อโศกในทศวรรษที่
๓ แห่งปัญญา เราถูกรุกเร้าด้วยงานมากมายทั้งรีบด่วน เร่งเร็ว และผู้คนที่หลั่งไหล
เข้ามา งานมากขึ้น คนมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่า อโศกกำลังอยู่ในยุค ที่ได้รับการกล่าวขานอย่างสูง
บทสัมภาษณ์วันนี้
พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ตอบคำถาม เพื่อย้ำเตือนลูกๆ อย่าลืมเป้าหมาย สูงสุด
ของชีวิต และ อย่าหลงไปกับภาพลวงตา จงตรวจตรา และเพิ่มภูมิตัวเอง เอาประโยชน์ให้ได้
จากงานมากขึ้น คนมากขึ้น
ถาม งานของเรากว้างขึ้น
เราต้องการแรงงานช่วยมากขึ้น คนที่เข้ามาช่วยงาน มีศรัทธา และเสียสละ
หลายคน มีความสามารถ ขยันขันแข็ง เป็นคนเก่ง แต่ความที่เขายังไม่มีราก
เพียงพอ ที่จะเข้าใจธรรมะ ได้ลึกซึ้ง เช่นในเรื่องของ ระบบบุญนิยม
จึงเกิดปัญหา ในการทำงาน อาจทำให้ออกนอกลู่นอกทาง ทำอย่างไร ที่จะปรับ
ให้เขาทำงานอยู่กับเราได้ โดยเราจะไม่สูญเสีย คนที่ช่วยงานไปในที่สุด?
ตอบ ปรับเข้าหาสัจจะ
ปรับเข้ามาหาความถูกต้อง ปรับความเข้าใจให้เขารู้ว่า นั่นมันออก นอกลู่นอกทาง
เมื่อออก นอกลู่นอกทาง มันทำไม่ได้ ทำไปก็ยิ่งออกนอกลู่นอกทาง ไปกันใหญ่
ก็พังกัน ต้องให้เขาปรับ ปรับได้ มากน้อย อย่างไรก็ต้องปรับ
พยายามทำ เท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมดา คนเราจะมา
ให้เก่ง ให้ดีทันที มันเป็นไปได้ยาก ยิ่งเขายังเป็นคนที่ มาศึกษากับเราไม่นาน
ก็ต้องให้เวลาเขาบ้าง อาจมีถูกบ้าง ผิดบ้าง
ส่วนเรื่องต้องเสียคนทำงานไป ถ้าจำเป็นเสียก็ต้องเสีย
เพราะว่าเราจะเอาความจริง เอาความถูกต้อง เราทำงาน ก็เพื่อศึกษาสัจธรรม
ซึ่งแปลว่า ความจริง ความถูกต้อง เมื่อไม่ถูกต้อง และเขาไม่เต็มใจที่จะทำ
แต่ในหมู่นี้ มีคนถูกต้องอยู่มาก เขาคนเดียว ยังไม่ถูกต้องก็ต้องออกไป
ถ้าเขาจะไม่อยู่เพื่อฝึกฝน เพื่อที่จะยอม เพื่อที่จะปรับตัว หรือ ถ้าเขาเอง
จะอยู่โดยผิดๆเขาก็บาปอยู่ และเขาจะอยู่ไปทำไม หากจะอยู่ เขาต้อง พยายามปรับ
ให้มันถูก ถ้าเขาไม่ปรับเลย เราก็ต้องให้เขาออกไป
การที่พวกเราไปเสียดายแรงงาน
นี่คือความโลภ คือความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ของผู้ที่โลภแรงงาน
เขาทำงาน ให้เราฟรี เขาทำงานเก่ง เขาทำให้เราได้ผลผลิต ได้การงาน ได้ใช้แรงงาน
สุดท้ายก็ได้นำไปขาย ได้เงินได้ทอง มาแลกเปลี่ยน ก็มองเห็นว่า เป็นประโยชน์
มองกันแค่ตื้นๆสามัญเป็นคนโลกย์ๆ ซึ่งเห็นว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ
โลกียสุข คือสิ่งที่น่าได้ น่ามี น่าเป็นโลกียะ เพราะฉะนั้น จึงตัดสินโดยที่จะไปเพ่งเล็ง
เอาแต่ได้ เราจึงเสียดาย เพราะเสียดายนี่แหละ
ก็เลยยอมให้กับสิ่งที่ผิด ตามคำถามที่สมมติ เมื่อเขาออก นอกลู่
นอกทาง เพี้ยนไป จากสัจธรรม ไม่เข้าถึงรากถึงแก่นในจริงๆ พอสักวัน
มันก็จะต้องขัดแย้ง หรือ มันต้องเข้าใจไม่ได้ เมื่อเป็น เช่นนั้นจริง
ก็ต้องปรับกันต้องบอกกันให้รู้ ผู้ที่ต้องการทำงาน จะอยู่ฝึกฝน กับเราต่อไป
ก็ต้องบอก ให้รู้จริงจัง สอบทานกันไปเลย ถ้าเขาผิดจริง และ เขาก็ไม่ปรับไม่แก้ตัว
หรือว่า แก้ไม่ไหวจริงๆ มันได้แต่ทำผิดๆๆ ก็บาป อยู่นั่นแหละ
แต่ทีนี้ มันมีเปอร์เซนต์ของการผิดมากผิดน้อยซึ่งต้องดูด้วย
ถ้าผิดมากขนาดหนึ่ง ก็ต้องออกไป แต่ถ้าผิด ประมาณหนึ่ง ก็พอให้ปรับปรุงตัวได้
เพราะมันผิดไม่มากนัก ก็ว่ากันไปจะเอาถูกเต็มร้อยไปทั้งหมด มันไม่มี
ในโลกหรอก เขาก็ได้เท่านี้ จะว่าผิด มันก็ไม่ผิดทีเดียว แต่มันไม่สมบูรณ์เท่านั้น
เราจึงต้องรู้จัก สิ่งที่เป็น องค์ประกอบ ของสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย ทั้งในส่วนของงานและส่วนของธรรมะ
โดยเฉพาะ เราต้องเน้น เข้าหาธรรมะ เป็นหลักมากกว่าส่วนของงานหรือผลของงาน
อย่าให้เสียธรรม หรือ อย่าเห็นแก่เงิน แก่งาน ยิ่งกว่าธรรม
ถาม การที่เราให้ค่าความสามารถของเขา
อาจทำให้เขาเกิดมานะส่วนหนึ่ง และเราเอง ก็ยอม เพราะรู้สึก เป็นบุญคุณ
ที่เขามาช่วยเราก็เกิดความเกรงใจ จะพูดว่าอะไรก็ลำบากใจ?
ตอบ ก็ต้องพูดให้เข้าใจ
จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าผิดไม่มากเราก็อนุโลมให้อยู่กันได้ โดยบอก
ให้เขา แก้ไข ก็ต้อง พยายามบอก ถ้าไม่ถึงกับขนาดมาทำลายทีเดียว แต่มันคือ
ความบกพร่อง ความไม่สมบูรณ์ ในด้าน ธรรมะ ก็เป็นของเขา ถ้าจะผิด ก็เป็นส่วนที่เขา
ไม่ได้ประโยชน์ตน ส่วนในแง่ ของงาน ที่เป็น ประโยชน์ท่าน ถ้าเขาช่วยเราได้ดีอยู่
เพียงแต่ผิด ที่สัจธรรมของเขา ยังไม่สมบูรณ์ เท่านั้น ก็เป็นความผิด
ของเขา เป็นบาป ของเขา ถ้าไม่ทำให้เสีย ในวงใหญ่ หรือเสียในส่วนใหญ่
จนทำให้คนอื่น เข้าใจผิด หรือ เสื่อมเสีย ในส่วนใดๆ ก็แล้วแต่ ก็อยู่ร่วมกันไปได้
แต่ถ้าขืนให้อยู่ต่อไป จะทำลายส่วนใหญ่ ก็จำเป็น ต้องให้ออกไป เพราะว่า
จะเสียธรรมะ พระพุทธเจ้าบอกว่า อะไรก็แล้วแต่ สำคัญ อย่าให้เสียธรรม
ถาม อีกส่วนคือในพวกเราบางคน
ก็อยู่ในฐานยังไม่มั่นคงกลายเป็นว่า อาจไหลไปตามเขา ถูกดึงลงไปได้?
ตอบ
ก็นั่นแหละ มันเป็นไปได้ ถ้าเราอ่อนแอ และมันมีฤทธิ์แรง มีอิทธิพลฉุดลงไป
นี่ก็เป็นรายละเอียด ที่เรา จะต้องเรียนรู้ อะไรที่ดึงจูง
ทำให้สูญเสียจากคนเดียว กลายเป็นดึงจูงให้เสียอะไรๆไปอีกมาก ก็จำเป็น
ต้องตัดไฟ แต่ต้นลม อาตมาจึงกำชับกำชา อยู่ตลอดเวลา เน้นเนื้อให้เหนือกว่ามาก
เน้นลากแม้ยาก กว่าแล่น เน้นจริงให้ยิ่งกว่าแค่น เน้นแก่นให้แน่นกว่ากว้าง
ก็เน้นกันอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่เช่นนั้น จะไปไม่รอด และ ไปไม่ไกล ไปไม่ถึงแก่น
เพราะมันเป็นความหลงมาก พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
ธรรมวินัยใด เป็นไปเพื่อ ความมักมาก ธรรมวินัยนั้น ไม่ใช่ของเราตถาคต
ธรรมวินัยใด เป็นไปเพื่อ ความมักน้อย ธรรมวินัยนั้น เป็นของเรา ตถาคต
ข้อความนี้กินความไกลมาก คนเราถ้ามักมาก มองในระดับระนาบกว้าง ระดับโลกีย์
ซึ่งมันกว้างมันใหญ่ ทำให้คนหลงเพี้ยน หรือว่าเบลอๆไปได้ง่าย ฉะนั้นจึงต้องชัดเจน
ต้องแม่นๆ มั่นๆ คมๆ ลึกๆ
ถาม
ขอบข่ายความเกรงใจ และความกล้าหาญทางจริยธรรมแบ่งแยกกันตรงไหนคะ?
ตอบ
ความเกรงใจนั้นดี แต่เราก็ต้องรู้จักคำว่า เกรงใจ หมายความอะไร ถ้าเกรงใจคือ
ไม่อยากให้เขา รู้ตัวว่า เขาเองผิด อันนี้เป็นความโง่ ของคนที่คิดเอาเอง
ถ้าเข้าใจความหมายที่ถูกต้องเราจะต้องรู้ว่า
เรากลัวเขาเอง จะเสื่อมเสีย จะตกต่ำ จะผิดอะไร เป็นต้น แล้วเราก็ต้องรีบบอกเขา
นี่คือเกรงใจ ส่วนความเกรงใจ ในความหมายที่ว่า คนทำผิดอยู่ แล้วเราไม่กล้าไปพูดกับเขา
นั่นไม่ใช่ความเกรงใจ แต่เป็น ความไม่กล้า ของคนนั้น เป็นความโง่ของคนนั้น
เพียงแต่เราต้องมีศิลปะ ในการที่จะบอกกล่าวกัน เมื่ออยู่ด้วยกัน แต่ถ้า
ไม่ได้ อยู่ด้วยกัน หรือว่าไม่ได้คบหากัน สนิทสนม ก็อีกเรื่องหนึ่ง
แต่ถ้าอยู่ด้วยกัน ใกล้ชิดแล้ว จะต้องมี ความกล้า ทางจริยธรรม ก็คือ
ต้องพยายามบอกกล่าวกัน ติงเตือนกัน อันนี้ พระพุทธเจ้า ท่านเน้นมากเลย
ในธรรมะ ของท่านต้องบอกกล่าวกันออกจากอาบัติอย่างนี้เป็นต้น ต้องพยายามแนะนำ
อย่าไปดูดายกัน หรือ ทำเป็นเฉย พระพุทธเจ้าท่านปรับอาบัติด้วยนะ ถ้าเห็นคน
ทำผิด แล้วปกปิด ตัวเองบอกไม่ได้ ก็ต้องบอก ผู้ใหญ่ บอกคนอื่นที่จะช่วยเหลือเฟือฟาย
เพราะมันเป็นจริง อยู่เหมือนกันว่า เราไม่กล้า
หรือเกรงใจ เราก็ต้อง หาทางอื่น ที่จะช่วยเขา เช่นให้คนที่สามารถบอกได้
บอกหมู่ บอกกลุ่ม บอกผู้มีฐานะ ซึ่งเป็นผู้ที่บอกเขา ได้ยิ่งกว่าเรา
เป็นต้น เราต้องช่วยเขาอย่างนี้ ถ้าเราเอง เกรงใจเขาจริงๆไม่กล้าบอกเขาจริงๆ
ถาม
มีคำหนึ่งที่ทำให้พวกเรา ไม่กล้าติติง คือคำว่าทำให้ "เสียจิตวิญญาณ"
?
ตอบ
ถ้าคุณปล่อยให้เขาทำผิดอยู่นั่นแหละ คุณทำให้เขาเสียจิตวิญญาณ หรือเขาเจริญ
ทางจิตวิญญาณ ล่ะ เขาเสียต่างหาก คุณยิ่งปล่อยไปเขายิ่งเสีย ยิ่งไม่บอกไม่เตือนเขา
ไม่ให้เขาได้พัฒนา ไม่ให้เขาได้ เปลี่ยนแปลง ในสิ่งที่ถูก มันก็ยิ่งเสียไปกันใหญ่
ที่ว่าไม่ทำให้เสียจิตวิญญาณ ภาษาเผินๆ มันคล้ายกับว่า ไม่ทำให้เขากระทบกระเทือนใจ
โดยไปประเล้า ประโลม ไปโอ๋เอาอกเอาใจกันอยู่ มันทำให้ คนเสื่อม มานัก
ต่อนักแล้ว เพราะความเกรงใจ ความไม่กล้า กลัวทำให้เขาเสียใจ เสียจิตวิญญาณ
เสียใจกับเสียจิตวิญญาณ มันคนละเรื่องกัน
เสียใจโดยความหมายก็คือ เสียใจ น้อยใจ ซึ่งเป็นกิเลส ของคนเสียใจ คนน้อยใจ
แต่คนไม่ชอบใจ คนโกรธ โลภ หลง ก็คือ เป็นกิเลสทั้งนั้น เพราะฉะนั้น
ถ้าเขา จะเกิด กิเลสของเขา เราก็ต้องพยายามให้เขารู้ว่า นั่นเขามีกิเลสต่อแล้วนะ
เราก็ต้อง บอกเขาด้วยดี เตือนด้วยดี เสียจิตวิญญาณ คืออย่าให้จิตวิญญาณเขาเสียหาย
แต่ผู้ใด ที่ได้รับ กระทบสัมผัสแล้ว ได้เห็นรูป ได้ยินเสียง กระทบกลิ่นลิ้นได้รส
คนนั้นเสียใจ คนนั้นก็เสียแล้ว คนนั้นเสียเอง เลวเองแล้ว อันนั้น ไม่ได้
หมายความว่า คนอื่นทำให้ ตัวเองได้รับกระทบได้ยินเสียงคนอื่น
เขาตำหนิ หรือ เขาพูด ไม่พอใจเราก็ตาม ถ้าเราเสียใจ เราก็เสียของเราเอง
เสียใจไม่ใช่หมายถึงเสียจิตวิญญาณ แต่เราจะต้อง พิจารณา ถึงความถูกต้อง
ความดีความงาม และดูเจตนาของคนอื่นที่ให้แก่เรา แม้เขาจะให้
อย่างด่า ก็ตาม แต่ถ้าเราเอง เป็นคนที่เข้าใจอย่างดีแล้ว รับคำด่าของเขาได้
แล้วนำมาพิจารณา เขาด่ามาไม่ถูกต้อง เราก็เฉยๆ เราจะไม่เสียจิตไม่เสียใจเลย
หากเราจะเสียก็เพราะว่าเราโง่ เรารับอะไรมาถูกหรือผิดเราไม่รู้ เราไม่พอใจ
แล้วก็เสียใจ น้อยใจไปเลย ภาวะของความเสียใจน้อยใจ
เป็นเรื่องของอวิชชา เป็นเรื่องโง่ ของผู้นั้นๆ
ถาม "ชีวิตต้องมีศาสตร์และศิลป์อย่างยิ่ง"
เป็นประโยคที่มีนัยะลึกซึ้งอย่างไรคะ ?
ตอบ
เราต้องเข้าใจว่าศาสตร์และศิลป์คืออะไร ถ้าคนไม่มีทั้งศาสตร์และศิลป์
ก็คือคนที่ไม่เจริญอะไร เป็นเศษสวะ อยู่ในสังคมไปอย่างนั้นเอง เพราะฉะนั้น
คนที่มีศาสตร์ และศิลป์ คือมีความรู้ มีความสามารถ ในการที่จะใช้งานที่จะสัมพันธ์
ที่จะเชื่อมโยง ที่จะทำให้เกิดคุณค่าประโยชน์ต่อผู้อื่น ผู้ที่มีศิลปะ
คือผู้ที่ ประกอบการ และให้คนอื่นรับไปได้ โดยตนเองสามารถที่จะให้เขาได้
เป็นประโยชน์ ต่อผู้อื่น ถ้าจะว่าจริงๆ แล้ว ศาสตร์คือ
ตัวเราเองเป็นผู้มีความรู้ มีความสามารถ ศิลปะ คือสามารถ ที่จะให้
ผู้อื่นได้ด้วย ถ้าจะเปรียบเทียบ อย่างลึก ในธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว
ศาสตร์นี้คืออรหันต์ ศิลปะ คือโพธิสัตว์
ศาสตร์ คือ ความเป็นอรหันต์ ศิลปะ
คือ ความเป็นโพธิสัตว์ ผู้ใดมีศิลปะ ผู้นั้นสามารถ ที่จะช่วยเหลือ
ผู้อื่นได้ ด้วยความรู้ ของตัวเองที่ได้มา แต่ผู้ใดไม่มีความรู้ ไม่มีศาสตร์
ผู้นั้นเป็นโพธิสัตว์ไม่ได้ ผู้นั้น มีศิลปะไม่ได้
มีคนเข้าใจศิลปะผิดๆศิลปะไม่ใช่สิ่งที่มาทำตามอารมณ์
บำเรอตัวเอง ศิลปะหมายถึง มีความสามารถ สิปปะ แปลว่าฝีมือ ความสามารถ
เมื่อรู้ถึงความสามารถ ก็สามารถ ที่จะทำออกมา ให้คนอื่นเขาได้ คนอื่น
ได้รับ ประโยชน์จากเรา ศิลปะ จึงมีคุณค่า ถึงอย่างนั้น ศิลปะไม่ใช่ทำอะไรขึ้นมาแล้วบำเรอตัวเอง
เดี๋ยวนี้ ศิลปิน ทำตามใจตัวเองมีอารมณ์เต็มที่ เป็นอัตตวิสัย บำเรอจิตตัวเอง
โดยใครจะรู้ไม่รู้ช่างมัน พวกนี้ หลงผิดๆ ไปหมดเลย ศิลปะเชื่อมโยง
ออกมาจากศาสตร์ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถแล้ว จนกระทั่ง ให้คนอื่น
พึ่งได้ เพราะฉะนั้น ผู้มีศิลปะ คือผู้อื่นพึ่งได้ โพธิสัตว์ก็เหมือนกัน
เป็นผู้ที่ผู้อื่นพึ่งได้ เป็นประโยชน์ ต่อผู้อื่นได้
คนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
หรือผู้อื่นจะพึ่งได้ผู้นั้นต้องมีของตนเองก่อน ต้องมีศาสตร์
ต้องมีสมรรถนะ หรือ ต้องมีความรู้ ความสามารถ ในตนเองเสียก่อน มีมรรคมีผล
ของตนเอง เสียก่อน
คนที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้
ต้องมี ความอดทน เข้มแข็ง เชื่อมั่น และมีสติปัญญา
ภายใต้กระบวนท่าสุดยอด....."ศาสตร์และศิลป์แห่งการพ้นทุกข์"
(สารอโศก อันดับที่
๒๖๒ กรกฎาคม ๒๕๔๖)