กว่าจะถึงอรหันต์
โดย...ณวมพุทธ
แม้ทำดี
ก็มี กิเลสได้
เมื่อเพื่อนไม่ ทำดี อย่างเราบ้าง
เพ่งโทษเขา เอาเรื่อง ไม่ละวาง
กิเลสพราง แตกเพื่อน เหลือลำพัง.
พระธัมมิกเถระ
พระธัมมิกเถระนี้ สั่งสมบุญมาแล้วจากชาติก่อนๆ
ครั้นมาเกิดในยุคสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม ได้เกิดอยู่ในตระกูลพราหมณ์แห่งโกศลรัฐ
มีนามว่า ธัมมิกะ
เมื่อเติบโตเจริญวัยเป็นหนุ่ม
บังเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงละจากเพศพราหมณ์
มาบวช ประพฤติธรรมเป็นภิกษุ ตั้งใจฝึกฝนบำเพ็ญอย่างเคร่งครัดอยู่ในอาวาสใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง
แต่เพราะความถือดีในการปฏิบัติวัตร(หน้าที่พึงกระทำ)ต่างๆได้
ทำให้ภิกษุธัมมิกะบังเกิด อุปกิเลส (ทำดีแต่เกิดกิเลสซ้อนแฝง)
เพ่งโทษในวัตรและมิใช่วัตรของภิกษุทั้งหลาย ถึงกับอดทนไม่ได้ มักตำหนิ อย่างไม่พอใจ
ว่ากล่าวเพื่อนภิกษุเสมอๆ เหล่าภิกษุในอาวาส ได้รับความอึดอัด ลำบากใจยิ่งนัก
จึงพากัน ละทิ้งที่นั้น หลีกไป เหลืออยู่แต่ภิกษุธัมมิกะ เพียงรูปเดียว ในอาวาส
บรรดาอุบาสกอุบาสิกาจึงไปกราบทูลเรื่องราวให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ
พระศาสดา ตรัสเรียก ภิกษุนั้นมาถาม ท่านก็ยอมรับตามจริง ในการเพ่งโทษ จนเพื่อนภิกษุ
อยู่ร่วมด้วยไม่ได้
"เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า"
พระศาสดาทรงสดับเช่นนั้น
ก็ตรัสกับหมู่สงฆ์ในที่นั้นว่า
"ภิกษุนี้เป็นผู้ไม่อดทนในสามัคคีธรรม
ก็พวกเธอได้ชื่อว่าเป็นญาติกันในทางธรรม ควรที่จะสมัครสมานกัน อย่าว่าแต่เป็น
ความสามัคคี ในหมู่มนุษย์เลย แม้หมู่ไม้ รวมกลุ่มกันหนาแน่น มหาวาตภัย ก็มิอาจรุกราน
ให้ต้นไม้ หักโค่นได้เลย"
ภิกษุทั้งหลายทูลวิงวอนให้ทรงเล่าเรื่องนั้น
พระศาสดาจึงทรงแสดงรุกขธัมมชาดกให้ฟัง
ในอดีตกาล ณ ป่ารัง (ต้นไม้ขนาดใหญ่เป็นไม้เนื้อแข็งใช้ในการก่อสร้าง)
แห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ ภายในป่า หิมพานต์ (ป่าหนาวแถบเหนือของอินเดีย) อันกว้างใหญ่
มีรุกขเทวดา(คนใจสูงที่รักต้นไม้)ผู้เป็นบัณฑิต
(ฉลาดในธรรม) ตนหนึ่ง ได้กล่าวแนะนำแก่
หมู่ญาติ รุกขเทวดา ด้วยกัน โดยมุ่งหมาย ให้มีความปลอดภัย ในที่อยู่อาศัยว่า
"ท่านทั้งหลาย หากปรารถนาจะอยู่ในวิมาน(ต้นไม้)ใด
จงอย่าจับจองต้นไม้ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว บนเนินดินเด่น เด็ดขาด แต่จงเลือกอาศัย
อยู่ที่ต้นไม้ หนาแน่น เกาะกลุ่มกันในป่ารังนี้เถิด"
รุกขเทวดาเหล่านั้นฟังแล้ว
พวกที่เป็นบัณฑิตก็พากันกระทำตามนั้น ส่วนพวกที่เป็นพาล (โง่ในธรรม) ต่างก็พูดกันว่า
"พวกเราไม่ต้องการวิมานในป่ารังนี้
แต่ต้องการวิมานที่โดดเด่นในบ้าน ในเมืองต่างๆ ในถิ่นอาศัย ของมนุษย์ เพราะย่อมประสบลาภมาก
ได้ยศยิ่งใหญ่นานาประการ"
พวกรุกขเทวดาพาลจึงพากันไปจับจองวิมานอยู่
ตามต้นไม้ใหญ่ๆ ในบ้าน ในเมือง ซึ่งมักอยู่ โดดเดี่ยว โดดเด่น ในถิ่นที่หมู่มนุษย์
เอาแต่ค้าขาย ทำมาหากินกันอยู่
ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง บังเกิดพายุฝนรุนแรง
พัดกระหน่ำอย่างหนัก กินบริเวณพื้นที่กว้างใหญ่
ที่....ป่ารังนั้น
ต้นไม้แน่นขนัด มีรากมั่นคง ตั้งอยู่ติดๆกัน คอยค้ำจุนสนับสนุนกันไว้ ทั้งกอไม้
และเถาไม้ ก็ช่วยเกาะเกี่ยว ประสานกันอีก ถึงพายุฝนซัดกระหน่ำทุกๆด้านไม่สร่างซา
ก็ไม่อาจ ทำให้ต้นไม้ ล้มโค่นลงได้ แม้สักต้นเดียว พายุได้แต่พัดผ่านไป
ตามยอดไม้เท่านั้น
แต่.....พวกต้นไม้ใหญ่มีกิ่งก้านคาคบสมบูรณ์
ตั้งโดดเด่นอยู่ตามบ้าน ในเมือง หรือโดดเดี่ยว บนเนินดิน แม้อยู่ในป่าก็ตาม
ล้วนหักโค่น ล้มระเนระนาด ถอนทั้งราก ทั้งโคนขึ้นมา เพราะต้านลมพายุไม่ไหว
บรรดารุกขเทวดาพาลเหล่านี้ที่วิมานล่มแล้ว
ต่างก็ไม่มีที่พำนัก พากันกระเซอะกระเซิง กลับคืนสู่ ป่าหิมพานต์ บอกกล่าวเรื่องราวของตน
ให้แก่หมู่ญาติรุกขเทวดา ที่ป่ารังรับทราบ
รุกขเทวดาบัณฑิตตนนั้น
จึงถือโอกาสกล่าวเตือนหมู่ญาติทั้งหลายว่า
"ญาติมีมากเป็นความดี
ต้นไม้เกิดในป่ามากเป็นการดี แต่ต้นไม้ขึ้นโดดเดี่ยว ถึงจะงอกงาม ใหญ่โต
สักปานใด ลมแรงย่อมพัดให้หักโค่นได้"
พระศาสดาตรัสชาดกนี้จบแล้ว
ทรงเฉลยว่า
"หมู่รุกขเทวดาในครั้งนั้น
ได้มาเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนรุกขเทวดาบัณฑิตนั้น ได้มาเป็นเรา ตถาคตเอง"
แล้วยังทรงแสดงโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายอีกว่า
"ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์
(ผลบุญ ผลประโยชน์) ในธรรมของผู้ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
(ทางดำเนินที่ชั่ว)
สภาพทั้งสองคือ ธรรม(ความดี)และอธรรม
(ความชั่ว) ย่อมมีวิบาก(ผล)แตกต่างกัน ธรรมย่อมนำไป สู่สุคติ (ทางดำเนินที่ดี)
อธรรมย่อมนำไปสู่นรก (ความเร่าร้อนใจ)
ฉะนั้นผู้ใดเบิกบานอยู่
ด้วยการให้โอวาทของตถาคต ผู้นั้นควรทำความพอใจในธรรมทั้งหลาย เพราะสาวก
ของตถาคต ย่อมเป็นผู้ประเสริฐ เป็นนักปราชญ์ ตั้งอยู่ในธรรม นับถือธรรม ว่าเป็นที่พึ่ง
อันประเสริฐสุด ย่อมนำตน ให้พ้นจากทุกข์ได้"
เมื่อพระศาสดาตรัสแสดงธรรมจบ
ภิกษุธัมมิกะซึ่งน้อมจิตตั้งใจฟังธรรม ได้เจริญวิปัสสนา (อบรมปัญญา ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง)
ไปตามกระแสธรรม ขณะนั่งอยู่ ณ ที่ตรงนั้นเอง ก็ได้บรรลุธรรมเป็น พระอรหันต์
แล้ว
พระธัมมิกเถระจึงได้กล่าวคุณวิเศษที่ตนได้บรรลุท่ามกลางหมู่สงฆ์
ด้วยการประกาศอรหัตตผลว่า
"เรากำจัดรากเง่าแห่งหัวฝี(อุปาทานขันธ์
๕)ได้แล้ว ถอนข่ายคือตัณหาได้แล้ว เป็นผู้สิ้นสงสาร (การเวียนตาย เวียนเกิดอยู่กับกิเลส)
ไม่มีกิเลสใดๆ ให้กังวลอีก เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ ปราศจาก เมฆหมอก ฉะนั้น"
- ณวมพุทธ
-
ศุกร์ ๒๘ มี.ค. ๒๕๔๖
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๓๒, เล่ม ๒๗ ข้อ ๗๔
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๒ หน้า ๕๐, เล่ม ๕๖ หน้า ๑๙๙)
(สารอโศก
อันดับที่ ๒๕๘ มีนาคม ๒๕๔๖)
|