หน้าแรก>สารอโศก

เปิดหน้าต่าง ต.อ.

ข่าวนี้บอกนัยอะไรให้สังคม (และชาวอโศก)

๒ ข่าวข้างล่างนี้ ได้ลงต่อเนื่องติดต่อกัน ๒-๓ วัน ในหน้าหนังสือพิมพ์มติชน ตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๖ นั้น บอกนัยสำคัญบางประการให้กับประชาชนคนบริโภคและชาวอโศก ในฐานะกลุ่มชน คนรักสุขภาพ และปรารถนาดีต่อสังคม กล่าวคือ

๑. สินค้าจากต่างประเทศ ไม่ได้หมายถึงสินค้าที่จะมีความปลอดภัย หรือมีคุณภาพดีเสมอไป ตามที่คนไทย มักให้ค่ากับคำว่า "ของนอก" หรือ "มาตรฐานสากล"

๒. กระแสความนิยมผลิตภัณฑ์อาหารเสริม มีสูงมาก สังเกตจากจำนวนสินค้า ของบริษัทดังกล่าว เพียงบริษัทเดียว ยังมีถึงหลายร้อยรายการ แต่มีคำถามว่า ทำไมปัญหาโรคต่างๆ ก็ยังไม่ได้ลดลง แม้แต่น้อย แต่กลับพุ่งขึ้นมาก เมื่อเทียบกับสุขภาพ และคุณภาพชีวิต รุ่นปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษของเรา

๓. รากเหง้าความคิดแบบทุนนิยม สามารถทำให้กิเลสมนุษย์ในนามของกิเลสองค์กร กระทำในสิ่งที่ ไม่ควรกระทำ ต่อผู้บริโภคได้ ทั้งโดยเจตนา โดยประมาทเลินเล่อ หรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะไม่คิดว่า จะมีปัญหา อันยิ่งใหญ่ตามมา อันได้แก่การเสียชื่อเสียง เกียรติยศ และทรัพย์สินขององค์กรอย่างมหาศาล


ข่าวที่ ๑ : อาหารเสริม
ออสซี่สั่งเก็บยา-อาหารเสริม ๒๑๙ รายการ
บริษัทดัง แพนฟาร์มาซูติคอล กินแล้วหลอน-ขายเอเชียอื้อ

เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากรุงแคนเบอร่า ประเทศออสเตรเลียว่า สำนักงานควบคุมสินค้าทางอายุรเวช(ทีจีเอ)ของออสเตรเลีย ได้มีคำสั่งระงับใบอนุญาต ประกอบกิจการ ผลิตยาและอาหารเสริม ของบริษัท แพน ฟาร์มาซูติคอล (PAN PHARMACEUTICAL) เป็นเวลา ๖ เดือน และให้เก็บยา และผลิตภัณฑ์ของบริษัท รวม ๒๑๙ รายการคืนจากตลาด ทั้งนี้ให้มีผล ตั้งแต่วันที่ ๒๘ เมษายนนี้เป็นต้นไป โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะกระบวน การผลิตของบริษัท ไม่ได้มาตรฐาน ตามที่ทีจีเอกำหนด มีการสับเปลี่ยนสารอื่น แทนตัวยา ไม่มีการควบคุม คุณภาพของ ส่วนผสม และ ส่วนผสมที่ปรากฏในตัวยา หรือ อาหารเสริม ไม่เป็นไป ตามฉลากปิดขวด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของทีจีเอระบุว่า หลังจากนี้ จะมีการตรวจสอบเพิ่มเติม และ เป็นไปได้ว่า จะมีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ อีกกว่า ๑,๐๐๐ รายการคืน ขณะที่บริษัท เมย์น กรุ๊ป บริษัทให้บริการ ด้านสุขอนามัย ชื่อดังของออสเตรเลีย สมัครใจ เรียกเก็บผลิตภัณฑ์ ของตนเอง
คืนจากตลาด อีก ๔๕๐ รายการ เนื่องจากสินค้าดังกล่าว เมย์น กรุ๊ป ได้มอบหมายให้แพนฯ เป็นผู้ผลิต ป้อนให้กับตน

ข่าวระบุว่า เหตุการณ์ซึ่งถือเป็นการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ครั้งใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์ ออสเตรเลีย ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่มีการร้องเรียนมายังทีจีเอถึงผลข้างเคียง และอาการแพ้ หลังจากการใช้ยา แก้อาการเมา ในระหว่างการเดินทาง ของบริษัทแพน ชื่อ ทราวาคาล์ม ซึ่งผู้ใช้เกิดอาการเพ้อ ทุรนทุราย เห็นภาพหลอน ใจสั่น ม่านตาขยายไม่ตอบสนอง ซึ่งเป็นอาการที่จัดอยู่ในขั้นสาหัส ทางทีจีเอ ตรวจสอบแล้ว เรียกเก็บทราวาคาล์ม จากตลาด เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา และ ได้ตั้งคณะกรรมการ ขึ้นตรวจสอบอีกต่อหนึ่ง

ผลจากการตรวจสอบพบข้อบกพร่องของการผลิตมากมาย เริ่มตั้งแต่การ ไม่มีการควบคุม คุณภาพของ สมุนไพร ที่ใช้เป็นตัวยา เป็นเหตุให้อาจมีสารปนเปื้อนอื่นๆ อยู่ในตัวยาได้ แต่เพื่อไม่ให้ถูกห้ามผลิต ก็มีการตกแต่งแก้ไข ผลทดสอบดังกล่าว ไม่มีการทำความสะอาด เครื่องจักร สำหรับการผลิต ระหว่างการเปลี่ยนรายการ การผลิต ของยาแต่ละอย่าง ซึ่งอาจเป็นผล ให้มีการผสม ปนเปของ ส่วนผสมของตัวยา หรือ อาหารเสริมที่ผลิต นอกจากนั้น ยังมีการหลอกลวง ด้วยการสับเปลี่ยนตัวยา ด้วยส่วนผสมอื่น ที่ไม่ใช่ตัวยา หรือสมุนไพรที่อ้างว่ามีฤทธิ์ทางยา อาทิ การใช้กระดูกอ่อนของเนื้อวัว แทนที่กระดูกอ่อน ของปลาฉลาม ซึ่งอ้างกันว่า มีฤทธิ์ยับยั้ง การก่อตัวของ เซลล์มะเร็ง เป็นต้น

เอพีระบุว่า มีผู้ใช้ยาของแพนฯรายงานอาการแพ้รวมทั้งหมด ๘๗ ราย ในจำนวนนี้มี ๑๙ ราย ที่อาการหนัก ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ทั้งนี้นายแพทย์จอห์น แม็กอีแวน แห่งสำนักงาน จรรยาแพทย์ ของออสเตรเลียระบุว่า การสับเปลี่ยนดังกล่าวแม้จะร้ายแรง แต่ไม่น่าวิตกเท่ากับการที่ ปริมาณของตัวยาหรือส่วนผสมไม่ตรงกับฉลากที่ปิดไว้ ในการตรวจสอบ พบว่า ผลิตภัณฑ์บางรายการ มีส่วนผสมสูงกว่า ที่ปิดฉลากไว้ถึง ๗๐๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจก่อให้เกิด อาการร้ายแรง หรือแพ้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายทริช เวิร์ธ เลขานุการสมาพันธ์สุขภาพแห่งรัฐสภาออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ผู้ใช้บางราย ที่เคยใช้ทราวาคาล์ม แทนที่จะสงบ กลับมีอาการคลุ้มคลั่ง บางคนอาการรุนแรง ถึงขั้นจะกระโดด จากเครื่องบิน ที่โดยสารอยู่ ผู้ใช้ทราวาคาล์มอีกรายเป็นเด็กหญิงวัย ๑๐ ขวบ มีอาการ ถึงขั้น ชักตาตั้ง ม่านตาขยายไม่ตอบสนอง ต้องส่งตัวเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาล เป็นการด่วน แพทย์เชื่อว่า เด็กรายนี้อาจมีอาการแพ้ยาทำนองนี้ ไปตลอดชีวิต ต้องจัดทำบัตรประจำตัวผู้แพ้ยา ให้พกติดตัว ตลอดไป ทำให้ครอบครัวเตรียมยื่นฟ้อง ร้องเรียกค่าเสียหายแล้ว

ทางด้านนายจิม เซลิม นักเคมีเชื้อสายอียิปต์ซึ่งอพยพเข้ามาสู่ออสเตรเลียเมื่อ ๓๐ ปีก่อน และก่อตั้งแพน ฟาร์มาซูติคอลเมื่อ ๒๙ ปีที่ผ่านมา ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งระบุว่า ทางบริษัท พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ต่อทีจีเออย่างเต็มที่ และจะจัดตั้งผู้เชี่ยวชาญอิสระ เข้าตรวจสอบ และประเมินกระบวนการผลิต ของบริษัท ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นไป ตามมาตรฐาน ของทีจีเอ โดยเร็ว และเชื่อว่าทีจีเอจะอนุญาต ให้บริษัทผลิตและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ใหม่อีกครั้ง หลังจากพอใจกับกระบวนการผลิตใหม่ทั้งหมดแล้ว

ข่าวระบุว่า ทีจีเอแถลงการระงับใบอนุญาตดังกล่าว เมื่อคืนวันที่ ๒๘ เมษายนที่ผ่านมา ตามด้วย ออกประกาศ รายชื่อยาทั้ง ๒๑๙ รายการ ซึ่งมีตั้งแต่ยาแก้ไอ ไปจนกระทั่ง ถึงวิตามินซี ในหน้า หนังสือพิมพ์ สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดอาหารเสริม มูลค่าปีละ ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ (๔๓,๐๐๐ ล้านบาท) ต่อปี ของออสเตรเลีย เป็นอย่างมาก หลายบริษัท รวมทั้งแบล็กมอร์ส และ เกล็กโซ สมิธ แอนด์ ไคลน์ ต้องออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ ของตนเอง ได้มาตรฐาน และแพนฯไม่ได้ผลิต ป้อนให้กับบริษัทเหล่านี้แต่อย่างใด

นอกเหนือจากนั้น คณะกรรมการกำกับการลงทุนและหลักทรัพย์แห่งออสเตรเลีย(เอเอสซี) ยังเตรียมเล่นงานบริษัทในอีกข้อหา หลังจากพบว่า บริษัทปล่อยให้ข่าวดังกล่าวรั่วไหลออกไป และปล่อยให้มีการซื้อขายหุ้นของตนเองนานถึง ๓๐ นาที ก่อนที่จะขอให้ตลาดระงับการซื้อขาย การลงโทษอาจเป็นการระงับซื้อขายหุ้น และปรับเป็นเงินมหาศาลอีกด้วย

นายจอห์น โฮเวิร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียแถลงในวันเดียวกันนี้ว่า ทีจีเอไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น นอกจากใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อแก้ปัญหานี้ ทั้งนี้ผู้นำออสเตรเลียระบุว่า แพน ฟาร์มาซูติคอล อาจเจอการดำเนินคดีทางอาญา ฐานหลอกลวง และ ละเมิดมาตรฐาน การผลิต ของทางการ อย่างจงใจอีกด้วย โดยแพน ฟาร์มาซูติคอล อาจถูกฟ้อง ร้องเรียกค่าเสียหาย จากทั้งผู้บริโภค ผู้ค้าปลีก และผู้ถือหุ้น หลังถูกดำเนินคดี โดยทางการ แล้วเสร็จอีกด้วย

ข่าวระบุว่า แพนฯส่งออกผลิตภัณฑ์ราว ๔๐ เปอร์เซ็นต์มายังเอเชียและยุโรป ทำให้ทาง สำนักงาน สาธารณสุขสิงคโปร์ ประกาศเตือนให้ประชาชนงดใช้ยาดังกล่าวแล้ว

ด้านน.พ.สถาพร วงษ์เจริญ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ และว่า การจะตรวจสอบว่ าผลิตภัณฑ์ใด ในจำนวน ๒๑๙ รายการ มีการขออนุญาต นำเข้ามาจำหน่าย ในประเทศไทย หรือไม่นั้น ต้องใช้เวลา อีกระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชกรรมผู้หนึ่งยืนยันว่า ในจำนวน ๒๑๙ รายการ น่าจะมี ผลิตภัณฑ์บางตัว ถูกนำเข้ามาขาย ในประเทศไทย ไม่ในลักษณะ ไดเร็กต์เซลส์ ก็ขายกัน เฉพาะกลุ่ม ไม่ได้วางขายในร้านขายยาทั่วไป



ข่าวที่ ๒ : ยาต้องห้าม
อย.ไล่เก็บ ๒๔ รายการต้องห้าม
"ยา-อาหารเสริม" บริษัทแพนฯ

เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แถลงว่าสืบเนื่องจากสำนักงานควบคุมสินค้าอายุรเวช(ทีจีเอ)แห่งออสเตรเลีย ได้มีคำสั่งให้เก็บ และระงับใบอนุญาตในการผลิตยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของบริษัท แพน ฟาร์มาซูติคอล (PAN PHARMACEUTICALS) ตั้งแต่วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๖ เป็นเวลา ๖ เดือน หลังจาก มีการสืบสวน สาเหตุ การเกิดอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงถึงชีวิตของผู้บริโภค ที่รับประทาน ยาต้านอาการเมารถ ชื่อ ทราวาคาล์ม ออริจินอล (TRAVACAM ORIGINAL) ของบริษัท หลังจาก การสืบสวนโรงงาน และ กระบวนการผลิต ของบริษัทแพนฯ พบหลักฐานว่า มีจุดบกพร่อง อย่างรุนแรงและมากมาย ในสายการผลิต และการควบคุมคุณภาพ เช่น มีการใช้สารอื่น มาปลอมปน แทนสารสำคัญ ไม่มีการตรวจ คุณภาพวัตถุดิบ ก่อนผลิต มีการบิดเบือน ผลการวิเคราะห์ คุณภาพผลิตภัณฑ์ และมีกระบวนการผลิต ไม่ได้มาตรฐาน ในการผลิต ฯลฯ ทีจีเอ จึงมีคำสั่ง ให้เรียกคืน สินค้า ที่มีความเสี่ยง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เสริม อาหารที่ผู้บริโภค สามารถเรียกซื้อเองได้

น.พ.ศุภชัยแถลงต่อไปว่า จากข้อมูลที่ปรากฏซึ่งพบหลักฐานว่า สถานที่ผลิตดังกล่าว มีจุดบกพร่อง ในการควบคุมการผลิต เป็นเหตุให้คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค อย. ได้เร่งตรวจสอบ ข้อมูลการนำเข้ายา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งผลิตจากบริษัทแพนฯ พบว่า มีผู้นำเข้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ๙ ราย ได้เลขสารบบอาหาร ๒๑ รายการ และผลิตภัณฑ์ยา ๓ รายการ รวม ๒๔ รายการ จึงได้สั่งการให้อายัดสินค้าดังกล่าว และประสานกับผู้นำเข้าทั้งหมด ให้เรียกคืน สินค้า จากแหล่งจำหน่าย ร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ผู้แทนจำหน่ายขายตรงและผู้บริโภค โดยจะเสนอ ต่อคณะกรรมกา รอาหารและคณะกรรมการยา ให้ส่งคืนออสเตรเลีย หรือ ทำลาย สินค้า ดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้หากผู้บริโภคที่บริโภคยา หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว มีอาการ ผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์ แต่เท่าที่ได้ข้อมูลจากผู้นำเข้า ยังไม่พบ การร้องเรียน อาการผิดปกติ ในเรื่องนี้ (ดูรายชื่อในล้อมกรอบ)

สำหรับความคืบหน้าของสถานการณ์ในออสเตรเลียนั้น เอบีซีนิวส์รายงานว่า คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัทแพน ฟาร์มาซูติคอล ได้ให้ความเห็นชอบต่อใบลาออกจากตำแหน่ง กรรมการ ผู้จัดการ ของนายจิม เซลิม เจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัท โดยจะมอบอำนาจ การบริหารชั่วคราว ให้กับนายโคลิน เฮนสัน กรรมการบริหาร ก่อนที่จะมีการแต่งตั้ง กรรมการผู้จัดการ คนใหม่ต่อไป ซึ่งจะต้องเป็น ผู้มีประสบการณ์ ในวงการเภสัชกรรม และ อาหารเสริม รวมทั้งมีความอิสระเพียงพอ

ข่าวระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวก็เพื่อควบคุมความเสียหายของบริษัท หลังจากที่ทางทีจีเอ สั่งระงับ ใบอนุญาต การผลิต ๖ เดือน และเรียกเก็บผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตจำหน่าย และ ผลิตให้กับ บริษัทอื่นๆ อีก ๖๖๘ รายการ ไปก่อนหน้านี้ นอกจากการลาออกดังกล่าวแล้ว ทางแพนฯ ได้แต่งตั้ง บริษัททนายความ เบลก ดอว์สัน วัลดรอน เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ในการแก้ ปัญหาต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของทีจีเอ เพื่อให้แพนฯ สามารถกลับมาผลิต และ จำหน่าย เวชภัณฑ์ และอาหารเสริมได้อีกครั้งหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน กลุ่มบริษัทซิกม่าของออสเตรเลีย แถลงว่า ได้เรียกเก็บผลิตภัณฑ์ ของบริษัท ที่เป็นยา และอาหารเสริมภายใต้เครื่องหมายการค้าแอมคอบ และการ์เดียน ซึ่งได้ว่าจ้างให้แพนฯ เป็นผู้ผลิตให้ จากตลาดรวม ๔๓ รายการ ซึ่งมีตั้งแต่น้ำมันตับปลา ไปจนถึงอาหารเสริม เพื่อการลด น้ำหนักด้วย โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่เรียกเก็บทั้งหมด มียอดจำหน่าย ในแต่ละปี เป็นมูลค่าราว ๑.๕ ล้านดอลลาร์

ทางด้านรัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ออกประกาศ ให้เก็บผลิตภัณฑ์ยาและอาหารเสริม ของแพนฯ ทั้งหมด ออกจาก ตลาดแล้ว เช่นเดียวกัน โดยเชื่อว่า จะเป็นไปตาม รายการอ้างอิง ของทางการ ออสเตรเลีย จำนวน ๖๖๘ รายการก่อนหน้านี้


เปิด ๒๔ รายการ ยาต้องห้าม
รายชื่อยา-ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของบริษัท แพน ฟาร์มาซูติคอล ที่ถูก อย. สั่งอายัดและเรียกเก็บ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ๒๑ รายการ
๑. กรีนที พลัส (สารสกัดจากใบชาเขียว และสารสกัดจากเมล็ดองุ่น) เครื่องหมายการค้านูเทรียม พลัส GREEN TEA PLUS(NUTRIUM PLUS)

๒. มัลติวิตามินส์แอนด์มิเนอรัลส์ พลัส (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารวิตามินรวม ผสมเกลือแร่ และโคเอนไซม์คิว ๑๐ (Multivitamin Minerals Plus(Nutrium Plus)

๓. การ์ซิเนีย พลัส(สารสกัดจากผลส้มแขกและสารสกัดจากเปลือกสัตว์ทะเล) (เครื่องหมายการค้า นูเทรียมพลัส) Garcinia Plus (Nutrium Plus)

๔. อีพีโอ พลัส (น้ำมันดอกอิฟนิ่งพริมโรสและตังกุย) เครื่องหมายการค้านูเทรียมพลัส EPO Plus (Nutrium Plus)

๕. แคล-แม็ก พลัส(ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียม แมกนีเซียม ฮอร์สเทล) เครื่องหมายการค้า นูเทรียม พลัส Cal-Mag Plus (Nutrium Plus)

๖. โอเมก ๓ พลัส (น้ำมันปลาแซลมอน+น้ำมันจมูกข้าวสาลี+น้ำมันกระเทียม) เครื่องหมายการค้า นูเทรียมพลัส Omeg 3 Plus(Nutrium Plus)

๗. จินเซ็ง พลัส(โสมเกาหลีสกัดผสมสารสกัดจากอัลฟัลฟา) ครื่องหมายการค้า นูเทรียม พลัส Ginseng Plus(Nutrium Plus)

๘. น้ำมันปลา ๑๐๐๐ ชนิดแคปซูล Fish Oil 1000 Capsule

๙. อีพีโอ ๕๐๐(น้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส) EPO 500 (Evening Primrose Oil)

๑๐. อีพีโอ ๑๐๐๐ (น้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส) EPO 1000 (Evening Primrose Oil)

๑๑. จิงโกบิโลบา(สารสกัดจากใบแป๊ะก๊วย)(ตราเนเชอร์ไลฟ์) Ginkgo Biloba (Natrue Life)

๑๒. เลซิตีน ๑๒๐๐ มิลลิกรัม (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) (ตราเนเชอร์ไลฟ์) Lecithin 1200 mg (Nature Life)

๑๓. ไอซิส(ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)(สารสกัดจากเปลือกสนผสมโคเอ็นไซม์คิวเท็น สารสกัด จากเมล็ดองุ่น และวิตามิน Isis (Dietary Supplement Product)

๑๔. น้ำมันปลาแซลมอน ๑๐๐๐ ม.ก. ชนิดแคปซูล (ตราเนเจอร์ไพรม์) Evening Primrose Oil 600 mg Capsules (Natrue's Prime)

๑๕. จิงโกไบโลบา (สารสกัดจากใบแป๊ะก๊วย) ตราไลฟ์สปริง Gingkgo Biloba (Life Spring)

๑๗. น้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส ๑๐๐๐ Evening Primrose Oil 1000

๑๘. น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส ๑๐๐๐ Evening Primrose Oil 1000

๑๙. จิงโกไบโลบา(สารสกัดจากใบแป๊ะก๊วย) Ginkgo Biloba (Ginkgo Biloba Leaf Extract)

๒๐. น้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส ๑๐๐๐ มิลลิกรัม Evening Primrose Oil 1000 mg

๒๑. น้ำมันเมล็ดลินิน ๑๐๐๐ มิลลิกรัม(ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ตราคอร์เดล Flaxseed (Linseed) Oil 1000 mg (Kordel's Brand)

ผลิตภัณฑ์ยา
๑. วิตามิน อี เนเชอรัล ๒๐๐ ไอยู ชนิดแคปซูล VITAMIN E NATURAL 200 IU.(CAPSULE SOFT)

๒. วิตามิน อี เนเชอรัล ๔๐๐ ไอยู VITAMIN E NATURAL 400 IU.

๓. เบต้าแคโรทีน ชนิดเม็ด BETACAROTENE (ยังไม่มีการนำเข้า) FILM COATED TABLET
(จากหนังสือพิมพ์ มติชน วันพุธที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๖ และ วันศุกร์ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๖)

หมายเหตุ ข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ ๙ พ.ค.๔๖ (หน้า ๑๘) แจ้งว่าทางอย. ได้อายัดสินค้า ที่ผลิตโดย บจ.แพน ฟาร์มาซูติคอล เพิ่มอีก ๑๙ รายการ ภายหลังตรวจพบว่า เป็นผลิตภัณฑ์ ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งผู้บริโภค สามารถดูรายชื่อ จากเว็บไซต์ www.fola.moph.go.th หรือ สอบถามได้ที่ ต.อ.กลาง เพื่อหลีกเลี่ยง ผลิตภัณฑ์ ที่เสี่ยงอันตรายเหล่านี้

จริงใจ - ไมตรี
ชาวอโศกเพื่อมวลมนุษยชาต

ต.อ.กลาง