หน้าแรก>สารอโศก

สร้างผู้นำ

ถ้าเอ่ยถึง"ผู้นำ" สิ่งแรกที่คิดถึง....คงเป็นภาพของผู้บังคับบัญชาที่มีผู้น้อยตามเป็นพรวน หรือเจ้าคนนายคนอย่างที่สังคมส่วนมากเป็นอยู่ หัวหน้างานนำอย่างไร ลูกน้องต้องทำตามนโยบาย ผู้มีสิทธิ์เป็นผู้นำได้ก็ต้องเรียนสูงๆ มีตำแหน่งใหญ่โตหรือมีธุรกิจเป็นของตนเอง ผู้นำต้องฉลาดเข้มแข็งและอดทนอย่างมาก เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ทำกำไรให้ได้มากๆ เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม การก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำมิใช่เรื่องง่าย ต้องเก่งและแข่งขันสูง

แต่ ณ.....จุดหนึ่งของสังคม คำว่า "ผู้นำ" เรียบง่ายและลึกซึ้งกว่านั้นมากนัก "ผู้นำ คือผู้รับใช้" นี่คือประโยคหนึ่งที่สร้างความฉงนใจแก่ผู้พบเห็น ซึ่งไม่ใช่อะไรอื่น เป็นข้อความป้ายงานจัดการอบรม "โครงการสร้างผู้นำ" ของชุมชนสันติอโศกนั่นเอง ซึ่งการจัดอบรมเกิดขึ้นได้ เพราะ"โครงการพลังกู้ดินฟ้า ประชาเป็นสุข" สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

เป็นครั้งแรกของการจัดอบรมโดยชาวชุมชนสันติอโศก หลังจากเป็นฝ่ายให้กำลังใจเครือข่ายชาวอโศก ตามสถานที่ต่างๆที่อบรมลูกหนี้ ธ.ก.ส. ไปก่อนถึง ๓ ปี จนมีกระแสแว่วมาว่า สันติอโศกไม่เหมาะในการจัดอบรม เพราะสถานที่คับแคบ แต่ในการอบรมครั้งนี้ ทำให้ชาวชุมชนตระหนักดีว่า การอบรมไม่ได้ติดอยู่ที่พื้นที่แคบหรือกว้าง แต่อยู่ที่ใจว่า เราน้อมที่จะทำให้ดีที่สุด และเป็นผู้ให้ได้อย่างแท้จริงหรือเปล่า เพราะเหตุนี้การอบรม "สร้างผู้นำ" ระหว่างวันที่ ๑๗-๒๑ กันยายน ๒๕๔๖ จึงเกิดขึ้น และเป็นการอบรมที่ทั้งสมณะ สิกขมาตุ คนวัด ชาวชุมชนตลอดจนนักเรียนสัมมาสิกขาออกมาร่วมกันทำงานมากที่สุด และต่างทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ พร้อมที่จะรับใช้ผู้เข้าอบรม

การอบรมสร้างผู้นำครั้งที่ ๑ นี้ มีผู้เข้าร่วมอบรม ๑๑๖ คน สังเกตการณ์อีก ๑๒ คน ส่วนมากเป็นผู้นำจากที่ต่างๆ หลากหลายอาชีพและต่างอายุ ซึ่งได้รู้ข่าวจากวิทยุ รายการของสมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ จึงมาสมัครอบรมด้วยตนเอง ต่างกับการอบรมลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.พามา ผู้เข้าอบรมสมัครใจมาเองจึงพร้อมที่จะรับข้อมูล และเนื้อหาสาระในการอบรมได้เต็มที่

แต่กระนั้นก็เป็นเรื่องยากอยู่ไม่น้อย เพราะตามความเข้าใจของผู้มาอบรม เข้าใจความหมายของคำว่า "ผู้นำ" ต่างกับเป้าหมายการอบรมโดยสิ้นเชิง เป็นเรื่องหินที่ต้องนำความหมายคำว่าผู้นำทั้งสองด้าน มาทำความเข้าใจให้สอดคล้องกัน จนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อคุณภาพให้มากที่สุด และเข้าข่าย "ผู้นำคือผู้รับใช้" อย่างเข้าใจและเต็มใจ

ต้องให้สัมมาทิฐิแก่ผู้เข้าอบรมเสมอว่า "ผู้นำที่ดี ควรสร้างตนให้เป็นผู้นำตนเองให้ได้ก่อน สร้างตนให้เข้มแข็งจากอบายมุข การพนัน สิ่งมอมเมา จากการเห็นแก่ตัวตั้งแต่เรื่องการกิน การใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจนถึงการนอน การขี้เกียจ ซึ่งต้องลดละเลิกให้ได้ จึงจะมีแรงไปเสียสละให้กับคนรอบข้างอย่างแท้จริง เพราะตนเข้มแข็งจึงสามารถเป็นที่พึ่งพาของผู้อื่นได้"

บรรยากาศการอบรม เนื้อหาสาระเต็มที่ การทำวัตรเช้าของทุกวัน จะมีสมณะขึ้นเทศน์ ให้สัมมาทิฐิในหลายแง่มุม เช่น การแนะนำ "สมาธิแบบพุทธ" ส่วนมากผู้เข้าร่วมอบรมเข้าใจว่า การทำจิตให้สงบต้องอาศัยการนั่งสมาธิเท่านั้น การอยู่วัดจะต้องนั่งสมาธิเยอะๆ สมณะหม่อน มุทุกันโต เทศน์ "สมาธิพุทธที่แท้จริงคือ การมีจิตที่ตั้งมั่น ตั้งใจทำกุศลทุกขณะจิต ทุกลมหายใจเข้าออก มีสติตั้งมั่นในชีวิตประจำวัน ประคองตนให้อยู่ในกุศลกรรมแห่งความดี" ส่วนการนั่งสมาธิธรรมดาคือ การพักจิต หยุดจิตให้นิ่งสงบเฉยๆว่างๆ ซึ่งผู้อบรมเข้าใจกันมากขึ้น

หลังจากจบการทำวัตรเช้าคือ การออกกำลังกาย ซึ่งจัดไว้สามทางเลือกได้แก่ ระบำพุทธ โยคะ และแอโรบิค จากนั้นกินอาหารเบาๆรองท้อง แล้วเข้าไปสัมพันธ์กับชาวชุมชนตามหน่วยงานต่างๆ

ช่วงธรรมะก่อนฉันก็มีเทศน์จากสมณะหรือสิกขมาตุ แต่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ การตอบปัญหาคลายใจ ผู้เข้าอบรมได้ถามปัญหาที่สงสัย ได้รับความกระจ่างชัด จากคำตอบของสมณะและสิกขมาตุเป็นอย่างดี แล้วร่วมรับประทานอาหาร ดูวิดีโอสื่อสาระชีวิต จากนั้นช่วยกันไปทำความสะอาดกตัญญูสถานที่(๕ ส.)

ภาคบ่ายมีปฏิบัติกรมาให้ความรู้ อาทิ พ.ต.ท. รุ่งโรจน์ เรืองฤทธิ์ เล่าถึงชีวิตในการเป็นตำรวจ ต่อสู้ยืนหยัดที่จะเป็นคนดี ต้องอาศัยความอดทน และกระแสต่อต้านของผู้มีอีทธิพลมากมาย การทำงานที่ต้องเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประชาชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัศมี กฤษณมิษ เล่าถึงชีวิตที่สุขสบาย แต่วันหนึ่งเมื่อได้เผชิญโลกด้วยตนเองจึงเข้าใจว่า ความสบายทำให้ขาดสิ่งดีๆที่ต้องเรียนรู้ไปมาก เพราะทำอะไรไม่ค่อยเป็น แล้วยังเล่าถึงการลดละเลิกอาหารเนื้อสัตว์ หันมากินอาหารมังสวิรัติด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่อยากให้สัตว์ตายหรือคนอื่นฆ่ามาให้กิน เพราะผิดศีลข้อ ๑ เล่าถึงการช่วยเหลือนักศึกษาที่ร่ำรวยเงินทอง เรียนเก่ง แต่ขาด EQ(ความฉลาดทางอารมณ์) ให้รู้จักคิดถึงคนอื่นให้มากขึ้น

คุณสมพงษ์ ฟังเจริญจิตต์ เล่าถึงปัญหาสังคมที่กำลังเผชิญความทุกข์หนัก เพราะมนุษย์มีความต้องการไม่จบสิ้น วิธีคิดของมนุษย์ที่นับวันจะถอยหลัง เห็นแก่ตัว แย่งชิงกัน สังคมที่ป่วยรอการเยียวยา สิ่งที่จะช่วยได้ในขณะนี้คือ มนุษย์ต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองเสียใหม่ ลดละเลิกอบายมุข และหันมาคิดถึงคนอื่นให้มากขึ้น ควบคุมอารมณ์ของตนให้เป็น มองโลกในแง่ดีมากขึ้น มีศีล มีจริยธรรมและคุณธรรมในใจ จึงจะพบกับความสุข

เรื่องทำมาหากิน ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ฐานงานอาชีพต่างๆ เช่น น้ำหมักชีวภาพ การทำแชมพู น้ำยาล้างจาน ทำสบู่ใช้เอง และการแปรรูปอาหาร ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าอบรมเป็นอย่างดี

รายการภาคค่ำแต่ละวัน แตกต่างกันออกไปเช่น บางคืนมีการพบสมณะ-สิกขมาตุ บางคืนเป็นการแสดงของผู้เข้าอบรม บางคืนเป็นรายการพบผู้นำชุมชน จากนั้นจึงมีการนั่งเจโตสมถะก่อนนอน แล้วให้ระลึกทบทวนถึงกิจกรรมที่ผ่านมา แต่ละคนได้ทำอะไร และพรุ่งนี้จะตั้งใจทำอะไร

วันสุดท้าย มีการกรอกแบบประเมินผลและคัดเลือกประธานรุ่นนี้ ซึ่งได้แก่คุณตุ่น สุดาทิพย์ อังวัฒนะพาณิชย์ เป็นประธาน จากนั้นเป็นรายการเปิดใจผู้เข้าอบรม-ชาวชุมชน-ผู้ประสานงาน-พี่เลี้ยง ซึ่งผู้เข้าอบรมส่วนมากเปิดใจว่า ประทับใจและได้รับความรู้มากในการอบรม ต่างมีไฟที่จะไปสร้างตน ให้เป็นผู้นำที่ดีแก่ตนเองและสังคม

ตามด้วยรายการพรก่อนจากของสมณะ-สิกขมาตุ และปิดท้ายด้วยพิธีอำลา การกราบขอขมาขออภัยของพิธีกรผู้ดำเนินรายการกับทีมงานพี่เลี้ยง ที่อาจทำให้ผู้เข้าอบรมลำบากบ้าง และข้อบกพร่องทุกอย่างระหว่างการอบรม จากนั้นจึงไหว้ลากัน ซึ่งเรียกน้ำตาแห่งความปีติใจ และเสียดายที่ต้องลาจาก แต่เรารับรู้ลึกๆร่วมกันว่า การจากลาครั้งนี้มิใช่ลาลับ แต่เป็นการจากลาเพื่อเริ่มต้นสิ่งดีๆให้กับชีวิต หลังจากได้แนวคิด แนวทางปฏิบัติ เพื่อฝึกฝนตนให้เป็นผู้นำที่ดีต่อไป

ก่อนกลับรับหนังสือจากสมณะ และรับของฝากจากชุมชน พร้อมทั้งหนังสือประจำรุ่นที่มีรายชื่อและรูปภาพของทุกคนไว้เป็นที่ระลึก เพื่อสะดวกในการติดต่อกัน รวมกลุ่มกันสร้างสรรสิ่งดีต่อไป

สรุป การอบรมสร้างผู้นำในครั้งนี้ เป็นสื่อให้ชาวชุมชนสันติอโศกมีโอกาสออกมาทำงานร่วมกันมากขึ้น จากที่ต่างก็ทำงานกันไปตามหน่วยงานของตน ได้มีการประชุมร่วมกัน คบคุ้นกัน ได้ดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมาใช้อย่างเต็มที่ และเป็นการย้ำเตือนตนเองอยู่เสมอว่า ณ วันนี้เราสร้างตนเป็นผู้นำของตนเองได้ดีหรือยัง ต้องฝึกฝนให้ตนเข้มแข็ง ก่อนที่จะต้อนรับรุ่นต่อไป เพื่อสังคมจะได้มี "ผู้นำคือ ผู้รับใช้อย่างแท้จริง"

- นภาสูญ -

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๔ กันยายน ๒๕๔๖ -