คืนสู่เหย้า
เข้าคืนถ้ำ สัมมาสิกขา ครั้งที่ ๑
๑๓
ปีที่ชาวอโศกจัดการศึกษาบุญนิยม เริ่มจากนักเรียนแซงแซวน้อยศีรษะอโศก
ต่อมาเป็นระบบ กศน. และพัฒนาเป็นโรงเรียนสัมมาสิกขา ในปัจจุบันได้ขยายไปตามชุมชนต่างๆ
๑๑ แห่ง และเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ มีนักเรียนที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายหลายรุ่น
ตลอดระยะเวลา ๖ ปี ในรั้วของสัมมาสิกขา พวกเขาได้ฝึกฝน เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง
เพื่อให้บรรลุถึงปรัชญาการศึกษาที่ว่า "ศีลเด่น-เป็นงาน-ชาญวิชา"
ด้วยความเมตตาอันหาประมาณมิได้ของพ่อท่าน ที่มีต่อลูกๆสัมมาสิกขาที่จบการศึกษาไปแล้ว
จึงได้เขียน "จ.ม.จากพ่อถึงลูกสัมมาสิกขา"
นัดหมายให้กลับมารวมตัวกันเป็นครั้งแรกในงาน
"คืนสู่เหย้า เข้าคืนถ้ำ สัมมาสิกขา" ครั้งที่ ๑ ในวันที่
๓-๕ พ.ค. ๔๖ ที่ราชธานีอโศก
งานคืนสู่เหย้าฯที่จัดขึ้นนี้ ต่างจากทางโลกที่เขาจัดกัน เพราะเป็นงานที่ศิษย์เก่ามาพบปะกัน
มีการฟังธรรมะ เป็นแกนหลัก และมีการทำงานเสียสละร่วมกัน เรียกว่า กีฬาอาริยะ
เป็นการแข่งขันเพื่อเอาชนะตัวเอง โดยมีศิษย์เก่ารุ่นพี่เป็นแม่งานหลัก
ในครั้งนี้มีศิษย์เก่าแซงแซวน้อยศีรษะอโศก,
นักเรียนที่จบต่ำกว่าชั้น ม. ๖ ลงมา และนักเรียนที่ได้รับทัณฑ์ ห้ามเข้าพุทธสถาน
ต่างๆ (สามารถมาร่วมงานนี้ได้เป็นกรณีพิเศษ) ก็มาร่วมงานอีกมากมาย
นอกจากนี้ยังมีศิษย์เก่าอีกหลายคน
ที่ไม่สามารถมาได้ เนื่องจากติดภารกิจต่างๆ หรือไม่สามารถติดต่อได้
มียอดศิษย์เก่าลงทะเบียนทั้งหมด ๓๘๗ คน จาก ๖ สัมมาสิกขา คือ สันติฯ,
ปฐมฯ, ศีรษะฯ, ศาลีฯ, สีมาฯ และราชธานีฯ ศิษย์เก่าศีรษะฯมามากที่สุดถึง
๑๑๗ คน บรรยากาศคึกคักยิ่งนัก ที่แต่ละคนได้กลับมาพบหน้าพบตากัน ถามข่าวคราว
สารทุกข์สุกดิบ และหลายคนก็นำ ๑ คน ๑ ผลผลิต(ลูก)มาร่วมงานด้วย ดังนั้นตลอดเวลาจะมีเสียงของหนูน้อยว่าที่เตรียมสัมมาสิกขา
ดังแทรกขึ้นมาเป็นระยะๆ
ภาพวัยเยาว์ในอดีตของแต่ละคนที่ก้าวเข้าสู่สัมมาสิกขาในปีแรกนั้น ผุดขึ้นมาในความทรงจำ
๖ ปีที่เคยอยู่ด้วยกัน มีหลายสิ่งที่ประทับใจ จดจำไม่ลืมเลือน หลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเธอมีส่วนบุกเบิก
ร่วมสร้างขึ้นมา ก็ยังคงอยู่ วันนี้พวกเธอได้กลับคืนบ้านหลังเก่าอีกครั้งหนึ่ง
ทุกคนต่างมีความรู้สึก ที่เหมือนๆกัน คือ ดีใจนะที่ได้เห็นหน้าตาพวกเธอ
วันนี้พวกเธอก้าวพ้นจากวัยเด็กสู่วัยหนุ่มสาว หลายคนเป็นผู้ใหญ่ขึ้น
มีหน้าที่การงานและครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ นับเป็นวัยที่สำคัญทีเดียว
เพราะหากนำชีวิตสู่กุศล ก็จะมีโอกาสสั่งสมบารมีได้มากมาย และหากนำชีวิตสู่อกุศล
ก็จะเต็มไปด้วยวิบากกรรมเช่นกัน
๓ พ.ค. ๔๖
ในช่วงเช้าเป็นบรรยากาศของการลงทะเบียนที่เฮือนศูนย์สูญ ด้วยการลอดซุ้มไปลงทะเบียน
แยกตามพุทธสถาน พร้อมกรอกข้อมูลส่วนตัว-ถ่ายรูปเพื่อทำทะเบียนประวัติฯ
แต่ละคนจะได้รับโบว์ติดเสื้อตามสีของพุทธสถาน และป้ายชื่อห้อยคอ มีหนังสือศิษย์เก่าฯเขียนโดยสมณะ-สิกขมาตุ
และคุรุ แจกแก่ทุกคน และมีศิษย์เก่ารุ่นพี่นำหนังสือที่เขียนเอง มาแจกแก่น้องๆอีก
๒ เล่ม หลังจากนั้นสัมมาสิกขาจากสันติฯ, ศีรษะฯ, ปฐมฯ แยกไปรำลึกถึงความหลังที่ประทับใจในอดีต
ตามซุ้มที่ได้จัดเอาไว้ สำหรับสัมมาสิกขาจากบ้านราชฯ, สีมาฯ, ศาลีฯ
ร่วมรำลึกด้วยกัน
๐๙.๐๐-๑๐.๓๐ น. ฟังเทศน์ปฐมฤกษ์
โดยพ่อท่าน ซึ่งพ่อท่านได้กล่าวคำขึ้นต้นด้วยความว่า เจริญธรรมลูกๆทุกคน
หลายคนฟังแล้วน้ำตาซึมด้วยความซาบซึ้งในสายใยผูกพันของพ่อ-ลูกทางธรรม
สำหรับเนื้อหาของการเทศน์ครั้งนี้ พ่อท่านได้กล่าวถึงตั้งแต่เป็นนักเรียน
กศน.จนเป็นสัมมาสิกขา ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนชาวอโศก และเดี๋ยวนี้ชาวอโศกมีกิจกรรมกิจการที่
เป็นระบบบุญนิยม เกิดขึ้นมากมาย หลายคนอาจจะไม่ได้รับรู้ เช่น
ชุมชนราชธานีฯและศีรษะฯ ได้รับอนุมัติ จากกระทรวงมหาดไทย เป็นหมู่บ้าน,
เงินหนุนคือเงินหนี้ ที่ไม่เสียดอกเบี้ย-เงินเกื้อคือเงินกู้ ที่ไม่เสียดอกเบี้ย
หรือ โครงการ "ร่วมบุญปฐพีพุทธวิหารพันปี พระบรมสารีริกธาตุ"
เพื่อซื้อที่ดิน บริเวณทาวน์เฮาส์ หน้าสันติอโศก รวมค่าที่ดิน และค่าใช้จ่ายต่างๆ
เป็นเงิน ๔๘ ล้านบาท เป็นต้น
งานคืนสู่เหย้าฯ ทำให้ได้รื้อฟื้นความหลัง ดึงคุณธรรม จิตวิญญาณเก่าๆคืนมา
ได้พบปะพูดคุยกับสมณะ สิกขมาตุ และญาติธรรม ทักทาย ถามไถ่ คุ้ยแคะ
ขัดเกลากิเลสบ้าง รวมทั้งมาอยู่เรียบๆง่ายๆ แบบที่เคยฝึกมาแล้ว อันจะเป็นทรัพย์แท้ๆติดตัวตลอดไป
คุณธรรมที่ศิษย์เก่าควรจะได้จากงานนี้ คือ การปฏิบัติสาราณียธรรม
๖ จนเกิดพุทธพจน์ ๗
หลังจากนั้นรับประทานอาหารร่วมกัน พักผ่อนตามอัธยาศัย แล้วกลับมาพบกันอีกครั้งในเวลา
๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น. กับ กีฬาอาริยะ
ด้วยการทำงานที่มีสาระ มุ่งแข่งขันเอาชนะตัวเองมากกว่าผู้อื่น ซึ่งมีอยู่
๓ ประเภท คือ
ช่วยกางเต็นท์เตรียมงาน พฟด.
ศิษย์เก่าศีรษะฯรับผิดชอบ,
ขนกระเบื้องมุงหลังคา
เฮือนศูนย์ฯจากชั้น ๓ ลงมาชั้นล่าง
ศิษย์เก่าปฐมฯรับผิดชอบ และ เคลียร์พื้นที่
และขนย้ายสิ่งของ บริเวณโรงครัวเก่า
โดยศิษย์เก่าที่เหลือ
๔ แห่งช่วยกัน
งานทั้งหมดเป็นงานในร่มที่ศิษย์เก่าสามารถพูดคุยกันได้และทำงานไปด้วย
นึกถึงภาพในอดีต ที่สัมมาสิกขา แต่ละคน มีส่วนร่วมในฐานงานต่างๆ และวันนี้ก็ยังมีโอกาส
กลับมาร่วมสร้างสรร งานเหมือนเดิม แต่ภาพวันนี้ ทุกคนทำด้วยความเต็มใจ
ที่จะเสียสละ และ เบิกบานแจ่มใส แล้วงานก็สำเร็จลุล่วง ก่อนเวลาที่กำหนดไว้
สมดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่า...
ไม่มีพลังใดในโลกหล้า
จะหาญท้ากล้าแกร่งแห่งหนุ่มสาว... ประโยคนี้ใช่เลย !
ภาคค่ำพบกับการแสดงของวงดนตรีต่างๆ ช่วงแรกเป็นการแสดงของวง I-ZAX
ที่หัวหน้าวง เป็นศิษย์เก่า จากปฐมฯ ขณะแสดงทั้งผู้เล่นและผู้ชมต่างลุ้นกันว่าฝนจะตกลงมาหรือไม่
และหลังการแสดงสิ้นสุดลง ฝนก็ได้ตกลงมาจริงๆ ช่วงถัดไปเป็นการแสดงดนตรีของวงฆราวาส
ทั้งผู้ชมและนักดนตรี จึงย้ายไปแสดง ที่เฮือนศูนย์ฯ หลังจากนั้นก็เป็นการแสดงของวงศิษย์เก่าแต่ละแห่ง
๔ พ.ค.
ฟังธรรมะรับอรุณจากพ่อท่าน
แม้ว่าหลายคนจะนอนดึก แต่ก็ยังลุกขึ้นมาฟังธรรม ในช่วงอธิษฐาน พ่อท่านได้กล่าวว่า
"คำว่าชีวิตก็คือ ตั้งแต่คลอดออกมา แล้วก็หายใจอยู่ได้จนถึงตาย
ชีวิตนั้น เราเป็นตัวกำหนด เราจะเป็นผู้นำพา ให้ไปสู่ดีหรือสู่ชั่ว
เจริญหรือตกต่ำ ก็คือเราเป็นผู้นำไปเป็นหลัก โทษสิ่งแวดล้อม โทษสิ่งอื่นไม่ได้
เราเป็นเจ้าของ เราเป็นตัวสำคัญที่สุดยิ่งกว่าพระเจ้า เพราะฉะนั้น
เราต้องมีสำนึก
เราต้องมีสังวร สำนึกเสมอว่า
เกิดมามีชีวิตไปนั้นเพื่อการเจริญ เพื่อนำพาไปสู่ความสูงขึ้น ดีขึ้น
มีคุณค่ายิ่งขึ้น ไม่ใช่เกิดมาเพื่อที่จะตกต่ำ ทุกข์ร้อน เลวทราม
ดังนั้น ความสำนึกนี้
หากผู้ใดไม่มีจริง ก็ต้องตกต่ำจริง นอกจากสำนึกแล้ว ต้องสังวร ต้องระมัดระวังชีวิตของตนเอง
ในความระลึกรู้ตัวทั่วพร้อม คือมีสติเสมอว่าขณะที่เราอยู่ทุกๆขณะ มีอะไรที่กำลังเกิดขึ้นด้วยกาย
ด้วยวาจา ด้วยใจ และตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา สัมผัสสัมพันธ์อยู่กับอะไร
ก่อให้เกิดอะไรขึ้น ตั้งแต่ดีทางกายเป็นสุจริต ดีทางวาจาเป็นสุจริต
ดีทางมโนหรือใจเป็นสุจริต แล้วเราก็ต้องปรับตนไปสู่สุจริตดังกล่าวนั้นเสมอๆ
ชีวิตเราก็จะพานำตนเอง ไปสู่จุดที่ดี ที่สูง ที่สุข ที่มีคุณค่าประเสริฐต่อตนเองและต่อสังคมมนุษยชาติได้
ในฐานะพ่อทางจิตวิญญาณก็จะฝากจรณะ ๔ คือ สังวรศีล สำรวมอินทรีย์ โภชเนมัตตัญญุตา
และ ชาคริยานุโยคะ ติดตัวไป ส่วนจรณะข้ออื่นก็จะตามมาเองถ้าตั้งใจปฏิบัติจรณะ
๔ นี้จริงๆ และ เราสามารถพัฒนาตน จนมีวรรณะ ๙ จะเป็นตัวอย่าง(นวัตกรรม)
เป็นตัวช่วยสังคมได้ อาตมาก็รอ พวกเราเข้ามา "....งานเรามีมากลูกรัก
หมู่เราเล็กนักสุดเอ่ย งานเราล้นมืออย่างเคย เจ้าเฉยแชเชือน ได้อย่างไร...."
และสังคมก็กำลังต้องการ อาตมาก็พยายามใช้อิทธิบาท ให้มีอายุถึง
๑๕๐ ปี เพื่อที่จะดู พลังพวกเรา งาน พฟด.ที่จะถึงจะมีคนมามากถึง ๕
พันคน ก็มาช่วยกันหน่อย"
เสร็จแล้วเตรียมตัวลงเรือเอื้อไออุ่น ล่องนาวาบุญนิยม โดยใช้เรือ ๔
ลำ ล่องลงไปตามน้ำ แล้วไปจอดเรือ ที่ท่าเรือ สวนไวพลัง พ่อท่านเอื้อไออุ่นกับลูกๆด้วยการพูดคุยในหลายๆเรื่องตลอดเวลา
ประมาณ ๙ โมงครึ่ง ก็ล่องเรือกลับ แล้วรับประทานอาหารที่เฮือนศูนย์ฯ
ภาคบ่ายเป็นการประชุมศิษย์เก่า เพื่อ..........
๑. จัดตั้งชมรมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา
๒. กำหนดงานคืนสู่เหย้าฯลงในปฏิทินชาวอโศก ในวันที่ ๑๒-๑๔ พ.ค. ของทุกปี
๓. เลือกประธานชมรมฯ ซึ่งได้แก่ น.ส.อุ่นเอื้อ
สิงห์คำ ศิษย์เก่าศีรษะอโศก และรองประธาน ๒ คน นายคธาชร
สูตรชัย ศิษย์เก่าสันติฯ และ น.ส.ขวัญหินแก้ว
สิ่วกลาง ศิษย์เก่าปฐมฯ (แต่อยู่ที่บ้านราชฯ) และเลือกคณะทำงานฝ่ายต่างๆจากตัวแทนสัมมาสิกขาทั้ง
๖ แห่ง
ภาคค่ำเป็นการแสดงของศิษย์เก่าสัมมาสิกขา สลับกับการเชิญคุรุขึ้นมาสัมภาษณ์
การแสดงของศิษย์เก่า จากปฐมอโศก ได้รับการกล่าวขวัญว่า ทำให้สารเอ็นโดฟีล
ของผู้ชม หลั่งตลอดเวลา และสุดท้าย ชมภาพยนต์เรื่องสั้นจริงๆ ความยาวประมาณ
๑๐ นาที จัดทำและนำแสดงโดย ศิษย์เก่าปฐมฯ สนุก และได้สาระ
๕ พ.ค.
ช่วงธรรมะรับอรุณ ฟังตัวแทนคุรุจากแต่ละพุทธสถานพูดความในใจ ต่อด้วยสิกขมาตุ
และ สมณะให้ข้อคิด และกำลังใจแก่ศิษย์เก่า
เสร็จแล้วทำบุญตักบาตรร่วมกัน โดยมีพ่อท่านนำหมู่สมณะ-สิกขมาตุบิณฑบาต
หลังจากนั้น ศิษย์เก่าแต่ละแห่ง ถ่ายรูปร่วมกับพ่อท่าน สมณะ สิกขมาตุ
๘ โมงเช้าเตรียมตัวเข้าแถว รับของที่ระลึกจากพ่อท่าน ซึ่งเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับ
นักเรียนสัมมาสิกขา โดยเฉพาะ
ผู้ที่จบชั้นมัธยมปลายจากสัมมาสิกขา จะได้รับล็อกเก็ตรูปใบโพธิ์เป็นเงินเดินเส้นทอง
และของชำร่วยเป็นกรอบรูปภาพถ่ายพ่อท่านพร้อมจดหมายจากพ่อถึงลูกสัมมาสิกขาขนาดกลาง
สำหรับผู้ที่จบต่ำกว่าชั้น ม.ปลายลงมาและคณะคุรุ จะได้รับแจกกรอบรูปภาพถ่ายพ่อท่านฯ
สำหรับของที่ระลึกนี้แจกเฉพาะผู้ที่สามารถมาร่วมงานได้เท่านั้น
หรือผู้ที่มีความจำเป็นต้องกลับก่อน ก็ขอรับจากพ่อท่านได้ ดังนั้นศิษย์เก่าที่มีสิทธิ
แต่ไม่สามารถมาร่วมงานได้ ก็ไม่ต้องเสียใจ สิทธิของเธอยังคงมีอยู่
แต่เป็นปีหน้า
หลังจากนั้นเป็นรายการพรก่อนจาก จากพ่อท่านว่า สิ่งที่พ่อท่านเอามาสอนนี้
จะทำให้คนพัฒนาขึ้น จนถึงขั้นอาริยบุคคล แม้วิชาด้านอื่นพ่อท่านก็เอามาใช้
ทั้งที่ไม่ได้จบมาจากนั้นโดยตรง แต่เพราะมีวุฒิ ทางศาสนาในตัว จึงรู้เรื่องอื่นๆได้ด้วย
ในพวกเราก็มีโสดาบันอยู่ไม่น้อย เพียงแต่เรา ยังไม่มีญาณ ตรวจสอบเท่านั้น
ทรัพย์อยู่ที่สมรรถนะและความขยัน
ที่จริงก็อยากจะให้เข้ามา ร่วมรวมกันรังสรรค์ เพราะทุกวันนี้สังคมเริ่มเข้าใจยอมรับเราแล้ว
ทุกอย่างที่สร้างขึ้นมา ก็เพื่อเป็นสมบัติ ของพวกเรา
เรามีสิทธิ์เป็นเจ้าของ คนอื่นก็เข้ามาได้ ถ้ามีคุณสมบัติ เข้าขั้นมาตรฐาน
เช่น ถือศีล ๕ กินมังสวิรัติ ควรเข้ามารักษาดูแล ก็ขอเชิญ ไม่ต้องไปหาที่อื่น
สร้างใหม่ เราเคยมีเคยเป็นกันแล้วทั้งนั้น แต่ระลึกชาติ ไม่ได้เท่านั้น
มาเป็นพุทธะ หยุดโลกีย์
ไม่มีเศร้าหมองกันเถอะ
เสร็จแล้วรับประทานอาหารร่วมกัน วันนี้มีเมนูเด็ดผัดผักบุ้งไฟแดง โดยนำมาผัดกันให้เห็น
ชนิดกระทะต่อกระทะ เรียกน้ำย่อย ได้ไม่เลวเลยทีเดียว จนผัดแทบไม่ทันผู้ที่มาเข้าคิวรออยู่ข้างๆเตา
บ่ายโมงเป็นพิธีอำลา โดยตัวแทนจากสัมมาสิกขาแต่ละแห่งพูดความในใจ แล้วฟังโอวาท
จากพ่อท่าน เป็นครั้งสุดท้ายว่า
"....ก็ขอให้กลับไปโดยสวัสดี
ตั้งใจดีๆ ชีวิตเป็นของเรา
อย่าปล่อยปละละเลย ถ้าเราปล่อยไป ตามเรื่อง ตามราว เหมือนสวะลอยน้ำ
สะเปะสะปะชนฝั่งโน้น กระแทกหินก้อนนี้ ไหลไปเรื่อยตามโลกีย์ ก็ไม่มีวันจบสิ้น
วนเวียนอยู่อย่างนั้นแหละ
เพราะฉะนั้นจะต้องตั้งสติ ใช้ปัญญาวินิจฉัยให้ดีๆ ทุกเวลาที่เรายังไม่ตาย
ควรจะต้องมีสิ่งที่ พัฒนาทุกขณะๆ ให้ได้ดีที่สุด อย่างน้อยใช้สามัญสำนึก
ว่าควรจะทำอะไรต่อไปให้ดีขึ้น ก็ตั้งใจ แล้วพากเพียรทำจริงๆ
คนเราเกิดมาตามเวรตามกรรม เมื่อมาพบศาสนาแล้ว ก็พัฒนาให้ชีวิตก้าวหน้าไปเรื่อยๆ
มิฉะนั้น จะไม่มีหลักประกัน วนเวียนไม่รู้จักจบสิ้น ลงนรกทีหนึ่งไม่ใช่น้อยๆชาตินะ
หลายร้อยชาติ เวียนลงต่ำ ไปทีหนึ่ง เป็นห้าร้อยชาติขึ้นไป ไม่ใช่เรื่องเล่น
ไม่ใช่เรื่องประมาท แต่พวกเราไม่รู้จัก ระลึกชาติไม่ได้ ไม่มีความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้
พระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสไว้นักหนา ชีวิตหนึ่งน้อยนัก สั้นนัก ร้อยปีตาย
น้อยนิดเดียว แล้วเราก็ปล่อยตัว ไปตามกรรมที่เป็นโลกียะ เสร็จแล้วก็ก่อหนี้ก่อบาปก่อเวร
แล้วคิดดูซิจะไปไหน อาจจะมีกุศลโลกียะ เล็กๆน้อยๆ แต่กุศลโลกียะไม่ได้ช่วยเรา
คนรวยที่ไม่มีโลกุตรธรรม คือคนซวย
คนสวยที่ไม่มีโลกุตรธรรม ก็คือคนซวย เหตุเพราะรวย เพราะสวย
ทำให้คนต้องมีภาระ มีเวรมีภัย มีคนปองร้าย คนสวยอย่านึกว่าคนปองดีนะ
เขาปองจะกินเรา เขาปองจะเสพย์ ความสวยของเรา คนรวยเขาจะปองเพื่อเสพย์ความรวยของเรา
จึงไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะ คนสวย คนรวยที่ไม่มีโลกุตรธรรม เขาก็ประเคน
ลาภ ยศ สรรเสริญมาให้ เสร็จแล้ว ตัวเองก็ยิ่ง ตกต่ำลงไป เพราะกิเลสหนา
บำเรอบำรุงกิเลสก็ยิ่งอ้วน ไม่ได้เป็นผลดีอะไร แต่คนไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ
ก็ขอให้ไปตั้งใจ
แล้วพยายามพัฒนาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราให้ไปสู่โลกุตระ ถึงจะมีหลักประกันที่แท้
แค่กัลยาณชนยังไม่พอ ควรจะให้ถึงขั้นโลกุตระให้ได้ หากสงสัย
ไม่เข้าใจ ยังไม่แน่ใจ ก็ต้องศึกษา จากหนังสือ เท็ป วีซีดี พวกเรามีมากมาย
หรือไม่ก็มาวัด มาเติมภูมิ มาพยายามศึกษา เพื่อให้เกิดความเจริญ แก่ตน
แก่สังคม ก็ขอให้ทุกคนมีกำลังวังชา รักษาสุขภาพ แล้วก็พยายามตั้งใจทำให้ดีทุกๆคน"
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา งานคืนสู่เหย้า เข้าคืนถ้ำ สัมมาสิกขา ครั้งที่
๑ ก็ปิดฉากลง ด้วยความอบอุ่น และซาบซึ้งใจของศิษย์เก่าที่ได้มาร่วมงาน
หลายคนกลับไปด้วยใบหน้าที่สดชื่น หัวใจเปี่ยมด้วยพลัง พร้อมจะกลับไปต่อสู้ชีวิตในโลกใบเก่า
หากวันใดที่เธอเห็นว่า โลกใบเก่ามีแต่ความวนเวียน
ซ้ำซากอยู่เพียงแค่โลภ-โกรธ-หลง ลาภ ยศ สรรเสริญที่ดิ้นรนไขว่คว้านั้น
เป็นเพียงไม้ประดับที่หาค่ามิได้ คือ ขยะของพระอาริยะ ยิ่งอยากได้ยิ่งทุกข์มาก
วันนั้นก็ขอให้เธอกลับคืนสู่บ้านหลังเก่าที่แสนอบอุ่น ในสังคมบุญนิยมที่เธอเคยอยู่และเติบโตมา
บ้านที่มีพระโพธิสัตว์เป็นผู้นำจิตวิญญาณ มาร่วมมือร่วมใจช่วยพ่อท่านเข็นกงล้อธรรมจักร
กอบกู้มนุษยชาติ สร้างสมบารมีเป็นทรัพย์แท้ให้กับตัวเอง ทุกคนยินดีต้อนรับพวกเธอเสมอ
แม้นานแค่ไหนก็จะรอ รอวันที่พวกเธอกลับมา......
-
อาแว่น -
แด่...ศิษย์สัมมาสิกขา
ดีใจที่เธอมา
กลับมาหาคืนสู่เหย้า
กลับมาเยือนบ้านเรา เข้าคืนถ้ำสัมมาสิกขา
คิดถึงนะคิดถึง แสนซาบซึ้งที่เธอมา
เธอมาด้วยศรัทธา สู้ฟันฝ่ามาจนได้
เห็นศิษย์ใหม่ศิษย์เก่า รวมกันเข้าแล้วอุ่นใจ
มองดูเป็นผู้ใหญ่ แปรเปลี่ยนวัยไปตามกาล
คิดถึงตอนเป็นเด็ก ตัวเล็กๆบุกเบิกงาน
ซุกซนและฟุ้งซ่าน กว่าจะผ่านกว่าจะเข้าใจ
ทุกข์ยากลำบากผ่าน จนเบิกบานจนแจ่มใส
เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เข้าใจความเป็นคน
กลับมาในครานี้ โอกาสดีอีกหนึ่งหน
ได้มาทบทวนตน มาพบคนที่คุ้นเคย
พ่อท่านเรียกเธอมา อยากเห็นหน้าจริงไหมเอ่ย
เป็นอย่างไรบ้างลูกเอ๋ย อย่าเฉยเมยจงรีบมา
พ่อท่านนั้นยังอยู่ คอยแลดูเจ้ามาหา
ทว่าดูอ่อนล้า เพราะชราเข้ามาเยือน
ใครล่ะจะช่วยท่าน ก็ใครกันจะกลับเรือน
หากรู้สัญญาณเตือน รีบกลับเรือนเถิดดวงใจ
เธอจากไปนานนัก เธอเหนื่อยหนักกันบ้างไหม
สนุกกับอะไร อีกเมื่อไหร่จะเพียงพอ
พ่อท่านเรียกเธอมา อยากเห็นหน้าประสาพ่อ
ใครรู้บ้างไหมหนอ ว่าพ่อรักสักเพียงใด
ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา จงรักษาไว้ให้ได้
ไม่ว่าอยู่ที่ใด เธอก็ใช่ศิษย์สัมมาฯ
- จาก....คณะอา - |