ปลุกเสกพระแท้ๆของพุทธ
ครั้งที่ ๒๗
ในที่สุดสงครามก็อุบัติขึ้น
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และหลายครั้งที่ผ่านมา มนุษยชาติ ก็ได้รับบทเรียน ถึงความสูญเสีย
ที่มากมาย เหลือคณานับ พร้อมทั้งหลาบจำ ที่จะไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก แต่ตราบใด
ที่ไม่สาวถึงต้นเหตุ ของสงคราม ว่าเกิดจากอะไร และหาทางแก้ไข ตราบนั้น สงครามก็ยังจะเกิดขึ้นได้อีก
ไม่มีสิ้นสุด
"กิเลสตัณหา"ของมนุษย์คือต้นเหตุแห่งสงคราม
! ชี้เปรี้ยงจากบทสัมภาษณ์ของพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ เพื่อความเข้าใจ และวางใจ
จากเหตุการณ์สงคราม เพื่อสรุปบทเรียน ให้กับตนเอง อย่าปล่อย ให้บทเรียน ราคาแพง
ครั้งนี้สูญเปล่า
ถาม สงครามที่กำลังเกิดขึ้น
ถ้าเรารู้สึกเครียดกับความคิดที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น เราสงสารเด็ก และเห็นใจ
คนที่ได้รับเคราะห์กรรม สูญเสียทั้งชีวิต บ้านช่อง ทรัพย์สิน ควรทำใจอย่างไร?
ขอคำแนะนำ จากพ่อท่านค่ะ
ตอบ เป็นคำถามที่ดีถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันธรรม
ตามความคิดของอาตมา สงครามที่เกิด ในยุคสมัยนี้ มันใกล้กลียุคเข้าไปแล้ว
แน่นอนมันห้ามยาก เพราะว่าคนที่ยังมีโลกียะ คือมีความคิด แบบโลกๆ ที่ยังมีกิเลสเป็นเจ้าเรือน
ก็เป็นธรรมชาติของมัน โดยเขาก็ไม่ได้เรียนรู้ ถึงธรรมะสัจธรรม ที่ลึกซึ้ง
เมื่อเขาจะไป เบียดเบียนกัน ฆ่าแกงกัน ทำให้คนตายลงไป ที่จริงลึกๆ เขาก็รู้ว่า
เป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม แต่อำนาจ ความต้องการ เอาชนะคะคาน ในเชิงคิดของเขาที่จะทำ
ก็ห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ใจเราคลาย วางปลงลงบ้าง ก็ให้เราคิดอย่างนี้
เห็นความจริงให้ได้ว่า สังคมในโลก ไม่ว่ายุคไหน กาลไหน ก็เป็นทุกข์ เป็นภัย
เพราะกิเลส คนเรามีกิเลส ก็จะพาเป็นทุกข์เป็นภัย ทั้งสิ้น
มาถึงยุคนี้ คนมีกิเลสมากขึ้น
พลโลกเพิ่มขึ้น ทรัพยากรก็น้อยลง สิ่งที่จะอาศัยใช้กินใช้สอย น้อยลง สิ่งที่จะมาแบ่งกัน
เฉลี่ยกันก็ลดลง เมื่อเทียบกับ ปริมาณความโลภ ของผู้คน ที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนที่มีแนวคิด
แบบโลกีย์ คือ มักมาก มหัปปิจฉะ แต่ละคนก็มีลักษณะทุนนิยม
ก็จะสะสมอะไรไว้มากๆ "เพื่อเผื่อพอ" คำว่า "พอ"คำเดียว
ซึ่งแปลว่า สันโดษ เป็นสิ่งที่คนไม่รู้จักง่ายๆ เขาจะเผื่อพอ กลัวมันจะขาด
กลัวจะไม่พอกิน กลัวจะไม่พอใช้ กลัวจะไม่พอเผื่อลูก และก็ต้องเผื่อ สำหรับอนาคต
เวลาเจ็บป่วย เผื่อว่าในอนาคต เราไม่มีประสิทธิภาพ ถูกเขาแย่งเอาอำนาจไป
ถูกเขาแย่งเอาวิถีทาง ในการดำเนินชีวิต ที่เราเคยได้ รายได้ มากกว่านี้ เพราะฉะนั้น
ต้องสะสม กอบโกยไว้มากๆ มันมีแนวที่ทำให้ เขากังวล เขากลัว เขาเกรงว่า จะขาด
นี่เป็นเรื่องจิต ที่ไม่มีสันตุฏฐิเจตสิก ไม่มีจิตที่รู้จักสันโดษ ทั้งนั้น
เพราะยังมี ความมักมาก กลัวตัวเองจะน้อย คนที่กล้าหาญ
ที่จะกล้าจน อัปปิจฉะ มีการมักน้อย รู้จักพอ และ ละลดลงมา ให้น้อยลงๆ จนมีประสิทธิภาพ
และมีความกล้าหาญ ได้ขนาดนี้ ต้องมีธรรมะ และ พิสูจน์ธรรมะจริง จนมีศรัทธินทรีย์
มีความเชื่อฟัง มีความเชื่อมั่น มีความรู้สึกมั่นใจ ในตัวเอง ที่ลึก และสูงพอ
เขาจึงจะกล้า
ความไม่กล้าพวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับประเทศอย่างบุช
อย่างซัดดัม หรืออย่างแบลร์ ก็ตาม เขาก็ต้อง ระมัดระวัง เท่าที่จะมีแนวคิด
องค์รวมของการมีชีวิตอยู่ในโลก มีการสัมพันธ์เชื่อมต่อ คิดว่า อันนี้จะขาด
อันนี้จะไม่พอ เพราะฉะนั้น เขาจะสัมพันธ์กับใคร ร่วมมือกับใคร ก็คือรักษาผลประโยชน์
ของเขาทั้งสิ้น เขาจะเชื่อมโยงกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ แก่กันและกัน ขึ้นมา
โดยเขานึกถึง ตัวเอง มากเกินไป กลัวตัวเอง จะขาดแคลน เขาจึงต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน
รักษาผลประโยชน์ เป็นแนวกว้าง ไปกอบโกย จากตรงนั้น ตรงนี้ให้มากๆ เผื่อพอให้มากๆ
สรุปง่ายๆดังนี้
แต่แนวคิดของพุทธศาสนาในแนวที่เราปฏิบัติกัน
พวกเรามามักน้อยสันโดษกัน พอสมควรแล้ว เป็นครอบครัวเล็ก สังคมแคบ เราจึงไม่จำเป็น
ต้องไปคิดให้กว้าง ถึงขนาดไปโลภ เกินขอบเขต อย่างที่เขาคิดกัน เมื่อเราเองรู้ประสิทธิภาพ
และมั่นใจ ประสิทธิภาพ ของตนเองว่า ถ้าเรามี ประสิทธิภาพเท่านี้
และ เราก็สร้างสรรไป วันละเท่านี้ โดยเรากิน ใช้ไม่มาก ทำให้มีส่วนเหลือ
เป็นเศรษฐศาสตร์ บุญนิยม เรากิน ใช้วันละเท่านี้ เรามีเพื่อนฝูง มีมิตรสหายของเรา
เป็นชุมชน เป็นสังคม ที่พวกเรา มีความสามารถ ที่จะสร้างสรร และเฉลี่ยส่วนเหลือ
เข้าส่วนกลาง ในสังคม ชุมชนของเรา ปริมาณเท่านี้ คิดอย่างไร เราก็ยังมีเหลือ
และมีเกินเผื่อ ให้คนอื่นได้ เพราะฉะนั้น ความเผื่อพอ ที่เราเอง จะต้องไปโลภเอามา
ดูดเอามาจากสังคมอื่น เพื่อเผื่อพอเยอะๆ เราจึงหมดความจำเป็น เราจึงไม่ต้อง
ไปกลัว ไปเกรงว่า เขาจะมาโลภถึงเรา จะมากวาดเอาถึงเรา เพราะถึงอย่างไร เราก็มีเหลือ
เผื่อพอ ให้เขากวาด ไปได้อยู่แล้ว เราจึงไม่ต้องไปเต้น ไปดีดมาก ถึงขนาดนั้น
ความทุกข์ร้อนของเรา จึงมีน้อยกว่าเขา แน่นอน เมื่อเรามีความสันโดษเท่านี้
มีอัปปิจฉะ มีความกล้าจน อย่างนี้ เราจะเห็นชัดว่า เราไม่เดือดร้อน ที่จะไปเผื่อพอ
ขนาดนั้น เป็นแต่เพียงว่า เราจะมาสร้างสรร ให้ยิ่งกว่านี้หรือไม่
เพราะทุกวันนี้ เราก็พึ่งตัวเอง ได้อยู่พอสมควร ส่วนเหลือ เราก็สะพัด เผื่อสังคมอยู่แล้ว
โดยสัจจะ ซึ่งต่างจาก ระบบทุนนิยม ที่สะพัดเพราะจำใจ และสะพัดเพื่อเสพสุข
บำเรอตน ไม่ใช่สะพัด ด้วยตั้งใจ เผื่อแผ่ และ พอใจสละจริง เหมือนบุญนิยม
สรุปแล้วสงครามครั้งนี้
ก็ปล่อยให้เขาทำไป เราก็ทำสันติภาพ ส่วนเขาจะทำสงคราม ก็เป็นเรื่อง
ของเขา เป็นแนวคิด ของเขา เราไม่ไปทำสงครามกับเขา แต่เราจะทำสันติภาพ โดยการสร้างเศรษฐกิจ
เอาล่ะ ถ้าเรารู้ว่า เราพอ และเราก็ไม่เห็นแก่ตัว เราก็ยังจะสร้างสรร มากขึ้นกว่านี้
พยายามพากเพียร มากขึ้นกว่านี้ ลดละตัวเอง ให้มากกว่านี้ ในแต่ละคนๆ เมื่อเราละลดตัวเอง
ให้มากขึ้นได้จริง สร้างสรรให้มากขึ้นจริง ส่วนเหลือส่วนเกิน ก็จะมีมากขึ้น
ที่เราจะสะพัดไป ไปช่วยความผลาญ คนทำสงครามนี้ผลาญ
แต่คนทำสันติภาพนี้ช่วย เราจะเป็นกองกาชาด เราจะเป็นกองพลาหาร เวลาเขาทำสงคราม
คนที่อยู่ หน่วยกาชาด จะคอยช่วยผู้อื่น เมื่อได้รับบาดเจ็บ คนที่อยู่หน่วยอาหาร
เลี้ยงคนที่ต้องกิน ต้องใช้ คนเหล่านี้ คือ คนทำสันติภาพ
ซึ่งเป็นพฤติกรรม ชนิดหนึ่ง ส่วนคนที่ทำสงคราม
คือ มีพฤติกรรม
อีกชนิดหนึ่ง เราจึงควรรู้ตัวเอง ให้ชัดเจนว่า ถึงขณะนี้ เขาจะทำสงคราม อยู่ก็ตาม
แต่เราจะทำ หน้าที่ สร้างสันติภาพ
ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็จะวางใจได้
และเราก็ทำหน้าที่ในฐานะเป็นพลโลก ไม่ได้หมายความว่า เราไม่รับรู้ ไม่รู้ไม่เห็น
ไม่ช่วยเหลือ ไม่ดูดำดูดี แต่เราจะช่วยเหลือด้วยหน้าที่ด้วยการงาน กิจที่เราทำ
เป็นกิจ สันติภาพ เราไม่ได้ทำ กิจสงคราม เพราะฉะนั้น เราก็ทำกิจสันติภาพ
ให้ถูกสาระก็แล้วกัน
ถาม
ท่าทีของชาวอโศกต่อสงครามจะทำอย่างไร?
ตอบ เราก็ทำความเข้าใจกับคนของเราให้เข้าใจอย่างนี้
แล้วก็มาเร่งรัดพัฒนา เพราะตอนนี้ มันเกิด พฤติกรรมโลก พฤติกรรมสงคราม ขึ้นจริงในมวลมนุษยชาติ
โดยเมื่อเขาทำอย่างหนึ่ง เราก็ถ่วงดุลสังคม อีกด้านหนึ่ง เมื่อเขาทำสงคราม
เราก็ต้องสร้างสันติภาพ ให้ยิ่งขึ้น เพราะตอนนี้ เราปฏิเสธ ความจริง ไม่ได้ว่า
สงครามเกิดแล้วจริง ความสูญเสีย ผลาญพร่าทำลายเกิดจริง เราไม่ไปวินิจฉัยว่า
บุชถูกต้อง หรือ ซัดดัมถูกต้อง แต่ความจริง คือ สงครามเกิดขึ้นแล้ว
คนตายแล้ว การทำลายล้างเกิดขึ้นแล้ว อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น เราจะทำอะไร
เป็นการเสริมหนุน หรือทดแทน สิ่งที่สูญเสียไป ก็เป็นหน้าที่ของ ผู้นำสันติภาพ
ต้องทำเท่านั้น
ถาม หากเปรียบเทียบกับสงครามเล็กๆในชีวิตของแต่ละคนที่เกิดขึ้นตลอดเวลา?
ตอบ สงครามมีไม่จบ
ตราบใดที่ใครก็แล้วแต่ยังไม่เป็นผู้อรณะ หรือผู้ไม่มีสงคราม รณ แปลว่า
สงคราม เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดตกเข้าไป อยู่ในองค์แห่งสงคราม อยู่ในลักษณะของ
"รณรงค์" ผู้ใด "รณรงค์" ผู้นั้น อยู่ในสงคราม กำลังทำสงคราม
กำลังต่อสู้
ผู้ไม่มีสงครามในจิตแล้วเรียก
อรณะ คือ พระอรหันต์ผู้สงบ
ผู้ใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังไม่อรณะ ผู้นั้นก็ยังต้องมีสงครามของตนเองอยู่แน่นอน
ซึ่งไม่ได้เป็นสงครามระดับโลกระดับหยาบ แต่เป็นระดับสงครามส่วนบุคคลที่เป็นอาริยชน
เรียกว่าปรมัตถ์หรือสงครามของโลกุตระ โดยเราต้องมาอ่านของเราว่ายังมีกิเลส
ที่เป็นตัวสำคัญของการต่อสู้ตัวไหนบ้าง เราต้องต่อสู้กับกิเลส ซึ่งเป็นข้าศึกตัวสำคัญเราต้องทำสงครามเฉพาะตัวกับกิเลสอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหา"สรณะ" หาที่พึ่งของตนเองที่เจริญขึ้นๆ
โดยที่มีกิเลสน้อยลงๆ นั่นเรียกว่าที่พึ่งหรือพระไตรรัตน์ เป็นที่พึ่งอันดี
เมื่อเรามีสรณะเป็นที่พึ่งสูงถึงที่สุด อรณะ ไม่มีสงครามไม่มีกิเลส หมดกิเลสก็จะเป็นพระอรหันต์
นั่นคือ เราหมดสงคราม
ในขณะที่เราปฏิบัติลดกิเลสลงมาได้ตามลำดับๆ
พฤติกรรมของเราอยู่ในโลก เราก็คือ ผู้ลดสงคราม ในสังคม ไปเรื่อยๆ ตามจริง
สังคมที่ไม่มีคนปฏิบัติตน เพื่อลดกิเลสนั้นคือ "สังคมสงคราม"
ปกติ
ไม่มีทาง หลีกเลี่ยง แม้แต่การแย่งกัน เสพสุข ก็คือสงคราม ดังนั้น แต่ละคน
ต้องปฏิบัติลดกิเลส ให้สัมมาทิฏฐิ นั่นคือ การลดสงคราม ให้แก่โลกอย่างดีที่สุด
และเป็นไปได้ชนิดเดียว หนทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น ที่แน่แท้เท่า
ถาม งานปลุกเสกฯ มีส่วนช่วยลดสงครามหรือไม่อย่างไร?
ตอบ แน่นอน เพราะงานปลุกเสกฯจะเป็นการฝึกฝนเรียนรู้ถึงสงครามเฉพาะตน ที่จะช่วยให้คนลด
"รณ" สร้าง "สรณะ" ให้แก่ตนอย่างเป็นโลกุตระ ลดสงครามลงไปเรื่อยๆ
เมื่อเรามีสนามสงคราม อยู่ตลอดเวลา เราก็อยู่ในสมรภูมิ ที่ต้องมีการรณรงค์ตัวเอง
ด้วยการรู้กิเลสของเรา ที่เป็นศัตรูตัวแท้ ที่มันรบกับเรา และเรารบ กับมัน
ถ้าเราสามารถ ที่จะรบชนะกิเลส และกำจัดกิเลส ไปได้เรื่อยๆ เราก็จะมีที่พึ่งที่ดี
เป็นสรณะแท้จริง ไปเรื่อยๆ และไปสู่อรณะ สู่ความไม่มีกิเลส ในที่สุด เราก็จะมีกำลัง
เป็นวิมุติ หรือ วิมุติจะเป็น พละกำลัง ที่จะช่วยสังคมมนุษยชาติได้ ดังที่พระพุทธเจ้า
ตรัสไว้ว่า คนเราจะมีอายุ วรรณะ สุขะ โภคะ พละ และเราก็นำ
กำลังวังชาของตัวเอง ไปช่วยผู้อื่น ช่วยมนุษยชาติได้มาก เพราะตัวเอง อาศัยกินอาศัยใช้
สมรรถนะในกัมมันตะอาชีวะ ที่เรามีอยู่ในโลกนี้ ที่สร้างสรร อยู่ในโลกนี้
เหลือเฟือ เหลือพอ เราก็นำพละกำลัง ที่เป็นวิมุตินี้
ไปช่วยสังคม ได้อย่างแท้จริง เพราะพลัง ที่เป็นวิมุติ พ้นตัวตน ไม่ใช่ตัวตน
ไม่เพื่อตัวตน จึงเพื่อผู้อื่น อย่างยิ่งอยู่เสมอ
ถาม
ถ้าอย่างนั้นสงครามใหญ่ก็เป็นผลพวงมาจากสงครามเล็ก?
ตอบ ใช่ นี่เป็นเรื่องที่คนคิดไม่ถึง
หรือคิดถึงก็ไม่สามารถจะเรียนรู้ถึงสัมพัทธภาพ ของความเชื่อมโยง ระหว่าง
แต่ละมนุษยชาติ ไปถึงมวลมนุษยโลก ทั้งหลาย จึงไม่ "จัดการต้นเหตุแท้แห่งสงคราม"
โลกจึงมีสงคราม เป็น "สังคมสงคราม" ไม่หยุดหย่อน ผู้เรียนรู้โลกุตรธรรม
ลดกิเลสให้แก่ตน ได้จริง คือ ผู้ทำสันติภาพ ที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใด
สามารถรู้ ปฏิสัมพัทธ์ ของสังคมมนุษยโลก ที่เกิดจาก มนุษย์แต่ละคน นั่นเอง
เป็นผลทำให้ ก่อเกิดสงคราม และตัวเอง ก็ลดกิเลสลง อย่างสังคม กลุ่มของเรา
แม้จะเป็น สังคมเล็กก็ตาม แต่เมื่อสามารถ ช่วยกันลด เราก็กำลังทำ สันติภาพกว้างขึ้นๆ
แต่ละคน เมื่อรวม เป็นกลุ่ม เป็นสังคมโตขึ้น มีสัมพันธ์ เหมือนลูกโซ่ จากจุลภาครวมเป็น
หลายๆจุลภาค มากขึ้นๆ มันก็จะเป็น จักรวาล หรือว่าเป็น สื่อสัมพันธ์ ที่เชื่อมโยงกัน
ระหว่างแนวคิด ระหว่างพฤติกรรม ระหว่าง ความเป็นจริง เป็นสัจธรรมที่ดีขึ้นๆ
เป็นตัวสันติภาพ ที่ถ่วงสงคราม ของโลกขึ้นไป เรื่อยๆ จากจุดเล็ก ไปหาจุดใหญ่
ซึ่งอาตมา พาทำอยู่แล้ว เพราะเรารู้อยู่ว่า สัญญาณสงคราม เกิดจริงแล้ว ไม่ใช่
สัญญาณเท่านั้น แต่เป็นสงคราม ที่ระเบิดแล้ว เราก็เพียง แต่ถ่วงๆไว้ เราเองจะไปห้าม
สิ่งที่จะเกิด และมันต้องเกิด ไม่ได้ เพราะโดยสัจจะ ธรรมชาติ เมื่อมันถึงขั้นนี้
ขีดนี้ ก็ต้องระเบิด เหมือนภูเขาไฟ ที่สะสม ความร้อน สะสมพลังงาน ถึงขนาดหนึ่งแล้ว
มันก็ต้องระเบิด โดยไม่มีอะไร ไปยับยั้งมันอยู่ ถ้าใครสามารถ ไปทำพลังงานบางอย่าง
ที่ใต้ก้น ภูเขาไฟ ให้ลดความร้อน จนลดแรงระเบิด ลงได้ มันก็จะชะลอ การระเบิดได้
แต่ถ้าไม่มีอะไร ไปชะลอ มันก็เป็นไป ตามธรรมชาติ ที่จะต้องระเบิด ในวาระนั้น
ห้ามไม่อยู่หรอก ฉันเดียวกัน ในสังคมนี้ เราเป็นตัวลด ตัวที่ทำให้ แรงระเบิดนี้
น้อยลง ช้าลงบ้าง ก็เท่าที่ทำได้ แต่ถ้าถึงขีดหนึ่ง ปริมาณอัตราการก้าวหน้า
ของแรงระเบิด สงครามก็ระเบิด เรามีหน้าที่ช่วย ก็ช่วยกันไป
อย่าดูดาย เราต้องขมีขมัน ต้องอุตสาหะ ขวนขวาย เพื่อที่จะสร้าง สันติภาพ
ความหมาย ของคำว่า สันติภาพคืออะไร เราต้องทำเนื้อหา ของสันติภาพนั้น
จนเข้าถึง เนื้อแท้ของมัน เพื่อที่จะ ลดถ่วง สงคราม เรามาช่วยกัน ด้วยกรรมกิริยา
ด้วยความสามารถ อุตสาหะมากขึ้น พากเพียร มากขึ้น ต้องอดทนมากขึ้น โดยสรุปคือ
ต้องเสียสละ มากขึ้น นั่นเอง เรารู้ว่าตอนนี้โลก กำลังเกิดความร้อน เราก็ต้องสร้าง
สิ่งที่เป็นความสงบเย็น ไปถ่วงไว้ เรายังร่วม อยู่ในโลกนะ
ถ้ามันร้อนขึ้น ความร้อน ก็จะกระทบ มาถึงเราด้วย เพราะทุกอย่าง ไม่มีอะไร
ที่จะไม่ถึงกัน เด็ดดอกไม้ กระเทือนถึงดวงดาว นั่นเป็น ความจริง เราจะบอกว่า
เราไม่เกี่ยวไม่ได้ อย่าทำเป็นคน โง่เง่า เต่าตุ่น ทำเป็นคนไม่ดูดำ ดูดี
ไม่รู้เหนือรู้ใต้ เราจะต้องรู้ ทุกอย่าง ในมหาจักรวาลนี้
สงครามและสันติภาพ
กิเลสคือผีร้ายที่แอบสิงอยู่ในตัวเราทุกคน
ใครที่ไม่รู้จักมัน
จะไม่ขับไล่มันออกไป
จะไม่รู้วิธีขับไล่มันออกไป
ผีร้ายจะแอบสิงอยู่ในตัวเราทุกคนตลอดไป
เราคือ ผี และผีคือเรา
เราจึงคือ ผู้ทำสงคราม
ผู้รู้จักกิเลส
และศึกษาพากเพียร
ลดละขับไล่กิเลสออกจากตัวเรา
เราคือสันติชนผู้มีสันติภาพคือเรา
เราจึงคือผู้ทำสันติภาพอย่างแท้จริง
(สารอโศก
อันดับที่ ๒๕๘ มีนาคม ๒๕๔๖)
|