หน้าแรก>สารอโศก

ตอน.....ร่วมบุญปฐพีพุทธ

เมษายน ๒๕๔๖
นิมิตดีๆของ...ร่วมบุญปฐพีพุทธ ๓ เม.ย.๔๖ ที่สนามบินดอนเมือง สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว) มีเมตตา เดินมาทักทายพ่อท่าน อย่างมีไมตรียิ่ง ก่อนขึ้นเครื่องบินไปอุบลฯ จะด้วยเหตุใดก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ไม่มีใคร ปฏิเสธได้ ก็คือ โดยสมมุติสัจจะ ต่างก็คือ ผู้ร่วมบุญ ปฐพีพุทธเดียวกัน ข้าน้อย ขอน้อมนมัสการ อย่างสุดซึ้ง กับสิ่งดีๆ ที่ได้บังเกิดขึ้นนี้

โครงการ "ร่วมบุญปฐพีพุทธวิหารพันปี พระบรมสารีริกธาตุ" เป็นชื่อโครงการซื้อที่ดินบริเวณ ทาวน์เฮ้าส์ หน้าสันติอโศก ซึ่งมีอาณาบริเวณเกือบ ๓ ไร่ ทำไมจึงต้องเร่งรีบซื้อ? องค์กรอโศก ที่ว่า จนๆน่ะ แล้วเอาเงิน มาจากไหน? ร่วม ๔๐-๕๐ ล้านบาทอย่างนั้น ... เกิดระบบการรวมหุ้น อย่างบุญนิยม ที่น่าอัศจรรย์!!!.... พ่อท่าน มีความลำบากใจอย่างไร?... ทำไมต้องประกาศชื่อ ผู้ร่วมบุญบริจาค หรือให้ยืม ซึ่งเป็นเรื่องที่ ไม่เคยมีมาก่อนเลย ในชีวิตการบวช ของพ่อท่าน ๓๓ ปี ที่ผ่านมา

สภาพัฒน์ฯสนใจ....แต่ยังไม่เข้าใจ สภาพัฒน์ฯสนใจชุมชนราชธานีอโศก เป็นชุมชนพึ่งตนเอง ที่ทำ กสิกรรม ไร้สารพิษ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนโรงนา หลายคนในสภาพัฒน์เห็นว่า โรงเรียนโรงนา สร้างสรร มีประโยชน์ ต่อสังคมได้มากกว่า เพราะอะไร? แล้วพ่อท่านมอง เรื่องนี้อย่างไร?

โรงเรียนวิถีพุทธ จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้เชิญ ผอ.ของโรงเรียนต่างๆมาร่วมสัมมนา ระดมสมอง เพื่อหา แบบอย่าง หรือวิธีการที่จะนำไปใช้กับโรงเรียนในสังกัด ด้วยมุ่งหวัง พัฒนา เยาวชน ทั้งคุณธรรม .... ความรู้ และ ความสามารถ โรงเรียนสัมมาสิกขา ก็ได้รับเชิญ ให้เข้าร่วม สัมมนา ในครั้งนี้ด้วย ถือเป็น อีกก้าวหนึ่ง ของการยอมรับ

ส่งข้าวไปช่วยชาวอิรัก ๑๗-๑๘ เม.ย. การส่งข้าวไปช่วยชาวอิรัก หลังภาวะสงคราม เป็นน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ที่ชาวอโศก แสดงออก ในฐานะเพื่อนร่วมปฐพีโลกเดียวกัน แม้จะมีปัญหาเล็กน้อย แต่ทำให้เห็น ความลุ่มลึก ในการมองปัญหา ของพ่อท่าน

อนาคต...ของโรงงานบุญนิยม จากโอวาทปิดประชุมพาณิชย์บุญนิยม(๒๘ เม.ย.) พ่อท่านมอง อนาคต ของโรงงาน บุญนิยม เป็นอย่างไร?

ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้ด้วย เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากงานปลุกเสกฯ บันทึกไว้เพื่อประดับความรู้ และ เพิ่มพูน ศรัทธา มีอะไรน่าสนใจ พลิกไปอ่านได้


นิมิตดีๆของ...ร่วมบุญปฐพีพุทธ
ที่สนามบินดอนเมือง(๓ เม.ย.) ขณะรอขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปอุบลฯ เห็นหลายคน มีผ้าคาดจมูก และ ปากป้องกัน เชื้อหวัดมรณะ (SARS) ที่กำลังเป็นข่าวดัง ไปทั่วโลก ขณะที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ ยังไม่ได้ มีผ้าคาด เพื่อป้องกันอะไร ใจขณะนั้น ก็มิได้ตื่นกลัว และมิได้ดูถูกอะไร ในคนที่คาดผ้าเลย เข้าใจถึ งกระแสข่าว ที่ทำให้คน ต้องหาทางป้องกันตนไว้ก่อนเป็นดี

วันนั้น พบพระหลายๆรูป ทั้งพระไทยและพระจีนนิกายมหายาน ต่างเตรียมตัวขึ้นเครื่องบิน ไปตามที่ต่างๆ ที่ไปอุบลฯ ด้วยก็มีหลายรูป แต่ไม่มี พระรูปไหน คาดผ้าปิดจมูก และปากเลย ยังคาดเดาไม่ถูกว่า จะควบคุม โรคนี้ ได้แค่ไหน ถ้าหวัดมรณะ (SARS) ระบาดหนัก ทำให้ผู้คน ต้องคาดผ้าฯ กันเกลื่อนเมือง ถึงวันนั้น พระเอง ก็คงต้องคาดผ้าฯ ไปไหนมาไหนด้วยเป็นแน่

สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว) วัดสระเกศและพระติดตามก็เดินทางไปอุบลฯ ในวันนั้นด้วย ผู้เขียน ยังไม่แน่ใจ ทีเดียวว่า จะจำถูกหรือไม่ เพราะเคยเห็น ครั้งเดียว ที่สนามบินนี้แหละ ตอนนั้น พ่อท่านบอกให้รู้ ลำพัง ถ้าเห็นเอง ก็ไม่รู้จัก หรอกว่าเป็นใคร

เมื่อเห็นพระหลายรูปลุกขึ้นยืนนมัสการไปยังสมเด็จฯท่านที่กำลังเดินมาด้วยท่าทีกระฉับกระเฉง ใบหน้า ยิ้มแย้ม จากข้อมูล ที่ได้ยินได้ฟังมาว่า สมเด็จฯ ท่านเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยดี มีบุคลิกประสานสัมพันธ์สูง ทำให้ คาดเดา ได้ทันทีว่า เป็นสมเด็จฯ ท่านจริงๆ แต่เพื่อความแน่ใจ ถามพ่อท่านดู จะดีกว่า ขณะนั้นพ่อท่าน กำลัง ก้มหน้า อ่านหนังสือ ข้าพเจ้า จึงหันไปกระซิบ ถามพ่อท่าน โดยไม่คิดว่า สมเด็จฯท่าน จะมองมา เพราะอยู่ห่างกัน กว่าสิบเมตร แถมมี ผู้โดยสารอื่นๆ นั่งอยู่โดยรอบ

พ่อท่านเงยหน้าขึ้นมองดู ก็รับว่าใช่ เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว)จริงๆ เมื่อข้าพเจ้าหันกลับไปมอง สมเด็จฯ ท่านยังคงมีสีหน้า ยิ้มแย้ม มองมาทางเรา แล้วแวะเข้ามาทักทาย ด้วยท่าที ที่มีไมตรีอย่างยิ่ง "จะไปไหนกัน?" สมเด็จฯท่านถามมา

"ไปอุบลฯครับ" พ่อท่านตอบพร้อมกับประนมมือนมัสการ ข้าพเจ้าได้สติ รีบยกมือนมัสการ สมเด็จฯ ท่าน ตามพ่อท่าน ด้วยตื่นเต้น ไม่คาดคิดว่า สมเด็จฯ ท่านจะเมตตา เดินเข้ามาทักทายอย่างนี้ เนื่องด้วยสมเด็จฯ ท่านเป็น พระราชาคณะ ระดับสูง ก็คงจะต้องระมัดระวังตัว ในการจะมา สัมพันธ์อะไรๆ กับพ่อท่าน และ คณะชาวอโศก ตามที่ข้าพเจ้า เคยพบเห็น มาจากพระหลายๆรูป แม้ไม่มีตำแหน่งใดๆ ก็ดูท่านเหล่านั้น จะวางตัวแข็งๆ ไม่ญาติดีด้วย ซึ่งก็น่าเห็นใจ ที่ท่านเหล่านั้น อาจจะมีข้อมูลเดิมๆ ที่ผิดๆ กับชาวอโศก มานานว่า เป็นคณะ ที่จะมาทำลาย ศาสนา อีกทั้ง การปกาสนียกรรม ที่คณะสงฆ์เถรสมาคม กระทำต่อ พ่อท่าน และ สมณะชาวอโศก เมื่อปี ๒๕๓๒ นั้น ยังคงตราตรึงใจ ของท่านเหล่านั้นอยู่ ดังนั้น การที่ สมเด็จฯ ท่าน มีเมตตาไมตรีต่อพ่อท่านอย่างนี้ เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงจริงๆ

ขณะที่สมเด็จฯ ท่านเดินมาทักทาย สมณะชัดแจ้ง วิจักขโณ กำลังก้มหน้า อ่านหนังสืออยู่ และคงไม่รู้ว่า เกิดอะไร ขึ้นกระมัง ข้าพเจ้าจึงสะกิด แต่ยังไม่ทันได้พูดอะไร สมเด็จฯ ท่านเดินมาถึง และทักทายแล้ว เมื่อสมณะ ชัดแจ้ง เงยหน้าขึ้น และประนมมือ นมัสการสมเด็จฯ ท่าน พร้อมกับกล่าวว่า "หลวงพ่อจะไปไหนครับ?"

"ไปอุบลฯ...." สมเด็จฯท่านตอบ พร้อมกับยื่นมือมาจับไหล่ สมณะชัดแจ้ง ด้วยท่าทีเอ็นดู อย่างไม่ถือ ยศศักดิ์อะไร ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่า พูดอะไรกันอีกหรือไม่ คลับคล้ายคลับคลา ว่าก่อนสมเด็จฯ ท่าน จะขยับ ก้าวผ่านไป ได้ยินสมเด็จฯ ท่านกล่าว "เพิ่งจะเจอ...." อะไรทำนองนี้ นับเป็นนิมิตดีๆ ที่น่าบันทึก จดจำไว้ จะด้วยเหตุใดก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ไม่มีใคร ปฏิเสธได้ก็คือ โดยสมมุติสัจจะ ต่างก็คือ ผู้ร่วมบุญปฐพีพุทธ เดียวกัน ข้าน้อย ขอน้อมนมัสการ อย่างสุดซึ้ง กับสิ่งดีๆ ที่ได้บังเกิดขึ้นนี้

โครงการ "ร่วมบุญปฐพีพุทธ วิหารพันปี พระบรมสารีริกธาตุ"
เนื่องจากโยมมาลี หลิมขยัน เจ้าของที่ดินบริเวณทาวน์เฮาส์ ด้านหน้าสันติอโศก เสียชีวิต ขณะที่ สัญญาเช่า บริเวณ ทาวน์เฮาส์ทั้งหมด ยังเหลืออีก ๑๒ ปี ทางเราจึงยังไม่คิด จะทำอะไร เมื่อมีข่าว (จริง หรือ ไม่จริงไม่รู้)ว่า มีผู้ไปติดต่อ ซื้อที่และบ้าน ของโยมมาลี ซึ่งอยู่ติดกับโบสถ์ สันติอโศก ก่อนหน้านี้ ได้ทราบมาว่า คุณมนัส ลูกชายของโยมมาลี ซึ่งจะเป็นผู้รับมรดก ในที่ดินผืนนี้ กำลังร้อนเงิน มีปัญหา เรื่องการเงิน อย่างมาก จึงเป็นไปได้ว่า คุณมนัส อาจตัดสินใจ ขายให้ก่อน ส่วนบ้านทาวน์เฮาส์หลังอื่นๆ นั้น ยังขายไม่ได้แน่ เพราะติดสัญญาเช่า อยู่อีก ๑๒ ปี

เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว หากจะต้องมีการปรับปรุงสถานที่ การมีบ้านที่มิใช่ของส่วนกลาง คั่นอยู่ ติดโบสถ์ อาจเป็นปัญหา ที่เราคาดไม่ถึงได้ จึงมีญาติธรรม ไปคุยกับคุณมนัสว่า ทางสันติอโศก สนใจ ที่จะซื้อทั้งหมด โดยยังไม่ได้ พูดถึงราคา คุณมนัสมีท่าทีสนใจ ที่จะขายยกแปลงเช่นกัน โดยเหตุผล แม้ไม่ได้พูด แต่คุณมนัส ก็คงคิดได้ว่า การขาย ยกแปลง จะได้เงินก้อนโตกว่า ขายบ้านโยมมาลีหลังเดียว และ เป็นประโยชน์กับ คุณมนัสโดยตรง ที่ไม่ต้องรออีก ๑๒ ปีกว่าจะขายที่ และบ้านหลังอื่นๆได้ ถ้าคุณมนัส ต้องการเงินก้อนโตด่วน นี่ก็เป็นโอกาส ของเขาแล้ว

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินเขตบางกะปิ ทำให้ทราบว่าราคาประเมินที่ดินผืนนี้ เกือบ ๓ ไร่ รวมทั้ง สิ่งปลูกสร้าง ตึกแถว และ ทาวน์เฮาส์ มีราคาราวๆ ๖๕ ล้านบาท (ราคาที่ดินประมาณ ๕๑ ล้านบาท ราคาสิ่งปลูกสร้าง ประมาณ ๑๔-๑๕ ล้านบาท)

ในช่วงปีสองปี ที่ผ่านมา มีญาติธรรม เคยไปลองถามโยมมาลี เรื่องที่ดินผืนนี้ ปรากฏว่า ได้รับคำตอบ แบบผ่านๆ ทีเล่น ทีจริงว่า ๓๐๐ ล้านบาท เหมือนไม่คิดจะขาย จึงตั้งราคาให้สูงๆ ขู่ๆเอาไว้

พ่อท่านบอกเล่าถึงใจของพ่อท่านให้พวกเราฟังว่า....ตอนนั้นถ้าเกิดมีใครเอาเงินมาทำบุญ เป็นก้อนโตสัก ๑๐๐ ล้านบาท อาตมาจะให้กรรมการมูลนิธิเราหอบเอาเงินนั้นไปหาโยมมาลี แล้วบอกโยมมาลีว่า พวกเรา มีกันเท่านี้ ขายที่ ให้พวกเราเหอะ.... ก็ไม่รู้.... จะขายไหม?

เมื่อมีญาติธรรมไปถามราคาจากคุณมนัส อย่างเป็นกิจจะลักษณะครั้งแรก คุณมนัสเรียก ๔๐ ล้านบาทถ้วน โดยค่า ธรรมเนียม ต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อขาย ทั้งหมด รวมถึงภาษีต่างๆ ให้ทางเราเป็นฝ่ายชำระทั้งหมด ขอเน็ตๆ ๔๐ ล้าน .....ว่างั้น

ทางเรามีการประชุมปรึกษาถึงผลดีผลเสียต่างๆกันหลายครั้ง ด้วยมีกลุ่มคณะ มีองค์กรต่างๆ หลายองค์กร ที่สำคัญคือ เรื่องเงิน มีความเป็นไปได้ แค่ไหน ที่จะหาเงินก้อนโต มาชำระได้ ลำพังแค่รายได้ จากร้านค้า ต่างๆ รวมถึง การขาย ผลิตภัณฑ์ ของชุมชนต่างๆ ก็คงได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งก็พอเลี้ยงตนเอง ไปตามสามัญ จะเอาเงิน จากองค์กรต่างๆ นี้ทั้งหมด เราก็รู้ว่า มีไม่พอแน่ๆ แต่เหมือนสถานการณ์ บีบบังคับ ให้ต้องรีบ ตัดสินใจ เจรจาซื้อ แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะหาเงิน จำนวนมาก ขนาดนั้น ได้จากทางใด ด้วยความ ไม่น่า ไว้วางใจ หากท่านผู้จะขาย เกิดร้อนเงิน อาจตัดสินใจ ทำอะไร อย่างชนิดที่ เราคาดไม่ถึง แล้วมัน จะกลายมาเป็นปัญหา ลำบากเราในภายหลัง ดังนั้น เมื่อได้คุยกัน หลายเที่ยว ก็ไม่มี ทางเลือกอื่น มติก็มีว่า ควรรีบตัดสินใจซื้อ ในตอนนี้เลย ช้าไปคงไม่ดี เพียงแต่ให้ไปเจรจาต่อรอง ขอลดราคา ลงมาหน่อย ที่สุด แม้ถ้าเขาไม่ยอม ลดให้เลย เราก็เห็นควรว่าต้องซื้ออยู่ดี เพราะไหนๆ เราก็มีแผ่นผืน... ปฐพีพุทธวิหารพันปี พระบรมสารีริกธาตุ ปักหลักลงแหล่ง อยู่ตรงนี้กันแล้ว

ญาติธรรมที่ไม่รู้ข้อมูลครบทั้งหมดมองว่าไม่น่าจะรีบซื้อ ที่ติดสัญญาเช่าอีก ๑๒ ปีอย่างนี้ ไปขายให้ใคร ก็ไม่มีใคร เขาซื้อ มันเท่ากับ เอาเงินมาจมเฉยๆ เชื่อเหอะนอกจากเราแล้ว ไม่มีใครกล้าซื้อหรอก รอไป อีกหน่อย ราคามันลง ค่อยซื้อก็ได้.. บ้างก็ทักเตือน ในฐานะนักกฎหมาย ให้ตรวจสอบ เรื่องที่ดิน มีปัญหาใด หรือไม่ ก่อนทำสัญญาซื้อ ทำไมต้องรีบๆ ขายด้วย เขาเอาโฉนดที่ดิน ไปจำนองกับใคร หรือเปล่า ฯลฯ ...??

๒๙ มี.ค.๔๖ ที่สันติอโศก ขณะประชุมประจำเดือนชุมชนสันติอโศก พ่อท่านแจ้งเรื่องราว ที่คุณมนัส จะขายที่ดิน บริเวณทาวน์เฮาส์ ด้านหน้านี้ ให้ที่ประชุมทราบและแจ้งว่า ได้คุยกันกับกรรมการหลายองค์กร และ หลายเที่ยวแล้ว ก็เห็นว่า ตกลงจะซื้อ และตั้งชื่อโครงการในเบื้องต้นนี้ว่า "ร่วมปฐพี พระวิหารพันปี พระบรมสารีริกธาตุ" (ต่อมาจึงชื่อ "ร่วมปฐพี วิหารพันปี พระบรมสารีริกธาตุ" ล่าสุดเป็น "ร่วมบุญปฐพี พุทธวิหารพันปี พระบรมสารีริกธาตุ") หรือมีชื่อสั้นๆ เป็นภาษา ชาวบ้านว่า "ร่วมแผ่นดิน" โครงการนี้ จะรับทุกอย่าง ทั้งเงินบริจาคและเงิน "เกื้อ" ที่ให้ยืม โดยไม่คิดดอกเบี้ย ที่ดิน หรือ สิ่งของอื่นๆ ตอนนี้ มีผู้รู้เรื่องนี้ทันที ก็ขอบริจาครายแรกให้แล้ว ๑ ล้านบาท จะประกาศบอกบุญเรื่องนี้ อย่างเป็นงาน เป็นการ ในงานปลุกเสกฯ และคงจะงานอื่นๆ ของชาวอโศกอีก หากเงินยังไม่พอ พ่อท่านพูด ติดตลกว่า "....ที่ดินนี้ ผู้อื่นจะกล้ามาซื้อก็ไม่ได้ (ยาก) เราเองจะไม่ซื้อก็ไม่ได้ แม้คิดจะซื้อก็ยังไม่ได้... มีแต่ไม่ได้... ไม่ได้... ไม่ได้ ที่สุด ถึงอย่างไร เราก็คงต้องซื้อให้ได้..."

๓๑ มี.ค. ๔๖ ที่สันติอโศก เสร็จจากประชุมพาณิชย์บุญนิยม มีการประชุมโครงการ "ร่วมปฐพีพุทธฯ" ต่อ จากการหารือ ฝ่ายที่ดิน และ กฎหมาย ได้ข้อสรุปว่า ควรซื้อในนามองค์กรต่างๆ หลายๆ องค์กร ของชาวอโศก จะได้ลด ส่วนนั้นส่วนนี้ ตามกฎหมาย ลงมาได้บ้าง

คณะทำงานได้เสาะหาสืบถามข้อมูลที่ควรจะเป็นประโยชน์อีกพอสมควร สุดท้าย ก็มีข้อสรุปว่า ซื้อไว้ตอนนี้ อย่างไรๆ ก็คุ้ม สิ่งที่คณะทำงานต้องทำต่อก็คือ
๑) ดำเนินการจัดซื้อโดยเร็ว ๒) ต่อรองราคาและระยะเวลาการชำระ

นอกจากนี้มีการพูดถึงการเขียนแบบที่จะปรับปรุงพื้นที่หลังการตกลงซื้อขายแล้ว ขณะนี้ให้คุณสุรศักดิ์ (ตุ้ม) เขียนแบบอยู่ เพื่อนำเป็นภาพตัวอย่าง บอกกล่าวญาติธรรม ในการระดมทุน โดยคุณตุ้ม มีแนวคิดว่า อยากให้ ด้านหน้า สวยงามตั้งแต่ ที่ริมถนนเข้ามาเลย จึงอยากจะให้รื้ออาคาร ด้านหน้าติดถนน ออกด้วย อาคาร ด้านหน้า คือ อาคาร พาณิชย์ ซึ่งขณะนี้ องค์กรของชาวอโศกทั้งหลายของเรา เช่าทำการอยู่ มีศูนย์อาหารฯ ธรรมทัศน์ฯ แด่ชีวิต กู้ดินฟ้า ๑

แต่พ่อท่านกลับเห็นต่าง "...อาตมาอยากจะให้ด้านหน้าดูไม่สวยงาม เข้ามาภายในแล้วสวยงาม จะดีกว่า ด้านหน้า ขี้เหร่ๆ หน่อยแหละดี เหมือนพวกเราชาวอโศก ที่ดูภายนอก มอซอ...มอซอ แต่จิตใจพวกเรางาม ถึงอย่างไร ตอนนี้ก็อยากให้คุณตุ้ม เขียนแบบออกมาก่อน จึงยังไม่ได้บอกคุณตุ้ม ในเรื่องนี้ คิดว่า เมื่อได้ ทุนแล้ว จะสร้างจริงๆ ค่อยแก้แบบ ภายหลังได้"

๑ เม.ย.๔๖ คณะทำงานได้ไปทำสัญญาซื้อ โดยจ่ายมัดจำก่อน ๕ ล้านบาท การเจรจาทำสัญญา มีสองทางเลือก คือ
หนึ่ง
ถ้าจ่ายภายในระยะเวลา ๓ ปี จะต้องจ่ายให้คุณมนัส ๔๐ ล้านบาท
สอง
ถ้าจ่ายภายในระยะเวลา ๓ เดือน จ่าย ๓๕ ล้านบาท ซึ่งทางเราเลือกจ่าย ในทางเลือกที่สอง นั่นคือ ภายในสิ้นเดือน มิถุนายนนี้ ทางเราต้องหาเงินมาจ่าย ให้คุณมนัส ๓๕ ล้านบาทถ้วนให้ได้ แถมเงินค่าภาษี (ซึ่งคุณมนัส ผลักมาให้เราจ่ายแทน) ค่าโอน ค่าอากร และอื่นๆ ทั้งหมด ก็ต้องหาเตรียมไว้ด้วย สรุปแล้ว ภายใน ๓ เดือนนี้ต้องหาเงินอย่างน้อย ๔๐ ล้านบาท ขึ้นไป เกือบ ๕๐ ล้านบาท ให้ได้

๒ เม.ย.๔๖ ที่สันติ-อโศก มีการประชุมโครงการ "ร่วมบุญปฐพีพุทธฯ" ครั้งนี้สถาปนิก ๓ คน คือ คุณอภิสิน ศิวยาธร คุณสุรศักดิ์ กฤษณะมิษ และคุณชูสาร วงศ์วัชรา มาร่วมแสดงความคิดเห็น ถึงการปรับปรุง สถานที่ ด้านหน้า หลังการทำสัญญา ซื้อขายแล้ว การประชุม มีทั้งพูดคุยกันในห้อง โดยสถาปนิก แต่ละคน สร้างภาพ ตัวอย่าง ตามแนวความคิด ของตน และทั้งขึ้นไปดู บริเวณสถานที่ บนพระวิหารฯ มองลงมา ยังภูมิทัศน์จริง ทั้งหมด ที่จะทำโครงการฯ

๖ เม.ย.๔๖ ที่ศีรษะอโศก หลังจากปลัดอำเภอกันทรลักษ์ได้กล่าวเปิดงานปลุกเสกฯ พ่อท่านพูดแย้มๆ ถึงโครงการ "ร่วมบุญปฐพีพุทธฯ" แต่ยังไม่พูดชัดๆ บอกเพียงเป็นบุญหนัก บุญใหญ่ที่สุดในชีวิต เอาไว้ โอกาสอื่น จะพูด ข้าพเจ้า เข้าใจว่า พ่อท่านคงเห็นว่า มีคนนอกอยู่เยอะ ในกาละอย่างนั้นไม่เหมาะ ถ้าพูดไปแล้ว จะเหมือนเรา เจตนาเรี่ยไร จากพวกเขา ซึ่งพ่อท่านระมัดระวังอย่างมาก ที่จะไม่ทำอย่างนั้น โดยต่อมา ภายหลัง พ่อท่านได้ประกาศ "....ห้ามญาติธรรม อย่าได้ไปบอกบุญเรี่ยไร จากคนนอก หรือ แม้ญาติ ที่ยังไม่มีศรัทธา ไม่เคยมาสัมผัส ก็ห้ามโดยเด็ดขาด เราจะอาศัย รีดเลือดจากปู พวกเรากันเอง.."

ขอวกกลับมาที่พ่อท่านพูดแย้มๆถึงโครงการฯ พ่อท่านพูดถึงตัวพ่อท่านเอง เหมือนหมากลางตลาด ต้องหากินเอง "อาตมา ทำงานศาสนามา ๓๐ กว่าปี ถ้าอาตมาจะใช้ความสามารถ ที่อาตมามี เพื่อลาภล่ะก็ ป่านนี้ หรูหราฟู่ฟ่า มากกว่านี้แล้ว เพราะอาตมาน่ะ.....
๑)ทำไสยศาสตร์ก็เป็น
๒)การโฆษณาเผยแพร่ ก็ออกมาจากโทรทัศน์โดยตรง
๓)อาตมาก็พูดดีด้วยนะ"

๗ เม.ย.๔๖ ที่ศีรษะอโศก ทำวัตรเช้า ก่อนพ่อท่านจะอ่านอธิบาย EQ โลกุตระต่อ พ่อท่านกล่าวถึง การก่อร่าง สร้างกลุ่ม การเกิดของ พุทธสถาน สันติอโศก จนมาเกิดเป็นโครงการ "ร่วมบุญปฐพีพุทธฯ" แล้วมีการพูด ถึงคำว่า "ที่ธรณีสงฆ์" พ่อท่านเห็นว่า คำนี้ ไม่อยากนำมาใช้ ด้วยที่ผ่านๆมา คำนี้ถูกนำมาใช้ เพื่อหาเงินทอง หรือ หากินกันจนเฝือ น่าละอาย นี่เรากำลังจะทำ โครงการ "ร่วมปฐพี" ซึ่งเป็นสาธารณโภคี คือ เป็นผืน แผ่นดิน ส่วนกลาง ของเราชาวอโศก แล้วก็ได้ บอกบุญ กับชาวอโศก ที่มาร่วมงานปลุกเสกฯ ครั้งนี้ ถึงโครงการ อันเป็นบุญหนัก บุญใหญ่นี้ อย่างเป็นทางการ ครั้งแรก และแจ้งผลการตอบรับ ของชาวอโศก ในงานนี้ ตลอดงาน

๑๒ เม.ย.๔๖ ที่ศีรษะอโศก วันสุดท้ายของงานปลุกเสกฯ ขณะฟังสมณะบินบน ถิรจิตโต สรุปงาน ในช่วง ก่อนฉัน มีประเด็นที่พูดถึงโครงการ "ร่วมบุญปฐพีพุทธฯ" แล้วก็พูดถึง การประกาศชี้ชวน ให้ร่วมทำบุญ จากนั้น ก็พูดถึง ความไม่น่าเชื่อว่า จะได้ยอดเงินร่วม ๔๐ ล้านบาท ที่เป็นตัวเลขว่า จะให้ยืมบ้าง และ บริจาคให้บ้าง ทั้งๆ ที่พวกเรา ก็ไม่ใช่ คนร่ำรวย แต่ก็เสียสละกันได้ถึงปานนี้ ซึ่งอาจจะมี ผู้ไม่เข้าใจ มองไปได้ว่า การมีโครงการฯนี้ ผิดทางแล้ว ไม่มักน้อย สันโดษ ดังเก่าก่อน

"ถ้าผมมักน้อยกว่านี้ นุ่งห่มผ้าปะอย่างท่านโสรัจโจ มันก็จะไปกดดันคนอื่น ที่เขายังฐานไม่ถึง เขาก็จะ ไม่มากัน อย่างนี้ แล้วงาน มันก็จะไปไม่ได้กว้าง อีกอย่าง ถ้ามักน้อย นุ่งห่มผ้าถึงขนาดนั้น มันก็ไม่เหมาะสม กับความพอดี ของฐานะ ซึ่งผ้าทุกวันนี้ ก็มากมาย ไม่ขาดแคลนอะไร ถ้าปะชุนพอสมควร ก็ไม่กระไร ถ้าผมไปทำ ถึงขนาดนั้น มันจะตีกลับ การสร้าง สังคมภราดร ที่กว้างขึ้น อย่างสัมพันธ์ อันสนิท ก็จะยาก ....." พ่อท่านกล่าว

นอกจากนี้สิ่งที่พวกเราสะดุดเห็นเป็นครั้งแรกในงานศาสนาที่พ่อท่านพาทำก็คือ การประกาศรายชื่อ ผู้บริจาค แม้ผู้ให้ยืม ก็ประกาศด้วย ในงานนี้ ซึ่งเป็นการพลิกธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ไม่เคยมีมาก่อนเลย การประกาศ รายชื่อ ผู้บริจาคอย่างนี้ วัดอื่นๆ หรือองค์กรระดับประเทศ เขาก็ทำกัน เป็นปกติ มีอยู่ดาษดื่น แต่นี่ เป็นครั้งแรก ของชาวอโศก แถมพ่อท่าน ลงทุน ประกาศรายชื่อเองด้วย เพียงแต่เป็น การประกาศกัน ในหมู่ ชาวอโศก ด้วยกันเอง ไม่ได้ประกาศ ออกไปสู่ สาธารณชน วงกว้าง ทั่วๆไป หรือจัดพิมพ์ชื่อ เป็นเอกสาร ติดไปกับหนังสือ ออกเผยแพร่ อย่างที่เขาทำกัน และ คงจะไม่มี การประกาศซ้ำซากอีก ในโอกาสอื่น

การสนทนาในช่วงนี้พ่อท่านได้เผยเหตุผลและความลำบากใจ ที่ต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนเลย ในชีวิต "ที่จำต้อง ประกาศ รายชื่อผู้บริจาค เพื่อจะเร่งระดมเงิน ด้วยไม่แน่ใจว่า จะหาเงินได้ทัน ตามกำหนด สัญญา ซึ่งเป็นการซื้อ ในวงเงินที่มาก อย่างไม่เคยมีมาก่อน และในเงื่อนไขเวลาที่น้อย ที่สำคัญ เราไม่แน่ใจว่า เจ้าของที่ดิน จะเดือดร้อนเงิน หรือเปล่า หากเขาไม่รอ เอาที่ไปแบ่งขาย หรือเอาไปจำนอง กับสถาบัน การเงินใด ที่เขาหากินเรื่องนี้ เราเอง จะลำบากกว่านี้"

๑๔ เม.ย.๔๖ ที่ศีรษะอโศก พ่อท่านแสดงธรรมก่อนฉันกับบรรดาศิษย์เก่า สส.ษ. จากบางส่วน ที่พ่อท่าน พูดถึง โครงการ "ร่วมบุญปฐพีพุทธฯ" ทำให้เกิดการรวมหุ้นอย่างบุญนิยมที่น่าอัศจรรย์ดังนี้

"..ถ้าใครอยู่ในงานปลุกเสกฯนี่ด้วย จะเห็นเลยว่ามันมีพฤติกรรมของเศรษฐศาสตร์ชั้นสูง "บุญนิยม" คือ เมื่อมีโครงการ ระดมเงิน มีการแชร์เงิน แชร์อย่างบุญนิยม นี้มันวิเศษประทับใจอย่างไร เพราะมันไม่ใช่แชร์ อย่างทุนนิยม ทุนนิยมนั้นคนผู้เอาเงินมาซื้อหุ้น เอามาลงทุน ทุกคนเขาก็จะหวังปันผล หวังดอกเบี้ย คือ หวังรายได้ รวมทุนรวมหุ้นกันแล้ว ก็เอาเงินรวมกันนี้ไปค้าไปขายไปทำธุรกิจ เพื่อกอบเพื่อโกย ทุนนิยม เขาจะอย่างนั้น....

....ของเราบุญนิยมนี้ แชร์กัน เอามารวมกัน รวมกันทำไม.... รวมกันจะซื้อแผ่นดิน ซื้อที่ปฐพี พระวิหารพันปี คราวนี้ มันเป็น เศรษฐศาสตร์บุญนิยมที่ โอ้โฮ! อาตมาเห็นแล้ว มันคือความลึกซึ้งทางวิญญาณ อาตมา สอนคน ให้มักน้อย ให้จน กล้าจน อย่าไปโลภโมโทสัน อย่าไปเอาเปรียบเอารัด ธุรกิจของเรา ล้วนได้ส่วนเกิน มาน้อย นอกจาก ได้ส่วนเกิน มาน้อยแล้ว เราก็มาสะพัดใช้กัน แบ่งแจกกันใช้ เฉลี่ยกันให้ทั่วถึง

เป็นหลักเศรษฐศาสตร์ทั้งนั้น แม้เราเอามาน้อย ก็เอามากระจาย สะพัดเกื้อกูลกันให้เพียงพอ อยู่ให้ได้ ในหมู่ หากยังมีส่วนเหลือ ก็สะพัดออกไป สู่คนอื่นข้างนอกเสมอ

ยังไม่เท่านั้น อาตมาสอนไม่ให้สะสมอีกต่างหาก "อปจย" ไม่สะสม มักน้อยแล้วยังไม่สะสม เพราะฉะนั้น ชาวอโศก จริงๆ จึงจน ไม่รวยหรอก

พอต้องการรวมทุนกันมาสัก ๔๐-๕๐ ล้านบาท ไปซื้อที่ดิน วิธีการเราก็รวมทุนมาบริจาค ทุกคน เอามา เสียสละ ทั้งนั้น บางคน ก็จะต้องได้คืนบ้าง คือวิธีการให้ยืมไง ให้"เกื้อ"มาก่อน ยืมมาก่อน ยืมมาแล้ว เราจะคืน ขอยืมมารวม เป็นก้อนทุน เพื่อที่จะใช้ซื้อที่ดิน ก้อนนี้ก่อน ให้บริจาคมาก็มี ยืมมาก็ไม่ได้ ดอกเบี้ย และ ไม่ได้ปันผลแน่ ไม่รู้ว่า จะใช้คืน หรือเปล่า ให้ยืมมานี่ เป็นก้อนๆ หลายคนให้มาเป็นล้าน บางคนให้ ๒ ล้าน ๓ ล้านนี่ ศีรษะอโศกเห็นประชุมกันแล้ว ตกลง ก็จะให้ ไม่ให้ยืมละ ตอนแรก ก็ให้ไปล้านเดียว ตอนหลัง ก็ประชุมกันว่า เอ้า! เราสามารถที่จะให้ได้อีก สงสัยไปเห็น ปฐมอโศกมั้ง

ปฐมอโศกเขาตอนแรกก็ทำบุญล้านเดียวเหมือนกัน เสร็จแล้วไปคุยกันอีกทีว่า เอ! เราไปขอพักการ ผ่อนส่ง "เงินหนุน" (คือ เงินหนี้ แบบบุญนิยม ที่ไม่มีดอกเบี้ย) จากกองบุญสวัสดิการ ที่ได้ขอยืมเงินมา หลายล้าน มาสร้าง โรงงาน ยาสมุนไพร หรือ ศูนย์เจาะวิจัยฯ ทางปฐมอโศกนี่ มีสมรรถนะ สามารถผ่อนส่ง ได้เดือนละ ห้าแสน ผ่อนส่งให้แก่กองบุญฯ เขาอยู่ เพราะธนาคาร ของพวกเรา คือ กองบุญสวัสดิการนี่ ไม่มีดอกเบี้ย เขาก็มาคิดได้อีก เอ! ถ้าเราขอพัก การชำระคืน "เงินหนุน" จากกองบุญฯ อีกสัก ๖ เดือน เราจะได้ ๓ ล้านเลย ว่าแล้ว ทางปฐมอโศก ก็ไปเจรจาขอพัก ตกลงกับ ทางกองบุญฯ ก็อนุญาต พักการชำระ เงินหนุนนี้ ไปอีกได้ แทนที่จะเอาเดือนละห้าแสน ไปให้กองบุญฯ ก็เอาห้าแสน มาเข้า กองร่วมปฐพีฯ ตกลงเลยได้ บริจาค ๓ ล้าน เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะเอาอย่าง โดยไปหาแหล่งเงินยืม มาก่อนแบบนี้ เหมือนที่ ปฐมอโศก ทำนี้ เป็นต้น ศีรษะอโศกก็คิดได้ ก็เลยให้เพิ่มอีกล้านหนึ่ง

เงินที่พวกเรามีกันนี่ แต่ละคนๆจะเสียสละออกมา รวมเงินเป็นก้อนหนึ่ง ก็เอาไปสร้างธุรกิจ เหมือนกับ ทางเศรษฐศาสตร์ ทุนนิยมเขา เขายืมมาจากธนาคาร เสียดอกเบี้ย เสียปันผล เป็นวิธีการของเขา แล้วเขา ก็ไปขูดรีดกันต่อ ซึ่งเรา จะไม่ทำอย่างนั้น

เศรษฐศาสตร์บุญนิยมนี่มีความจำเป็นเท่านั้นจึงจะดำเนินการรวมก้อนเงิน ตามธรรมดา ก็จะสะพัดกัน อย่างตั้งใจ เสียสละ เกื้อกูลอยู่เป็นสามัญอยู่แล้ว เมื่อรวมเงินก้อนก็เกิดจาก จิตวิญญาณ เห็นได้เลยว่า ทุกคนตั้งใจ ที่จะเสียสละ มีสลึง ๑๐ บาท ๒๐ บาท ก็เอามารวมกัน ใครมีทางทำได้อย่างไร ก็เอามา ช่วยกันทำ

โอ้โฮ! วิธีการแชร์ การรวมหุ้น รวมทุนของพวกเรา ทั้งๆที่เราจน เราไม่สะสม แต่มันก็เป็นไปได้ มันเป็น การพิสูจน์ เศรษฐกิจของชาวอโศกขณะนี้ ถ้าต้องการจะรวมทุนกัน นี่คนประมาณ ๒,๐๐๐ คน พูดไป เมื่อวันงาน ปลุกเสกฯ ประกาศ คนมาในงานเท่านั้นที่รู้ ชาวอโศกที่ไม่ได้มาร่วมงานก็มีและยังไม่รู้ แค่คนที่มา งานปลุกเสกฯ เราก็เห็นเศรษฐกิจของพวกเราเป็นไปได้ ทั้งๆที่ไม่สะสมกันอยู่เดิมแล้ว ทั้งๆที่จน แล้วก็มา ทำบุญกัน มาเสียสละกันจริงๆ ไม่ใช่เพื่อได้ ไม่ได้ดอกเบี้ย ไม่ได้ปันผล มีบ้างที่ให้ยืม ต้องขอคืน ซึ่งต้อง ใช้ระยะเวลา ที่จะค่อยๆ ผ่อนคืนให้ อย่างที่อธิบายไปแล้ว เงินจะหมุนเข้ามาเป็นก้อน ประมาณ ๔๐ ล้าน ๕๐ ล้าน พรึบเดียวจากศูนย์ ...พอได้ เป็นไปได้ นี่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณของคนจริงๆ

เพราะฉะนั้นเศรษฐศาสตร์บุญนิยมนี่ลึกซึ้ง เราว่าเราไม่มี แต่สมรรถนะเราสูง ตั้งแต่ส่วนตัวบุคคล แต่ละคน เราสามารถ ที่จะผ่อนส่งได้ เหมือนอย่างกับฟ้าอภัยเขาก็ทำของเขารวม คนมาสมัครเสียสละ จัดกลุ่มกัน ถ้าใคร ไปงานปลุกเสกฯ คราวนี้ ก็จะเห็น กลุ่มละ ๕ คน ๑๐ คน แล้วก็มารวมกันผ่อนบริจาค ใครจะผ่อน บริจาค ได้เดือนละ ๑๐๐ เดือนละพัน เดือนละหมื่น เท่าใดก็ตามแต่ความสามารถ โดยทางฟ้าอภัย อาสาไปหาเงินก้อน มาจ่ายล่วงหน้าไปก่อน ผู้ที่มาสมัครผ่อนบริจาค ก็ไปเข้ากลุ่มที่ฟ้าอภัย จัดการ รวมสมาชิกกัน

แล้วก็ผ่อนบริจาคกันไป ตามแต่ใครจะกำหนดตัวเงิน และระยะเวลา ฟ้าอภัยแม้จะไปกู้ เสียดอกเบี้ย ในเงินก้อน ฟ้าอภัยก็รับผิดชอบ ดอกเบี้ยไป เพราะต้องไปกู้ยืม กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ซึ่งก็มีดอกเบี้ย ตามหลักเกณฑ์ แต่ดอกเบี้ยถูก ร้อยละ ๔ ฟ้าอภัยรับผิดชอบ เสียดอกเบี้ย ส่วนผู้ที่จะมา ผ่อนบริจาค ก็เสียสละกัน ส่วนตัว

อาตมาก็เห็นเป็นการพิสูจน์ว่า อโศกเรามีฤทธิ์แรง ถ้าจะใช้เงินก้อนขนาดนั้นขนาดนี้ แล้วจะใช้งานไป ขนาดนี้ๆ ได้แล้วหรือยัง พอได้ขนาดไหน พอถึงวันนี้แล้วมีกลุ่มองค์กร มีบุคคล มีพลังงาน ในการสร้างสรร หมุนเวียน เงินทองได้ขนาดนี้ นี่ก็เป็นระบบบุญนิยม หรือเป็นวิธีการบริหารการเงิน อาตมาขอยืนยันว่า เป็นวิธีการ แบบศาสนาพุทธ ที่เรียกว่าระบบบุญนิยม แล้วมันจะดำเนินชีวิตไป โตไปอีก ขยายไป ในอนาคต กลุ่มหมู่ ก็จะโตขึ้น พลังงานที่เราเสียสละ สร้างสรร อย่างที่เรามารวมกันนี่ ถ้าเราทำปลีกเดี่ยว แต่ละคนๆ นี่ พลังงานไม่ดี มารวมกัน พลังงานสร้างสรรจะดี...."

สภาพัฒน์ฯสนใจ แต่ยังไม่เข้าใจ
๓ เม.ย.๔๖ ที่ราชธานีอโศก คุณหนึ่งฟ้าโทรศัพท์มาให้ อาจารย์วิชัย รูปขำดี คุยกับพ่อท่าน เรื่องที่ทาง สมาคม พัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ทำรายงาน เปรียบเทียบเรื่อง ชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง เสนอต่อสภาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ซึ่งรายงานนั้น มีชุมชนพึ่งตนเอง ที่ทำกสิกรรม ไร้สารพิษ ๕ แห่ง ข้าพเจ้าได้ยินเพียงสองแห่ง คือ โรงเรียนโรงนา และ ชุมชนราชธานีอโศก สำหรับ โรงเรียนโรงนานั้น อ.วิชัยได้ไปช่วยสอนด้วย

รายงานนี้เป็นการรวบรวมและประเมินผลเกี่ยวกับชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงทั้ง ๕ แห่งนั้น วิธีการประเมินผล เปรียบเทียบ มองจากปัจจัย สองอย่างคือ ๑. การมีส่วนร่วมของสมาชิก ๒. ผลประโยชน์ ที่สมาชิกได้รับจาก การประเมินผล โรงเรียนโรงนา สมาชิกมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นน้อย รวมตัวกันไม่แน่น แต่ได้รับ รายได้ ตอบแทน แต่ละคน เฉลี่ยแล้ว มีผลประโยชน์มากกว่า สมาชิก ชุมชนราชธานีอโศก ส่วนชุมชน ราชธานีอโศกนั้น สมาชิก มีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นมาก รวมตัวกันแน่น แต่ไม่รับรายได้ หรือ รายได้ ส่วนบุคคล แต่ละคน ผลประโยชน์ที่ได้รับ ตอบแทนน้อย

จึงเป็นไปได้ว่าสังคมจะมองว่าที่โรงเรียนโรงนาสร้างสรรมีประโยชน์ตอบแทนหรือมีประโยชน์ต่อสังคม ได้มากกว่า เนื่องจาก ทุกคนในกลุ่ม ได้รับรายได้ส่วนแบ่ง ตามงานที่ทำได้ ขณะที่ ชุมชนราชธานีอโศก ทำแล้ว เข้ากองกลางหมด สมาชิก ไม่มีใคร มีรายได้เลย หรือกล่าวได้ว่าโรงเรียนโรงนามีเศรษฐกิจที่ดีกว่า

พ่อท่านอธิบายสั้นๆทางโทรศัพท์ว่า "การที่ไม่มีใครมีรายได้ หรือแต่ละคนมีรายได้น้อย ไม่ได้หมายความว่า ไม่สร้างสรร ให้สังคม ตรงกันข้ามเลย การไม่มีรายได้นี่แหละสร้างสรรให้สังคมได้ยิ่งกว่า ด้วยส่วน ที่เป็น รายได้ นั้นแหละ เมื่อส่วนตัวไม่เอา สังคมกองกลางก็ได้ไป กองกลางก็รวมกันนำไปลดต้นทุน แล้วจึงขาย ให้ผู้บริโภค ต่ำกว่าทุนได้ ก็คือ การให้แก่ผู้บริโภค นี้คือประโยชน์แก่สังคม ภายนอก โดยตรง มิใช่การเอา ผลประโยชน์ส่วนตัวชัดๆ แม้แต่ในกลุ่ม ของชาวอโศกเอง ซ้ำมิหนำ ยังนำรายได้ จากส่วนกลาง สะพัด ให้สังคม อีกต่อหนึ่ง ในหลายๆรูปแบบ เป็นทุน ทางสังคม หลายๆ ลักษณะของงาน ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า จะเป็น งานหนังสือ.... งานพาณิชย์.... งานอบรมสัมมนา.... งานตลาดอาริยะ.... งานศาสนา ในอีก หลายๆ ลักษณะ....."

ข้าพเจ้าคิดเสริมอยู่ในใจว่า.... การที่สมาชิกไม่เอารายได้เลยเป็นการละกิเลส ทำงานเพื่อประโยชน์ กับสังคม โดยตรง ข้ามขั้นไปจาก ทำงานแล้ว ยังหวังมีรายได้ มาเลี้ยงปากท้องครอบครัวแล้ว การที่สังคม ส่วนใหญ่ มองความเป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือความเจริญก้าวหน้า อยู่ที่ตัวเลขรายได้ ประชาชาติ ต่อคน ต่อปีนั้น เป็นการมองจากฐานความรู้ ของระบบทุนนิยม ถ้ามองอย่างระบบบุญนิยม ที่พ่อท่าน เคยอธิบาย คนในระบบ ทุนนิยม ที่ทำงานแล้ว ได้รายได้ตอบแทน เกินกว่าที่ตนเองกิน และใช้จริงๆนั้นแหละ เป็นคน ไม่มีประโยชน์ ต่อสังคมเลย

อ.วิชัย พูดอะไรอีกเล็กน้อยข้าพเจ้าไม่ได้ยิน แต่ฟังจากการตอบรับของพ่อท่านพอ จะสันนิษฐานได้ว่า อ.วิชัย จะส่งรายงานเปรียบเทียบ ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง มาให้พ่อท่านตรวจอ่าน ในโอกาสต่อไป เพื่อให้ พ่อท่าน ได้อธิบาย ในหลายๆสิ่ง ที่พ่อท่านต้องการจะชี้แจง ทำความเข้าใจ ในความเป็นจริง ของระบบ บุญนิยม เพื่อที่จะได้บรรจุลงไป ในการทำวิจัย และ ประเมินผลต่างๆ

เนื่องจาก อ.วิชัย ได้ทำงานวิจัยและประเมินผลให้สภาพัฒน์ฯหลายชิ้นงานแล้ว คุณหนึ่งฟ้า บอกเล่าว่า ในสภาพัฒน์ฯ หลายคน ไม่มีโอกาส ได้พบพ่อท่านเลย ความคิดเห็นของพ่อท่าน ที่แตกต่าง จากสังคม ส่วนใหญ่ เขาก็ไม่รู้ อย่างเรื่อง ความเป็นประโยชน์ ต่อสังคมนี้ ก็มองต่างกัน อ.วิชัย ได้มีโอกาส พูดคุย กับพ่อท่าน มากที่สุด ดังนั้น พ่อท่านคิดเห็นอย่างไร เกี่ยวกับระบบบุญนิยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ชุมชน.... การศึกษา... เศรษฐกิจ... การเมือง... สังคม... ศาสนา... กสิกรรม... ฯลฯ พ่อท่านพูดได้เลย แล้ว อ.วิชัย จะนำไปใส่ ในการทำวิจัย และประเมินผลเอง ซึ่งจะเป็น เอกสารของสภาพัฒน์ฯ ต่อไป

โรงเรียนวิถีพุทธ
๑-๔ เม.ย.๔๖ กระทรวงศึกษาธิการ ได้เชิญตัวแทน ร.ร.สัมมาสิกขาชาวอโศก และ ตัวแทน ร.ร.ต่างๆ ที่มีลักษณะเป็น ร.ร.วิถีพุทธ ประมาณ ๒๐ แห่งทั่วประเทศ ร่วมประชุมปฏิบัติการ การจัดโรงเรียน วิถีพุทธ ณ ห้องประชุม เจ้าพระยาบุษราคัม ชั้น ๘ โรงแรมนนทบุรีพาเลซ จ.นนทบุรี ซึ่งกลุ่มโรงเรียนเดียวกันนี้ เคยร่วมประชุม กันมาแล้ว เมื่อวันที่ ๒๖-๒๗ ก.พ. ๔๖ ณ โรงแรมแกรนด์ เดอ วิลล์

ด้วยกระทรวงศึกษาฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคนไทยให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณธรรม จริยธรรม นำหลักธรรม และองค์ความรู้ ในพระพุทธศาสนา มาใช้ ในการจัดการศึกษาอบรม เพื่อให้บรรลุ ตามเจตนารมณ์ ดังกล่าว กระทรวงศึกษาฯ จึงได้จัดประชุมปฏิบัติการ เพื่อรวบรวม และ พัฒนารูปแบบ ที่มีการดำเนิน อยู่บ้างแล้ว ในบางโรงเรียน เพื่อให้ได้รูปแบบ และวิธีการที่เหมาะสมชัดเจน ไปทดลอง นำร่อง ก่อนที่จะขยายผลต่อไป

ก่อนสิ้นสุด การประชุม ทางกระทรวงศึกษาฯ ฝากให้ตัวแทนแต่ละ ร.ร. เขียนประวัติ ความเป็นมา และ ลักษณะของ ร.ร.ของตัวเอง พร้อมรูปภาพประกอบส่งมา เพื่อกระทรวงศึกษาฯ จะได้รวบรวมพิมพ์ เป็นเล่ม เผยแพร่ ตัวอย่าง การจัด ร.ร.วิถีพุทธ เพื่อแจกจ่ายให้ ร.ร.ทั่วประเทศ ที่สนใจรูปแบบ การจัด ร.ร.วิถีพุทธ ให้เหมาะสมกับ ร.ร.ของตัวเอง ต่อไป

ข้าพเจ้าขอข้ามผ่านในรายละเอียดของการสัมมนา ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ใน น.ส.พ.ข่าวอโศก ฉบับ ๑-๑๕ เม.ย. ๔๖

ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความยอมรับจากกระทรวงศึกษาฯถึงขนาดนี้ ถ้าเปรียบกับเมื่อ ๕ ปี, ๑๐ ปี ที่แล้ว เป็นคนละเรื่องเลย ยิ่งเปรียบกับยุคปี ๒๕๓๒ ที่ถูกกล่าวหาว่า "วิปริตจากธรรมวินัย" หรือ จะมา ทำลาย ศาสนาพุทธ.. และอีกสาระพัดนานา ซึ่งเป็นข้อกล่าวหา ร้ายแรงทั้งนั้น มาถึงวันนี้ กลับได้รับเกียรติ ว่าเป็น ร.ร.วิถีพุทธ แบบหนึ่ง ที่ ร.ร.อื่นใด ทั่วประเทศ จะนำเอาไปจัดทำบ้างก็ได้

การประชุมครั้งนี้ มีเกร็ดเล็กๆอย่างหนึ่งที่ถือเป็นกรณีศึกษา ทำให้พวกเราชาวอโศก ได้เรียนรู้ เป็นแบบอย่าง ที่จะนำไป ปฏิบัติต่อไป คือ ในวันสุดท้าย ของการประชุม (๔ เม.ย.) พ่อท่านอยู่ที่ราชธานีอโศก ได้รับ โทรศัพท์ จากอุบาสิกา รินธรรม ซึ่งได้ไป ร่วมประชุมด้วย อุบาสิการินธรรม เรียนปรึกษาว่า กระทรวงศึกษาฯ จะจ่ายเงิน ค่ามาร่วมประชุมให้ เราสมควร จะปฏิเสธดีไหม?

พ่อท่านให้คำแนะนำผ่านโทรศัพท์ว่า "ก็รับเขาไปเถอะ ไม่อย่างนั้น เขาก็ทำงานลำบาก เพราะมัน เป็นเรื่อง ของทางราชการ เขาทำกันอย่างนั้น ถ้าเราจะปฏิเสธ ก็ดูจะแอ็คเกินไป เขาจะต้องมีบัญชีการใช้จ่าย มีหลักฐาน ออกมา ถ้าขืนปฏิเสธ แล้วเขาจะยุ่ง

อาตมาเคยไปเทศน์งานศพ เจ้าภาพก็ถวายเงินใส่ซองมา อาตมาก็รับ แล้วบริจาคไปเลย ตอนนั้น ที่วัด โสมมนัส วรวิหาร งานศพ พล.ต.ต.มีชัย สุรภักดี

อยู่ที่ว่าตอนนั้นจะบริจาคให้ใคร ก็ควรดูอีกที ไม่ใช่เซ็นรับแล้วให้เจ้าหน้าที่ไปเลย อย่างนี้ก็ไม่ได้เรื่อง ให้ดูว่า ถึงมือ หน่วยงาน ที่เราเห็นว่า สมควร ก็บริจาคไป

การประชุมอย่างนี้ไม่ใช่เป็นงานส่วนตัว ถ้างานส่วนตัวไม่ใช่ทางการอย่างนี้ จะปฏิเสธไม่รับ ก็ไม่มีปัญหา...."

ข้าพเจ้าขอตั้งข้อสังเกตเพิ่มอีกนิด กรณีเทศน์งานศพ ในกาละที่อยู่ในหมู่บริษัทอื่น ในหมู่ชนอื่นๆ อย่างนั้น แม้เจ้าภาพ จะเป็นญาติธรรม เมื่อนำเงินไปถวายหลังจากพ่อท่านเทศน์จบ สาธารณชนทั่วไปที่อยู่ในที่นั้น จะคิดว่า เป็นค่า กัณฑ์เทศน์ สำหรับพระ ที่มาเทศน์ทันที ยากที่จะมีผู้เข้าใจว่า เป็นการทำบุญ ให้องค์กร ส่วนรวม เพื่องาน พระศาสนา มิใช่ให้ส่วนตัวบุคคล ในสถานการณ์อย่างนั้น พ่อท่านจึงรับ อนุเคราะห์ทาน แล้วบริจาค ออกไปทันที เพื่อเป็นการสอน ให้ผู้ที่รู้เห็น ในที่นั้นได้คิดว่า การเทศน์โดยไม่รับ ค่ากัณฑ์เทศน์ มาเป็น ของตนก็มี แถมยังมีวิธี สละออกต่อ ให้องค์กรอื่น เป็นบุญที่ซ้อนบุญ อีกต่อหนึ่ง

ถ้าในขณะนั้นเทศน์อยู่ในหมู่ชาวอโศก หลังจบการเทศน์เกิดมีญาติธรรม นำเงินมาถวาย อย่างเดียวกันนี้ ข้าพเจ้า เข้าใจว่า พ่อท่านก็คงรับเก็บไว้ ด้วยเห็นว่าญาติธรรมเข้าใจดีแล้วว่า เป็นการทำบุญ ให้องค์กร ส่วนรวม โดยอาศัย ผ่านมือพ่อท่าน เพื่องาน พระศาสนา ตามที่พ่อท่านจะเห็นเหมาะ ญาติธรรม จะไม่คิดว่า ให้เป็นส่วนตัวบุคคล เป็นค่ากัณฑ์เทศน์ ซึ่งเป็น ธรรมเนียมปฏิบัติ ที่คนส่วนใหญ่ ทำกันมานาน

สิ่งเดียวกันในกาละองค์ประกอบที่ต่างกัน ย่อมมีการปฏิบัติที่ต่างกันได้ มิใช่ไม่มีหลักการ แต่เป็นการใช้ หลักการ ด้วยวิธีการ ที่ต่างกัน

๕ เม.ย. ๔๖ ที่ศีรษะอโศก มีการประชุมคุรุสัมมาสิกขาทุกแห่ง หลังจากฟังการสรุปปัญหา และ ข้อบกพร่อง ต่างๆ ของการจัด การเรียน การสอน ในรอบปีที่ผ่านมา พ่อท่านให้โอวาทปิดการประชุม จากบางส่วน ที่น่าสนใจ ดังนี้ "ขอบคุณทุกคนที่มาช่วยกันทำงาน โดยไม่มีลาภยศมาล่อ เราทำงาน เพื่องาน มิใช่เพื่อ โลกธรรม เราทำเพื่อ ไปสู่โลกุตระ จริงๆ เราไปทำงานร่วมกับเขา ประชุมสัมมนา ร่วมกับเขา กระทบไหล่ เขาเลย แต่เราก็ไม่รู้สึกด้อยอะไร ระวัง อย่าไปข่มเขาล่ะ เอาความมักน้อยสันโดษ ไปข่มเขา

อยากจะย้ำคุรุของพวกเรา ผู้อยู่ในฐานะเหมาะสมก็เอา บ้างยังไม่เหมาะสมก็อย่าน้อยใจ ตอนนี้ ผู้ตั้งใจ ที่จะมา เป็นคุรุ ยังน้อยอยู่

หน้าที่คุรุที่สำคัญคือ คุรุไม่ใช่ผู้ถือตัวว่าตนคือคลังความรู้ แต่เป็นผู้ช่วย ผู้คอยเสริมหนุน ให้นักเรียน คอยช่วย หาความรู้ให้ หาส่วนที่จะช่วยเหลือนักเรียน ให้เจริญก้าวหน้าได้ นั่นคือ หน้าที่ที่พึงทำ....."

๒๖ เม.ย.๔๖ ที่สันติอโศก มีการประชุมชุมชนสันติอโศก พ่อท่านได้นำพัดเล็กๆที่มีผู้นำมาให้ดู ที่ตัวพัด มีชื่อ และ สัญลักษณ์ ของโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ที่สำคัญมีข้อความว่า ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา ล้อมกรอบ เป็นวงรี ด้วยพื้นสีแดง จากคำบอกเล่า ของผู้ปกครอง นักเรียน คนหนึ่ง แจ้งว่า มีนักเรียนที่จบ ม.๓ ของเรา (สส.สอ.) แล้วได้ไปเรียนต่อ ม.ปลายที่นั่น ซึ่งได้ไปเป็น ประธานนักเรียน ทำให้อาจารย์หลายคนรู้จัก และพอใจ ถึงกับเอ่ยปาก ว่า หากจะมีนักเรียน สส.สอ. ที่จบ ม.๓ แล้วต้องการ จะไปเรียนต่อที่ ร.ร.นวมินทร์ฯ ก็ยินดีรับ

พ่อท่านได้พูดถึงเรื่องนี้ในช่วงให้โอวาทปิดการประชุมว่า "..จากที่เห็นในพัดเมื่อกี้นี้ ที่มีความว่า ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา พิมพ์หรา อยู่อย่างชัดเด่นนั้น ย่อมเป็นสัญญาณที่ดีว่า เขายอมรับเรา เขากล้ารับ อุดมการณ์ ปรัชญา แนวคิด เขารู้สึก ตอบรับ เอาด้วย เห็นดีด้วย มันชื่นใจนะ มันดูเหมือน เล็กน้อย แต่อาตมาว่า ไม่เล็กน้อยนะ แพร่หลาย แจกออกไป ต่างๆนานา ขึ้นป้ายหราเลย ......สิ่งเหล่านี้ มันเป็นเรื่อง ของสังคม เป็นเรื่อง ของเหตุการณ์ ที่เราได้พยายาม ถักทอมาเรื่อยๆ....."

ส่งข้าวไปช่วยชาวอิรัก
๑๗ เม.ย. ๔๖ ที่สันติอโศก ได้รับโทรศัพท์จากศีรษะอโศก ปรึกษาพ่อท่าน เรื่องการส่งข้าว ไปช่วย ชาวอิรัก หลังสงครามยุติ มีญาติธรรม โทรไปแนะนำด้วยความหวังดีว่า ควรส่งเป็นข้าวขัดขาวไปจะดีกว่า เพราะคนอิรัก เขาไม่กิน ข้าวกล้อง ซึ่งก็เป็นคำแนะนำ ที่น่าคิด คือถ้าจะส่งข้าวขัดขาวไป ศีรษะอโศก ก็ต้องหาทาง สีข้าวขาว จะต้องขนไป ให้โรงสีอื่น ที่สีข้าวขาวได้ เขาช่วย ส่วนรำข้าว ก็ให้กับโรงสี เขาไปเป็น ค่าสีช้าว เรื่องนี้พ่อท่านเห็นอย่างไร ทางศีรษะอโศก ก็ยินดีทำ ตามนั้น

พ่อท่านก็เห็นชอบกับคำแนะนำของญาติธรรมนั้นด้วยเหตุผลสั้นๆ "หากส่งเป็นข้าวกล้องไป เขาไม่กิน ก็ไม่มีประโยชน์"

๑๘ เม.ย. ๔๖ ที่สันติอโศก ข้าพเจ้าได้คิดว่าน่าจะถามข้อมูลจากทางสถานทูตอิรักโดยตรง ให้ชัดเจน จะดีกว่า ด้วยเข้าใจว่า ความอดอยากของคนที่เดือดร้อน ไม่มีอะไรจะกิน ไม่น่าจะเกี่ยงว่า ขอกินข้าว ขัดขาว แล้วกัน ข้าวกล้อง ไม่เอา ไม่กินหรอก ข้าพเจ้าคิดว่า คำแนะนำของญาติธรรมนั้น อาจเป็นความเห็น ส่วนตัว ก็ได้ จึงน่าจะได้สอบถาม ทางสถานทูต ให้ชัดเจนจริงๆก่อน เพราะหากคนอิรัก ไม่เกี่ยงเรื่อง ข้าวกล้อง จริงๆแล้ว จะได้โทรบอก ทางศีรษะอโศก เพื่อลด ความยุ่งยาก ในการขนย้ายข้าว ไปขัดขาว ที่โรงสีอื่น อีกทั้ง ประหยัด ต้นทุน ในการนี้ด้วย ข้าพเจ้า จึงนำเรื่องนี้ เรียนปรึกษาพ่อท่าน

"ส่งข้าวขัดขาวไปน่ะดีแล้ว เราไม่รู้ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรกับข้าวกล้องจริงๆ ข้าวขัดขาวดูเป็นสากล หากเราส่ง ข้าวกล้องไป ถ้าเขาเกิด ความรู้สึกว่า เป็นข้าวเกรดต่ำ ตามที่คนส่วนใหญ่มีอุปาทาน มันจะเสีย ความรู้สึก ของเขา... อะไรวะ จะส่งมาทั้งที ส่งข้าวแบบนี้มาเหรอ... ช่างมันเถอะ ถ้ามันจะต้องเสียเวลา และ ต้องจ่าย เพิ่มอีก ก็ช่างมันเถอะ ดีกว่า ส่งไปแล้ว ทำให้เขา เสียความรู้สึกของเขา"

คำตอบของพ่อท่านข้างต้นนี้ เป็นความลุ่มลึก ที่ข้าพเจ้าคิดไม่ถึง ขณะที่ข้าพเจ้ามองมาที่คนของเรา เป็นสำคัญ จะได้ไม่เหนื่อยเกิน ขนกันไปมา และประหยัด ทั้งทุนรอน....เวลา....แรงงาน แต่พ่อท่าน มองไปที่ จิตวิญญาณ ของคนอิรัก เป็นสำคัญ.... เหนื่อยอีกนิด เปลืองอีกหน่อย ดีกว่า ทำให้คนอื่น เสียความรู้สึก!!! ทำให้ข้าพเจ้าได้คิด อีกทีว่า แม้เราจะสอบถาม ไปที่สถานทูต ก็อาจไม่ได้ความจริงหรอก เพราะโดยมารยาท เจ้าหน้าที่ ก็คงต้องขอบคุณ ในน้ำใจเอื้อเฟื้อ ให้ตามจริง ใครจะกล้าปฏิเสธ หรือเกี่ยง เลือกต่อหน้า ต่อตา ผู้มีน้ำใจมาให้ ลับหลัง เขาอาจ จะเสียความรู้สึกว่า เป็นข้าวเกรดต่ำ อย่างที่พ่อท่าน ว่าก็ได้

อนาคต...ของโรงงานบุญนิยม!!!
๒๘ เม.ย. ๔๖ ที่สันติอโศก มีการประชุมพาณิชย์บุญนิยม จากโอวาทก่อนปิดประชุม ทำให้เห็นทิศทาง ของโรงงาน บุญนิยมในความเห็นของพ่อท่านที่น่าสนใจดังนี้

"เราก็ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ก็ได้อะไรพัฒนาไปเรื่อยๆ บางทีเราก็ไม่มีความคิดที่ล่วงหน้า ไม่มีเหตุเกิดเป็นทุน เป็นต้นเค้า ปัจจัย เราก็ยังคำนวณ สังขารธรรมในอนาคตยังไม่ถึง แต่มาถึงวันนี้ เหตุปัจจัย ก็มีผสม กันมาเรื่อย ก็จะเห็นทิศทางขยายไป ทิศทางของบุญนิยม ก็มีของมัน ต้นรากของมัน หรือบูรณาการของมัน ก็ไปอีก ทิศทางหนึ่ง คนละทางกับทุนนิยม

บุญนิยมได้พัฒนามาถึงวันนี้ ยิ่งชัดเจนและยิ่งดี เกี่ยวกับจิตวิญญาณของมนุษย์ที่ทำให้เป็นไปได้ ซึ่งไม่น่า จะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปได้ อาตมาก็ไม่อยากจะเดาว่า ในอนาคตชาวบุญนิยม จะมีโรงงาน ราคาพันล้าน หมื่นล้าน เหมือนชาวทุนนิยมหรือไม่ แต่เท่าที่อาตมาคิดนี่ อาตมาเห็นว่า มันไม่น่า จะทำให้เป็น โครงสร้าง ที่ใหญ่อย่างนั้น แทนที่จะเป็นโรงงานราคาหมื่นล้าน น่าจะเป็นโรงงานราคาร้อยล้าน หลายๆโรง แจกจ่ายกัน ไปทั่วทิศ ลักษณะบุญนิยม น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ประสิทธิภาพหรือปริมาณก็ดี คุณภาพก็ตาม ก็จะเหมือนกัน กับทางทุนนิยม

ทุนนิยม พยายามที่จะรวมกันให้เป็นกลุ่มใหญ่ กลุ่มเดียว ขึ้นมามีพลังใหญ่ เพื่อที่จะไปจัดการกับกลุ่มอื่นๆ ให้แย่ไป ให้น้อยลง ให้ล้ม ให้พ่ายแพ้ ล้มละลาย จนเหลือแต่ตัวเขาใหญ่เด่นเดี่ยวโดดๆ ครองตลาด แต่บุญนิยม จะพยายามกระจาย กระจายกลุ่มให้แบ่งตัวออกไปมากขึ้น แต่ไม่ใช่กระจาย อย่างแก่งแย่ง เข่นฆ่ากัน กระจายกัน อย่างสัมพันธ์กัน เป็นหนึ่งเดียว ช่วยกันสร้างสรรเสียสละเผื่อแผ่ ให้กระจายไป ให้แก่ผู้อื่น ได้รับประโยชน์ จากการกระจายนั้น กว้างไกลมากขึ้น ให้สุขสำราญ ให้เจริญงอกงาม ให้แข็งแรง ช่วยตัวเองได้ แล้วขยายมวลต่อไปอีก ทุนนิยมเขาทำอย่าง บุญนิยมไม่ได้ แม้รวมกัน ลึกๆ เขาก็แย่งกัน เรื่องจิตวิญญาณ เขาไม่สมานสนิท เพราะเขาจะต้อง เอาเปรียบ เอารัดกัน เกี่ยงงอน เห็นแก่ตัว และโลภ ยิ่งขึ้น แต่ของบุญนิยม มีแต่จะสละออก และจะประสาน สัมพันธ์กัน เพราะจิตสละโลภไปหาสูญ วันชนะ จึงเห็นอยู่ไรๆ ส่วนทุนนิยมจะรวมกัน เพราะจะเอาประโยชน์ คนที่มารวมกัน ก็มีแต่คน ที่จะมาเอา ประโยชน์ ไม่มีความพอ ก็มีแต่จะตีกันไปเรื่อยๆ ทำลายกันเอง และ ไม่เผื่อแผ่ หรือกว้างไกลออกไปจริง"

ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้ เป็นเกร็ดเล็กๆ จากงานปลุกเสกฯ เกี่ยวกับความเป็นจริงของตัวพ่อท่าน ขอนำมาฝาก เพื่อประดับ ความรู้ และเพิ่มพูนศรัทธา จากบางส่วน ที่พ่อท่านให้โอวาท ปิดประชุม ต.อ. (หน่วยตรวจสอบ สินค้า และผลิตภัณฑ์ ของชาวอโศก) ๑๐ เม.ย. ๔๖ ที่ศีรษะอโศก

"ทุกเหตุการณ์จะสร้างวีรชน นี่ก็เช่นกัน เหตุการณ์บังคับให้เราทำ เมื่อไม่มีตัวเราก็ต้องทำ ไม่มีทางเลือก แล้วก็วางใจ ได้เลย เพราะสิ่งเหล่านี้ จะประเดประดังเข้ามา เราจะทำอย่างไร ให้เราจัดสรรเวลา แรงงาน ได้เก่งขึ้น

เราต้องปฏิบัติอย่างเป็นสุขาปฏิปทา แม้หนักเหนื่อย แต่ก็เบิกบานได้ เหมือนอุ้มช้างอาบน้ำ ตั้งแต่ช้าง ตัวเล็กๆ อุ้มทุกวัน อุ้มไปเรื่อยๆ จนช้างตัวโตก็ยังอุ้มได้

อาตมารับงานรับหน้าอยู่หลายหน้า แต่ก็ไม่เคยหม่นหมอง....."

และ ในวันรุ่งขึ้น ๑๑ เม.ย. ๔๖ จากการแสดงธรรมทำวัตรเช้า ช่วงหนึ่งพ่อท่านบอกเล่า "....อาตมาสามารถกำหนดหลับหรือตื่นได้ จะ ๑ นาทีก็ได้ เช่น กำหนดเวลาตื่น ๓.๑๕ น. แม้ตื่นขึ้นมาก่อน ๓.๑๔ น. เหลือ ๑ นาที ก็กำหนดหลับต่ออีก ๑ นาทีได้...."

ข้าพเจ้ามีโอกาสหลายครั้งคราวที่ได้นอนใกล้ๆพ่อท่าน ไม่ทันถึง ๕ นาทีได้ยินเสียงพ่อท่านกรน เคยมาแล้ว แต่ใน ๑ นาที พ่อท่านก็สามารถกำหนดหลับและตื่นได้ นี่เพิ่งจะได้ยิน แสดงถึงจิตที่นิ่ง สงบ และ มีพลัง อำนาจมาก.

- อนุจร -
๒๘ เม.ย. ๔๖

(สารอโศก อันดับ ๒๖๑ มิถุนายน ๒๕๔๖)