หลายที่หลายแห่งนานาประเทศทั่วโลก
มีผู้คนส่วนหนึ่งพากันดำรงชีวิตอยู่ ด้วยการอาศัยอาหาร ที่ได้มาจากพืชผัก
และนมเนย โดยไม่ต้องอาศัยการฆ่าแกงทำร้ายสัตว์อื่น แล้วนำมากินเป็นอาหารเลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศอินเดีย
อันเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนา ซึ่งนับแต่โบราณกาล มาจนตราบ เท่าทุกวันนี้
ชาวอินเดียส่วนใหญ่ก็ยังคงไม่กินเนื้อสัตว์กันเป็นอาหาร แต่จะกินพืช
ผัก ผลไม้ นม เนย เป็นอาหาร หลักสำคัญของชีวิต
บทความนี้
จะเป็นการเสนอแง่มุมคิดเกี่ยวกับ "อาหารมังสวิรัติ"
ในแง่มุมทางพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ใช่แง่มุม ทางสุขภาพอนามัย
ไม่ใช่ทางโภชนาการ ไม่ใช่ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจ ฯลฯ เป็นความคิดเห็น
ที่อาศัยคำตรัสของพระพุทธเจ้า ที่มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอ้างอิง
ในพระไตรปิฎกมีอยู่มากมายหลายพระสูตร
ที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ แล้วมีส่วนเกี่ยวพันกันไปถึง "มังสวิรัติ"
อันคือ งดเว้นการกินอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆจากสัตว์ ซึ่งได้มาจากการฆ่าสัตว์เพื่อทำเป็นอาหาร
ที่นี้จะขอยกมากล่าวถึงเพียงบางพระสูตรเท่านั้น
ได้แก่...
พระพุทธองค์ตรัส
(๑)
"ละการฆ่า เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ(โทษภัย) วางศาสตรา(ของมีคม)แล้ว
มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์ แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่
ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้
แม้ด้วยการกระทำอย่างนี้ ก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย"
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ "อุโปสถสูตร" ข้อ๕๑๐)
จากพระสูตรนี้ก็คือ
ศีลข้อที่ ๑ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์นั่นเอง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงห้าม
การฆ่าสัตว์เอาไว้ แก่พุทธศาสนิกชนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะ อาชีพใดๆ
คือ เป็นข้าราชการ พ่อค้า ลูกจ้าง กรรมกร ทั้งหญิง ชาย ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่
เมื่อเป็นชาวพุทธ ก็ต้องพยายามถือศีลข้อที่ ๑ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์
มีใจเอ็นดู แก่สัตว์ทั้งปวง ถ้าปฏิบัติกันจริงเมืองไทยย่อมจะหาเนื้อสัตว์กินกันได้ยาก
ภายในเมืองพุทธ แห่งนี้ อาหาร การกินส่วนใหญ่ ก็คงต้องเป็น
"อาหารมังสวิรัติ" นั่นแหละมากกว่า
ดังนั้นการที่ชาวพุทธชักชวนกันเลิกกินเนื้อสัตว์ได้
ก็จะเป็นการเอื้อเฟื้อต่อศีลข้อที่ ๑ ที่พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติ เอาไว้
จะได้ไม่ทำให้ศีลข้อนี้ต้องกลายเป็นหมันไป
มิฉะนั้นแล้ว ยิ่งมีคนกินเนื้อสัตว์กันมากเท่าใด
ก็ย่อมต้องมีการฆ่าสัตว์เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น อันเป็น การส่งเสริม
ให้ชาวพุทธ กระทำผิดศีลข้อที่ ๑ เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
พระพุทธองค์ตรัส
(๒)
การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึงกระทำคือ
๑.การค้าขายศาสตรา ๒.การค้าขายสัตว์(เป็น) ๓.การค้าขายเนื้อสัตว์(ตาย)
๔.การค้าขายน้ำเมา ๕.การค้าขายยาพิษ
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ "วณิชชสูตร" ข้อ๑๗๗)
นอกจากทรงห้ามการฆ่าสัตว์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ยังทรงห้ามไปถึง....การค้าขายสัตว์ทั้งที่มีชีวิตอยู่
หรือ ทั้งที่ตาย กลายเป็นเนื้อสัตว์ด้วย
ดังนั้นก็จะยิ่งเห็นได้ชัดเจน ถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่
ในด้านอาหารการกินของชาวพุทธได้ว่า จะทำเป็น
"อาหารมังสวิรัติ" ค้าขายกันเกลื่อนกล่นทั่วไปอย่างแน่นอน
ถ้าพุทธศาสนิกชน ปฏิบัติตามคำสอน ของพระพุทธเจ้า อย่างถูกตรงแล้ว
พระพุทธองค์ตรัส
(๓)
"สัตว์ทั้งหลายที่ไม่ได้ประทุษร้ายใคร ถูกนำมาฆ่า คนผู้ทำการบูชาด้วยความตายของสัตว์ทั้งหลาย
ย่อมเสื่อมจากธรรม วิญญูชนติเตียนแล้วอย่างนี้
วิญญูชนเห็นความจริง อันเลวทรามเช่นนี้ ในที่ใด ย่อมติเตียนคนผู้ทำการบูชาด้วยความตายของสัตว์ในที่นั้น"
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ "พราหมณธรรมิกสูตร"
ข้อ ๓๒๓)
ไม่ใช่แค่เพียงห้ามชาวพุทธไม่ให้ฆ่าสัตว์
และห้ามค้าขายเนื้อสัตว์เท่านั้น พระพุทธเจ้ายังทรงติเตียนห้ามปราม
แม้กระทั่งการใช้ความตายของสัตว์อื่น มาเป็นเครื่องสักการะบูชาอีกด้วย
ดังนั้นการที่จะนำเอาเลือด
เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้พุง หรืออวัยวะอื่นใดของสัตว์ มาเป็นเครื่องบูชา
ต่อสิ่งที่ เราเคารพนับถือ หรือต่อบุคคลที่เราเคารพนับถือนั้น จึงเป็นการทำบาปมาหวังบุญ
ช่างน่าติเตียน ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง
เมื่อเป็นเช่นนี้ การกราบไหว้บูชาใดๆของชาวพุทธ
หรือแม้การตักบาตรพระ ก็ควรเป็นอาหาร ที่ไม่ต้อง เกิดบาปกรรม จากการฆ่าสัตว์ให้ถึงแก่ความตายเลย
คือเป็น"อาหารมังสวิรัติ" จะประเสริฐกว่า
พระพุทธองค์ตรัส
(๔)
"ชนใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม
พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังทรงฉัน เนื้อสัตว์ที่เขาทำเฉพาะตน
อาศัยตนทำดังนี้
ชนเหล่านั้นจะชื่อว่า กล่าวตรงกับที่เรากล่าวก็หามิได้ ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่จริง
เรากล่าวเนื้อสัตว์ว่า
เป็นของควรบริโภค ด้วยเหตุ ๓ ประการคือ
๑. เนื้อสัตว์ที่ตนไม่ได้เห็น(ว่าเจาะจงฆ่ามา)
๒. เนื้อสัตว์ที่ตนไม่ได้ยิน(ว่าเจาะจงฆ่ามา)
๓. เนื้อสัตว์ที่ตนไม่ได้รังเกียจ(ว่าเจาะจงฆ่ามา)
และเรากล่าวเนื้อสัตว์ว่า ไม่ควรเป็นของบริโภค ด้วยเหตุ ๓ ประการคือ
๑. เนื้อสัตว์ที่ตนเห็น(ว่าเจาะจงฆ่ามา)
๒. เนื้อสัตว์ที่ตนได้ยิน(ว่าเจาะจงฆ่ามา)
๓. เนื้อสัตว์ที่ตนรังเกียจ(ว่าเจาะจงฆ่ามา)
(พระไตรปิฎก เล่ม ๑๓ "ชีวกสูตร" ข้อ ๕๗)
พระพุทธเจ้าทรงเป็นคนในลัทธิฮินดูมาก่อน
ซึ่งไม่เคยเสวยเนื้อสัตว์เลยตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นใครกล่าวว่า
พระพุทธเจ้าทรงฉันเนื้อสัตว์ คนนั้นย่อมกล่าวตู่พระพุทธเจ้า
แต่แม้ว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นนักมังสวิรัติก็ตาม ถึงกระนั้นก็ยังทรงมีบทอนุโลมให้แก่พระอยู่บ้าง
ในกรณีที่ญาติโยมนำอาหารเนื้อสัตว์มาถวายพระ....
พระสามารถฉันเนื้อสัตว์นั้นได้ โดยไม่เป็นความผิดบาป
ก็ต่อเมื่อพระนั้นจะต้องไม่ได้เห็นว่าเขาเจาะจงฆ่ามา
หรือจะต้องไม่ได้ยินว่าเขาเจาะจงฆ่ามา
หรือจะต้องไม่ได้รังเกียจว่าเขาฆ่าสัตว์กระทำผิดศีลข้อที่๑
เพื่อเอาเนื้อ มาทำเป็นอาหาร แล้วนำเนื้อนั้นมาเจาะจงถวายให้พระ
แต่ถ้าพระเห็นว่าเขาเจาะจงฆ่ามา
หรือได้ยินว่าเขาเจาะจงฆ่ามา หรือคิดรังเกียจ ว่าเขาฆ่าสัตว์ กระทำ
บาปกรรมขึ้น ก็เพื่อเอาเนื้อสัตว์ มาทำอาหาร แล้วนำอาหารเนื้อสัตว์นั้นมาเจาะจงถวายให้พระ
เมื่อพิจารณา ดังนี้แล้วรู้สึกรังเกียจ พระก็ไม่สมควรฉันเนื้อสัตว์นั้นเลย
เพราะย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า พระเองได้ กลายเป็น ต้นเหตุ ให้สัตว์ต้องตาย
และเป็นต้นเหตุให้ญาติโยมต้องได้"บาป" ในการทำผิดศีลข้อ
๑ ซะแล้ว ซึ่งถือว่าเป็น "การทำบุญ"
แต่"ได้บาป"ของชาวบ้านนั่นเอง
ดังนั้น หากเป็น"อาหารมังสวิรัติ"แล้ว
ก็คงหมดห่วงในปัญหาเหล่านี้ไปได้ทั้งหมด เพราะพระท่านสามารถ จะพิจารณา
อาหารได้ง่าย และ ฉันได้อย่างสบายใจ
พระพุทธองค์ตรัส
(๕)
"ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป
มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วย
เหตุ ๕ ประการคือ
๑. ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปนำสัตว์ชื่อโน้นมา
พูดดังนี้ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญ เป็นอันมาก
๒. สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้รับทุกข์เสียใจ
ทำดังนี้ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก
๓. ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้
พูดดังนี้ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก
๔. สัตว์นั้นเมื่อกำลังถูกเขาฆ่า ย่อมได้รับทุกข์เสียใจ
ดังนี้ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก
๕. ผู้นั้นย่อมยังตถาคตและสาวกตถาคตให้ยินดีด้วยเนื้อสัตว์อันเป็นอกัปปิยะ
(ของต้องห้าม ไม่สมควร แก่ภิกษุ จะบริโภค) ทำดังนี้ชื่อว่า ย่อมประสบบาป
มิใช่บุญเป็นอันมาก
(พระไตรปิฎก เล่ม ๑๓ "ชีวกสูตร" ข้อที่ ๖๐)
บรรดาชาวบ้านที่ทำอาหารเนื้อสัตว์ไปถวายพระ
หรือใส่บาตรพระ เพื่อหวังบุญกุศลนั้น จะรู้หรือไม่ว่า
การที่สัตว์ ต้องถูกฆ่า เพื่อทำเป็นอาหารนั้น ก็เป็นบาปกรรมแล้ว แต่จะบาปหนักขึ้นมิใช่บุญเลย
เมื่อเจาะจง นำเนื้อสัตว์นั้น ไปถวายพระ
ดังนั้นผู้ปรารถนาบุญอย่างแท้จริง
ไม่น่าเสี่ยงต่อการที่จะทำบุญแล้วได้บาปแทน สมควรทำเป็น "อาหารมังสวิรัติ"
ดีกว่า จะได้บุญสมใจ ทั้งยังเป็นการปฏิบัติถูกต้อง ไม่ประมาท ต่อคำเตือน
ของพระพุทธเจ้า อีกด้วย
ในพระสูตรนี้มีข้อน่าสังเกต ที่ชาวบ้านอาจคาดไม่ถึงก็คือ
การฆ่าสัตว์ทำเป็นอาหาร แล้วเจาะจง นำอาหาร เนื้อสัตว์นั้น ไปถวายพระ
จะได้รับบาปกรรมแทนบุญนั้น เหตุหนึ่งก็เพราะ ทำให้พระเกิดความยินดี
ในการฉัน เนื้อสัตว์ อันเป็นของต้องห้าม ที่พระไม่ควรฉัน
พระพุทธองค์ตรัส
(๖)
"ดูก่อนภิกษุ ภิกษุฉันเนื้อเดน(ของเหลือทิ้ง)จากราชสีห์ เนื้อเดนจากเสือโคร่ง
เนื้อเดนจากเสือเหลือง เนื้อเดน จากเสือดาว เนื้อเดนจากสุนัขป่า ภิกษุนั้นไม่เป็นอาบัติ
(ไม่เป็นโทษผิด)
(พระไตรปิฎก เล่ม ๑ "ทุติยปาราชิกกัณฑ์ วินีตวัตถุ"
ข้อ ๑๓๗)
โอกาสที่พระจะฉันเนื้อสัตว์ได้ ก็ยังมีอยู่อีกประการคือ
เนื้อสัตว์ที่เป็นของเหลือทิ้งแล้ว จากการถูกฆ่าตาย ด้วยสัตว์ ดิรัจฉานอื่นๆ
ดังนั้นหากชาวบ้านได้เนื้อเดนสัตว์
หรือเนื้อบังสุกุล(เนื้อทิ้งแล้ว)มา ย่อมสามารถนำมาทำเป็นอาหาร ถวายพระ
ได้โดยปลอดภัย ไร้โทษบาปเวรใดๆ มิหนำซ้ำยังเป็นบุญกุศลอีกด้วย
พระพุทธองค์ตรัส
(๗)
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า
เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี
เนื้อเสือดาว
อนึ่ง ภิกษุยังไม่ได้พิจารณา ไม่พึงฉันเนื้อ หากภิกษุรูปใดฉันเนื้อนั้น
ต้องอาบัติ (ต้องโทษผิด) ทุกกฏ
(พระไตรปิฎก เล่ม ๕ "เภสัชชขันธกะ" ข้อ ๕๙-๖๐)
พระพุทธเจ้าอนุโลมให้พระฉันเนื้อได้บ้างเท่านั้น
ด้วยเหตุบางประการดังกล่าวมาแล้ว แต่แม้ในบท อนุโลม นั้น ก็ไม่ทรงอนุญาตให้พระฉันเนื้อ
๑๐ ชนิดเหล่านี้เลย หากพระรูปใดฉัน ก็ต้องมีความผิด
นั่นก็คือ ชีวิตปกติจะต้องงดเว้นเนื้อ(มังสวิรัติ)
๑๐ ชนิดเหล่านี้อย่างเด็ดขาด
จุดที่น่าให้ความสนใจ ในพระสูตรนี้ก็คือ
ทุกครั้งที่พระจะฉันอาหารเนื้อสัตว์ ซึ่งญาติโยมนำมาถวาย
จะต้อง พิจารณาเนื้อนั้น ให้ชัดเจน ก่อนขบฉันทุกครั้งไปว่า เนื้อนั้นห้ามฉันหรือไม่
อันเป็นความยุ่งยาก แก่พระ ไม่น้อยทีเดียว ฉะนั้นจึง ควรทำอาหารประเภท
ไม่มีเนื้อสัตว์ ใส่บาตร หรือถวายพระจะดีกว่า
โดยสรุปจากพระสูตรเท่าที่ยกตัวอย่างมานี้
ก็พอจะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็น "นักมังสวิรัติเอกของโลก"
อย่างแน่นอน เพราะทรงใช้ วิธีการต่างๆ นำมาห้ามกั้นไม่ให้ชาวพุทธ
ได้กินเนื้อสัตว์ ทั้งยังทรงตำหนิการฆ่าสัตว์ อันเป็นที่มาของอาหารเนื้อสัตว์ว่า
เป็นเรื่องบาปกรรมแท้ๆ
ส่วนผู้ที่ยังมีความสงสัยว่า พระพุทธเจ้าทรงฉันอาหารชื่อ"สุกรมัทวะ"
แล้วก็ถึงแก่ปรินิพพานไปนั้น อย่าเข้าใจผิดว่า อาหารสุกรมัทวะนั้น
คือ"เนื้อสุกรอ่อน" เพราะที่ถูกต้องเป็นจริงนั้นคือ
"อาหารที่ปรุงด้วยเห็ด ชนิดที่หมูชอบกิน"
ต่างหากเล่า ซึ่งสามารถค้นดูหลักฐานได้จาก พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ "มหาปรินิพพานสูตร"
ข้อ ๑๑๗ แล้วท่าน ก็จะได้หมดสงสัยเสียที
สุดท้ายนี้ถามใจตัวเองดูสิว่า
วันพระนี้ หรือ....
วันคล้ายวันเกิด (จันทร์,อังคาร,...ฯลฯ) ในสัปดาห์นี้ หรือ....
เข้าพรรษานี้
ลองหันมากิน "อาหารมังสวิรัติ"
และทำ "อาหารมังสวิรัติ" ถวายพระให้เป็นบุญกุศลกัน
ดีไหมเอ่ย...
O จิตเกษม สิริเดช
สารอโศก
อันดับ ๒๖๑ มิถุนายน ๒๕๔๖