หน้าแรก>สารอโศก

ฉลาด - เฉลียว

ธรรมชาติของคนนั้น มีสิ่งพิเศษอยู่อย่างหนึ่งที่แตกต่างไปจากสัตว์จำพวกอื่นคือ "ความฉลาด" และ ความฉลาด ที่มีอยู่ในตัวตน ใช่ว่าจะก่อให้เกิดผลดีแก่ตนเอง เสมอไปก็หาไม่ หากใช้ความฉลาด โดยขาด ความเฉลียว สิ่งที่จะติดตามมาในภายหลังก็คือ ความเดือดร้อน

อุปกรณ์ที่จำเป็นของคนเดินป่า จะขาดเสียมิได้คือมีด และมีดถ้าเขาเปลือยคมไว้ อันตรายเกิดจากมีด มีได้ง่าย วิธีป้องกันอันตรายจากมีด เขาก็ต้องทำฝักมีดขึ้น เพื่อเก็บมีดไว้ในคราวที่พกพาติดตัวไป ฉันใด

ความฉลาดของคนเราก็ฉันนั้น มันเปรียบเสมือนมีดคมที่สามารถเป็นอันตรายแก่เจ้าของได้ ถ้าไม่รู้จักใช้ หรือใช้ไม่เป็น ความเฉลียวเปรียบเสมือนฝักมีด ซึ่งเป็นเกราะป้องกันอันตรายจากคมมีดได้เป็นอย่างดี สำหรับ คนพกพาที่รอบคอบ

โดยทั่วๆไป คนเรานั้นมีสติปัญญาความชาญฉลาดด้วยกันทุกรูปทุกนาม แต่ผิดแผกแตกต่างกัน ตรงที่ บางคน มีมาก บางคนมีน้อย ผู้ที่ฉลาดมากเกินไป คือหนักไปในทางเจ้าปัญญา ก็มักจะเป็นคนหัวดื้อ หัวรั้น ทำสิ่งใดก็ตาม มุ่งหวังแต่ประโยชน์ของตน เห็นแก่ตัว ไม่เฉลียวใจ นึกถึงประโยชน์ ของผู้อื่น หรือ ส่วนรวม คนจำพวกนี้อยู่ร่วมในสังคมเขาก็อยู่ยาก

ที่ว่าอยู่ยาก หมายถึงจะเป็นคนที่ไม่ได้รับความจริงใจจากผู้อื่น เพราะความเป็นคนฉลาดแกมโกง ของเขาเอง

จริงอยู่ เขาอาจจะใช้วิธีฉลาดแกมโกงสร้างฐานอำนาจขึ้นได้ แต่ฐานอำนาจอันนั้นมันมีขึ้นได้ เกิดขึ้นได้ โดยที่อีกมุมหนึ่ง เขาก็ได้สร้างศัตรูคู่แค้นขึ้นอย่างลับๆ จากกลุ่มของผู้ที่เสียผลประโยชน์นั้นๆ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งพวกเขาเหล่านั้น คอยหาโอกาส ที่ซ้ำเติมอยู่

ผู้ที่ไม่ฉลาดเล่า....?
สำหรับคนที่ไม่ฉลาดนั้น ก็ไม่เป็นที่ชอบใจของหมู่คณะ เพราะคนประเภทนี้ ไม่มีจุดยืน ทางด้านความคิด เป็นของตนเอง
คือมีแต่ความเฉลียวไร้ความฉลาด เขาจะทำสิ่งใดก็ล้วนขึ้นอยู่ที่ผู้อื่น จะบัญชา ไม่มี ความคิด ริเริ่ม สร้างสรร เฉลียวใจมากเกินไป จนเป็นวิตกวิจารณ์ กลัวทำไปแล้ว จะผิดพลาด เลยตนเอง ไม่ต้อง ทำอะไรกัน คอยที่จะเดินตามหลังผู้อื่นอยู่ร่ำไป

ผู้ที่จะอยู่ในสังคมส่วนรวมได้ โดยไม่มีศัตรูคู่อาฆาต และเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของหมู่คณะนั้น ต้องเป็นคน ที่เพียบพร้อม ทั้งความฉลาด และความเฉลียว ควบคู่กันไป ถ้าขาดอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว วงจรความคิด ในการดำเนินชีวิต จะไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถจะบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งปณิธานเอาไว้

เมื่อเขียนถึงตรงนี้ ก็อยากจะยกเอานิทานชาดกที่พระเดชพระคุณเจ้าคุณพระธรรมธีรราชมหามุนี ได้ให้โอวาท แก่พระนวกะ (พระบวชใหม่) ในพระอุโบสถ มาเป็นอุทาหรณ์ในเรื่องนี้

เรื่องก็มีอยู่ว่า......

มีชายหนุ่ม ๒ คนเป็นเพื่อนรักกันมาก ชื่อ "นายฉลาด" กับ "นายเฉลียว" พากันไปเรียนวิชาความรู้ ในสำนักของ อาจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง เขาทั้งสองเป็นที่รัก เป็นที่โปรดปราน ของอาจารย์ มากกว่า ศิษย์คนอื่นๆ และอาจารย์ก็สอนวิชาความรู้ ให้แก่เขาทั้ง ๒ เท่าๆกัน จนหมดความรู้ ของตนเอง โดยไม่อำพราง

เมื่อเขาทั้ง ๒ เรียนจบหลักสูตร ในสำนักของอาจารย์แล้ว ก็อยู่ปรนนิบัติอาจารย์ตามสมควร แล้วจึงลา อาจารย์ กลับถิ่นฐานบ้านเกิดของตน

ในการเดินทางสมัยนั้น ยานพาหนะที่อำนวยความสะดวก ยังไม่เจริญเหมือนกับสมัยปัจจุบันนี้ เขาทั้งสอง พากัน เดินบุกป่าฝ่าดงมา ซึ่งในขณะเดินมา ในระหว่างทางนั้น ได้พบรอยเท้าสัตว์ใหญ่ ชนิดหนึ่งเข้า

นายฉลาดจึงพูดขึ้นว่า "เฮ้ย?ไอ้เกลอแก้ว นี่มันรอยเท้าช้างนี่หว่า"

นายเฉลียวก็กล่าวตอบว่า "เออจริง แต่กันว่าไอ้ช้างเชือกนี้ เป็นช้างตาบอดข้างหนึ่งแน่ๆเลย"

นายฉลาดก็ไม่ได้โต้แย้งแต่อย่างใด ต่างเดินชมนกชมไม้กันไปเรื่อยๆ พอเดินไปได้หน่อยหนึ่ง ทั้งสอง ก็พบ พื้นดินข้างทาง เปียกแฉะไปด้วยน้ำ อยู่หย่อมหนึ่ง

นายฉลาดก็สะกิดนายเฉลียวพลางพูดขึ้นว่า "เกลอ แกเห็นพื้นดินที่เปียกแฉะนั่นมั้ย? แกรู้มั้ยนั่นแหละ เป็นรอย น้ำปัสสาวะ ของอิสตรีละ"

นายเฉลียวพยักหน้าแล้วตอบว่า "เออ....จริงๆด้วยซิเพื่อน? แต่สังเกตให้ดีซิ ไม่ใช่เป็นน้ำปัสสาวะ ของอิสตรี ธรรมดานะ มันเป็นน้ำปัสสาวะ ของอิสตรีมีครรภ์ด้วย"

นายฉลาดก็ไม่ได้แคลงใจอะไรในคำพูดของเพื่อนรัก พวกเขารีบเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้น เพื่อให้ทันเจ้าของ รอยเท้า และเจ้าของปัสสาวะ สักพักใหญ่ๆ ก็พบช้างเชือกหนึ่ง กับหญิงสาว อีกคนหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่า ช้างเชือกนั้น เป็นช้างตาบอด ข้างหนึ่งจริงๆ และหญิงสาวนางนั้น ก็เป็นหญิงมีครรภ์จริงๆ ด้วย

เหตุที่นายเฉลียวเขารู้ได้ละเอียดลออถึงเพียงนี้ ก็เพราะเขาพบความผิดปกติ ของต้นไม้ ใบไม้ และ หญ้า ข้างทาง ที่ช้างเดินผ่านไป ถูกเด็ดหักกิน เพียงข้างเดียว

และที่รู้ว่าพื้นดินที่เปียกแฉะนั้น เป็นน้ำปัสสาวะของอิสตรีผู้มีครรภ์ ก็เพราะเขาพบว่า ข้างๆ รอยน้ำ ปัสสาวะนั้น มีรอยฝ่ามือทั้งสอง ปรากฏอยู่ ซึ่งแสดงว่าหญิงนั้น หลังปัสสาวะเสร็จแล้ว ต้องใช้พลัง แขนทั้งสอง ยันพื้น พยุงตัวเองลุกขึ้น เพราะน้ำหนักของเด็กในท้อง และของตนเอง หนักเกิน ที่จะใช้ กำลังขา ทั้งสอง ทรงตัวขึ้นได้

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความฉลาดกับความเฉลียวถ้ามีอยู่ในผู้ใดไม่ครบทั้งสองประการแล้ว ระบบความคิดอ่าน ของผู้นั้น ไม่จัดเป็นปัญญา ที่แก้ไขปัญหา หรือมองเหตุการณ์ เรื่องราวที่เกิดขึ้น ได้ทะลุปรุโปร่ง ดังเช่นนายฉลาดกับนายเฉลียว ซึ่งเป็นเพื่อนรักกัน ร่ำเรียน วิชาความรู้ จากสำนักอาจารย์ เดียวกัน แต่ความละเอียดถี่ถ้วน ในการสังเกตสังกา ผิดแผกแตกต่างกัน

นายฉลาดมีแต่ความฉลาดในวิชาที่เรียนอย่างเดียว จึงรู้เพียงว่าเป็นรอยเท้าช้าง และรอยน้ำปัสสาวะ ของอิสตรี เท่านั้น แต่นายเฉลียวมีทั้งความชาญฉลาด ทั้งไม่ขาดความเฉลียว คือมีความฉลาด เกิดขึ้นเพราะ วิชาความรู้ และมีความเฉลียวไหว พริบปฏิภาณ พิจารณาสภาพสิ่งแวดล้อม รอบข้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นายฉลาดไม่มี จึงสามารถรู้ได้ช้างเชือกนั้นเป็นช้างตาบอด และน้ำปัสสาวะนั้น เป็นของ หญิงมีครรภ์

เรื่องราวของความฉลาดเฉลียวนี้ โดยสรุปแล้วก็คือตัวปัญญานั่นเอง ซึ่งเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาได้เป็นเลิศ และ ปัญญาที่ว่านี้ ต้องเป็นปัญญาที่มีศรัทธา เข้ามาประกอบ ปัญญากับศรัทธาเป็นธรรมคู่กัน

มีปัญญาตัวเดียวโดดๆก็จะทำให้เป็นคนหัวแข็ง เพราะปัญญาเป็นตัวค้นคว้าหาเหตุผล ไม่ยอมจำนน ง่ายๆ หรือ ถ้ามีแต่ศรัทธาอย่างเดียว ก็จะทำให้หลงงมงาย เพราะศรัทธาเป็นตัวปักดิ่งลง โดยไม่สนใจว่า ถูกหรือผิด ไร้เหตุผล

ฉะนั้น"ปัญญา"คือหลักการคิดอย่างมีเหตุผล "ศรัทธา"คือความเชื่อที่ไม่มีขอบเขต เมื่อมีศรัทธา และปัญญา อยู่ด้วยกัน พลังความเชื่อกับพลังความคิดจะสมดุลกัน ซึ่งเป็นตัวจักร ในการดำเนินชีวิต ในแนวทางที่ถูก ที่ควร ช่วยให้เกิดความสุขได้ ตามอัตภาพ

จะว่าไปแล้ว เมื่อมีปัญหาข้อพิพาทต่างๆเกิดขึ้น ตนเองสามารถแก้ไขได้ ไม่จำเป็นต้องวิ่งโล่ไปให้คนอื่น ซึ่งไม่รู้ อีโหน่อีเหน่อะไรกับเรา คือพยายามวิ่งเข้าหาปัญหา อย่าวิ่งหนีปัญหา คิดค้นหาเหตุผล และ มีความเชื่อมั่น ในตนเอง สร้างขวัญกำลังใจ ให้เกิดมีในตนเอง เมื่อมีเรื่องตั้งสติให้ดี อย่าเสียขวัญเป็นใช้ได้

- กิตติโฆษก์ -
(จากหนังสือมงคลสาร มิ.ย.๒๕๓๐)

สารอโศก อันดับ ๒๖๑ มิถุนายน ๒๕๔๖