หน้าแรก>สารอโศก

กว่าจะถึงอรหันต์ - โดย...ณวมพุทธ -

ฝึกฝนจิต แก่กล้า ฆ่ากิเลส
ด้วยฤทธิ์เดช ได้อยู่ กับหมู่ที่...
เป็นมิตรดี เพื่อนดี สหายดี
เกื้อกูลมี มรรคผล หลุดพ้นทุกข์

พระเมฆิยเถระ

เมื่อพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระนามว่า วิปัสส ทรงตัดสินพระทัยสิ้นสุดพุทธกิจแล้ว ทรงปลงอายุสังขาร(กำหนดการสิ้นอายุจะปรินิพพาน) ทำให้มหาชนพากันหวั่นไหวขวัญเสีย ผืนแผ่นดินสะเทือน ท้องฟ้าคะนอง ทะเลครืนครั่น

คราวนั้นอดีตชาติของพระเมฆิยเถระนี้ ได้เกิดอยู่ในสมัยของพระวิปัสสีพุทธเจ้า ก็รู้สึกสะเทือนหวั่นไหวเช่นกัน แต่ด้วยจิตใจเคารพ ศรัทธายิ่งนัก เขาได้ประกาศถึงพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้า ประกาศพระธรรมอันเป็นคำสั่งสอนที่ตรัสไว้ดีแล้วของพระองค์ เพื่อทำจิตใจตนและมหาชนให้คลายจากความเศร้าโศกไปเสีย

เหตุแห่งผลบุญนี้ ทำให้เขาบันเทิงอยู่ในสวรรค์(สภาวะสุขของผู้มีจิตใจสูง) ชาติแล้วชาติเล่าได้ทำกุศลเสมอมา ไม่ไปสู่ทุคติ(ทางไปชั่ว)เลย ด้วยใจระลึกกำหนดหมายถึงพระพุทธเจ้านั่นเอง และมีอยู่ชาติหนึ่งได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชผู้ประเสริฐ มีพระนามว่า สมิตะ ซึ่งมีไพร่พลทรงอานุภาพมาก

กระทั่งในชาติสุดท้าย เขากำเนิดในตระกูลแห่งเจ้าศากยะ ในนครกบิลพัสดุ์ มีนามว่า เมฆิยะ

เมื่อเมฆิยะเจริญวัยเติบใหญ่แล้ว ด้วยใจศรัทธายิ่งในพระพุทธศาสนา จึงได้ขอบวชเป็นภิกษุอยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้าองค์สมณะโคดม

มีอยู่คราวหนึ่ง พระศาสดาประทับอยู่ที่จาลิกบรรพตใกล้เมืองจาลิกา ภิกษุเมฆิยะได้เป็นอุปัฏฐาก(ผู้คอยดูแลรับใช้)ให้แก่พระศาสดาในที่นั้น

เช้าวันหนึ่ง ภิกษุเมฆิยะเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านชันตุคามแล้ว ขากลับได้เดินไปตามฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา พบเห็นอัมพวัน(ป่ามะม่วง)อันน่ายินดี น่ารื่นรมย์ จึงเกิดความคิดขึ้นว่า

"ป่ามะม่วงนี้ช่างน่ายินดี น่ารื่นรมย์จริงหนอ เหมาะจะเป็นสถานที่บำเพ็ญเพียรแก่ผู้ต้องการฝึกฝนตน นี่ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต เราก็จะมาอาศัยป่ามะม่วงนี้เพื่อบำเพ็ญเพียร"

ครั้นกลับมาแล้ว ได้ไปเข้าเฝ้าพระศาสดาถึงที่ประทับ กราบทูลถึงป่ามะม่วงนั้นและขออนุญาต พระศาสดาทรงรับฟังแล้วตรัสว่า

"ดูก่อนเมฆิยะ จงรออยู่ที่นี่ก่อน เราอยู่เพียงผู้เดียวเท่านั้น เธอจงรออยู่จนกว่าจะมีภิกษุรูปอื่นมาแทนเถิด"

แม้ทรงกล่าวเป็นเชิงห้ามไว้ แต่ภิกษุเมฆิยะก็ยังกราบทูลขอเป็นครั้งที่สองอีก

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงจบกิจ(กำจัดกิเลสหมดแล้ว)ไม่มีกิจอะไรอื่นที่ต้องทำยิ่งกว่านี้ อริยมรรค(มรรคองค์ ๘) ก็ทรงสั่งสม กระทำไว้แล้ว แต่ข้าพระองค์ก็ยังมีกิจ(กำจัดกิเลส)ที่ต้องทำให้ยิ่งขึ้น ยังต้องสั่งสมกระทำอริยมรรคอยู่ ดังนั้นถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุญาตแล้ว ข้าพระองค์ก็จะไปยังป่ามะม่วงเพื่อบำเพ็ญเพียรให้ยิ่ง"

พระศาสดายังคงไม่ทรงอนุญาต แล้วตรัสเช่นเดิมอีก แต่ภิกษุเมฆิยะก็ไม่เลิกลา กราบทูลขอกับพระศาสดาอีกเป็นครั้งที่สาม คราวนี้พระศาสดกจึงตรัสว่า

"ดูก่อนเมฆิยะ เราจะว่าอะไรเธอได้ เมื่อเธอกล่าวอยู่แต่คำว่า เพื่อบำเพ็ญเพียร ฉะนั้นบัดนี้เธอจงรู้ความสำคัญในเวลาอันเหมาะควรเถิด"

เมื่อพระศาสดาตรัสเช่นนี้ ภิกษุเมฆิยะจึงถวายบังคมพระศาสดา แล้วไปอยู่ที่ป่ามะม่วงนั้นเพื่อบำเพ็ญเพียร

มีอยู่วันหนึ่งในเวลากลางวัน ภิกษุเมฆิยะนั่งพักที่โคนไม้แห่งหนึ่ง จิตเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมากมาย อกุศลวิตก(การครุ่นคิดในแง่ชั่วร้าย) อันลามก ๓ ประการบังเกิดขึ้นคือ ๑. กามวิตก(ครุ่นคิดเสพไปในกาม) ๒. พยาบาทวิตก(ครุ่นคิดเคียดแค้นอยู่) ๓. วิหิงสาวิตก(ครุ่นคิดหมายเบียดเบียนทำร้ายเขา) ทำให้ภิกษุเมฆิยะตกใจและสะเทือนใจยิ่งนัก แต่ก็ได้เข้าถึงความจริงตามความเป็นจริงว่า

"น่าประหลาดใจหนอ เรื่องไม่ควรมีก็มีได้ แม้กุลบุตรผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาอย่างยิ่ง ก็ยังเกิดการครุ่นคิดในแง่ชั่วร้ายเข้าครอบงำได้ ไม่ว่าจะเป็นการครุ่นคิดเสพกาม การครุ่นคิดเคียดแค้น และการครุ่นคิดทำร้ายเขาก็ตาม"

สลดสังเวชกับเหตุการณ์นี้แล้ว ภิกษุเมฆิยะก็รีบกลับมาเข้าเฝ้าพระศาสดา กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ พระศาสดาจึงทรงสั่งสอนว่า

"ดูก่อนเมฆิยะ มีธรรม ๕ ประการที่ปฏิบัติแล้ว จะเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติ(การหลุดพ้นกิเลสด้วยอำนาจของการฝึกจิต) ที่ยังไม่แก่กล้า คือ

๑. การเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี

๒. การเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาฏิโมกข์(วินัยข้อห้าม ๒๒๗ ข้อของภิกษุ) ถึงพร้อมด้วยอาจาระ(การประพฤติดี) และโคจร(การไปในที่อันเหมาะควร) มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทาน(ถือปฏิบัติ)ศึกษาอยู่ในสิกขาบท (ข้อศีลข้อวินัย)ทั้งหลาย

๓. การเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก ในเรื่องที่เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ให้เป็นที่สบายในการเปิดจิต คือ อัปปิจฉกถา (เรื่องลดความอยากได้เข้ามา) สันตุฏฐิกถา (เรื่องยินดีในของของตนให้มีน้อยๆไว้) ปวิเวกกถา (เรื่องทำความสงัดกายสงัดใจ) อสังสัคคกถา (เรื่องไม่คลุกคลีกับหมู่คนพาล) วิริยารัมภกถา(เรื่องสร้างเสริมความเพียร) ีลกถา(เรื่องตั้งอยู่ในศีล)สมาธิกถา(เรื่องทำจิตตั้งมั่นสงบจากกิเลส) ปัญญากถา(เรื่องมีปัญญาชำแรกกิเลส) วิมุตติกถา(เรื่องความหลุดพ้นหมดกิเลส) วิมุตติญาณทัสสนกถา (เรื่องสภาวะที่รู้เห็นได้จริงถึงความหลุดพ้นจากกิเลสแล้ว)

๔. การเป็นผู้สร้างเสริมความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้ถึงพร้อมกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม

๕. การเป็นผู้มีปัญญาเป็นอริยะ พิจารณาความเกิดและความดับของกิเลสได้ สามารถชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้โดยถูกตรง

ดูก่อนเมฆิยะ หากเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดีมีเพื่อนดีแล้ว เพียงข้อแรกนี้เท่านั้น ก็พึงหวังได้ว่า ตนจะเป็นผู้มีศีล....ตนจะได้ตามความปรารถนา โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในการขัดเกลากิเลส....ตนจะเป็นผู้สร้างเสริมความเพียรละอกุศลธรรม....ตนจะเป็นผู้มีปัญญาเป็นอริยะ.....ฯลฯ

นี่แหละ....! หากผู้นั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้ แล้วกระทำให้มากในธรรมอีก ๔ ประการให้ยิ่งขึ้น คือ

๑. เจริญอสุภะ(สภาพที่ไม่สวยงาม) เพื่อละราคะ(ความกำหนัดยินดี)
๒. เจริญเมตตาเพื่อละความพยาบาท
๓. เจริญอานาปานสติ(กำหนดลมหายใจเข้าออกจนจิตสงบแล้วพิจารณาดับกิเลส)เพื่อตัดวิตก
๔. เจริญอนิจจสัญญา(กำหนดความไม่เที่ยงในสิ่งทั้งปวง) เพื่อถอนอัสมิมานะ(การถือตัวว่า นี่กู นั่นเป็นของกู)

ดูก่อนเมฆิยะ อนัตตสัญญา(กำหนดความไม่ใช่ตัวตน ยึดเป็นเจ้าของไม่ได้) ย่อมบังเกิดแก่ผู้ได้อนิจจสัญญา และผู้ที่ได้อนัตตาสัญญาย่อมบรรลุนิพพาน(กิเลสสิ้นเกลี้ยง) อันถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบันนั่นเทียว"

เมื่อภิกษุเมฆิยะได้รับฟังโอวาทนั้นแล้ว ก็นำมาบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่ง กระทำให้มากตามคำสอนของพระศาสดา เจริญวิปัสสนา(อบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง) จนกระทั่งสามารถบรรลุวิชชา ๓ ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระมหาสาวกทั้งหลาย

- ณวมพุทธ -
พุธ ๔ มิ.ย.๒๕๔๖
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๓ ข้อ ๒๐๗
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๐ หน้า ๓๓๑)

(สารอโศก อันดับที่ ๒๖๐ พฤษภาคม ๒๕๔๖)