สิบห้านาทีกับพ่อท่าน
แผ่เมตตา
สร้างความเมตตาด้วยการไม่ทำร้ายทำลายชีวิตผู้อื่น
และสัตว์อื่นให้ตกล่วง ให้เจ็บปวดทุกข์ทรมาน ฯลฯ
เพราะเมตตาธิคุณนั้นมีพลังมหาศาล มีคุณอันอเนก
เพราะความเมตตาจะล้างความสกปรกทั้งหลาย
ความเมตตาจะช่วยให้คลายเครียด
ความเมตตาจะช่วยให้คลายจากราคะ
ความเมตตาจะช่วยทำลายมานะ
ความเมตตาจะช่วยฟอกจิตใจให้สุภาพอ่อนโยน
สร้างความเมตตาด้วยความเข้าใจว่า ทุกคนเกิดมาด้วย "แรงกรรม"
และ "ไม่มีใครอยากเป็นคนเลวเลย"
แต่ก็ยังมี
"เมตตาเกินประมาณ" และ "เมตตาอันหาประมาณมิได้ของพระโพธิสัตว์"
ซึ่งพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ จะแจกแจงรายละเอียดในบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้.....
ถาม พระโพธิสัตว์มีเมตตาหาประมาณมิได้
มีความหมายอย่างไรคะ ?
ตอบ
คำว่า "หาประมาณ" มิได้ นั้นเป็นการให้ความหมายในทีว่า
เป็นผู้ที่มีความเมตตากว้างไกล ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ไม่ใช่ไปตีความ
มีเมตตาอย่างไม่มีปัญญา มีเมตตาอย่างไม่มีขอบเขต มีเมตตาอย่างไม่รู้จักเหตุไม่รู้จักผล
จนเป็นเมตตาอันไม่มีประมาณ เมตตาไปหมด คนชั่วก็ปล่อยเขา โดยส่งเสริมให้เขาทำชั่วต่อไป
เช่น เมตตาคนกินเหล้า เขาอยากกินเหล้า มาอ้อนวอนร้องขอ เราก็สงสารให้เงินเขาซื้อเหล้ากิน
สนับสนุนส่งเสริม ให้เขากินเหล้าต่อไป ซึ่งเป็นการทรมาน ทำร้ายตัวเขาเอง
เป็นต้น หรือเมตตากว้างจนกระทั่งช่วยเขาไปหมด แล้วก็ไปเอาคนเลวคนชั่วที่เราไม่สามารถจะช่วยเขาได้เลย
ไม่สามารถจะปรับปรุงเขาได้ จะห้ามเขาก็ไม่ได้ ควบคุมเขาก็ไม่ได้ เขาก็ทำเลวต่อไป
การเมตตาอุ้มชู เอาเขามาช่วย โดยไม่ประมานตนเองว่าสามารถทำได้หรือไม่
หรือเมตตาคน จะช่วยเขา เห็นเขา ยากจน ทุกข์ร้อน ทั้งที่ตัวเองก็ทุกข์ร้อน
ไม่มีเงินไม่มีทองเหมือนกัน แต่ไปกู้ยืมเงินทองคนอื่นมาช่วยให้เขาไปรอด
อะไรอย่างนี้เป็นต้น ล้วนเป็นความเมตตาที่เกินประมาณ เพราะฉะนั้นในนิยามความหมายของคำว่า
มีเมตตา อันหาประมาณมิได้ของพระโพธิสัตว์ จึงไม่ใช่มีเมตตาจนเกินประมาณ
ต้องสำคัญความหมายนี้ให้ชัดเจน
เมตตามีประมาณก็คือ
เมตตาที่ตั้งใจจะช่วยมนุษยชาติให้มากที่สุด นานที่สุด และให้มีคุณภาพคุณค่าที่ยั่งยืนที่สุด
ขยายความคำว่า
โพธิสัตว์ มีความเมตตาอันหาประมาณมิได้ คือ โพธิสัตว์เป็นผู้ตรัสรู้
มีภูมิรู้ ซึ่งต่างกัน กับเถรวาท ที่อธิบายความหมายของคำว่า
"โพธิสัตว์" คือ ผู้ตั้งจิตอยากเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
ซึ่งความจริง มันไม่พอ ความจริงผู้ที่ตั้งจิตอยากเป็นพระพุทธเจ้าก็ใช่
แต่ว่าผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่เรียกว่าเป็นโพธิสัตว์ได้ จะต้องเป็น
ผู้ที่มีโพธิหรือเป็นสัตว์ที่มีโพธิ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ที่ตั้งใจอยากมีโพธิเฉยๆ
แล้วก็ไม่ได้โพธิสักที ผู้ที่ตั้งใจเป็นโพธิสัตว์จะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า
การมีโพธิก็คือ มีปัญญาตรัสรู้ในเรื่องอาริยสัจในเรื่องของศาสนาพุทธ
ในเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แต่ไหนแต่ไรมา ตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง
บั้นปลาย เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเป็นโพธิสัตว์ต้องศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า
ไม่ใช่ไปศึกษา ธรรมะอะไรก็ไม่รู้ แล้วก็ไม่ได้ตรัสรู้ซักที แต่อยู่ดีๆก็จะโผล่พรุ้บเข้ามาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเลย
แก่นแท้ของศาสนาพุทธคือ
อาริยสัจ ๔ ที่นำไปสู่การหลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร หลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา
อุปาทาน แล้วเถรวาทกลับไม่ให้โพธิสัตว์มีความรู้เหล่านี้
ซึ่งเป็นความแคบของชาวเถรวาท ที่ไปตีความผิดๆเพี้ยนๆ
สรุปแล้ว โพธิสัตว์ก็คือ ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
จนมีอาริยคุณเป็นโสดาฯ สกิทาฯ อนาคาฯ อรหันต์ จนกระทั่งสั่งสมอรหัตคุณ
ที่เป็นเหมือนใบไม้กำมือเดียว คือตรัสรู้อรหันต์
ที่จะพ้นทุกข์ของตนเอง ส่วนใบไม้ทั้งป่า
นั้นคือ ความรู้ที่รู้รอบ รู้โลกทั้งโลก รู้สัตว์โลกทั่วทุกวิสัยสัตว์
จะต้องหยั่งรู้วิสัยสัตว์อื่นด้วย ไม่ใช่แค่รู้จักตนเอง และบรรลุตนเองเท่านั้น
แต่ใบไม้กำมือเดียวของตนก็ต้องบรรลุด้วย คือจบเป็นอรหันต์ แล้วค่อยรู้ใบไม้ทั้งป่า
คือ รู้องค์ประกอบ รู้ส่วนรวมของจักรวาล รู้ส่วนรวมของมนุษยชาติ ตลอดจนรู้ส่วนรวมของเหตุปัจจัยอะไรต่างๆนานา
ที่เป็นความรู้โลกวิทู หรือพหูสูตร หรือสัพพัญญูต่อๆ ไป เพราะฉะนั้น
ผู้ที่มีภูมิตรัสรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว ละตัวตนไปตามลำดับตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป
จึงถือได้ว่า เป็นโพธิสัตว์ระดับหนึ่ง
ถ้าโพธิสัตว์มีความหมายว่า
เมตตาต่อสัตว์โลก เมตตาต่อผู้อื่น เมื่อจะช่วยเหลือผู้อื่น ตนเองก็ต้องได้แล้ว
มีอาริยคุณในตนเองก่อน จึงช่วยผู้อื่น สอนผู้อื่น ยังไม่มีก็ยังไม่ชื่อว่าโพธิสัตว์ที่แท้
นี่เป็นหลักคำสอน ของพระพุทธเจ้าว่า
ต้องสร้างคุณ หรือทำคุณอันสมควรให้แก่ตนก่อน แล้วค่อยสั่งสอนผู้อื่นจึงจักไม่มัวหมอง
เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่เป็น ไม่ได้ ไม่มี ไปเมตตาคนอื่น ไปเกื้อกูลคนอื่น
ไปช่วยเหลือคนอื่น เอาอะไรไปช่วยเขาล่ะ หรือช่วยเขาก็ช่วยเขาผิดๆ เพราะตัวเองก็ยังไม่รู้แท้
รู้จริง ยังไม่สมบูรณ์
เพราะฉะนั้น ตัวเองจะต้องเป็นผู้รู้แท้
รู้จริงให้ได้ด้วยตนเอง เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพก่อน อย่างน้อยเป็นโสดาบัน
ได้ภูมิขนาดหนึ่งก็เอาภูมิโสดาบันที่ตนมี ไปเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่น
ด้วยสัจจะที่ตนได้ ตนมี ตนเป็น นั่นจึงเป็นผู้มีเมตตา ต่อผู้อื่น เพราะเรามีทรัพย์อันเป็นอาริยทรัพย์แล้ว
เราสามารถแจกทรัพย์นั้นแก่ผู้อื่นได้ อย่างนี้จึงเป็นความเมตตา โดยเราก็รู้ตัวเองว่าจะเผยแพร่ได้แค่ไหน
จะช่วยเหลือผู้อื่นได้แค่ใด เป็นสกิทาฯ ก็สูงขึ้น เป็นอนาคาฯ เป็นอรหันต์
ก็สูงขึ้น เป็นโพธิสัตว์มหาสัตว์ก็สูงขึ้นเพิ่มเติมไปอีก โพธิสัตว์
ก็คือ ผู้มีอาริยทรัพย์เผื่อแผ่ผู้อื่นได้ พระโพธิสัตว์
จึงไม่มานั่ง แจกทรัพย์ศฤงคาร แก้วแหวนเงินทอง เพชรนิลจินดาอะไร และไม่ใช่จะพาให้คนนั้นคนนี้ร่ำรวย
แต่มาสอนอาริยสัจและพาคนมาจนด้วยซ้ำไป พาคนมามักน้อยสันโดษ
มาละมาลด มาเกื้อกูลกัน มามีความแข็งแรงมั่นคง เป็นอนาคาริกะ เป็นผู้ที่ไม่มีทรัพย์ศฤงคารบ้านช่องเรือนชาน
โภคักขันทาปหายะ เป็นผู้ที่ไม่ต้องมีบ้านช่องเรือนชานอะไรได้ทีเดียว
สรุปแล้วพระโพธิสัตว์ คือผู้ที่ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า
จนกระทั่งตนเองได้ ตนเองมี เป็นตัวแข็งแรง และก็ไม่ต้องสะสม กอบโกยอะไร
อปจยะ ไม่สะสมทั้งกิเลส และไม่สะสมทั้งทรัพย์ศฤงคาร พึ่งตนเองได้ด้วย
สมรรถนะของตน ด้วยบุญบารมีของตน ที่จะทำประโยชน์ให้กับคนอื่น จนเขายอมรับนับถือช่วยเหลือเกื้อกูล
และมีการสังคหะ มีการเกื้อหนุน มีการอุปถัมภ์ มีการบริจาคช่วยเหลือ
เพื่อที่จะให้สร้างสรร ผู้ช่วยสร้างคน ให้พ้นทุกข์หรือโพธิสัตว์
ก็จะมีผู้คนประชาชนคอยเกื้อหนุนบริจาคช่วยเหลือท่าน แล้วท่านก็อยู่รอดทำงานได้
เป็นการหนุนเนื่องกันและกัน เป็นวงวนหมุนไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นวัฏฏะที่วนเวียน
เป็นกลไกของจิตวิญญาณ มนุษยชาติ ที่รู้จักผู้เป็นนาบุญ ก็จะทำบุญกับนาบุญ
ให้ทานบริจาคอุปถัมภ์ช่วยเหลือ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยิ่งซื่อสัตย์
ยิ่งบริสุทธิ์ ยิ่งไม่โลภให้แก่ตน แต่ต้องมีสิ่งที่เป็นองค์ประกอบในการทำงาน
เป็นทรัพย์ศฤงคารบ้าง เป็นที่ดินบ้าง เป็นอาหารหรือเป็นอาคารบ้านช่องเรือนชานอะไรบ้างก็ตามแต่
เพื่อเอามาเป็นประโยชน์ โดยท่านไม่ยึดติดเป็นของตนเอง ไม่สะสมเป็นของตน
เป็นผู้ที่มักน้อยสันโดษจริง ก็จะเป็นนาบุญแท้จริง ผู้ที่ยิ่งมีภูมิรู้
มีพลังมีสมรรถนะ มีความรู้ความสามารถในการที่จะช่วยเหลือผู้อื่น คือผู้มีเมตตาอันไม่มีประมาณมากที่สุดเท่าที่ท่านจะทำได้
หรือช่วยเหลือผู้อื่นได้ นี่คือความหมายของความเมตตาอันหาประมาณมิได้
ถาม คนที่ถือศีล ๕ ไม่ฆ่าสัตว์แล้ว แต่ยังกินเนื้อสัตว์โดยไม่รู้ว่าเป็นบาป
จะมีสักวันที่จิตเขาจะรู้ได้เองไหม ว่ามันบาป และเลิกกินเนื้อสัตว์
?
ตอบ
เอาประเด็นย่อยว่า เราไม่ฆ่าสัตว์ จนกระทั่งเราไม่กินเนื้อสัตว์ ก็เป็นภูมิปัญญา
คนที่บอกว่า เขาเมตตาสัตว์ เขาไม่ฆ่าสัตว์ แต่เมื่อคนฆ่ามา ฉันก็กินอย่างนี้
พระพุทธเจ้าท่านก็สอนไว้หมด ในชีวกสูตร ท่านตรัสไว้ชัดเจนว่า ท่านรับประเคนเนื้อสัตว์จากผู้มาถวาย
แต่ในเนื้อหาก็ไม่ได้บอกว่าพระพุทธเจ้าท่านฉัน แล้วก็ถกเถียงกัน มาตั้งแต่โบราณ
กาลว่า พระพุทธเจ้าท่านฉันเนื้อสัตว์หรือไม่
ผู้ที่มีความเห็นว่า ฉันเนื้อสัตว์โดยเราไม่ได้ฆ่าเอง
ใครฆ่าก็ช่างเขาสิ บาปใครบุญมัน อันนี้ถ้าพูดกันชัดแล้ว เราก็รู้อยู่ว่า
เออดี คนอื่นทำบาป ใครฆ่าก็คนนั้นบาปแน่นอน
และก็ปล่อยให้คนอื่นทำบาป แต่ฉันก็ฉวยเอา ผลงานบาป ของคนอื่นมาให้กับตัวเอง
นี่ก็เป็นแนวคิดของปัญญาชน หรือเป็นความเฉลียวฉลาดแกมโกงของคน ซึ่ง
บาลีก็ว่า เฉโก ความรู้ความจริง สัจธรรมของคนผู้ที่เขาเห็นสั้นๆ
เขาก็ตัดขอบเขตแค่นี้ ก็เรื่องของเขา คนอื่นจะทำ บาป ก็ไม่ห้ามเขา
แต่กลับไปเป็นเหตุปัจจัยที่จะต่อเนื่องโดยเป็นตัวเหตุที่ให้เขาฆ่าสัตว์
เพราะถ้าเรายังเป็นผู้บริโภค ยังเป็น ตัว อุปสงค์ เป็นตัวที่กำหนดให้คนต้องฆ่าสัตว์มาขายให้เรา
ฆ่าสัตว์มาให้เรากิน โดยความเชื่อมต่อ มันก็ไม่ขาด จากกัน เพราะฉะนั้น
ใครที่มีปัญญาเห็นว่า ถ้าเผื่อเราจะตัดต้นเหตุให้หมด ก็จะไม่กินเนื้อสัตว์
เพราะผู้กิน คือต้นเหตุแท้ ก็ไม่เป็นตัวก่อบาป ไม่เป็นตัวเหตุแท้
เพราะฉะนั้น ความเมตตาอันนี้ก็จะเกิดปัญญา ซึ่งก็อยู่ที่ใคร จะเห็นทะลวงทะลุได้
ในประเด็นที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึง
เนื้อสัตว์ที่กินได้ เรียกว่า ปวัตตมังสะ
ซึ่งมีอยู่ ๒ นัยคือ นัยที่ ๑ หมายถึง สัตว์ที่ตายเอง
โดยไม่มีใครฆ่า ซึ่งไม่เป็นเหตุให้ใครทำบาป ใครจะกินเนื้อสัตว์แบบนี้
ก็กินเถอะ เพราะไม่มีใคร เชื่อมโยงบาปบุญ นัยที่ ๒
เดนสัตว์กิน สัตว์เดรัจฉานก่อบาป คุณพูดกับสัตว์รู้เรื่องไหมล่ะ
ว่าอย่าไปฆ่าสัตว์ มันไม่รู้เรื่องหรอก เพราะเป็นธรรมชาติที่สุดวิสัย
สัตว์ต้องฆ่าสัตว์กิน เมื่อสัตว์กินเหลือแล้ว โดยเราไม่ไปแย่งนะ ต้องชัดเจนในนิยามนี้
ว่าเป็นเดนสัตว์กินนะ มันกินจบแล้ว มันเหลือแล้ว ไม่เป็นภัยเป็นพิษอะไร
เนื้อ ๒ อย่างนี้ท่าน อนุญาตถ้าจะกิน ใครมีปัญญาก็ฟังขึ้น ส่วนเนื้อสัตว์ที่ท่านห้ามเรียกว่า
อุทิศมังสะ แปลว่า มุ่งหมายหรือจงใจ
ถ้าสัตว์ใดถูกฆ่าโดยคนที่มีอุทิศ คือ
มีการจงใจมุ่งหมายฆ่ามันจนตาย แล้วเอาเนื้อมันมากิน ก็คือบาปเกิดแล้ว
ไม่ใช่ว่ามันตายโดยอุบัติเหตุ แต่เป็นคนนี่แหละมุ่งหมายฆ่ามันอย่างผิดศีลครบองค์
๕ คือ ๑. สัตว์มีชีวิต ๒. รู้อยู่ว่ามันมีชีวิต ๓. คิดอ่านฆ่า ๔. ลงมือพยายามฆ่า
๕. ฆ่าจนสำเร็จสัตว์ตาย นี่คือผู้ที่ทำบาปครบเลย เป็นปาณาติบาตชัดเจนอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าจะกินเนื้อสัตว์ ก็ต้องเป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่เกี่ยวข้องกันอย่างนี้
จะเห็นได้ชัดว่า แง่เชิงของการ ไม่กินเนื้อสัตว์ ในชีวกสูตร กล่าวว่า
โดยไม่เห็นเขาฆ่า โดยไม่รู้ข่าวว่าเขาฆ่า โดยไม่สงสัยว่าเนื้อสัตว์นี้เป็นสัตว์ที่ตาย
เพราะคน จงใจ ฆ่ามา หากไม่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ อย่างนี้ ก็ไม่ปลอดบาป
ไม่ให้กิน ก็แสดงว่าต้องไม่กินเนื้อสัตว์ ถ้ากินเนื้อสัตว์ได้ จะมีเหตุผลตาม
๓-๔ ข้อนี้ทำไม ฉะนั้นผู้ที่มีรายละเอียดต่างๆนานาจนไม่กินเนื้อสัตว์
ก็คือผู้มีปัญญา แต่แท้จริงแล้ว ผู้ไม่ดันทุรัง ผู้เข้าใจอยู่แล้วและก็เชื่อมั่นอยู่ว่า
เราไม่กินเนื้อสัตว์ เราไม่ติด ส่วนผู้ที่ติดอยู่เยอะ
เขาก็จะหาเหตุเถียง เช่น
๑. ติดรส ติดกลิ่น ติดสัมผัส ติดที่มันอร่อย
ก็ต้องกิน ๒. ไม่มีปัญญาพอ ๓.ไม่มีเมตตา ไม่รักชีวิตผู้อื่น
ไม่เห็นแก่ชีวิตผู้อื่นแม้แต่สัตว์โลก สัตว์เดรัจฉานก็ตาม แสดงว่าพลังอำนาจความเมตตาของเขายังไม่มากพอ
เพราะฉะนั้นเขาจะไม่คิดยาว ไม่คิดต่อ เขาคิดแค่นี้ก็พอแล้ว ขืนคิดต่อ
เขาก็จะอดกิน
ถาม กรณีของนักร้องชื่อ นายบิ๊ก วงดีทูบี
แล้วคนแห่ไปเยี่ยม เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ความเมตตาได้ไหมคะ ?
ตอบ ไม่ใช่หรอก
แต่เป็นความหลง ความคลั่งไคล้อันนี้บอกตรงๆ ให้ชัดเจนเลยว่า เป็นความหลงชนิด
คลั่งไคล้ใน กระแส ของความรักชอบเกินขอบเขต การรักชอบคนๆหนึ่งในเชิงของปัญญาชนแล้ว
เราจะรักชอบเขาด้วยอะไร ถ้ารักชอบด้วยรูป รส
กลิ่น เสียง สัมผัส ก็เป็นรักชอบในเชิงกาม เป็นความรักชอบที่ไร้ค่า
แต่ในโลกเขา ยังถือเป็นค่า รักชอบเพราะคนนี้สวย รักชอบความงาม ความไพเราะ
รักชอบอะไรก็แล้วแต่ คือใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นกามคุณ ๕
ถ้าอย่างนี้ละก็ เป็นเรื่องเหลวไหล เป็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แต่โลกีย์เขาก็ต้องมีอยู่บ้าง
ก็ต้องมีอย่างพอควร หากถ่วงดุลไว้ได้ก็ดี ยิ่งทุกวันนี้มันจัดจ้านมาก
ทีนี้คนชอบบิ๊ก
เพราะรูปร่างเขาหล่อ ชอบในเรื่องการแสดงออกทางบันเทิงเริงรมย์ ทางรูป
รส กลิ่น เสียง สัมผัส มีทีมีท่าอะไรก็แล้วแต่ เป็นอบายมุข และคนก็ไปคลั่งไคล้ในสิ่งเหล่านี้
อันนี้จึงเป็นเรื่องความเหลวไหลในสังคม
ทีนี้ เน้นไปที่พฤติกรรม ถ้าเราเลื่อมใสศรัทธา
เพราะเขาเป็นคนดี หรือมีความดีอะไรต่อสังคมบ้าง ก็พึงรู้ส่วนดี แต่นี่เขาก็ยังไม่ได้แสดงบทบาทอะไรมากมายว่าเป็นการทำความดีแก่สังคม
นอกจากเขาโลภเอาจากสังคม โดยเขาได้ราคา ค่าตัวจากเชิงคิดทุนนิยม เป็นผู้เอาเปรียบหรือได้เปรียบมาเยอะแล้ว
จึงไม่น่านับถือเท่าไร หากเป็นกรณีของคนที่เสียสละ
คนที่ไม่เอาเปรียบ หรือพยายามลดละความได้เปรียบลงมากๆ นั้นต่างหากจึงจะเป็นคนน่านับถือ
เพราะฉะนั้น การไปหลงใหลผิดสัจธรรมอย่างนี้แหละ
โดยรายละเอียดแล้ว ในมุมดี เขาก็มีความดีบ้าง ยกประเด็น ความดีมาว่า
เป็นคนนิสัยดี เป็นคนเกื้อกูลตามสามัญผิวๆเผินๆ ก็ดีอยู่ แต่ถ้าเจาะเข้าไปลึกแล้ว
เขาก็ยัง ไม่ได้มี ประโยชน์ คุณค่าอะไรต่อสังคม ในฐานะของนักร้องนักรำอะไรพวกนี้
ทำให้คนชอบใจ ชื่นใจ แต่จริงๆแล้ว คนเหล่า นั้นถูกมอมเมาด้วยรูป รส
กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งเป็นกามารมณ์ กามคุณเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีคุณค่าอะไรมากมาย
ไม่มีการสร้างสรรจิตวิญญาณให้พัฒนาขึ้นมา แต่กลับกลายเป็นเด็กที่คลั่งไคล้
เป็นเด็กที่หลงใหลอย่างที่กำลังเป็น สุดท้ายเหลวไหล ละเลยเนื้อหาสาระของหน้าที่ตัวเอง
การเรียนการเป็นอยู่ เฮละโล โฮละเล เห่อกันไปเลย โดยองค์รวมทุกคนก็รู้ว่า
มันเกินเลยแล้ว
ถ้าจะไปแสดงน้ำใจ ก็เป็นคุณค่าของผู้แสดงน้ำใจ
แต่มันก็ควรจะมีคุณค่ามากพอ ถ้าคนที่จะตายนั้น เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร
ของบ้านของเมือง หรือของผู้ที่เป็นคุณค่า ประโยชน์สาระที่แท้จริงที่อธิบายได้
ยืนยันได้ ถ้าเป็นอย่างนี้มันก็น่ายินดี แต่นี่มันคนละเรื่อง ปรากฏการณ์นี้เป็นเครื่องชี้วัดที่บอกได้เลยว่า
สังคมกำลังเดินผิดทาง สังคมกำลังปล่อย ให้สังคมนี้ถูกละเลงอบายมุข
ละเลงมหรสพ ละเลงเรื่องเลอะเทอะต่างๆ จนเกินขอบเขตแล้ว ซึ่งสะท้อน
ค่าความฉลาดของสังคม ค่าของปัญญาที่อยู่ในกระแสของสังคมนี้มีราคาตกต่ำไปเยอะ.
เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่สนใจศึกษาพุทธศาสนา
คนเหล่านั้นจึงผิวเผิน
เพราะไม่เข้าใจสารสัจจะของมนุษย์
จึงก่อเกิดเรื่องราวต่างๆ ที่ผิดสัจจะ
นั่นคือ ลางร้ายที่กำลังเกิดขึ้น
หน้าที่ของชาวพุทธจึงคือ
เรียกร้องสัจธรรมกลับคืนมา
ก่อนจะสายเกินแก้ !
(สารอโศก
อันดับที่ ๒๖๓ สิงหาคม ๒๕๔๖)
|