หน้าแรก>สารอโศก

เพื่อฟ้าดิน ครั้งที่ ๑๐

นับเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ควรตราไว้ งานกสิกรรมไร้สารพิษ เพื่อฟ้าดิน ครั้งที่ ๑๐ ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๘ พ.ค. ๒๕๔๖ ณ ชุมชนราชธานีอโศก อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

พบกับรายละเอียดของเนื้อหาจากบทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ณ บัดนี้

ทำไมจัดงานเพื่อฟ้าดิน และครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆอย่างไรคะ

เราจัดงานเพื่อฟ้าดินครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑๐ แล้ว งานนี้เป็นงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และการผลิตพืชพันธุ์ ธัญญาหาร โดยมุ่งทำดินให้ดี ทำน้ำให้ดี ทำอากาศให้ดี พร้อมกันนั้นก็เน้นกสิกรรมเป็นหลัก เพราะฉะนั้น เราจะพยายามให้คนรักกสิกรรมทำกสิกรรมไร้สารพิษ ให้รู้จักทำปุ๋ย แม้ที่สุดรู้จักเรื่อง ของทิ้ง สิ่งที่เหลือเศษขยะ ว่าคืออะไรบ้าง จะจัดการอย่างไร ให้เกิด"ประโยชน์สูง-ประหยัดสุด "จึงกลายเป็น "ขยะวิทยา"ที่ต้องศึกษาบูรณาการให้สามารถปรับเปลี่ยนขยะต่างๆ ซึ่งเป็น เศษอาหาร และอื่นๆ เพื่อนำมาหมุนเวียน ปรับตัวใหม่เป็นปุ๋ยที่เป็นประโยชน์ได้อีก ซึ่งก็คืองานที่เราทำเพื่อฟ้าดิน เพื่อมนุษยชาติเป็นเรื่องของสังคมของโลก เราจะมาระลึกถึงความสูญเสีย หรือความเป็นพิษ เป็นภัย ของดินน้ำลมไฟก็ดี สิ่งแวดล้อมก็ดี หรือแม้แต่มนุษยชาติที่หลงระเริงไปหาสิ่งปรุงแต่งฉาบฉวย เป็นเรื่องฟู่ฟ่า ระเริงไปทางเทคโนโลยี จนกระทั่งกลายเป็นลืมธรรมชาติลืมหลักที่ติดดิน ลืมสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญของชีวิต เราจึงพยายามจัดงานเพื่อระดมให้คนหันมาคิดถึงการทำไร่ทำนา ทำกสิกรรม ทำดินน้ำลมไฟให้สมดุล

สำหรับการจัดงานครั้งที่ ๑๐ ปีนี้ต่างจากการจัดครั้งอื่นๆมากทีเดียวเพราะว่าเราได้ทำต่อเนื่องมานานพอสมควรแล้วกว่า ๑๐ ปี ๒๐ กว่าปี จัดงาน พฟด.เพื่อฟ้าดินนี้มาถึงปีนี้ก็เป็นปีที่ ๑๐ จนกระทั่งมีผลงานและประชาชนที่ได้มาเรียนรู้ อบรมฝึกฝนปฏิบัติพิสูจน์ ซึ่งเราได้อบรมมาแบบส่วนตัว จนกระทั่งมีองค์กรกึ่งรัฐ และองค์กรของรัฐ มาผสมผสานร่วมมือกับเรา โดยนำลูกหนี้ที่จะให้พักชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ มาให้เราได้อบรม ในโครงการ จนกระทั่งมีผู้คนที่ได้สืบทอดประพฤติตาม พิสูจน์ตาม

หลักสูตรของเราก็คือการนำเอาแกนของศาสนา แกนของพุทธธรรม มาเป็นตัวนำปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ จริงอยู่เราพยายามทำกับกลุ่มกสิกร เกษตรกรหรือคนระดับพื้นฐาน ของสังคม เช่น ชาวไร่ ชาวนา

ที่อยู่กับการผลิตอาหารเลี้ยงคน ซึ่งถูกมองว่าเป็นคน "ชั้นรากหญ้า" ฟังแล้วก็เป็นภาษาเพราะ ที่จริงก็คือ เป็นพวกพื้นๆ เป็นพวกอยู่กับดิน เป็นพวก"ชั้นต่ำ"อย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้ามีสำนึกเอาปัญญามาพูด ผู้คนทั่วไปก็ไม่กล้าพูดดูถูกดูแคลนกันหรอก แต่โดยความจริง โดยพฤตินัย โดยความรู้สึกสำนึก ของมนุษย์ทั่วไปแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ทั้งที่ความจริงแล้วพวกเขา เป็นคนที่เลี้ยงโลก อยู่แท้ๆ แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีสำนึกถึงตรงนี้กัน เราเห็นความจริงนี้ เราถึงได้พยายาม จัดงาน "เพื่อฟ้าดิน"ขึ้นมา

จากการอบรมหลักสูตร"สัจธรรมชีวิต"ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ของธ.ก.ส. เราพยายามให้เขาเข้าใจและเห็นความสำคัญในเรื่องของคุณธรรมเหล่านี้ เขาจะได้ นำไปปรับวิถี การดำเนินชีวิตใหม่ ลดละเลิกอบายมุข ปรับปรุงตัวเองให้เป็นคนละชั่วประพฤติดี มีคุณธรรมขึ้น มาจริงๆ ซึ่งการเรียนรู้ต้องหยั่งลึกเข้าถึงสัจธรรมถึงขั้นปรมัตถ์ จึงจะสามารถ เปลี่ยนพฤติกรรม ของคนได้ เมื่อเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ก็ทำให้สังคม ครอบครัวของผู้เข้ารับการอบรมเปลี่ยนแปลงไป มีชีวิตดีขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น จนได้คนมากพอสมควรแล้ว ทางคณะผู้ที่ดูแล ช่วยงาน ในระดับ ประเทศอยู่ ประเมินผลแล้วก็เห็นว่า ควรจะจัดงานเพื่อนำคนเหล่านี้มารวมกัน และนำตัวอย่าง ชีวิตของผู้ผ่านการอบรม จนมีการเปลี่ยนแปลง มีผลแล้ว นำมาเสนอกันดูซิ อะไรที่ไม่ดี ที่ล้มเหลวอะไร ที่ดีควรพัฒนาต่อไป ก็มาประชุมกัน เป็นการรวมตัวกันครั้งแรก โดยทางธ.ก.ส. พยายามไปตามพวก กสิกรที่ผ่านการอบรมมาได้หลายพันคน รวมทั้งพนักงาน ธ.ก.ส.เองก็อยากมารู้มาร่วม จึงรวมคนที่มา ร่วมงานแล้ว ๒-๓ พันคน เพราะฉะนั้นคนของเราอีกร่วม ๒ พัน ก็ต้องมาช่วยต้อนรับ คือเราไม่ได้ ต้อนรับ ไม่ได้ทำแบบทางราชการหรือเป็นพิธีการกำหนดกฎเกณฑ์ เปรี๊ยะๆแบบที่สังคม เขาทำๆกัน ก็ต้อนรับตามวิถีของเรา เท่าที่ ธรรมชาติและความมีความเป็นจริงของเรามีเป็นหลัก

คนจำนวนมากก็เลยมารวมกันชุมนุมค้างคืนอยู่ที่นี่ทั้งกินทั้งอยู่ มีชีวิตประจำวันผ่านไป ๒-๓ วัน ที่จริงเรากำหนดไว้ ๓ วัน แต่ขอให้มาลงทะเบียนก่อน ๑ วัน จริงๆจึงอยู่กัน ๔ วัน เมื่อคนมาอยู่ รวมกันหลายพันคน ทั้งกินทั้งนอน ซึ่งเราต้องเลี้ยงอาหารการกินทั้งหมด พวกเขาไม่ต้องทำกันเอง ถึงเวลาก็ทำตามโปรแกรมที่เราจัดไว้ โดยเรามีอาหารเลี้ยงตลอดวัน จึงต้องใช้คนจำนวนมาก ในการต้อนรับแขกและทุกอย่าง ใครช่วยอะไรได้ก็ช่วยกัน ทำกันคนละไม้คนละมือ คนละมุม คนละเหลี่ยม บริการส่วนนั้นส่วนนี้ ตลอดจนจัดแจงเก็บกวาดเช็ดถู โดยเฉพาะคน ๕,๐๐๐ คนทำให้เกิดขยะใน แต่ละที่จำนวนไม่ใช่น้อย ทั้งขยะอาหาร ขยะอะไรก็แล้วแต่ เราก็ชักชวนให้ช่วยกัน จะเห็นได้ว่า เสร็จงานวันสุดท้ายไม่มีอะไรรกเลอะเลย

สรุปแล้ว สิ่งที่แตกต่างมากกับงานทุกครั้ง ที่ผ่านมาก็ตรงที่ปริมาณคนซึ่งมาร่วมงานมากกว่าครั้งก่อนๆ และยังมีวิธีการใหม่ๆ เลยถือเป็นเรื่องแปลกกว่าทุกครั้ง

งานนี้มีการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ต้องใช้คนของเราร่วมๆ ๒ พัน ค่าใช้จ่ายอีกหลายล้าน พ่อท่านคิดว่าคุ้มหรือเปล่า ?

คุ้มแน่นอน เราก็เสนอธ.ก.ส.ว่า คงต้องใช้ค่าใช้จ่าย ขนาดนั้นขนาดนี้ ซึ่งเงินที่ใช้ไป ทางธ.ก.ส .ตั้งงบไว้ประมาณ ๕ ล้านบาท โดย ๓ ล้านบาท ทางธ.ก.ส.นำไปเป็นค่าใช้จ่าย นำคนของเขาประมาณ ๒-๓ พันคนมาร่วมงาน และตัดยอดเงินมาให้ทางเรา ๒ ล้านบาท เราก็นำเงิน ๒ ล้านนั้นมาเป็น ค่าใช้จ่าย จัดสถานที่ ค่าอุปกรณ์ ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายจิปาถะกับผู้เข้ารับการอบรม แต่สำหรับ คนของเรา เองซึ่งไม่ได้จ่ายค่าอะไรให้ เพราะพวกเรามาเสียสละกัน เสียค่ารถค่ารากันเอง ขนาดนั้นก็ยังใช้จ่ายเกิน ๒ ล้าน เฉพาะค่าวัตถุดิบอาหาร จ่ายไปก็ตั้งล้านสอง และค่าอะไรอื่นๆอีก ค่าวัตถุปกรณ์ ค่าจัดสถานที่ สารพัด ก็เกินกว่า ๒ ล้านแน่ แต่เราก็ไม่ว่าอะไร สรุปแล้วเงินทองที่จ่ายไป สำหรับงานนี้ หากถามว่าคุ้มไหม ตอบได้ว่าคุ้มสุดคุ้ม เพราะเป็นการศึกษา เป็นการประพฤติปฏิบัติ เป็นการอบรม หรือจะเรียกว่า เป็นการฝึกฝนอะไรก็แล้วแต่ เป็นการจ่ายเพื่อสร้างโดยแท้ โดยเฉพาะ ได้สร้างคน สร้างสังคม ซึ่งเป็นเรื่องของสังคมศาสตร์ที่ลึกซึ้งมาก หรือจะว่าเป็นเศรษฐศาสตร์ก็ได้ เป็นรัฐศาสตร์ก็ได้ ได้ทั้งนั้นแล้วแต่คนมอง ซึ่งสามารถมองได้หลายนัย ถ้ามองแบบเศรษฐศาสตร์ ทุนนิยม เขาจะมองตื้นๆง่ายๆ เช่น พวกเราทำงานเอาคนมาใช้ตั้ง ๒-๓ พันคน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มที่แกะกระเทียมก็แกะไป ซึ่งใช้คนไม่ใช่น้อยๆ ซอยหอมก็ซอยไป ก็ใช้คนอีกไม่ใช่น้อย เด็ดผักก็เด็ดไป ก็อีกหลายกลุ่มล้วนใช้แรงงานคนทั้งนั้น ผักจากสวนของเราก็มี คนที่จัดหน้าที่ไว้ ก็ไปเก็บกันมา หรือผักจากข้างนอกมาสมทบก็มี คนล้างก็ล้างไป คนหั่นก็หั่นไป คนปรุง ก็ปรุงไป คนหุงข้าวก็หุงไปไม่รู้กี่กลุ่มต่อกี่กลุ่ม ต่างก็แบ่งกันทำไปตลอดเวลา โดยจะเห็นว่าแรงงานคนเป็นหลัก เครื่องทุ่นแรงมีน้อย

ถ้ามองในแง่ทุนนิยม ก็อาจมองว่าใช้คนเปลืองเกินไปไม่ประหยัด หากคิดค่าแรงงานใน ๓-๔ วัน ก็อาจมองว่าไม่คุ้มเลย ผลาญพร่าโดยใช่เหตุ ก็จริงของเขาเหมือนกัน แต่ระบบบุญนิยมนั้น มองคนเป็นหลัก มองจิตวิญญาณเป็นหลัก มองความสัมพันธ์ของสังคมเป็นหลัก การที่คนเหล่านี้ มาเสียสละ เราก็ได้แล้ว เราไม่มองว่าเป็นการสูญเสีย เป็นการฟุ่มเฟือย ทุกคนได้ออกแรง ทุกคนได้ร่วมมือ คนยิ่งมากเมื่อรวมกันและไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่แย่งชิง ไม่แข่งดีแข่งเด่น ไม่มีเรื่องมีราวกันเลย มีแต่สมานประสานสัมพันธ์เอื้ออาทรกันและกัน ช่วยกันไม่เห็นแก่เงิน ไม่เห็นแก่การเสียเปรียบได้เปรียบ ไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย สร้างวัฒนธรรมสังคม ซึ่งเป็นเรื่องดีแท้ๆทั้งนั้น มันยากนะ แต่เราทำได้ และได้พิสูจน์ตัวพวกเราด้วย ทางด้านบุญนิยม เราเห็นว่าคุ้มมากเลย เรามาช่วยกันอย่างอบอุ่นเหมือนพี่เหมือนน้องมาร่วมงานกัน ยิ่งกว่างานเช็งเม้งหญ่ๆ เป็นตระกูลใหญ่ๆมากๆที่มารวมกันหลายพันคน แต่มีสิ่งที่เป็นสาระประโยชน์มากกว่า อย่างนี้เป็นต้น ไม่น่าเชื่อ!

ในแง่ของสังคมศาสตร์ยิ่งวิเศษเลย เพราะได้เห็นมนุษย์มารวมกันช่วยกันทำงาน ได้ฝึกฝนและได้ประสานกับมวลข้างนอกที่เป็นแขก และมวลคนของพวกเราที่เป็นเจ้าภาพ ต่างคนมีพฤติกรรมมีกิริยามารยาท มีวัฒนธรรมของตนเองมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว คนเหล่านั้นเขาได้รับซับซาบไปแล้ว เป็นการเชื่อมโยงเผยแพร่หรือถ่ายทอด เกิดสิ่งที่เป็นจริงแล้ว และสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทำได้ทันที ที่จะให้เกิดความพร้อมเพรียง สามัคคีลงกันได้สอดคล้องกันได้ ยกตัวอย่าง เช่น พวกเราสละบ้านทุกหลังให้แขกเข้าอยู่ โดยเจ้าของบ้านลงมานอนที่ไหนก็แล้วแต่ ก็หาที่หลับที่นอนเฉพาะในชั่วระยะนี้ไปก่อน เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงออกที่น่าชื่นชม และเป็นเรื่องงดงามที่มนุษยชาติเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ มีการเสียสละ เกื้อกูล
มีน้ำใจ ไม่หวงแหน ไม่ติดยึด เป็นคนที่อยู่กับสังคมอย่างเรียบง่าย แม้อาจจะยังทำไม่ได้ ๑๐๐% แต่มันก็มีดีเป็นส่วนใหญ่หรือเป็นไปโดยไม่สอบตก อาตมาว่าลงทุน ๑๐ ล้านยังคุ้มเลย นี่ไม่ถึงด้วย เพราะฉะนั้นจึงถือว่า สุดคุ้ม

อุปสรรค ในการจัดงานครั้งนี้มีอะไรบ้างคะ

ไม่มี มีแต่ข้อบกพร่องเล็กๆน้อยๆที่ควรพิจารณา เช่น ระบบน้ำไม่พอ เพราะหมู่บ้านของเรา ทำระบบน้ำ ไว้สำหรับคนประมาณ ๑ พันคนกำลังใช้ได้พอดี พอคนมากินมานอนกัน ๕ พันกว่าคน และอยู่กัน ตั้งหลายวัน แน่นอนระบบน้ำไม่พอ อย่างนี้เป็นต้น หรือระบบไฟฟ้า ที่พักที่หลับนอน ก็ขลุกขลักบ้าง หรืออาจมีการต้อนรับที่บกพร่องบ้าง ส่วนเรื่องบกพร่องใหญ่ๆหรือเรื่องเสียหายอะไรไม่มี

ระบบบุญนิยม แก้ปัญหาคนระดับรากหญ้าได้หรือไม่คะ ?

ทำได้และเราก็ได้พิสูจน์กันมาแล้ว คำว่า "รากหญ้า"คำนี้ เราควรเข้าใจให้ชัดเจน อาตมาอยากให้ ความหมายว่า เป็นคนเลี้ยงโลก เป็นคนที่อยู่กับพื้นฐานของสังคมมนุษย์ เพราะเขาเป็นคนสร้างอาหาร สร้างสิ่งที่เป็นปัจจัย ๔ ของชีวิต ข้าว ผ้า ยา บ้าน เป็นผู้ที่ผลิตจริงๆ ลงมือทำจริงๆ และรับราคา ค่าจ้างถูกๆ เพราะโดยพื้นฐานของคนในโลก รู้กันอยู่แล้วว่า สังคมธรรมดามีคนจนมากกว่าคนรวย เป็นเรื่องแน่นอน ก็มีชาวบุญนิยมหรือชาวพุทธแท้ๆนี่แหละ ที่สอนคนให้มา"จน"กัน มาเฉลี่ยเงินออก อย่ามาสะสมกักตุนเลย แล้วสร้างระบบระบอบ สร้างวัฒนธรรมสังคม ให้เป็นระบบเป็นวัฒนธรรม อย่างสาธารณโภคี ที่เราชาวอโศกเราทำกันมานี่แหละ เราเห็นความจริงว่านี่เป็นสุดยอดอุดมคติ สุดยอดความประเสริฐของมนุษย์ เราก็มาทำกัน ส่วนคนโลกๆโลกียะ เขาต้องการกอบโกยกักตุน มีทรัพย์สิน มีบ้านช่องเรือนชาน ใหญ่โตมโหฬาร มีเงินทองให้มากๆได้เปรียบมากๆ ก็ถือว่าเป็นความ สำเร็จของชีวิต ก็เป็นอุดมการณ์ทาง ทุนนิยมแบบโลกีย์ เพราะฉะนั้นเมื่อเรา เห็นความสำคัญ ของคนรากหญ้า ก็ให้รู้จักว่าเมื่อคนในสังคมทั้งหมดมีคนรวย น้อย ขณะที่คนจนก็เป็นพื้นฐาน หรือเป็นรากหญ้า เราก็มาจนกันซะ ถ้าเข้าใจปรัชญานี้ชัดเจนแล้ว จะทำให้คนจน ที่จนอยู่แล้ว รู้ว่า อ้อ! การเป็นคนจนนั้นดี ทำให้เขาคลายใจโดยเราไม่ได้หลอกเขา เพราะเรา ก็มาทำตัวจนด้วย เราจนก่อน ให้เห็น อย่างเช่นสมณะของเรามาเป็นต้น หรือผู้ปฏิบัติธรรมในขั้นสูงเป็นอนาคาริกชน ไม่ต้องมีเงินทอง หรือชาวชุมชนของเรา ที่ทำงานอยู่ในชุมชนฟรี ไม่ทำงานหารายได้ให้แก่ตนเองแล้ว รายได้เข้าส่วน กลางหมด กินใช้ส่วนกลางร่วมกัน ทั้งหมดนี้ก็เป็นตัวอย่าง เป็นหลักฐานให้ดูได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเขา คลายใจว่า "จน"ก็ไม่เป็นไร แต่อย่าจนใจ อย่างอมืองอเท้า แต่มาเป็นคนที่มักน้อย กล้าจนอย่างเต็มใจ พอใจ และอย่างเข้าใจ ไม่ใช่มาจนอย่างจำนนหรือว่ารวยไม่ได้ ก็เลยมาจนก็แล้วกัน แต่เห็นจริงว่า การเป็นคนจนที่มีความสามารถและขยัน สร้างสรรอยู่เสมอไม่ย่อท้อ เป็นคนประเสริฐจริง เขาก็จะใจพอสันโดษ มีเท่านี้ก็พอไม่ต้องไปรวยกว่านี้จริงๆ

คนเหล่านี้ก็จะมาเป็นมวลรากหญ้า เป็นคนจนที่เลี้ยงโลกสร้างสังคมด้วยความเสียสละ อาตมาว่านี่ เป็นสุดยอดของอุดมการณ์ทางศาสนาพุทธ ซึ่งพระพุทธเจ้าค้นพบและนำมาพิสูจน์กัน เป็นประโยชน์คุณค่ากับโลก

เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมาสร้างคนระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นคนฐานปิระมิดที่มีความสุข แม้จนก็มีความสุข เป็นคนมีปัญญาทางเศรษฐศาสตร์ เป็นคนรู้จักอุปสงค์ อุปทาน ไม่เอาเวลา ทุนรอน แรงงาน ไปเสียเปล่า ในเรื่องเฟ้อๆ เช่น เล่นการพนัน การแต่งตัวแข่งกัน ประกวดการก่อกามกัน หรือหลงในเรื่องของกีฬา อวดอ้างแข่งเบ่งกัน เป็นต้น เมื่อไม่ไปทำสิ่งไร้สาระต่างๆได้จริง เอาเวลา แรงงาน และทุนรอน คืนมา ทำสิ่งที่เป็นสาระคนเหล่านั้นจึงเป็นสาระของสังคม ถ้าคนระดับรากหญ้ามีสาระอย่างนี้แล้ว สังคมก็จะเจริญ

โลกนี้เราบังคับคนรวยให้มาจนไม่ได้ เขาชอบรวย ให้เขารวยให้เข็ด ให้เขารวยไปเลย เพราะเป็นคนส่วนน้อยในสังคม เขาจะฟุ้งเฟ้อก็ให้เขาฟุ้งเฟ้อไป แต่คนรากหญ้ามีความสุขแล้ว มีคุณธรรมแล้ว มีธรรมะในหัวใจแล้ว รู้เท่าทันความหรูหราฟู่ฟ่า ฟุ้งเฟ้อ ไม่ตกเป็นทาสหรือสันโดษในสิ่งเหล่านั้นจริง และเขาก็เลี้ยงโลกเลี้ยงสังคมอยู่ด้วย เขาไม่ไปแย่งชิงคนเหล่านั้น เพราะฉะนั้น สังคมจะเกิดความสงบ แต่โดยพฤติกรรมคนรวยเอาเปรียบเอารัด ไม่ใช่บุญไม่ใช่กุศล เมื่อเขาอยากทำก็ให้เขาทำไป แต่คนมาศึกษาพุทธธรรมก็มาเป็นคนของมวลรากหญ้านี้ให้ได้ ทำแต่บุญเลี้ยงโลก ช่วยสังคมไป

พ่อท่านบอกว่า"มีความหวัง"ที่ได้เห็นความตื่นตัวและความสนใจของเกษตรกร พ่อท่านหวังจะให้สังคมเป็นอย่างไร ?

มีความหวังและเป็นความหวังไม่ลมๆแล้งๆ และถ้าเป็นความหวังที่เป็นไปได้ ก็ควรจะหวัง ความเป็นไปได้ที่ว่านี้เป็นไปได้จริงไหม อาตมาก็ว่าเป็นไปได้แล้ว อาตมาลองเทียบอุดมการณ์ ของโลกกับอุดมการณ์ของพระพุทธเจ้า หรืออุดมการณ์ของบุญนิยมนี้ดู อาตมาว่า อุดมการณ์ของบุญนิยมประเสริฐ เป็นคนมาจนนี่แหละ แต่เสียสละสร้างสรรได้ พึ่งตนเองได้ เป็นคนจนที่มีความสุขและเป็นคนจนที่อุ้มชูคนอื่นได้ มันประหลาดและมหัศจรรย์ด้วย

ตอนนี้ที่อาตมามีความหวัง ก็เพราะได้พิสูจน์แล้ว ว่าเป็นไปได้ ท่ามกลางทุนนิยมอันจัดจ้านนี่แหละ จริงมันยาก แต่อาตมาเห็นว่าถึงยากแต่ก็เป็นไปได้จริง เป็นไปได้ ชนิดมั่นใจในความยั่งยืนด้วย แม้จะ ไม่เร็ว ดังใจ แต่ก็ไม่ต้องทน ไม่มีความร้อนใจ แม้แต่"พร่องใจ"จึงหวังได้ และคิดว่าจะก้าวหน้า ไปเรื่อยๆ ขยันเต็มที่ ไม่ดูดาย ไปกับเวลา ไปสบายๆทุกนาที เพราะนี่เป็นความจริง เพราะฉะนั้นจึง ประเมินเวลาว่าอีก ๕๐๐ ปี ความหวังนี้จะ"เจริญรุ่งเรือง"มีสภาพจริงที่เห็นได้ ประจักษ์สิทธิ์กันทั่วโลก จะมีคุณค่าที่โลกต้องจำนนว่าอันนี้คือสิ่งประเสริฐแท้ อาตมาไม่ได้เป็นนักพยากรณ์ แต่เอา ความจริง ที่มีอยู่เหล่านี้ มาประเมินทั้งกาละเวลาทั้งอัตราการก้าวหน้าของความเป็นไปได้ ที่เกิดอยู่เป็นอยู่ทุกวันนี้

อะไรที่ทำให้พ่อท่านมีความมั่นใจ

ตามปัญญาของอาตมา สังคมทุกวันนี้ โลกทั้งโลกมันทุกข์มากแย่มาก มีกิเลสมากขึ้น พฤติกรรม ของคนก็เลวร้ายลงไปทุกที ทั้งหมดนี้คือสภาพสังคมจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ ทางออกสู่สิ่งที่ดีกว่าคือ ทางที่พระพุทธเจ้าพาเดิน ซึ่งอาตมาเห็นว่าเป็นไปได้ เพราะ ๑. ในโลกขณะนี้ทุกข์มาก เดือดร้อน กันทั่วโลก ๒. มีทางออกคือระบบบุญนิยมนี่เอง ๓. ทางออกนี้ได้พิสูจน์แล้วมีของจริงยืนยัน เชื้อเชิญ ให้มาพิสูจน์ได้ เป็นเอหิปัสสิโก ๔. ไม่ต้องซื้อต้องหาไม่ต้องไปเล่าเรียนไปแย่งอะไรกับโลกเลย ทางนี้จึงเป็นทางเปิดโล่ง เป็นทางที่อยากเสนอให้ทุกคน ไม่นำไปค้าไปขายเหมือนความรู้แบบโลกียะ หรือแบบทุนนิยม ที่ใครมีอะไรดีก็เก็บงำ ไม่ยอมเปิดเผย ไม่ยอมให้ใครมาลอกเลียน แต่นี่เราต้องการ ให้ลอกเลียน ต้องการให้เอาอย่าง ต้องการให้ทำตามนี้ให้เหมือนๆให้เก่งๆ ให้ได้สูงที่สุดเท่าไรก็ยิ่งดี เป็นสิ่งที่เราไม่หวงแหน ดังนั้นในเรื่องนี้จึงคิดว่าโลกต้องการและเป็นไปได้ ๕๐๐ ปีจึงไม่แน่ อาตมาว่าอาจเร็วกว่านั้นก็ได้

เมื่อคนระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม เริ่มลืมตาอ้าปากและเข้าใจชีวิตวิถีพุทธ ต่างจากเดิม ซึ่งหนาแน่นด้วยอบายมุขและแนวคิดมิจฉาทิฐิ
นั่นคือ นิมิตหมายที่ดีกำลังเกิดขึ้นแล้ว
และจะดำเนินต่อไป อย่างไม่หยุดยั้ง
ถ้าชาวอโศกทั้งมวลรวมพลัง !

(สารอโศก อันดับที่ ๒๖๐ พฤษภาคม ๒๕๔๖)