หน้าแรก>สารอโศก

งานเพื่อฟ้าดิน ครั้งที่ ๑๐

จากโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย ๓ ปีของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร โดยเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย(คกร.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกับสถาบันเพื่อพัฒนาการเกษตรและชนบท จำเนียร สาระนาค(สจส.) จัดอบรมโครงการพัฒนา ศักยภาพ และคุณภาพชีวิตกสิกร หลักสูตรสัจธรรมชีวิต เพื่อเพิ่มปัญญา เพิ่มสมรรถภาพ และคุณภาพชีวิต ของกสิกร เป็นเวลา ๔ คืน ๕ วัน ที่ศูนย์ฝึกอบรมเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ แห่งประเทศไทย ๑๙ แห่ง ทั่วทุกภาคของประเทศ ด้วยจุดมุ่งหมาย ๔ ประการคือ ๑. มีเศรษฐกิจที่พึ่งตน ๒. มีชุมชนที่เข้มแข็ง ๓. มีศีลธรรมในการดำเนินชีวิต และ ๔. สร้างความเป็นไทสู่ตนเองและประเทศชาติ

งานกสิกรรมไร้สารพิษ เพื่อฟ้าดิน ครั้งที่ ๑๐ ที่ชุมชนราชธานีอโศก ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๘ พ.ค. ๒๕๔๖ มีความก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยความร่วมมือของ คกร. และ ธ.ก.ส.ร่วมกับ สจส. จัดขึ้นให้แก่กสิกร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑๙ จังหวัด ที่ผ่านการอบรมจากโครงการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตกสิกร หลักสูตรสัจธรรมชีวิต ตั้งแต่รุ่นที่ ๑ จนถึงปัจจุบัน งานนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นงานคืนสู่เหย้าศิษย์เก่าสัจธรรมชีวิต

มีกสิกรเข้าร่วมสัมมนาฯ ๑,๘๘๙ คน เจ้าหน้าที่และพนักงานจาก ธ.ก.ส.เข้าร่วมสมทบ ๘๐๖ คน มีญาติธรรม ที่ลงทะเบียน ๑,๔๔๑ คน นักเรียนที่ลงทะเบียน ๕๓๑ คน รวมทั้งหมด ๔,๖๖๗ คน (หากรวมผู้ที่ยังไม่ได้ ลงทะเบียน ประมาณว่ามีผู้ร่วมงานถึง ๕,๐๐๐ คน)

ชาวอโศกทำงานในนามของ คกร. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. นับว่าเป็นงานที่ประชุมกันมากที่สุด ทั้งประชุมในส่วนของเจ้าหน้าที่องค์กรแต่ละฝ่าย ทั้งการประชุมร่วม เพื่อลงรายละเอียด

ในส่วนของพื้นที่ บ้านราชฯมีพื้นที่เพียงพอ ที่จะรองรับคนจำนวน ๕,๐๐๐ คน แต่ในส่วนของที่พัก ลำพังบ้านหลังเล็กๆ ในชุมชนซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก คงจะไม่พอเพียง โชคดีที่มีกสิกรหญิงมาน้อยกว่ากสิกรชาย จึงจัดให้กสิกรหญิงพักบ้านในชุมชน โดยเจ้าของบ้านทุกหลังยินดีสละบ้านของตนให้พี่น้องกสิกรเข้าพัก ส่วนญาติธรรม-นักเรียนหญิงที่มาช่วยงาน ก็ปักกลดพักตามร่มไม้ชายคา กางเต็นท์ในบริเวณชุมชน ส่วนกสิกรชาย และเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.พักที่ชั้น ๒-๓-๔ เฮือนศูนย์สูญ, เรือเหลือง, เรือเขียว, แพแดง ส่วนญาติธรรม-นักเรียนชาย พักตามเต็นท์นิทรรศการ หม่องค้าผง, โรงแชมพู และโรงสี

ในส่วนของอาหาร ได้เห็นการรวมพลังของแม่ครัวและทีมงานชาวอโศกทั่วประเทศ ที่ผนึกกำลัง เพื่อทำอาหาร เลี้ยงคนจำนวน ๕,๐๐๐ คน วันละ ๓ มื้อ สำหรับมื้อเช้าเป็นอาหารเบาๆ มื้อกลางวัน-เย็น เป็นอาหารหนัก และต้องบริการให้เสร็จภายในเวลา ๑ ชั่วโมง ซึ่งได้แยกจุดบริการอาหารออกเป็น ๓ จุด เพื่อกระจายคนออกไป ตามจุดต่างๆดังนี้ คือ ๑. บริเวณเฮือนศูนย์ฯชั้นล่าง ๒. บริเวณข้างเฮือนศูนย์ฯ ๓. บริเวณถนนจากหน้าโรงครัวเก่า ไปยังเฮือนเผิ่งกัน วัตถุดิบ ที่ใช้ในงานต้องสั่งกันเป็นตันๆทีเดียว เช่น เต้าหู้แข็งใช้ไป ๓,๐๐๐ กิโลกรัม, น้ำแข็งใช้วันละ ๒,๐๐๐ กิโลกรัม น้ำก๋วยเตี๋ยวตลอดงานทำทั้งหมด ๘๐ หม้อ(เบอร์ ๖๐)

ในส่วนของห้องน้ำ มีการสร้างห้องสุขาเพิ่มขึ้นหลายๆจุด แต่เมื่อเทียบกับปริมาณคน ที่มากมายเช่นนี้ ห้องน้ำดูเหมือนจะไม่เพียงพอ แต่ไม่ถึงกับขาดแคลน

เป็นครั้งแรกที่ชาวอโศกจัดงานใหญ่เช่นนี้ และประสานสัมพันธ์กับองค์กรภายนอก นับเป็นงานพัฒนาจิตวิญญาณ ของ ชาวอโศก การทำงานครั้งนี้ไร้พรมแดน ไม่มีตัวตน ไม่มีบ้านราชฯ ไม่มีสันติฯ ไม่มีศีรษะฯ เห็นปัญหา ตรงไหน ก็ลงไปช่วยกันแก้ปัญหาเป็นขบวนการ อโศกได้พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง งานนี้ไม่มีใครได้หนวด ทุกคนเป็นเจ้าภาพร่วมกัน เป็นงานรวมบุญของชาวอโศก ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ร่วมกันเสียสละ

สำหรับบรรยากาศของงานมีดังต่อไปนี้

๑๕ พ.ค.
เป็นวันสุกดิบของงาน ซึ่งเป็นฤกษ์ดีมงคลดี เพราะตรงกับวันวิสาขบูชา ในช่วงทำวัตรเช้า พ่อท่านแสดงธรรมกัณฑ์พิเศษ ในช่วงแรกว่า

สำหรับวันวิสาขบูชานี้ ซึ่งเป็นวันสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนาอันทั่วโลกยอมรับกันว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้า มีสิ่งสำคัญที่สุด อันเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยจะมีมาได้ คนรู้จักเอาจุดสำคัญในอะไรก็ตามมาเป็นสิ่งเตือนใจ มาเป็นสิ่งทำให้ตนเองเป็นจุดสะดุดใจฉุกคิด เพื่อที่เราจะได้รู้สึกตัว ตั้งใจ มุ่งมั่น ได้พัฒนาตนเอง ขึ้นไป ตลอดเวลา ผู้ฉลาดก็พยายามที่จะต้องหาเหตุ หาสิ่งที่จะกระตุ้นทำให้ตัวเรานั้นมีพัฒนาการ มีการสำนึก มีการตั้งใจ มีการดำเนินตนเองให้ไปสู่ความเจริญได้ตลอดเวลาได้เสมอๆ

เพราะฉะนั้นผู้ฉลาดทุกคนจึงใช้ทั้งกาละเวลาและวันเดือนปี ตลอดดินน้ำลมไฟก็ตาม ให้เป็นจุดสำคัญเพื่อ ที่จะกระตุ้นตนเอง ทำให้ตนเองนั้นเจริญขึ้นๆ พัฒนาขึ้นไปสู่จุดสูงสุดให้ได้ เป็นผู้ฉลาดที่มีประโยชน์แก่ตนๆ แก่มวลมนุษยชาติโดยแท้

มนุษย์อุตส่าห์ได้เกิดมาเป็นคน จึงควรศึกษาพุทธศาสตร์นี้ แทนที่จะปล่อยไปตามยถากรรม ไม่รู้จักบาป-บุญเราก็จะรู้จักละล้างกิเลส ตัณหา อุปาทาน เอาเวลาสร้าง สิ่งที่เป็นสาระยิ่งขึ้น กล้าจน ไม่กักตุน หวงแหน แล้วรู้จักสะพัดสู่สังคมที่ควรจะได้ เมื่อเราเป็นเช่นนี้มากคนเข้า ก็เป็น เหมือนพลังแม่เหล็กเหนี่ยวนำโลก ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มจะเป็นบ้าง อย่างงานนี้เป็นต้น

ถึงตอนนี้ก็ต้องเตือนว่า อย่ามักใหญ่ใฝ่สูง แต่มั่นใจว่าดีแล้วก็ทำไปแม้ลำบาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เป็นไปด้วยกัน อันนี้ล่ะเป็นฤทธิ์

๐๘.๐๐ น. สัญญาณระฆังเข้าศาลา แนะนำ ปฐมนิเทศ โดยสิกขมาตุกล้าข้ามฝัน อโศกตระกูล และสมณะเดินดิน ติกขวีโร ฝากญาติธรรมที่มาร่วมงาน ช่วยกันถ่ายทอดความเป็นผู้นำให้กับกสิกร ด้วยการเป็นผู้รับใช้ให้มาก และสร้างภราดรภาพ ด้วยความเป็นพี่เป็นน้อง ทักทายด้วยความอบอุ่น ในช่วงงานต้องอาศัย ความเสียสละ จากญาติธรรม ด้วยการไม่เข้าศาลา, เก็บข้าวของเตรียมพร้อมโยกย้ายได้เสมอ หากที่พักสำหรับกสิกร ที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ และไม่รับประทานอาหารพร้อมกับกสิกรที่มาอบรม

หลังจากนั้นผู้ประสานงานได้ขอความร่วมมือ โดยให้ญาติธรรมสมมุติตัวเองเป็นกสิกร ผู้เข้ารับการอบรมใน วันพรุ่งนี้ เพื่อดูปริมาณของพื้นที่ว่าสามารถจุคนได้จำนวนเท่าใด, การแบ่งกลุ่มไปรับอาหารตามจุดที่กำหนดไว้ จะสามารถบริการให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ชั่วโมง ได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากญาติธรรมเป็นอย่างดี เป็นภาพที่เห็นแล้วประทับใจที่พวกเราเป็นผู้ว่าง่าย ว่าไงว่ากัน เอาไงเอากัน

๑๒.๐๐ น. ประชุมพี่เลี้ยง-มัคคุเทศก์ ซักซ้อม เพื่อแบ่งกลุ่มนำกสิกรทัวร์ฐานงาน ๔๒ ฐานงานภายในเวลา ที่กำหนดไว้ เรียกรายการนี้ว่าสวัสดีทัวร

๑๗.๐๐ น. กสิกร ๑๙ จังหวัด ทยอยเข้าพื้นที่ลงทะเบียน โดยได้รับแจกถุงผ้า ป้ายชื่อ-จังหวัดไว้ห้อยคอ หมวกแก๊ปสีเขียว และเข้าที่พัก รับประทานอาหาร พร้อมกับได้รับการต้อนรับอย่างชุ่มเย็นจากสายฝนที่ตกลงมา พบกับความชุ่มฉ่ำกันถ้วนทั่ว พื้นที่เปียกแฉะและเจิ่งนองไปด้วยน้ำ เหมือนกับจะลองใจว่า ลำบากแค่นี้พี่น้องจะสู้ต่อไปหรือเปล่า

บรรยากาศของการรับประทานอาหารจึงอยู่ในอิริยาบถต่างๆ นั่งยองๆบ้าง ยืนบ้าง เพราะไม่มีที่นั่ง แต่สีหน้าของแต่ละคนก็ยังดูสดชื่น ปราศจากความวิตกกังวลใดๆ เพราะในชีวิตจริงลำบากกว่านี้

อีกมุมหนึ่ง บริเวณหน้าเวทีธรรมชาติ ซึ่งจัดไว้เป็นสถานที่นั่งฟังรายการเวียนธรรมในภาคค่ำ ภาพของพ่อท่าน ที่ช่วยปูผ้าพลาสติกทับซาแลนด์ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมนั่งฟังธรรมอย่างสบาย ไม่เฉอะแฉะ เป็นภาพที่ซาบซึ้งประทับใจยิ่งนัก ในความห่วงใยของพ่อท่านที่มีต่อลูกๆ

๑๙.๐๐ น. ท่ามกลางบรรยากาศของแสงจันทร์ที่สงบเย็น สมณะ-สิกขมาตุเวียนธรรม หลังจากนั้นพ่อท่าน แสดงธรรม กล่าวถึงเหตุที่ทำให้ศาสนาพุทธเสื่อมลง เพราะเข้าใจผิดว่าผู้ที่บรรลุธรรมแล้วห้ามพูด ซึ่งบาปมาก แท้จริงแล้วมีเหลี่ยมมุมอยู่ ๒ อย่างที่ท่านห้ามคือ ๑. ไม่มีจริง ห้ามพูด และ ๒. ห้ามพูดแก่อนุสัมปัน ซึ่งในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านให้บันลือสีหนาทด้วยซ้ำไป และการปฏิบัติธรรมต้องเริ่มด้วยสังวรศีล ซึ่งมีผลถึงจิตวิญญาณ


๑๖ พ.ค.
วันแรกของงานก็พบกับสถานการณ์ตื่นเต้นเสียแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่ได้บำเพ็ญบารมีร่วมกัน เมื่อน้ำปฏิเสธการไหล มีการประชาสัมพันธ์ให้รับรู้ร่วมกันถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และเชิญชวนให้ใช้น้ำที่ท่าน้ำ-ห้องน้ำบริเวณหลังเฮือนศูนย์ และห้องน้ำบริเวณริมมูล ซึ่งนอกจากจะได้ออกกำลังกายแล้ว ยังได้ชมวิวทิวทัศน์บริเวณแม่น้ำมูลในยามเช้าอีกด้วย

งานนี้ถือว่าผู้มาร่วมงานทุกคนเป็นเจ้าภาพ เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้ แต่ละคนจึงร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์ครั้งนี้ด้วยความเต็มใจ แล้วเหตุการณ์ก็ผ่านไปด้วยดี ต่อมามีการแก้ไขระบบน้ำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผู้รับผิดชอบระบบน้ำกลายเป็นพระเอกที่ถูกเรียกตัวอยู่ตลอดเวลา

๐๗.๐๐ น. อาหารเช้าตามอัธยาศัย

๐๘.๐๐ น. สัญญาณระฆังเข้าศาลา เนื่องจากชั้นล่างเฮือนศูนย์สูญไม่สามารถจุคนได้เพียงพอ จึงแบ่งกลุ่มแยกจังหวัดเพื่อร่วมกิจกรรม มีการถ่ายทอดสดจากชั้นล่างขึ้นไปยังชั้น ๒, ๓ ของ
เฮือนศูนย์สูญ ผ่านจอโปรเจคเตอร์ และกำหนดสัญลักษณ์ของแต่ละชั้นด้วยธง ๓ สี เพื่อแบ่งกลุ่มไปรับประทานอาหาร และหมุนเวียนชมฐานงานสาธิตในภาคบ่าย โดยแบ่งดังนี้

ชั้น ๑ ใช้สัญลักษณ์ธงสีน้ำเงิน-คนสร้างชาติ เป็นกสิกรจาก จ.อุบลฯ, พนักงาน ธ.ก.ส.

ชั้น ๒ ใช้สัญลักษณ์ธงสีเขียว-คนของแผ่นดิน เป็นกสิกรจาก จ.ยโสธร, เลย, ร้อยเอ็ด, หนองคาย, สุรินทร์, หนองบัวลำภู, อุดรฯ, อำนาจเจริญ, สกลนคร

ชั้น ๓ เป็นธงสีเหลือง-คนกู้ดินฟ้า เป็นกสิกรจาก จ.กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, นครพนม, มหาสารคาม, มุกดาหาร, นครราชสีมา, ศรีสะเกษ, บุรีรัมย์

๐๙.๐๐ น. พ่อท่านโพธิรักษ์แสดงธรรมว่า การปฏิบัติศีลจะเกิดมรรคผล ขัดเกลากาย และใจ ในฐานะฆราวาส สามารถ บรรลุธรรมเป็นสมณะ ๔ เหล่าได้ บ้านราชฯเป็นเมืองพระศรีอาริย์ มีระบบสาธารณโภคี มีกินใช้ไม่ขาดแคลน คนก็มีสมรรถนะ เป็นคนวรรณะ ๙ ทำงานฟรี เป็นคนจนที่อุดมสมบูรณ์

มีแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานมากมาย เช่นรมช. กระทรวงการคลัง นายวราเทพ รัตนากร, ส.ส.จังหวัดอุบลฯ, ส.ว., กรรมการบริหาร ธ.ก.ส.หลายท่าน, รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ฝ่ายต่างๆ, รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ, ข้าราชการ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ พลเรือน, เครือข่ายพันธมิตรของ ธ.ก.ส. ฯลฯ ในช่วงเวลา ๑๐.๐๐-๑๑.๐๐ น. มีการถ่ายทอดสด ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑

๑๐.๐๐ น. พิธีเปิดงาน โดยนายพิทยาพล นาถธราดล กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อเกษตร
และสหกรณ์ การเกษตร กล่าวรายงาน แล้วประธานกรรมการ ธ.ก.ส. นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงานว่า

".....ผมต้องขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดงานในวันนี้ก็คือ สถาบันเพื่อพัฒนาการเกษตร และชนบท จำเนียร สารนาค(สจส.) ขอขอบคุณเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย(คกร.) ที่ได้ร่วม ดำเนินการ จนโครงการในเรื่องของการช่วยเหลือ และเพิ่มศักยภาพและคุณภาพชีวิต ของกสิกร ประสบความ สำเร็จเป็นอย่างดี ผลที่ได้คงจะได้เห็นว่า วันนี้เรามีกสิกรที่เป็นตัวแทน สามารถที่จะไปเป็นผู้ทำนำ เป็นตัวอย่าง ให้กับพี่น้องกสิกรทั่วประเทศ และต้องขอขอบคุณอย่างยิ่งวันนี้ สถานที่แห่งนี้ คือราชธานีอโศก ซึ่งเป็นสถาน ที่ที่ท่านทั้งหลายได้เข้ามาแล้วมีความรู้สึกอบอุ่น สบายใจ แล้วก็สุขใจอย่างบอกไม่ถูก...."

หลังจากนั้นชมวิดีทัศน์เรื่อง "ทำไมต้องกสิกรรมไร้สารพิษเพื่อฟ้าดิน" เกี่ยวกับโครงการอบรมฯใน ๒ ปีที่ผ่านมา ได้อบรมกสิกร ถึง ๓๒๐ รุ่น จำนวน ๒๙,๐๐๐ คน และนำเสนอตัวอย่างของกสิกรที่เข้ารับการอบรมฯ แล้วเปลี่ยนแปลงตัวเอง ยืนยันว่าสามารถลดละเลิกอบายมุขได้จริง สามารถปลดหนี้ให้กับตนเองได้

เสร็จแล้ว นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ทำพิธีเปิดงาน บริเวณทางเข้าด้านข้าง เฮือนศูนย์ฯ ด้วยการผ่ามะละกอ และชิมด้วย แล้วทั้ง ๒ ท่านกลับมาร่วมเสวนาเรื่อง "ทิศทางการพัฒนา คุณภาพชีวิตกสิกร อย่างยั่งยืน และกรณีศึกษาการเปลี่ยนแปลง ชุมชน" ร่วมกับตัวแทนกสิกรทั้ง ๔ ภาค คือ

๑. นายสมุทร แลสี จาก จ.ร้อยเอ็ด
๒. นางประทิน รุ่งเรือง จาก จ.สิงห์บุรี
๓. นางยุพิน จันทร์ส่อง จาก จ.ปราจีนบุรี
๔. น.ส.สมบัติ บานเย็น จาก จ.นครราชสีมา

ในช่วงสุดท้ายของการเสวนา ท่าน รมช.กระทรวงการคลัง ได้กล่าวว่า

"..... ก่อนอื่นคงบอกว่าผมนั่งอยู่บนเวทีแห่งนี้ด้วยความรู้สึกหลายๆอย่างด้วยกัน อย่างแรกต้องบอกว่า เป็นความรู้สึก ที่ประทับใจ เป็นความรู้สึกที่ตื้นตันใจ เป็นความรู้สึกที่ประหลาดใจ

ประทับใจ คือความประทับใจที่เห็นการรวมพลังของพี่น้องเกษตรกรมาสัมมนาในวันนี้ มีโครงการซึ่งผม ไม่เคยเห็น มาก่อน เพิ่งมาปีแรก แทบจะต้องลงโทษตัวเองที่ปีก่อนหน้านั้นไม่ได้มา เพราะว่าถ้ามาก่อนหน้านั้น คงจะทำได้มากกว่านี้ในปีที่ผ่านมา ในการที่ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนลักษณะนี้

ที่เรียกว่าตื้นตันใจ ได้เห็นเกษตรกรตัวอย่างที่อยู่บนเวทีนี้ หลากหลายที่ผมคิดว่ามีทั้งเป็นเรื่องที่ทุกข์ เป็นเรื่อง ที่มีความสุข แต่บนเวทีนี้แล้ว วันนี้ต้องเรียกว่าทั้ง ๔ ท่านไม่มีทุกข์แล้ว มีแต่สุข

เรื่องที่บอกว่าประหลาดใจก็คือว่า ไม่ทราบว่าเกษตรกรไทยยังมีอีกหลายเรื่อง ซึ่งผมคิดว่าแม้กระทั่ง ข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ยังไม่รู้ว่ามีของดีๆที่เป็นภูมิปัญญาไทยแล้วก็ศักยภาพของเกษตรกรไทยอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่สามารถถูกนำมาทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ วันนี้ได้เริ่มแล้วครับ....

...วันนี้ผมฟังตัวแทนวิทยากร ๔ ท่านบนนี้แล้ว ผมต้องกลับไปคิดหนักเหมือนกัน ว่าผมจะปรับตัวเองอย่างไรได้ บ้างนะครับ เพราะว่าฟังดูแล้ว อาหารมื้อต่อไปมื้อนี้ผมคงจะทานมังสวิรัติแน่ มื้อเที่ยงนี้นะ แต่ว่าจะมีอีกหลายๆ มื้อติดต่อกันหรือไม่นั้น คิดว่าคงจะต้องกลับไปทบทวนเหมือนกัน ว่าจะสามารถทำได้แค่ไหน เพราะว่าที่ผ่านมา แทบทั้ง ปีไม่ได้ทำเลย วันนี้ผมต้องขอขอบคุณชุมชนราชธานีอโศก แล้วก็เครือข่ายพันธมิตร และผู้ที่มีส่วนร่วม...."

การเสวนาครั้งนี้น่าประทับใจมาก เพราะเป็นการเสวนา ระหว่างบุคคลระดับบนสุดของประเทศ กับกสิกรระดับรากหญ้า

หลังการเสวนา กรรมการบริหาร ธ.ก.ส. ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ นำ รมช.วราเทพ รัตนากร และแขกผู้มีเกียรติ เดินชมนิทรรศการบริเวณงานภายในหมู่บ้าน ซึ่ง รมช.วราเทพ รัตนากร ให้ความสนใจและกล่าวชื่นชม สนับสนุน และรับประทานอาหารมื้อกลางวันที่นี่ ทั้งที่มีกำหนดว่าจะไปรับประทานข้างนอก และเดินทางกลับในเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น.

๑๒.๐๐ น. พี่เลี้ยงทั้ง ๓ กลุ่ม นำกสิกรแต่ละกลุ่ม แยกไปรับประทานอาหารตามจุดบริการที่กำหนดไว้ ซึ่งสามารถ บริการได้รวดเร็ว และรับประทานเสร็จเรียบร้อยภายในเวลา ๑ ชั่วโมงนอกจากอาหาร จะมีมากมาย เพียงพอบริการแล้ว ประเภทอาหารและรสชาติก็ยังเป็นที่ถูกอกถูกใจและถูกปากพี่น้องกสิกรอีกด้วย

๑๓.๐๐ น. พี่เลี้ยงทั้ง ๓ กลุ่ม เป็นมัคคุเทศก์นำกสิกรแต่ละกลุ่ม หมุนเวียนชมฐานงานทั้ง ๔๒ ฐาน ฐานละ ๒ นาที และให้กสิกรเลือกฐานงานที่ต้องการเจาะลึก ๓ ฐานในวันพรุ่งนี้ เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมให้กับ ๑๐ ฐานงานที่ติดอันดับสามารถรองรับกสิกรที่จะเข้ามาเจาะลึกในวันพรุ่งนี้ได้

สำหรับ ๑๐ อันดับฐานงานที่กสิกรเลือกมากที่สุด คือ
๑. น้ำยาอเนกประสงค์,แชมพู,สบู่ ๒. ข้าวเกรียบ
๓. ปุ๋ยชีวภาพ ๔. ผักพื้นบ้าน
๕. เพาะเห็ด ๖. สปริงเกอร์รดน้ำ
๗. ปาท่องโก๋ ๘. ซาลาเปา
๙. เครื่องดื่มสมุนไพร ๑๐. ผลไม้ไร้สารพิษ

๑๖.๓๐ น. ขบวนแห่เพื่อฟ้าดิน "สู่ชีวิตใหม่" แล้วรับประทานอาหาร

๑๘.๓๐ น. การแสดงภาคค่ำ หลังจากเหน็ดเหนื่อยกันมาทั้งวัน ก็มาพักผ่อนชมการแสดงเล็กๆน้อยๆ จากทีม หนึ่งแก่น-แสนหล้า-กล้าฝัน ที่ได้ร่วมกันสร้างความบันเทิงอย่างมีสาระ ก่อนจะพบกับการสัมภาษณ์ปฏิบัติกร "การปลูกข้าวไร้สารพิษได้ ๑๐๐ ถังต่อไร่" พร้อมกับชมภาพประกอบการสัมภาษณ์


๑๗ พ.ค.
๐๔.๐๐ น. ธรรมะรับอรุณ โดยพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ได้อธิบายถึงลักษณะของชาวพุทธแท้จะมีวรรณะ ๙ และได้อธิบายฐานะ ๔ คือ นักผลิต นักบริการ นักบริหาร นักบวช และเรามีวัฏฏสงสาร เกิดชาติหน้าจะไม่ตกต่ำ ยิ่งถ้ามีศีล ๕ ก็คงได้มาพบกัน ช่วยกันสร้างสรรต่อไปอีก อย่าประมาท ตายแล้วเกิดทันทีไปตามกรรมวิบาก มาพบกันแล้วก็บอก เพื่อจะได้รีบเร่งปฏิบัติ ทำกันจริงๆ เกิดมาทั้งที อย่าให้เสียชาติเกิด

หลังทำวัตรเสร็จ ออกกำลังกายร่วมกัน โดยทีมงาน ๗ อ. บริเวณเวทีธรรมชาติ เป็นภาพที่งดงาม ยิ่งนัก ที่คนจำนวนเป็นพันๆ ทำอะไรพร้อมๆกัน

๐๘.๐๐ น. สัญญาณระฆังเข้าศาลา นันทนาการ ชี้แจงการเลือกฐานงาน แบ่งกลุ่มกสิกรออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกสัมมนา เปิดประเด็น "ศรัทธาร่วม พลิกทุ่ง สร้างทุน ฟื้นไท" กลุ่มที่ ๒ เจาะลึกฐานงานที่เลือกไว้ ๓ ฐาน

กลุ่ม ๑ เจาะลึกฐานงาน ภาพของกสิกรที่ขวนขวายใส่ใจเจาะลึกในฐานงานที่จัดเตรียมไว้อย่างจริงจัง บางหมู่บ้านถึงกับแบ่งกันกระจายไปเจาะลึกฐานงานต่างๆให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้นำมาศึกษาร่วมกันเมื่อกลับจากการอบรมฯ

กลุ่ม ๒ สัมมนาฯ ดำเนินการสัมมนาโดยนายวิวัฒน์(พลังเพชร) ศัลยกำธร ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง แล้วแบ่งกลุ่มออกเป็น ๑๖ กลุ่ม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระดมสมอง ๓ หัวข้อ ใน ๑ ชั่วโมง

หลังจากนั้นแต่ละกลุ่มแยกพบสมณะอีก ๑ ชั่วโมง

๑๓.๐๐ น. กลุ่ม ๑ เปลี่ยนมาสัมมนาฯ กลุ่ม ๒ เปลี่ยนไปเจาะลึกฐานวิชาการ เหมือนภาคเช้า

ในตอนเย็นเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.นำประเด็นที่กสิกรทั้ง ๒ กลุ่ม สัมมนาทั้งในภาคเช้าและภาคบ่ายมารวบรวม มีกสิกรให้ความสนใจมาจดเพื่อนำไปปฏิบัติ และทาง ธ.ก.ส.จะนำเสนอสู่ฝ่ายบริหารเพื่อดำเนินการต่อไป

ประเด็นที่กสิกรต่างก็คิดเหมือนๆกัน เช่น
พลิกทุ่ง - ด้วยการสร้างดิน, ไม่เผาฟาง, ไม่ใช้สารเคมี, ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ฯลฯ

สร้างทุน - ด้วยการรวมกลุ่ม, รักษาศีล ๕ ละเลิกอบายมุข, ภูมิปัญญาไทย, กำลังกาย-ใจที่เข้มแข็ง, สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ, ประเพณีลงแขก ฯลฯ

ฟื้นไท - ด้วยการไม่ซื้อแต่ทำเอง, หยุดพึ่งพาจากต่างประเทศ, หยุดอบายมุข, หยุดเห็นแก่ตัว, หยุดทำลายธรรมชาติ, หยุดความเชื่อศรัทธาที่งมงาย, หยุดการพึ่งเครื่องจักรกล ฯลฯ

๑๘.๓๐ น. ชมสาระบันเทิง จากศูนย์อบรมต่างๆ แล้วฟังสัมภาษณ์ปฏิบัติกร ชุด "ป๊าดติโธ่!" ๔ ชีวิต ที่เปลี่ยนแปลงตนเอง พร้อมกับชมภาพประกอบของแต่ละคน


๑๘ พ.ค.
๐๔.๐๐ น. ทำวัตรเช้า โดยพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ กล่าวว่า วรรณะของพระพุทธเจ้าแบ่งตามคุณธรรม โดยไม่คำนึงถึงชาติกำเนิด ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองได้ ด้วยกรรมทั้ง ๓ โดยมีมโนกรรมเป็นประธาน

และให้พรก่อนจากว่า ใครที่นั่งฟังแล้ว ได้รับธรรมะอะไรที่ดีๆประทับใจ ก็เอาไปตั้งใจปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา รักษาศีลกันจริงๆ จะมาเป็นพุทธแท้ต้องได้คุณธรรมของพระพุทธเจ้าบ้าง อย่างน้อยโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ก็ควรจะเป็น เมื่อเป็นพุทธก็จงสังวร สำเหนียก แล้วก็พยายามปฏิบัติให้มีเนื้อธรรมของพุทธ ได้รับฟังธรรมะในงวดนี้ เอาไปตรวจสอบ เอาไปศึกษา ยังสงสัยก็มาไถ่ถามกัน แล้วเอาไปพึงปฏิบัติ อย่าให้เกิดมาชาตินี้สูญเปล่า ไม่ได้คุณธรรมของพระพุทธเจ้าไปเลย ก็ให้ได้โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ก็ยังดี ขอให้ทุกคนมีกำลังวังชา มีจิตใจดี ได้รับธรรมะของพระพุทธเจ้าใส่ตัวใส่ตนไปตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ได้เจริญธรรมะกันยิ่งขึ้นๆทุกคนเทอญ

๐๕.๓๐ น. ตัวแทน คกร., ตัวแทนกสิกร, ตัวแทน ธ.ก.ส. เปิดใจคนละ ๒ นาที เช่น

ประทับใจพี่น้องที่อยู่กันเป็นพันๆ และรับเอาสิ่งดีตั้งแต่ตี ๔ จนถึง ๒ ทุ่มครึ่ง แล้วบางคนก็ยังไม่นอน ไปนั่งลอกเอาคำคม มาที่นี่แล้วพยายามเอาสิ่งที่ดีจากที่นี่ไป สิ่งที่ทุกท่านจำได้ คือ ททท. ทำทันทีให้ดีๆยิ่งๆขึ้นไป

อาหารเป็นหนึ่งในโลก กสิกรผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งโลก ได้บุญ เพราะคนต้องกินทุกวัน อาชีพกสิกรเป็นอาชีพ ที่รองจากนักบวช ได้บุญมาก และจะได้บาปมากหากใช้สารเคมี และฝากว่า ร้อยรู้ ไม่สู้หนึ่งทำ

๐๖.๓๐ น. พิธีอำลา ด้วยเพลงคำมั่นสัญญา ภาพของพี่น้องกสิกรใส่หมวกสีเขียวที่อยู่บริเวณลานเวทีธรรมชาติ มองจากด้านบนลงไปเขียวเต็มไปหมด เหมือนจะบอกว่า ท้องทุ่งที่ถูกถมทับด้วยสารเคมี จะกลับเขียวขจีแน่นอน ด้วยกสิกรรมธรรมชาติไร้สารพิษ หลังจบเพลงต่างก็ถอดหมวกโบกอำลาซึ่งกันและกัน พร้อมกับสัญญาใจว่า จะกลับไปพลิกทุ่งด้วยสองมือ กอบกู้ความเป็นไทกลับคืนมา

หลังจากนั้นเป็นเวลาส่วนตัว เก็บข้าวของ ซื้อสินค้า รับของฝากจากซุ้ม ธ.ก.ส. แจกแชมพู สวนส่างฝันแจก ต้นยางนา ซุ้มศาลีอโศกแจกเมล็ดสะเดา ใครต้องการก็ไปรับได้

๐๗.๑๕ น. เตรียมใส่บาตร สมณะ-สิกขมาตุบิณฑบาต ๓ สาย

๐๙.๐๐ น. รับประทานอาหาร และรับอาหารห่อสำหรับรับประทานระหว่างเดินทางกลับบ้าน

ยุทธการเก็บงาน ๑๒๐ นาที ระดมพลช่วยกันเก็บเต็นท์ ซาแลนด์ โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ เพราะพวกเราทุกคนคือเจ้าภาพ

๑๓.๐๐ น. ธ.ก.ส., คกร. ร่วมกันสรุปงาน พ่อท่านเป็นประธาน

ธ.ก.ส. สรุปว่า ในส่วนภาพพจน์ ทีมผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ประธานกรรมการ ธ.ก.ส. พึงพอใจและชื่นชม ในการจัดงานครั้งนี้ โดยเฉพาะการจัดฐานงานที่กสิกรศึกษาแล้ว สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง หากจัดแบบนี้อีก ให้ปรับจำนวนคน ให้สมดุลกับที่พัก ฐานงาน และเวลา สาขาที่ยังไม่ได้จัดอบรมฯ ก็ประทับใจและทึ่งมาก เกิดแรงจูงใจที่จะนำกสิกรเข้าอบรมโครงการสัจธรรมชีวิต ไม่พบการบ่นของพนักงาน แสดงว่าเขา พึงพอใจ เป็นอย่างมาก และอยู่ร่วมงานกับกสิกรตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย และมาประชุมพร้อมเพรียงตลอดเวลา

คกร. สรุปว่า มีข้อบกพร่องในหลายๆเรื่อง เช่น การปรับปรุงสถานที่, ระบบน้ำ-ไฟฟ้า, ได้รับข้อมูลต่างๆล่าช้า เช่น การจัดนิทรรศการ, จำนวนกสิกรที่แน่นอน, ตลาดสินค้าเปลี่ยนนโยบายเป็นองค์ความรู้มากกว่าจำหน่าย สินค้าที่เตรียมไว้ เกิดความเสียหาย จำนวนเงินสนับสนุนมาช้าและไม่สมดุลกับโครงสร้างของงาน

อนุโมทนาบุญกับทุกๆท่าน ที่มาช่วยกันหลั่งน้ำใจ ให้โอกาส ร่วมกอบกู้ภาคกสิกรรมให้มีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงพลโลกต่อไป งานครั้งนี้นับเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของชาวอโศก ที่ก้าวสู่การกอบกู้มนุษยชาติ มีโลกานุกัมปายะอย่างเป็นรูปธรรม

ความยากจนของกสิกร ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ถูกเล่าขานสืบทอดกันมา หลายชั่วอายุคน ท้องไร่ท้องนาถูกทับถมด้วยสารเคมี จนแม่ธรณีหลั่งน้ำตา ดินกลายเป็นดินป่วย ผักกลายเป็นผักป่วย คนกินก็กลายเป็นคนป่วย เพราะเต็มไปด้วยสารเคมี

นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ความยากจนของกสิกรไทย จะเป็นเพียงตำนานที่เล่าขานสู่กันฟัง ผืนแผ่นดินจะเขียวขจี อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด มีชีวิตอย่างพอเพียง อาชีพกสิกรจะได้รับการยกย่องอย่างแท้จริง ว่าเป็นอาชีพที่มีบุญ รองจากอาชีพนักบวช เป็นนักสร้างคนสำคัญ ที่ผลิตอาหารมาเลี้ยงชาวโลกด้วยสองมือ ธรรมะที่ได้รับการถ่ายทอด สู่บทฝึกปรือ จะทำให้พี่น้องกสิกร สู่ความเป็นไท เป็นคนจนผู้ยิ่งใหญ่ ที่จนอย่างอุดมสมบูรณ์ นี่คือการพลิกทุ่ง สร้างทุน ฟื้นไท อย่างแท้จริง

ยังมีงานใหญ่อีกมากมาย ที่รอพวกเราอยู่ข้างหน้า ผู้ที่ยังไม่มาก็ขอให้มา มารวมน้ำใจให้เป็นหนึ่ง ทำที่พึ่งให้สังคม สร้างนาวาบุญนิยม เพื่อกอบกู้มนุษยชน

ก่อนจบขอฝากโอวาทของพ่อท่าน ในวันสรุปงาน
".....งานนี้เป็นงานที่พิสูจน์ความก้าวหน้าของสังคมอีกชนิดหนึ่งที่น่าพอใจ ค่ารวมแล้วคน ๕,๐๐๐ คน มารวมกันอยู่อย่างมีเป้าหมาย ว่ามารวมกันทำไม จนกระทั่งเสร็จงาน ไม่มีเรื่องเลวร้าย อุกฤษฏ์ แต่บกพร่องจุดนั้นจุดนี้บ้าง

ส่วนผลกระทบที่จะได้ ทั้งในการสัมพันธ์ต่อโครงสร้างของสังคมทั้งหมด ทั้งในระดับประเทศ ในวงกว้าง ทั้งเบื้องสูงที่เราได้เชิญผู้ใหญ่ของรัฐมารับรู้ด้วย งานนี้เป็นงานต่อยอดคน ต่อยอดงานออกไป ไม่ใช่แค่งานเผยแพร่ ต้องขอบคุณคนนี่แหละ ชาวอโศกที่มา

ช่วยงานทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่เป็นจำนวนพัน ทุกคนมาด้วยน้ำใจ ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างกลับ สิ่งเหล่านี้ อาตมาซาบซึ้ง ในความเป็นมนุษยชาติ บอกช่วยกันหน่อยนะ เพราะเราไม่เคยทำงานใหญ่ขนาดนี้ที่จะมีคนมากิน มานอน อยู่ที่นี่เกือบ ๕,๐๐๐ คน ๓ วัน ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ พวกเราก็มีน้ำใจ ก็มากัน และก็ได้ช่วยกัน

แรงงาน ถ้าจะดูไปในแง่ของเศรษฐศาสตร์ทางด้านทุนนิยม จะเห็นพวกเราใช้คนเฟ้อไป ไม่คุ้ม ถ้าคิดใน ค่าแรงงาน ออกไปด้วย กิจการนี้ขาดทุนมหาศาลเลย เพราะว่าใช้แรงงานคนฟุ่มเฟือย แล้วเยอะเกินไป แล้วก็สูญเสียซ้อนในนี้เยอะ

ถ้าเอาเงินจ้างผู้ชำนาญงานมา ทุ่นไปอีกเยอะ แล้วก็ทำงานได้เรียบร้อยถูกสัดส่วน ไม่บกพร่องอะไร จริง อย่างที่เขาพูดนั้นจริง

แต่งานของเราไม่ใช่งานเพื่อสงวนต้นทุน หรือสงวนรายจ่าย เพื่อที่จะมีรายได้มาก งานเราเป็นงานสร้างคน เด็กมาทำ เขาก็ได้สร้าง เขาก็ได้อบรม เขาก็ได้ประพฤติ เขาก็ได้ปฏิบัติ คนที่มาช่วยเรา เขาก็ได้ประพฤติ ปฏิบัติ ถ้ายิ่งมองไปลึกในแง่ของธรรมะ หรือศาสนา คนเหล่านี้สร้างกุศลทั้งสิ้น เขาได้เสียสละแรงงาน เขาเสียสละทุนรอน เสียสละอะไรต่างๆมาช่วยเรา เป็นกุศลแท้ๆอยู่แล้ว แล้วเขาก็ได้ฝึกฝน ได้สัมพันธ์ ที่มันซ้อนชัดที่สุดนี่ก็คือ พลังรวมของคนเหล่านี้มาแสดงออกที่เป็นรูปธรรม เป็นลักษณะออกไป เป็นศีลสามัญตา หรือทิฐิสามัญตา เป็นองค์รวมที่ไปในทิศทางเดียวกัน อันนี้อาตมาว่าเป็นน้ำหนักของสังคม เป็นน้ำหนักของมนุษยชาติ

เพราะฉะนั้นคนอาจจะไม่มีการฉุกคิด ฉุกใจ เขาจะไม่รู้สึกก็ตาม แต่อาตมาว่าเขาได้รับผลกระทบแน่ว่า คนหมู่นี้ทำอะไร ทำไมมาทำอย่างนี้

คนเหล่านี้ไม่ได้เห็นเงินเป็นหลัก ไม่ได้เห็นว่าถ้าฉันไม่มีส่วนได้แล้วฉันไม่ทำ เป็นเรื่องของการเสียสละ เป็นเรื่องของการรวมน้ำใจ เป็นเรื่องของการสามัคคีของสังคม

สิ่งเหล่านี้แหละที่เขารับกระทบแล้วเขาก็บอกว่า ก็ในเมื่อสังคมโลกทุกวันนี้มันเห็นแก่ตัว ตัวใครตัวมัน ไม่รวมกันได้ มันไม่มาเสียสละหรอก แต่เขามาเห็นอย่างนี้ เอ....คนมีกลุ่มมีก้อน คนมาทำกันอย่างนี้ มันมีด้วยหรือ อันนี้อาตมาว่าเป็นการสร้างความหวังให้แก่อนาคตของสังคมไปได้หรือ อ๋อ..มันมีได้หรือ แล้วก็มีครั้งเดียวนี้หรือเปล่า กดข่มกัน ทำเป็นผักชีโรยหน้า ทำตัวอย่างสักครั้งหนึ่งหรือเปล่า ถ้าคนคนนั้น เขาติดตาม พยายามที่จะเรียนรู้ต่อไปอีก บอกว่า ไม่ใช่ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จริง ไม่ใช่ผักชีโรยหน้า ไม่ใช่ทำครั้งเดียว ทำต่อเนื่อง ทำไปอีก แล้วจะทำให้ยิ่งกว่านี้ขึ้นไปอีก แล้วความจริงเราก็ตั้งใจอย่างนั้น แล้วก็จะให้เป็นอย่างนั้น คนเรารับอย่างนี้ก็แน่นอน เขารับความรู้สึกบวกแล้ว

อันนี้จะเป็นการขยายผลอนาคตของสังคมไปเรื่อยๆ เป็นผลดีที่ได้ แม้เราจะเสียเงิน จ่ายเงิน จ่ายทุนรอน จ่ายแรงงาน แบบนี้อาตมาว่า เรากำไรทางสังคม กำไรทางจิตวิญญาณ กำไรทางความเป็นมนุษยชาติ มากยิ่งกว่าเงินทอง มากกว่านักๆ นี่อยากจะให้พวกเราได้เข้าใจเนื้อแท้ของสิ่งที่เราทำงานอยู่นี้

มองในแง่ของบุญนิยม จะประสานหรือสร้างมนุษยชาติสังคม ทุนเป็นเพียงส่วนประกอบ ที่จะเอามาปฏิบัติ ถ้าเราพอเป็นไปได้เราก็ทำ ถ้าเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่ได้ จะให้ไปเป็นหนี้เป็นสินมากเกินไป ก็คงเป็นไปไม่ได้ เราไม่ใช่พวกที่จะไปหาเงินหาทองมาใช้หนี้ใครอยู่แล้ว แต่ถ้าพอเป็นไปได้อยู่เราก็ทำ ยินดีที่จะเสียสละ แรงงานเราไม่มีปัญหา เพราะไม่ต้อง เสียดอกเบี้ย ไม่ต้องไปกู้ยืมใคร มีเท่าไร เราก็ใช้ให้เต็มที่

อาตมาก็เห็นใจว่า เป็นงานใหม่ เป็นงานยาก ทำกันได้ขนาดนี้ก็น่าชื่นชม น่าชื่นใจ ค่ารวมอะไรต่างๆแล้ว เป็นผลดี ก็ขอให้รับซับซาบผลกระทบ กระแสที่จะตามมาในอนาคตอีกต่อไปก็แล้วกัน..."

- ทีมขวนขวาย -

(สารอโศก อันดับที่ ๒๖๐ พฤษภาคม ๒๕๔๖)