หน้าแรก>สารอโศก

งานโฮมไทวัง

งานโฮมไทวัง ระหว่างวันที่ ๔-๕ มิถุนายน ๒๕๔๖ ที่สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต วิชชาเขตราชธานีอโศก มีรายละเอียดดังนี้

๔ มิ.ย.
นับเป็นวันสำคัญของชาวสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต นิสิตฯ และคุรุจาก ๖ วิชชาเขต ซึ่งประกอบด้วยวิชชาเขตราชธานีฯ, ศีรษะฯ, ปฐมฯ, สันติฯ, ศาลีฯ, และสีมาฯ จะนำว่าที่นิสิตมาทำการสอบสัมภาษณ์ ในปีนี้มีผู้สนใจสมัครเป็นนิสิตฯ ๑๐๕ คน ผ่านการสอบสัมภาษณ์จำนวน ๙๘ คน มาจากวิชชาเขตราชธานีอโศกมากที่สุดจำนวน ๓๐ คน

คณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ประกอบด้วย สมณะ-สิกขมาตุ และคุรุ รวมทั้งหมด ๔๕ ท่าน โดยมีพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์เป็นประธาน ใช้สถานที่บริเวณชั้น ๓ เฮือนศูนย์สูญ เริ่มทำการสอบสัมภาษณ์ตั้งแต่เวลา ๐๔.๓๐-๑๐.๓๐ น. โดยสอบสัมภาษณ์คุรุใหม่จำนวน ๓ ท่าน เสร็จแล้วสัมภาษณ์ว่าที่นิสิต

ภาคบ่ายนิสิตที่ผ่านการสอบสัมภาษณ์ และผู้สนใจ ร่วมฟัง "โครงการเพิ่มศักยภาพองค์กรชาวอโศก" โดย คุรุสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง

ภาคค่ำนิสิตใหม่ร่วมฟังบรรยายเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี เพื่อชีวิตเป็นสุข จากอาจารย์มานพ ประภาษานนท์ นักกายภาพบำบัดจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี

๕ มิ.ย.
นอกจากจะเป็นวันคล้ายวันเกิดของพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ที่มีอายุครบ ๖๙ ปีแล้ว ยังเป็นวันฉลองวันเกิดหมู่บ้านราชธานีอโศกปีที่ ๗ และเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ในภาคเช้าร่วมฟังธรรมจากพ่อท่าน ซึ่งบางส่วนได้แสดงไว้ สรุปได้ว่า

...กรรมพันธุ์ คือการถ่ายทอดทางจิตวิญญาณ ซึ่งถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานหรือแก่กันและกันไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของของตน และเราต้องรับมรดกแห่งกรรมของตน ซึ่งถ้าเราสามารถควบคุมแก้ไขมันได้ ก็จะสามารถเปลี่ยนกรรมพันธุ์มาเป็นกรรมพันธุ์ที่ดีได้

กรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในชีวิตมนุษย์ ซึ่งจิตใจเป็นใหญ่เป็นประธานของการเปลี่ยนกรรม ถ้าเราสามารถควบคุมบังคับจิตวิญญาณ ได้ก็จะชนะสิ่งต่างๆได้ จะบังคับให้เป็นเช่นไรก็ได้ จะให้เกิด ให้ตาย หรือดับสูญพันธุ์ก็ได้ พระพุทธเจ้าก็ทำให้จิตวิญญาณตนเองเป็นหมัน ไม่สืบต่อไปอีก

จิตวิญญาณจะต้องอาศัยการฝึกฝนกรรมของตนจนสามารถแก้ไขกรรมได้ ต้องทำจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์แล้ว ต้องศึกษา ฝึกฝน เรียนรู้เพื่อให้มีโลกวิทู สามารถช่วยโลกได้ การฝึกคิด ฝึกเรียนรู้ ทำให้เราคิดอะไรลึกซึ้ง ซึ่งจะมีผลต่อการปฏิบัติธรรมด้วย

การติดในกามคุณ ๕ จะทำให้เราวนเวียนสุขๆทุกข์ๆ อยู่ไม่จบสิ้น ถ้าเราล้างอุปาทานต่างๆได้ก็จะไม่สุข-ทุกข์อีก.... ถ้าเราล้างความติดหลงได้จริง ก็จะไม่ชอบไม่ชังอีก.... คนที่มีโลกวิทู จะสามารถช่วยโลกได้ และช่วยอย่างมีศิลปะ.... คนที่ไม่ต้องบำเรอตนด้วยกามคุณ ๕ ก็จะหมดภาระ ไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาอะไรมาบำเรอตนอีก เพียงแค่รู้สิ่งต่างๆตามสมมุติ.... จิตวิญญาณสามารถฝึกให้ล้างกิเลสและเรียนรู้โลกวิทูให้เก่งก็ได้

....สำหรับนิสิตจะต้องถือศีล ๘ และอยู่ประจำวิชชาเขต อาจจะไปอื่นบ้างเป็นครั้งคราวไม่เกิน ๖ เดือน.... การศึกษาจะพาตนให้บริสุทธิ์ แล้วสามารถพาคนอื่นไปด้วย จะได้แค่ไหนก็ขึ้นกับตัวเรา เหมือนช่วยคนขึ้นจากบ่อ ต้องรู้กำลัง น้ำหนัก... เราจะทำงานไปด้วย ล้างกิเลสไปด้วย นี่เป็นทฤษฎีวิเศษสุดของพุทธศาสนา..... ให้ทุกคนลดกามที่เหลือให้หมด จนเป็นพระอนาคามี และอรหันต์ให้ได้ และอย่าลืมทำขบวนการกลุ่ม อย่าทำขบวนการกลุ้ม...."

หลังจากนั้นร่วมกันออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
๐๘.๐๐ น. คุรุใหม่-นิสิตใหม่ซ้อมรับเข็ม

๐๙.๐๐ น. พิธีรับเข็มของคุรุใหม่-นิสิตใหม่และบัตรประจำตัวจากพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ หลังจากนั้นพ่อท่านได้ให้โอวาทว่า "...เป้าหมายของการเป็นนิสิตคือ ให้เราเป็นผู้มีวรรณะ ๙ และมีสภาพเป็นคน ๓ โลก คือ ๑. โลกุตรโลก(อยู่เหนือโลก) ๒. โลกวิทู(รู้เท่าทันโลกียะ) ๓. โลกานุกัมปายะ(มีใจอยากเกื้อกูลโลก มีเมตตา มีน้ำใจ มีกรุณา) เราศึกษาเพื่อช่วยโลกมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อแย่งชิงทำลายโลก คนทั่วไปในโลกมนุษย์"

คุณสมบัติของคุรุสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต
๑. คุรุจะต้องเป็นผู้เอาภาระ ไปไหนไปด้วย กินอยู่หลับนอน สอดส่องดูแล กิจกรรมกลุ่มใหญ่ของนิสิตเสมอ
๒. มีวิญญาณความเป็นครู
๓. มีบุคลิกที่ดี มีมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดี
๔. ต้องอยู่ประจำชุมชนนั้นๆ
๕. รู้จักการทำปฏิบัติวิทยาและการทำวิจัย
๖. มีแนวโน้มสู่การเป็นนักบริหารทางธรรม(อนาคาริก)
๗. มีพฤติกรรมถือสมาทานชีวิตพรหมจรรย์(ศีล ๘)

สำหรับปัญหาการจัดการศึกษา ม.วช.ของ ๖ วิชชาเขต มีดังนี้
- ราชธานีอโศก
๑. นิสิตไม่ถนัดในการวางแผน ถ่ายทอด การทำงาน คิดเองไม่เป็น ต้องรอให้บอก
๒. นิสิตไม่ถนัดในการเขียนบันทึก
๓. การให้คะแนนประเมินผลกันเองทำไม่เป็น

- ศีรษะอโศก
๑. นิสิตไม่ค่อยขึ้นทำวัตรเช้า
๒. นิสิตไม่ค่อยเขียนบันทึก
๓. นิสิตออกนอกพื้นที่บ่อย รับงานนอกพื้นที่มาก
๔. นิสิตสุรุ่ยสุร่าย ไม่เก็บหาง
๕. มีการลาออกจากนิสิตบ้าง เพื่อไปพิสูจน์ฝีมือ

- สีมาอโศก
๑. นิสิตไม่ค่อยขึ้นทำวัตร, ส่งบันทึก
๒. สมณะอยู่ดูแลน้อย และออกนอกพื้นที่ไปประชุมดูแลเครือข่าย
๓. คุรุไม่เข้มแข็ง ตัดสินใจไม่แน่นอน

- ปฐมอโศก
๑. นิสิตมีหลากหลายวัยมาก ทำให้เข้าใจกันลำบาก
๒. นิสิตวัยรุ่นไม่สนใจการประเมินผลการศึกษา ไม่สนใจงานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ สนใจแต่สื่อสาระ(ดนตรี วีดีโอ)
๓. นิสิตไม่ค่อยขึ้นทำวัตร
๔. นิสิตพักการเรียนเกินกำหนด ไม่แจ้ง

- สันติอโศก
๑. คุรุประสานงานกันไม่ดี
๒. คุรุไม่ลงพื้นที่ ดูแล ให้คำแนะนำช่วยเหลือ เอาใจใส่นิสิตที่ปฏิบัติงานตามฐานต่างๆในชุมชน
๓. นิสิตขยันส่งงานเขียน ส่งปฏิบัติวิทยา แต่ไม่มีคุรุดูแลงานด้านนี้

- ศาลีอโศก
๑. คุรุไม่มี นิสิตเคว้งคว้าง ต้องหาที่หลบภัย
๒. ความมั่นคงในจิตใจของนิสิตมีน้อย

ปัญหาอื่นๆ
๑. การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่เรามีภาระงานเต็มมือ ควรมีหลักการอย่างไร
๒. การรับงานภายนอกมาก ทำให้กลุ่มหรือองค์กรภายในอ่อนแอลง
๓. การใช้หลักการบริหารแบบ CEO [Chif Executive officer] บูรณาการขององค์กรชาวอโศกควรทำอย่างไร
๔. การศึกษาเป็นไปเพื่อรับใช้ชุมชน - แก้ปัญหาชุมชน
๕. ปัญหา "ขบวนการกลุ้ม" ขบวนการกลุ่มควรส่งเสริมกิจการภายใน

ปัจจุบันมีคุรุ ๒๓ คน นิสิต ๑๑๑ คน แบ่งออกเป็น ๖ วิชชาเขต

ปีการศึกษา ๒๕๔๖ มีคุรุเพิ่มอีก ๓ ท่าน และมีนิสิตใหม่เพิ่มอีก ๙๘ คน

หลังจากนั้นนิสิตใหม่ถ่ายรูปร่วมกับพ่อท่าน แล้วรับประทานอาหารร่วมกัน พร้อมกับชมการแสดงจากนิสิตทั้ง ๖ วิชชาเขต

สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต เดิมชื่อ มหาลัยวังชีวิต ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ มี.ค. ๒๕๓๙ มีสัญลักษณ์เข็มเครื่องหมาย เส้นสองเส้นตัดกันเป็น รูปกากบาท เส้นขวางสั้นหมายถึงแนวระนาบ ความกว้าง เส้นตั้งยาวหมายถึง แนวดิ่ง แนวลึก แสดงให้เห็นว่าแนวดิ่งสำคัญกว่าแนวระนาบ เนื่องจากสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณลักษณะอันละเอียดลึกซึ้งในจิตใจมนุษย์มากกว่าปริมาณ ดังเช่นมีคำกล่าวไว้ว่า เน้นเนื้อให้เหนือกว่ามาก เน้นลากแม้ยากกว่าแล่น เน้นจริงให้ยิ่งกว่าแค่น เน้นแก่นให้แน่นกว่ากว้าง

เส้นโค้งเชื่อมเส้นขวางกับเส้นตั้ง หมายถึง ความประสาน ความเกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์ที่มีอาการอนุโลมปฏิโลม ยืดหยุ่นอย่างมีปัญญา มีระเบียบมีระบบ มีความสวยงาม เป็นความโค้งที่มีทิศทาง มีหลักเกณฑ์ มีรูปร่างเป็นการโค้งเข้าหาแก่นเสมอ และวงกลมตรงกลาง หมายถึงศูนย์อันเป็นที่รวมของความเต็มสมบูรณ รวมพลังรวมความสามัคคี รวมกลุ่มคนหมดกิเลส รวมกุศล รวมความหมดกิเลส

สีประจำสถาบันคือ สีน้ำตาลและสีขาว สีน้ำตาลหมายถึงแผ่นดิน สีขาวหมายถึงศาสนา สัมมาสิกขาลัยวังชีวิตมีเป้าหมายในการพัฒนาคน ให้มีคุณสมบัติดังนี้
๑. มีปรกติรักษาศีล ๘ โดยไม่ยากไม่ลำบาก
๒. มีสมรรถนะในการทำงาน ประกอบอาชีพที่ปลอดพ้นจากมิจฉาอาชีวะ ๕
๓. มีความรอบรู้เพียงพอแก่การพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคมอยู่เสมอ

สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต เป็นการศึกษาบุญนิยมที่พระโพธิสัตว์พาทำ เพื่อต่อยอดจิตวิญญาณให้กับชาวอโศก เป็นขบวนการกลุ่มที่พัฒนา ไปพร้อมๆกัน และร่วมสร้างชุมชนบุญนิยมให้เข้มแข็งและเติบโตยิ่งๆขึ้น ถึงพร้อมทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

- ทีมนิสิตใหม่ -

(สารอโศก อันดับที่ ๒๖๐ พฤษภาคม ๒๕๔๖)