หน้าแรก>สารอโศก

- ทีม สมอ. -

เข้าพรรษา

ปรมัตถ์ที่จะได้จากการประพฤติปฏิบัติธรรม ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น จะเป็นตัวชี้บ่ง เป็นเครื่องวัดค่า ซึ่งพอที่ จะทำให้เรา และผู้อื่นรับรู้ว่า ทิศทางของเรากำลังมุ่งไปทางใด โต่งไปทางใด เพื่อหาทางจัดการ ปรับเปลี่ยน กระบวนท่า เสียใหม่ให้ถูกทิศถูกทางได้ทันท่วงที!

จากบทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ตอบประเด็นปัญหาต่างๆ สร้างปัญญาให้ลูกๆ ทั้งแนวลึก แนวกว้าง และนัยซับซ้อนต่างๆ เพิ่มภูมิปัญญา เพื่อรู้จักตัวเอง และพัฒนาตัวเองสู่สูงยิ่งขึ้น.

ความคิดอยากได้เงินมาช่วยหมู่กลุ่ม ไม่ได้คิดเอามาให้ตัวเองเลย ทำไมพ่อท่าน จึงกล่าวว่า เป็นโรค ซาร์ส ของชาวอโศก ?

การที่ใครคิดหาเงินมาช่วยหมู่กลุ่ม ก็ต้องพิจารณาตนเองว่า จิตวิญญาณของตนแสดงความอยากได้เงิน ทั้งๆที่เรา ทำงานอยู่ทุกวันนี้ ก็ได้เงิน พอถูไถ พอเป็นไปได้ ทีนี้ความตะกละเห็นเงินตาโต เห็นช่องทางโลภ ที่จะได้เงินมากๆ "อาการจิต" ที่ตื่นเต้น ตูมตาม กับการจะได้เงินมากๆ นี่แหละคือโรคซาร์สของอโศก เราศึกษา มาแล้วว่า การที่ยังไปยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ก็คือโลกีย์ แหม! มันรู้สึกวูบวาบ ได้เงินมา เยอะ อ้างเหตุผลว่าจะมาช่วยชาวอโศก ก็จริงที่อโศกไม่ได้มีสภาพหมุนเวียนคล่องปรี๊ด เหมือนทุนนิยม ที่กักเก็บ สะสม มีส่วนเกิน ไว้เยอะ ซึ่งอันนั้นเป็นคุณลักษณะของทุนนิยมแต่ถ้าเป็นชาวบุญนิยมแล้ว การมีเงินสะสม กักเก็บ กองโตไว้เผื่อ เหลือเผื่อจ่ายได้คล่องตัว เราถือเป็น โทษลักษณะ แสดงว่าไม่ใช่คนที่มักน้อยสันโดษ ซึ่งค้านแย้งกับหลักการ ค้านแย้งกับสัจธรรมทางบุญนิยมแน่นอน เพราะฉะนั้นแม้แต่ ในเชิงคิด หากเรามีความจำเป็น อย่างรีบด่วน รีบร้อน ที่จะให้ได้เงินนี้มาซึ่งไม่ใช่เป็นการอยากได้ อย่างมีอาการแรง ปรูดปราด ไม่ใช่การ เห็นเงินตาโต จริงๆแล้วมันยังพอเป็นพอไป เงินของเราหมุนเวียน ในสภาพคล่องตัว แบบระบบบุญนิยม ซึ่งต่างจาก การคล่องตัว แบบทุนนิยม

สภาพคล่องตัวของทุนนิยมนั้น เขาเฟ้อ เขาหมุนจี๋โดยไม่มีอะไรติดขัด แต่ของบุญนิยมจะมีลักษณะฝืดๆ หมุนฝืดหน่อยๆ เพื่อให้เกิด การพากเพียร พัฒนา และสร้างความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา มีลักษณะ ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง เป็นหลักเกณท์ ของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเป็นยถาสุขขัง ตั้งอยู่บน ความสุขสบายนั่น เป็นช่องทางให้ อกุศลธรรมเจริญยิ่ง หรือไม่ใช่ระเริงว่า มีพอแล้ว เหลือแล้ว เกินแล้ว เราจะนอนกินตีพุง จะเที่ยวจะเตร่จะสำเริง สำราญอะไรมากมายก็ได้ ต้องคำนึงถึง"อาการทางจิต" เป็นสำคัญ ส่วนประโยชน์ทางวัตถุทางภายนอก ซึ่งก็ต้องอาศัย แต่ต้องจัดเป็นเรื่องรองอย่างมีสัดส่วน นี่ลักษณะของ บุญนิยม กับทุนนิยม มันต่างกันในแนวลึกเช่นนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจแนวลึกอย่างนี้แล้ว ก็คงจะไม่มีปัญหา ในเรื่องว่า ทำไมต้องไปหาเงินช่วยชาวอโศก หรือทำแค่นี้กลายเป็นโรคซาร์ส ของชาวอโศก เชียวหรือ เป็นแน่ถ้าเห็นเงินเด่นกว่าความเป็นสาระของงาน เงินเราก็ต้องใช้ แต่อย่าให้เงินมีอำนาจ จนมีน้ำหนัก ทำเราให้หลง ก่อกิเลสฟูในจิต หรือก่ออัตตาแก่ตน ถ้างานนั้นได้เงิน ยิ่งกว่าสาระ อันควร นั่นแหละ ที่เป็นโรคซาร์ส ของชาวอโศก นัยสำคัญที่มุ่งหมาย มีความซับซ้อน อยู่พอสมควร ต้องจับประเด็น และกำหนด ตามให้แม่นๆคมๆชัดๆ


การที่เราคิดช่วยให้ศิษย์เก่าสัมมาสิกขา มาอยู่ใกล้วัด มีสัมมาอาชีพพ่อท่านมีความเห็นอย่างไร ?

ความคิดนี้ถูกต้อง แต่อยู่ที่ประเด็นเท่านั้น การจะให้ศิษย์เก่ารุ่นต่างๆไปมาอยู่ในแวดวงของเรา ร่วมศึกษาไปด้วยกัน สร้างสรรด้วยกัน เป็นแนวคิดวิเศษ เราคิดกันมาตลอด และพยายามทำกันอยู่ แต่ในวิธี ปฏิบัตินั้นเหมาะสมแค่ใดนั่นเป็นอีกปัญหาหนึ่ง เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เราต้องวิจัยเหตุปัจจัย ทั้งกาลเทศะ ใช้หลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการในการพิจารณา ไม่ใช่เป็นเตี้ยอุ้มค่อม ตัวเราเอง ก็อุ้มตนเอง ยากเย็นอยู่ แล้วจะไปลากคนอื่นมาอุ้ม มันสมควรไหมล่ะ เหตุการณ์นี้จำเป็นสำคัญ เร่งร้อนไหม มันจะกลายเป็น ไปโอ๋ทางด้านโน้น มากเกินไปไหม ส่วนงานด้านหลักภายในซึ่งมี ความจำเป็นที่จริง และมากกว่า ด้วยซ้ำ เขายังไม่เรียกร้อง แต่เราจะโกยอันนี้ออกไปช่วยคน ที่ยังไม่มีความจำเป็น เท่าจะเหมาะสมหรือไม่ อย่างนี้ เป็นต้น นี่เป็นลักษณะที่ซับซ้อนตามที่อาตมาหยิบมาอธิบายให้ฟัง

แต่ถ้าจะมีบางคนยืนกรานทำสิ่งที่ตัวเองคิด โดยที่เขาอาจไม่รู้เท่าทันกิเลส ผู้รู้ควรบอกแนะ เบรกเขา หรือ จะปล่อย ให้เขาทำต่อไป ทั้งที่เสียหายต่อส่วนรวม ?

อยู่ที่บุคคลซึ่งจะเบรกเขา คนๆนั้นสามารถเบรกเขาได้ ติงเขาได้หรือไม่ เพราะบางคนติงเขาไม่ได้เลย ดีไม่ดีโกรธกันด้วย บางคนติงแล้วได้สำนึก บางคนถึงขั้นดึงได้เลย เบรกเลยได้ เพราะฉะนั้น จะต้องประมาณ ตามเหตุปัจจัย แต่ละกรณีและแต่ละบุคคลด้วย บอกตายตัวไม่ได้

ตัวอย่างเรื่องไม้กฤษณา ดูเหมือนพ่อท่านจะห้ามปรามอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่งานมหาปวารณา จนถึงงาน อโศกรำลึก แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ เป็นเพราะพวกเรามีศรัทธาพ่อท่านกันน้อยไปหรือไม่คะ ?

เรื่องที่ศรัทธาอาตมาน้อย คิดว่าคงไม่ใช่ แต่เป็นเพราะอาตมาไม่ได้สอนให้พวกเรา เป็นคนถูกกำหนด ครอบงำ ทางความคิด หรือใช้อำนาจ เผด็จการ เพราะฉะนั้น ที่เขาเองไม่หยุด ก็ไม่ได้ผิด เพราะอาตมา ไม่ได้ประสงค์ จะใช้อำนาจเผด็จการ หรือประกาศิตว่าทุกคน จะต้องเชื่อฟัง ทั้งๆ ที่ถ้าอาตมา จะพูด ในลักษณะ ประกาศิตก็ได้ แต่อาตมาไม่เห็นเป็นเรื่องดี อาตมาว่าน้ำหนักของอาตมา มีพอสมควร ถ้าอะไร ที่มันชัดเจนแล้ว มันดีจริงไม่มีทางแย้ง ไม่มีทางดึงดันอะไรเลย เขาก็หยุดทันที เหมือนกับ ประกาศิตได้ แต่ถ้าอันใด ที่ยังมีแง่เชิง ที่จะแย้งได้อยู่ เขาก็ยังสามารถ ที่จะแย้งได้ อาตมาถือว่า เป็นสิทธิ และเป็น วิธีปฏิบัติที่ดี เพราะฉะนั้น คนที่มองอาตมาเผินๆว่า เหมือนมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ แต่อาตมากลับ ไม่มองเช่นนั้น ทุกคน สามารถมีเชิงคิดได้ และยิ่งถ้าอาตมามองไม่เห็นได้เลยว่ามีส่วนที่จริงยิ่งกว่า หรือว่าลึกซึ้งยิ่งกว่า อาตมา ก็ต้องจำนนเหมือนกัน แต่ถ้าอาตมาเห็นว่ายังมีเชิงดีกว่านี้ จริงกว่านี้ ลึกซึ้งกว่านี้ อาตมาก็เสนอ ให้เขารับฟัง เหมือนกัน ถ้าเขาฟังแล้ว ยอมรับว่าเขาคิดไม่ถึง เขาก็ต้องจำนนต่อแนวคิดที่ลึกกว่า สูงกว่า เจริญกว่า เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันเป็นไปตามเหตุผล ตามหลักฐาน ความจริง ไม่ใช่เพราะอำนาจเผด็จการ หรืออำนาจ ที่มีลักษณะเป็นประกาศิต หรือเป็นโองการบังคับอย่างนั้น เพราะฉะนั้นประเด็น ที่ว่าศรัทธา อาตมาน้อยไป หรือไม่ อาตมาไขแล้ว

แต่ประเด็นทำไมเขายังไม่เชื่อ อาตมาก็จะวิเคราะห์ให้ฟัง เพราะเขายังไม่เข้าใจเพียงพอ ว่ามันจะมีเหตุทั้ง แนวลึก แนวกว้าง อย่างพิสดาร มากแค่ใด ทำไมอาตมาจึงต่อต้านการที่จะไปบูมไปฮือฮา เรื่องต้นไม้กฤษณา "ในแวดวงชาวอโศก" อันนี้เขาคงยังเข้าใจไม่ได้ละเอียด รอบถ้วนนั่นหนึ่ง จะเป็นเพราะ เขาเข้าใจไม่ได้เอง หรือเป็นเพราะ อาตมายังขยายความไม่ดี ยังไม่ได้สมบูรณ์ก็ได้ทั้ง ๒ ด้าน เพราะฉะนั้น พอมาถึงวันนี้ อาตมาจำเป็น ต้องอธิบาย ให้สมบูรณ์ขึ้น หรืออธิบายมากขึ้น เสนอความจริง หรือหลักฐาน เหตุผลต่างๆ มากขึ้น เขาจะเข้าใจได้ หรือเข้าใจไม่ได้ก็อยู่ที่ตัวผู้ฟังเอง หรืออาตมาอธิบายยังไม่เก่งพอ มันไม่ใช่เรื่องบังคับ ให้คนเข้าใจได้ แต่อาตมา ก็ได้อธิบายถึงนัยะ ความลึกซึ้งทั้งรอบกว้างรอบลึก ซึ่งก็มีคนเข้าใจมากขึ้น มีคนเห็น และหยุดแล้ว แต่ก่อนเขายังคิดว่าควรทำ เพราะมีนัยะของเรื่องที่ลึกๆ มากๆ ซึ่งยังตัดสินชัด ไม่ค่อยได้ง่ายๆ ก็แน่นอน เป็นเรื่องธรรมชาติ เขาก็ต้องค่อยๆเข้าใจ ค่อยเป็นค่อยไป แต่ในปริมาณ ของผู้ที่ไม่เข้าใจ กับปริมาณผู้ที่เข้าใจอาตมาว่า อัตราการก้าวหน้า ของผู้ที่เข้าใจ มีเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

ส่วนคนที่ยังเข้าใจไม่ได้ ก็มี ๒ นัยคือ ๑. เขาเข้าใจไม่ได้จริงๆเพราะอวิชชา เพราะปัญญาเขา มีอยู่เท่านั้น จริงๆ หรือ ๒. แม้เขาจะมีปัญญา เข้าใจอยู่ แต่อำนาจกิเลสที่เขายังต้องการ จะยังเป็นอัตตา ต้องการ จะเอาชนะ หรือจริงๆ เขาอาจจะตะกละตะกลามทรัพย์ศฤงคาร อันเป็นกิเลสส่วนตัวของเขา ก็ได้ด้วย นอกจากนั้น ก็เพราะอาตมาอธิบายยังไม่เก่งพอ หรือสุดท้ายคือผู้นั้นเชื่อว่าเขาเข้าใจได้ ทั้งหมด แต่เขา เห็นว่า อาตมาผิด ทว่ายังศรัทธาอาตมาอยู่ไงจึงยอม ดังนั้น แม้หยุดก็ยังมีแย้ง มีลูกต่อ ยังไม่จบลง ได้ทันที จึงเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมชาติ ที่ต้องมีผิดมีถูกเกิดขึ้น อยู่ในเหตุการณ์ของ สังคมของมนุษยชาติ แต่ถ้าใคร สามารถ ทำความถูกมาก กว่าความผิดก็เป็นสิ่งดี เพราะทุกคนจะทำถูกหมด โดยไม่มี ความผิดเลย ไม่มี แต่เมื่อ รวมค่าแล้ว ทำเกิน ๗๐-๘๐% อันนี้ก็ถือว่าสอบได้ในชั้นเลิศแล้ว

สรุปว่าทุกคนที่มาปฏิบัติธรรมที่นี่ ต้องรับผิดชอบตัวเอง

แน่นอน เพราะกรรมเป็นของใครของมัน กรรมของเรา ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ถึงจะยอมรับ หรือไม่ยอมรับ ก็ตาม ถ้าเป็นผิดก็ต้องผิด หรือถ้าเป็นชอบก็เป็นชอบ คุณไม่รับไม่ได้หรอก ผิดหรือชอบ คุณต้องรับ ของคุณ ที่ทำจริงทุกเรื่อง ไม่มีใครจะถอดถอน หรือบิดเบี้ยวได้ อาตมาผิดหรือถูก
อาตมาก็รับวิบาก ส่วนของอาตมา เช่นกัน ไม่มีละเว้น

การปกครองของพ่อท่านเป็นระบอบประชาธิปไตย หรือไม่คะ ?

เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีธรรมาธิปไตยผนวก ไม่ใช่เผด็จการ อาตมามั่นใจว่า ได้พยายาม ที่จะไม่ให้เป็น ประชาธิปไตยแฝงเผด็จการ อย่างที่มีคนทำๆกัน ประชาธิปไตยในเมืองไทย เขาก็กำลัง วิจารณ์ว่า มีลักษณะเผด็จการ ซึ่งมีเหตุผลอธิบายได้ มีหลักฐานยืนยันได้ใช่ไหม แต่อาตมา พยายามที่สุด ที่จะไม่ให้คน มากล่าวว่า อาตมาแฝงเผด็จการเข้าไปในนั้นเป็นอันขาด แต่ผู้มีบารมี ที่มีคนศรัทธา ทำงาน อยู่ในสังคม ก็มีเรื่องมีหลายพฤติกรรมที่ทำให้คนมองว่าเป็นเผด็จการก็ย่อมได้ ส่วนจะจริงหรือไม่จริง ก็อยู่ที่สัจจะ ไม่มีใครแปรสัจจะ เป็นความผิดไปได้

คนที่กล้าจน และพยายามฝึกฝนตนเอง ให้จนลงมา ถือว่ามีอาริยภูมิหรือไม่ ? และนักบวช ที่มีชีวิต ยากจน อยู่แล้ว แต่มักจะแนะหนทางร่ำรวยให้กับชาวบ้าน ถือว่ามีอาริยภูมิหรือไม่คะ?

ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่า"อาริยะ"ก่อน อาริยภูมิอยู่ที่วิธีการปฏิบัติ ถ้ายังไม่เข้าถึงอาริยสัจ ก็ไม่เป็น อาริยภูมิ หมายความว่าปฏิบัติโดย วิธีที่ไม่มีอาริยภูมิ แม้สามารถทำตัวให้จนลงได้ก็ตาม แต่ยังปฏิบัติโดย โลกียภูมิ ไม่ใช่ โลกุตรภูมิ บางคนอาจเข้าใจได้ว่า การจนลงมานี่ดี กว่าร่ำรวย โดยเข้าใจด้วยเหตุผล ด้วยหลักฐาน แต่วิธีปฏิบัติถ้าเขายังไม่ได้ใช้มรรคองค์ ๘ ยังเข้าไม่ถึงอาริยสัจ ๔ การปฏิบัติของเขา ก็จะไม่เข้า ถึงจิตเจตสิก เข้าไม่ถึง ปรมัตถ์ เมื่อไม่ถึงปรมัตถ์ เพียงแค่กดข่มได้ เหมือนสายฤาษีอะไรก็ตาม ที่สามารถมักน้อยสันโดษ ได้เยอะแยะเลย แต่พระพุทธเจ้าไม่ยอมรับว่าเป็นอาริยะ ไม่ยอมรับว่าเป็นโลกุตระ เพราะถ้าภาคปฏิบัติ ยังไม่เข้า ถึงจิต เจตสิก รูปนิพพาน ยังจับตัวเหตุสมุทัย แล้วล้างละลด สมุทัย ตัวการสำคัญ ได้อย่างมีป ระสิทธิผลจริงๆ แต่ถ้าลดเหตุตัวการได้จริง และมีมักน้อยสันโดษได้จริงด้วย โดยต้อง มีเงื่อนไขหลัก ที่สามารถ เข้าถึงอาริยสัจ ๔ อันนั้นก็เป็นอาริยภูมิ

ส่วนการมักน้อยสันโดษโดยวิธีทั่วไป หรือถูกบังคับให้ทำตามกฎหมาย หรือตามศีลตามวินัยก็ตาม คนที่ มักน้อย สันโดษ โดยวินัย อย่างเคร่งครัด หรือสมัครใจกดข่มตนเองเพราะเห็นจริงว่ามักน้อยดี แต่ได้เพราะ เพียงสมถะ ไม่รู้อาริยสัจไม่ได้ปฏิบัติถูกหลัก แค่กดข่มเอาไว้ บางทีก็คิดว่าความมักน้อยสันโดษนี่เก๋นะ เท่นะ ผู้คนยอมรับ ทำอย่างนี้ฉันได้หน้าโดยเอาเสียงสรรเสริญมาเป็นหลัก เพื่อบังคับ ตัวเองว่า ฉันมักน้อย สันโดษเก่ง มีอำนาจกดข่มได้ โดยที่ความจริงไม่ได้ปฏิบัติปรมัตถ์เลย อย่างนี้ก็ไม่ใช่อาริยภูมิ

ทีนี้นักบวช ทำไมยังไปส่งเสริมให้ชาวบ้านร่ำรวยก็เอาหลักความจริงอันนี้แหละ มาพิจารณา ถ้านักบวช ท่านนั้น มีปรมัตถ์ ก็จะไม่ไปสนับสนุนส่งเสริมให้ไปหาเงินหาทองหาความร่ำรวยแน่นอน แต่ว่าการไป ส่งเสริม สนับสนุนอย่างนั้น โดยที่บางทีไม่ใช่การส่งเสริมท่านอาจบอกว่า เรื่องนี้เรื่องนั้น ควรเพิ่มนะ เพราะอันนี้ไม่พอ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยที่เหมาะสม โดยที่ท่านรู้ว่า ไม่ใช่เรื่องไปยั่วยุ ให้คุณเห็นเงิน แล้วตาโต หรือ ให้เกิด ความโลภโมโทสัน แต่เป็นเรื่องความจำเป็น ถ้าเป็นอย่างนี้ จะบอกท่านไม่มี อาริยภูมิ ก็ไม่ได้

พ่อท่านทำงานศาสนามาจนถึงขณะนี้ พอจะบอกลักษณะของการกระทำอย่างไร จึงชื่อว่าเป็นขบถ ต่อระบบ บุญนิยม ?

ให้ตรวจสอบจากหลักธรรมทฤษฎีของพระพุทธเจ้า ถ้าค้านแย้งกับโลกุตระ หรือเป็นโลกียะเชิงใด ก็แล้วแต่ เช่น ไประเริง ยินดีในลาภ หลงลาภ ติดลาภ โดยเหตุปัจจัยที่ไม่สมเหมาะสมควร หลงยึดเรื่องยศ เรื่องสรรเสริญ เรื่องไปเสพกามารมณ์ อัตตทัตถารมณ์ เสพสิ่งที่จะบำเรอใจตัวเอง จะโดยวิธี ทางกามสุขัลลิกะ หรือทาง อัตตกิลมถะ ก็ตามใจ ล้วนเป็นเรื่องไม่สอดคล้อง กับบุญนิยม เพราะบุญนิยม คือโลกุตระ ขอย้ำยืนยันว่า บุญนิยมก็คือพุทธ และพุทธคือโลกุตระ พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้สร้าง ศาสนา ขึ้นมา เพื่อที่จะสร้างโลกียะเท่านั้น ทุกศาสนาเขา สอนระดับ โลกียะ อยู่แล้ว ให้ละชั่ว ประพฤติดี ซึ่งเขาก็ทำ และพุทธก็ต้องทำด้วย มันเหมือนกันอยู่แล้ว ถ้าได้กุศลโลกียะ ก็ขึ้นสวรรค์ ศาสนาใดๆ ทำก็ขึ้นสวรรค์ ได้สวรรค์สมบัติ เป็นสมมติเทพ เหมือนกันหมด

แต่ของพุทธลึกกว่านั้น ตรงที่ว่าสอนสิ่งที่ลึกซึ้งซับซ้อนให้มีผลทางโลกุตรธรรมด้วย โดยผลของ โลกุตรธรรม มีทั้งโลกียกุศล และโลกุตรกุศล ประกอบกัน เพราะฉะนั้นถ้าทำโลกุตระได้ นั่นจึงชื่อว่าพุทธ ยกตัวอย่าง เป็นรูปธรรมเช่น คุณเอาเงินทำบุญล้านบาท ทุกคนไม่ว่า นับถือศาสนา ไหนก็ตาม ทำบุญล้านบาท ก็ได้บุญแล้ว ตามสัจจะไม่ว่าศาสนาไหน ทุกคนได้โลกียกุศล ในการเสียสละล้านบาท นี้ทั้งนั้น แต่ถ้าเป็น โลกียะ ที่มีแนวคิดแย่ๆ ว่าทำบุญล้านบาท แล้วก็ขอให้ร่ำรวย ร้อยล้าน พันล้าน นั่นขาดทุนแล้ว บุญโลกียะ ได้น้อย หรือ อาจตกนรกด้วย ถ้าจิตคุณแรง จะเอาให้ได้ เพราะกิเลสคุณเกิดจริง แต่ถ้าเขาไม่คิดอย่างนี้ ไม่ตั้งใจ อย่างนี้ เขาก็จะได้บุญของโลกียะ ๑๐๐% ไม่ว่าศาสนาไหน จะได้บุญได้บาป ตามนี้ทุกคน ทุกศาสนา ตามสัจจะ แต่ถ้ารู้จักอ่านจิตเป็น เข้าใจปรมัตถธรรม ปฏิบัติเข้าขั้นโลกุตระ ของพุทธ ลดกิเลสเป็น หยั่งรู้เลยว่า มีเจตนา มีอารมณ์ มีความตั้งใจ และก็กระทำจริง พยายามอย่างสัมมาวายามะ ไม่ไป โลภโมโทสัน ลดความโลภอย่างถูกตัวถูกตน กำราบมันเลย รู้เห็นตัวปรมัตถ์ ตัวจิตเจตสิก แล้วก็ลดละ จริงๆ

เมื่อคุณได้ผลจากการปฏิบัติมรรคผล เป็นโลกุตระ ๑๐๐% ที่เป็นโลกียะคุณก็ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น โลกุตระ ก็จะมีทั้ง ๒ กุศล คือกุศลโลกียะ และกุศลโลกุตระ จึงจะชื่อว่าเป็นพุทธ เพราะฉะนั้น ในเงื่อนไข ที่จะบอกว่า เป็นขบถต่อระบบบุญนิยมตรงไหนก็ดูตรงที่ว่า เราหลุดไปเป็นโลกียะมากหรือน้อย จะขบถน้อยๆ ขบถกลางๆ หรือ ขบถหนักๆ ก็เป็นไปตามความที่ไม่เป็นโลกุตระนั่นแหละ คือตัวชี้บ่ง

ปัญหาที่เกิดขึ้นในชาวอโศก
พิสูจน์ว่าเราถูกปกครองภายใต้ระบอบธรรมาธิปไตย
ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไม่แฝงอำนาจเผด็จการ
ทุกคนมีสิทธิ มีอิสระ ในการคิด พูด ทำ ตามภูมิปัญญาของตัวเอง
และรับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่ได้กระทำลงไปด้วยตัวเอง
ดังนั้น "ปรโตโฆษะ" การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันตนเองที่สำคัญ.

สารอโศก อันดับ ๒๖๑ มิถุนายน ๒๕๔๖