เมตตาและอดทน
(นิโครธมิคชาดก)
คนธรรมดามักกระทำความเห็นแก่ตัวเสมอ
ผู้กล้าดีเท่านั้นจะเสียสละทำความเมตตากรุณาได้
ซึ่งก็ต้องอาศัยปัญญาช่วยและความอดทนด้วย
ความเมตตากรุณาถึงสำเร็จได้ด้วยกรรมดี.
ในนครราชคฤห์ของแคว้นมคธ
มีธิดาสาวคนหนึ่งของเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก
นางเป็นผู้มีจิตศรัทธา แรงกล้า ในพระพุทธศาสนา ไม่ยินดีในชีวิตครองเรือน
ปรารถนาที่จะออกบวช จึงได้กล่าวขออนุญาตกับบิดามารดาว่า
"ข้าแต่คุณพ่อและคุณแม่
จิตใจของลูกไม่รักการมีชีวิตอยู่อย่างฆราวาส ต้องการออกบวชประพฤติพรหมจรรย์
ในศาสนาของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นทางนำออกจากทุกข์ทั้งปวง ขอท่านทั้งสองกรุณาให้ลูกได้บวชด้วยเถิด"
ฟังแล้วก็ตกใจ ทั้งบิดามารดารีบกล่าวว่า
"เจ้าพูดอะไรกัน ตระกูลของเรานี้มีทรัพย์สมบัติตั้งมากมาย
แล้วเจ้าก็เป็นลูกสาวเพียงคนเดียวของพวกเรา เจ้าไม่สมควรออกบวช"
แม้นางจะอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ แต่ก็ถูกปฏิเสธทุกครั้งไป
เมื่อหมดหวังนางจึงได้แต่คิดเอาไว้ว่า
"ช่างเถิด
หากเราต้องแต่งงานไปอยู่ในตระกูลสามี เราก็จะทำให้สามีโปรดปราน แล้วจะขอเขาบวช"
ไม่นานนักนางก็แต่งงานกับบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง
ต้องไปอยู่ในตระกูลของสามี ได้ประพฤติตัวเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม(ธรรมอันดีงาม)
ร่วมครองเหย้าเรือนอยู่กับสามี ปฏิบัติหน้าที่ของภรรยาเป็นอย่างดี
อยู่มาวันหนึ่ง มีงานนักขัตฤกษ์ในพระนคร
ผู้คนพากันไปเที่ยวเล่นในงาน ทั่วพระนครประดับตกแต่ง สวยงาม ราวกับเมืองสวรรค์
แต่แม้งานจะยิ่งใหญ่สักเพียงใด นางไปเที่ยวกับสามีก็มิได้ลูบไล้ของหอม
ไม่ตกแต่งเครื่องประดับ มีค่าใดๆ ไปในสภาพปกติธรรมดาที่เรียบๆ ง่ายๆ
สมถะอย่างนั้นเอง เป็นเหตุให้สามีของนางอดสงสัยไม่ได้ ต้องเอ่ยถามขึ้นว่า
"พี่เห็นใครๆเขาสนุกสนาน แต่งตัวสวยสดงดงามประชันกัน
ก็แล้วเพราะอะไรกันเล่า เธอถึงไม่แต่งกายให้สวย ไม่ใช้ของหอม ไม่ใส่เครื่องประดับ
ทั้งๆที่เราก็มีทรัพย์เป็นอันมาก"
นางเห็นเป็นโอกาสดี เวลาที่รอคอยมาถึงแล้ว
จึงบอกความจริงออกไปว่า
"ก็เพราะน้องเห็นว่า
ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย ที่จะไปประดับตกแต่งร่างกาย อันเต็มไปด้วยของน่ารังเกียจ
เพราะกายนี้ เทวดาหรือพรหมมิได้สร้างให้ ไม่ใช่สำเร็จด้วยทองหรือแก้วมณี
ไม่ได้เกิดมาจากกองดอกไม้หอม แต่เต็มไปด้วยคูถ (อุจจาระ)สกปรก มิใช่เต็มไปด้วยโอสถทิพย์แต่อย่างใดเลย
ที่แท้จริงแล้ว ร่างกายนี้เกิดอยู่ในของเหม็นหมักหมม
มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด ต้องขัดสีและนวดฟั้นเป็นนิจ มีการแตก ทำลายกระจัดกระจายรกป่าช้าเป็นธรรมดา
อันตัณหายึดจับให้เป็นเหตุแห่งความโศก เป็นที่ตั้งแห่ง ความร่ำไร เป็นที่อยู่อาศัยของโรคทั้งปวง
เป็นที่รองรับทุกข์โทษภัยทั้งหลาย มีของเสียภายในไหลออกมาภายนอกเสมอ
เป็นที่อาศัยของหมู่หนอนหลายตระกูล จะไปสู่ป่าช้ามีความตายเป็นที่สุด
กายที่ผู้คนพากันเห็นว่างามนี้ ประกอบด้วยกระดูกและเอ็น
ฉาบทาด้วยหนังและเนื้อ เป็นกายที่ถูกผิวหนังปกปิดไว้ ไม่ให้เห็นตามความเป็นจริง
ว่าเต็มไปด้วยลำไส้ใหญ่ ตับ หัวใจ ปอด ไต ม้าม น้ำมูก น้ำลาย เหงื่อ
มันข้น เลือด ไขข้อ ดี และมันเหลว
เมื่อเป็นเช่นนั้น ของไม่สะอาดย่อมไหลออกจากช่องทั้ง
๙ ของกายนี้ทุกเมื่อ คือ ขี้ตาไหลออกจากตา ขี้หูไหลออกจากหู น้ำมูกไหลออกจากจมูก
บางคราวก็ออกทางปาก ดีกับเสมหะย่อมไหลออกจากกายเป็นหยดเหงื่อ แม้ศีรษะของกายนี้
ก็เป็นโพรงเต็มด้วยมันสมอง ซึ่งคนพาลถูกอวิชชาห่อหุ้มแล้ว มักสำคัญกายนี้ว่าเป็นของสวยงาม
โดยที่แท้กายนี้มีโทษอนันต์
เปรียบเสมอด้วยต้นไม้พิษ เป็นที่อยู่ของสรรพโรคอันล้วนเป็นกองทุกข์
ถ้าหากกลับเอาภายในของกายนี้ออกข้างนอก ก็จะต้องถือท่อนไม้คอยไล่กาและสุนัขเป็นแน่
กายนี้สกปรกมีกลิ่นเหม็น เป็นดังซากศพ
เปรียบเสมือนส้วม ผู้มีดวงตามักติเตียน แต่คนโง่เขลามักหลงเพลิดเพลิน
ในกายอันมีหนังสดปกปิดไว้ มีแผลใหญ่ ๙ ทวาร อันของไม่สะอาดเน่าเหม็นไหลออกรอบด้าน
ก็ในเวลาใดที่กายนี้นอนตาย ขึ้นพองอืดมีสีเขียวคล้ำ
ถูกทอดทิ้งไว้ในสุสาน ในเวลานั้นญาติทั้งหลายย่อมไม่ห่วงอาลัย เหล่าสุนัขบ้านหรือสุนัขจิ้งจอก
ย่อมมาเคี้ยวกินกายนี้ แม้นกตะกรุม หนอน กา แร้ง และสัตว์อื่นๆทั้งปวงย่อมมาเคี้ยวกิน
ผู้ใดมีญาณปัญญา ได้ฟังคำตรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้แล้ว
ย่อมรู้แจ้งกายนั้น ย่อมเห็นตามเป็นจริงว่า ร่างกายนี้ฉันใด ร่างกายนั่นก็ฉันนั้น
ร่างกายนั่นฉันใด ร่างกายนี้ก็ฉันนั้น น้องรู้เข้าใจอย่างนี้
จึงคลายความเพลิดเพลินในร่างกาย ทั้งภายในและภายนอกเสียแล้ว จะประดับประดาร่างนี้ไปทำไม
เพราะการตกแต่งกายนี้ ย่อมเสมือนกับช่างจิตรกรตกแต่งภายนอกหม้อ ซึ่งบรรจุเต็มด้วยอุจจาระฉะนั้น"
สามีของนางได้ฟังคำพรรณนาอันเป็นสัจธรรมเหล่านั้นแล้ว
ให้รู้สึกอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ถึงกับโพล่งออกไปว่า
"อ้าว ! ก็เมื่อเธอได้เห็นโทษทั้งหลายของกายถึงเพียงนี้
ทำไมจึงไม่ไปบวชเสียเล่า"
นางอดตื่นเต้นดีใจไม่ได้ รีบรับคำทันทีว่า
"หากพี่อนุญาตให้ละก็ น้องจะไปบวชในวันนี้แหละ"
"ดีล่ะ พี่จะให้เธอบวช"
แล้วจัดการตระเตรียมบำเพ็ญมหาทาน
กระทำมหาสักการะยิ่งใหญ่ พาภรรยาไปบวชในสำนักของภิกษุณี
ซึ่งฝักใฝ่อยู่ในฝ่ายของพระเทวทัต นางจึงได้บวชสมดังความปรารถนาอันแรงกล้านั้น
ครั้นนางได้บรรพชาเป็นภิกษุณีแล้ว
ก็เคร่งครัดอยู่ในศีลและวินัย ยินดีพอใจในเพศพรหมจรรย์ แต่อยู่ไปได้ไม่กี่เดือน
ก็ปรากฏความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย หลังมือและเท้าบวมขึ้น ท้องก็ใหญ่ขึ้นดังหญิงมีครรภ์
บรรดาภิกษุณีทั้งหลายจึงถามกันว่า
"นี่อะไรกัน
ท่านมีครรภ์หรือ เป็นได้อย่างไร"
ภิกษุณีนั้นก็ตกใจรีบปฏิเสธว่า
"ดิฉันเองก็ไม่รู้
แต่ศีลของดิฉันรักษาอยู่อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ดี มิได้ไปละเมิดศีลใดๆเลย"
เกิดเหตุเป็นเช่นนี้ ภิกษุณีทั้งหลายจึงนำนางภิกษุณีสาวนั้นไปหาพระเทวทัต
เพื่อให้พิจารณาตัดสิน โดยบอกแก่พระเทวทัตว่า
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า แต่เดิมภิกษุณีรูปนี้เคยแต่งงานอยู่กินกับบุตรเศรษฐี
คงเพราะทำให้สามีโปรดปรานได้ยาก จึงได้มาบวช ก็บัดนี้เธอได้มีครรภ์เกิดขึ้น
พวกเราทั้งหลายนั้นไม่รู้ว่า เธอได้ตั้งครรภ์ในเวลาเป็นคฤหัสถ์อยู่
หรือมาตั้งครรภ์ในเวลาที่ได้บวชแล้ว เหตุเป็นเช่นนี้แล้ว จะกระทำอย่างไรดีเล่า
พระคุณเจ้า"
พระเทวทัตนั้นฟังแล้วก็คิดว่า
"คำครหานินทาจะเกิดแก่เราแน่
หากผู้คนพากันโพนทะนาไปว่า ภิกษุณีของพวกพระเทวทัต นั้นตั้งครรภ์ พระเทวทัตก็เอาแต่ทำเพิกเฉยเสีย
ไม่ตัดสินความอะไรเลย ดังนั้นเห็นทีเราจะต้องให้ภิกษุณีรูปนี้สึกไป
จึงจะเหมาะควร"
เพราะความกลัวเสื่อมลาภและสรรเสริญ
ไร้ความเมตตาเอ็นดู และขาดความอดทนในการไต่สวน พระเทวทัตจึงไม่พิจารณาให้ดี
ตัดสินคดีโดยง่ายอย่างรวดเร็วทันทีว่า
"พวกท่านจงให้ภิกษุณีลามกนั้นสึกไปเสียเถอะ"
เหล่าภิกษุณีทั้งหลายจึงนำคำของพระเทวทัต
ไปบอกแก่ภิกษุณีนั้น เมื่อรู้ข่าวแล้วภิกษุณีสาวก็ไม่ยินยอมเป็นอย่างยิ่ง
ได้กล่าวด้วยการร้องขอความเป็นธรรมว่า
"แม่เจ้าภิกษุณีทั้งหลาย ดิฉันบวชอยู่ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า
มิใช่บวชอยู่ในศาสนาของพระเทวทัต และพระเทวทัตเถระก็มิใช่พระผู้มีพระภาคเจ้า
อันเป็นบุคคลผู้เลิศในโลก อีกทั้งการบวชนี้ดิฉันก็ได้มาโดยยากลำบาก
ท่านทั้งหลายโปรดอย่าทำให้การบรรพชานี้ ต้องอันตรธานหายสูญเลย ไปด้วยกันเถิด
จงพาดิฉันไปสู่พระเชตวัน ให้เข้าเฝ้าต่อพระศาสดา"
ภิกษุณีทั้งหลายก็เห็นใจ จึงพาภิกษุณีสาวนั้นไป
ออกจากกรุงราชคฤห์มุ่งสู่กรุงสาวัตถี สิ้นระยะทางไกลถึง ๔๕ โยชน์(๑
โยชน์ = ๑๖ กม.) จึงถึงพระเชตวันมหาวิหาร แล้วได้กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้พระศาสดาทรงทราบ
พระพุทธองค์ทรงวินิจฉัยในพระทัยว่า
"ภิกษุณีนี้ตั้งครรภ์มาในเวลาเป็นคฤหัสถ์แน่แท้
แต่แม้จะเป็นเช่นนั้นจริง หากพวกเดียรถีย์รู้ข่าวเข้า ก็จะได้โอกาสกล่าวหาว่า
พระสมณโคดมชิงเอาภิกษุณีที่พระเทวทัตทิ้งแล้ว นำไปเป็นบริวารอยู่ด้วย
เพราะฉะนั้นเพื่อตัดปัญหาในถ้อยคำเหล่านี้ จึงควรให้มีการวินิจฉัยคดีนี้
ในท่ามกลางพุทธบริษัททั้งหลาย จึงจะเป็นการอันควร"
ดังนั้นในเช้าวันรุ่งขึ้น พระพุทธองค์จึงให้ทูลเชิญพระเจ้าปเสนทิโกศล
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านจูฬอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา
และตระกูลใหญ่ที่มีชื่อเสียงต่างๆมา ได้ประชุมพร้อมเพรียงกันในเย็นวันนั้นแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระอุบาลีเถระว่า
"เธอจงไปชำระคดีของภิกษุณีสาวนี้
ให้ขาวสะอาดบริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยไม่มีใครจะนำมาติติงว่ากล่าวได้ในภายหลัง
ต่อหน้าผู้คนทั้งหลายในท่ามกลางพุทธบริษัททั้ง ๔ นี้เถิด"
พระอุบาลีเถระจึงไปยังท่ามกลางบริษัทนั้น
นั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ให้ แล้วกล่าวเปิดการพิจารณาคดีว่า
"ดูก่อนท่านทั้งหลาย อาตมาจะให้นางวิสาขานี้ซึ่งเป็นหญิงด้วยกัน
ไปตรวจดูภิกษุณีสาวให้ได้รู้ถ่องแท้ว่า ตั้งครรภ์มาแล้วกี่เดือน บวชในเดือนใดวันใด
จึงจะสามารถรู้ได้ว่า ตั้งครรภ์มาก่อนบวชหรือภายหลังที่บวชแล้ว"
นางวิสาขาก็รับคำ ได้ให้ทำม่านล้อมไว้
แล้วตรวจดูมือ เท้า สะดือ และท้องของภิกษุณีสาวรูปนั้นอย่างละเอียด
จนสามารถคำนวณรู้เดือนและวันที่ตั้งครรภ์ได้แล้ว จึงนำมาบอกแก่พระเถระและคนทั้งหลายให้ทราบว่า
"ภิกษุณีนี้เป็นผู้บริสุทธิ์
มิได้ประพฤติลามกในศาสนานี้เลย เพราะได้นับตามวันเวลาดู นางตั้งครรภ์แล้วตั้งแต่อยู่ในเพศคฤหัสถ์
เพียงแต่ว่าทั้งนางและสามีมิได้รู้มาก่อนเท่านั้นเอง"
เมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดเปิดเผยเป็นที่แน่ชัดแล้ว
ภิกษุณีสาวนั้นจึงได้บวชอยู่ต่อไปในพระพุทธ-ศาสนา มาอาศัยอยู่กับภิกษุณีฝ่ายพระศาสดา
จนกระทั่งครรภ์แก่ได้คลอดทารกชายคนหนึ่งออกมา
"อุแว้...อุแว้...."
เสียงร้องของทารกดังลอดออกมาจากสำนักของภิกษุณีพอดีกับพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จผ่านมา
จึงตรัสถามกับอำมาตย์ทั้งหลาย อำมาตย์ผู้รู้เหตุนั้นจึงกราบทูลให้ทราบว่า
"ภิกษุณีสาวผู้มีครรภ์นั้นคงคลอดบุตรแล้ว
นั่นก็คือเสียงร้องของบุตรภิกษุณีสาวนั่นเอง พระเจ้าข้า"
พระราชาทรงทราบเรื่องแล้ว ทรงคิดสักครู่ก็ตรัสว่า
"ขึ้นชื่อว่าการดูแลปรนนิบัติทารกน้อย
เป็นเครื่องกังวลแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ฉะนั้นเรานี้น่าจะเป็นผู้เลี้ยงดูทารกน้อยนั้นเสียเอง
จะเป็นการดีกว่า"
จึงทรงให้มอบทารกนั้นแก่พระองค์
ทรงเลี้ยงดูให้เติบโต เช่นเดียวกับกุมารทั้งหลายในพระราชวัง แล้วทรงตั้งชื่อให้ว่า
กัสสปะ ครั้นเป็นเด็กโตพอสมควร ทรงให้บวชในพุทธศาสนา
แต่เพราะมีชื่อซ้ำกันกับภิกษุอื่น ใครๆ เห็นเป็นเด็กอยู่ จึงเรียกหากันว่า
กุมารกัสสปะ จึงได้ใช้ชื่อนี้ไปตลอดแม้อายุมากก็ตาม
ในที่สุดได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งพระศาสดาทรงยกย่องท่านว่าเป็นเอตทัคคะ(ผู้ยอดเยี่ยม)
ในทางแสดงธรรมอันวิจิตร
แม้ภิกษุณีผู้เป็นมารดาของพระกุมารกัสสปะ
ก็ได้เห็นแจ้งบรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ในที่สุดเช่นกัน
เรื่องราวเหล่านี้ ได้เป็นที่เล่าขานกันในหมู่ภิกษุทั้งหลาย
กระทั่งเย็นวันหนึ่งในธรรมสภา ภิกษุทั้งหลายสนทนาธรรมกันว่า
"ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
พระเทวทัตนั้นได้กระทำให้บุคคลทั้งสองคือ พระกุมารกัสสปะ-เถระและพระ
ภิกษุณีเถระ นั้นให้พินาศไป ด้วยความไม่รู้ขาดปัญญา ขาดความอดทน และขาดความเมตตา
แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระธรรมราชา ได้อนุเคราะห์แก่พระเถระทั้งสอง
ด้วยพระเมตตาเอ็นดู ทรงมีพระขันติ(ความอดทน) ทรงมีพระปัญญาวินิจฉัยคดีอย่างเที่ยงธรรม"
ขณะนั้นเองพระศาสดาเสด็จมาพอดี ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันแล้ว
จึงตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ตถาคตได้มีเมตตาช่วยเหลือ เป็นที่พึ่งแก่พระเถระทั้งสองในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่
แม้ในกาลก่อนโน้น เราก็ได้กระทำมาแล้วเช่นกัน"
ภิกษุทั้งหลายจึงทูลอ้อนวอนให้ทรงเล่าให้ฟัง
พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงเหตุนั้นให้ปรากฏขึ้น
............................................
ในอดีตกาล
เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี
ทรงขวนขวายในการล่าสัตว์ โปรดปรานการฆ่าเนื้อ(สัตว์ป่าประเภทกวาง)มากที่สุด
หากวันใดไม่มีเนื้อกวางแล้ว จะไม่เสวยพระกระยาหารอื่นเลย
แต่ก็เพราะเหตุทรงเข้าป่าล่าสัตว์บ่อยๆนี้เอง
ทรงกระทำให้ชาวบ้านในนิคมและชนบทเดือดร้อนไปทั่ว ทั้งขาดผู้คน ช่วยเหลือการงาน
ทั้งขาดงานที่เคยกระทำอยู่เป็นปกติด้วย ดังนั้น ประชาชนทั้งหลายจึงรวมตัวกันปรึกษาว่า
"พวกเราทำอย่างนี้ดีไหม ในการแก้ปัญหานี้
ให้พวกเราทั้งหมดช่วยกันปลูกพืชผัก ที่เป็นเหยื่อของพวกเนื้อ ไว้ในพระราชอุทยาน
แล้วทำรั้วมีประตูเปิดปิด ขังสัตว์พวกนี้ไว้ให้แก่พระราชา พระองค์จะได้ไม่ต้องเสด็จไปล่าเนื้อในที่ต่างๆ"
ทุกๆ คนก็เห็นด้วยตามนั้น จึงลงมือช่วยกันกระทำทันที
ครั้นมีพืชผักเรียบร้อยแล้ว จัดเตรียมน้ำดื่มไว้พร้อม อีกทั้งรั้วและประตูก็เสร็จสรรพ
ต่างก็พากันถือบ่วงและอาวุธนานาชนิด มุ่งสู่ป่าที่พวกเนื้อทั้งหลายอาศัยอยู่
เพื่อจะไล่ต้อนและจับมายังพระราชอุทยาน
ในป่านั้นเอง มีพวกเนื้ออาศัยอยู่สองฝูงใหญ่ๆ
ฝูงละประมาณ ๕๐๐ ตัว ฝูงแรกมีพญาเนื้อชื่อว่า
นิโครธ เป็นจ่าฝูง มีตัวสีดั่งทองคำ นัยน์ตาทั้งสองสุกใส งามดั่งลูกแก้วมณีกลม
เขาทั้งคู่ราวกับแท่งเงิน ใบหน้าสดใสดั่งผ้าสักหลาด สีแดง ปลายเท้าหน้าและเท้าหลังดั่งทำบริกรรมด้วยรสน้ำครั่ง
ขนหางเป็นเช่นขนจามรี (เนื้อทรายชนิดหนึ่ง) ร่างกายสูงใหญ่เท่าลูกม้าทีเดียว
ส่วนฝูงที่สองมีพญาเนื้อชื่อว่า สาขะ เป็นจ่าฝูง
ซึ่งก็มีรูปร่างและสีกาย เป็นดุจสีทองคำเช่นกัน
เมื่อประชาชนทั้งหลายพบเห็นฝูงเนื้อทั้งสองแล้ว
ก็ส่งเสียงร้องดังๆ ใช้อาวุธตีต้นไม้ เขย่าพุ่มไม้ ฟาดพื้นดิน ไล่หมู่เนื้อ
ให้ออก จากที่รกชัฏ โอบล้อมไล่ต้อนเนื้อทั้งหมด ให้บ่ายหน้าหนีเข้าสู่พระราชอุทยาน
แล้วรีบปิดประตูขังไว้ภายใน จากนั้นจึงไปเข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต แล้วพากันกราบทูลว่า
"ข้าแต่สมมุติเทพ ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จไปทรงล่าเนื้อเป็นประจำนั้น
ทรงทำให้การงานของพวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ได้รับความเสียหาย พวกข้าพระองค์จึงได้ไปต้อนเหล่าเนื้อมาจากป่า
เอาไปไว้เต็มพระราชอุทยานของพระองค์แล้ว ฉะนั้นตั้งแต่นี้ไป พระองค์จะทรงมีเนื้อของสัตว์เหล่านี้ไว้เสวยทุกวัน
โดยมิต้องเสด็จไปทรงล่าเนื้อด้วย พระองค์เอง บ่อยๆแล้ว พระเจ้าข้า"
พระราชาก็ทรงรับคำ แล้วเสด็จไปพระราชอุทยานทันที
ทอดพระเนตรดูเนื้อทั้งหลาย ครั้นทรงแลเห็นพญาเนื้อสีทอง
ทั้งสองตัว ก็ทรงนึกชื่นชอบพอพระทัยยิ่งนัก ได้รับสั่งพระราชทานอภัยเอาไว้
ไม่ให้ใครฆ่าพญาเนื้อ ทั้งสองเด็ดขาด
นับแต่วันนั้นมา บางคราวพระเจ้าพรหมทัตก็ทรงไปฆ่าเนื้อตัวหนึ่งเอง
แล้วนำกลับมาให้พ่อครัวทำเป็นอาหาร แต่บางคราวก็รับสั่งให้พ่อครัวไปฆ่า
ทุกวันเป็นอยู่อย่างนี้ประจำ ทำให้บรรดาเนื้อทั้งหลายพากันหวาดผวา
กลัวต่อความตายที่คุกคามอยู่เสมอ เที่ยววิ่งพล่านแตกตื่นหนีอยู่ในพระราชอุทยาน
ถูกธนูยิงให้บาดเจ็บลำบากบ้าง ป่วยไข้ไปบ้าง อยู่อย่างทุกข์ทรมานวิตกกังวลตลอดเวลา
เหตุดังนี้พญาเนื้อนิโครธจึงหาทางแก้ปัญหา
โดยเรียกพญาเนื้อสาขะมาปรึกษาว่า
"ดูก่อนสหาย เนื้อเป็นอันมากพากันบาดเจ็บล้มตายไปทุกวัน
ที่เหลืออยู่ก็ต้องรอความตาย ถ่ายเดียวเท่านั้น แต่แทนที่จะต้องหวาดผวาทั้งหมดทุกๆ
ตัว นับแต่นี้ไปไม่ต้องให้ผู้ฆ่า มาตามล่าไล่ยิงพวกเราด้วยลูกศรอีกแล้ว
เรามากำหนดเนื้อที่จะต้องถูกฆ่ากันเถิด วันนี้จะเป็นเนื้อในฝูงของเรา
พรุ่งนี้จะเป็นเนื้อในฝูงของท่าน สลับกันไปเยี่ยงนี้ทุกวัน และเนื้อตัวที่จะต้องถูกฆ่า
ก็จงไปนอนรอความตายไว้เลย ทำอย่างนี้เนื้อทั้งหลาย จะได้ไม่ต้องบาดเจ็บ
ไม่ต้องอกสั่นขวัญเสียกันไปทั้งหมด ท่านว่าจะดีไหม"
พญาเนื้อสาขะก็เห็นดีด้วย จึงรับคำ
ดังนั้นเนื้อตัวใดที่ถึงเวลากำหนดของตน ก็จะไปนอนรอความตายอยู่ เมื่อพ่อครัวมาถึง
ก็จะจับเอาเนื้อตัวนั้นไปฆ่า ทำเป็นอาหารถวายพระราชา
อยู่มาวันหนึ่ง ถึงคราวกำหนดของแม่เนื้อมีครรภ์ตัวหนึ่ง
ซึ่งอยู่ในฝูงของพญาเนื้อสาขะ แม่เนื้อได้เข้าไป หาพญาเนื้อสาขะ แล้ววิงวอนขอร้องว่า
"ท่านผู้เป็นใหญ่ ข้าพเจ้ามีครรภ์แก่
ใคร่ขอความกรุณาให้คลอดลูกก่อน แล้วจะไปตามกำหนดนั้น ตอนนี้ท่านให้เนื้อตัวอื่นข้ามกำหนดของข้าพเจ้าไปก่อนเถิด"
พญาเนื้อสาขะจ้องดูแม่เนื้อนั้น
แล้วกล่าวด้วยอาการไม่เชื่อถือว่า
"เราไม่อาจเลื่อนกำหนดของเจ้า
แล้วให้เนื้อตัวอื่นๆมาแทนได้ เพราะมีแต่เจ้าเท่านั้นที่จะรู้ว่า เจ้ามีลูก
ใครอื่นจะไปรู้ได้เล่า ฉะนั้นเจ้าจงไปตามกำหนดเถอะ"
เมื่อหมดที่พึ่งจากพญาเนื้อสาขะ
แม่เนื้อนั้นจึงไปขอความช่วยเหลือจากพญาเนื้อนิโครธ บอกเล่าความจริงทั้งหมดให้รับรู้
พญาเนื้อนิโครธฟังแล้วก็เกิดจิตเมตตาสงสาร คิดในใจว่า
"เหล่าเนื้อและสัตว์อื่นในป่าทั้งหมด
ย่อมมีชีวิตเป็นอยู่ด้วยตนเอง แต่ผู้รู้ผู้สงบทั้งหลาย ย่อมยินดีเกื้อกูล
ประโยชน์แก่สัตว์ ย่อมทำผู้อื่นให้พ้นทุกข์ไปได้ แม้ต้องสละทรัพย์
อวัยวะ หรือชีวิต เรานี้ก็เป็นผู้มีความสามารถ ที่จะช่วยชีวิตอื่นได้เป็นอันมาก
ก็กายอันไร้สาระนี้ จะทำให้เราได้ลาภอันคือบุญที่ยั่งยืนสืบไปแน่"
คิดดังนี้แล้วก็บอกกับแม่เนื้อว่า
"เจ้าจงไปเถิด เราจะทำให้กำหนดของเจ้าข้ามไป"
พอถึงเวลากำหนด
พญาเนื้อนิโครธนั้นเอง ได้ไปนอนรอความตายที่แดนประหารนั้น
เมื่อพ่อครัวมาถึง แลเห็นเป็นพญาเนื้อสีทองนอนรออยู่ ก็สงสัยยิ่งนักเกิดความคิดขึ้นว่า
"ครั้งนี้พญาเนื้อสีทองผู้ได้รับพระราชทานอภัย
มานอนรอให้เราจับไปประหารเสียเอง จะต้องมีเหตุสำคัญใด ขึ้นเป็นแน่แล้วหนอ"
จึงไม่กล้าแตะต้องพญาเนื้อทองนั้น
รีบกลับไปกราบทูลแด่พระเจ้าพรหมทัตทันที พระราชาทรงทราบข่าวแล้ว ก็มิได้รอช้า
ทรงรีบเสด็จมาพระราชอุทยานทันใดนั้นเอง พอได้พบพญาเนื้อนิโครธนอนอยู่
ก็ตรงเข้าไปหา พร้อมกับทรงเอ่ยถามขึ้นด้วยความห่วงใยว่า
"พญาเนื้ออันเป็นที่รักของเรา
ก็เราได้ให้อภัยทานแก่ท่านไว้แล้วมิใช่หรือ เหตุใดอีกเล่า ท่านจึงมานอนรอความตายอยู่ที่ตรงนี้"
พญาเนื้อนิโครธแม้นอนอยู่ก็โค้งศีรษะให้
แล้วกราบทูลตอบไปว่า
"ข้าแต่มหาราช ได้มีแม่เนื้อครรภ์แก่ตัวหนึ่ง
มาเอ่ยปากว่า ขอให้คลอดลูกก่อนเถิด แล้วจะมาตายตามกำหนดที่ตรงนี้ แต่กำหนดตายในวันนี้ขอให้เป็นเนื้อตัวอื่นไปก่อน
ข้าพระบาทก็สงสาร และไม่อาจโยนความตายของเนื้อตัวหนึ่ง ไปให้แก่เนื้อตัวอื่นต้องทุกข์ได้
จึงตัดสินใจมอบชีวิตของตนแทนแม่เนื้อตัวนั้น มานอนรออยู่ ณ ที่นี้
ขอให้พระองค์อย่าได้ทรงระแวงว่า มีเหตุอะไรๆอย่างอื่นเลย"
พระเจ้าพรหมทัตทรงสดับแล้ว ถึงกับทรงเกิดความรู้สึกซาบซึ้งประทับพระทัยยิ่งนัก
ได้ตรัสด้วยอาการเคารพเลื่อมใสมากว่า
"พญาเนื้อผู้สุดประเสริฐเอย
แม้แต่ในมวลหมู่มนุษย์ทั้งหลาย เราก็ยังไม่เคยพบเห็นบุคคล ผู้เพียบพร้อม
ด้วยความเมตตาเอ็นดู และความมีขันติเช่นกับท่านเลย เราจึงเลื่อมใสท่านเหลือเกิน
เอาอย่างนี้เถิด ท่านจงลุกขึ้น เราให้อภัยทานแก่ท่านและแม่เนื้อนั้นด้วย"
แต่พญาเนื้อนิโครธยังคงไม่ลุกขึ้นยืน
กลับทูลถามพระราชาอีกว่า
"ข้าแต่พระจอมคน เมื่อข้าพระบาทและแม่เนื้อได้รับอภัยทานแล้ว
ก็แล้วเนื้อที่เหลือนอกนั้นทั้งหมดในพระราชอุทยานนี้ จะทรงกระทำอย่างไรเล่า"
พระราชาทรงแลเห็นสายตาที่จับจ้องมองมาของพญาเนื้อ
ก็ทรงรู้ถึงจิตใจและความปรารถนาของพญาเนื้อเป็นอย่างดี จึงทรงละทิ้งพระทัยอยาก
ตรัสว่า
"เราก็ให้อภัยทานแก่เนื้อที่เหลืออยู่ทั้งหมดด้วย"
พญาเนื้อสีทองยังคงทูลถามพระเจ้าพรหมทัตต่อไปอีกว่า
"แม้เนื้อทั้งหลายในพระราชอุทยานจะได้อภัยทาน
ก็แล้วเนื้อทั้งหมดที่อยู่ในป่าเล่า พระองค์จะทรงกระทำอย่างไร"
"เราก็จะให้อภัยทานแก่เนื้อทั้งปวงในแว่นแคว้นของเรานี้"
"เมื่อเนื้อทั้งหมดในแผ่นดินของพระองค์ได้รับอภัยทาน
ก็แล้วสัตว์ ๔ เท้าทั้งปวงอีกเล่า จะทรงกระทำอย่างไร"
คราวนี้พระราชาทรงมองดูพญาเนื้อสีทองเขม็งนิ่ง
พร้อมกับทรงตัดสินพระทัยเด็ดขาด ตรัสออกไปว่า
"เราจะให้อภัยทานแก่บรรดาสัตว์
๔ เท้าทั้งสิ้น"
"เมื่อสัตว์ ๔ เท้าได้รับพระราชทานอภัยแล้ว
หมู่นกสัตว์ปีกทั้งหลาย พระองค์จะทรงกระทำเช่นใดเล่า"
"แม้นกทั้งหลายเราก็ยินดีให้อภัยทานด้วย"
พญาเนื้อสีทองชะงักคำพูดลง แลดูพระพักตร์ของพระราชาที่ยังคงผ่องใส
อิ่มเอิบด้วยพลังศรัทธาอยู่ ไร้วี่แวว ของความเศร้าหมอง เสียดายใดๆอีกแล้ว
จึงทูลขออีกว่า"ในเมื่อเหล่านกทั้งหลายก็ได้รับอภัยทาน เป็นเช่นนี้แล้ว
พระองค์จะทรงทำอย่างไรเล่า กับเหล่าปลาและสัตว์น้ำทั้งมวล"
มิได้ชักช้าเลย พระราชาทรงประกาศทันทีว่า
"แม้หมู่ปลาและสัตว์น้ำทั้งหมด ที่อยู่ในแผ่นดินของเรา
เราก็จะให้อภัยทานหมดสิ้น นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"
สิ้นคำตรัสของพระเจ้าพรหมทัต พญาเนื้อนิโครธก็ลุกขึ้นยืน
แสดงอาการน้อมรับ ยินดีด้วยกับกุศลกรรม ของพระราชา
ที่ทรงถือข้อปฏิบัติอภัยทาน อันคือการดำรงอยู่ในศีล ๕ นั่นเอง
แล้วได้กล่าวสอน แก่พระราชา เป็นที่สุดว่า
"ข้าแต่มหาราช พระองค์จงประพฤติธรรมในพระชนกและพระชนนี
ในพระโอรสและพระธิดา ในพราหมณ์ ในคฤหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบททั้งปวง
เมื่อพระองค์ทรงประพฤติธรรมอยู่สม่ำเสมอแล้ว เบื้องหน้าหากสวรรคต ก็จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์แน่แท้"
พญาเนื้อสีทองกล่าวจบ ก็กลับเข้าสู่ฝูงเนื้อของตน
หลังจากนั้นอีก ๒-๓ วันต่อมา ก็อำลาพระราชา แล้วแวดล้อมด้วยฝูงเนื้อกลับคืนสู่ป่า
ที่เคยอาศัยอยู่ตามเดิม
ฝ่ายแม่เนื้อนั้น ติดตามฝูงของพญาเนื้อนิโครธไป
ครั้นออกลูกแล้ว ได้เลี้ยงดูลูกจนเติบโตพอสมควร คราวใดที่ลูกน้อย จะไปเที่ยวเล่นในฝูงของพญาเนื้อสาขะ
คราวนั้นแม่เนื้อจะอบรมสั่งสอนลูกน้อยของตนว่า
"ลูกเอ๋ย ทั้งตัวเจ้าเองและทั้งเนื้ออื่นๆ
จงอย่าไปอยู่ อย่าไปเที่ยวเล่นในฝูงของพญาเนื้อสาขะเลย ควรคบหาแต่พญาเนื้อ
นิโครธเท่านั้น แม้ต้องตายอยู่ในฝูงพญาเนื้อนิโครธก็ยังประเสริฐกว่า
การมีชีวิตอยู่กับพญาเนื้อสาขะจะประเสริฐอะไร"
............................................
พระศาสดาครั้นทรงเล่าเหตุการณ์ในอดีตจบแล้ว
ตรัสเฉลยให้ทราบว่า
"พญาเนื้อสาขะในครั้งนั้น
ได้มาเป็นพระเทวทัต ในบัดนี้ ฝูงเนื้อของพญาเนื้อสาขะ ได้มาเป็นพวกฝักใฝ่ในพระเทวทัตนั่นแหละ
แม่เนื้อนั้นได้มาเป็นภิกษุณีสาวตั้งครรภ์นั่นเอง ลูกเนื้อตัวนั้นได้มาเป็นพระกุมารกัสสปะ
พระราชาได้มาเป็นพระอานนท์ ส่วนพญาเนื้อนิโครธ ก็คือ เราตถาคตในบัดนี้"
ณวมพุทธ
เสาร์ ๕ ก.ย. ๒๕๔๑
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๒,
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๕ หน้า ๒๓๓,
เล่ม ๕๑ หน้า ๑๙๐)
เมตตา อภัยทาน
สุดซึ้ง
ดีถึง ดวงวิญญาณ กล้าหาญ
เลิกโลก ลิ้มเนื้อสัตว แหลกลาญ
ไม่ทาน ทั้งไม่ทำ ยำแกง
|