หน้าแรก>สารอโศก

- ทีม สมอ. -

"เราคือ มิตรดี สหายดีของเธอเมฆิยะ" คำตรัสของพระพุทธองค์แก่ภิกษุเมฆิยะ

ล่วงเลยมากว่า ๒๕๐๐ ปี พระธรรมคำสอนคือสิ่งแทนอันคือมิตรดีสหายดีของเหล่าชาวพุทธทั้งหลาย ที่ถ้าใครยึดถือนำไปประพฤติปฏิบัติสัมมาทิฏฐิจริง จนบรรลุมรรคผล เป็นพุทธะผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีวิถีชีวิต ที่งดงาม ซึ่งต่างจากชาวพุทธแต่ในนามส่วนใหญ่

จากบทสัมภาษณ์ "คืนสู่เหย้า เข้าคืนถ้ำ สัมมาสิกขา" พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ เรียกร้องถึงลูกชาวอโศก ที่ห่างไกลออกไป ให้กลับคืนมา เพื่อบ่งบอกถึงความนัย เฉกเดียวกัน "เราคือ มิตรดี สหายดีของเธอ เมฆิยะ"

ถาม จุดมุ่งหมายในการจัดงานคืนสู่เหย้า?
ตอบ
เพื่อให้มารวมกัน ตามลักษณะพุทธพจน์ ๗ ในสาราณียสูตร คือ ระลึกถึงกัน สร้างคุณค่า ให้เป็นมนุษยชาติ ที่มีมนุษยสัมพันธ์ มีความระลึกถึงกัน สาราณียะ มีความรักกัน ปิยกรณะ มีความเคารพกัน ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ครุกรณะ นอกจากนั้น ก็จะได้เกื้อกูลกัน สังคหะ ไม่วิวาทกัน อวิวาทะ มีความพร้อมพรั่งพร้อมเพรียง สามัคคียะ และสุดท้ายเป็น เอกีภาวะ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งเป็นคุณลักษณะอันวิเศษของสังคมมนุษยชาติ

มนุษย์นั้นเป็นสัตว์โขลง ที่อยู่ร่วมกันรวมกัน ช่วยเหลือเฟือฟาย เอื้อเฟื้อเจือจานกันได้สูงส่ง มากมายดียิ่งกว่า สัตว์เดรัจฉาน แต่มนุษย์ก็มีกิเลส ซึ่งตัวกิเลสนี้แหละ คือเหตุแท้สำคัญยิ่ง มันมีอำนาจ ทำให้เกิดการทำร้าย ทำเลวแก่กันและกัน ถึงอยู่ด้วยกันรวมกันก็จริง ถ้าพวกเรายืนยัน หลักธรรม ของพระพุทธเจ้า แล้วก็อยู่ร่วมกัน ตามหลักการนี้ พยายามปฏิบัติ ถ้าผู้ใดแหกคอกออกไป แยกห่างออกไป ยิ่งไปอยู่เดี่ยวๆ เปลี่ยวๆ ไม่มีพรรคมีพวกชาวอโศกอยู่เลย มีแต่คนอื่นๆ อาตมาแน่ใจว่า เขาห่างออกไปอย่างนี้ เขาจะลำบาก เขาจะอ่อนแอ จะถูกกลบกลืนด้วยอิทธิพลของโลกียะ คนโลกๆทั้งหลายแหล่ จะคอยกลบกลืน เอาตัวไปแน่นอน ถึงแม้จะรวมกันอยู่บ้างก็ตาม แต่ถ้าเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ อยู่กันคน ๒ คน หรือ ๕ คน ก็แล้วแต่ โดยอยู่ท่ามกลางสังคมโลกีย์ ที่มีคนอยู่กันเป็น ๑๐๐ เป็น ๑,๐๐๐ ทุกๆวัน ผลที่สุด ก็ต้องอ่อนแอ แน่นอน เป็นไปไม่ได้ที่จะพาให้เจริญ หรือแข็งแรงขึ้นมาได้ นอกจากจะเก่งเยี่ยมเก่งยอด จนสามารถ ออกไปอยู่อย่างนั้นเดี่ยวๆ หรือว่าอยู่กับหมู่กลุ่มเล็กๆ ด้วยความแข็งแรง เพราะจิตเป็นโลกุตรจิต ที่มีบารมีมากพอจริงๆ จนกระทั่งสามารถคุ้มกันภัยตัวเองได้ และสามารถที่จะเอาคนอื่น มาเป็นพรรค เป็นพวก เป็นพันธุ์เดียวกันกับเราได้ ก็คือคนที่เก่งถึงขั้นมีบารมี มีอิทธิพลในบุคคลนั้นจริง แต่จะสามารถ สร้างสรรอย่างนั้นได้ มันก็น้อย เพราะฉะนั้นอาตมาจึงเห็นว่าถึงคราวแล้ว พวกรุ่นเด็ก หรือรุ่นหนุ่มสาว รุ่นนี้แหละ ที่ควรให้มีการคืนสู่เหย้ากัน โดยรุ่นที่เรียนผ่านมา เรียนรู้อะไรต่ออะไร จากพวกเราไปแล้ว ก็กระจัด กระจายกันไป ซึ่งก็แน่นอนถ้าเข้าใจยังไม่ลึกซึ้ง และเราก็ไม่พยายามช่วยพวกเขา เขาก็จะกระเส็นกระสาย กระเด็นกระดอนห่างไปเรื่อยๆ แล้วก็ถูกโลกกลบกลืนไป ทั้งที่เราอุตส่าห์พร่ำสอน สร้างมาคนละ ๕ ปี ๖ ปี บางคนอยู่มากกว่า ๖ ปี ก็น่าเสียดาย จึงได้คิดอ่านรวมศิษย์เก่าเหล่านี้ขึ้นมา พยายามพูดให้เขาเข้าใจว่า เราควรทำอย่างไร เพื่อสัมพันธ์กันให้มากขึ้น ใครอยู่ที่ไหนก็สื่อสารชักชวนกัน ยิ่งโลกทุกวันนี้ ไร้พรมแดน ติดต่อกันง่าย มีระบบที่สามารถจะกระทำ แม้ทางโลกเขาก็ทำอยู่ มีการนัดแนะมาพบปะกัน มาสังสรรค์กัน เรียกว่า MEETING บ้าง งานชุมนุมศิษย์เก่าบ้าง ถ้าเราทำได้บ่อยขึ้น เราก็จะได้มวลที่ผนึกกันมากขึ้น ผนึกทั้งพลังศีลธรรม พลังการงานอาชีพ พลังอะไรก็แล้วแต่ที่มนุษย์พึงจะมีจะเป็น แล้วก็สร้างสรรกันต่อไป ให้มันแข็งแรงขึ้นมา ก็จะดูดีกว่า ไม่เช่นนั้น ถ้าเราไม่มีธรรมเนียม ไม่มีจารีตประเพณีที่จะมี MEETING กัน มีการรวมกัน พบปะกัน มีความสัมพันธ์สนิทเข้ามาหลายๆนัย ก็คงจะเลือนหาย ถูกสังคม ทำให้เจือจาง ไปหมด กลืนกินไปหมด ก็สูญเสีย ก็น่าเสียดาย ความมุ่งหมายเป็นอย่างนี้ อาตมาจึงได้ตั้งชื่องานนี้ว่า "คืนสู่เหย้า เข้าคืนถ้ำ สัมมาสิกขา" เพื่อให้คนที่เคยอยู่ เคยศึกษา เคยฝึกฝน เคยได้เรียนรู้อะไรของเราไป ซึ่งควรได้เข้ามาศึกษาต่อ เมื่อบางคนมาแล้วอาจจะได้คิด เพราะว่าคนเรามีความเข้าใจ มีความรู้ ถ้าเราชักนำคนเก่าๆเหล่านี้กลับเข้ามา แล้วก็ให้สติ เตือนสติ ให้สัญญาณ ให้ความเข้าใจ ให้ปัญญา ให้สิ่งที่ดีงามถูกต้อง เมื่อเขารับรู้เข้าใจ เห็นจริงขึ้นมา ก็จะได้พัฒนาสิ่งที่ดี ต่อชีวิตของเขา พัฒนาต่อสังคม ขึ้นไปกว่านี้ เพราะยังอยู่ในวัยที่เจริญได้ ไม่ใช่วัยเสื่อม วัยสู่ความอ่อนแอ เมื่อได้มารวมกันก่อน คงจะได้คิดอ่าน ตกลงนัดแนะอะไรเพิ่มเติมกันขึ้นอีก

ถาม การจัดงานนี้ เพราะส่วนหนึ่งเรามีความเชื่อว่าเด็กของเราคือ คนของเราซึ่งเวียนว่ายตายเกิดกลับมา ช่วยสืบสานงานศาสนาต่อใช่หรือไม่คะ?
ตอบ เรื่องพวกนี้อาตมาไม่อยากพูดมากหรอก แต่โดยหลักการแล้วมีจริง ศาสนาพุทธเรา มีเวียนว่าย ตายเกิด สร้างสมกรรม สะสมวิบาก เมื่อกุศลกรรมมากพอ ก็เกิดเป็นกุศลวิบากที่จะสืบสานต่อไป แต่ถ้าไม่มี กุศลวิบากเพียงพอ ที่จะมาสืบสานกันในหมู่กุศล ก็คงไม่ได้มาสืบสาน แต่ถ้าผู้มีกุศลวิบาก ที่จะมาสืบสาน กับหมู่กลุ่มของเรา มันก็มาได้ น้ำไหลไปหาน้ำ น้ำมันไหลไปหาน้ำมัน ดังคำพังเพยที่ว่านี้ ฉันใดก็ฉันนั้น

สิ่งที่จะหมุนเวียน เวียนว่ายตายเกิดเพื่อที่จะสืบสานมีธรรมดา ไม่เช่นนั้นพระพุทธเจ้าก็สืบสาน ที่จะมาต่อภพ ต่อภูมิ เป็นโพธิสัตว์ มหาสัตว์ สืบทอดศาสนาให้เป็นต้นเหง้า ของศาสนาพุทธ เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก ก็เป็นไปไม่ได้สิ ถ้าเผื่อว่ามันไม่จริง แต่นี่มันจริง ท่านก็ตรัสเล่า ให้ฟังอยู่ ตลอดเวลาว่า ท่านเองก็เคยอธิษฐานจิต มีปณิธานมุ่งมั่นแล้วก็ฝึกฝน สั่งสมกรรม สั่งสมวิบาก อย่างจริงจัง เป็นสัมภาระวิบากมากมาย จนเป็นโพธิสัตว์มหาสัตว์ขึ้นมา กระทั่งได้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งก็เกิดจาก การเวียนว่ายตายเกิด มันไม่ได้เร็ว ไม่ใช่ง่ายที่จะทำอะไรปุ๊บปั๊บได้เลย เกิดชาติหนึ่ง สองชาติ ห้าชาติ แล้วได้เป็นพระพุทธเจ้า ทำไม่ได้หรอก พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ท่านได้พบพระพุทธเจ้าตั้ง ๕ แสนกว่า พระองค์ แต่ละคนเกิดแต่ละชาติที่จะมีโอกาสพบพระพุทธเจ้าก็น้อยอยู่แล้ว พระพุทธเจ้า ยังต้องบำเพ็ญ บารมี ถึงขนาดต้องพบ พระพุทธเจ้าตั้ง ๕ แสนกว่าพระองค์ จะนานสักเท่าไร ไม่ต้องไปคิดเลย คูณตัวเลข ไม่ถูกหรอก เพราะฉะนั้น ชีวิตของคนชาติหนึ่งๆจึงน้อยจริงๆ คนเราเกิดมา ๑๐๐ ปีตาย เป็นช่วงเวลา เล็กน้อยจริงๆ จึงอย่าประมาทชีวิตอันน้อยนิดนี้ ยิ่งต้องใช้เวลาอันน้อยนิดนี้ ให้เป็นคุณประโยชน์ ให้เข้มข้นให้ได้มากที่สุด อย่าปล่อยปละละเลยเป็นอันขาด อันนี้ขอย้ำ พยายามสำนึกให้มาก เราคงเคยได้ยิน "ชีวิตนี้น้อยนัก ชีวิตนี้สั้นนัก" พระพุทธเจ้าตรัสเสมอ ซึ่งเป็นความสำคัญจริงๆแต่คนเราก็ประมาท ปล่อยเวลา ล่วงเลยไป ล่วงเลยไปประเดี๋ยวก็ตาย ๗๐ ปี ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือต่อให้ ๑๐๐ ปีเลย ก็แค่ช่วงเวลา น้อยนิด เดียวจริงๆ เพราะงั้นเกิดมาแล้ว เมื่อมีโอกาส มีเวลา มีสิ่งแวดล้อมที่เราจะใช้โอกาสนั้น ให้เป็นคุณค่า ให้มีสิ่งติดตน เป็นโลกุตรวิบาก หรือเป็นกุศลวิบากให้ได้จริงๆ มันน่าฉวยโอกาส และพยายามทำให้ได้มากๆ

ถาม พวกเราหลายๆคนคิดว่าถ้าตายไปแล้วอยากกลับมาเกิดในหมู่เราอีก ควรทำกรรม ทำจิตใจอย่างไรคะ?
ตอบ
ความอยากก็มีแรง มีผล ถ้าเราตั้งจิตอธิษฐาน หรือปรารถนา
จะมีผลมีพลังนำอยู่เหมือนกัน แต่ก็อาจไม่ได้เป็นไปตามความอยาก ถ้าเหตุปัจจัยไม่เพียงพอ ถึงอยากให้ตาย ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่อยากก็ดีแล้ว ปรารถนาก็ดีแล้ว พระพุทธเจ้าถึงได้แนะให้ตั้งอธิษฐาน ให้มีการตั้งใจ ให้มีการตั้ง เป้าประสงค์ แล้วก็ศึกษาทิศทางที่จะไปสู่จุดหมายปลายทาง แห่งเป้าประสงค์นั้น ถ้าเราศึกษา และ ก็ปฏิบัติ ให้ตรงตามทิศทาง ที่จะเป็นไปได้สู่เป้าหมายที่เรามุ่งหมายนั้นได้ มันก็เป็นไปได้ เพราะมีเหตุปัจจัยพอเพียง แต่ถ้าเหตุปัจจัยนั้นไม่เพียงพอ ก็แน่นอนต้องเปลี่ยนไปสู่จุดอื่น ที่มีเหตุปัจจัยอื่นสูงกว่า เหนือกว่านำพาไป เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัส กรรมโยนิ ทุกอย่างกรรมนำเกิด นำเป็นไป เราจึงอย่าเอาแต่ปรารถนา แล้วไม่ทำอะไร ปรารถนาแล้วต้องพากเพียรปฏิบัติอย่างแท้จริงด้วย

ถาม พ่อท่านสอนให้พวกเราเสียสละ ขายเท่าทุน ขายต่ำกว่าทุน ไปจนถึงแจกฟรี ตามนโยบาย บุญนิยม ให้กับสังคม แต่ในขณะที่เราก็มีโครงการต้องใช้เงินมากมาย บางโครงการ ก็ต้องสะดุด หยุดไป และ โครงการใหม่ๆก็กำลังเกิดขึ้น พวกเราหลายคนเลยสับสน ฝ่ายหนึ่งโต่ง จะบุญนิยมสุดๆ อีกฝ่ายดูแล ควบคุมการใช้จ่ายรู้ปัญหาการเงินก็ไม่สบายใจ เกิดความขัดแย้ง เป็นปัญหาของทั้งสองฝ่าย ควรทำอย่างไร ให้เหมาะสมคะ?
ตอบ เราก็พิจารณากันอยู่ ดูเหตุ ดูผล ดูเหตุปัจจัยทุกๆอย่าง อันไหนที่เหมาะที่ควร ควรจะชะลอ ยับยั้ง อะไรก่อน หรือควรทำอะไรต่อ ก็พิจารณาเหตุปัจจัยเสมอๆอยู่แล้ว ตอบตายตัวไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจกัน ถ้าได้ทั้ง ๒ อย่างในคราวที่ทำได้ทั้ง ๒ อย่าง ก็ทำ แต่ถ้ายังไม่ได้ทั้ง ๒ อย่าง เราก็ต้องเลือกเอา อย่างใด อย่างหนึ่งก่อน บางครั้งเราอยากจะแจกฟรี แต่มีความจำเป็น ที่เราต้องรวบรวมเงิน มาใช้ประโยชน์ ในทางนั้นทางนี้ ที่ควรจะเป็น เราก็ต้องระงับการแจกฟรี แต่ถ้าช่วงนี้ เราก็ไม่ถึงขั้นที่ต้อง กระเบียดกระเสียร จนถึงขนาดต้องเก็บเงินเก็บทองกระเหม็ดกระแหม่ เราสามารถที่จะทำได้ จะแจกฟรี ก็พอทำได้ อย่างที่มันเป็นได้นี่แหละ เราก็ทำไป โดยไม่เสียหายอะไร เพราะว่าแจกฟรี มันก็ได้อยู่ส่วนหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจ แต่สำหรับคนสุดโต่งจริงๆ แน่นอนถ้าพูดแจกฟรีใครๆก็ชอบ คนที่เข้าใจ ทิศทางในโลกุตระ แท้ๆจริงแล้ว แจกฟรีก็ชอบทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าไปขัดไปทำให้สิ่งอื่นสะดุด หรือ สิ่งอื่นเสียหาย ก็เป็นไปไม่ได้ จะไปนั่งทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ ถึงต้องมีขั้นตอนต่างๆ แจกฟรีบ้าง ต่ำกว่าทุนบ้าง หรือเท่าทุนบ้าง หรือแม้ที่สุดมันจะเป็นไปไม่ได้เลย จะต้องไม่เป็นบุญ จะต้องเอาเกินทุนบ้าง แต่ก็ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะต่ำได้ ต่ำกว่าตลาด ต่ำกว่าคนอื่น ต่ำเท่าไรก็แล้วแต่ ให้มันต่ำลงมาให้ได้ เป็นอย่างอนุโลมที่สุดในส่วนนั้น เป็นต้น

ฉันเดียวกัน ถ้าเราเองอยากแจกฟรี แต่มันเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุปัจจัยชัดๆ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหาย หรือพัฒนาไม่ออก เราก็จำเป็นต้องหยุดแจกฟรีไปก่อน แต่ถ้าจะแจกฟรีไปเรื่อยๆก็แสดงว่าเราแข็งแรง หรือมีองค์ประกอบอื่นๆ อย่างที่เชียงใหม่แจกฟรีได้มากเกือบจะทุกวัน เป็นเดือนหลายเดือน เพราะมีผู้มา สนับสนุน จ่ายเงินให้ ซึ่งเขาเข้าใจ และก็เต็มใจทำกัน เมื่อมีบุคลากรทำจริงๆก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ต้องพูดกัน ให้เข้าใจ คนที่มีใจแต่ไม่ได้รู้การเงิน ไม่ได้รู้ฐาน ไม่ได้รู้เหตุปัจจัย ที่เป็นเงื่อนไข ข้อจำกัด จะเอาแต่ดันทุรังแจกฟรีๆๆ เป็นบุญนิยมโง่ๆ บุญนิยมสุดโต่ง โดยที่รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ก็ทำได้ยังไงล่ะ เราเองก้าวหน้ามาถึงขนาดนี้ก็เป็นบุญแล้ว แต่ก่อนๆยังได้ไม่ถึงขั้นนี้ นี่นับว่าพัฒนาขึ้นมา ขนาดนี้ก็ดีแล้ว



แนวคิดต่างระหว่าง ทุนนิยมกับบุญนิยม
ทุนนิยม เพื่อแลกกับสิ่งที่ต้องการ จึงตั้งหน้าสะสมกอบโกยยิ่งมาก ยิ่งมาก เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และ เพื่อความมั่นใจว่าจะได้ในสิ่งที่ต้องการ
บุญนิยม เพื่อแลกกับสิ่งที่ต้องการ มีแต่การให้ ให้ ให้มาก เอากำไรแต่น้อย จนแจกฟรี สะพัดรายได้ ออกสู่สังคม ไม่สะสม ไม่กอบโกย นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ อย่างสมศักดิ์ศรี และคือสิ่งที่พวกทุนนิยม ไม่มีวันคิดออก!