจึงจัดให้มีการประชุมตกลงความร่วมมือ ด้านการพัฒนาสมุนไพร ระหว่าง ผู้จัดการศูนย์เจาะวิจัย (โรงงานยา) ต.อ.ชุมชนปฐมอโศก คณะทำงานต.อ.กลาง และคณะผู้เชี่ยวชาญ ด้านยาสมุนไพร จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๖ ณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ

ได้มีข้อตกลง ความร่วมมือ ดังนี้
๑. ให้มีคณะทำงานจัดหาข้อมูลสนับสนุนสูตร ตำรับยาสมุนไพรที่ศูนย์เจาะวิจัย ต้องการผลิต เพื่อจำหน่าย ซึ่งประกอบด้วย คณะผู้เชี่ยวชาญ ด้านยาสมุนไพร จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฯลฯ

๒. ไม่ควรผลิตเพื่อทดลองตลาด หรือพิมพ์ฉลากกำหนดสรรพคุณ ก่อนที่คณะทำงานฯ จะหาข้อมูล มาสนับสนุน เพียงพอ

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญฯ จะให้การสนับสนุนเรื่อง
๑. การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต โลชั่นกันยุงขมิ้นชันของ กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ แก่หน่วยผลิต เครือข่าย ชุมชนชาวอโศก

๒. การประสานการพัฒนาเครื่องมือสกัดสมุนไพร ที่เหมาะสมสำหรับชุมชน โดยขอให้ อาคารไพรอโศก (อาคารผลิต วัตถุดิบ ปฐมอโศก) ดำเนินงานในโครงการนี้ โดยเริ่มจาก การทดลอง สกัดสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร เสลดพังพอน ไพล และ ขมิ้นชัน

๓. การประสานการพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสมในการตรวจหาสารพิษจากอะฟลาท็อกซิน ในผลิตภัณฑ์ อาหารและยา จากสมุนไพร

มติที่ประชุม ที่ประชุมรับทราบ และเห็นชอบ


ข้อเสนอที่ ๗ : มาตรการการแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์ในร้านค้าชาวอโศก
จากการตรวจผลิตภัณฑ์ในร้านค้า ชมร.จตุจักร ศาลาค้าปฐมอโศก บจ.พลังบุญ พบว่า ยังมีสินค้า ที่ไม่เหมาะสม มาจำหน่ายดังนี้

-ชมร.จตุจักรและศาลาค้าปฐมอโศก
ก. จำหน่ายยาสมุนไพร ซึ่งเป็นยาที่ต้องจำหน่าย หรือจ่ายให้ผู้ป่วยในสถานพยาบาลเท่านั้น

ข. จำหน่ายเครื่องดื่มน้ำหมักชีวภาพ ว่านกระชายดำ โดยโฆษณาไม่เหมาะสม "เสริมสมรรถภาพ ทางเพศ ท่านชาย" และ ไม่ได้ส่งจดแจ้ง ต่อ ต.อ.กลาง

ค. จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร โฆษณาเกินจริงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เช่น รักษาโรค ครอบจักรวาล โรคเบาหวาน โรคหัวใจทุกชนิด โรคตับ โรคไต

มาตรการที่ได้ดำเนินการ
ก. งดสั่งซื้อสินค้าประเภทยาสมุนไพร ซึ่งเป็นยาที่ต้องจำหน่าย หรือ จ่ายให้ผู้ป่วย ในสถานพยาบาล เท่านั้น ส่วนสินค้า ที่ยังเหลืออยู่ อนุโลมให้ขายต่อไป จนกว่าจะหมด

ข. งดสั่งซื้อสินค้าประเภทยาสมุนไพรและเครื่องดื่มน้ำหมักชีวภาพ จนกว่า จะมีการจดแจ้ง และ ถ้าต้องการ จำหน่าย สินค้าที่เหลืออยู่ ที่มีการโฆษณา เกินจริง ให้ผู้ผลิตนำฉลาก มาเปลี่ยนให้ใหม่

หมายเหตุ การจำหน่ายยาของร้านค้าชุมชนชาวอโศก มีความเสี่ยง ต่อการถูกดำเนินคดี ใน ๒ กรณีคือ
๑. ไม่ได้จดทะเบียนเป็นร้านจำหน่ายยาแผนโบราณ
๒. จำหน่ายยาบางชนิดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน อย.

ดังนั้นร้านค้าควรจำหน่ายยา ที่มีเลขทะเบียน อย. หรือผ่านการจดแจ้งจาก ต.อ.กลางก่อน เช่น ยาจาก โรงงาน ปฐมอโศก เนื่องจากเป็นโรงงาน ที่ได้มาตรฐาน และเป็นศูนย์เรียนรู้ ต้นแบบ มีการตรวจสอบคุณภาพ วัตถุดิบ ทั้งแหล่งที่มา และทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้ง มีคณะอาจารย์ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ มาร่วมพัฒนา รวมทั้ง เมื่อจะวางจำหน่าย จะต้องผ่าน การจดแจ้งจาก ต.อ.กลางก่อน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว หากมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ ทางร้านก็สามารถชี้แจง ระบบ การตรวจสอบ

-ปัญหาที่ บจ.พลังบุญ และมาตรการที่ได้ดำเนินการ
ก. พบสินค้าขึ้นรา ได้แก่เจลว่านหางจระเข้ ผู้ซื้อนำมาคืน ทางบริษัทจึงส่งคืน บริษัทขายส่ง (บจ.ขอบคุณ) และทาง บจ.ขอบคุณ ส่งคืนชุมชนทั้งหมดใน lot เดียวกัน

ข. พบสินค้ามีใย และขึ้นหนอน ได้แก่ ข้าวยาคู ผู้ขายพบเอง ทางบริษัท จึงส่งคืน ชุมชนทั้งหมด ใน lot เดียวกัน

มติที่ประชุม เห็นชอบ และเสนอให้
๑. ชุมชนที่จำหน่ายยา หาเภสัชแผนโบราณประจำร้าน ซึ่งทะเบียนบ้านต้องอยู่ในจังหวัดเดียวกับ ที่ตั้งร้านด้วย
๒. กรณีผลิตภัณฑ์เจลว่านหางจระเข้มีปัญหาขึ้นรา เสนอให้ต.อ.ชุมชนไปประสาน หน่วยงาน วิชาการ ในท้องถิ่น มาช่วยตรวจสอบ และพัฒนา คุณภาพผลผลิต และมีการทดลอง ผลิตภัณฑ์ ก่อนจำหน่าย ทั้งมีข้อแนะนำ บนฉลาก ด้วยว่า เมื่อเปิดฝาแล้ว ควรเก็บในตู้เย็น เป็นต้น


ข้อเสนอที่ ๘ : การสัมมนา ต.อ.ชุมชน และร้านค้าชุมชน
สืบเนื่องจากที่ประชุม คณะกรรมการบริหาร ต.อ. ในงานมหาปวารณา วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ มีความเห็น ร่วมกันว่า ควรให้มีการปฏิรูประบบ ต.อ. โดยการกระจายอำนาจ การควบคุมดูแล การอนุมัติให้จำหน่าย ผลผลิต ไปให้กับชุมชน (ยกเว้นผลผลิตประเภทยาจากสมุนไพรทุกชนิด และผลผลิตจากน้ำหมักชีวภาพ ที่เป็นเครื่องดื่ม และ เครื่องสำอาง เช่น แชมพู สบู่เหลว) โดยที่ประชุมชุมชน ต.อ.ชุมชน กรรมการชุมชน และสมณะที่ปรึกษา ต.อ.ชุมชน ร่วมกันรับผิดชอบ ผลผลิต ที่จะผลิตออกมา เพื่อจำหน่าย

ส่วน ต.อ.กลางจะทำหน้าที่สุ่มตัวอย่าง ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเป็นระยะๆ ถ้าพบว่ามีปัญหาด้านฉลาก ด้านกายภาพ (บรรจุภัณฑ์, สี, กลิ่น ฯลฯ) หรือด้านห้องปฏิบัติการ (ตรวจยาฆ่าแมลง, อะฟลาท็อกซิน, จุลินทรีย์) จะแจ้งให้ทราบ เพื่อปรับปรุง แก้ไข หรืองดจำหน่าย โดยพิจารณาตามสภาพปัญหา ส่วนผลผลิต ที่มีความคงที่ ด้านการผลิต มาตรฐานคุณภาพ สถานที่ผลิตถูกสุขลักษณะ จะได้รับเครื่องหมาย ต.อ. บนฉลากต่อไป

ทั้งนี้การกระจายอำนาจ จะเริ่มใช้ในชุมชนที่พร้อมก่อน ชุมชนใดที่ยังไม่พร้อม ให้คงดำเนินการ ไปตามเดิมก่อน

ดังนั้นคณะทำงาน ต.อ.กลาง จึงขอเสนอให้มีการสัมมนา ต.อ.ชุมชน และร้านค้า เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน ในเรื่องการปฏิรูป ระบบ ต.อ. และเพื่อให้การตรวจสอบ และพัฒนาคุณภาพผลผลิต ของชาวอโศก เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องการความร่วมมือ จากร้านค้าเป็นอย่างยิ่ง

มติที่ประชุม เห็นชอบและเสนอให้จัดการสัมมนาในงานปลุกเสกฯ วันที่ ๖-๑๒ เมษายนนี้ เพื่อความสะดวก ของผู้มาร่วมประชุม

โอวาทปิดการประชุม จากท่านเดินดิน ติกขวีโร
งาน ต.อ.เป็นงานที่ต้องใช้อิทธิบาทมาก เป็นงานที่ต้องตามเก็บหางคนอื่น เป็นงานไม่สนุก ต้องใช้ความพยายาม อดทน ถ้าปล่อยปละละเลยไป องค์กรหลักก็จะพัง

จริงใจ - ไมตรี
ชาวอโศกเพื่อมวลมนุษยชาติ
ต.อ.กลาง

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)