หน้าแรก>สารอโศก


ตอน.... เน้นเนื้อ กว้างเกื้อ เอื้อมิตร ชิด...บุญนิยม

มิถุนายน ๒๕๔๖

ดนตรีเพื่อธรรม....พันธุ์แท้ ๘ มิ.ย. เป็นน้ำใจของคนวงการบันเทิงที่รู้จักพ่อท่าน เมื่อทราบว่าสันติอโศก จะมีงานอโศกรำลึก ก่อนงานจะมีการพูดถึงงานเพลง ของครูรักหรือพ่อท่านของชาวอโศก จึงมาช่วยร้อง และแสดง เพื่อเป็นเกียรติแก่งาน.... สัมผัสความรู้สึก ของศิลปินเหล่านี้ที่มีต่อพ่อท่านและสันติอโศก ที่พลาดไม่ได้คือ.... ความเห็นของผู้คร่ำหวอด กับวงการเพลง อย่างคุณปราจีน ทรงเผ่า คุณธนิต เชิญพิพัฒนสกุล และคุณปฏิพล เหมวรานันท์ วิจารณ์งานเพลงของพ่อท่านว่า มีความแปลก.... เป็นอย่างไร?

องุ่น มาลิก หญิงแกร่ง รวยคุณธรรมที่กำลังถูกลืม องุ่น มาลิกเป็นใคร? มีความเกี่ยวพันกับพ่อท่าน อย่างไร? งานครบ ๑๓ ปี รำลึกถึงการจากไป ของอาจารย์องุ่นที่มูลนิธิไชยวนา(๒๑ มิ.ย.) พ่อท่านเทศน์แปลกกว่า ทุกคราวอย่างไร?

ร่วมเสวนา....สภาพการณ์ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ(มาตรา ๗๑-๗๔) ๒๐ มิ.ย. พ่อท่านได้รับ นิมนต์จาก คณะทำงาน ของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ไปร่วมเสวนา กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๑-๗๔ เพื่อนำมุม มองเหล่านี้ เสนอต่อรัฐบาล อันเป็นการสะท้อนให้เห็นการทำงานของรัฐ ในมาตราต่างๆนั้น ดัชนีวัดผลเป็นอย่างไร? บรรยากาศการ ร่วมเสวนาเป็นอย่างไร? พ่อท่านแสดงความเห็นไว้อย่างไร? ดัชนีวัดผลในมาตรา ๗๓ พ่อท่านเขียนอย่างไร?

"ศาสนากับการปราบปรามอิทธิพล" ในรายการ "มองทะลุกรอบ" ไททีวี ๒๔ มิ.ย. มีการถ่ายทำ รายการโทรทัศน์ที่ สันติอโศก พ่อท่านได้รับนิมนต์ ให้ร่วมแสดงความเห็นในประเด็นนำเสนอที่น่าสนใจ "ศาสนากับการปราบปรามอิทธิพล" ทำไมพ่อท่าน จึงกลัวอิทธิพล...? ทำไมจึงเกิดอิทธิพลขึ้น ในสังคมไทย ที่ต่างก็มีศาสนา? ผู้บริหารบ้านเมืองและประชาชนส่วนใหญ่ มีศาสนาจริงหรือ? ผู้มีศีล มีศาสนา จะมีอิทธิพลได้ไหม? เกร็ดเล็กๆที่น่าสนใจทำไมพ่อท่านจึงไม่อยู่ร่วมแสดงความคิดเห็นจนตลอดรายการ?

ความเคลื่อนไหวในเดือนมิถุนายนนี้ ยังมีเรื่องก้าวย่างของสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต(๔-๕ มิ.ย.) เป็นการสอบ สัมภาษณ์คุรุ และนิสิตใหม่ ซึ่งพ่อท่านได้ให้หลักการถึงคุณสมบัติของคุรุ ๗ ประการ และการสัมมนา การจัดทำหลักสูตร สถานศึกษา (๑๑-๑๓ มิ.ย.) โดยมีวิทยากร จากสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี และกรมวิชาการได้มาให้ความรู้ที่สันติอโศก แต่ข้าพเจ้าขอข้ามผ่าน ผู้สนใจติดตามได้จาก "ข่าวอโศก" ฉบับ ๑๖-๓๐ มิ.ย. นอกจากนี้ยังมีเรื่องกรณีไม้กฤษณาที่เป็นปริศนา? ทำให้หลายคนเกิดโรค "เห็นเงินตาโต" ซึ่งพ่อท่าน ถือว่าเป็น โรคซาร์ส ของชาวอโศก หลังการรับรู้ข้อมูลแล้วจึงรีบเทศน์สกัด (๒๕ มิ.ย.) บันทึกนี้ ต้องขอข้ามผ่าน ผู้สนใจ สามารถติดตามได้จาก "ข่าวอโศก" ฉบับ ๑-๑๕ ก.ค. ที่ผ่านมานี้เช่นกัน


ดนตรีเพื่อธรรม....พันธุ์แท้

๘ มิ.ย.๔๖ ที่สันติอโศก บ่ายคุณทอดด์ ทองดี และคณะได้มาเปิดการแสดงดนตรี เป็นคอนเสิร์ตเล็กๆ ก่อนรายการเอื้อไออุ่น ที่จะมีการพูด ถึงผลงานเพลง ของครูรัก โดยคุณทอดด์และคณะ ได้นำผลงานอัลบั้มใหม่มาแสดง ซึ่งหนึ่งในงานเพลงชุดนี้ มีเพลงที่กล่าวถึงสันติอโศก ที่คุณทอดด์ ได้มาสัมผัสด้วย นอกจากมาแสดงให้ฟรีแล้ว คุณทอดด์ยังได้มอบแผ่นซีดี ที่เป็นผลงานอัลบั้มใหม่นี้ให้พ่อท่าน ได้แจกส่วนหนึ่งอีกด้วย

การแสดงของคุณทอดด์และคณะได้สร้างความบันเทิงสนุกสนานพอสมควรให้ชาวเรา ที่ไม่ประสีประสา กับการแสดง อย่างนี้เอาเลย ทำ ให้คุณทอดด์ถึงกับเอ่ยปากเย้าว่า ขอให้แกล้งทำเป็นรู้เรื่อง ตอบรับยินดี กับการแสดง ของคุณทอดด์ และคณะบ้างได้ไหม (เพื่อผู้แสดงจะได้มีความสุข)

ต่อด้วยการแสดงของนักร้องวัยเด็กและวัยดึก เช่น น้องซิน น้องทราย คุณเปียทิพย์ คุ้มวงศ์ คุณสุวัจชัย สุทธิมา คุณทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล คุณประเสริฐศรี จันทร์อาภรณ์ รวมถึงบุคคลในวงการดนตรี อีกหลายคน ที่ข้าพเจ้าไม่รู้จัก

ในบรรยากาศยามนี้เห็นความเป็นผู้นำของพ่อท่านที่หลากหลาย ดูเหมือนพ่อท่าน จะเป็นนักการศาสนา ผู้เดียว ที่ประสานกับคนในวงการ บันเทิงได้ดี นอกไปจากภาพที่พ่อท่านแวดล้อมไปด้วยเด็กๆ.... กับเกษตรกรที่มาอบรม.... กับการประชุม องค์กรต่างๆ ของชาวอโศก.... กับหมู่สมณะ

คุณทอดด์ บอก....ผมรักสันติอโศก ที่เหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่น

คุณประเสริฐศรี ถามถึงวันเวลาของงานต่อๆไปว่าจะมีอีกเมื่อไร จะได้เตรียมตัวล่วงหน้า ด้วยอยากจะมาอีก

คุณทิพย์วรรณ ขำหัวเราะเมื่อเห็นคุณสุวัจชัย หลังจากร้องเพลงแล้ว ต้องเดินไปเอา ดอกกุหลาบ จากมือผู้ฟัง ด้วยตนเอง แทนที่ผู้ฟังจะลุก เดินเอามาให้นักร้องเช่นเวทีการแสดงทั่วๆไปที่เขาทำกัน

๑๖.๓๐ น. เริ่มรายการเอื้อไออุ่น เป็นการพูดคุยถึงงานเพลงของพ่อท่านในอดีต จนถึงปัจจุบัน จากความรู้ และประสบการณ์ ของผู้คร่ำ หวอดในวงการเพลงมานาน เช่น คุณปราจีน ทรงเผ่า คุณธนิต เชิญพิพัฒนสกุล คุณปฏิพล เหมวรานันท์ คุณวัชราภรณ์ สุขสวัสดิ์ โดย มีพ่อท่านและพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ร่วมวงสนทนาด้วย

คุณขวัญรัก : (ผู้เคยติดตามพ่อท่านไปทำอาหารให้นักดนตรีและนักร้องได้รับประทาน ในช่วงที่พ่อท่าน ต้องเดินทาง ไปทำเพลงที่ ห้องอัดเสียงต่างๆ เมื่อสิบกว่าปีก่อนโน้น) อยากทราบความรู้สึกที่ได้ทำเพลง ของพ่อท่าน ซึ่งคุณปราจีน เคยบอกว่า เหมือนออกนอกโลกไปแล้ว วกกลับมาได้ ในประเทศไทย มีอยู่ ๒ คน ดิฉันถามว่าใคร คุณปราจีนก็บอกว่า มีในหลวงฯ และพ่อท่านน่ะค่ะ

คุณปราจีน : คือเป็นเรื่องความรู้ทางดนตรี เรียกกันว่าทางเพลง วิธีการที่ท่านแต่งเพลง เป็นลักษณะเฉพาะตัว คาดเดาไม่ได้ ปกติแล้ว ถ้าคนทำงานเพลงนานๆอย่างผม ผมจะรู้ว่า ถ้าเพลงเริ่มต้น อย่างนี้ มันจะต้องไปเหมือนกับ เริ่ม ๑ มันจะต้อง ๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙-๑๐ ไปอย่างนั้น แต่เพลงของพ่อท่านเมื่อเริ่ม ๑ แล้วมันจะไปที่ ๕ แล้วมัน จะไปที่ ๙ แล้วมันจะกลับมาที่ ๓ แล้วก็มาที่ ๖ แต่มันลื่น คือมันจะไป โดยไม่สะดุด คือ ๑ แล้วไป ๕ จะมีความรู้สึกว่า ๑-๒-๓-๔-๕ ปกติทั้งหมด ซึ่งบางทีไปแล้ว เรานึกว่า มันกลับไม่ได้ คือมันหลุดออกไป แล้วนะฮะ แต่มันกลับมาได้ โดยภูมิปัญญาของผมนี่ ผมทำอย่างนั้นไม่ได้นะ ผมบอกไม่ได้ว่า มันเกิดได้ยังไง อย่างเพลงที่สุวัจชัย ร้องเมื่อกี้ เนี่ย เพลงผู้แพ้ เป็นเพลงหนึ่ง ที่มีความแปลกในตัว

คุณธนิต : พี่จีนฮะ คือนักดนตรีแพ้หรือเปล่าฮะ(หัวเราะ) เจอเพลงนี้แล้วแพ้

คุณปราจีน : แพ้ แพ้ เล่นไม่ถูก คือผมยกตัวอย่างง่ายๆ เพลงในสเกลคอร์ด C (กลุ่มเสียง C)จริง แต่ขึ้นต้นด้วยคอร์ด F ขึ้นได้อีกคอร์ด หนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลานักร้องไปบอกนักดนตรีว่าเพลงผู้แพ้นี้คีย์ C (บันไดเสียง C) เขาจะขึ้นคีย์ C แล้วมันไปจบที่คีย์ F เข้าใจไหมฮะ มันจะมีความพลิกผันอยู่ในเรื่องของดนตรี ซึ่งต้องเข้าใจว่า วิธีการสร้างทำนอง ของพ่อท่าน เป็นวิธีการที่แปลก และก็ไม่ค่อยเหมือนนักแต่ง เพลงทั่วๆไป แต่มันไหลลื่น คือไม่มีความสะดุด ๑ ไป ๕ ไป ๙ แล้วกลับมา อะไรต่างๆนานา เป็นวิธีการที่เพลงสากลก็มีเหมือนกัน หลายเพลง จะมีลักษณะนี้ ผมไม่แน่ใจว่า พ่อท่านไปติดวิธีการ ของฝรั่งมาหรือเปล่า ไม่แน่ใจฮะ

พ่อท่าน : "โอ....Born to be อาตมาเล่าเรื่องที่มันเกิดของมันให้ฟัง อาตมาแต่งเพลงตั้งแต่อายุ ๑๔ อยู่บ้านนอก เมื่อ ๕๐ กว่าปีที่แล้ว คนแต่งเพลงเป็นไม่ใช่ธรรมดานะ เดี๋ยวนี้เด็กเล็กๆก็แต่งเพลงกันแล้ว สมัยก่อน เขาถือว่า อัจฉริยะนะ คืออาตมาชอบร้อง ตั้งแต่เด็กๆอยู่ อุบลฯ มันไกลปืนเที่ยง แล้วเพลงมันออกไปจากกรุงเทพฯทั้งนั้น วงดนตรีก็มีอยู่ ไม่กี่วง สถานีวิทยุก็มี ๒ สถานีเท่านั้น มีสถานีแห่งประเทศ ไทย และสถานี ๑ ป.ณ. อาตมาเข้ากรุงเทพฯ แล้วค่อยมี ร.ด. รักษาดินแดน ส่งเพลงกันออกไป อาตมานี่จะต้อง ต่อเพลงเป็นได้ก่อนเขา ได้เสร็จแล้ว ก็ไปต่อให้เพื่อน ดูมันเท่มาก.... เห็นภูกระดึง เสน่ห์ตรึงใจจริง....

แต่ก่อนมีแต่เพลงวงสุนทราภรณ์เป็นหลัก นอกนั้นก็มีเพลงของวงทหารเรือจะมีทั้ง สมยศ ทัศนพันธ์ เนียน วิชิตนันท์ พวกนี้เขาอยู่วงนั้น เขาก็แต่งกันออกไป

อาตมาร้องเพลงไปมา ก็....เอ๊ะ....เราแต่งดูซิ ก็หยิบกระดาษขึ้นมาเขียนเลย แล้วก็ร้องไป ไม่รู้หรอกว่า อะไรเป็นอะไร ประโยคเพลง เป็นยังไง ประโยคทำนองเป็นยังไง ห้องแห้งอะไรเป็นยังไงไม่รู้เรื่องหรอก แต่ก็ใช้สังเกตว่า เพลงมันมี.... ภาษาสมัยนี้คือ แปดห้องต้น แปด ห้องกลาง แปดห้องท้าย หรือไม่เพลง ๑๖ ห้อง อะไรพวกนี้ เราก็รู้ ก็ลงท้ายห้องแปด แต่ก่อนไม่รู้ท้ายห้องหรอก รู้แต่ว่า ท้ายเพลง กลาง เพลง คืออาตมา หัดเขียนกลอน ๔ ก็รู้วรรค ๑ วรรค ๒-๓-๔ สัมผัสโน่นสัมผัสนี่ หัดเขียนกลอน มาตั้งแต่อายุ ๑๑ จึงเข้าใจถึงเรื่องสัมผัส นอกสัมผัสใน พอมารู้จักเพลงอ่านเพลงเราก็เข้าใจ เอ่อ....มันไม่เหมือนกัน สังเกตได้ท่อน ๑ ท่อน ๒ ท่อน ๓ ท่อน ๔ เพลงส่วนมากก็มี ๔ ท่อน หรือถ้าเป็น ๑๖ ห้อง ก็มี ๒ ท่อน ก็อาศัยปฏิภาณพวกนี้ แต่งตามเป็นเพลง ออกมา ๓๒ ห้องเหมือนกัน เพลงแรกที่อาตมาแต่งคือ ผู้ หลอกลวง แต่งไปตามประสาเรานี่แหละ เป็นเพลง ๓๒ ห้อง ถูกต้องเลยนะ อายุ ๑๔ แต่ง แล้วมาต่อให้เพื่อนร้อง ยังนึกอยู่เลยว่าจะเอา มาทำไว้ เป็นประวัติศาสตร์ มันไม่ค่อย ไพเราะหรอก แต่ปฏิพลเขาว่า จะทำอยู่เหมือนกัน เขาจะทำเพลงของอาตมา เอาเฉพาะทำนองเป็น ดนตรีทั้งหมดเลย จะทำ ๗๒ เพลง ไปฉลองอายุ ๗๒

ก็แต่งเพลงอื่นๆอีก จนเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ก็แต่งของตนเองทั้งเนื้อทั้งทำนองอยู่เสมอแหละ ก็แหม.... มันชอบ ก็ใฝ่หา จนกระทั่งรู้จัก ล้วน ควันธรรม แล้วก็รู้จักคนในวงการเพลง ได้รู้จักนักดนตรีวงนั้นวงนี้ ก็ไปสนิทกับเขา เขาเล่นดนตรี ในไน้ท์คลับ เราก็ไปนั่ง หลังวงดนตรี ฟังเขาไป ยังนุ่งกางเกงขาสั้นอยู่นะ ตอนนั้นอายุ ๑๖-๑๗ ได้แต่งเพลงกับ สง่า ทองธัช แต่งกับสง่าหลายเพลง ส่วนมาก อาตมาแต่งคำร้อง ทำนองของสง่าเขา เพลงผกาดั่งนารี เพลงค่ำแล้ว เพลงก่อนสิ้นแสงตะวัน เพลงธารสวาท และ เพลงอื่นๆ ของตัวเองก็แต่งอยู่เรื่อยๆ จน ต่อมาเพลง ก็ได้อัดแผ่นเสียง

พออาตมาแต่งเอง มันก็เป็นของตัวเอง เราก็ว่า เอ..ทำนองมันควรจะเป็นอย่างนี้ๆ จนกระทั่ง มาสังเกตมากขึ้น ก็ดูลีลาของเพลง มากๆขึ้น ก็เข้าใจอะไรเป็นไมเนอร์ เมเจอร์ เข้าใจขึ้นมาเรื่อยๆ ก็ เอ.... มันควรจะให้แปลกๆนะ อย่างที่ปราจีนเขาว่า นักดนตรี จะรู้เลย เพลงส่วนมาก พอ ๑ ไป ๒ ไป ๓ จะมีลำดับของมัน เราก็บอกว่า... เอ... เรื่องอะไรจะไปร้องให้คนมาดักได้ ต้องดักไม่ได้ ร้องไปนี่ไปไหน ก็แล้วแต่ มันก็ ไปได้เนี่ย มันก็จะแปลก ถ้าแต่งแล้ว คนร้องเดาได้ก่อน จืดหมด มันเหมือนกับดูหนัง พระเอก จะไปตรงไหน นางเอกจะไปยังไง ผู้ร้ายจะ ไปยังไง มันรู้เรื่องหมดแล้ว จะไปมันส์อะไรล่ะ นี่คือความคิดในใจ นึกๆก็พยายาม แต่งอย่างนั้น เพลงก็เลย ออกมารูปนี้เอง อย่างที่ปราจีน ว่า มันไม่ได้รู้เรื่องฝรั่งฝะแร่งอะไร ไม่มี มันเป็นของมันเอง

ไปทางคุณธนิตบ้าง

คุณธนิต : ต้องสาวไปเมื่อก่อน ผมนี่หัวเอียงซ้าย ก่อน ๑๔ ตุลาเนี่ย มีการเคลื่อนไหว ทางการเมืองรุนแรง ผมก็นิยม ลัทธิมาร์กซ ก็เลยไม่นิยมศาสนา หลังจากบ้านเมืองเริ่มเข้ารูป ก็เริ่มมาจับหนังสือพุทธศาสนาอ่าน เอ้อ...หลักการ มันก็คล้ายๆ คาร์ลมาร์กซ แต่มาร์กซ เกิดหลังพุทธศาสนาเยอะ

วันหนึ่งผมเปิดหนังสือพิมพ์ มีสกู๊ปสัมภาษณ์พ่อท่าน ซึ่งผมก็ยังไม่รู้จัก อ่านไปเรื่อยๆ เฮ้ย! เข้าท่าโว้ย พระอย่างนี้ มันมีอยู่หรือวะเมืองไทย พูดในหลักการแล้วก็เอ้อ.... รู้สึกเลื่อมใส เป็นวันแรกที่รู้จักสันติอโศก จากนั้น ก็ติดตามมาเรื่อย มี NHK มาถ่าย มีข่าวมีอะไรก็คอยดู ชื่นชมอยู่ห่างๆ

จนมาวันหนึ่ง ผมก็จบเรียบเรียงเสียงประสาน สถาบันเดียวกับพี่ปราจีน เป็นรุ่นน้อง ตอนนั้น ห้องอัดเสียงทอง ถือว่าเป็นห้องอัด ที่ทันสมัยที่สุด พ่อท่านก็ไปอัดเสียงที่นั่น พี่จีนก็ทำเพลงกับพ่อท่าน ผมก็แอบๆ ไปดู เฮ้ย....ตัวจริง ศรัทธามาตั้งนานแล้ว จากที่เราเป็นคนไม่มี ศาสนามาก่อนใช่ไหมฮะ จนพี่จีนบอก....เอ้ย เต้งมาช่วยหน่อยว่ะ เอาซิๆพี่ พี่จีนก็ส่งมาให้ ๒ เพลง ผมก็กลับ พอทำปั๊บ พอไล่เมโลดี้ เราก็ ต้องดูจากโน้ต ผมโทรไปถามพี่จีน นี่ลายมือใคร ก็พ่อท่านเขียน เฮ้ย....พระอะไร เขียนโน้ตอย่างนี้ ได้ด้วย ยิ่งเอ๊.... แปลกใจ พี่จีนก็เลยบอก ท่านคือ รัก รักพงษ์ นักแต่งเพลง สมัยก่อน ถึงจะอ๋อ....พอเริ่มทำ มันก็เจอความประหลาด พี่จีนเอาเพลงอะไร มาให้กูหว่า (หัวเราะ) ฉลาดด้วยพี่จีน เล่นเอาเพลงยากๆมาให้เราวะ โทรหาพี่จีน พี่จีนบอกว่า เพลงพ่อท่าน เป็นอย่างนี้ (หัวเราะ) จะขอเปลี่ยน (หัวเราะ) พอเปลี่ยน ไปไหนๆเอ็งก็เจออย่างนั้นแหละ อ้าอย่างนั้น ก็ไม่เปลี่ยนครับอาจารย์

ความที่เราเรียนมาด้วยหลักสูตร รูปแบบที่ถูกต้อง การก้าวเดินมันมี ๑-๒-๓-๔ อย่างที่พี่จีนบอก และก็มีกฎเกณฑ์ ที่เรียกว่า คอร์ดโปรเจ็ค ชั่น คือทางเดินของคอร์ด คอร์ดนี้มันเริ่มต้นมาอย่างนี้ คอร์ดที่ ๒ มันจะไปไหนก็ได้ มีข้อแม้อยู่อย่างเดียว คอร์ดต่อไป มันจะต้องเกี่ยวข้องกัน ต้องวิเคราะห์ได้ ต้องมีเหตุผล แต่ความที่เราเรียนมา เราจะต้องดักแล้วเดาใจคนแต่ง เมโลดี้ อ๋อ เขาจะไปอย่างนี้ สเกลที่จะไป ก็ไปอย่างนี้ ความที่เราเรียนมา มันก็เลยไปได้ พอเริ่มไปได้มันลื่นไหล ก็เริ่มทึ่ง เออ...แม๊.... เป็นพระนะนี่ (หัวเราะ) ทีนี้ก็ทำมาเรื่อย ก็ยิ่งศรัทธา มาในห้องอัดก็เห็นท่านอารมณ์เย็น นั่งรอคุยเป็นกันเอง ไอ้เรามันเป็นพวกมาร พวกห่างวัด แถมอดีตที่ไม่เคยนับถืออะไรเลย เที่ยว นี้ต้องมาอยู่กับพระ แล้วปกติเป็นคนที่พูดไม่เพราะ เดี๋ยวก็เผลอคำ พ่อขุนรามมาเรื่อย เจ้านายที่เสียงทอง คุณธรรมนูญ ปุงคานนท์ ท่านจำลองคงรู้จัก เอ้ย.... เต้ง ขึ้นไปกับพระเจ้า พูดอย่าหลุดคำอะไรออกมา ทีแรก ก็เกร็ง (หัวเราะ) แต่จริงๆแล้ว ทำงานกับพ่อท่านสนุกฮะ พอมี เพลงอย่างที่ว่า ก็ไม่แปลกแล้ว คือคุ้นกันแล้ว เหมือนเป็นญาติกัน

กับประเด็นคำถามที่ว่าชอบเพลงไหนของพ่อท่าน?

คุณปราจีน : ชอบหลายเพลง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าชอบเพลงใดมากที่สุด อย่างเพลงผู้แพ้ ชอบด้วยความแปลกในเรื่องสเกลที่ขึ้นลง ไม่เหมือนกัน แล้วเพลงแม่มูล ดา ด๊า ดา ดา ด่า ด่า ด่า ด่า มันมีความแปลก ของเพลง คือลักษณะเพลง มันเหมือนกับบอกไม่ถูก คือเป็นเรื่อง ของความรู้สึก ภายในเฉพาะ ผมเมื่อไหร่ ได้ยินเพลงแม่มูล มันจะมีความรู้สึก อย่างหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งบอกไม่ได้ว่าเป็นความรู้สึกยังไง

ส่วนคุณวัชราภรณ์ก็ว่า....ชอบเพลงขวัญมากที่สุด ดนตรีเพราะมาก รู้สึกว่าเป็นเพลงที่ให้กำลังใจดี แต่เพลงนี้ ร้องยาก ด้วยไม่มีจังหวะหายใจเลย แต่อยากร้องมาก....

กับคำถาม....ทำไมจึงกล้ามาช่วยงานเพลงพ่อท่าน
ในขณะที่สังคมกำลังต่อต้าน?

คุณปราจีน : ผมมองที่การกระทำมากกว่านะฮะ สิ่งที่ท่านทำไม่ใช่สิ่งที่ผิด ที่สำคัญ มันเกิดประโยชน์ แก่คนส่วนมาก และไม่ได้ ทำให้ศาสนาเสื่อม อย่างที่เขาว่ากัน ผมก็มอง ผมมีความรู้สึกปกติ สำหรับผม.... ผมถือว่าท่าน เป็นผู้ให้กำเนิดคนหนึ่ง สำหรับวงดนตรี The Impossible (ดิ อิมพอสสิเบิ้ล) ที่ผมอยู่ วันนี้ผมรวมเพลง The Impossible มามอบให้ท่าน ผมก็เขียนให้ท่านว่า.... สำหรับท่าน แล้ว ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดคนหนึ่ง.... นอกเหนือจาก คุณเปี๊ยก โปสเตอร์แล้ว ก็มีท่านรัก รักพงษ์ในขณะนั้น

คุณธนิต : ช่วงกระแสด้านลบถาโถมใส่ โดยเฉพาะทางเถรสมาคมตอนโน้น ผมไม่สนใจ อย่างที่ผมเล่า พอผมอ่าน สกู๊ปสัมภาษณ์พ่อท่าน ก็ติดตามมา ผมศรัทธาอยู่ลึกๆ ช่วงนั้นผมถือเป็นจุดเริ่มของชีวิตนะฮะ ผม ๓๐ ต้นๆ ผมซื้อรถ ซื้อบ้าน ฉะนั้นผมย่อมกระหายเงิน ผมต้อง มีภาระผ่อน น่าสังเกตทำไมผมยินดีทำฟรี ทั้งๆยากด้วย ผมทำเพลงตลาด ขายนี้มันง่าย ตอนนั้นผมทำ สาธิยา ศิลาเกษ กับ แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี....ปลิดปลิว เคว้งคว้าง.... ตอนนั้นผมทำ แต่ผมก็ยินดี และเต็มใจ ที่จะมาทุ่มเวลาให้กับพ่อท่าน กี่เพลงที่จะให้ทำ ผมทำหมด แล้ววันที่พ่อท่าน ถูกควบคุมตัว ผมก็แอบไปเงียบๆที่ ร.ร.นายสิบตำรวจบางเขน ไปยืนตากแดดรอ....ท่านจะเป็นยังไง.... เพิ่งจะมาเผยวันนี้ ไอ้เรื่องกลัวหรือไม่กลัว ไม่มีปัญหา

แม้วันพฤษภาทมิฬ ที่มีการนัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวงโดยท่านพลตรีจำลอง ผมก็ถือว่า ผมศรัทธา ทางพ่อท่าน ท่านพลตรีจำลอง ก็เหมือนญาติธรรมของผม คือวันหนึ่งผมอัดที่ห้องอัด JAM ข่าวด่าพลเอกสุจินดา ผมกำลังทำ อริสมันต์อยู่ ชุดนั้นเป็น Producer ร่วมกับอิทธิ พลางกูร อริสมันต์ ไม่รู้เรื่องเดินเข้ามา เห็นข่าวสองทุ่ม โอ.... ไอ้นี่มันอะไร ทำไมคนด่ามันจัง น่าสงสารนะ....อริสมันต์เขาบอก ตอนนั้นเขา ไม่รู้เรื่องเลย เขาร้องเพลงอย่างเดียว ผมก็บอก ถ้าเอ็งอยากรู้ ไปที่สนามหลวง ตอนนี้ก็ตกใจมาก คนเยอะ แพล็บเดียวนายกี้ ก็พลัดกับผมไป ตายแล้วโว้ย มันไปไหน เราก็เป็นห่วงมัน เดี๋ยวเฮียฮ้อมาด่าเราอีก เราเป็นผู้ใหญ่ในบริษัท เอาศิลปินไปเพ่นพ่านในกิจกรรมที่ไม่น่า.... คือค่ายเท็ป เขาจะไม่เอียง เขาจะแทงกั๊ก ไม่งั้นเขาเอียงทางนี้ เดี๋ยวมีพวกชอบพรรคโน้น มันไม่ซื้อเท็ป ก็เลยแทงกั๊ก สักพักเดียว ได้ยินเสียง อลิสมันต์ขึ้นเวที อ้าว....ตายแล้ว ผมก็ไปหลังเวที กี้ลงมา เอ็งไม่รู้เรื่อง อย่าไปพูดอะไรมาก ตั้งแต่นั้นกับผม ก็เดินถนนราชดำเนินตลอด ผมมีเสื่อที่มีหูหิ้ว ตี ๓ ตี ๔ จะซื้อน้ำสองขวด กินบ้าง ล้างหน้าบ้าง แล้วก็เอาไอ้ขวดนี้ เป็นหมอนนอนกับอลิสมันต์ นอนหน้าโลหะปราสาท

คุณวัชราภรณ์ : จะว่าไปเป็นสายเลือดของพ่อท่านเลย ไม่ว่าท่านจะเรียกในยามใด วัชราภรณ์ ไม่เคยคิด ที่จะปฏิเสธ ถ้าท่านไม่ใช้ จะรู้สึกน้อยใจด้วยซ้ำ มีใจให้ แม้จะต้องให้มาร้องเพลงตอนเช้า ที่เสียงยังไม่มา พ่อท่านให้ชีวิตมา ตั้งแต่แรก ตอนอายุ ๑๔ พ่อท่านให้คำ แนะนำ ท่านไม่ได้สอนอะไรมาก อย่าผูกพันกับสิ่งใด อย่ามีห่วง อย่าแต่งงาน แล้วอย่ามีลูกถ้าต้องแต่ง....

กับประเด็นความรู้สึกที่ได้มาทำเพลงกับพ่อท่านเป็นอย่างไร?

คุณธนิต : รู้สึกเป็นมงคลที่ได้อยู่ใกล้พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เราได้ชำระจิตใจได้สบาย อยู่กับสิ่งที่ดีงาม เราได้รับใช้พระ ที่มีชื่อเสียง ดังไปทั่วโลก....คิดดูมารอย่างผมยังมาเลย....

คุณปฏิพล : ทำเพลงพ่อท่านเหมือนได้ฟังเทศน์ ได้ฟังเรื่องที่ดี พอจบแล้วก็สบายใจ เหมือนได้ธรรมะ บทหนึ่งครับ เพลงพ่อท่านถ้าว่า เป็นหอกก็แบบแหลมยิ่งกว่าเข็มอีกครับ คือแทงทะลุเข้าไปเลย พอไปโดนคนอื่น ก็สะใจ เพลงไหน โดนตัวมากหน่อย ก็ฟังน้อยหน่อย แต่ก็อยากฟังครับ เพราะมันได้ธรรมะครับ เพลงทั่วๆไป เป็นเพลงสำเร็จรูป แต่เพลงพ่อท่านไม่ใช่ เพลงพ่อท่านเลยหลักทฤษฎี พ่อท่านใช้ความไพเราะ ความไพเราะจึงคือ ความถูกต้อง เพลงของพ่อท่าน คือตำราเล่มหนึ่ง เป็นทฤษฎีใหม่ ที่ให้ผมค้นคว้า เวลาผมทำเพลงพ่อท่าน ผมจะทำตามอารมณ์ ความรู้สึก ของพ่อท่านไปเลย ไม่ได้ทำเพลงตามความรู้ที่เรามี....

พ่อท่านแสดงความเห็นปิดท้าย "อาตมาไม่คิดว่า มาบวชแล้วจะมาเกี่ยวกับเรื่องเพลง บวชแล้ว ก็คิดว่าปิดไป เลยเรื่องเพลง แต่เมื่อเห็นว่าศิลปะในโลกทุกวันนี้ไปกันใหญ่ มันออกนอกความเป็นศิลปะ ไปมาก เป็นอนาจาร มีแต่มอมเมาคน บริษัทที่ทำเพลง ถ้าจะขายดีก็ต้องเป็นเพลงมอมเมาคน เอากิเลสจัดๆ จ้านๆ มาปลุกเร้า คนก็หลงเสพ หลงติดหลงยึด รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ปรุงปรนเปรอกันให้หนัก โลกเฟ้อ เพ้อพก รกเลอะ ไปด้วยรูป รส กลิ่น เสียงสัมผัส ก็เพราะคน ปรุงมอมเมากันไม่ยั้ง

โดยแท้จริงศิลปะเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตมนุษย์ ถ้าไม่ใช้ศิลปะในการทำงานกับมนุษย์ มันจะแข็ง มันจะเป็นสารคดี มันจะฝืดไปหมด และ หยุดเจริญ ซึ่งจะทำให้ขยายมวลยาก ขยายผลอะไรก็ไม่ออก

อาตมาคิดหนักอยู่หลายคราว จนตัดสินใจว่า....เอาน่ะ ต้องแต่ง แล้วเพลงแรกที่แต่ง ตอนเป็นพระ ชื่อ.... แสงธรรมต้องทอบวร อาตมาเหนียม จึงมีภาษาธรรมเยอะ แล้วก็แต่งมาเรื่อยๆ ถึงขณะนี้ ประมาณ ๑๐ อัลบั้มได้ แต่พอมีห้องอัดเสียงเอง อาตมาก็ยังไม่ได้ทำอีกเลย อาตมาขอยืนยันว่า อาตมาใช้ "ศิลปะ" ทุกชนิด ในการทำประโยชน์ ให้กับมวลมนุษย์ "ศิลปะ"ยิ่งใหญ่มากถ้า เข้าใจใช้กับมนุษย์ เพราะสามารถ ประทับใจมนุษย์ ทำความประเทืองปัญญาให้มนุษย์ มีฤทธิ์ทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงไปสู่ดีสู่สูงได้จริงๆ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลง ไปสู่ความต่ำความเลว และทำให้สังคมเสื่อมเสียวุ่นวาย นั่นเป็น "อนาจาร" แต่ถ้ารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ได้จัดสรรด้วยองค์ประกอบศิลป์ (composition) ที่เป็น "ศิลปะ" แท้ ก็จะมีผลต่อมนุษย์ มหาศาลจริงๆ อาตมายืนยันว่า อาตมาทำงาน"ศิลปะ" ด้วยความรู้ทาง"ศิลปะ" ด้วยเจตนา เท่าที่ปัญญา และความสามารถมี อาตมาพยายามใช้ "ศิลปะ" ทุกแขนงทุกรูปแบบ เพราะ"ศิลปะ" ทุกแขนงช่วยคนได้จริงๆ อาตมาเข้าใจความว่า "ศิลปะเป็นมงคลอันอุดม" ตามภูมิปัญญา และมุ่งมั่นสร้าง "มงคลอันอุดม"นั้น ซึ่งพยายามให้อุดม และสูงถึงขั้น "ศิลปะโลกุตระ" ....เพราะ มนุษย์เกิดการประทับใจได้จริงๆ มนุษย์มีปัญญาที่จะรู้เรื่องดีเรื่องชั่ว หรือเรื่องที่สูงส่ง ลึกซึ้งได้ เมื่อคนเกิดศรัทธา ที่มีปัญญาประกอบ อย่างชัดเจนเพียงพอ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง จิตวิญญาณ.... เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมชีวิตได้แน่นอน"


องุ่น มาลิก หญิงแกร่งรวยคุณธรรม..ที่กำลังถูกลืม

๑ มิ.ย.๔๖ ได้รับหนังสือที่กล่าวคำรำลึกถึง อ.องุ่น มาลิก ๔ เล่มได้แก่...องุ่น มาลิก หญิงแกร่ง รวยคุณธรรม, ภาพนี้ขอเธอจงมั่นใจ, โครงการสื่อศิลปวัฒนธรรมละครหุ่นครูองุ่น มาลิก, บุญวิถีเพื่อชีวิต และสังคม. พร้อมกันนี้ มีจดหมายนิมนต์พ่อท่าน เป็นองค์ปาฐกถา เนื่องในวันครบ ๑๓ ปีแห่งการถึงแก่กรรมของครูองุ่น มาลิก วันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายนนี้ เวลา ๑๒.๓๐ น. ที่บ้านครูองุ่น มูลนิธิไชยวนา ปากซอย ทองหล่อ ๓ คุณรัษฎา มนูรัษฎา ตัวแทน มูลนิธิไชยวนา เป็นผู้ทำจดหมายนิมนต์ และได้แนบรายละเอียดของงานมาให้ด้วย โดยคุณรัษฎา เป็นลูกชาย ของทนายประดับ ที่ได้มาช่วยงานในคดีของพ่อท่าน และสมณะที่ถูกฟ้องร้องเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน ร่วมกับทนายทองใบ ทองเปาด์

ข้าพเจ้าจำได้ว่าพ่อท่านเคยมาเยี่ยม อ.องุ่นที่บ้าน และได้ให้ญาติธรรมมาช่วยดูแล ก่อนการเสียชีวิตของ อ.องุ่น ประมาณ ๑๕-๑๖ ปีมา แล้ว ตอนนั้นก็ทราบเพียงว่าเป็นผู้ที่พ่อท่านรู้จักและให้ความเคารพ มาตั้งแต่ก่อนบวช

เมื่อได้อ่านประวัติและคำรำลึกที่หลายๆท่านกล่าวถึง ทำให้ทราบว่า อ.องุ่น เป็นที่รักของกลุ่มคน ที่ทำงานให้สังคม ที่มีอุดมคติและอุดม การณ์ไม่น้อยเลย เช่น คุณธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เขียนถึง อ.องุ่นว่า.... เป็นอาจารย์คนเดียว ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สมัยโน้น ที่นุ่งโสร่ง เสื้อชาวนาสีน้ำเงิน กรอมแขนมาทำงาน สวมหมวกสานอีกด้วย.... อาจารย์เป็นแนวหลัง ผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหว ทำงานเพื่อสังคม และการเมืองของนักศึกษา....

ศ.จ.เสน่ห์ จามริก....เพิ่งจะได้เริ่มมารู้จักชื่อของท่านก็ตอนที่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ แล้วจึงได้ทราบว่า มีผู้บริจาคที่ดินแปลงหนึ่ง ที่ซอยทองหล่อนี้ เพื่อสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ คืออาจารย์องุ่น มาลิก....

คุณชาตรี หุตานุวัตร.....เธอลึกซึ้งกับสันติภาพและอหิงสา รวมถึงความเรียบง่าย ของการดำเนินชีวิต สวนโมกข์ และปฐมอโศกคือ สถานที่แห่งความสงบของเธอ พอๆกับการเรียนรู้ที่จะกำหนดจิตของตน ในทุกกาลเวลา และสถานที่.... (และจากหนังสือหญิงแกร่งรวย คุณธรรมนั้น มีภาพ อ.องุ่น นั่งฟังพ่อท่าน ที่ปฐมอโศกยุคแรกๆ ในภาพนั้น เข้าใจว่าอยู่บริเวณหน้าศาลายา ฉากหลังเป็นภาพบ้านหลังคา มุงจากและมีต้นมะพร้าว นั้นคือ บริเวณศาลาค้า ในปัจจุบัน)

พ่อท่านได้เขียนคำรำลึกถึง อ.องุ่นตั้งแต่ได้ไปร่วมงานศพในปี'๓๓ ซึ่งคณะจัดงาน ได้รวบรวม ข้อเขียนของ หลายๆ ท่าน แล้วนำมาพิมพ์ เป็นเล่ม....หญิงแกร่งรวยคุณธรรม อาทิเช่น นิลวรรณ ปิ่นทอง, จาตุรนต์ ฉายแสง, นิธิ เอียวศรีวงศ์, สุรชัย จันทิมาธร แต่ขอนำเฉพาะ ข้อเขียนของพ่อท่านมาถ่ายทอดสู่กันดังนี้....

อาตมารู้จักกับอาจารย์องุ่น ตั้งแต่ยังเป็นนายรัก รักพงษ์ ตอนนั้นอาตมาอายุประมาณ ๑๘-๑๙ ปี ส่วนอาจารย์องุ่น ทำหนังสือ "ดรุณสาร" ในเครือสตรีสาร มีคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง เป็นเจ้าของ และเป็นเพื่อนที่สนิทกับอาจารย์องุ่น

อาตมาเองรับหนังสือดรุณสารเป็นประจำ ได้ติดต่อกับอาจารย์องุ่นผ่านคอลัมน์ "ดรุณคลับ" อาจารย์เป็นผู้ดูแล คอลัมน์นี้ ใช้วิธีเขียน จดหมายติดต่อกัน ตอนนั้นอาตมาเรียกอาจารย์ว่า "พี่" ส่วนอาจารย์ เรียกอาตมาว่า "รัก" เด็กในคลับ ไม่มีใครรู้ว่า อาจารย์ชื่อองุ่น อาจารย์ ใช้นามปากกาว่า "ปรียา"

เพื่อนร่วมคลับสมัยนั้นเท่าที่อาตมาจำได้มี พงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร ตอนนี้ทำงานอยู่ที่มติชน และวิสุทธิ์ ศรีนาวา อดีตผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ต่อมาอาตมามีโอกาสได้พบตัวจริงของอาจารย์องุ่น สมัยนั้นอาจารย์แต่งตัวเปรี้ยวมาก เป็นผู้หญิง ปราดเปรียว อีกทั้ง เข้ากับเด็กๆที่อยู่ใน คลับได้เป็นอย่างดี อายุท่านตอนนั้นประมาณ ๓๐ เศษๆ เด็กในคลับเรียกท่านว่า "พี่" ทุกคน

หลังจากนั้น ต่างคนต่างแยกไปทำงานของตัวเอง ได้เจอกันบ้างตามงานต่างๆ จนกระทั่ง อาตมาบวช แล้วตั้ง มูลนิธิธรรมสันติ อาจารย์องุ่น เป็นคนแรกที่มาบริจาคเงินสมทบก่อตั้งมูลนิธิ จำนวน ๑,๕๐๐ บาท

เท่าที่รู้จักกันมา อาจารย์องุ่นเป็นคนมีน้ำใจ อุทิศตนเพื่อสังคม ตามภูมิปัญญา และความสามารถที่มี โดยเฉพาะ ด้านเยาวชน อาจารย์จะ อุทิศให้กับตรงนี้มาก

ถ้าสังคมมีคนอย่างอาจารย์องุ่นมากๆคงดี แต่ในทุกวันนี้หายากมาก เพราะคนที่ทำดี ก็หวังลาภ ยศ สรรเสริญทั้งนั้น แต่อาจารย์องุ่น ไม่หลงอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญเหล่านี้เลย.....

๒๑ มิ.ย.๔๖ ที่บ้านอ.องุ่น มูลนิธิไชยวนา ก่อนพ่อท่านแสดงธรรม มีเพียงคุณรัษฎา ที่เป็นตัวแทน ของมูลนิธิฯ คนเดียว นอกนั้นเป็นคนขายของ และพนักงานร้านอาหารข้างๆ อีกประมาณ ๘ คน นี่ถ้าไม่มีสมณะ สิกขมาตุ และ ญาติธรรมกว่า ๓๐ คน ไปร่วมงานก็คงจะมีเพียง คุณรัษฎาคนเดียว ที่ถือเป็นผู้มาร่วมเป็นเกียรติในงานนี้

ก่อนมาร่วมงานข้าพเจ้าได้ติดต่อสอบถามถึงสถานที่....การบันทึกภาพและเสียง อีกทั้งจำนวนผู้ที่ ทางมูลนิธิฯ เชิญมาร่วมงาน จะมีประมาณ เท่าใด? ได้รับคำตอบจากคุณสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ซึ่งทำหน้าที่ติดต่อ ประสาน การจัดงานนี้ ของมูลนิธิฯ แจ้งว่า ได้ส่งหนังสือเชิญ ประมาณ ๔๐ คนขึ้นไป

ตอนแรกข้าพเจ้าคิดว่าจะไม่ประกาศชวนญาติธรรมไปร่วมงานนี้ เพราะพวกเรามีงานเยอะอยู่แล้ว อีกทั้งเกรงว่า ถ้าเราไปกันมากๆ มันจะไปกลืนเขา และที่สำคัญสถานที่แสดงธรรมเป็นที่บ้าน อ.องุ่น แค่แขกที่ทางมูลนิธิฯ เชิญมาก็แน่นแล้ว จึงคิดไว้ว่าจะบอกญาติธรรมสัก ๖-๗ คนก็พอ แต่พ่อท่านเห็นว่า ควรไปกันพอสมควร คำว่าพอสมควร ในที่นี้คงจะประมาณ ๑๐-๒๐ คนกระมัง เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่ประกาศ แล้วจะได้คนประมาณนี้

เมื่อประกาศตอนแรกมีมาแจ้งจะมาร่วมไม่ถึง ๑๐ คน ประกาศย้ำอีก ๒ ครั้ง จึงมีผู้สละเวลาพักงานตน มาเพิ่มเป็นกว่า ๓๐ คน หลายคน คงเสียดายเวลา ที่ต้องหยุดพักงานช่วงนี้ แต่เมื่อพอปลีกเวลาได้ ก็จึงมากันทั้งๆ ที่ไม่รู้จัก อ.องุ่น และไม่อยากเดินทาง

....อันที่จริงการมาร่วมงานอย่างนี้ก็เป็นการแสดงธรรมอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะกายธรรมเป็นสำคัญ การสงบเย็น.... อ่อนน้อม.... มักน้อย สันโดษ.... อาการกิริยาที่พวกเราได้ฝึกกันมาจนเป็นปกติชีวิต....ความเป็นกลุ่ม สังคมบุญนิยม เหล่านี้เป็นกายธรรม ที่เป็นตัวอย่างความจริง รองรับสิ่งที่พ่อท่านเทศน์อธิบายได้อย่างดี ถ้าคิดว่ามา คงไม่ได้ฟังอะไรใหม่ๆหรอก ก็ควรจะคิดใหม่ว่า มาเพื่อเป็นอุปกรณ์การสอนให้ พ่อท่านก็ได

การเทศน์ในวันนั้นพ่อท่านใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงกว่าแค่นั้น แต่ก็มีสาระใหม่ ที่พ่อท่านไม่เคยกล่าวเช่นนี้ ในที่ไหนๆ มาก่อนเลย จากบาง ส่วนที่น่าสนใจดังนี้

"....วันนี้เป็นงาน ตามความนิยมของชุมชนหรือของมนุษย์ชาติ เป็นวันที่เราสมมุติขึ้น เพื่อชุมนุมกัน ในเรื่องนั้น เรื่องนี้ โดยยกเหตุขึ้น มาชุมนุมมาพบปะกัน มีอะไรที่จะพึงแสดงให้ปรากฏ เพื่อที่จะรับกันไป เป็นประโยชน์คุณค่า แก่การได้รับนั้น

ตั้งแต่มาชุมนุมกันแล้วได้รับความเพลิดเพลินสนุกสนาน มีการละเล่น หรือมาพบกัน ได้สังสรรค์ ได้บอกระบายทุกข์ ให้แก่กันและกัน ก็เป็น การทำให้คนเรานี่ดีขึ้น จนกระทั่งมาชุมนุมกันแล้ว ได้เกิดสาระถึงขั้นสารคดี เป็นเรื่องของสาระโดยตรง มาถ่ายทอดความรู้กัน ด้วยวิธีการต่างๆ ก็เป็นวิธีการของมนุษย์ ที่เราได้กระทำกันขึ้นมา แล้วแต่ใครจะฉลาด จัดตั้งองค์ประกอบต่างๆให้มันน่าสนใจ ถ้ามีความรู้เชิงศิลปะก็ จะจัดองค์ประกอบศิลป์ ในการจัดงานให้มี "สุนทรียศิลป์"บ้าง ซึ่งเป็นองค์ประกอบ สำคัญของงานศิลป์ แต่ถ้าจะนับว่า งานใดเป็นศิลปะ มันต้องมี"สารศิลป์"เป็นเนื้อหาหลัก มีความเป็นสาระแก่นสารในศิลปะนั้นๆ มีแต่"สุนทรียศิลป์" โดยไม่มี "สารศิลป์" จะนับว่า เป็นงาน ศิลปะ ไม่ได้ แต่ถ้ามีแต่"สาระ" จนไม่มี"สุนทรีย์" ก็ไม่นับว่า เป็นงานศิลป์ เช่นกัน เพราะนั่นเป็น สารคดีแท้ๆ

บางงานเขาจะประกอบขึ้นด้วยสุนทรีย์เสียจนหาสาระไม่ได้เลย จะพอกไปด้วยแสงสีเสียง ระเบิง ระบำที่มันชี้ชวนกัน ด้วยเรื่อง ของกาม คุณ ๕ จะปรุงแต่งให้แปลกให้ใหม่เขาก็ทำกัน

แต่งานที่เป็นสารคดีโดยตรง ไม่ค่อยจะคำนึงถึงลักษณะของเปลือกที่เป็นสุนทรีย์อะไรเลย ถ้าเผื่อว่าเข้าใจกัน และก็มีปริมาณคนมากพอที่ จะรับกันได้ ก็ไม่ต้องใช้สุนทรีย์อะไร สังคมก็จะเกิดการเป็นอยู่อย่างนี้แหละ มีความเฉลียวฉลาด ที่จะสร้างอะไรๆขึ้นมา ให้เกิดประโยชน์ คุณค่า เกิดการเป็นอยู่ที่สัมพันธ์กัน ระลึกถึงกัน รักกัน เคารพกัน เกื้อกูลกัน อยู่กันอย่างสมานสามัคคี ไม่วิวาทกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องของมนุษย ชาติที่ควรจะเป็น เรามางานวันนี้ ก็มีการรำลึกถึงอาจารย์องุ่น.... (แล้วพ่อท่านบอกเล่าความเป็นมาที่ได้รู้จัก จนกระทั่งวาระสุดท้ายของ อ.องุ่น.... ข้าพเจ้าขอข้ามผ่าน ด้วยพ่อท่านได้เขียนคำรำลึก ดังที่ได้ถ่ายทอดแล้วข้างต้นนี้)

ความรักคือ การช่วยเหลือ การเกื้อกูล คือเมตตา คือความต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ นี้เป็นความรักชั้นสูง ส่วนความรักชั้นต่ำ ก็จะเป็นความ เห็นแก่ตัว ต้องการอะไรมาให้แก่ตนเอง เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้ช่วยเหลือคน ยิ่งมากยิ่งดี ยิ่งมีคุณค่ามาก ช่วยเหลืออะไร? ก็ช่วยเหลือตั้งแต่ วัตถุ....แรงงาน....จิตใจ

คนเราวันเวลาเท่ากันทุกคน คนไหนที่มีกิเลสเขาก็เอาเวลาไปหาเงินหรือไประเริงสุข ไปให้สิ่งเหล่านั้น สำคัญกว่า เวลาที่จะไปเสียสละ หรือ ไปสร้างความสัมพันธ์อย่างที่กล่าวนี้น้อย

แต่ก็ยังมีสังคมที่....เมื่อใดเกิดการเห็นควรว่า งานอย่างนี้ควรจะมากันหรือไม่แค่ใด คนนั้นก็จะพยายามทำกัน แม้จะไม่เต็มใจ ถ้าเห็นว่า มันดีก็พยายามกัน ทั้งๆที่ใจไม่อยากจะไปหรอก ไม่ได้มีการระลึกถึง ไม่ได้มีน้ำใจ อะไรเลย ก็มาบ้าง เป็นมายาศาสตร์ มายาธรรม ธรรมดา แต่ก็ยังดี เป็นพฤติกรรมในสังคมที่ดูดี น่าเห็นใจคนทุกวันนี้ งานมันเยอะ จะต้องเลี้ยงชีพ จะต้องหาเงิน คนจึงมีเวลาน้อยลงที่จะมามีสังคม สัมพันธ์ที่บริสุทธิ์ใจ สมัยนี้สังคมสัมพันธ์ จึงเป็นไปเพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเป็นตัวเหตุปัจจัยที่สำคัญ จึงหาสังคมสัมพันธ์ที่จะ เป็นไปด้วยจิตวิญญาณแท้ ด้วยคุณธรรมที่จริง ก็ยาก สังคมมันจะเป็นเช่นนี้ไปอีกเรื่อยๆ ฉะนั้นใครทำได้.... ทำ ใครทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องทำ ฝืนใจทำทุกข์เปล่าๆ แต่ถ้าทำได้ก็ดี แล้วมันก็ต้องทำ ไม่ว่ายังไงๆ โลกมันจะร้อนแรง กิเลสมากกว่านี้ก็ตาม มันก็ต้องทำ ในส่วนที่ดี ไม่เช่นนั้นก็ยิ่งจะแย่

การจัดงานอย่างนี้ ถ้าผู้ใดมีสิ่งที่ผู้อื่นเขาจะได้ประโยชน์ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ได้โลกียสุข คนก็กรูเกรียว พออำนาจ ราชศักดิ์อะไรต่างๆ นานา มันลดลง คนก็มาน้อยลงเป็นธรรมดา ส่วนพวกเรานั้น เราไม่ได้ทำสังคมสัมพันธ์ ด้วยลักษณะ เอาลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเป็น ตัวตั้ง งานของเราก็เลยไม่เหมือนเขา มาในงานอย่างนี้ ก็มาด้วยความระลึกถึง มีสาราณียธรรมจริงๆ

ขออนุโมทนาน้ำใจแต่ละท่านที่มาในงานครั้งนี้ ด้วยน้ำใจที่จะแสดงออก เพื่อรักษาสภาพพฤติกรรม ที่ดีงาม เอาไว้ให้แก่โลก

สำหรับวันนี้อาตมาได้แสดงธรรมอันเหมาะสมกับงาน เหมาะสมกับเหตุการณ์ แม้จะเทศน์ ไม่ได้เป็นธรรมะที่ลึก ไม่ได้เป็นธรรมะ ชั้นอาริยธรรม แต่ก็เป็นธรรมะในระดับสังคมมนุษยชาติ ที่จะต้องเข้าใจดีๆ ก็ขอให้ทุกคน ไปทำหน้าที่ของตน ทำพฤติกรรมของตน ให้เป็นคุณค่า ประโยชน์ต่อตนต่อสังคมให้ได้ถ้วนทั่วกัน ทุกคนเทอญ"


ร่วมเสวนา...สภาพการณ์ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ(มาตรา ๗๑-๗๔)

๑๙ มิ.ย.๔๖ พ่อท่านได้รับโทรศัพท์จากคุณอรพิน เนตรจำปา สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ นิมนต์ให้ไปร่วมแสดง ความคิดเห็น กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๑-๗๔ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนา ข้าพเจ้าได้รับคำบอกเล่า ต่อจากพ่อท่านมาแค่นั้น แล้วก็สร้างจินตนาการเอาเองว่า คงเป็นห้องประชุมใหญ่ ที่มีคนร่วมประชุมกันมาก ด้วยเป็นงานระดับประเทศ

๒๐ มิ.ย.๔๖ ได้รับโทรศัพท์จากคุณวิสุทธิ์ เจตสันติ์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ และที่ปรึกษาฯ คณะทำงาน สังเคราะห์ยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นผู้นำในการเสวนาครั้งนี้ คุณวิสุทธิ์ถามถึงการเดินทาง ไปร่วมเสวนา ในวันนี้ของพ่อท่าน และบอกเล่าให้ทราบถึงข้อกฎหมาย และขั้นตอนที่จะเสวนา และได้ส่งโทรสาร ข้อกฎหมาย และตัวอย่างที่ได้เสวนาบ้างแล้วมาให้ดูเพื่อทำความเข้าใจ ล่วงหน้า พ่อท่านดูเพียงผ่านๆ แล้วก็เอาเวลาไปทำงานต่อ เหมือนไม่มีกังวลอะไร?

เมื่อเดินทางไปถึงสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชั้นที่ ๒๗ อาคาร พญาไทพลาซ่า ทราบว่า เป็นการเช่าสถานที่ มีห้องทำงานกว้างขวางหลายห้อง แต่เจ้าหน้าที่มีอยู่ไม่กี่คน สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ก็มีเพียงคุณวิสุทธิ์เท่านั้น ที่ร่วมเสวนาในครั้งนี้ คุณอรพิน ที่ติดต่อนิมนต์พ่อท่านก็ไม่ได้มา รู้สึกผิดคาดมากยิ่งขึ้น เมื่อเริ่มการเสวนามีผู้มาร่วมเสวนา ๘ ท่าน รวมทั้งคุณวิสุทธิ์ ที่ทำหน้าที่ดำเนินรายการ ถ้านับรวมปัจฉาฯ ๒ รูป คุณแซมดิน ที่ข้าพเจ้าชวนไปสังเกตการณ์ เผื่อมีข้อมูลบางอย่าง ที่จะช่วยเสริมได้ คุณไฟงานที่ไปช่วย บันทึกภาพ และคุณแดนดิน ที่ช่วยขับรถ รวมเจ้าหน้าที่อีก ๓ คน ทั้งหมดในห้องประชุมมี ๑๖ คน

ที่นับว่าแปลกมากยิ่งขึ้นก็คือเครื่องบันทึกเสียงมีเพียงเท็ปคลาสเซ็ทเล็กๆธรรมดา ขณะที่ไมโครโฟนดีเยี่ยม เมื่อไฟฟ้า เกิดดับไปพักใหญ่ คุณวิสุทธิ์บอกขอให้ทางสันติอโศก ช่วยส่งเท็ปที่บันทึกเสียงทั้งหมด มาให้ในภายหลังด้วย อีกทั้งขอให้ ช่วยถอดเท็ป การเสวนาบางส่วนให้ ด้วยเข้าใจว่า ทางสันติอโศกจะพร้อม และมีคนทำงานมากกว่า เรื่องเท็ปไม่ใช่เรื่องยาก ที่จะส่งมาให้เร็วได้ แต่ถอดเท็ปนี่ซิ ไม่ใช่จะถอดได้เร็ว และคนช่วยงานถอดเท็ป ก็หายาก แค่ที่มีงานให้ถอด ก็จะไม่ทันอยู่แล้ว สถานการณ์ขณะนั้น ทำให้ข้าพเจ้าต้องรับ พร้อมกับแจ้งให้ทราบ ไว้ก่อนว่า คำถอดเท็ป คงต้องใช้เวลา เขาจะได้ไม่คาดหวังจากเรามากเกินไป

๑๓.๔๗ น. เริ่มการเสวนาโดยคุณวิสุทธิ์ได้กล่าวแนะนำผู้ร่วมการเสวนา..ข้อกฎหมายและขั้นตอน การเสวนาครั้งนี้ นอกจาก พ่อท่านแล้ว มีพระ ดร.มหาต่วน สิริธัมโม อดีตรองอธิการบดี ม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระวินัย สิริธโร ประธานชมรมศิษย์พุทธ ทาส พล.ต.ต.วีรศักดิ์ ไกรสิทธิ องค์กรคนรากแก้วอุบลฯ นายสมพงษ์ ศรีสุขวัฒนานันท์ นักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และนายภาณุพล สนใจ ชมรมศิษย์พุทธทาส

เพื่อความเข้าใจเล็กน้อยขอนำคำแนะนำของคุณวิสุทธิ์มาถ่ายทอดดังนี้.....เป้าหมายเราก็คือ เราจะได้มุมมอง สภาพการณ์ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๑-๗๔ ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่รายงานให้เรารู้ เรามีหน้าที่ดูตาม ว่าจริงอย่างนั้นหรือเปล่า โดยเฉพาะมาตรา ๗๐-๘๙ รัฐธรรม นูญเรียกว่า หมวดนโยบายพื้นฐานงานแห่งรัฐ ซึ่งรัฐบาล ทุกรัฐบาล จะต้องทำและต้องรายงานให้สภาฯ ทราบทุกๆปี ว่าทำได้ถึงไหน และ ทำไมถึงทำไม่ได้ เราจะดูที่เหตุ ก็ได้จะดูที่ผลก็ได้ เพื่อให้นำมาซึ่งมุมมองว่า ตัวที่จะวัดผลควรจะเป็นอย่างไร ตัวอย่างจากเอกสาร ที่ท่านมีอยู่ มาตรา ๘๒ รวบรวมมุมมอง สุขภาพคนไทยเทียบกับนานาชาติ เช่นระดับความรู้ของประชาชน ในเรื่องการดูแลตนเอง ให้จัดว่า สุขภาพที่ดี เป้าหมายวัดที่กลุ่มอาชีพที่ไม่เข้มแข็งในสังคม เช่น คนงานก่อสร้าง เกษตรกร ใช่ไหมครับ ถ้ามีข้อมูล เราก็จะได้ดูตามไป หรือ การดูอายุเฉลี่ยที่ตาย และอายุที่มีสุขภาพดีสมบูรณ์ คนไทยอายุเฉลี่ย ๗๕ ญี่ปุ่น ๘๕ เราแพ้เขาอยู่ ๑๐ ปี สุขภาพสมบูรณ์ไทย ๖๐ แต่ว่า เราเจ็บออดๆแอดๆ ๑๕ ปี ญี่ปุ่นสมบูรณ์ที่ ๘๐ เขาเจ็บออดๆ แอดๆเพียง ๕ ปี เขาอายุยืนกว่ามีสุขภาพสมบูรณ์มากกว่าเรา เราก็วัดตาม ดูได้ จึงเอาหลักการนี้ มาใช้ดูมาตรา ๗๑-๗๔.... มาตรา ๗๑ รัฐต้องพิทักษ์ไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราชและบูรณภาพ แห่งอาณาเขต

มาตรา ๗๒ รัฐต้องจัดให้มีกำลังทหารไว้เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และ การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ

มาตรา ๗๓ รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดี และความสมานฉันท์ ระหว่าง ศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุน การนำหลักธรรม ของศาสนามา ใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิต

มาตรา ๗๔ รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธ์ไมตรีกับนานาประเทศ และพึงถือหลักในการปฏิบัติต่อกัน อย่างเสมอภาค

พ่อท่านขอแสดงความเห็นก่อนใคร เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าคาดไม่ถึง ถ้าเป็นข้าพเจ้า ก็ยังงงๆ ไม่รู้จะพูดอะไร ยังไม่ทันได้คิด ทำความเข้าใจ กับมาตราทั้ง ๔ นั้นเลย เหมือนพ่อท่านมีสิ่งที่จะพูดอยู่แล้ว....

พ่อท่าน : นอกจากมาตรา ๗๓ แล้ว จะพูดก็ได้ แต่ว่าไม่ค่อยชัดในตัวเองว่าจะพูดกันรู้เรื่องไหม กับผู้ที่ยังไม่เคย สังสรรค์เป็นพิธี ก็ขอพูด ในมาตรา ๗๓ ก่อนก็แล้วกัน ที่บอกว่าอุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ของรัฐบาล เขาทำมายังไงแค่ไหน มองในแง่ของ อาตมาแล้ว รัฐไม่ได้คำนึงถึงศาสนาเลย มีแต่ไปคำนึงถึงเศรษฐกิจ คำนึงถึงกีฬาการละเล่นอะไรไปโน่น แต่เรื่องศาสนา ซึ่งเป็นหัวใจของ มนุษยชาติ ทำให้สังคม อยู่เย็นเป็นสุข แทบจะใช้คำว่าไม่ได้มองหรือชายตามาเลย

เรื่องศาสนาไม่ใช่เรื่องที่จะต้องใช้เงินลงทุนอะไรมากนัก เพียงแต่เปิดโอกาสหรืออำนวยความสะดวก ให้ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ ทางการศาสนาได้ทำงานกับประชาชน ซึ่งเป็นงานที่ลงทุนน้อย แต่จะได้ประโยชน์ที่สูง ในมนุษยชาติ รัฐไปมองแต่ด้านวัตถุ....เรื่องเศรษฐกิจ... .เรื่องการบริโภค....เรื่องอาชญากรรม....ยาบ้า ซึ่งมันเป็นเรื่อง ปลายเหตุทั้งนั้น

ต้นเหตุคือเรื่องจิตใจ น่าจะมาตระหนักเรื่องนี้ให้มากๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่า....มโน ปุพพัง คมา ธัมมา มโนเสฎฐา มโนมยา จิตวิญญาณเนี่ย เป็นประธาน ทุกอย่างจะเจริญงอกงามจะมีผลสำเร็จอะไรก็แล้วแต่ มันคลุมหมดแล้ว ประโยคนี้ มันน่าจะเตือนสติว่า จะทำอย่างไรจึงจะพัฒนา จิตวิญญาณมนุษย์ ศาสนาทุกศาสนา ก็พัฒนาทางจิตวิญญาณทั้งนั้น แต่ของพุทธมีความลึกซึ้ง จิตวิญญาณจะให้ยอดเยี่ยมอย่าง พระเจ้าก็ได้ ถึงที่สุดจิตวิญญาณอนัตตา สุดท้าย ไม่เหลืออัตตภาพเลย สูญละลาย หรือว่าปลดปล่อย ไม่ให้เหลืออัตตาใด อีกเลยก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่ง ที่ยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งทุกอย่างหมดแล้ว และก็มีวิธีทำสำเร็จ ที่จะเอามาใช้ มาปฏิบัติให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงจากละชั่ว ประพฤติดี ศาสนาพุทธเราก็มีด้วย ไม่เท่านั้น ต้องรู้แจ้งได้ถึงจิต เจตสิก รูป นิพพาน มโนปุพพังฯ ประธานใหญ่คือจิต กิเลสมันอยู่ที่จิต ภาษาของ ศาสนาอื่นเรียกผีร้ายซาตาน มันอยู่ที่จิต พระพุทธเจ้าบอกกิเลสนั่นไม่ใช่จิต มันเป็นอาคันตุกะเป็นแขกเท่านั้น ท่านพุทธทาสเรียกว่า แขกจร อาตมาว่า ไม่ใช่แขกจร มันเป็นแขกประจำทีเดียว ไอ้เจ้านี่มันเกาะกุมจิต ยึดเป็นเจ้าเรือนของจิตวิญญาณ

ศาสนาอื่นไม่เรียนรู้ซาตาน แต่ศาสนาพุทธเรียนรู้ซาตานผีมารต่างๆ เรียนรู้จิตวิญญาณ ด้วยพลังงาน ที่มันเลวร้าย แล้วประหารจนสิ้น ทำ จิตวิญญาณให้เป็นตัวเหตุให้ได้ ให้มั่นคง แข็งแรงยั่งยืน อันนี้แหละ เป็นความต้องการ ของประเทศชาติ

ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญในเรื่องนี้จริง ปัญหาเรื่องยาบ้า เรื่องการพนัน อาชญากรรม เรื่องอะไรต่างๆ นานา อาตมาว่ามัน by product (ผลพลอยได้) ถ้ารัฐเห็นจริงอย่างนี้แล้วช่วยกัน อาตมาว่าจะมีผลทันตา ก็ขออภัย ถ้าอาตมาจะยกตัวอย่าง ที่อาตมาทำงานมา ๓๐ กว่าปี โดยเอาศาสนาเป็นหลัก จนเกิดกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า ชาวอโศก อาตมามั่นใจว่า อาตมาเอาทฤษฎีของพระพุทธเจ้ามาใช้ และคนก็เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เพราะชุมชนชาวอโศก เราไม่มีอบายมุข นี้เป็นดัชนีชี้ผล ยืนยันตรวจสอบได้ เรามีชุมชนใหญ่ๆประมาณ ๑๐ ย่อยๆก็ หลายสิบ ทุกคนในชุมชน เป็นคนมีศีล มีจรณะ ๑๕ สำรวมอินทรีย์ โภชเนมัตตัญญุตา ควบคุมในการกินการใช้ เป็นผู้ตื่นจากโลกีย์ หลุดออก จากโลกีย์ ตั้งแต่โลกอบายหยาบๆต่ำๆ ลาภ ยศ สรรเสริญอะไรก็ค่อยๆลดกันมา

ชุมชนอาตมาบางคนเงินเดือน ๒,๐๐๐ บาท มาตั้ง ๑๕-๑๖ ปีที่แล้ว เดี๋ยวนี้ก็เงินเดือน ๒,๐๐๐ บาท ทั้งๆที่ค่าเงินบาท แต่ก่อนนี้ ๒๕ บาท ต่อ ๑ ดอลล์ เดี๋ยวนี้ดอลล์ละ ๔๐ กว่า เงินเดือน ๒,๐๐๐ บาทนี่เขาก็อยู่ของเขา ได้สบาย บางบริษัท ตอนแรก ตั้งต้นเงินเดือน ๓,๐๐๐ บาท เดี๋ยวนี้กิจการเจริญขึ้น มีที่อยู่ที่ทำงานดีขึ้น เป็นเรื่องประหลาด เมื่อวัตถุเจริญขึ้น จิตใจก็เจริญขึ้นตาม เขาก็ลด อัปปิจฉะ สันตุฏฐิ มักน้อย สันโดษ เขาก็ลดเงินเดือนลงจาก ๓,๐๐๐ บาท มาเหลือ ๒,๐๐๐ บาท ไม่ใช่กระทำอวดด้วย เขาทำกันจริงๆ บางคนก็ ๒,๕๐๐ บาทแล้ว แต่ เขาเต็มใจลดกันเอง แล้วเขาก็อยู่ได้ดี เพราะว่าเรามีสวัสดิการของเรา ที่พักที่กินมีอยู่ นี่อาตมาหยิบเอาของจริงมายืนยัน เพื่อที่จะให้ เห็นว่าแม้ยุคนี้ อกาลิโก ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็พิสูจน์ได้ นี่เป็นประสิทธิภาพของศาสนา เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไร ถึงจะให้รัฐตระ หนักเรื่องนี้ แล้วมารณรงค์ทางด้านจิตวิญญาณ ทางด้านศาสนานี้ดู....

ข้างต้นนี้เป็นบางส่วนที่พ่อท่านกล่าว จากนั้นพระวินัย พระ ดร.มหาต่วน และคนอื่นๆ ก็ได้แสดงความเห็นกันไป ตามภูมิของแต่ละท่าน อย่างพระ ดร.มหาต่วนได้แสดงความเห็นทั้ง ๔ มาตรา โดยมีเกร็ดความรู้ จากประสบการณ์ มาประกอบ ที่กล่าวชื่นชมมาบ้างก็มีพระวินัย เมื่อพูดถึงศาสนาเป็นหลักนำจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นในตัว อย่างอาจารย์โพธิรักษ์ ทำชุมชน ยังดีที่มีชุมชนตัวอย่างให้เห็น ถ้าจะชี้วัดในองค์กรของประชาชน จะมีอะไรชี้วัด ไปสันติอโศก สามารถชี้วัดได้เลยชุมชนของท่าน ปลอดอบายมุข..

คุณภาณุพล ศิษย์สวนโมกข์ก็ได้กล่าวย้ำสิ่งสำคัญมาจากประชาชนขาดสัมมาทิฐิ และเมื่อพูดถึงร.ร. พุทธศาสนา วันอาทิตย์... ถ้าจะทำให้ได้ เป็นรูปธรรมจริงๆ ก็ต้องทำอย่างหลวงพ่อโพธิรักษ์ และร.ร.ของอาจารย์นิคม ซึ่งนักเรียน ไม่เคยตีกันเลย ตลอด ๒๐ ปีมานี้ ตอนเช้าให้ สวดมนต์ แล้วต้องเรียนธรรมศึกษาตรี ครูต้องได้ธรรมศึกษาเอก

ที่คาดไม่ถึงว่าจะได้มาเจอกันก็คือคุณวิวัฒน์หรือพลังเพชร ลีลาสุ้มเสียง และการเดินเรื่องที่พูด ชวนติดตาม แถมยกย่องพ่อท่าน เป็นระยะๆ ก่อนกลับก็ยังมากราบลากับพื้นอย่างอโศกเป๊ะ

จากนั้นให้วิทยากรแต่ละท่านเขียนแสดงดัชนีชี้วัดผลในแต่ละมาตราที่ได้แสดงความเห็น กันมาแล้วว่า ควรเป็นอย่างไร เนื่องจากใช้เวลา ยาวนานกว่า ๔ ชม.แล้ว ทำให้พระ ดร.มหาต่วน และคุณวิวัฒน์ ขอตัวไปก่อนด้วยมีนัด แล้วจะส่งมาให้ในภายหลัง พ่อท่านมีเวลาอยู่ร่วม และเขียนส่งให้ เป็นท่านสุดท้าย จากที่พ่อท่านได้เขียน แสดงความเห็นดังนี้

ดัชนีวัดผล มาตรา ๗๓
พฤติกรรมของประชาชน ที่สามารถรู้เห็นเป็นรูปธรรม
- มีอบายมุข มากหรือน้อย
- มีความฟุ้งเฟ้อ มากหรือน้อย
- มีอาชญากรรม มากหรือน้อย
- มีความรุนแรง มากหรือน้อย
- มีการทะเลาะวิวาท มากหรือน้อย
- มีการทุจริตคอรัปชั่น มากหรือน้อย
- มีการเผื่อแผ่เอื้อเฟื้อเจือจานหรือแก่งแย่ง
- คดโกง
- ละเมิดกฎหมาย
- ยิ่งฉลาดยิ่งใช้เชิงชั้นให้ตนและพรรคพวกได้เปรียบ
- สำส่อนทางเพศมากขึ้นหรือน้อยลง
- มีความรู้ทางศิลปะซึ่งเป็นมงคลอันอุดม หรือไม่มีความรู้ทางศิลปะก่ออนาจารซึ่งเป็นข้าศึก แก่กุศลยิ่งๆขึ้น
- โกหกมดเท็จ มากขึ้นหรือน้อยลง
- ส่อเสียด พูดหรือสื่อสารกันให้ทะเลาะวิวาท ทำให้สังคมไม่สงบยิ่งขึ้น
- พูดจาภาษาดี ไพเราะ มีศิลปะยิ่งขึ้นหรือหยาบคาย บาดหู โสกโดก ส่อต่ำยิ่งๆขึ้น
- พูดจาไร้สาระ เพ้อเจ้อ สูญเปล่า ยิ่งขึ้นหรือน้อยลง
- สิ่งมอมเมา มากขึ้นหรือน้อยลง
- สิ่งไร้สาระยั่วยุให้หลงเสพหลงติด มากขึ้นหรือน้อยลง
- การพนัน มากขึ้นหรือน้อยลง
- หลงกีฬาการละเล่น มากขึ้นหรือน้อยลง
- คนสำมะเลเทเมา มากขึ้นหรือน้อยลง
- คนขยันแต่ทำงานจนเกินยิ่งๆขึ้น ไม่รู้จักหยุดหรือพอเหมาะพอดี
- คนขี้เกียจ มากขึ้นหรือน้อยลง
- ความต่างกันระหว่างคนจนกับคนรวยน้อยลงหรือยิ่งมากยิ่งขึ้น

ขออภัยที่ต้องข้ามผ่านการแสดงความคิดเห็นของท่านอื่นๆเพื่อบันทึกนี้จะได้ไม่ยาวเกินไป

นับเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ได้มาเรียนรู้การเสวนาระดับประเทศอย่างนี้ เข้าใจว่าคงจัดการเสวนากลุ่มย่อยๆอย่างนี้หลายๆกลุ่ม แล้วนำ ความเห็นต่างๆมาเรียบเรียง ก่อนนำเสนอต่อรัฐบาล

๑๓ ส.ค.๔๖ ที่ราชธานีอโศก ได้รับโทรสารและโทรศัพท์จากคุณวิสุทธิ์ ขออนุญาตนำเอาที่ได้ถอดเท็ปนั้นเรียบเรียงพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ "๓ หลวงพ่อกับหลักคิด ให้สภาที่ปรึกษา" และ จากการได้อ่านหนังสือ.... พุทธเทวนิยมหรือพุทธอเทวนิยม ทำให้ได้ดัชนีชี้วัด เพิ่มเติมที่ สำคัญ จึงขออนุญาต นำไปอ้าง ลงในหนังสือ ที่จะพิมพ์เพิ่มเข้าไป เรื่องดูการสนับสนุนพุทธศาสนา ควรดูที่ผลคือชาวพุทธ มีความเป็นพุทธ คือมีศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุติ (ความหลุดพ้นจากทุกข์ จากทาสของกิเลส) ไม่ใช่ ผลเพียงคนเอาคำว่า "พุทธ" แปะไว้ที่ ตนเองเท่านั้น นอกเหนือจากดูเรื่องเศรษฐกิจ

พ่อท่านไม่ขัดข้อง "......ไม่เป็นไร เอาได้เลย ตรงไหนที่คิดว่าเป็นประโยชน์จะเอาไปใช้ก็ได้เลย"


"ศาสนากับการปราบปรามอิทธิพล" ในรายการ"มองทะลุกรอบ" ไททีวี

๒๔ มิ.ย.๔๖ ที่สันติอโศก คณะถ่ายทำรายการ "มองทะลุกรอบ" ไททีวี ได้มาใช้สถานที่ เพื่อถ่ายทำรายการ โดยนิมนต์ พ่อท่าน พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ คุณอับดุลลอฮ์ มานะจิตต์ คุณนพดล คำทวี และคุณวัชระ เพ็ชรทอง ร่วมแสดง ความคิดเห็นด้วย คุณอุสมา ลูกหยี ทำหน้าที่ดำเนินรายการ ตั้งประเด็นการสนทนาว่า "ศาสนากับการปราบปรามอิทธิพล"

พ่อท่านร่วมรายการได้ช่วงหนึ่ง แล้วขอตัวเพื่อไปร่วมประชุมสะสางปัญหาภายใน กรณีไม้กฤษณา นี่ก็เป็นเกร็ดเล็กๆ ที่บอกความจริงให้ รู้ว่า พ่อท่าน....เน้นเนื้อให้เหนือกว่ามาก เน้นแก่นให้แน่นกว่ากว้าง จริงตามปรัชญาที่ให้ไว้ แทนที่ จะหลงการแสดง ความรู้ความเห็นผ่าน สื่อโทรทัศน์เพื่อเผยแพร่ธรรมในสังคมวงกว้าง กลับใช้เวลามารับฟัง พูดคุยกับคนใน ที่มีศรัทธาอยู่แล้วไม่ถึง ๑๐ คน ทั้งๆที่ถ้าจะเลื่อนการประชุมภายใน เป็นหลังการถ่ายทำรายการฯ ก็ได้ แต่พ่อท่าน ก็คำนึงถึงเวลาของพวกเรา ที่หลายคนต้องเดินทาง กลับต่างจังหวัดเป็นสำคัญ กว่าเวลาของการถ่ายทำ รายการฯ

ส่วนการถ่ายทำรายการฯช่วงต่อมา สมณะบินบน ถิรจิตโต ซึ่งมาแวะที่สันติอโศกพอดี เป็นผู้ร่วมรายการฯ แทน

เพื่อมิให้บันทึกนี้ยาวเกินไป จึงขอนำเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการแสดงความเห็นของพ่อท่าน บางส่วน มาถ่ายทอด ดังนี้ (สำหรับผู้สนใจ รายการทั้งหมดติดต่อได้ที่ฝ่ายธรรมโสต)

อุสมา :....ท่านแรกที่ใคร่จะแนะนำให้ท่านผู้ชมรู้จักในวันนี้ ก็เป็นที่รู้จักกันดี ท่านเป็นสมณะ ที่มีชื่อเสียง เป็นนักต่อสู้ เป็นนักคิดนะครับ มาคู่สังคมไทยเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ก็คือพ่อท่านโพธิรักษ์

วิทยากรท่านถัดมา อดีตท่านเป็นฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านก็คือ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ

สำหรับท่านที่ ๓ ท่านเป็นนักคิดนักวิชาการของฝ่ายมุสลิม ท่านเป็นประธานมูลนิธิส่งเสริม การศึกษาอิสลาม และการพัฒนา คือท่าน อาจารย์อดุลย์ มานะจิตต์

ท่านสุดท้าย ท่านเป็นคณะทำงานรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คือท่านนพดล คำทวีครับ (คุณวัชระ เพชรทอง อดีตผู้นำนักศึกษาได้มา ร่วมในภายหลัง)

.....พ่อท่านครับจากการที่รัฐได้ให้ความสำคัญในการปราบปรามอิทธิพล อย่างเข้มแข็ง ในมุมมอง ของพ่อท่านแล้ว นี่นะครับ ทำไมสังคม ไทยจึงมีอิทธิพลเกิดขึ้นมาได้

พ่อท่าน : ตอบกำปั้นทุบดินก่อนเลยก็ได้ ถามว่าทำไมจึงมีอิทธิพลขึ้นมาได้ ก็เพราะมันไม่ลดกิเลสในใจ ของตัวคน อย่างถูกต้อง เมื่อไม่ลด กิเลส คนก็ถูกกิเลสนั่นแหละบังคับให้สร้างอิทธิพล สร้างความเลวความชั่ว สร้างความหยาบคายรุนแรง

ตีตื้นเข้าไปเลยนะ ศาสนาไม่มีอิทธิพลเท่า ศาสนาอ่อนกำลัง ศาสนาไม่มีคุณภาพพอ ที่จะทำให้คนนั้น ลดกิเลสได้จริง นี่คือคำตอบแท้ๆ ใคร จะว่าผิดว่าถูกอะไรก็ฟังไป แต่อาตมาเห็นเช่นนั้นจริงๆ แล้วศาสนาไม่มีฤทธิ์ ไม่มีคุณภาพจริงเหรอ ศาสนามีคุณภาพแน่

พระศาสดาทุกพระองค์กว่าจะได้รับการยอมรับเป็นศาสดา ไม่ใช่ตัวเองตีตราให้ตนเอง ว่าฉันเป็นศาสดานะ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าไม่มี ประชาชนยอมรับ และเคารพนับถือว่าท่านผู้นี้มีภูมิปัญญาเพียงพอที่จะอยู่ในระดับศาสดา ตั้งศาสนา ตั้งทฤษฎีอะไรขึ้นมาใช้ ในศาสนา ของแต่ละศาสนา

ศาสนาไม่ใช่แก๊งอั้งยี่ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะทำความชั่ว จะเป็นศาสนาได้ก็คือ ต้องมีสังคม กลุ่มที่เกิดมามีผู้นำ คือพระบรมศาสดา นำพาไปสู่ จุดที่ดีงาม คำว่าดีงามคำเดียวก็คือคำที่ไม่ใช่อิทธิพล มาเบ่งข่ม มาทำลายทำร้าย เบียดเบียนกัน ไม่มีศาสนาไหนสอนให้คนไปเบียดเบียนกัน ไปสร้างอิทธิพล ไปทำร้ายคนอื่น

สรุปศาสนาไม่มีน้ำยาก็เลยทำให้คนมีกิเลสมาก และกิเลสก็ออกฤทธิ์ออกเดช มันก็เลยผยองกันไป นี่เป็นคำตอบหลักๆ

อุสมา : พ่อท่านนี่พูดอย่างฉาดฉาน เข้มแข็ง เหมือนพ่อท่านไม่ได้เกรงกลัวอิทธิพลเลย

พ่อท่าน : พูดอย่างนั้น เดี๋ยวหาเรื่องให้อาตมาถูกตีหัวนะ อาตมากลัวนักเลง ตอบตรงๆ ก็คืออาตมากลัวอิทธิพล เพราะคำว่าอิทธิพล ใช้ในความหมายในทางไม่ดีใช่ไหม ถ้าใช่ ผู้มีอิทธิพลนี่คือผู้ที่ประกอบกรรมไม่ดี ถ้าผู้มีอิทธิพลนี่ ประกอบกรรมที่ไม่ดี อาตมากลัว เพราะอาตมา ทำไม่ดีเก่งสู้เขาไม่ได้ ไม่ได้จริงๆ แพ้เลย ถ้าเขาทำไม่ดีมา อาตมาทำไม่ดีตอบไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะบอกว่ากลัวไหม กลัว....กลัวจริงๆ

อุสมา : กลัวว่าอิทธิพลเราสู้อิทธิพลเขาไม่ได้

พ่อท่าน : ไม่สู้ๆ ทุกวันนี้อาตมาไม่ได้ไปต่อสู้ใคร อันนี้เขาหาว่าอาตมาจะมาล้มล้าง จะมาต่อสู้ จะมาเป็นศัตรู กับอันนั้นอันนี้ อาตมาบอก อาตมาไม่ใช่ อาตมาพูดสิ่งที่ดีกับไม่ดี หรือว่าขาวกับดำ ซึ่งมันจะตรงกันข้าม กันบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่า อาตมาจะชกกับคนนั้น จะ ทำลายคนโน้น....ไม่ใช่ อาตมารู้ตัวดีว่า อาตมาไม่ใช่เป็นคนใหญ่ คนโตอะไรเลย เล็กนิดเดียว อิทธิพลไม่มีเด็ดขาดเลย ทางการเงินก็ไม่มี ทางการเมืองก็ไม่มี ทางอำนาจยศศักดิ์ อะไรก็ไม่มี แม้แต่คุณวุฒิจบปริญญาตรีโทเอกอะไรก็ไม่มี จะได้มีศักดิ์ศรีเป็นเครื่องอลังการ ในตัวเองบ้าง เป็นซี ๘ ซี ๙ เอามาอ้างอิง ประกอบตัวเองบ้างก็ไม่มี และไม่คิดอยากจะใช้อำนาจสิ่งเหล่านั้นด้วย

อาตมาจะไม่ใช้อำนาจอะไรมาหนุน จะใช้แต่อำนาจของความจริงเท่านั้น ไม่เอาอำนาจ ของความรวย การเมือง หรือการศึกษาทางโลก หรือแม้แต่ยศศักดิ์ ฐานะมีศักดินา ไม่...ไม่ต้อง และอาตมาก็ไม่มี ก็ยังภูมิใจตัวเองว่า ตัวเองไม่มีสิ่งเหล่านี้เลยในชีวิต เพราะฉะนั้นเราจะ ทำอะไรก็ทำไปด้วยความเป็นจริง เท่าที่เราสามารถทำได้ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น

อุสมา : เมื่อก่อนสมัยผมเรียนวิชาพุทธศาสตร์ก็ยังได้เรียนอยู่นะครับ แต่ทุกวันนี้มันไม่มี ทั้งๆที่ผู้มีอำนาจ รัฐมนตรีทุกกระทรวง ก็เป็นผู้ที่ เรียกว่ามีศาสนาครับ พ่อท่านครับ เป็นเพราะเหตุอะไรครับ ที่เขาดึงพุทธศาสตร์ ออกไปจากหลักสูตร

พ่อท่าน : เพราะเหตุอะไร ถ้าอาตมาพูด มันจะแรง

อุสมา : แรงก็ไม่เป็นไรครับ เพราะว่ารายการนี้มันต้องชนจริงๆเลยนะครับ ถ้าทำไม่ได้ มันต้องเลิกครับ ทำทีเดียวเลิกก็ได้

พ่อท่าน : จริงๆก็คงไม่มีใครที่มาพูดนี้เป็นคนปรารถนาร้าย หรือว่าต้องการทำลายมนุษยชาติ ที่ถามว่า ทำไมถึงเอา ศาสนาออกไป ถ้าตอบ ตรงนี้ถือว่าแรงก็คือ ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจเหล่านี้ "ไม่มีศาสนา" คำว่ามีศาสนานี่ ต้องเข้าใจให้ชัดนะ คำว่า "มี" ใช่ยี่ห้อคุณว่าคุณเป็นพุทธ ปู่คุณก็พุทธ ทวดคุณก็พุทธ ทวดคุณอิสลาม แล้วคุณบอกว่า คุณมีศาสนา ไม่ใช่ "มี" นี่หมายความว่า คุณมีเนื้อหาคัมภีร์หรือคำสอน ของพระศาสดาต่างๆ คุณได้เอามาปฏิบัติ แล้วเริ่มต้น"มี"ในตนเองหรือยัง

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า "มีศีล" บอกว่า "มีศีล" คนพอเข้าใจ แต่"มีศีล"จริงๆนั้นคือ จะต้องไม่ฆ่าสัตว์จริงๆ จิตมีเมตตา เห็นสัตว์ไม่ฆ่า เพราะฉะนั้นเรื่องไปฆ่าคนไม่ต้องพูด ศีลข้อ ๒ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ขโมย ไม่ทุจริต เรื่องที่จะมาโกง มากินไม่ทำ อะไรที่มันไม่สุจริตเนี่ยเลิก มีหิริโอตตัปปะ ละอายต่อความไม่ดีไม่งาม จิตมันเข้าถึงความ "มีศีล" นี่คือการ "มีศีล" ศีลข้อ ๓ ไม่ละเมิด ผัวเดียวเมียเดียว ทุกวันนี้จาก ข่าวหนังสือพิมพ์ ล้วนแล้วแต่ ไม่มีศีลข้อ ๓

ข้อ ๔ นี่แล้วเลย มีใครไม่โกหกบ้าง โกหกเป็นสามัญ ถ้าไม่โกหกเป็นคนประหลาด ข้อ ๕ อบายมุข น้ำเมา บรรเลงกัน ขึ้นมาสิ มันได้เงิน นอกจากได้เงินแล้ว ก็สร้างอิทธิพล ทางเลวร้ายด้วย อิทธิพลทางเลว มันอยู่กับอบายมุข ส่วนใหญ่

เมื่อคนที่"ไม่มีศีล"แล้วมาบริหารบ้านเมือง อิทธิพลถึงได้เกิดเต็มบ้านเต็มเมือง แม้แต่ประชาชน เป็นชาวพุทธถึง ๙๕% มีศีล ๕ กี่คน ไม่ใช่ "มีศีล"คือไปวัด ไปบวช แต่"มีศีล" นั้นจะบวช หรือเป็นฆราวาสก็ตาม เมื่อ"มีศีล"แล้ว ศีลนั้น จะมีอิทธิพล ต่อชีวิตคนนั้น ไม่ฆ่าสัตว์จริงๆ เขา จะมายั่วให้ฆ่า ยังไงก็ไม่ฆ่า เขาจะเอาอำนาจเงิน ร้อยล้าน พันล้าน มาให้โกงยังไงก็ไม่โกง ซึ่งศีลห้าก็เป็นเพียงศีลพื้นฐานเท่านั้น ยังมีศีล ที่สูงกว่านี้เยอะ ศีล ๘ ศีล ๑๐ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล อีก นี่แค่ศีลข้อเดียวก็ยังไม่มี แล้วเป็นพุทธอะไร ศีลข้อเดียวก็ยังไม่ "เป็นจริง" ไม่ "มีจริง" คือ "ศีลสัมปทา" มีศีล จนเข้าถึงการบรรลุธรรมในศีลนั้น หากศีลข้อเดียวก็ "ยังไม่มี" ดังกล่าวนั้น ก็ยังไม่ใช่พุทธ มีแต่ยี่ห้อพุทธปะไว้ ที่คนผู้นั้นเท่านั้น จึงแน่นอน..อิทธิพลทางไม่ดีไม่งามมันก็ต้องมี นี่คือความจริงของความจริง

ต้องขออภัยที่จำต้องตัดการสนทนาในประเด็นที่เหลือออก ขอนำเสนอเพียงเท่านี้

อนุจร
๑๔ ส.ค. ๔๖

(สารอโศก อันดับที่ ๒๖๓ สิงหาคม ๒๕๔๖)