ฉบับก่อนๆนี้ก็ได้นำการดื่มปัสสาวะของ
ดร.สาทิส อินทรกำแหง มานำเสนอ แก่สมาชิกไปแล้วและฉบับนี้ก็ลองมาฟัง
ความเห็นของคนดัง ในแวดวงทางด้านสุขภาพอีกท่านหนึ่งนะคะ คิดว่าสมาชิกทุกท่านคงจะรู้จักท่านดี
คือ พ.ญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ก็ขอเชิญติดตามได้เลยค่ะ
จาก...ไทยโพสส์ ฉบับ ๒๙๙/๑๖-๒๒ มี.ค. ๔๖
เมื่อพูดถึงเรื่องปัสสาวะ ก็เป็นเรื่องที่หมอหนักอกหนักใจยิ่งนัก
ตั้งแต่สมัยเป็นผู้อำนวยการจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้สักที
เวลาที่มีนักข่าวขอสัมภาษณ์ก็อยากจะหนีไปให้ไกล
ด้วยเหตุที่ว่าไปแล้วว่า จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้สักที
แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้ที่นำเรื่องของปัสสาวะมาพูดให้ฟังกัน
ก็เพราะมีหลายคนมองว่า ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการอะไรสักอย่าง
เนื่องจากเป็นการ นำภูมิปัญญาโบราณมาทำกัน จึงอยากจะเล่าให้ผู้อ่านทราบว่า
ไม่ใช่สถาบันการแพทย์แผนไทย จะไม่พยายามหาข้อสรุป ด้านวิชาการ แต่ปัญหามีมากเหลือเกิน
ดังนั้นจึงจะเล่าถึงแผนความช่วยเหลือคนกินฉี่ว่า ที่ผ่านมาเราพยายามอย่างไร
และต่อไปจะทำอย่างไร
ก่อนอื่นก็คงต้องท้าวความตามตำนานกันเล็กน้อย
การดื่มน้ำปัสสาวะนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว จะมีการพูดถึงการดื่มน้ำมูตรเน่า
โบราณมีการนำน้ำปัสสาวะมาดื่ม โดยนิยมใช้น้ำปัสสาวะเด็กผู้ชายมาใช้เป็นกระสายยา
พระภิกษุที่เดินธุดงค์ในป่าไกลๆ ซึ่งต้องกินน้อย นอนน้อย เมื่อเข้าป่าจะหาของกินได้ยาก
มีอะไรก็ต้องนำมาใช้ประโยชน์ ดังนั้นน้ำปัสสาวะจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
ที่สามารถหามาทดแทน ได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพระภิกษุเข้าป่าไกลๆ
พบผลสมอ จะทำอย่างไรเพื่อถนอมให้ผลสมออยู่ได้นาน
เนื่องจากสมอมีสรรพคุณ เป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยฝาดสมาน เป็นยาที่รู้เปิดรู้ปิดเองอัตโนมัติ
ถือว่าเป็นยาคุมธาตุในตัวเองให้สมดุล พระท่านก็จะ ใช้น้ำปัสสาวะ
ตัวเองนี่แหละนำไปดองสมอ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ได้นาน นี่ก็นับว่าเป็นภูมิปัญญาโบราณที่ใช้กันมา
เมื่อเรามาวิเคราะห์ดูก็
ไม่น่าแปลก ที่ใช้น้ำปัสสาวะดองสมอ เพราะในน้ำปัสสาวะมีสารเกลือ-แร่ต่างๆก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่แยบยลยิ่งนักของภูมิปัญญา
อีกทั้งอยู่ในที่กันดารในป่า ขาดน้ำ ขาดเกลือ ใกล้ตัวก็คือน้ำปัสสาวะนี่เอง
ในแง่ของหมอปัจจุบันมีการนำน้ำปัสสาวะ
มาตรวจวิเคราะห์เช่นกัน ในน้ำปัสสาวะ ๑๐๐ ซีซี
จะพบว่ามีน้ำประมาณ ๙๕% อีก ๕% ก็เป็นแร่ธาตุต่างๆ เช่น โปรตีน เกลือแร่
แคลเซียม โปรแตสเซียม ฮอร์โมน อินเตอร์ฟีรอน และอื่นๆ สารต่างๆเหล่านี้
หากมีมากเกิน ความต้องการ ร่างกายก็จะขับออก หรือหากไตมีปัญหาไม่สามารถกรองเก็บปัสสาวะได้
ก็รั่วออกมาเช่นกัน
ดังนั้นทางการแพทย์ถือว่า น้ำปัสสาวะเป็นหน้าต่างสุขภาพอีกอย่างหนึ่ง
เพราะโรคหลายชนิดวินิจฉัยได้จากผลการตรวจปัสสาวะได้ เช่น มีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะมาก
แสดงถึงการติดเชื้อ การอักเสบ ตรวจพบมีเลือด แสดงถึงการเป็นนิ่ว ปัสสาวะน้อยแสดงให้เห็นว่า
ร่างกายขับน้ำออกมาไม่ได้ จะมีอาการบวม หรือถ้ามีน้ำตาลในเลือดมาก
ก็จะขับน้ำตาลออกมาทางปัสสาวะในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เหล่านี้เป็นต้น
นอกจากนี้จะเห็นว่า ตำราในแผนโบราณจะมีศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับปัสสาวะด้วยเหมือนกันเรียกว่า
"ทุลาวสา ๔ ประการ" ซึ่งเป็นการสังเกตสีของน้ำปัสสาวะ
และวินิจฉัยโรคได้เช่นกัน ได้แก่
๑. น้ำปัสสาวะสีขาวเหมือนน้ำซาวข้าว อาจเกิดจากมีหนอง มีไข่ขาวมากเกิน
จะพบในคนโรคไต
๒. น้ำปัสสาวะสีแดงเหมือนน้ำฝางต้ม แสดงว่ามีเลือดออกในระบบทางเดินปัสสาวะ
๓. น้ำปัสสาวะสีดำเหมือนน้ำปลา หรือสีโคล่า แสดงถึงภาวะจากโรคเลือดต่างๆ
๔. น้ำปัสสาวะสีเหลืองอ๋อยเหมือนอำพัน แสดงถึงภาวะตับผิดปกติ
หลักการสังเกตน้ำปัสสาวะที่มีสีเหลืองว่า
ปกติหรือผิดปกติมีหลักการสังเกตง่ายๆดังนี้
ในกรณีที่มีสีเหลืองเหมือนน้ำชาเข้ม
บางครั้งชาวบ้านเข้าใจผิดว่าสีเหลือง ถ้าเป็นปัสสาวะที่ปกติ
เมื่อเขย่าให้เกิดฟองจะเห็นว่า ฟองของน้ำปัสสาวะมีสีขาว ถ้าหากเขย่าน้ำปัสสาวะที่มีสีเหลืองแล้ว
เกิดฟองสีเหลืองจัดเหมือนอำพัน แสดงว่ามีความผิดปกติ โบราณใช้หลักการนี้เช่นกัน
ก็ไม่ต่างกับการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการของหมอปัจจุบันสักเท่าใด
ต่างกันที่ว่า เขาไม่สามารถมองเห็นตั้งแต่ยังเริ่มต้นซึ่งหมอปัจจุบันใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู
สำหรับตัวหมอเองแล้ว ถ้าหากถามว่าการดื่มน้ำปัสสาวะตัวเองสมควรหรือไม่
ก่อนอื่นต้องบอกว่า หากมองด้วยสายตาของความเป็น ธรรมว่า
น้ำปัสสาวะคือสารเกลือแร่ชนิดหนึ่งที่ถูกปรุงขึ้นมา ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจ
ดังนั้นการนำน้ำปัสสาวะตัวเองมาดื่ม หมอถือว่า เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล
ถ้าหากไม่มีการกล่าวอ้างหรือโอ้อวดว่ารักษาโรคได้สารพัด ก็ไม่น่าเป็นปัญหา
เพราะเคยสรุปแล้วว่า น้ำปัสสาวะคนปกติปลอดภัย
ส่วนเรื่องของการรักษาโรคนั้น จะต้องมีการศึกษาวิจัยเสียก่อน
เพราะคนเป็นโรค น้ำปัสสาวะมีลักษณะต่างออกไปจากคนปกติ จึงต้องมีผู้ดื่ม
น้ำปัสสาวะจำนวนมากพอที่จะวิจัยและยินดีเข้าร่วมวิจัยอย่างเป็นระบบ
มิใช่เป็นความสำเร็จเพียงบางคนแล้ว นำมาสรุปว่ารักษาโรคได้ สารพัด
เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษาวิจัยปัสสาวะก็เป็นเรื่องที่ดี เราพยายามทำมาหลายครั้ง
แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากไม่มีอาสาสมัคร ดังนั้นปีนี้เราจะพยายามอีก
ใครมีข้อคิดเห็นอะไรก็แนะนำมาได้เพื่อเป็นแผนความช่วยเหลือคนกินฉี่
ให้ได้ข้อสรุปด้านวิชาการที่ชัดเจนต่อไป