หน้าแรก>สารอโศก

ชื่อใหม่ น.ส.ปางเพียรพลี อุปแก้ว
ชื่อเดิม น.ส.โสภา อุปแก้ว

เกิด ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๖
พี่น้อง ๕ คน เป็นที่ ๕
ภูมิลำเนา จังหวัดร้อยเอ็ด
การศึกษา ม.๖ (กศน.)
ม.วช.ปี ๑ (วิชชาเขตปฐมอโศก)
อาชีพเดิม รับจ้าง"ศูนย์พยาบาลผู้ป่วยและเด็กอ่อน" (เนอสเซอรี่) กรุงเทพฯ

พบอโศกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ โดยญาติธรรมแนะนำ และพาไปที่สันติอโศก และปฐมอโศก ประทับใจ การแปลสำนวน ภาษาธรรมะที่ยาก ให้กลายเป็นง่าย เมื่ออ่าน หรือฟังบรรยายธรรมะ จึงฟังรู้เรื่อง และเข้าใจง่าย ทั้งประทับใจ การดำเนินชีวิต ที่เรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ขยันทำงาน

ทุกครั้งที่ไปวัดจะได้สนทนากับสมณะ สิกขมาตุ ญาติธรรมได้สังเกตจดจำข้อปฏิบัติ ที่คิดว่าทำได้ มาลองปฏิบัติดู เช่น การฝึกถอดรองเท้า ลดเนื้อสัตว์ รับประทานอาหาร มังสวิรัติบริสุทธิ์ กินข้าวมื้อเดียว ใส่ผ้าถุง ลดละการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ถือว่าลองฝึกดู ซึ่งขณะนั้น ก็มีญาติธรรม คอยแนะนำ ถึงความเหมาะสม ในการเริ่มต้น ปฏิบัติธรรม ก็ถือว่า เป็นความโชคดี และ เป็นพระคุณ อย่างมากมาย

ครึ่งปีก่อนเข้าวัด ตัดสินใจลำบากมาก ญาติปริวัฏฏัง(หมุนวนติดในเครือญาติ) เป็นเรื่องใหญ่ ในขณะนั้น

ก่อนลาออกจากงานคิดไตร่ตรองว่า "ไม่มีเงินทองส่งพ่อแม่เขาจะอยู่ได้ไหม? จะลำบากไหม ถ้าเขาไม่มีเรา?" ได้ข้อสรุปว่า ญาติพี่น้อง พอจะดูแลกันได้ จึงตัดสินใจ ลาออกจากงาน บอกข่าวทางบ้าน ผ่านทางจดหมาย คิดว่ามีโอกาส ในวันข้างหน้า จะกลับไปเจรจา บอกกล่าว ให้ญาติพี่น้องเข้าใจ น่าจะเป็นไปได้

เมื่อตัดสินใจได้ จึงเก็บเสื้อผ้าของใช้ที่จำเป็น มุ่งหน้าสู่ปฐมอโศก เข้ามาอยู่วัดเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๗

หน้าที่รับผิดชอบ ดูแลโรงเห็ดปฐมอโศก ๑ ปี ช่วยงานที่ ม.รฐ. ๓ ปี ขณะเดียวกันก็ดูแลศาลาน้ำดื่มได้ ๕ ปี และปัจจุบันดูแลศาลาน้ำดื่ม, ทำสวน(ปลูกผักสวนครัว)ชื่อสวน "อารมณ์ดี", ช่วยงานอบรม "หลักสูตรสัจธรรมชีวิต"

ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ความยึดถือในเนื้อหาของงาน ยึดถือในจริตนิสัยผู้ร่วมงาน ซึ่งความยึดถือ ทำให้เกิดทั้งความพอใจ และไม่พอใจ ที่สุดพาลให้เกิดความกังวลใจ ไม่สบายใจ เดือดร้อนใจ

แนวทางแก้ไข
๑. คิดทบทวน ทำความเข้าใจกับปัญหา ถามตนเองว่า....ยึดถืออะไร ทำไมถึงทุกข์ ทำไมถึงเดือดร้อนนัก?
๒. คิดออกหรือไม่? แก้ปัญหาเองได้ไหม? ถ้าคิดไม่ออกแก้ไม่ได้ก็ปรึกษาผู้ใหญ่ให้ช่วยหาวิธีแก้ไข
๓. รู้วิธีแก้แต่ต้องอาศัยจังหวะและเวลา "ถ้าคาดหวังจะให้ปัญหามลายภายในพริบตา เมื่อนั้นแสงแห่งปัญญามักจะริบหรี่"

ข้อปฏิบัติที่คิดว่ายากที่สุด การมีสัญชาติแห่งคนตรง "โดยเฉพาะเรื่องศีลข้อ ๔" ซึ่งเริ่มต้นจาก ความคิดถ้าสติไม่เท่าทันความคิดเมื่อใด ภาษาที่สื่อออกไปมักจะเกิดปัญหา ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และที่สุดตนเองนั่นแหละลำบาก และเดือดร้อนกว่าใครอื่น

คติประจำใจ ความเข้มแข็งของจิตใจ เป็นความจำเป็นรีบด่วนที่ต้องฝึกฝนให้มาก

เป้าหมาย อยู่กับความโกลาหล ร้อนรน วุ่นวาย ให้ได้อย่างสบายอกสบายใจ และไม่ก่อเวรภัย ให้แก่ตนและผู้อื่น

ข้อคิดฝากให้หมู่กลุ่ม ประทับใจทำวัตรเช้าวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๕ พ่อท่านให้โอวาท กับนิสิต ม.วช.ไว้ว่า "เกิดมาควรทำตน ชนิดพระพุทธเจ้าพาเป็น จะเป็นได้อย่างไร ไม่ใช่ง่าย แต่ต้องศึกษา คนเราเกิดมา เพื่อศึกษา คนเข้าใจอรรถไปรอด แต่ถ้าเข้าใจพยัญชนะ มันก็แค่เปลือก มีกันเต็มบ้านเต็มเมือง"

"นิสิต ม.วช.มีมากมายหลายวัย แต่พวกเราจะต้องสมานความต่าง ระหว่างวัย ต่างให้รู้ตามจริงว่า ต่างรู้จักจุดเชื่อมต่อ ระหว่างฐานะ ความเก่ง ความชำนาญ แล้วเราจะอยู่กันได้ อย่างสัมพันธ์ สนิทสนม และ มีสัมมาคารวะ"