หน้าแรก>สารอโศก

เปิดหน้าต่าง ต.อ.
วิวาทะอันเนื่องมาแต่ประโยคที่ว่า
"ร้านค้าของเรามีบทบาทมากกว่าที่คิด มีฤทธิ์มากกว่าที่คาด
อาจอุบาทว์ในบางคราว ถ้าคุณไม่แม่นเป้า"

พ่อท่าน
"ใครช่างเขียน จริงๆด้วยนะ ร้านค้าเป็นตัวหน้าฉากก็ใช่ เป็นตัวเชื่อมก็ใช่ เป็นตัวประสานประโยชน์ก็ใช่ เป็นตัวที่จะวางลูกระเบิดก็ใช่ ร้านค้านี้เป็นได้จริงทุกอย่าง"

"พวกเราต้องช่วยกันทำให้เจริญดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ร้านค้าต้องช่วยคัดกรองสินค้า หน่วยผลิตเอง ก็ต้องเอา ใจใส่หน่อย เพราะถ้าไม่แข็งแรง อนาคตผลิตภัณฑ์ของเราต้องระส่ำระสาย เพราะมันจะเป็น ไปตามกิเลส กิเลสจะดึงให้ย่อหย่อนลงไป หลบไป เลี่ยงไป หนักเข้าก็จะอ่อนแรง ของที่จะดีก็จะเริ่มไม่ดี ผลผลิตต่างๆ ก็จะปลอมแปลง ลดคุณค่าลงไปเรื่อยๆ อาตมาได้ยินมาว่าชาวต.อ.แข็งยึดมั่นเกินไป ไม่ยอมยืดหยุ่น อนุโลม อาตมากลัวว่า ชาวต.อ.จะไม่แข็งแรง เสียมากกว่า กลัวจะยุ่ยไม่ยืนหยัด แต่อาตมา ก็ขอให้ยืนหยัด ไว้แบบนี้ดีแล้ว มันเป็นคุณลักษณะของหลัก เราต้องยืนหยัดไว้ ขนาดไม่ยืดหยุ่น ก็ยังรุ่มร่าม ยังหย่อน ยังลดลงไป กันอยู่ เพราะฉะนั้น ยิ่งตัวหลักไม่แข็งแรง ไม่ยืนหยัดล้ม เป็นไม้หลัก ปักขี้เลน จะไปไม่รอด

ดังนั้นอาตมาขอบอกว่า อย่าไปตำหนิติติงผู้ที่เคร่งครัดเลย เขามีหน้าที่จะต้องยึดหลัก ยึดอะไร ต่ออะไร เขาก็ยึดไป มันก็พอเป็นไป มันก็จะยืดหยุ่นกันบ้าง ก็พอดึงๆกันไป มันเป็นธรรมชาติ มันก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางทีเขา ก็ไม่ยอม บางทีเขาก็ยอม มันก็ธรรมดา อย่างนั้นแหละ ถ้าเราขืน จะให้ได้ทุกทีๆ แล้วก็ให้ยอม อนุโลม ยืดหยุ่นไปเรื่อยๆ อาตมาว่าไม่นานไม่ช้า ก็จะระเนระนาดล้มเหลว ไปไม่รอด"

"คนข้างนอกเขาเชื่ออโศก อะไรเอามาวางก็ซื้อหมด แม้ว่าจะเป็นสินค้าของที่อื่น เพราะเชื่อว่า เราคัดกรอง มาแล้ว ถ้าจะให้ชาตินิยมขายสินค้าของชุมชนเราอย่างเดียว ไม่รับสินค้าของชุมชนอื่น ต.อ. ต้องทำงานหนัก เข้มงวดสินค้าที่ไม่ดี ไม่ให้ออกมาขายเลย ต้องขายของดีจริงๆ ไม่ใช่ทำเรื่องชาตินิยมแล้ว ปล่อยให้หน่วยผลิต ได้โอกาส ทำสินค้าดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เพราะถือว่า ชาตินิยมขายให้อยู่แล้ว"

"ไม่ใช่ว่า ต.อ.ได้แต่ให้ข้อเสนอแนะ ไม่สั่งการ แต่ต.อ.ต้องมีอำนาจได้ด้วยบ้าง ไม่มีอำนาจเสียเลย ไม่เด็ดขาด ก็ไม่ดี ถ้าเช่นนั้น จะไปขู่อะไรเขาได้เล่า"

ท่านเดินดิน ติกขวีโร สมณะที่ปรึกษาต.อ.
"เวลาไปตามร้านค้าทั่วไปเห็นป้ายของหลวงพ่อคูณว่า "ขอให้รวย ขอให้รวย" แต่ประโยคนี้ของเรา ("ร้านค้าของเรามีบทบาทมากกว่าที่คิด มีฤทธิ์มากกว่าที่คาด อาจอุบาทว์ในบางคราว ถ้าคุณไม่แม่นเป้า") อ่านแล้ว รู้สึกชอบใจ แม้จะแรงไปหน่อย แต่ก็น่าจะเป็นเอกลักษณ์ของร้านค้า ของพวกเรา ชาวอโศกได้ เพราะกล่าว ครอบคลุมได้ดี มีทั้งบทบาทความสำคัญ และความพินาศไปในตัว สามารถเป็นได้ ทั้งบวกและลบ ประโยคนี้ ดีมากๆเลย ก็ขอให้อ่านกันบ่อยๆ ให้ขึ้นใจก็แล้วกัน"

"ปัจจุบันความเชื่อถือในสินค้าของพวกเรามีมาก จึงต้องระมัดระวังให้มีสินค้าที่มีประสิทธิภาพ และทำอย่างไร ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เมื่อมีการไป ติงเตือนกัน เรื่องนี้ต้องอาศัย สมณะ สิกขมาตุ ช่วยกันเอาภาระ ลงมาช่วยด้วย"

คุณสมพงษ์ ฟังเจริญจิตต์ ประธานคณะกรรมการบริหาร ต.อ.
"ร้านค้าเป็นด่านหน้า เป็นหน้าตาของชาวอโศก ทำสิ่งใดควรระมัดระวัง หากไม่ทำตาม ปฏิบัติการนั้น ก็เท่ากับ ทำลาย อนุศาสนีปฏิหาริย์ ของพ่อท่านด้วย"

คุณสงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานคณะทำงานต.อ.กลาง
"อย.ยอมรับว่า ชาวอโศกเป็นชุมชนที่มีการตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่มีคำถามว่า ผลิตภัณฑ์ ชุมชน ของดีจริงแล้วหรือยัง เราจึงต้องดูแลกันเอง ก่อนที่จะให้คนอื่น มาดูแล ต.อ.กลาง ได้กระจาย อำนาจ ให้ต.อ.ชุมชนแล้ว และขอความร่วมมือร้านค้าชุมชน ให้ช่วยมีบทบาทด้วย"

"ผู้บริโภคก็คาดหวังเราว่าเราจะเป็นตัวอย่างที่ดี ในด้านการผลิต หรือแม้แต่ร้านค้าของเรา ก็มีชื่อเสียงว่า ถ้าจะซื้อสินค้า สุขภาพ ก็จะมาซื้อที่ร้านค้า ของชาวอโศกนี่แหละ เพราะฉะนั้น อย่าลืมตระหนักว่า เรากำลังทำเรื่อง บุญนิยม ไม่เน้นจะค้าขาย หาเงินแบบทุนนิยมอย่างเดียว ดังนั้น ถ้าร้านค้า ทำได้ตาม หลักการ คัดกรองสินค้าฯ ก็จะเป็นประโยชน์ ต่อภาพรวม ของชาวอโศกด้วย"

คุณรินไท สุขเกษม ประธานชุมชนราชธานีอโศก
"ข้อตกลงเก่า ที่ว่าให้ร้านค้าสามารถเลือกสินค้าจากชุมชนอื่นที่มีคุณภาพที่ดีกว่าได้นั้น อโศกต้อง เป็นชาตินิยมอโศก ดูจากตัวอย่าง ของบ้านราชฯเอง สินค้าของชุมชน เช่น แชมพู ยาอม เครื่องดื่ม สมุนไพรชง ที่เราผลิตได้เอง ร้านค้าก็ยังไปรับ จากชุมชนอื่นๆ ที่ไม่ใช่อโศก มาจำหน่าย ที่จริงเราน่าจะสกัด ตั้งแต่ร้านค้า ตั้งแต่ต.อ.ไปเลย ว่าห้ามเอามาขาย การให้โอกาสสินค้าชุมชนอื่น ที่ดีกว่ามาขายได้นั้น เป็นการอนุโลม เปิดช่องให้ เราน่าจะชาตินิยมอโศก ให้เข้มไปเลย ให้เด็ดขาด สินค้าเราทำเองไม่ดีหรือ แล้วไปยกย่อง คนอื่นว่า เขาดีกว่าของเรา ผมคิดว่า เราเอาอะไรมาวัดมาตรฐาน ต.อ.แข็งถึงขนาด วัดสินค้าชุมชนอื่น ได้ทุกรายการหรือ คิดว่าเป็นไปไม่ได้"

"ลูกค้าเขาซื้อเราด้วยหัวใจ สินค้าอื่นมาวางก็รับซื้อ เพราะเขาเชื่อเรา เขาไม่ได้ซื้อ เพราะยี่ห้อ อย่างเดียว เพราะฉะนั้น เราต้องพัฒนาสินค้าของเรา ก่อนวางขาย ต้องมาเข้มงวด ตรงนี้ต่างหาก"

"ข้ออ้างที่ว่าสินค้าของเราผลิตไม่ทัน ขาดตลาดต้องเอาของคนอื่น มาทดแทนนั้น เป็นการคำนึงถึง แต่เรื่องเงิน ก็ผิดประเด็นแล้ว ไม่ใช่หลักการ บุญนิยมของชาวอโศก เป็นข้ออ้าง เพื่อเอาเงินมากกว่า ถ้าเราทำ ไม่ทันจำหน่าย แสดงว่า สินค้าของเราดีมาก จนทำไม่ทัน เราก็ต้องเพิ่ม ประสิทธิภาพของเรา ไม่ใช่ว่า ไปเอาของคนอื่น มาแทน ทำให้เกิด ข้อเปรียบเทียบ ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่า ของคนอื่น ดีกว่าเรา จึงเลือกเอามาแทน ต่อไปลูกค้า ก็จะติดสินค้าอื่นไป"

นายธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรพาณิชย์บุญนิยม
"เปรียบเทียบความชาตินิยม ในระดับประเทศก็เหมือนกัน คนไทยไม่นิยมของไทย ซื้อแต่ของ นอกประเทศ พอผลิตออกมาแล้ว ก็บอกว่าไม่ดี ไม่ช่วยกันซื้อ ก็ทำให้ไม่พยายาม พัฒนาการผลิต คนไทยก็เลย ผลิตอะไรเอง ไม่ได้สักอย่าง นี่ก็เป็นกรณีเดียวกัน จึงต้องเอาให้ชัดว่า ให้ร้านค้าเลือกจำหน่าย แต่สินค้า ชาวอโศก ยกเว้นแต่สินค้า ที่ชุมชนเรา ยังไม่ได้ผลิต ดังนั้ นเมื่อเราผลิตมาแล้ว ก็ต้องช่วยกันใช้กัน ให้คุ้ม ให้ได้จริง

ชาวอโศกจะต้องเป็นต้นแบบความเป็นชาตินิยมของคนไทยด้วย"

คุณน้อมนบ ปัฐยาวัต คณะทำงานต.อ.กลาง ด้านร้านค้า
"สรุปข้อพิจารณา หลักการคัดกรองสินค้า ของร้านค้าชุมชนชาวอโศก ที่ตกลงกันไว้ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๔ เพื่อให้ที่ประชุมนี้ พิจารณาทบทวน แก้ไข และมีมติให้ถือปฏิบัติ ดังนี้"

หลักการคัดกรองสินค้า ของร้านค้าชุมชนชาวอโศก
๑. เน้นสินค้าไร้สารพิษ และสินค้าธรรมชาติ
๒. เลือกจำหน่ายสินค้าชุมชนชาวอโศก(ยกเว้นสินค้าที่ชุมชนของเราไม่ได้ผลิต)
๓. งดสินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าจากต่างประเทศในสินค้าที่สามารถผลิตได้เองในประเทศ
๔. สินค้าใหม่ต้องผ่านการจดแจ้ง (ร้านค้าต้องขอดูใบจดแจ้งจากต.อ. ก่อนรับสินค้า)
๕. กรณีที่เป็นสินค้าจากภายนอกชุมชน ให้ระวังสินค้าที่มีความเสี่ยง มีการปนเปื้อน ต้องส่งตรวจ ก่อนขาย และ สุ่มตรวจ เป็นระยะๆ

คุณน้อมขวัญ ปัฐยาวัต เลขานุการต.อ.กลาง
"ต้องจัดกำลังในชุมชนขึ้นมาช่วยกันทำงานเป็นทีมให้เข้มแข็ง โดยทำตามมติจากชุมชน ซึ่งจะมีพลัง ความร่วมมือกันทำ ไม่ใช่เสียง จากผู้ใดผู้หนึ่ง เราเชื่อมั่น ในศักยภาพของชุมชน ว่าชุมชนทำได้ ถ้าทุกคน ในชุมชนตระหนัก การกระจายอำนาจ ให้ชุมชนจะทำให้การทำงาน รวดเร็วกว่าที่ ต.อ.กลางทำ เพียงส่วนเดียว คนที่อยู่ใกล้ชิดกัน จะควบคุมได้ดีกว่า"

"ร้านค้า จึงเป็นหนึ่งในหัวใจของการตรวจสอบคุณภาพสินค้าของชาวอโศก เพราะถ้าร้านค้าไม่ช่วย ต.อ. จะทำงาน ลำบากมาก หากร้านค้าได้เข้ามาร่วมรับรู้กระบวนการตรวจสอบ รับรู้ผลของ การตรวจสอบ คุณภาพสินค้า และรับรู้ข้อแก้ไขที่ต.อ.เสนอต่อผู้ผลิตแล้ว ร้านค้า ก็จะไม่ยอม รับสินค้า ที่ยังไม่ผ่าน การจดแจ้ง มาจำหน่าย ผู้ผลิตก็จะเข้ามาหาต.อ. มาให้ต.อ. ช่วยเหลือ เพื่อให้ร้านค้ายอมรับ เพื่อสินค้าของเขาขายได้"
(เก็บตกจาก การประชุมต.อ.ชุมชนและร้านค้าชุมชน วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๖ ในงานปลุกเสก พระแท้ๆ ของพุทธ ณ พุทธสถาน ศีรษะอโศก)

สุขาปฏิปทา : โอวาทกำลังใจจากพ่อท่านในศกใหม่
"งานของเราคนไม่ค่อยเพิ่ม แต่งานมามากขึ้น ต้องพยายามเข้าใจว่าเหตุการณ์จะสร้างวีรชน มันบังคับ ไม่มีตัวทำ เราต้องทำ ไม่มีพลังงาน ก็ต้องบีบบังคับพลังงานของเราเอง ถ้าเราเห็นว่า ไม่มีทางเลือก หมดทางเลือก ก็ต้องหัดวางใจ ต้องรู้จักจัดสรรว่า จะทำอย่างไร ต้องบริหารแรงงาน บริหารกิจการ ต้องบีบบังคับ ให้เราจัดการ ซึ่งจะทำให้เราฉลาดขึ้น

จะเป็นไปด้วยดีต้องไม่ถือสา บางครั้งดูเหมือนเป็นความเห็นแก่ตัว ความไม่เรียบร้อย คนเรามีสิทธิ์ ที่จะผ่อนเบา หากเราไม่ใช่คนขี้เกียจ เอาภาระ ตั้งใจจะสร้างสรร ก็ต้องรู้ว่า เราไม่ได้เข้าข้างตัวเอง ตั้งใจ ทำเต็มที่ ข้อสำคัญ คือ ต้องมีสุขาปฏิปทา ปฏิบัติด้วยความสุข ไม่ทุกข์ใจ จิตใจสบาย บางคน หนักแสนหนัก เหนื่อยแสนเหนื่อย แต่เบิกบานได้ คนอยู่กลางแดด ทำงานสู้ ก็จะเก่งงาน อุ้มช้างอาบน้ำได้ ถ้าฝึกหัดอุ้มช้าง ตั้งแต่ช้าง ยังตัวเล็กๆอยู่ อุ้มอาบน้ำทุกวันๆ จนช้างตัวโต ก็สามารถอุ้มไหว ไม่หนัก ไม่เหนื่อย

ใจจะเบิกบานหรือเศร้าหมองเพราะเราทำตัวเราเอง ตัวเองโง่เอง คนจะด่าแสนด่า จะด่าอย่างไร ก็ฟังไป แต่ใจไม่เศร้าหมอง ถ้าด่ามีเหตุผล มีเนื้อหา ต้องขอบคุณ กราบเขา มีแต่กำไร เขาด่าแล้ว เราทำฮึดฮัด แสดงว่า เราโง่เอง ต้องทำใจให้สบาย เบิกบานร่าเริง เหนื่อยก็พัก จัดสรรบริหารให้ได้ดี อาตมาทำงานมาก แต่ก็ไม่เคย หม่นหมอง เศร้าหมอง รู้จักวางระเบียบ อะไรก่อนหลัง ตามความเหมาะสม เราก็จะเกิด ความเชี่ยวชาญ ชำนาญ ไม่หงุดหงิด รำคาญ อึดอัด ขัดเคือง ฝึกไปเรื่อยๆ ก็จะหายไปเอง รู้ให้จริง จัดการ ให้ได้สัดส่วน ชีวิตก็จะเบิกบาน สมรรถนะ ก็จะสูงขึ้นๆ

เราต้องรับผิดชอบทั้งประเทศ ทั้งโลก แม้จักรวาลนี้ก็ตาม แต่อาตมายังไม่เผยแพร่ ไปถึงต่างประเทศ ที่ไม่ทำ เพราะอาตมา จัดสรรอยู่ในขอบเขต ที่ควรกระทำ ส่วนแกน ส่วนแก่นก่อน ศาสนาพุทธ เป็นโลกวิทู ต้องรู้กว้าง รู้นอกโลก ไม่ใช่คับแคบ แต่เราต้องรู้กาละ รู้เทศะ ทุกอย่าง จะดึงเรา เราอย่าเผลอตัว มักมาก มักใหญ่ ต้องดูว่า ไหวหรือไม่ หมู่กลุ่มไหวหรือไม่ แต่ให้อยู่ในระดับที่ ตั้งตนอยู่ในความลำบาก พอสมควร

สายกลางต้องตั้งตนอยู่ในความลำบาก ให้ตึงไว้หน่อย เคร่งครัดไว้หน่อยดี ถ้าปล่อยตัว ตามสบาย ยถาสุขขัง ก็เป็นกิเลส อกุศลธรรม จะเจริญยิ่ง จะไม่ขัดแย้งกับ มัชฌิมาปฏิปทา ต้องเคร่งครัด ในตนเอง ให้ดี ดำเนิน กิจการต่อไป ทำใจให้สบาย แม้ชีวิตมันหนัก เพราะโลกทั้งโลก มันแย่ สิ่งเหล่านี้ เป็นเหตุปัจจัย วีรชนเกิด เพราะเหตุการณ์ ขอขอบคุณทุกๆคน"
(จากโอวาทปิดการประชุมต.อ.ชุมชนและร้านค้าชุมชน วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๖
งานปลุกเสก พระแท้ๆ ของพุทธ ณ พุทธสถาน ศีรษะอโศก)

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๘ มีนาคม ๒๕๔๖)