หน้าแรก>สารอโศก

รักรูปโฉมพุทธองค์
ไม่ยอมปลงจิตติดหลง
โดนไล่ใจสลดลง
กลับมั่นคงด้วยศรัทธา.

พระวักกลิเถระ

อดีตชาติของพระวักกลิเถระ ได้ทำบุญเอาไว้แต่ปางก่อนแล้ว ตั้งแต่ในสมัยของ พระพุทธเจ้า องค์ที่พระนามว่า ปทุมุตตระ

ในชาตินั้นได้เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ในพระนครหงสวดี มีอยู่คราวหนึ่งได้ฟังธรรมของปทุมุตตรพุทธเจ้า แล้วชอบใจ เกิดความยินดี ในการที่พระพุทธเจ้า ทรงแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ให้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในด้านการหลุดพ้น กิเลสด้วยศรัทธา โดยขวนขวายในการดูแลใกล้ชิดพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี

จากการพบเห็นคราวนั้น ก็เกิดแรงปรารถนาที่จะได้เป็นผู้เลิศยอดเช่นนั้นบ้าง จึงนิมนต์พระพุทธเจ้า กับพระสาวก ถวายอาหาร อันประณีตให้เสวยตลอด ๗ วัน ด้วยใจเต็มเปี่ยมด้วยปีติ แล้วกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพระองค์ปรารถนาได้เป็นเช่นภิกษุผู้สัทธาวิมุติ (หลุดพ้นกิเลสด้วยศรัทธา) ดังที่พระองค์ตรัส ชมเชยภิกษุรูปหนึ่งว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งปวงที่มีศรัทธาในพระศาสนานี้"

พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเขาแล้ว ตรัสขึ้นท่ามกลางพุทธบริษัทว่า

"จงดูมาณพ(ชายหนุ่มในตระกูลพราหมณ์)ผู้นี้เถิด ในอนาคตกาลเขาจะได้ชื่อว่า วักกลิ เป็นพระสาวก ของพระศาสดา พระนามว่า โคดม เขาจะได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านสัทธาวิมุติ"

เขาได้ฟังคำตรัสนั้นแล้วมีปีติสุขยิ่งนัก กระทำบุญสร้างกุศลจนตลอดชีวิต เมื่อตายแล้ว ไปเกิดในภพชาติใด ก็มีแต่ความสุข ในที่ทุกสถาน จนกระทั่งถึงชาติสุดท้าย จึงได้เกิดกับตระกูลพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี นครหลวง ของแคว้นโกศล บิดามารดา ได้ตั้งชื่อให้ว่า วักกลิ (ผู้ขับไล่บาปโทษไปหมดแล้ว)

ตั้งแต่วักกลิยังเป็นทารกน้อยนอนแบเบาะอยู่ มารดาถูกภัยจากปีศาจ (จิตตนหลอน) คุกคาม มีใจเกิดความหวาดกลัวว่า ลูกน้อย จะป่วยไข้เป็นอันตราย จึงนำเอาทารกวักกลิ ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า องค์สมณโคดม แล้ววางทารกน้อย ลงที่ใกล้พระบาท ของพระพุทธองค์ กราบทูลว่า

"หม่อมฉันขอถวายทารกนี้แด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงกรุณาเป็นที่พึ่งแก่เขาด้วยเถิด"

พระศาสดาผู้เป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์ที่หวาดกลัวทั้งหลาย ทรงรับเอาทารกน้อยขึ้นมาจากพื้น ด้วยพระหัตถ์ ของพระองค์เอง ทารกน้อยเปรียบเสมือน ได้รับการดูแลรักษา โดยพระพุทธองค์ ทารกจึงเป็นผู้พ้นแล้ว จากความป่วยไข้ อยู่มาได้ ด้วยความสุขสำราญ และมีความรัก ความผูกพัน ต่อพระศาสดาเป็นอย่างมาก

อายุได้เพียง ๗ ขวบ จึงขอบวชเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา บวชแล้วก็เฝ้าติดตามพระศาสดา ด้วยศรัทธา ตลอดมา คอยรับใช้ใกล้ชิด เพราะไม่อิ่มในความปรารถนา ที่ได้ดูพระสรีระอันงาม ประเสริฐ ของพระพุทธองค์ จิตของวักกลิภิกษุ ติดหลงใน พระพุทธสรีระ อยู่อย่างนี้

เมื่อพระศาสดาทรงทราบเหตุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า

"ภิกษุนี้หากไม่ได้ประสบความสลดสังเวชบ้าง ก็จะไม่อาจรู้แจ้งเห็นจริงได้"

ดังนั้นจึงตรัสขับไล่ออกไป

"วักกลิ เธอจงอยู่ให้ห่างเรา เธอจงหลีกไปเสีย"

พอถูกพระศาสดาขับไล่แล้ว วักกลิภิกษุไม่อาจจะอยู่ต่อพระพักตร์พระศาสดาได้ น้อยใจเสียใจอย่างรุนแรง คิดว่า

"จะมีประโยชน์อะไร ที่จะมีชีวิตอยู่ห่างไกลโดยไม่ได้พบเห็นพระศาสดา"

จึงบุกป่าฝ่าดงด้วยความเศร้าโศก ป่ายปีนขึ้นสู่ปากเหวของภูเขาคิชฌกูฏ พยายามข่มอารมณ์ที่เศร้าหมอง เจริญวิปัสสนา (ฝึกอบรมปัญญา ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงอยู่) พระศาสดาทรงทราบความเป็นไป ของวักกลิภิกษุ ทรงเล็งเห็นว่า

"หากวักกลินี้ไม่ได้รับการคลายใจจากความเศร้าหมองแล้ว ก็จะทำให้ไร้มรรคผลนิพพานเป็นแน่"

พระศาสดาจึงเสด็จไปประทับยืนที่เชิงเขา ทรงปลอบโยนวักกลิภิกษุด้วยการตรัสเรียกหา

"วักกลิจงมาเถิด วักกลิจงมาเถิด"

เพียงได้ยินการตรัสเรียกหาเท่านั้น วักกลิภิกษุก็เกิดปีติและสุขใจยิ่งนัก รีบถลาวิ่งลงมาจากเงื้อมเขาสูง ถึงเชิงเขา ได้โดยสะดวก รวดเร็วทีเดียว แล้วพระศาสดาก็ทรงถามขึ้นว่า

"ดูก่อนวักกลิ เมื่อเธออยู่ในป่าใหญ่ที่ไร้เส้นทางสัญจร เป็นที่เศร้าหมอง แล้วถูกโรคลมเข้าครอบงำ เธอจะทำอย่างไร"

"ข้าพระองค์จะทำปีติและความสุขอันไพบูลย์ ให้แผ่ไปสู่ร่างกาย จะครอบงำเหตุอันเศร้าหมอง นั้นเสีย จะเจริญสติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และโพชฌงค์ ๗ เพราะข้าพระองค์เคยได้เห็น ภิกษุทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว มีความบากบั่น มั่นเป็นนิตย์ มีความพร้อมเพรียงกัน มีความเห็น ร่วมกันปฏิบัติอยู่

เมื่อข้าพระองค์ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ซึ่งฝึกดีแล้ว มีพระหฤทัยตั้งมั่น ข้าพระองค์ จึงเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน ตลอดทั้งวัน และคืน อยู่ในป่าใหญ่"

"ดีล่ะ เธอจงตั้งใจปฏิบัติเถิด"

วักกลิภิกษุคลายใจได้แล้วว่า

"พระศาสดามิได้รังเกียจเรา"

จึงพากเพียรบำเพ็ญธรรมยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งเกิดการอาพาธ (เจ็บป่วย)หนัก ได้รับทุกขเวทนามาก ซึ่งขณะนั้น ได้มาพักอยู่ที่บ้าน ของนายช่างหม้อ คนหนึ่ง

ครั้นอาการอาพาธรุนแรงสุดที่จะทนได้ วักกลิภิกษุ จึงเรียกเพื่อนภิกษุ ให้ช่วยไปทูลเชิญ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุเคราะห์เยี่ยม พระศาสดาทรงทราบแล้ว เสด็จมาเยี่ยมถึงที่อยู่ พอวักกลิภิกษุ เห็นพระศาสดา ก็พยายามลุกขึ้น จากเตียง แต่พระศาสดารีบตรัสห้ามไว้

"อย่าเลยวักกลิ เธออย่าลุกขึ้นเลย"

แล้วทรงถามถึงอาการอาพาธว่า

"เธอยังพอทนได้หรือไม่ พอยังอัตภาพ(ร่างกาย)ให้เป็นไปได้หรือไม่ ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นนั้น ทุเลาลงหรือไม่"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถจะยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาแรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย"

"ดูก่อนวักกลิ เธอมีความรำคาญ มีความเดือดร้อนหรือไม่"

"ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย"

"ก็แล้วตัวเธอเองติเตียนตนเองได้ด้วยศีลหรือไม่"

"ไม่มีข้อใดเลย ที่ตัวข้าพระองค์เองจะติเตียนตนเองได้ด้วยศีล พระเจ้าข้า"

"ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเองด้วยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอยังจะมีความรำคาญ และ มีความเดือดร้อนอะไรอีกเล่า"

"พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ว่าร่างกาย ของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอ จะไปเข้าเฝ้าได้"

"อย่าเลยวักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม

วักกลิเป็นความจริงแท้ บุคคลเห็นธรรมก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม เธอจงสำคัญความนี้ว่า รูป (เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ) เที่ยงหรือไม่เที่ยง"

"ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า"

"สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า"

"เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า"

"สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา"

"ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า"

"เพราะเหตุนั้น อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป(เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ) เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณ หยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์(การปฏิบัติมรรคองค์ ๘)อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี"

พระศาสดาตรัสสอนวักกลิภิกษุแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จไปทางภูเขา คิชฌกูฏ
ส่วนวักกลิภิกษุ ก็เรียกเพื่อนภิกษุ ให้ช่วยกันอุ้มตนขึ้น ให้หามไปยังวิหารกาฬสิลา ซึ่งอยู่ข้างภูเขาอิสิคิลิ ด้วยคิดว่า

"ภิกษุเช่นเรา ไม่สมควรที่จะต้องมาตายอยู่ในละแวกบ้านเช่นนี้" เช้าวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเรียกภิกษุ ทั้งหลายมา แล้วรับสั่งว่า

"ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพากันไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่ แล้วจงบอกอย่างนี้ว่า เมื่อคืนมี เทวดาตนหนึ่ง ทูลกับพระศาสดาว่า วักกลิภิกษุ กำลังคิด เพื่อความหลุดพ้น แต่มีเทวดาอีกตนหนึ่งทูลว่า วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นดีแล้ว จะหลุดพ้นได้แน่แท้ ส่วนพระศาสดาเอง ได้ตรัสฝากให้ท่านว่า อย่ากลัวเลยวักกลิ เธอจะมีความตายอันไม่ต่ำช้า จะมีความตาย อันไม่เลวทรามเลย"

ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสแล้ว ก็พากันไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่ เพื่อบอกเล่าคำของพระศาสดา วักกลิภิกษุ ให้เพื่อนๆ ช่วยกันอุ้มตน ลงจากเตียง เพราะคิดด้วยศรัทธายิ่งว่า

"ภิกษุเช่นเรา จะนั่งอยู่บนที่นั่งสูง แล้วฟังคำสั่งสอนของพระศาสดานั้น ไม่สมควรเลย"
วักกลิภิกษุ ได้ฟังแล้ว ก็บอกกับเหล่าภิกษุนั้นว่า

"พวกท่านช่วยกันไปทูลพระศาสดา ตามคำพูดของผมด้วยว่า วักกลิภิกษุอาพาธเป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา กล้าเหลือเกิน ขอถวายบังคมลา เบื้องพระยุคลบาท ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเศียรเกล้า

ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า รูป (เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ) ไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์

ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

ความพอใจก็ตาม ความกำหนัดก็ตาม ความรักใคร่ก็ตามในสิ่งนั้นๆ มิได้มีแก่ข้าพระองค์แล้ว"

ภิกษุเหล่านั้นรับคำของพระวักกลิเถระ เมื่อภิกษุเหล่านั้นออกจากที่นั้นแล้ว พระวักกลิเถระ ก็นำเอาศัสตรา (อาวุธมีคม) มาปาดคอตัวเอง

เมื่อภิกษุเหล่านั้นกลับมากราบทูลตามคำของพระวักกลิเถระแล้ว พระศาสดารีบรับสั่งว่า
"ไปกันเถิด พวกเราพากันไปหาวักกลิ"

พอไปถึงวิหารกาฬสิลา พระศาสดาได้ทอดพระเนตรเห็น พระวักกลิเถระ นอนคอพับ อยู่บนเตียงนั้นเอง ที่ตรงนั้น มองเห็น มีกลุ่มควันลอยอยู่ ลอยไปทิศนั้นทิศนี้สับสนทั่ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอมองเห็นกลุ่มควันเหล่านั้น ลอยอยู่อย่างสับสนวุ่นวายหรือไม่"

"เห็น พระเจ้าข้า"

"นั่นแหละคือ มารใจหยาบช้า เที่ยวค้นหาวิญญาณของวักกลิ ด้วยคิดว่าวิญญาณ ของวักกลินั้น อยู่ที่แห่งไหนหนอ แต่ที่แท้ วิญญาณของวักกลินั้น ไม่ได้ตั้งอยู่ในที่ใด เพราะวักกลิ เป็นพระอรหันต์ ปรินิพพาน (ดับวิญญาณ) แล้ว"

ดังนั้น ทรงประกาศท่ามกลางหมู่สงฆ์ ทรงแต่งตั้งให้พระวักกลิเถระ เป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ที่หลุดพ้นกิเลส ได้ด้วยศรัทธา

- ณวมพุทธ -
ศุกร์ ๒ เม.ย. ๒๕๔๖
(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๗ ข้อ ๒๑๕
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๔๒
พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๒๒
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๒ หน้า ๑๐๗
อรรถกถาแปลเล่ม ๗๒ หน้า ๒๑๘)

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๙ เมษายน ๒๕ ๔๖)