ตอน
อีแร้งของสังคม !
พฤศจิกายน
- ธันวาคม ๒๕๔๕
เนื่องจากถูกต่อว่าจากหลายคนว่า บันทึกปัจฉาฯกว่าจะปรากฏสู่สายตาผู้อ่าน
เรื่องราวมันผ่านมานานแล้ว ยิ่งฝ่ายจัดพิมพ์ยืดแบ่งพิมพ์ ๒ ครั้งจากเนื้อหา
๑ เดือนก็ยิ่งช้านานมากยิ่งขึ้น ฉบับนี้รวมถึง ฉบับต่อๆไป จะพยายามเขียน
๒ เดือนให้ลงพิมพ์ได้ ๑ ครั้ง (ขออภัยล่วงหน้าหากเขียนสั้นไม่ได้)
เทวนิยม และ อเทวนิยม
ในอีกมิติหนึ่ง
มีประเด็นใหม่ที่หลายคนไม่เคยได้ยินจากใครมาก่อน
เทวนิยม จัดเป็น อัตตกิลมถานุโยค เพราะเหตุใด? การทำทานที่เป็นอเทวนิยม และเทวนิยม
เป็นอย่างไร?
ดนตรีบำบัดในมุมมองของพ่อท่าน
เป็นอย่างไร? ทำไมพ่อท่านปฏิเสธที่จะใช้ แต่อนุญาตให้พวกเรา ที่ได้ประโยชน์
ใช้ดนตรีบำบัดตนได้?
อโศกกับความหวัง...อนาคตพันธุ์ข้าวไทย?
คุณเดชา ศิริภัทร
ผู้นำเรื่องเกษตรทางเลือก ได้พูดถึง ชุมชนอโศก กับอนาคตพันธุ์ข้าวไทย อย่างน่าสนใจยิ่ง
ซึ่งเป็นสิ่งที่ชนรุ่นนี้ต้องเดินหน้าต่อ และชนรุ่นหน้า ต้องสานต่อให้ดียิ่งกว่า
นัยลึกซ้อนของความโลภหรือไม่
จากคำถามแทรกเล็กๆ
ขณะพ่อท่านแสดงธรรมก่อนฉัน(๙ พ.ย.๔๕) ".....อยากได้เงินของรัฐ มาทำงานให้สังคม
ถือเป็นความโลภอยู่ใช่ไหม?" เป็นประเด็นเล็กๆ ที่หลายคนคงข้องใจ แล้วพ่อท่านตอบอย่างไร?
จะรู้ได้อย่างไรว่าเราติดแป้นหรือไม่?
เป็นคำถามของสิกขมาตุ
หลังจากพ่อท่านให้โอวาท กับการประชุม หมู่สิกขมาตุ ประจำปี (๑๐ พ.ย. ๔๕)
ดูเหมือนเป็นคำถามตื้นๆ แต่มีปัจจัยแฝงซ้อนที่โยงมา เกิดเป็นคำถาม ซึ่งพ่อท่าน
ก็ตอบตามคำถาม แล้วโยนลูกกลับให้ไปอ่าน ตรวจอาการจิต พ่อท่านสอนอย่างไร?
อดีตพระชาวอโศกกับอนุตตรธรรม
พระชาวอโศกรูปหนึ่งที่ขอออกไป ในช่วงที่มหาเถรสมาคม กล่าวหา ก่อนถูกฝ่ายอาณาจักร
ใช้อำนาจ ดำเนินคดี(มิถุนายน ๒๕๓๒) หลังงานมหาปวารณา(๑๑ พ.ย.๔๕) ท่านได้มากราบ
นมัสการพ่อท่าน ท่านหายไปทำอะไร? อนุตตรธรรม จากคำบอกเล่า ของท่านเป็นอย่างไร?
พ่อท่านสอนอะไร?
ทิศทางของพลาภิบาล และ
วิสัยทัศน์ของโพธิรักษ์ ปัญหาการเรียนการสอนของนิสิตและคุรุ
กลุ่มพลาภิบาล เป็นอย่างไร? พ่อท่านให้นโยบาย และทิศทางของพลาภิบาล ควรเป็นอย่างไร?
พ่อท่าน แสดงวิสัยทัศน ์ถึงความอยู่รอด ของพลาภิบาล ท่ามกลางกระแสทุนนิยมอย่างไร?
ใจของพระโพธิสัตว์! กับการขยายบ้านราชฯ...เป็นอย่างไร?
เป็นสองประเด็นคำถามในรายการ เอื้อไออุ่น (๑๙ พ.ย. ๔๕) ที่น่าสนใจ พ่อท่านตอบอย่างไร?
สำหรับเหตุการณ์เดือนธันวาคม
ข้าพเจ้าขอเขียนอย่างรวบรัดย่อๆ เพื่อจะได้พิมพ์ได้ ในเล่มเดียวนี้
เทวนิยม และ อเทวนิยม
ในอีกมิติหนึ่ง
หลายๆเดือนที่ผ่านมา
พ่อท่านพูดถึง เทวนิยม และ อเทวนิยม แทรกผสมอยู่ในหลายๆกาล ๓ พ.ย. ๔๕ ที่สันติอโศก
พ่อท่านแสดงธรรมก่อนฉันที่มีคนมาทำบุญฟังธรรมกันมากกว่าวันธรรมดา ด้วยวันนี้
เป็นวันอาทิตย์ ซึ่งพ่อท่าน ยังคงย้ำนำเรื่อง เทวนิยม และ อเทวนิยม แต่มีประเด็นใหม่
ที่ข้าพเจ้า เพิ่งจะได้ยิน ก็คือ
".....เทวนิยมนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค
ที่ละเอียดกว่าการทรมานตนทางกาย กิลมถะ แปลว่า ความลำบาก อัตตกิลมถานุโยค
คือการปฏิบัติด้วย ความลำบาก แล้วยังมีอัตตาอยู่ไม่หมดอัตตา ซ้ำบำเรอ อัตตาหนัก
ยิ่งๆขึ้น เทวนิยมนั้น เป็นลัทธิศาสนา ที่ยังมีอัตตา จึงถือเป็นอัตตกิลมถานุโยค...."
และในการแสดงธรรมก่อนฉัน
๙ พ.ย. ๔๕ ที่ปฐมอโศกในงานมหาปวารณา ครั้งที่ ๒๑ นั้น พ่อท่าน ก็ได้พูดถึง
เทวนิยม และอเทวนิยม ที่น่าสนใจ โดยช่วงต้นพ่อท่านกล่าวถึงการทำทาน การรักษาศีล
ที่มีผลบุญ และผลบาป
"...เจ้าพ่อทำทาน
ตกรางวัลลูกน้อง เลี้ยงลูกน้องเพื่อก่อทุจริตนี่มีผลบาป หรือการให้ การแบ่งปัน
ที่มีผล ต่อเนื่อง ไปทุจริต เอาเปรียบเอารัดสังคมนั่นมีผลบาป หรือคนบริจาค
ทางโทรทัศน์ หรือสื่อต่างๆ เพื่อโฆษณา เพื่อผลที่ได้ยิ่งกว่าสิ่งที่ทานให้ออกไป
เจตนาอยากได้ความดัง ได้สรรเสริญ ตอบแทน หรือ ทำบุญ แสนหนึ่ง ตั้งจิตให้ได้ผลเกินแสน
อย่างนี้เป็นผลบาป..."
แล้วพ่อท่านก็ได้กล่าวถึง
ศาสนาพุทธ และเทวนิยม ในแง่มุมที่พ่อท่านมอง
"...คำว่าอัตตาหิ
อัตตโน นาโถ พระพุทธเจ้าตั้งเป็นปรัชญาหลักที่มาต่อสู้กับเทวนิยม ที่มีมาก่อน
ด้วยพระพุทธเจ้า เห็นว่า เทวนิยม มิใช่สัจจะ ทั้งๆที่ศาสนาพุทธไม่ให้ยึดตัวตน
แต่ตนนั่นแหละ อย่าไป รบกวนใคร ตนพึ่งตนเอง แล้วตนต้องเลิกพึ่งภูเขา แม่น้ำ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ พระพุทธเจ้า ไม่ใช้คำว่า พระเจ้าโดยตรง..."
จากนั้นพ่อท่านได้อธิบายถึงการปฏิบัติ
การรู้รูปนาม รู้อาการ ลิงค นิมิต อุเทศ ในจิต เห็นความโลภ ในตน... ก่อนวก
มาถึง การทำทาน ในแง่มุมของเทวนิยม และอเทวนิยมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
".....การทำทาน ให้เป็นอาริยสัจนั้นจะต้องมีการอ่านใจ
เห็นทุกข์ สมุทัย ที่เกิดอาการในจิต ของเรา จริงๆ เสมอ ทุกขณะ การทำทานเช่นนี้
ถือเป็นการทำทาน ที่สามารถหยั่งไปถึง ปรมัตถ์ ซึ่งอ่านรู้อาการจิต รู้รูปนาม
ที่เกิดในจิต แล้วลดละกิเลสได้จริง จึงถือเป็นอเทวนิยม
ส่วนการทำทาน แล้วตั้งจิตขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาล
หรือท่องคาถาสวดมนต์ต่างๆ ด้วยเชื่อว่า จะเกิด ผลบุญ
อย่างเหมารวม ไม่ได้ค้นหาต้นเหตุ แล้วละโลภ โกรธ หลง ให้ถูกตัวตน
มันก็เหมือน คนเจ็บป่วย แล้วไปซื้อ ยากลางบ้าน จากหมอตี๋ มากินเอง ไม่ได้ตรวจหาความจริง
ของโรค และเหตุของโรค แล้วแก้ไข นั่นถือว่า เป็นการทำทาน ที่เป็นเทวนิยม.........."
ดนตรีบำบัด ในมุมมองของพ่อท่าน
๕ พ.ย. ๔๕ ที่ปฐมอโศก
เช้านี้หมอพจน์ได้มาตรวจสุขภาพและฉีดวิตามิน B๑๒ ถวายให้พ่อท่าน จากนั้น
หมอพจน์ ได้พูดถึงการฉัน แคลเซียม ดีรีด็อกซอล ว่าไม่ควรฉันติดต่อกันประจำเป็นเวลานาน
เพราะจะทำให้ แคลเซี่ยมเกิน เกิดการงอกของกระดูกได้ เนื่องจาก มีคนถวายฝากสมณะชัดแจ้ง
วิจักขโณ มาให้พ่อท่าน ซึ่งพ่อท่านก็รับฉันเกือบ ๕ หลอดหลอดละ ๑๐ เม็ด นอกจากนี้
ยังมีสาหร่าย เกลียวทอง ที่มีผู้ถวาย ซึ่งอันนี้เป็นช่วงสั้น ประมาณ ๑๐ วัน
หมอพจน์เห็นว่า คงไม่กระไร เพราะสกัด จากธรรมชาติ ต่อมามีการพูดคุยถึง การยืดคลายเส้น
ด้วยดนตรีบำบัด ตามที่คุณอภิสิน ศิวยาธร มาพาทำให้ พ่อท่าน ได้แสดง ความเห็น
ในเรื่องนี้ บอกเล่าให้หมอพจน์ฟังว่า
".....การยืดคลายเส้นนั้นดี
อาตมาไม่มีปัญหาขัดข้องอะไร จะมาฝึกทำให้ อาตมาก็ทำด้วยได ้และก็ดี โอ้โฮ
วันหนึ่งๆ ชั่วโมงกว่า อาตมาก็ทำตามได้ แต่เขาจะมาใช้ดนตรี ใช้เสียงมายืด
คลายเส้น โดยเขาบอกว่า จะมีพลัง อันหนึ่ง มาใช้กับร่างกายได้ เรื่องอย่างนี้
อาตมาเข้าใจ และทำมาแล้ว เรื่องพลังจิตนี่ อาตมาไม่สงสัย แต่สำหรับอาตมาแล้ว
การใช้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เพื่อให้เกิดพลังจิตนั้น อาตมา ไม่จำเป็น
ต้องใช้แล้ว ถ้าอาตมาจะใช้พลังจิต อาตมาก็ทำโดยตรงได้ ไม่ต้องอาศัย รูป รส
กลิ่น เสียง สัมผัส มาจูงนำ แต่ใครที่ยังต้องอาศัย สิ่งเหล่านี้อยู่ อาตมา
ก็ไม่ได้ห้าม ไม่ได้ว่าอะไร พวกเรา ที่สันติอโศกนั่น เขาใช้เสียงดนตรีด้วย
เขาได้ประโยชน์ สำหรับเขา อาตมา ก็ไม่ได้ไปว่าอะไร อาตมาเข้าใจ อาตมา
ไม่ได้ปฏิเสธ เรื่องพลังจิต มันอยู่ที่ว่าพลังจิตนั้น จะเอาไปใช้เพื่อประโยชน์อะไร
ต่างหาก อย่างพลังจักรวาล เขาจะเอาพลังจิตนั้น ไปรักษาคนป่วย หรืออย่างโยเรก็ตาม
อาตมาก็เข้าใจ คนที่ยังมี อุปาทาน กับเรื่องนี้ เขาก็ได้ประโยชน์ของเขา หรือธรรมกาย
เขาจะกำหนด นิมิตมีลูกแก้ว เหนือสะดือ แล้วเขาก็เกิดพลังจิต สงบสดชื่น อาตมาก็เข้าใจ
แต่อาตมา ไม่ต้องไปทำอย่างนั้น ถ้าอาตมา จะสงบจิต อาตมาก็สงบได้ทันที แล้วอาตมา
ก็จะใช้พลังจิต ไปทำงาน หรือใช้พลังจิต ไปยืดคลายเส้น อาตมา ก็ใช้ทำเอา โดยตรงเลย
ไม่ต้องอาศัยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสใดๆ มาจูงนำก็ได้
คนที่ทำได้ผลได้ประโยชน์ก็ทำไป
แต่ต้องระวังความหลงผิด ว่าพลังนั้นเป็นตัวตน เป็นสิ่งวิเศษ อันใด อันหนึ่ง
ที่มีฤทธิ์มีอำนาจ หนักเข้าเราก็จะต้องพึ่งตัวตนอันนั้น ถ้าไม่มีตัวตนอันนั้น
จะเป็นอะไรเอง ก็ไม่ได้ ต้องพึ่งสิ่งหนึ่ง นิรันดร์กาล เช่น สมมุติกันขึ้นว่า
พึ่งพลังจักรวาลบ้าง พึ่งพลังโยเรบ้าง พึ่งองค์นั้น องค์นี้บ้าง พึ่งวิญญาณนั้น
วิญญาณนี้บ้าง พึ่งอรูปจิต ที่สมมุติขึ้น เป็นดวงใส สุกสว่างแล้ว ตั้งชื่อว่า
ดวงพระโสดาฯ บ้าง ดวงพระสกิทาฯบ้าง ดวงพระอนาคาฯ บ้าง ดวงพระอรหันต์บ้าง
ที่สุดดวง พระพุทธเจ้า ก็หลงกันไป ซึ่งเป็นเทวนิยมอยู่ทั้งสิ้น
อโศกกับความหวัง....อนาคตพันธุ์ข้าวไทย?
๘ พ.ย. ๔๕ ที่ปฐมอโศก
ในงานมหาปวารณา ครั้งที่ ๒๑ รายการก่อนฉัน คุณเดชา
ศิริภัทร และ คุณวิทูรย์ เลื่อนจำรูญ มาพูดให้ความรู้
ในหัวข้อ "อนาคตพันธุ์ข้าวไทย จะเป็นเช่นใด?"
โดยมี คุณสงกรานต์ ภาคโชคดี เป็นผู้ดำเนินรายการ
จากบางส่วน ที่คุณเดชา พูดถึงชุมชนอโศก กับการอนุรักษ์ พันธุ์ข้าวไทยว่า
"....มาสันติอโศก หรือ มาปฐมอโศกครั้งไร ผมชื่นใจ ทุกทีเลยนะครับ เพราะว่าหายาก
ในประเทศไทยนี้ ที่มีชุมชน ที่เป็นพุทธแท้ๆ คนไทยเป็นพุทธทั้งนั้น แต่ส่วนใหญ่
ไม่ปฏิบัติ เดี๋ยวนี้ ประเทศไทยเรา ตามกระแส เสียจนแทบ จะหลุดออกจาก ความเป็นมนุษย์อยู่แล้ว
ชุมชนที่ยังยึด ในความเป็นพุทธ และ ทวนกระแส ที่เห็นชัดเจน ก็มีแต่ชาวอโศก
ผมมาครั้งใด ก็เห็นทุกทีเลยว่า เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ สิ่งหนึ่ง ที่ผมชื่นชม
ก็คือ ชุมชนนี้ ยึดการเกษตร ไร้สารพิษ ที่เราเรียกว่า เกษตรยั่งยืน หรือ
เกษตรทางเลือก ซึ่งผมพยายาม ทำมา เกือบ ๒๐ ปี กลุ่มอื่นไม่ชัดเจนครับ มีชัดเจน
อยู่ที่กลุ่มอโศก นี่แหละ ที่ทำแล้ว ก็กินเองนะครับ แล้วก็ยัง มีขายอีกด้วย
ซึ่งไม่ได้หวัง เอากำไร ก็อยากจะมาที่นี่บ่อยๆนะ ถ้าที่นี่มีอะไร จะให้ช่วยยินดี
ที่สุดเลย เพราะอยากจะเห็น ชุมชนแบบนี้เยอะๆ แต่เกิดยาก
สิ่งที่ชื่นชมอีกอย่างก็คือเยาวชนที่นี่เป็นอนาคตของชาติได้
เยาวชนปัจจุบันนี้ พอเข้าประถม ก็มีมือถือแล้ว ไม่ทราบว่า โตขึ้น จะเป็นแบบไหน
ช่วยตัวเองก็ไม่ได้ แต่ใช้เงินเก่ง แต่เยาวชนที่นี่ ฝึกการทำงาน และ ก็รับผิดชอบ
รู้เท่าทันสังคม นี่ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ชุมชนนี้ให้กับสังคมได้เยอะ ก็คือเรื่องปลูก
คนรุ่นใหม่ ที่เป็นความหวัง ของชาติได้
ผมดีใจที่ชาวอโศกสนใจเรื่องพันธุ์ข้าว
ซึ่งผมก็ทำมาเป็นสิบๆปีแล้วเหมือนกัน เพราะหาคนไทย ที่สนใจ ให้ความสำคัญ
เรื่องนี้น้อย การที่ชุมชนนี้ ให้ความสำคัญกับพันธุ์ข้าว ที่นับวัน จะหายไป
จากสังคมเรื่อยๆ พวกเรา ยินดีมาก ที่ได้มาพูดเรื่องนี้ ถ้าเราไม่พูดถึง พันธุ์ข้าว
คนไทยจะไม่เป็น คนไทยจริงๆ เพราะคนไทย กับข้าว แยกกันไม่ออก มันเป็นวัฒนธรรมของเรา
ชาวอโศกมีความชัดเจนทุกอย่าง
ตั้งแต่ความเป็นชุมชน ความเป็นไทย ความเป็นสังคมพุทธ อยากจะขอ ให้ทำ อีกอย่าง
คือเรื่องพันธุ์ข้าวด้วยครับ...."
นัยลึกซ้อนของความโลภหรือไม่
๙ พ.ย.๔๕ ที่ปฐมอโศก
ในงานมหาปวารณา ครั้งที่ ๒๑ ช่วงพ่อท่านแสดงธรรมก่อนฉัน มีคำถามแทรกว่า การทำงาน
โดยเราอยากได้เงิน ของรัฐมา เพื่อสะพัด สู่สังคมอย่างนี้ ถือว่าเรายังมีความโลภอยู่ใช่ไหม?
พ่อท่าน "ก็ใช่ แต่ถ้างานเหล่านั้น
ที่สุดแล้วเราไม่ได้เอามาไว้เป็นของของเรา สะพัดสู่สังคม ทั้งหมด อย่างนี้
ก็ไม่ถือว่า โลภเพื่อตัวเราเอง เราจะเอาเงินจากรัฐ
ก็ต่อเมื่อ เราพึ่งตนเอง ของเราได้แล้วนะ แต่ก่อนนี้ เราไม่เอาเลย แต่เดี๋ยวนี้เราเอา
เพราะเราพึ่งตนเองได้แล้ว เราจึงเอาเงินรัฐมา สร้างสรรประโยชน์ ให้ทวีเพื่อ
สังคมออกไปอีก โดยเราเอง ไม่ได้เอามา เลี้ยงตนเองเลย แต่เอามาทำงาน ใช้แรงงานของเราทำ
เสียสละ เพื่อผู้อื่น เพื่อสังคมเพิ่มขึ้น
มาถึงวันนี้มีบางหน่วยงาน
เมื่อใกล้จะสิ้นสุดโครงการ ยังมีเงินเหลือ เขาก็บอกให้เรา ทำโครงการอื่น
ขึ้นไปอีก ด้วยความเชื่อมั่น ไว้ใจ เห็นจริงว่า เราทำประโยชน์ ให้สังคมจริง
จึงอยากให้เรา ได้ทำเพิ่ม นี้เป็นเครดิต ของเรา
อย่างอาตมาจับเงินรับเงิน
แต่ขอยืนยันว่า ไม่ได้เอามาใช้ เป็นส่วนตัวเลย เมื่อมีคนถวายมา อาตมา สำคัญ
มั่นหมายว่า เขาให้อาตมา มาทำบุญต่อ มิใช่มาใช้กินส่วนตัว แม้แต่รักษาอาตมา
ยังไม่เคย เอาเงินก้อน ที่พวกคุณ มาทำบุญ ไปใช้เป็นค่ารักษาอะไรๆ ของอาตมา
มีแต่คนจะแย่งกัน ออกค่ารักษา....."
จะรู้ได้อย่างไรว่าเราติดแป้นหรือไม่?
๑๐ พ.ย.๔๕ ที่ปฐมอโศก มีการประชุมหมู่สิกขมาตุ ประจำปี พ่อท่าน ได้ให้โอวาท
และตอบข้อซักถาม มีประเด็นคำถามหนึ่ง ถามว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราติดแป้น?
ฟังแล้ว เหมือนเป็น เรื่องตื้น ระดับ นักบวชนี่ น่าจะรู้ (ส่วนจะแก้ไขได้หรือไม่นั่น
เป็นอีกขั้นหนึ่ง)
ซึ่งพ่อท่านได้กรุณาตอบเป็นหลักการที่ลึกละเอียดว่า
"ทำอย่างไรที่จะรู้ว่าเราติดแป้น ให้เราใช้ เตวิชโช
ตรวจกรรมกิริยาของตนเอง ว่าใจของเราเสพอยู่ว่างๆ
เสพอยู่เฉยๆ หรือขี้เกียจ หรือมีลักษณะ ที่ทำให้คน ไม่เป็นคน อย่างที่พิมพ์
ในหนังสือ สรรค่าสร้างคน
๑. ไม่ทำอะไรเลย ไม่คิดอะไรเลย ยอดขี้เกียจ พวกรากงอก สงบนะ สงบอยู่กับที่
๒. มีเวลา โอกาส ว่างๆอยู่ แต่ไม่หางานทำ
๓. มีงาน มีสิ่งที่ควรทำ ยิ่งกว่านั้น อยู่แท้ๆ ไม่ทำ กลับไปทำสิ่งที่ตนชอบ
๔. หางานเบาๆทำ เพื่อไม่ต้องทำงานที่หนักกว่า
๕. มีงานทำ แต่ไม่อยากทำดื้อๆ
๖. นอนเกินกว่าควร พักเกินกว่าควร เล่นหรือเริงรมย์มากกว่าควร
สรุป
เกิดจากความขี้เกียจอันคือ กิเลสที่ทำให้คนเลว หรือทำคนให้เสื่อมค่า จากความเป็นผู้ประเสริฐ"
แต่เหตุ ที่ทำให้เกิด คำถามนี้ มาจาก มีสมณะเปรยเสนอว่า สิกขมาตุบวชใหม่ๆ
น่าจะได้ไปฝึกตัวเอง ที่บ้านราชฯ คล้ายสมณะบวชใหม่ ไปฝึกที่ภูผาฟ้าน้ำ
มีสมณะอีกรูปเสนอให้สิกขมาตุรูปหนึ่ง
ไปฝึกดูงานเรื่องการบริหาร ที่บ้านราชฯ
ทำให้สิกขมาตุผู้ใหญ่รูปหนึ่ง
สงสัยว่า การทำงานประจำ ไม่ได้ทำงานบริหาร อย่างนี้ถือว่า ติดแป้น หรือเปล่า
และเป้าหมาย ของสิกขมาตุ จำเป็นต้องฝึกตรงนี้ใช่ไหม
ขณะที่สิกขมาตุผู้ใหญ่
อีกรูปหนึ่ง เสริมถาม พ่อท่านเห็นด้วยหรือเปล่า ที่ท่านสมณะ จะให้บ้านราชฯ
เป็นสถาบัน ฝึกสิกขมาตุ ที่จะเป็นผู้บริหาร แล้วสิกขมาตุรุ่นเก่า ก็จะต้องไปฝึก
เป็นผู้บริหารที่นั่น ด้วยใช่ไหม?
พ่อท่าน "มันยังไม่ครบองค์ประกอบเท่าไหร่
สิกขมาตุรูปเดียวเป็นผู้ฝึกอะไรต่ออะไร มันก็ดูยังไง งานก็เยอะ อยู่แล้วด้วย
เลี้ยงน้องอีกคน หรือเพิ่มไปอีก ๒ คน ๓ คน เพื่อตรวจข้อสอบ ตรวจการบ้าน ตรวจอะไร....."
ต่อมาอีกหลายท่านพยายามชี้แจงแสดงความเห็น
พ่อท่านตัดบท "เอาละ
สรุปดีกว่า ถ้าไม่อ่านจิตเรา ก็จะมีอาการ แม้จะยกใครสักคนหนึ่งในที่นี้
ขึ้นมาให้เด่นโด่ง ให้สำคัญ ถ้าไม่มีจิตริษยา ก็จะไม่มีปัญหาอะไร
แต่ถ้าเรามีจิตริษยา มันก็จะมีเรื่อง มันก็จะมีเหตุ มีปัจจัย ถ้าสมมุติว่า
เราไม่มีปัญหาหรอก หากมีการเกิดขึ้น อย่างนั้นจริง ที่นี่เป็นสถาบัน มีผู้คอย
ฝึกปรือ ลักษณะนี้แหละสมควรที่จะมีไหม เพราะฉะนั้น คนที่ไม่มีจิตริษยา ไม่มีจิต
ที่คิดอะไร ที่มันไม่ค่อยดี ถ้านิ่ง มันก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่า มันเป็นเรื่องดี
ถ้ามันยังไม่พร้อมก็ตาม ถ้าจะวิเคราะห์ แต่ถ้าอย่างนี้ มันเป็นดี ถึงแม้ว่า
จะยังไม่พร้อม โดยเฉพาะ ที่คน
เรื่องนี้ให้ถือเป็นกรณีศึกษา
ใครเกิดอกุศลจิตตรวจของตัวเอง อันนี้เป็นกรณีเหตุปัจจัย
ที่มันเกิด การขัดเกลา เกิดการเพ่งโทษ ที่แท้จริงขึ้นมา เพราะฉะนั้น
จะมากจะน้อยไป ก็เอาเถอะ เมื่อเหตุการณ์ เกิดขึ้นแล้ว..."
อดีตพระชาวอโศก กับอนุตตรธรรม
๑๑ พ.ย. ๔๕ ที่ปฐมอโศก
พระ จ. ได้มากราบนมัสการพ่อท่าน พระ จ. เป็นอดีตพระชาวอโศกรูปหนึ่ง ที่ขอออกไป
ในช่วง ก่อนพระชาวอโศก ถูกจับกุมดำเนินคดี ที่มหาเถรสมาคม กล่าวหาว่า พระชาวอโศก
ไม่ได้เป็นพระ เพราะบวชไม่ถูกต้อง เนื่องจากพ่อท่าน ไม่ได้รับการแต่งตั้ง
จากมหาเถรสมาคม ให้เป็น อุปัชฌาย์ เมื่อไม่ได้เป็นพระ แล้วมาแต่งกาย นุ่งห่มผ้าไตรจีวร
จึงมีความผิด ตามกฎหมาย คณะสงฆ์ ข้อที่ว่า ด้วยการแต่งกาย ลอกเลียนแบบภิกษุ
พระ จ. ได้เข้าพิธีกรรมสวดญัตติจตุตถกรรม
อุปสมบทเป็นพระ ในปกครองเถรสมาคม ที่วัดแห่งหนึ่ง หลังจากนั้น พระจ. ก็มิได้อยู่ร่วมปฏิบัติที่วัดนั้น
แต่อย่างใด ส่วนใหญ่ จะอยู่ปฏิบัติ ที่บ้านพี่ชาย ที่ก็ถือศีล กินเจ เหมือนกัน
แต่ศึกษาและปฏิบัติตามแนวของ กลุ่มอนุตตรธรรม ที่มาทาง จีนไต้หวัน ช่วงที่อดีต
พระยันตระ ได้รับความนิยม พระ จ. ได้ไปศึกษาอยู่ร่วมเช่นกัน ด้วยเคยเลื่อมใส
ศรัทธา ศึกษาฟังธรรม จากอดีต พระยันตระ ตั้งแต่ครั้งเป็นพราหมณ์ คือพระ จ.
ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม กับหลายที่ หลายแห่ง มากว่า ๑๐ ปี ก่อนบวช เป็นพระชาวอโศก
ด้วยการศึกษา ระดับปริญญาโท ทำให้พระ จ. สามารถ เรียบเรียง พระสูตร และหมวดธรรมต่างๆ
ให้ค้นหาได้ง่าย ในขณะพ่อท่านเทศน์ อธิบายถึงเรื่องใดๆ ก็สามารถ เปิดหาเสริม
ให้พ่อท่าน สะดวกในการอ้างอิง หลักธรรมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เรื่องความรู้
หลักธรรมต่างๆ จากพระไตรปิฎก สมณะชาวอโศก ส่วนใหญ่ รู้น้อยกว่าพระจ. ท่านเชี่ยวชาญมากกว่า
พบกันวันนี้ ข้าพเจ้าดู พระจ.เปลี่ยนไป เกี่ยวกับจริตนิสัย บุคลิกส่วนตัวของพระจ.ยังดูไม่เปลี่ยน
ยังคงพูดจา เสียงดัง ฟังชัด มีฉันทะ ในการเทศนา สั่งสอน อธิบายให้ความรู้
หลักธรรมต่างๆ พระ จ. บอกเล่าว่า ต้องเดินทางไปเทศนา ตามสถานธรรมต่างๆ อดหลับ
อดนอน บางคืน คนก็มากัน จนสว่าง ไม่ได้อยู่อย่าง สุขสบาย เรื่องศีล และ อินทรีย์สังวรนั้น
ท่านจะเปลี่ยนไปแล้ว หรือไม่อย่างไร ข้าพเจ้าไม่รู้ แต่สิ่งที่เห็น พระจ.เปลี่ยนไปชัดๆ
ก็คือ สัมมาทิฏฐิ จากการที่พระ จ. พูดคุยกับพ่อท่าน บางส่วน ที่พอจะเห็น
แนวความคิด ความเชื่อ ดังนี้
พ่อท่าน : คุณแยกไปทำอิสระ
ไม่มีหมู่กลุ่ม ไม่มีคณะ ไม่มีหมู่สงฆ์
พระ จ. : เขาทำกันอยู่ทั่วโลก
พ่อท่าน : อยู่ทั่วโลกเชียว
พระ จ.: เป็นอนุตตรธรรม
ศูนย์กลางเผยแพร่อนุตตรธรรม อยู่ในอเมริกาก็มี ทั่วโลกก็มี
พ่อท่าน : เข้าไปอยู่
ในพวกนิกาย อนุตตรธรรม
พระ จ. : ไม่ใช่นิกาย
แต่เขาเรียก พุทธแบบอนุตตรธรรม คือเน้นการปฏิบัติ ถือศีล
พ่อท่าน : ถือศีลธรรมนั่นแหละ
ปฏิบัติศีล ปฏิบัติธรรม ถือศีลนั่นแหละ มันไปยังไง มายังไง
พระ จ. : ไม่ได้ขัดทางพุทธ
คือไม่ใช่นิกาย คือเป็นพุทธโดยตรง คนที่มาก็ถือศีล ปฏิบัติธรรม ไม่ได้เกี่ยวกับ
ทางโลก
พ่อท่าน : มีสงฆ์ มีพระอยู่เท่าไหร่
อยู่อย่างธรรมเนียมประเพณีของพุทธหรือเปล่า ที่ถึงเวลา ก็มีการลงปาติโมกข์
ถึงเวลาก็เข้าพรรษา ปวารณาอะไรกันอย่างไร
พระ จ. : ถึงเวลาก็มีการทำวัตรเช้า
ทำวัตรเย็น
พ่อท่าน : คุณเป็นภิกษุ
มันจะต้องอยู่ในระบบระเบียบของภิกษุ มีคณะสงฆ์ มีอธิกรณ์ มีการตรวจสอบ อย่างน้อย
ก็ต้องปาติโมกข์ ตามวินัยก็ต้องมีคนดูแล ถ้าไม่มีอะไรเลย แล้วบอกว่าเป็นพุทธ
เป็นพุทธ ตรงไหน ไม่มีองค์สงฆ์ นี่มันก็ไม่ใช่ศาสนาพุทธแล้ว เพราะว่า ไม่มีครบพุทธ
ธรรม สงฆ์ คุณมีพุทธ มีธรรมเฉยๆ ไม่มีคณะสงฆ์ มันไม่ครบรัตนตรัย ไม่มีจารีตประเพณี
ไปตามองค์สงฆ์ ซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่า พระพุทธเจ้า ก็มอบธรรม ไว้ให้แก่สงฆ์
มีปาติโมกข์ มีการตรวจสอบธรรมะอยู่ตลอด ๑๕ วัน ต้องตรวจสอบ ความผิด ความถูก
แล้วก็ต้องสืบทอดอันนี้ไป ไม่ทำก็ไม่ได้ ผิดศีล ผิดวินัย ก็ออกไปเรื่อย แสวงบุญ
นอกขอบเขตพุทธ ไปเรื่อย ไม่มีจุดยืน ไม่มีกรอบ ไม่มีคณะ สะเปะสะปะไป คนเป็นร้อย
เป็นพัน เป็นร้อยอย่าง พันอย่างยิ่งตาย ทิฏฐิของคนก็เป็นไปได้ต่างๆนานาสารพัด
คนนี้ก็เชื่อ ของตัวเอง ถูกทั้งนั้น ไม่ได้ต้องมีหลักเกณฑ์ มีมิตรดี มีสังคมสิ่งแวดล้อมดี
เพราะว่าความดี มันมีแตกต่างไป จะเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะก็ดี ศาสนา แต่ละลัทธิก็ตาม
ก็ต้องสร้างหลักเกณฑ์ก่อน ถ้าเราไม่อยู่ ในหลักเกณฑ์นั้น ก็ออกไป แต่ถ้าไม่มีอะไร
ไม่เป็นอะไรเลย มีแต่ของตัวเอง เป็นศาสดาเอง อนุตตรธรรมนี่ เป็นของใคร ใครเป็น
เจ้าคณะ ใครเป็นใหญ่ เป็นผู้แยกขึ้นมา เรียกเป็นกลุ่ม เหมือนอย่างอโศก ผมเป็นผู้แยกขึ้นมาเรียก
แล้วอนุตตรธรรมนี่ เป็นใคร เป็นเจ้า เป็นหัวหน้าใหญ่ เป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้นำ
พระจ. : ผู้นำก็มีถ่ายทอดเป็นสายธรรม
จากพระพุทธเจ้าก็มาเป็นพระกัสสปะ มาเป็นพระอานนท์ ไล่ๆ กันมา
พ่อท่าน : เราพูดกันเฉยๆ
ตัวบุคคลที่เป็นผู้มาตั้ง ที่มาอิงพุทธ เป็นอนุตตรธรรมเนี่ยะ ขณะนี้อโศก
ก็เป็นนิกายแล้ว โดยเขาจัดตีเรามาเป็นนิกาย ทั้งๆที่เรายืนยันว่า เราเป็นนานาสังวาส
พระจ. : จากพระพุทธเจ้าสืบทอดมาเป็นพระมหากัสสปะ
พระอานนท์ จนกระทั่ง พระราหุล จนกระทั่ง ถึงพระโพธิธรรม ปรมาจารย์ตั๊กม้อ
สืบทอดไปถึงจีน คือพระเจ้าอโศก ส่งพระบรมทูต ๒ สายมาทางใต้ มาทางไทย ลาว
พม่า เขมร แล้วไปทางเหนือ จีน ญี่ปุ่น สายนี้คือ พระโพธิธรรม ปรมาจารย์ ตั๊กม้อ
จากอินเดีย สืบทอดมาทางจีน ถ้าถามใครเป็นผู้สืบทอดเบื้องต้น ก็พระพุทธเจ้า
เป็นผู้สืบทอด
พ่อท่าน : แล้วทำไมมาเรียก
อนุตตรธรรม
พระจ. : อนุตตรธรรม ก็คือ
ธรรมสูงสุดแบบโลกุตตรธรรม อนุ แปลว่า ไม่
พ่อท่าน : บุคคลใดที่มาตั้ง
คำว่า อนุตตรธรรม แล้วก็นำคณะที่มาทำในความเห็นอย่างนี้
พระจ. : สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาตั้งให้
พ่อท่าน : หา! สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาตั้งให้
ไปกันใหญ่เลย ออกนอกขอบเขตพุทธ เป็นเทวนิยมไปเลย มหายาน เป็นเทวนิยมกัน หมดแล้ว
เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะเทวนิยม เป็นลัทธิเดิม ติดในสิ่งศักดิ์สิทธิ์
มีสิ่งบันดาล มีพลังพิเศษ มีพระเจ้า อเทวนิยมนี่คือ กรรมของบุคคล เป็นเรื่องของคน
พระพุทธเจ้า ก็คือคน ท่านตรัสรู้ สั่งสม บำเพ็ญมาไม่รู้ตั้งกี่ชาติต่อกี่ชาติ
ไม่ใช่ผู้วิเศษ ไม่ใช่อวตาร ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์
พระ จ. : คือ ธรรม พระพุทธเจ้าสืบทอดมา
คือตั้งชื่อ...
พ่อท่าน : ไม่ใช่ตั้งชื่อ
ที่คุณพูดมามันเข้าข่ายเป็นเทวนิยมแล้ว อย่างนี้มันออกนอกลู่ นอกทางไปแสวงบุญ
นอกขอบเขต พุทธออกไป เป็นเทวนิยมไป เดี๋ยวนี้ก็เป็นเทวนิยม เกือบหมดแล้ว
ไม่มีโลกุตตระที่แท้ ไม่มี อเทวนิยม ที่แท้ เขาก็ยืนยันอันนี้ ก็ของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น
แต่สาระแท้ เนื้อหาแท้ มันเป็นยังไง ต้องมี สติปัญญา มันต้องรู้
พระ จ. : เนื้อหาที่ถ่ายทอดมา
ก็เป็นธรรมะล้วนๆ ตรงกับพระไตรปิฎก อันเดียวกัน ไม่ไปบิดเบือน สาระ ก็เน้นสาระ
เน้นการปฏิบัติธรรม ไม่ได้เกี่ยวกับโลก
พ่อท่าน : ธรรมะของพระพุทธเจ้าเกี่ยวข้องกับโลก
ไม่ใช่ไม่เกี่ยว โลกุตตระนั้น เกี่ยวข้องกับโลก โลกะ นั้นก็คือโลก นั่นแหละ
แต่ว่าเราล้างกิเลสของเราออก แล้วกิเลส หรือว่าโลกนั้น มันไม่ทำร้ายเรา เราอยู่
เหนือโลก เรียกว่า โลกุตตระ ถ้าไม่เข้าใจว่า ธรรมะเกี่ยวข้องกับโลก ผิดเลย
ฉะนั้น จะไปอยู่กับใคร ก็คนในโลก มันก็คือโลก
พระ จ. : ไม่ใช่ หมายถึงว่า
เกี่ยวข้องกับโลก แต่ว่า เนื้อหาที่ท่านสอนเป็นธรรมล้วนๆ ไม่ได้ไปเอาทางโลกๆ
มาสอน แต่เกี่ยวข้องพูดๆ เกี่ยวข้องอยู่ แต่ว่าจะเน้นธรรม เน้นแก่นเหมือนกัน
เน้นคุณธรรมทั้ง ๕ คุณธรรม ๘ พ่อแม่ต้องมีความเมตตาต่อลูก ลูกก็ต้องมีความกตัญญู
ตอบแทนพ่อแม่ จะเน้นเนื้อ ปฏิบัติคล้ายๆ ที่โบสถ์ แต่อันนี้ ก็จะเน้นใกล้ๆตัว
และก็สามีกับภรรยา จะต้องซื่อสัตย์ต่อกัน
พ่อท่าน : ที่พูดนี่ ธรรมะธรรมดา
ธรรมะกัลยาณธรรม ที่พูดไป ไม่ใช่โลกุตตระอะไร
พระ จ. : อันนี้พื้นฐานก่อน
โลกุตตระยังมี นี่เป็นพื้นฐานที่คนเข้ามาใหม่จะต้องเน้นคุณธรรมทั้ง ๕ คุณธรรม
๘ แล้วก็ถือศีล กินเจ และก็ในระหว่าง สามีกับภรรยา และก็เพื่อนกับเพื่อน
จะต้องซื่อสัตย์ต่อกัน และ ก็ระหว่าง...
พ่อท่าน : เอ้อ เอ้า ฟังแล้วก็พอจะเข้าใจ
พระ จ. : แล้วเขาก็มีคุณธรรม
พ่อท่าน : ก็คงได้อันนี้ไปชั่วชีวิตนั่นแหละนะ
เราก็ค่อยๆดูๆเขาไป
หลังจากนี้ มีการพูดถึงพระโพธิสัตว์
ที่ทางมหายาน และเถรวาทโต่งไปคนละด้าน ซึ่งพ่อท่าน ได้อธิบาย ให้พวกเราฟัง
อยู่บ่อยๆ จากนั้น โยมผู้หญิง ที่เป็นพี่สาวแท้ๆ ของพระ จ. พยายามพูดชักชวน
ให้พระ จ. กลับมาอยู่กับ หมู่ชาวอโศกอีก แต่ท่าทีพระ จ.ยังคงบ่ายเบี่ยง อ้างงานตรงนั้น
ยังไม่มีใคร มารับช่วงแทน ส่วนประเด็นเรื่อง ไม่มี หมู่สงฆ์นั้น พระ จ.ชี้แจงว่า
ก็พยายามจะทำอยู่ แต่ถูกมหาเถรสมาคม เพ่งเล็ง หาว่าจะตั้ง นิกายใหม่ จึงต้องถอย
สุดท้าย ก่อนจาก พระ จ. พูดทิ้งท้ายว่า สิ่งที่พ่อท่านทำอยู่นี้ เป็นสิ่งที่สูง
ส่วนท่าน ยังทำอยู่ ในระดับพื้นๆ เพื่อช่วยคนฐานหนึ่ง ให้เกิดความเข้าใจ
จะได้ก้าวเข้ามา ในหมู่ชาวอโศกได้ต่อไป
ทิศทางของ พลาภิบาล และ
วิสัยทัศน์ของโพธิรักษ์
๑๖ พ.ย. ๔๕ ที่สันติอโศก
มีการประชุมคุรุ และนิสิต พลาภิบาล โดยมีผู้ใหญ่และนักเรียน ม.ปลาย ศีรษะอโศก
ที่สนใจฐานงาน พลาภิบาล ร่วมสังเกตการณ์รับฟังด้วย
หลังจากที่นิสิต และคุรุได้บอกเล่า
ปัญหาการเรียนการสอน ที่ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน คุรุแต่ละแห่ง ก็คิดมอง การเรียน
การสอนต่างกัน คนในชุมชน หลายคน ไม่รู้ในกิจกรรมต่างๆ ของพลาภิบาล ที่ออกไป
เรียนรู้ นอกชุมชน จึงมักมองว่า ไปเที่ยวไม่มีผลงาน นิสิตหลายคน ก็มีกิเลสตามวัย
และ ไม่อดทนพอ จึงถอยออกไป หลายคน
"...เราศึกษาเรียนรู้
เพื่อดูแลรักษาเรากันเองในชุมชนก่อน ใครมีความสามารถ จะไปเรียนเอาความรู้
จากภายนอก ก็ไม่เป็นไร แล้วหน่วยพลาภิบาลเมื่องานเบาลง ก็สามารถไปทำงานอื่น
ช่วยในชุมชนได้ ไม่ใช่จะต้อง อยู่กับที่ฐานงาน พลาภิบาลตลอดเวลา เพราะเรายังไม่มี
คนป่วยเจ็บมาก เหมือนโรงพยาบาล ทั่วๆไปเขา
ที่สำคัญ เราไม่ควรเรียนอะไร
สะเปะสะปะ ควรเอาแพทย์แผนไทย เป็นหลักก่อน เพราะมันสอดคล้อง กับวิถีชีวิต
ของเรามาก ส่วนศาสตร์อื่นๆ จะเพิ่มเติม ค่อยว่ากันภายหลัง
สิ่งสำคัญของชีวิตมนุษย์คือ
ปัจจัย ๔ โดยมี อาหาร กับ การรักษา คือ ๒ หลักใหญ่ ชาวอโศก จะเน้น สร้างสรร
อาหาร สร้างสรรการรักษาตัว พยาบาลดูแลชีวิตอย่าให้เจ็บป่วย ให้ทุกข์ทรมานแล้ว
ก็ตายง่าย ชาวอโศก จะเจริญในเรื่องของ กองพลาหาร กับกองกาชาด คือ กองรักษาคนอื่น
ช่วยเหลือชีวิตคนอื่น กับกองอาหาร เครื่องกิน เครื่องใช้ของชีวิตมนุษย์ พออธิบาย
มาถึงตรงนี้แล้วนี่ ความยาวไกลของสังคม ต่อไป พวกทุนนิยม จะฆ่าแกงกันตายเอง
แต่พวกบุญนิยม คือ กองพลาหาร กับกองกาชาด ในสนามรบ ไม่มีฝ่ายไหนจะฆ่า ต้องยกเว้นหมด
ฉันใดก็ฉันนั้น อโศกมุ่งหมายอย่างนี้ และจะเป็นอย่างนี้ในอนาคต เพราะฉะนั้น
ในระบบบุญนิยม กับระบบทุนนิยม ใช่ทุนนิยมมีคนมาก แต่คนมากเขาก็จะฆ่ากัน เพราะบางคน
มันมีกิเลส และคนเขาแย่งชิง และคนมันไม่รู้ มันตามืดตาบอด มันไม่รู้เรื่องหรอก
แต่บุญนิยมนี้ มีแต่จะสร้างสรร มีแต่จะช่วยเหลือเขา ทั้งให้ความเป็นอยู่
มีกินมีใช้ ให้การรักษา หรือว่า ช่วยเหลือ ไม่ให้ตาย บุญนิยมจะเป็นอย่างนี้
แม้จะเป็นกลุ่มน้อย เพราะลดกิเลสมันยาก แต่เป็นจริง และ ไม่มีถอย แม้อัตราการก้าวหน้าจะมีน้อยกว่า
อัตราการก้าวหน้า ของทุนนิยมก็ตาม แต่การฆ่ากันเอง ไม่มีหรือน้อย บุญนิยม
จึงจะไม่สูญพันธุ์ แต่ทุนนิยมจะสูญพันธุ์ เพราะมันฆ่ากันเอง ฆ่ากันจนวินาศ
สันตโร จนถึงกลียุค....."
ใจของพระโพธิสัตว์! กับการขยายบ้านราชฯ...เป็นอย่างไร
?
๑๙ พ.ย. ๔๕ ที่ราชธานีอโศก วันนี้เป็นวันลอยกระทง แม้ชาวอโศกยังไม่ส่งเสริม
ประเพณี ลอยกระทง ดังที่สังคม ส่วนใหญ่ เขานิยมจัดงาน แต่ค่ำวันนี้ก็มีรายการพิเศษ
"เอื้อไออุ่น" ตามที่พ่อท่าน พยายาม ปลูกฝัง ให้เกิดความสมานสัมพันธ์กัน
ในชุมชนให้ยิ่งขึ้น ใครมีอะไรจะพูดก็พูด ใครมีข้อข้องใจ อะไร จะถามก็ถาม
เรียบๆ ง่ายๆ ไม่มีพิธีกรรมอันใด หลายครั้ง พ่อท่านเจตนา แสดงออกให้รู้ว่า
จะเป็นกันเอง ให้มาก เพื่อสร้างความอบอุ่น กับชนทุกวัย ทุกฐานะ การนุ่งห่มครองผ้าจึงเป็นไปอย่างง่ายๆ
บางที ก็แค่มีสบง กับอังสะ เท่านั้น ผ้าห่มครองไม่มี หรือมีมา ก็นำพาดๆไว้
ตามพนักเก้าอี้ เคยมีครั้งหนึ่ง ที่ปฐมอโศก อากาศวันนั้น อบอ้าวร้อนมาก พ่อท่านเองก็เพิ่งจะสรงน้ำออกมาหมาดๆ
นุ่งสบง แล้วถืออังสะ เดินมา ร่วมรายการ เหงื่อก็เริ่มซึม ผ่านรูขุมขน ออกมาอีก
ตลอดรายการ "เอื้อไออุ่น" ในวันนั้น พ่อท่าน พูดคุย โดยไม่ได้
สวมอังสะเลย หลายคนเอ่ยปากออกมาว่ารู้สึกประทับใจกับท่าทีเช่นนี้ ของพ่อท่าน
ทำให้เขาไม่เกร็ง หรือเกรงมากเกินไปด้วย พ่อท่านเป็นผู้นำสูงสุด ในหมู่ชาวอโศก
แต่กลับไม่มีทีท่า ของความถือตัว หรือถือศักดิ์ฐานะ จึงนับเป็นความอบอุ่นแล้ว
โดยธรรม ที่ศิษย์จะพึงได้รับ จากอาจารย์ แต่ในกิจกรรมอื่นๆ ที่มีพิธีกรรม
หรือต้องร่วมกับสังคมทั่วไป พ่อท่านก็นุ่งห่ม ได้อย่างเรียบร้อย มิดชิด เป็นปริมณฑล
ตามกาลเทศะต่างๆ แม้อากาศขณะนั้นๆ จะร้อนปานใด
"เอื้อไออุ่น"
ในวันนี้มีประเด็นคำถามคำตอบที่ควรแก่การถ่ายทอด ๒ เรื่อง ดังนี้
ถาม : บ้านราชฯนี่น้ำท่วมบ่อย
ทำไมพ่อท่านจะขยายที่ดินในเมืองน้ำท่วมอย่างนี้ ทั้งๆที่ที่อื่น ที่ดีกว่านี้
ก็มีเยอะแยะไป
พ่อท่าน : ทำไมมาทำที่นี่
ก็เพราะมันลำบาก เพราะเราไม่เป็นนักฉวยโอกาส ไปหาที่ดีๆ
ไปหาที่มัน สมบูรณ์แล้ว ไปหาที่มันง่ายๆ ที่อย่างนี้แหละคนไม่แย่ง และคนไม่มาริษยา
และก็สร้างได้ยาก นี่แหละ เราจะพิสูจน์โลก พิสูจน์มนุษยชาติ เพราะฉะนั้น
คนต้องอุตสาหะวิริยะ สร้างสรร ทำแล้วก็ยืนยันอยู่ให้ได้ อยู่อย่าง อุดมสมบูรณ์
อยู่อย่าง มีประโยชน์ คุณค่าต่อมนุษย์
ถาม : ใจดวงไหนของพ่อท่าน
ของพระโพธิสัตว์ ถึงตั้งใจจะเกิดมาทำงานนี้อีกตั้งหลายชาติ ทั้งๆที่
เหนื่อยก็เหนื่อย ยากก็ยาก ถ้าจะจบก็จบได้ ไม่เกิดอีก อย่างพระอรหันต์ก็ได้
พ่อท่าน : เป็นคำถามล้วงความลึก
เอาใจอะไรมาทำ ทั้งๆที่มีความจบก็ได้ ไม่ต้องเกิดมาทรมาน ทรกรรม ไม่ต้อง
เกิดอีกก็ได้ ไม่รู้ไปทำทำไม ทำไปอะไรก็ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องเหนื่อย ต้องลำบาก
นิพพานไปก็ได้ ทำไมไม่ไป ทู่ซี้อยู่ทำไม ที่จริงอาตมาเคยตอบ ก็อาตมาเห็น
"ความจริง" ว่า เกิดมาเป็นคนนี่
ไม่มีอะไรหรอก นอกจาก คุณค่าแห่งความดีงามประเสริฐ เมื่อได้สิ่งประเสริฐแล้วนี่
มันยากเย็นนัก กว่าจะได้ ความประเสริฐ จริงๆ ใครทำได้วิเศษ ลดละกิเลส ขยัน
ช่วยเหลือผู้อื่น สร้างสรร เสียสละ มันเป็นของยาก อาตมาเข้าใจ
ความจริง แห่งคุณค่า ของความเป็นคนดังนี้ เมื่ออาตมาได้ อาตมาก็อยากแจก แล้วแจก
ก็ไม่ง่าย แจกก็ไม่ค่อยจะเอา เอาก็ไม่ค่อยจะได้นะเนี่ย! เพราะฉะนั้น จึงเหน็ดเหนื่อย
อย่างที่คุณว่า แต่ความจริง ที่อาตมาเห็น มันก็มากกว่าสูงกว่า ที่จะไปท้อแท้
กับความเหนื่อย นี่หนึ่ง สอง อาตมา จะได้สิ่งเหล่านี้มา อาตมาจะต้องศึกษาเล่าเรียน
จากศาสนา จากพระพุทธเจ้า อันนั้น เป็นพระคุณ ของอาตมา เหลือเกิน พระพุทธเจ้าก็ดี
พระโพธิสัตว์ ทุกองค์ก็ดี แม้แต่พระอรหันต์ ที่ท่านได้แล้ว ท่านก็เสียสละ
เหมือนกัน ถ้าท่านจบแล้ว ตายไปเลย ไม่สอนต่อ อาตมาก็ไม่มีทางได้บุญใช่ไหม!
ความเสียสละที่ท่านมาเหนื่อย
พระโพธิสัตว์ต่างๆท่านก็อุตสาหะทนทำ น้ำใจอันนี้มันยอดเยี่ยม เหลือเกิน อาตมา
จึงต้อง กตัญญูกตเวที ทำตามท่าน สรุปง่ายๆก็คือว่า
๑. ความจริง
สิ่งสุดยอดของคนประเสริฐ จะต้องเป็นได้อย่างนี้
๒. ความกตัญญู
คนในโลกนี้โลกุตตรธรรมเขาไม่ได้กันนะ
อาตมาได้ อาตมาก็ต้องเอามาให้ ถ้าอาตมาไม่ให้ มันก็ต้องสูญไป อาตมา มั่นใจว่า
อาตมาให้ของประเสริฐจริง ของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ให้กับมนุษย์ จะให้กับอะไร
เอาให้ช้าง ช้างเอาได้ไหม ให้คนเท่านั้น จึงจะได้ และให้คนที่สามารถ ถึงจะเอาได้
คนไม่สามารถจริง ใส่ใจจริง เอาไม่ได้หรอก
เรื่องราวของเดือนธันวาคม
๒๕๔๕ นี้ ต้องขอรวบรัดย่อๆ ดังนี้
๖ ธ.ค. ๔๕ เดินทางจากบ้านราชฯ
เพื่อไปร่วมพิธีกรรม การเทโลหะหล่อรูปเหมือ นพระบำรุงราษฎร์
(จูมมณี) เจ้าเมืองพิบูลมังษาหารคนแรก สร้างเป็นอนุสาวรีย์ เนื่องจากพระบำรุงราษฎร์
(จูมมณี) มีศักดิ์เป็นพี่ของทวด ของพ่อท่าน และพระประทุมราชวงศา (ท้าวคำผง)
เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก มีศักดิ์เป็นปู่ของทวด ของพ่อท่าน โดยแวะที่วัดใต้ก่อน
เพื่อให้บรรดาเครือญาติ ได้คารวะอัฐิ ของลุงหมอ (น.พ.สุรินทร์ พรหมพิทักษ์)
รวมถึงอัฐิของบรรพชน รุ่นก่อนๆ จากนั้น จึงต่อไปร่วมพิธีกรรม การสร้าง อนุสาวรีย์
พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) ที่หน้า สภ.อ.พิบูลมังสาหาร มีพิธีพราหมณ์นำ ต่อด้วย
พิธีสงฆ์ (สวดมนต์) และมีพระ ๔ รูปนั่งอยู่ ๔ ทิศ ของบริเวณที่เทหล่อรูปปั้น
อนุสาวรีย์ ดังกล่าว มีข้าราชการ ใหญ่น้อย ผู้ว่าฯ นายอำเภอ และส.ส.ในพื้นที่
มาร่วมเป็นเกียรติ ในงานคับคั่ง คณะจัดงาน ได้จัดที่นั่ง ให้พ่อท่าน และปัจฉาฯ
อยู่ด้านหลังชุดโต๊ะหมู่บูชา ที่มีรูปหล่อ พระบำรุงราษฎร์ ขนาดเล็ก สูงประมาณ
๑ ฟุต ตั้งอยู่ โดยนั่งอยู่ตรงนั้น ตั้งแต่ต้นพิธี จนจบพิธี ไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหน
มีผู้ว่าฯ นายอำเภอ ข้าราชการและชาวบ้านบางส่วน มานมัสการทักทาย ที่มาขอรับหนังสือแจก
ก็มีไม่น้อย เสร็จพิธีกรรม ทั้งหมด พราหมณ์ผู้ประกอบพิธี ประกาศเชิญชวน ให้ประชาชน
ที่มาตัดด้ายสายสิญจน์ เก็บไว้ เป็นสิริมงคล ชั่วครู่เดียว ด้ายสายสิญจน์
ก็ไม่เหลือ แม้แต่บริเวณเหนือหัว ตรงที่นั่งของพ่อท่าน และ ปัจฉาฯ ชาวบ้านก็มาเก็บเอา
ต้องลุกจากที่นั่ง เพื่อให้ชาวบ้าน เก็บเอาได้สะดวก เป็นครั้งแรก ในชีวิต
ที่ข้าพเจ้า ได้มาเรียนรู้ พิธีกรรมอย่างนี้ ก่อนกลับ บรรดาผู้เกี่ยวดอง
สืบเชื้อสาย จากพระบำรุงราษฎร์ ได้ถ่ายภาพร่วมกัน
๑๐ ธ.ค. ๔๕ ที่สันติอโศก
พ่อท่านมีอาการปวดแสบ มวนท้อง โทร.ปรึกษาหมอพจน์ ซึ่งหมอพจน์ ได้ซักถามอาการ
และสั่งยา ให้คุณเพชรเพลิงธรรม ที่เป็นเภสัชกร จัดหามาถวาย ให้พ่อท่านฉัน
ครู่ต่อมา คุณเพชรเพลิงธรรม บอกถึงอาหารเสริม C.F. ที่มีผู้ถวายพ่อท่านนั้น
น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อท่าน มีอาการ ปวดแสบมวนท้อง เนื่องจากคุณเพชรเพลิงธรรม
บอกได้ลองหยด C.F. ที่ผิวหนัง ของตนเอง ปรากฏว่า ผิวหนังบริเวณนั้น มีอาการเป็นผื่น
ขึ้นมาทันที พ่อท่านได้ฉัน C.F. นี้มาประมาณ ๑ เดือนแล้ว โดยมีผู้มาถวาย
ในงานมหาปวารณา ที่ผ่านมา ให้พ่อท่านฉัน C.F. ตอนเช้า ๗ หยด ต่อน้ำหนึ่งแก้ว
คุณเพชรเพลิงธรรม เห็นว่า ถ้าจะฉัน ควรฉันตอนหลังอาหาร ไม่ใช่ฉันตอนเช้า
ที่ท้องว่างๆ อย่างนั้น
จากเอกสารแนะนำสารอาหาร
C.F. มีหลักการว่า CELL ของคนจะเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ เมื่อ CELL เสื่อมถอยก็จะเป็นที่มาของโรคต่างๆ
C.F. จะทำให้เกิดการแตกตัวของน้ำ H2O โดย H จะเสริมสร้าง ความแข็งแกร่ง ให้กับเซลล์
ขณะที่ O จะทำการสันดาปกับอนุมูลอิสระหรือสารพิษ ซึ่งน้ำจะชะล้าง ออกมา ทำให้เซลล์สะอาด
นอกจากนี้ C.F. จะมี D2SO4 ดิวทีเรียม ซัลเฟต เมื่อผสมน้ำ จะทำให้ H และ
O แตกตัวออกมา
จากอาการดังกล่าวทำให้พ่อท่านงดฉัน
C.F. ทันที
๑๔ ธ.ค. ๔๕ ที่ ร.พ.วิชัยยุทธ
พบ น.พ.ประพจน์ คล่องสู้ศึก เพื่อตรวจหาสาเหตุ ของอาการไอ แบบระคายคอ ที่มักจะเป็น
ตอนค่อนรุ่ง หลังจากคุณหมอ ตรวจโพรงจมูกและดูคอแล้ว อธิบายว่า อาการไอของพ่อท่าน
น่าจะมาจาก น้ำที่มาจากโพรงไซนัส ซึ่งปกติเวลากลางวัน เราอยู่ในท่ายืน น้ำนี้จะไหลลงคอ
เราก็กลืนไป ไม่รู้สึกอะไร แต่ละวัน ร่างกายจะผลิตน้ำนี้ ประมาณ ๕๐๐ cc ช่วงเวลากลางคืน
เมื่อน้ำนี้ออกมา เราอยู่ในท่านอน น้ำจะไหลลงไปบริเวณ ด้านหลัง ตามท่านอน
ของร่างกาย จะมีปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการไอ ซึ่งเป็นปกติ
คุณหมอถวายยาแก้แพ้ สำหรับเรื่องนี้
ให้พ่อท่านฉันก่อนนอน เป็นเวลา ๑๐ วัน หากไอลดลง แสดงว่า พ่อท่าน มีอาการของภูมิแพ้
ที่ทำให้ระคาย คัดคอ แล้วไอ แต่หากฉันยานี้แล้ว ยังคงไออยู่เช่นเดิม อาการไอ
น่าจะมาจาก สาเหตุอื่น
จากนั้นหมอตรวจดูหูทั้งสองข้างด้วย
เผื่อว่าหากมีขนที่หู(ในบางคน) ขนในหูไปแหย่ ถูกบริเวณ ที่มี ปลายประสาท
รับความรู้สึก กระตุ้นให้ คันคอ แล้วไอได้ แต่ของพ่อท่าน ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
โดยสรุปการตรวจ หู คอ
จมูก ครั้งนี้ พบว่าปกติ ไม่มีก้อน ไม่มีเม็ด หรือการอักเสบใดๆ เว้นแต่ไอ
ที่คุณหมอ สันนิษฐานว่า มาจากอาการแพ้ ซึ่งคุณหมอได้ แนะนำพ่อท่าน ให้สังเกตว่า
อาการไอจะเป็นมาก หรือมักเป็น ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน มากกว่ากัน เวลาที่ไปในที่ต่างๆ
๑๖ ธ.ค. ๔๕ เดินทางโดยเครื่องบินจาก
กทม. ไปอุบลราชธานี ก่อนลงจากเครื่องบิน เพิ่งจะรู้ว่า พระที่นั่ง อยู่แถวหน้า
คือ พระพยอม ท่านยืนขึ้นเตรียมลง หันมาทักถาม ขณะที่พ่อท่าน เพิ่งจะเงยหน้าจาก
น.ส.พ. ขึ้นมาเห็น จึงยิ้มรับ พระพยอมพูดอะไร ข้าพเจ้าได้ยินบางคำ จับความไม่ได้
ด้วยข้าพเจ้า นั่งอยู่ หลังพ่อท่าน ห่างออกไป ทราบจากคำบอกเล่า ของพ่อท่านภายหลัง
ท่านพูดเป็นทำนอง ถามว่า "ยกเลิก ที่ผมจะไปเทศน์ ที่ราชธานีอโศกแล้วใช่ไหม?"
ขณะนั้น พ่อท่านมีท่าทีงงๆ กับคำถามนั้น ยังไม่ทัน ได้พูดคุยอะไรต่อ พอดีเป็นจังหวะ
ที่ต้องลงจากเครื่องบิน ด้วยผู้โดยสารคนอื่นๆ ที่อยู่ด้านหลัง กำลังรอจะลง
จึงยุติการทักทาย เพียงแค่นั้น
๑๗ ธ.ค. ๔๕ ที่ราชธานีอโศก
ไม่มีใครทราบเรื่องการนิมนต์ พระพยอมมาเลยสักคน
ช่วงสายๆจึงทราบว่า คุณอรพิน
เนตรจำปา สมาชิกสภาที่ปรึกษาสภาพัฒน์ฯ เป็นผู้ติดต่อ นิมนต์ พระพยอมมาเอง
รายละเอียด ที่พระพยอมมาเยือนบ้านราชฯ ผู้สนใจติดตามได้จาก น.ส.พ. ข่าวอโศก
รายปักษ์
๑๘ ธ.ค. ๔๕ ที่ราชธานีอโศก
จากบางส่วนที่พ่อท่านแสดงธรรมทำวัตรเช้า ให้กับนิสิต สัมมาสิกขาลัย วังชีวิต
(ม.วช.) ทั้งหมดทุกเขต ที่มาร่วมสัมมนา (๑๘-๑๙ ธ.ค.)
"...สังคมของเราเหมือนบ้านซ่อมเครื่องยนต์บ้านหนึ่ง
มีเด็กกำพร้า ๒ คน มาอาศัยอยู่ ต้องเรียน ต้องหัด ต้องช่วยงานการ มีชีวิตอยู่ในบ้านนั้น
มีความจำเป็นอะไรก็ช่วยไป แต่งานหลักอาชีพ ก็ต้องทำด้วย คือซ่อม เครื่องยนต์
และเรียนไปเรื่อยๆ แล้วมีคนชื่อรักโพธิ์มาบอกทั้ง ๒ คนว่าต้องเป็นนักศึกษานะ
ต้องพัฒนานะ นักศึกษา ต้องมีอิทธิบาท หากไม่มี ไม่ชื่อว่านักศึกษา คนหนึ่งติด
อีกคนไม่ติด เพราะไม่มีอิทธิบาท ไม่รู้สิ่งที่อาศัย กับสิ่งที่จะต้องทำเป็นอาชีพ
ผู้จะต้องถึงขั้นเป็นนักศึกษา
ก็จะต้องมีความรู้ ทั้งสิ่งที่อาศัย และการอาชีพ โดยจะต้องมีอิทธิบาท ในทั้งสอง
ซึ่งงานอาศัย จะต้องทำได้ทุกคน ส่วนงานอาชีพนั้น ทำได้บางคนที่ต้องมีอิทธิบาท
ทำตน ให้รับผิดชอบ งานการ เป็นหลักเป็นฐาน คนหนึ่งไม่พัฒนาตน อีกคนหนึ่ง
พัฒนาทั้งสองส่วนไปด้วย จึงชื่อว่า นักศึกษา ผู้นี้จึงใฝ่หาครู ใฝ่หาตำรา
ใฝ่หาความรู้อื่นๆ และจัดระบบระเบียบ ของการศึกษา นาย ก. ไม่มีระบบ นาย ข.
มีระบบ พยายามพากเพียรตนเอง นาย ข. จะรู้ระบบระเบียบ รู้ความตื้นลึก ก่อนหลัง
ส่วนนาย ก. จะสับสน ไม่มีระบบ ระเบียบอะไร
ผู้ชื่อว่า นิสิตหรือนักศึกษา
คือ นาย ข. ส่วนนาย ก. ก็คือ คนอยู่ในบ้านธรรมดาๆ
สมณะเอง ก็ต้องเป็นนักศึกษา
ดังที่ว่ามานี้ มีระบบระเบียบใฝ่หาครู ใฝ่หาความรู้ มิฉะนั้น ไม่ชื่อว่า
สมณะ..."
๒๓ ธ.ค. ๔๕ ที่ราชธานีอโศก
มีสมณะบอกเล่าผลสรุปการสัมมนาของนิสิต ม.วช. มีนิสิต แสดงความเห็น ตำหนิคุรุบางท่านว่า
น่าจะได้มีส่วนมาร่วม ในกิจกรรมต่างๆ กับนิสิต บ้างก็ว่า การมาสัมมนาอย่างนี้
ไม่เห็นจะได้ อะไรเลย นอกจาก มานั่งฟัง พ่อท่านแนะให้คิด "...คุรุเป็นเพียง
ช่วยบริการ ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ และคอยสอดส่อง เพื่อเสริมหนุน ในสิ่งในส่วนที่ควรเติม
ให้แก่นิสิต จริงๆนั้น นิสิตจะต้อง พึ่งตนเอง ค้นคว้าศึกษา
ขวนขวายกันเอาเอง นิสิตจะต้อง เป็นศูนย์กลาง มิใช่อยู่ที่คุรุ นิสิตไม่ควร
อ้อนคุรุ ให้มาเอาใจใส่ ดูแลอะไร เหมือนกับผมเอง พวกคุณไม่ควรมาอ้อน
หรือเรียกร้องเอาอะไร แต่กลับ ควรจะพยายาม ช่วยเหลือผมด้วยซ้ำ ห่วงใยไม่ให้ผมป่วย
ผมเจ็บ อย่างที่เป็นอยู่ใช่ไหม?
การพูดว่ามาสัมมนา งานนี้ไม่เห็นจะได้อะไรเลย
แสดงว่าคนนี้ยังไม่เข้าใจ ความเป็นพิธีกรรม การมาร่วม พิธีกรรม อย่างน้อยๆ
ก็จะได้ร่วม สังเคราะห์ ได้ร่วมสัมพันธ์แล้ว หรืออย่างน้อยๆ เขาก็น่าจะได้
คิดเห็น ประโยชน์ว่า แค่ได้มีโอกาสมานั่งฟัง ผมเทศน์ก็ดีแล้ว......."
๒๕-๒๖ ธ.ค. ๔๕ ที่ราชธานีอโศก
พ่อท่านแสดงธรรมทำวัตรเช้าให้กับนักเรียน สัมมาสิกขา ที่เข้าค่าย ยุวชนอโศกสัมพันธ์
(ยอส.) และเดินทางไปให้กำลังใจ คณะขนย้ายเรือ ที่จอดแวะ อ.สุวรรณภูมิ
๒๗ ธ.ค. ๔๕ ที่ราชธานีอโศก
๘.๓๐ น. เริ่มพิธีกรรมแจกขวัญธรรม เสร็จหมดทุกระดับชั้น พ่อท่าน จึงให้โอวาท
ช่วงบ่าย เดินทางไปยโสธร เพื่อแสดงธรรม ในหัวข้อ "พึ่งตน พ้นทุกข์"
ในงาน "วันข้าวอินทรีย์ไทย" หน้าที่ว่าการ อำเภอเมือง
๓๑ ธ.ค.
๔๕ พ่อท่านแสดงธรรม ทำวัตรเช้าวันนี้ ได้นำเอาบทกลอน ที่พ่อท่านเขียน "จงดิ้นให้แร้งดู"
มาอ่าน แล้วอธิบายว่า แร้งเป็นสัตว์ที่มีคุณธรรมสูง แต่คนทั่วไปรังเกียจ
ซึ่งพ่อท่าน ก็เปรียบตนเอง เป็นเช่น นกแร้งนั้น ด้วยสังคมส่วนใหญ่ ยังรังเกียจ
ก่อนหน้านี้ พ่อท่านได้อ่านบทกลอนนี้ ให้พวกเราฟังที่ ปฐมอโศก สันติอโศก
และ ที่ราชธานีอโศกมาแล้ว หลายคนชื่นชอบ ขนาดสมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ ผู้มีวาทะ
"เจ้าบทเจ้ากลอน" ท่านหนึ่ง ก็ยังกล่าวชมว่า เป็นบทกลอนที่มีความไพเราะ
และลุ่มลึกมาก แล้วนำ มาเทศน์ โดยที่ท่านไม่ทราบมาก่อนว่า พ่อท่านเป็นผู้ประพันธ์เอง
ด้วย น.ส.พ. เราคิดอะไร และ สารอโศก ได้ลงพิมพ์บทกลอน ชิ้นนี้ไว้แล้ว กอปรกับต้องการ
ให้บันทึกฉบับนี้ พิมพ์ได้ในเล่มเดียว ข้าพเจ้า จำต้องข้าม ผ่านเนื้อหา ของบทกลอนนั้น
และขอจบบันทึกฉบับนี้ลง อย่างห้วนๆ เพียงเท่านี้
- อนุจร
-
๓ ก.พ. ๔๖
(สารอโศก
ฉบับที่ ๒๕๘ มีนาคม ๒๕๔๖)
|